‘ศาลพระภูมิยังศักดิ์สิทธิ์กว่าศาลยุติธรรม’ น่าจะเป็นประโยคเปรียบเปรยความรู้สึกของผู้คนในสังคมไทยที่มีต่อกระบวนการยุติธรรม โดยเฉพาะ ‘ศาล’ ในยุคปัจจุบันได้เป็นอย่างดี

แม้จะเป็นประโยคเชิงเสียดสี แต่ก็สะท้อนได้ว่าภาพลักษณ์ของผู้ที่ถือค้อนคอยชั่งตวงความยุติธรรมให้กับสังคมไทยในวันนี้มีปัญหาเช่นไร

เกิดอะไรขึ้นกับสังคมที่ผู้คนบอกว่าผีสางนางไม้น่าเชื่อถือกว่าผู้รักษากฎหมาย?

สมชาย ปรีชาศิลปกุล อาจารย์และหัวหน้าศูนย์วิจัยและพัฒนากฎหมาย คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เฝ้ามองปรากฏการณ์นี้มายาวนาน เขามองว่าเสียงวิพากษ์วิจารณ์ที่มีต่อกระบวนการยุติธรรมเริ่มดังขึ้น เป็นเพราะประชาชน รวมทั้งนักกฎหมายจำนวนมาก เริ่มรู้สึกว่าบทบาทที่ฝ่ายตุลาการทำไม่สอดคล้องกับหลักการทางกฎหมาย โดยเฉพาะนับตั้งแต่ คสช. เริ่มมีอำนาจและบทบาทในการบริหารบ้านเมือง

ในสังคมประชาธิปไตย โครงสร้างของอำนาจตุลาการควรถูกออกแบบให้เกี่ยวข้องกับประชาชนไม่ทางตรงก็ทางอ้อม เพียงแต่ในเมืองไทย อำนาจเหล่านี้กลับมีการยึดโยงกับอำนาจประชาชนน้อยจนน่าใจหาย ทั้งยังถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าไปรับใช้กลุ่มผู้มีอำนาจทางการเมืองแทน

จึงไม่น่าแปลก หากความคลางแคลงใจของประชาชนที่มีต่อการตัดสินพิจารณาคดีของศาลจะเพิ่มขึ้นทุกวัน และนำมาซึ่งความไม่พอใจที่ขยายใหญ่กลายเป็นความขัดแย้งในสังคม

เกิดอะไรขึ้นกับกระบวนการยุติธรรมที่ควรเป็นที่พึ่งพิงให้กับประชาชน แต่วันนี้กลับหลุดลอยออกไปเรื่อยๆ

“ผมอยากจะย้ำว่า เสียงวิพากษ์วิจารณ์ที่มีต่อกระบวนการยุติธรรมในสังคมไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อศาล ตั้งแต่หลัง พ.ศ. 2475 หรือหลังประเทศไทยเปลี่ยนแปลงการปกครอง นี่เป็นครั้งที่มีการท้าทายต่อความน่าเชื่อถือและความศักดิ์สิทธิ์ของศาลยุติธรรมมากที่สุด”

อยากให้ช่วยฉายภาพระบบกฎหมายที่ผิดเพี้ยนตลอดหลายปีที่ผ่านมาของยุค คสช. ให้ฟังหน่อย

ที่ผ่านมาเห็นได้ชัดว่า คสช. ได้ใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือจัดการคนที่เห็นต่างทางการเมือง ผ่านการออกกฎหมายจำนวนมาก ไม่ว่าจะออกโดยตรง ที่เป็นประกาศคำสั่ง คสช. หรือโดยองค์กรที่ตัวเองตั้งขึ้น ผมคิดว่าระบบกฎหมายถูกใช้เป็นเครื่องมือสร้างความขัดแย้งทางการเมือง ในขณะเดียวกัน สิ่งหนึ่งที่ตามมา และผมคิดว่าสำคัญมากในห้วงเวลาปัจจุบัน คือตัวกระบวนการยุติธรรม ซึ่งไม่ใช่เฉพาะแค่ศาล แต่หมายถึง ตำรวจ อัยการ และราชทัณฑ์ มันได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่ง และถูกมองว่ากลายเป็นเครื่องมือของผู้มีอำนาจเช่นเดียวกัน

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงหลัง เสียงสะท้อนที่มีต่อกระบวนการยุติธรรม ต่อฝ่ายตุลาการ หรือฝ่ายผู้พิพากษาจะดังมากขึ้น ในแง่หนึ่ง เป็นเพราะคนจำนวนมากหรือนักกฎหมายจำนวนมากรู้สึกกันว่า บทบาทที่ฝ่ายตุลาการทำ ไม่สอดคล้องกับหลักการทางกฎหมายสักเท่าไร เสียงวิพากษ์วิจารณ์จึงดังขึ้น ซึ่งผมอยากจะย้ำว่า เสียงวิพากษ์วิจารณ์ที่มีต่อกระบวนการยุติธรรมในสังคมไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อศาล ตั้งแต่หลัง พ.ศ. 2475 หรือหลังช่วงประเทศไทยเปลี่ยนแปลงการปกครอง นี่เป็นครั้งที่มีการท้าทายต่อความน่าเชื่อถือและความศักดิ์สิทธิ์ของศาลยุติธรรมมากที่สุด

อยากให้ลองยกตัวอย่างว่ามีความผิดปกติอะไรบ้าง ในการบังคับใช้กฎหมายกับประชาชนยุค คสช. 

ในช่วงหลัง โดยเฉพาะในช่วงปี 2560-2561 คือหลังจากใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ บทบาทของศาลจะเห็นเด่นชัดมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ภายหลังเหตุการณ์การเคลื่อนไหวของกลุ่มราษฎร กลุ่มคนที่ลุกขึ้นมาคัดค้าน ทำให้คดีจำนวนมากเข้าสู่การวินิจฉัยของศาล ซึ่งถ้ามันถูกวินิจฉัยอย่างตรงไปตรงมา เสียงวิพากษ์วิจารณ์ หรือว่าปัญหาต่างๆ ที่จะพุ่งตรงไปหาศาลคงไม่รุนแรงเท่าที่เป็นอยู่ในทุกวันนี้ 

ลองนึกย้อนกลับไปสัก 20 ปี ภาพคนไปยืนประท้วงหน้าศาลมันเกินกว่าที่คนในระบบกฎหมายจะจินตนาการได้ แต่ปรากฏว่าทุกวันนี้มันกลายเป็นเรื่องปกติ

ยุคนี้จะมีคำเปรียบเปรยว่า ‘ศาลพระภูมิยังศักดิ์สิทธิ์กว่าศาลยุติธรรม’ มันสะท้อนให้เห็นอะไรบ้าง

คงเป็นคำพูดที่สะท้อนความรู้สึกของคนที่มีต่อศาลยุติธรรมและศาลรัฐธรรมนูญ คือศาลรัฐธรรมนูญมีปัญหามาตลอด แต่ดูเหมือนว่าไม่ถูกปรับแก้เท่าไร ส่วนศาลยุติธรรมเพิ่งจะมาปรากฏให้เห็นก็หลัง คสช. โดยรวมแล้วสิ่งที่เรียกว่าอำนาจตุลาการในเมืองไทย มันถูกมองหรือถูกเข้าใจว่ากลายเป็นเครื่องมือของผู้มีอำนาจ

ฉะนั้น เวลามีข้อพิพาทหรือข้อกล่าวหาขึ้นสู่การพิจารณาคดีของศาลจำนวนมาก คนจะสามารถคาดเดาผลของคดีได้ โดยการดูจากที่ว่าคนที่ฟ้องเป็นใคร คนที่ถูกฟ้องเป็นใคร แต่ไม่ได้ถูกพิจารณาจากสิ่งที่เรียกว่า ‘หลักฐานในคดี’ พอเกิดความเข้าใจหรือสำนึกแบบนี้ จึงทำให้คนรู้สึกว่าศาลและอำนาจตุลาการในเมืองไทยไม่ได้เป็นไปตามหลักวิชา ไม่ได้เป็นไปตามหลักการ แต่ขึ้นอยู่กับอำนาจทางการเมืองมากกว่า

ทั้งที่ศาลควรจะเป็นกลาง แต่ทุกวันนี้คนก็ตั้งข้อสังเกตว่าศาลเป็นเพียงเครื่องมือรับใช้ของผู้มีอำนาจ

เวลาที่เราเห็นปัญหาว่าศาลไม่เป็นกลาง หรือผู้พิพากษาไม่เป็นกลาง สิ่งหนึ่งคือ การที่เราวิพากษ์วิจารณ์ผู้พิพากษาเป็นรายบุคคล เชิงตัวบุคคล ซึ่งเป็นสิ่งที่ควรทำ เพราะผู้พิพากษาควรถูกตรวจสอบ แต่ตอนนี้ปัญหาใหญ่ของเรื่องนี้ เป็นปัญหาในเชิงโครงสร้างของอำนาจตุลาการไทย ที่ผ่านมาโครงสร้างของอำนาจตุลาการไทย ไม่ว่าศาลรัฐธรรมนูญ ศาลปกครอง หรือศาลยุติธรรม มีการยึดโยงกับสิ่งที่เรียกว่า ‘อำนาจประชาชน’ น้อย ซึ่งนี่คือหัวใจสำคัญในสังคมประชาธิปไตย อำนาจที่เรียกว่าอำนาจบริหาร อำนาจนิติบัญญัติ หรืออำนาจตุลาการ ต้องถูกออกแบบให้มีความเกี่ยวข้องกับประชาชนไม่ทางตรงก็ทางอ้อม แต่ถ้าเราพิจารณาอำนาจตุลาการในเมืองไทย สิ่งที่เราเห็นคือ ความสัมพันธ์กับประชาชนหรือสังคมมันเบาบางมาก อาจพูดได้ว่าแทบไม่มีเลย

ยกตัวอย่างเช่น คนที่จะดำรงตำแหน่งประธานศาลฎีกานั้นไม่เกี่ยวอะไรกับประชาชนเลย แต่เป็นผลจากการตัดสินใจของคณะกรรมการตุลาการแทบทั้งหมด ก็คือคนในแวดวงตุลาการเป็นกรรมการอยู่ โดยผ่านความเห็นชอบจากสถาบันการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง เพราะฉะนั้น ในแง่นี้ใครจะเป็นประธานศาลฎีกา ใครจะได้ดำรงตำแหน่งข้ารราชการระดับสูง ผมคิดว่ามันไม่มีความสัมพันธ์กับประชาชนเลย

สิ่งนี้คือแง่โครงสร้างที่เป็นปัญหา คือการออกแบบอำนาจตุลาการในสังคมไทยให้ประชาเข้าไปเกี่ยวข้องน้อยมาก นี่ขนาดการแต่งตั้งนะ ไม่ต้องพูดถึงในแง่การตรวจสอบควบคุม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สมมติเกิดประชาชนเห็นว่าศาลทำอะไรที่ไม่ตรงไปตรงมาหรือบิดเบี้ยว มันไม่มีช่องทางที่จะเข้าไปควบคุมตรวจสอบเลย เพราะฉะนั้น อำนาจตุลาการในสังคมไทย เป็นอำนาจที่หลุดลอยไปจากประชาชนเป็นอย่างมาก

โครงสร้างของอำนาจตุลาการที่ถูกต้องควรเป็นอย่างไร

แน่นอน ผู้พิพากษาคงไม่ต้องมาจากการเลือกตั้ง แต่หมายความว่าในขั้นตอนหรือในกระบวนการแต่งตั้ง หรือการกำกับควบคุม ควรเปิดโอกาสให้ประชาชนหรือสถาบันทางการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งสามารถเข้าไปตรวจสอบได้ เช่น การจะแต่งตั้งประธานศาลฎีกา ที่ให้อำนาจเด็ดขาดกับทาง กกต. ซึ่งควรต้องผ่านการให้ความเห็นชอบจากสถาบันการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง เช่น ในเมืองไทยก็ควรเป็นรัฐสภา ส.ส. สว. แต่ไม่ใช่ ส.ว. ที่มาจากการแต่งตั้งนะ 

หรือในอีกแง่หนึ่ง การควบคุมตรวจสอบก็ควรเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้าไปกำกับสถาบันทางการเมือง เช่น ต้องมีการตรวจสอบการทำงานของผู้พิพากษา ที่ไม่ใช่เป็นการตรวจสอบภายในของผู้พิพากษาด้วยกันเอง แต่ควรต้องเป็นหน้าที่ขององค์กรข้างนอก โดยเฉพาะอย่างยิ่งองค์กรที่ประชาชนเข้าไปกำกับตรวจสอบได้ แต่องค์กรแบบนี้มันแทบไม่มี แทบมองไม่เห็นในสังคมไทย ฉะนั้น อำนาจตุลาการในสังคมไทยจึงหลุดลอยจากสังคมไทย กลายเป็นสถาบันอันหนึ่งซึ่งก็ไม่รู้ว่าสัมพันธ์กับประชาชนอย่างไร

ทำไมถึงไม่ค่อยมีองค์กรที่สามารถตรวจสอบการทำงานของผู้พิพากษาในประเทศไทย

ในแง่เชิงโครงสร้างก็เป็นเรื่องหนึ่ง แต่อุดมการณ์ทางวัฒนธรรมของตุลาการ ค่านิยม หรือความคิดของอำนาจตุลาการในสังคมไทย กลับไปยึดโยงกับสถาบันอื่นๆ หรือมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับสถาบันอื่นๆ เช่น สถาบันพระมหากษัตริย์ มากกว่าจะเกี่ยวโยงกับประชาชน 

ผมคิดว่าผู้พิพากษาหรืออำนาจตุลาการ ไม่เคยมีความรู้สึกหรือไม่เคยมีความเข้าใจว่าอำนาจของตนเองเป็นส่วนหนึ่งของอำนาจอธิปไตย ที่ท้ายที่สุดประชาชนเป็นเจ้าของ นี่เป็นปัญหาเชิงวัฒนธรรมที่สั่งสมมายาวนานพอสมควร

ทุกวันนี้ เราจะเห็นการพิจารณาคดีเรื่องสิทธิการประกันตัวนั้นมีปัญหาชัดเจน หรือความย้อนแย้งของการบังคับใช้กฎหมายต่างๆ ที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมา ในทางกฎหมาย คุณอธิบายกับนักศึกษาอย่างไร

โดยส่วนใหญ่ นักเรียนกฎหมายมักจะเรียนกฎหมายแบบชนิดที่เรียกว่าเป็นกฎหมายแท้ คือเรียนว่ากฎหมายในเรื่องนั้นดีอย่างไร มีความหมายอย่างไร หลักการที่ถูกต้องเป็นอย่างไร แต่วิชาที่ผมรับผิดชอบส่วนใหญ่ เป็นวิชาที่พยายามจะสอนให้นักเรียนกฎหมายมีความเข้าใจในแง่มุมที่กว้างขวางและรอบด้านมากขึ้น เช่น วิชารัฐธรรมนูญ วิชานิติปรัชญา หรือเป็นวิธีการวิจัยทางกฎหมาย

วิชาพวกนี้ นอกจากในแง่ของการทำความเข้าใจว่าคำตัดสินแบบไหนเป็นหลักการที่ถูกต้อง สิ่งที่ผมพยายามจะสอนหรือให้นักศึกษาทำความเข้าใจคือ อะไรเป็นเหตุหรืออะไรเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดปรากฏการณ์ทางกฎหมายแบบนั้นขึ้น ฉะนั้น ส่วนที่ผมรับผิดชอบส่วนใหญ่ เราพยายามจะทำความเข้าใจ และพยายามจะสอนให้นักศึกษามีความคิดในเชิงวิพากษ์มากขึ้นต่อระบบกฎหมายหรือกระบวนการยุติธรรม

อย่างเช่นกรณีคำตัดสินของศาลในเรื่องการประกันตัว หรือตอนคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญในหลายเรื่องที่เกิดขึ้นในประเด็นปัญหาทางการเมือง ในแง่หนึ่ง ผมก็ชี้ให้เห็นว่ามีความบิดเบี้ยวอย่างไร แต่สิ่งที่การเรียนกฎหมายในเมืองไทยขาดไปคือ การพยายามตอบคำถามหรือทำความเข้าใจว่าทำไมปรากฏการณ์แบบนั้นจึงเกิดขึ้น ซึ่งผมเข้าใจว่าผู้คน โดยเฉพาะในหมู่นักกฎหมาย ก็อาจจะโยนให้เป็นเชิงตัวบุคคลว่าเป็นความไม่รู้หรือเป็นความฉ้อฉลส่วนบุคคลของคนที่ตัดสิน 

แต่สำหรับผมอาจจะไม่ใช่เป็นเรื่องเชิงปัจเจก แต่มันสัมพันธ์กับเรื่องโครงสร้างและอุดมการณ์ เช่น ทำไมผู้พิพากษาจึงมีแนวโน้มที่ตัดสินไปในทิศทางเดียว โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องการประกันตัวที่ผ่านมา ในขณะที่นักกฎหมายจำนวนมาก รวมทั้งคนในสังคมเห็นว่าเรื่องนี้เป็นปัญหา ปรากฏว่าศาลเห็นไปในทิศทางเดียวกันโดยไม่มีใครโต้แย้ง มันจึงไม่ใช่ปัญหาเชิงปัจเจก แต่เป็นโครงสร้างขององค์กรตุลาการ ฉะนั้น ต้องวิเคราะห์ว่าเงื่อนไขอะไรที่ทำให้เกิดปัญหาแบบนี้ขึ้นได้

 

การเรียนกฎหมายจำเป็นต้องมีการปรับไปตามสังคมที่เปลี่ยนไปไหม

ในแง่หนึ่ง การเรียนกฎหมายเป็นการแสวงหา ทำความเข้าใจสิ่งที่เรียกว่า ‘หลักการที่ถูกต้อง’ เช่น การประกันตัว หลักการที่ถูกต้องเป็นอย่างไร สิ่งที่ขาดไม่ได้สำหรับนักกฎหมายคือ เขาควรต้องรู้ว่าหลักการเรื่องการประกันตัวเป็นอย่างไร ในระบบกฎหมายไทยก็มีหลักการวางไว้อยู่ว่า การประกันตัวต้องเป็นหลัก การควบคุมตัวต้องเป็นรอง แต่ว่าตอนนี้ปัญหาของเมืองไทยคือ กฎหมายจำนวนมากไม่ได้ถูกใช้ให้เป็นไปตามหลักการ ซึ่งผมคิดว่าเราก็เห็นนักกฎหมายมาโต้แย้งเป็นจำนวนมากว่า การตีความและการบังคับใช้กฎหมายในกรณีเรื่องการประกันตัวนั้นมีปัญหา 

สิ่งที่นักเรียนกฎหมายจะต้องทำความเข้าใจคือ ทำไมจึงเกิดปรากฎการณ์แบบนี้ขึ้นได้ อันนี้การเรียนกฎหมายมักไม่ค่อยชวนให้นักเรียนกฎหมายสนใจในประเด็นต่างๆ แบบนี้ เพราะฉะนั้น ตอนนี้อาจจะเป็นจังหวะที่ดีที่คนสอนกฎหมายหรือสถาบันสอนกฎหมายต่างๆ น่าจะหันมาให้ความสำคัญกับสิ่งนี้

จากการสอนกฎหมายนักศึกษารุ่นใหม่ พวกเขารู้สึกอย่างไรกับกระบวนการยุติธรรมบ้าง ยังมั่นใจในการสอบเนติบัณฑิต ไปเป็นอัยการ เป็นผู้พิพากษาอยู่หรือไม่

สิ่งที่เรียกว่าความชอบธรรมขององค์กรต่างๆ เหล่านี้ มันถูกลดทอนลงอย่างแน่นอน หมายความว่าตอนนี้คนไม่ได้มองคนที่นั่งทำงานในตำแหน่งผู้พิพากษาว่าเป็นตำแหน่งที่มีเกียรติ เป็นคนที่ทำหน้าที่ตรงไปตรงมาเหมือนเดิม ซึ่งในอดีต คนที่ทำงานในตำแหน่งผู้พิพากษาจะถูกเคารพยกย่อง และถูกมองว่าเป็นคนที่มีเกียรติยศ ได้รับการยอมรับนับถืออย่างสูง เป็นคนที่ตรงไปตรงมา แต่ตอนนี้ความเชื่อถือแบบนั้นลดลงอย่างมาก ซึ่งในแง่หนึ่ง มันก็สอดคล้องกับบรรยากาศที่เป็นจริงในทางสังคม ที่คนตั้งคำถามกับกระบวนการยุติธรรมว่าไม่มีคำตอบที่เป็นเหตุเป็นผลพอ ซึ่งสามารถเข้าใจได้ 

ส่วนจำนวนคนที่ตั้งใจจะเข้าไปทำงานวิชาชีพนี้จะลดน้อยลงไหม ผมคิดว่ายังไม่เห็นชัดเจน แต่ข้อสังเกตของผมคือ แม้กระทั่งบัดนี้ คนที่มุ่งมั่นไปสอบเป็นผู้พิพากษาหรืออัยการยังมีเยอะ แต่ไม่ได้เป็นเพราะความต้องการที่จะเข้าไปสู่องค์กรที่มีเกียรติ มีศักดิ์ศรี แต่คนจำนวนมากที่ยังคงทุ่มเทเพื่อเข้าไปสู่ตำแหน่งวิชาชีพไม่ว่าจะอัยการหรือผู้พิพากษาก็ตาม ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากค่าตอบแทนที่มันถูกบิดเบี้ยวไปอย่างมาก คือในเชิงโครงสร้างสังคมไทย ค่าตอบแทนที่มีให้กับอัยการ ผู้พิพากษา บิดเบี้ยวไปจากงานราชการส่วนอื่นๆ เป็นอย่างมาก

เพราะฉะนั้น คนจำนวนมากยังมุ่งที่จะไปสอบเป็นผู้พิพากษา แต่ไม่ใช่ด้วยอุดมการณ์ แต่เป็นเรื่องของผลประโยชน์ตอบแทนเป็นหลัก ซึ่งผมอยากจะเตือนว่าสิ่งนี้อันตราย หากว่าองค์กรในกระบวนการยุติธรรมได้คนที่คิดถึงแต่ผลประโยชน์ตอบแทนเป็นหลักเพียงอย่างเดียว มันยิ่งจะซ้ำเติมให้สถานการณ์ที่เป็นอยู่ย่ำแย่ขึ้น

ในฐานะอาจารย์นิติศาสตร์ คุณใช้ชีวิตอย่างไรกับโครงสร้างที่บิดเบี้ยวแบบนี้

ถ้าเป็นเรื่องการสอนหนังสือ สิ่งที่ผมทำได้คือชี้ให้นักศึกษาเห็นถึงสิ่งที่เรียกว่าประเด็นปัญหาที่เป็นสิ่งไม่ถูกต้อง คืออย่างน้อยผมคงไม่ได้สอนให้นักศึกษายึดหลักว่าคำพิพากษาคือสิ่งที่ถูกต้องโดยไม่มีการตั้งคำถาม มันอาจจะเป็นจังหวะดีด้วยซ้ำที่เราทำให้เห็นว่า เอาเข้าจริง องค์กรตุลาการก็เป็นองค์กรหนึ่งซึ่งอยู่ภายใต้เงื่อนไขสถานการณ์ทางการเมือง เพราะก่อนหน้านี้ ความเข้าใจที่มีต่อองค์กรตุลาการในสังคมไทยจะเป็นความเข้าใจว่า องค์กรตุลากรลอยตัวเหนือความขัดแย้ง และไม่เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ในทางการเมือง แต่เอาเข้าจริงสถาบันตุลาการก็เป็นองค์กรหนึ่งซึ่งอยู่ในสังคม อยู่ในการเมือง ดังนั้นก็มีประโยชน์โพดผล มีสิ่งที่เรียกว่าเกี่ยวข้องกับความเห็นผู้พิพากษาอยู่ 

ฉะนั้น ถ้าถามผมในแง่ของการสอนหนังสือ ในแง่หนึ่งก็คงพยายามชี้ให้นักศึกษาเห็นสิ่งที่เรียกว่า ‘ความเป็นจริงของระบบกฎหมาย’ อย่าไปยึดถือว่าสถาบันทางกฎหมายเป็นสถาบันที่มีความศักดิ์สิทธิ์ที่เราแตะต้องไม่ได้ แล้วในแง่ของการเรียนการสอนกฎหมาย ผมก็อยากทำให้นักศึกษาเห็นในมิติหรือในแง่มุมที่เป็นจริงมากขึ้น

อีกส่วนที่ผมเห็นปัญหาคือการตั้งคำถามในเชิงสาธารณะ อันนี้เราคงต้องเป็นส่วนหนึ่งของสังคมในการที่พยายามจะชี้ให้เห็นว่าสิ่งไหนเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง การกระทำอันไหนเป็นสิ่งที่เรารู้สึกว่าไม่สอดคล้องกับหลักวิชา เมื่อไหร่ที่คนสอนกฎหมาย หรือนักเรียนกฎหมายเห็นการบังคับใช้กฎหมายที่ไม่ถูกต้องหรือไม่สอดคล้องกับหลักวิชา ก็ควรมีการชี้แจงหรือแสดงความคิดเห็น ไม่ใช่เพียงแต่การนิ่งเงียบ

แสดงว่าประชาชนทั่วไปวิพากษ์วิจารณ์คำวินิจฉัยของศาลได้ แต่คนในสังคมไทยมีความรู้ความเข้าใจเรื่องนี้มากน้อยขนาดไหน

การวิพากษ์คำพิพากษาถือเป็นสิทธินเสรีภาพที่ประชาชนทุกคนทำได้ คือในประเทศที่เป็นเสรีประชาธิปไตย การวิจารณ์คำพิพากษาไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาจารย์มหาวิทยาลัย หรือคนที่สอนกฎหมาย ควรจะต้องทำตัวให้เป็นแบบอย่างด้วยซ้ำว่า สามารถที่จะวิพากษ์วิจารณ์คำวินิจฉัยหรือคำตัดสินของศาลได้จนเป็นเรื่องปกติ ไม่ใช่เป็นเรื่องแปลกประหลาดอะไร

แต่ว่าสังคมไทยในรอบยี่สิบปีที่ผ่านมา มีการบังคับใช้กฎหมายที่เรียกว่า ‘ละเมิดอำนาจศาล’ เกิดขึ้นอย่างพร่ำเพรื่อ จนทำให้คนพยายามที่จะหลีกเลี่ยงไม่วิจารณ์คำวินิจฉัยหรือคำตัดสินของศาล ซึ่งหลายครั้งการใช้กฎหมายที่เรียกว่าการละเมิดอำนาจของศาล มันเป็นไปโดยไม่ได้สอดคล้องกับความมุ่งหมายทางกฎหมาย เป้าหมายของการละเมิดอำนาจศาล คือเพื่อต้องการป้องกันการขัดขวางการพิจารณาคดีไม่ให้สามารถดำเนินไปได้ เช่น ศาลกำลังดำเนินการพิจารณาคดีอยู่ มีคนเข้าไปขัดขวางกระบวนการพิจารณาคดีไม่ให้ดำเนินการต่อไปได้ นี่คือการละเมิดอำนาจศาล แต่ถ้าจะถามว่าการแสดงความเห็นต่อคำวินิจฉัยของศาล นี่ไม่ใช่สิ่งที่จะไปขัดขวางหรือทำให้การพิจารณาคดีดำเนินต่อไปได้ ดังนั้น สิ่งที่เรียกว่าการละเมิดอำนาจศาล การใช้กฎหมายในรอบหลายปีที่ผ่านมาก็เป็นอีกปัญหาหนึ่ง

หากการบังคับใช้กฎหมายยังมีความผิดเพี้ยนเช่นนี้ คือเอื้อคนมีอำนาจ ปิดปากคนเห็นต่าง มันจะนำพาสังคมไทยไปถึงจุดไหน

ปัจจุบันก็น่าจะเป็นภาพหนึ่งที่บอกได้ว่าสังคมไทยจะไปสู่จุดไหน ท่ามกลางความขัดแย้งทางการเมืองที่เกิดขึ้น ถ้าสมมติว่ากระบวนการยุติธรรมอยู่ในร่องในรอย อย่างน้อยมันจะทำให้ผู้คนรู้สึกว่า ยังไงเราก็ยังอยู่ในกรอบทางกฎหมาย สู้กันด้วยบริบททางกฎหมาย โดยที่จะไม่แปรความขัดแย้งให้กลายเป็นความรุนแรงในด้านต่างๆ 

แต่ถ้าเมื่อไหร่ที่ผู้คนส่วนใหญ่ในสังคมตั้งคำถาม ตั้งข้อสงสัย แล้วไปถึงจุดที่ไม่เชื่อถือกระบวนการยุติธรรมเลย จุดนั้นจะทำให้การที่เราจะจัดการกับความเห็นต่างแบบสันติวิธีเกิดขึ้นได้ยากมากขึ้น เพราะในเมื่อคนรู้สึกว่าเราใช้เหตุผล ซึ่งมันควรจะเป็นสิ่งที่กฎหมายรับได้ แต่ปรากฏว่าพอเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม มันถูกตีความให้บิดเบี้ยวไป โดยการเอียงข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง เมื่อคนจำนวนหนึ่งคิดว่ากระบวนการทางกฎหมายไม่สามารถพึ่งพาได้ ไม่สามารถไว้ใจได้ ก็ไม่แปลกใจถ้าจะมีคนจำนวนหนึ่งหันไปใช้ความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น

ในฐานะที่เคยเป็นนักศึกษาในยุคพฤษภาทมิฬ 2535 คุณมองนักศึกษารุ่นนี้ว่ามีความเหมือนหรือแตกต่างกับนักศึกษาในรุ่นของคุณอย่างไร

ในแง่ของเหตุการณ์อาจจะแตกต่างกันเยอะ ผมคิดว่าคนในรุ่นนี้เกิดมาในสังคมที่ชวนหดหู่มากกว่าตอนพฤษภาปี 2535 เขาต้องอยู่กับสถานการณ์ทางการเมืองที่ดูเหมือนจะไร้อนาคตมาตั้งแต่ปี 2557 แม้ว่าจะมีรัฐธรรมนูญใหม่เกิดขึ้นตอนปี 2560 แต่ก็ไม่มีสัญญาณในทางบวกว่ามันจะทำให้เขาสามารถมีความหวังที่ดีได้ ถ้าเทียบกับปี 2535 อย่างน้อยสังคมไทยโดยรวมก็มีความรู้สึกว่าเราอยู่ในสังคมที่พอจะมีความหวังในอนาคตข้างหน้า หรือต่อให้มีเหตุการณ์พฤษภาทมิฬเกิดขึ้น หลังจากนั้นไม่นาน สังคมก็รู้สึกว่ายังมีอนาคตที่จะก้าวเดินไปข้างหน้า ไม่นานก็มีรัฐธรรมนูญปี 2540 แล้วตอนนั้นเราเป็นสังคมที่มาตรฐานหลายอย่างดีขึ้น การแสดงความเห็นของผู้คน สิทธิเสรีภาพ โดยรวมมีความก้าวหน้า

แต่เทียบกับวันนี้ คนหนุ่มสาวรุ่นปัจจุบันที่ลุกขึ้นต่อสู้ เขาอยู่ในสังคมที่น่าหดหู่มากกว่า ผมให้ความเคารพอย่างสูงกับคนรุ่นนี้ในสิ่งที่เขาทำ เขาท้าทายและต่อสู้กับโครงสร้างทางอำนาจที่ปกคลุมสังคมไทยอย่างยาวนาน ในคนรุ่นผม รุ่นพฤษภาคม 2535 เราไม่มีความรู้หรือไม่มีความเข้าใจที่กว้างขวางมากพอ ฉะนั้น ผมจึงให้ความเคารพอย่างมากต่อคนรุ่นนี้ ที่เขาไม่เพียงแค่เข้าใจและมองเห็น แต่เขากล้าออกมาต่อสู้กับอำนาจ นี่เป็นเรื่องที่มีความแตกต่างอย่างมาก จากเหตุการณ์ในตอนพฤษภาปี 2535

การต่อสู้ของเด็กยุคนี้มีจุดไหนที่น่าเป็นห่วงไหม

ผมเป็นห่วงทางฝ่ายผู้มีอำนาจมากกว่า ถ้าเราคิดตั้งแต่ตอนเริ่มต้นเคลื่อนไหวของคนหนุ่มสาว ผมคิดว่าการเรียกร้องของเขาเป็นการเรียกร้องภายใต้กรอบรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายอย่างมาก แต่ท่าทีของผู้มีอำนาจไม่ตอบรับ ไม่แม้แต่พยายามจะหาความเข้าใจว่าข้อเรียกร้องตั้งแต่ตอนเริ่มต้นคืออะไร 

เพราะฉะนั้น ข้อเรียกร้องที่เกิดขึ้นต่างๆ เหล่านี้ก็มีฐานกฎหมายและความชอบธรรมรองรับอยู่ แต่การผนึกอำนาจรวมของชนชั้นนำไทยตอนนี้ ดูเหมือนว่าจะไม่รับฟังเสียงติเตียนหรือเสียงที่เห็นต่าง พอเป็นแบบนี้ ท่าทีที่แสดงออกโดยผ่านกลุ่มผู้มีอำนาจหรือผ่านกระบวนการยุติธรรมก็คือ การไม่ยอมรับหรือการไม่รับฟังเสียงที่พยายามสะท้อนมาจากคนรุ่นหนึ่งหรือคนกลุ่มหนึ่งในสังคม ซึ่งก็มีจำนวนไม่น้อยเป็นเสียงสะท้อนที่มีต่ออำนาจรัฐที่กำลังเป็นอยู่ขณะนี้ว่ามันฉ้อฉลอย่างไร หรือไม่สามารถทำให้สังคมไทยก้าวหน้าไปอย่างไร ท่าทีแบบนี้จะทำให้สังคมไทยจมดิ่งอยู่ในปัญหาที่ลึกขึ้น

อย่างน้อยในช่วงตั้งแต่ผมเรียนจบมาจนบัดนี้ ประมาณ 30 ปี ผมไม่เคยเห็นกระแสการอยากย้ายประเทศเกิดขึ้นกว้างขวางเท่านี้มาก่อน เราควรเข้าใจว่า ส่วนหนึ่งของกระแสนี้คือผลพวงที่ตามมาจากสถานการณ์ทางการเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งตั้งแต่ปี 2557 เป็นต้นมา ซึ่งน่าจะเป็นสิ่งที่บอกผู้มีอำนาจได้เป็นอย่างดี แต่แม้กระทั่งเกิดกระแสแบบนี้ สิ่งที่เกิดขึ้นจากท่าทีการตอบรับคือ แทนที่คนมีอำนาจจะทำความเข้าใจ กลับกลายเป็นการขับไล่ ผมคิดว่านี่ไม่ใช่ท่าทีที่จะเป็นสัญญาณที่ดีใดๆ เลย

หากคุณเป็นคนหนุ่มสาวในตอนนี้ คุณอยากย้ายประเทศไหม

ผมไม่แน่ใจ ในแง่หนึ่ง ผมอยากอยู่ในสังคมที่ทุกคนไม่มีความเหลื่อมล้ำแตกต่างกันมาก เราควรมีเสรีภาพทางการแสดงความเห็น ในการแสวงหาความรู้ ในการวิพากษ์วิจารณ์ตราบเท่าที่ไม่ไปทำร้ายชีวิตคนอื่น ผมอยากอยู่ในสังคมที่พอจะมีความเท่าเทียมกัน ผมอยากอยู่ในสังคมที่ไม่ต้องเห็นคนมาหายไปเพื่อชีวิตของคนในครอบครัว ผมไม่อยากอยู่ในสังคมที่คนกลุ่มหนึ่งอยู่ในสถานะที่ร่ำรวยมากๆ ผมอยากอยู่ในสังคมที่เปิดโอกาสให้คนทุกคนสามารถแสวงหาความมั่นคงและความก้าวหน้าได้พอสมควร 

แน่นอน เราคงไม่สามารถทำให้ทุกคนเท่าเทียมได้ เช่น มีเงินคนละล้านบาทเท่ากัน แต่ถ้าในสังคมนั้นยังพอเปิดโอกาสให้เราได้ผลักดันสังคม และมีความหวังให้เรารู้สึกว่าพอจะหาทางต่อสู้กันได้ ผมก็จะยังอยู่ในสังคมนั้น แต่ถ้าไปถึงจุดหนึ่ง เราพบว่าสังคมนั้นไร้อนาคตเหลือเกิน หรือสังคมนั้นแทบจะไม่มีช่องทาง ไม่มีความหวังให้เราผลักดันเรื่องที่เราต้องการได้ การจะอยู่ในสังคมแบบนั้นสำหรับผมก็คงจะลำบากใจไม่น้อย

คุณยังมีความหวังกับการสถานการณ์ปัจจุบันบ้างไหม

ผมไม่คิดจากตัวเองแล้วกัน แต่เมื่อผมมองไปยังคนจำนวนมากที่ยังคงผลักดันเรียกร้องอยู่ แม้ว่าเขาจะต้องเจออุปสรรคอย่างรุนแรงมากกว่าผม เมื่อคนเหล่านั้นยังคงยึดมั่น ยังคงเรียกร้องต่อสู้ต่อไป สังคมไทยยังมีความหวังอยู่ แม้อาจจะดูไม่ค่อยเห็นช่องทางมากเท่าไหร่ แต่การที่เรายังเห็นคนจำนวนมาก ซึ่งส่วนหนึ่งอยู่ในคุก และอีกจำนวนไม่น้อยอยู่นอกคุก ได้ช่วยกันเรียกร้อง ช่วยกันผลักดันอย่างไม่หยุดหย่อนในช่วงสองสามปีที่ผ่านมา น่าจะทำให้เราพอรู้สึกได้ว่า ถ้าสมมติเราจะผลักดันหรือจะต่อสู้เรียกร้องเรื่องต่างๆ ต่อไป ก็ยังมีคนจำนวนหนึ่งที่ยังพร้อมจะเดินไปด้วยกัน ไม่ว่าจะต้องเผชิญหน้ากับอะไรก็ตาม 

ดังนั้น ถ้ายังมีคนเหล่านี้อยู่ ถ้ายังมีพวกเราอยู่ ผมคิดว่าก็ยังน่าจะทำให้เราเห็นอนาคตอยู่ได้บ้าง แต่มันอาจจะเป็นอนาคตที่ต้องใช้ระยะเวลาที่ยาวขึ้น

Fact Box

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เป็นหัวหน้าศูนย์วิจัยและพัฒนากฎหมาย คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ทั้งยังเป็นสมาชิกมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ปัจจุบันเขายังคงสอนหนังสือ นำความรู้ที่มีต่อยอดเป็นงานวิจัย และมักออกมาแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับข้อกฏหมายอยู่เสมอ

Tags: , , , ,