ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา การระบาดของโควิด-19 เปรียบเสมือนแบบทดสอบของรัฐบาลประเทศต่างๆ โดยเฉพาะมาตรการในการรับมือกับโรคระบาด และการปกป้องพลเมืองของตน แบบทดสอบนี้มีประเทศที่ทั้งผ่านการทดสอบ และประเทศที่เกือบๆ จะเรียกได้ว่าล้มเหลวในการรับมือโดยสิ้นเชิง
โรคระบาดสั่นคลอนอำนาจสี จิ้นผิง?
หลายทศวรรษที่ผ่านมา จีนแซงหน้าโซเวียต–รัสเซียในฐานะรัฐคอมมิวนิสต์ที่ยั่งยืนที่สุดในประวัติศาสตร์ การปกครองแบบพรรคเดียวของจีนเมื่อเผชิญกับวิกฤตการณ์ระยะสั้น และความท้าทายระยะยาว เป็นเสมือนบททดสอบความแข็งแกร่งของอุดมการณ์พรรค ความชอบธรรมของพรรคการเมืองเดียว และภาวะผู้นำ โดยเฉพาะประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ที่ปัจจุบันดำรงตำแหน่งเป็นประธานาธิบดีตลอดชีพของจีน
มณฑลหูเป่ย อู่ฮั่นซึ่งเป็นศูนย์กลางการแพร่กระจายของไวรัสโควิด-19 ในจีนมีผู้ติดเชื้อที่ได้รับการยืนยันมากกว่า 100,000 คน และมีผู้เสียชีวิตกว่า 4,000 คนทั่วประเทศ ทว่ายอดผู้ติดเชื้อในจีนลดลงเป็นอย่างมาก จนกระทั่ง 12 มีนาคม 2020 โฆษกรัฐบาลจีน ประกาศว่า ประเทศจีนได้ผ่านพ้นจุดพีคหรือจุดสูงสุดของการแพร่ระบาดโควิด-19 เรียบร้อยแล้ว อีกทั้งโรงพยาบาลฉุกเฉินกว่า 11 แห่งในหูเป่ยได้ปิดตัวลง เนื่องจากยอดผู้ติดเชื้อและผู้รักษาหายทยอยออกจากโรงพยาบาลเป็นที่เรียบร้อย
ระหว่างนั้นจีนยังพัฒนาแอปฯ Health Code บอกสถานะสุขภาพของคนก่อนเดินทาง ป้องกันการแพร่โควิด-19 สะท้อนว่ารัฐบาลจีนสอบผ่านในการรับมือกับโรคระบาดในครั้งนี้ แม้ว่าระหว่างทาง รัฐบาลจีนสร้างความเคลือบแคลงใจต่อประชาชนไว้พอสมควร จากกรณีของการตายของนายแพทย์หลี่เหวินเลี่ยง ที่ก่อให้เกิดการถกเถียงบนโซเชียลฯ จีนอย่างดุเดือด และแก้ปัญหาอย่างที่เคยทำมาโดยตลอด อย่างการปิดกั้นข้อมูลข่าวสาร เซ็นเซอร์คำที่เกี่ยวกับโควิด-19 ใน WeChat-YY ตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว รวมไปถึงการใช้อำนาจเบ็ดเสร็จของพรรคการเมืองเดียวจัดการเรื่องโรคระบาด
สำนักข่าวหลายเว็บไซต์เคยวิเคราะห์ไว้ว่าโรคระบาดในครั้งนี้อาจสั่นคลอนอำนาจ และความชอบธรรมของสี จิ้นผิงได้บ้าง แต่หากสั่นคลอนไม่ได้แล้ว อำนาจของสี จิ้นผิงจะยิ่งชอบธรรมและเข้มเเข็งมากขึ้นกว่าเดิม การวิเคราะห์ดังกล่าวเป็นเหมือนหน้านิยายที่หลายคนเฝ้ารอดูฉากต่อไป แต่จนแล้วจนรอด สี จิ้นผิงกลับพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาสได้อีกรอบ การควบคุมจากบนลงล่างและการจัดการอย่างเข้มงวดทำให้โรคระบาดในจีนผ่อนคลายลงอย่างเห็นได้ชัด จนกระทั่งล่วงเลยจุดพีคมาในที่สุด
ขณะที่รัฐบาลจีนสอบผ่านในบททดสอบนี้ ทั้งยังสามารถรักษาอำนาจที่คงอยู่มานานหลายสิบปีได้สำเร็จ ในทางกลับกันผู้ป่วยจากโควิด-19 นอกประเทศจีนเพิ่มจำนวนขึ้น 13 เท่าในช่วงสองสัปดาห์ที่ผ่านมา อิตาลี กลายเป็นศูนย์กลางการแพร่ระบาดโควิด-19 ในประเทศฝั่งตะวันตก ข้อมูลการติดเชื้อในประเทศต่างๆ โดยเฉพาะประเทศในแถบยุโรป หรือฝั่งโลกตะวันตก ถึง 30 ประเทศ ที่มีทั้งผู้ติดเชื้อรายแรกและผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น มีการยืนยันว่าส่วนมากได้รับเชื้อมาจากการเดินทางกลับมาจากประเทศอิตาลี จนกระทั่งต่อมาองค์การอนามัยโลกประกาศให้โควิด-19 เป็นภาวะการระบาดครั้งใหญ่ของโลกแล้ว
รัฐบาลสังคมนิยมแบบจีนๆ ทำได้ รัฐบาลประชาธิปไตยของไช่ อิงเหวินก็ทำได้เหมือนกัน
มาตรการในการรับมือกับโรคระบาดเป็นแบบทดสอบรัฐบาล เป็นที่น่าแปลกใจว่าไต้หวันเป็นอีกหนึ่งประเทศที่ตั้งอยู่ระหว่างทะเลจีนตะวันออกและทะเลจีนใต้ ห่างจากจีนแผ่นดินใหญ่เพียง 160 กิโลเมตรเท่านั้น (อยู่ตรงข้ามมณฑลฝูเจี้ยนของจีน) กลับมียอดผู้ติดเชื้อเพียง 49 คน และเสียชีวิต 1 คนเท่านั้น จากการเปรียบเทียบเกาหลีใต้ ที่มีผู้ติดเชื้อมากกว่ากว่า 7,000 คน และมีผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้นหลายร้อยคนต่อวัน ขณะที่ญี่ปุ่นมีผู้ติดเชื้อเกือบ 1,200 คน โดย 700 คนเป็นผู้ติดเชื้อจากเรือ Diamond Princess
จากการประเมินความเสี่ยงในช่วงต้นของไต้หวัน ระบุว่าไต้หวันมีแนวโน้มที่จะพบผู้ติดเชื้อมาก เนื่องจากอยู่ใกล้กับจีนเพียง 160 กิโลเมตร มีเที่ยวบินไปกลับระหว่างจีนสูง ประชากรไต้หวันนับล้านคนที่อาศัยและทำงานในจีนแผ่นดินใหญ่ อีกทั้งในช่วงตรุษจีน ชาวไต้หวันหลายแสนคนเดินทางกลับจากจีน กล่าวได้ว่ามีความเกี่ยวข้องและใกล้ชิดกัน จวบจนกระทั่งสามเดือนผ่านมา ยอดผู้ติดเชื้อในไต้หวันเพิ่มขึ้นราวๆ 3 วันต่อ 1 คน ซึ่งเป็นจำนวนที่ต่ำมาก เมื่อมองมาตรการในการรับมือกับโรคระบาดในครั้งนี้ตั้งแต่ช่วงต้นของรัฐบาลไช่ อิงเหวิน จะพบว่า
เดือนมกราคมที่ผ่านมา ไช่ อิงเหวิน ประธานาธิบดีไต้หวัน ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักหลัง ‘ห้าม’ การส่งออกหน้ากากอนามัยไปยังประเทศจีนและประเทศอื่นๆ โดยประกาศว่าตั้งแต่วันที่ 24 มกราคม การส่งออกหน้ากากอนามัยทางการแพทย์และหน้ากาก N95 จะถูกระงับเป็นเวลาหนึ่งเดือน เพราะต้องเก็บสต็อกสินค้าในประเทศในซูเปอร์มาร์เก็ตขนาดใหญ่ 4 แห่ง แห่งละ 2 ล้าน และในคลังประเทศอีก 33 ล้านชิ้น แม้จะมีการลักลอบขนส่งหน้ากากอนามัยไปยังประเทศจีนแบบผิดกฎหมาย แต่รัฐบาลไต้หวันก็ยิ่งคุมเข้ม
โดยมาตรการการห้ามการส่งออกในครั้งนี้ ทางไต้หวันให้เหตุผลว่า เมื่อครั้งที่เกิดเรื่องโรคซาร์ส ปี 2003 มีผู้เสียชีวิตในไต้หวันมากถึง 73 คน ซึ่งเป็นจำนวนสูงสุดนอกประเทศจีน ขณะเดียวกันมีผู้แอบเอาหน้ากากอนามัยไปขายให้กับจีน จนเกิดการขาดแคลนในประเทศไต้หวัน รัฐบาลจะไม่ยอมให้เกิดเหตุการณ์เช่นนั้นอีกเป็นอันขาด เพื่อป้องกันการตื่นตระหนกของประชาชน
แต่ถึงอย่างนั้นก็มีผู้ออกมาวิจารณ์มาตรการนี้ของไช่ อิงเหวิน ว่าเลือดเย็นต่อจีน เพราะเมื่อครั้งเกิดเหตุการณ์ไฟป่าออสเตรเลีย ไช่ อิงเหวินบริจาคหน้ากากให้กับประเทศออสเตรเลีย แต่พอเกิดขึ้นขึ้นกับจีนแผ่นดินใหญ่ กลับประกาศห้ามส่งออก ซึ่งมีผู้เห็นด้วยกับประเด็นนี้เป็นจำนวนมาก
จากซาร์สถึงโคโรนา บทเรียนของรัฐบาลไต้หวัน
กล่าวได้ว่าหลังจากโรคซาร์ส ถือเป็นบทเรียนใหม่ของรัฐบาลไต้หวันเกี่ยวกับมาตรการในการรับมือกับโรคระบาด รัฐบาลไต้หวันออกกฎหมายเพื่อตอบสนองต่อการระบาดในอนาคตได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น 1 ปีถัดจากโรคซาร์ส ไต้หวันจัดตั้งศูนย์สุขภาพแห่งชาติ (NHCC) เฉิน เจี้ยนเหริน นักระบาดวิทยา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และรองประธานาธิบดีไต้หวันในช่วงวิกฤตโรคซาร์ส ระบุว่า การจัดตั้งศูนย์สุขภาพแห่งชาติมีเพื่อสร้างความโปร่งใสในการแบ่งปันข้อมูลกับพนักงาน และผู้เชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้อง
ศูนย์สุขภาพแห่งชาติช่วยให้ไต้หวันตอบสนองต่อการระบาดของโควิด-19 ได้อย่างรวดเร็ว วันที่ 31 ธันวาคม 2019 เจ้าหน้าที่สาธารณสุขไต้หวันเริ่มประเมินสถานการณ์ รวมไปถึงตรวจสอบผู้โดยสารที่บินมาจากอู่ฮั่นทันที 20 มกราคม ไต้หวันยังเปิดศูนย์บัญชาการการแพร่ระบาดของโรคกลาง (CECC) ซึ่งอยู่ภายใต้การดูแลของศูนย์สุขภาพแห่งชาติ เพื่อดำเนินงานโดยเฉพาะ ต่อมาสภานิติบัญญัติไต้หวัน จัดสรรงบประมาณพิเศษ 2 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อเป็นงบประมาณในการจัดการกับโรคระบาด งบประมาณตรงนี้ใช้ในการกักกัน ควบคุมการแพร่ระบาด ตั้งแต่ควบคุมชายแดน ทางบก ทางทะเล ทางอากาศ และเป็นงบฯ สำหรับลดความเสี่ยงของการแพร่กระจายในสถานที่ต่างๆ เช่น โรงเรียน โรงพยาบาล และระบบการขนส่ง
จากสถิติเดิมที่ไต้หวันมีกำลังการผลิตหน้ากากอนามัยวันละ 1.88 ล้านชิ้นและสูงสุดถึง 2.44 ล้านชิ้น ปัจจุบันวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมของไต้หวัน ยังคงผลิตหน้ากากอนามัยเพื่อตอบสนองต่อความต้องการอยู่ 10 มีนาคม ที่ผ่านมา ไช่ อิงเหวินยังโพสต์ทวิตเตอร์ว่า “ฉันภูมิใจที่จะบอกกับทุกว่า ช่วงสัปดาห์นี้ทีมผลิตหน้ากากอนามัยของไต้หวันสามารถผลิตหน้ากากอนามัยเฉลี่ยวันละ 9.2 ล้านชิ้น สัปดาห์หนึ่งผลิตได้ 10 ล้านชิ้น ใช่! สิบล้านชิ้น!”
ใช้ประโยชน์จาก ‘Big Data’ สู้โคโรนาไวรัส
นอกจากนโยบายควบคุมที่รัดกุมแล้ว ไต้หวันยังใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะการรวมฐานข้อมูลการประกันสุขภาพของชาติเข้ากับฐานข้อมูลการเข้าเมือง และศุลกากรเพื่อเริ่มสร้างข้อมูลขนาดใหญ่สำหรับการวิเคราะห์ ซึ่งทำให้รัฐบาลสามารถระบุตัวตนของผู้ป่วยได้ โดยสร้างการแจ้งเตือนแบบเรียลไทม์ ตามประวัติการเดินทางนอกจากนี้โรงพยาบาล คลินิก และร้านขายยาทั่วประเทศสามารถเข้าถึงประวัติการเดินทางของผู้ป่วยได้
ที่ไทเป เริ่มใช้การสแกนรหัสแบบ QR Code เพื่อรายงานประวัติการเดินทาง และอาการทางสุขภาพแบบออนไลน์ เพื่อจำแนกความเสี่ยงด้านการติดเชื้อของผู้เดินทาง ตามเที่ยวบินและประวัติการเดินทางในช่วง 14 วันที่ผ่านมา นอกจากนี้ผู้ที่ไม่ได้เดินทางไปยังพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูง จะมีประกาศสุขภาพเตือนผ่านทาง SMS เพื่อการตรวจคนเข้าเมืองที่รวดเร็วขึ้น และแยกผู้ที่เดินทางไปยังพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูงไว้ โดยกักกันที่บ้าน มีระบบติดตามผ่านโทรศัพท์มือถือเพื่อให้แน่ใจว่าผู้ถูกกักกันจะอยู่บ้านในช่วงระยะฟักตัว
พร้อมกันนั้น ยังจำกัดการซื้อหน้ากากของประชาชนในประเทศ 2 ชิ้นต่อสัปดาห์ ต่อคน และต้องใช้บัตรประชาชนในการซื้อเพื่อเก็บข้อมูล และ รัฐมนตรีกระทรวงดิจิทัลของไต้หวัน ออเดรย์ ถัง ได้โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กส่วนตัวของเธอ แนะนำเว็บไซต์ ’แผนที่’ อินเตอร์แอคทีฟแบบเรียลไทม์ แสดงจุดจำหน่ายหน้ากากอนามัยภายในไต้หวัน เพื่อช่วยให้คนหาซื้อหน้ากากอนามัยได้ง่ายมากขึ้น
โดยออเดรย์ ถัง รัฐมนตรีกระทรวงดิจิทัลไต้หวัน ซึ่งเป็นหญิงข้ามเพศและเคยเป็นแฮกเกอร์มาก่อน ทำงานร่วมกับทีมจากบริษัท Goodideas-Studio (好想工作室) สร้างแผนที่ที่เรียกว่า ‘Instant Mask Map’ (即時口罩地圖) ขึ้นมา และมีการใช้งานที่ง่ายแสนง่าย โดยใช้ระบบแถบสีแสดงผลว่าจุดที่ปักไว้ในแผนที่มีหน้ากากอนามัยจำหน่ายหรือไม่ โดยสีเทาหมายถึงไม่มีหน้ากากเหลืออยู่เลย สีชมพูมีเพียง 20% หรือน้อยกว่านั้น สีเหลืองมี 20-50% สีเขียวมีมากกว่า 50% และสีฟ้าคือการแสดงผลทั้งหมด
ภายในแผนที่ดิจิทัลนี้ เมื่อคลิกในจุดที่มีการปักหมุด ก็จะแสดงผลชื่อร้านค้า โลเคชั่น เวลาเปิด–ปิด ข้อมูลการติดต่อ และยังมีการแยกประเภทจำนวนหน้ากากอนามัยของเด็กและผู้ใหญ่ให้ด้วยว่าเหลือจำนวนอย่างละเท่าไร
นักโทษจากเรือนจำไต้หวัน สร้างประโยชน์ให้สังคม
นอกจากบริษัทสตาร์ทอัพอย่าง Yallvend Co ที่ติดตั้งตู้จำหน่ายหน้ากาก N95 อัตโนมัติโดยร่วมมือกับรัฐบาลไต้หวัน โดยใช้ระบบ FACE ID ยืนยันตัวตนพร้อมกับบัตรประชาชนก็สามารถรับหน้ากากอนามัยไปใช้ได้เลย เครื่องจำหน่ายอัตโนมัตินี้ทำให้ประชาชนเข้าถึงหน้ากากอนามัยได้ ถือเป็นความร่วมมือระหว่างรัฐกับพลเมืองในสังคม ที่ไม่เพียงให้รัฐเป็นแนวหน้า แต่พลเมืองยังช่วยสนับสนุนด้วย
เจแปนไทม์ส รายงานว่านักโทษชายในเรือนจำไทเปของไต้หวัน ยังทำงานล่วงเวลาเพื่อเย็บหน้ากากอนามัย ตั้งแต่กลางเดือนกุมภาพันธ์ รวมที่ผลิตไปแล้วมากกว่า 52,000 ชิ้น โดยปกติแล้ว นักโทษชายเหล่านี้ทำงานเย็บเครื่องแบบ สิ่งทอ อยู่เป็นประจำและรู้จักการใช้จักรเย็บผ้าเป็นอย่างดี หลังมีการแพร่ระบาดของเชื้อโรค ก็หันมาทำหน้ากากอนามัยแทน ซึ่งจะได้รับค่าจ้างจากเรือนจำ บางครั้งนักโทษก็ขยันทำงานจนดึกดื่น ผู้คุมกล่าวว่าบางครั้งเขาต้องสั่งให้นักโทษหยุดพักงานบ้าง
นักโทษชายวัย 50 ปีรายหนึ่งเล่าว่า ครอบครัวของเขามาเยี่ยมที่เรือนจำ ลูกสาวพูดว่าหน้ากากอนามัยขาดแคลน หาซื้อได้ยากมาก เขาจึงตอบลูกไปว่า “พ่อกำลังผลิตหน้ากากอนามัย บางทีลูกอาจได้มีโอกาสใช้หน้ากากที่พ่อผลิต” ทั้งยังกล่าวว่าเขารู้สึกดีที่ได้ทำประโยชน์ให้กับสังคม
บนเวทีการเมืองโลก หลายครั้งที่ไต้หวันถูกโดดเดี่ยวจากนานาชาติ ไม่ได้รับมติให้เป็นสมาชิกองค์การอนามัยโลก (WHO) แต่ในสภาวะการแพร่ระบาดของโควิด-19 นี้ ไต้หวันกลับจัดการได้อย่างรัดกุม ช่วยเหลือพลเมืองของตนให้ได้มากที่สุด ตั้งแต่จัดการสั่งห้ามส่งออกหน้ากาก ใช้ Big Data และเทคโนโลยีจัดการปัญหา รวมทั้งสื่อสารอย่างตรงไปตรงมา โปร่งใส กล่าวได้ว่ารัฐบาลจีนจัดการกับการแพร่ระบาดได้ในที่สุด รัฐบาลไต้หวันก็จัดการได้อย่างไม่น้อยหน้าเช่นกัน
อ้างอิง:
https://www.japantimes.co.jp/news/2020/03/11/world/taiwan-prisons-coronavirus-masks/#.Xms2Xqgza03
ภาพ : Carlos Jasso/AFP
Tags: ประเทศจีน, โคโรนาไวรัส, โควิด-19, ไต้หวัน