ในยามที่โคโรนาไวรัสระบาดไปทั่วโลก คงไม่มีอะไรจะขายดีไปกว่าหน้ากากอนามัยอีกแล้ว ไม่ว่าจะเป็นหน้ากากอนามัยการแพทย์ป้องกันเชื้อโรค ไวรัส หรือหน้ากาก N95 กันฝุ่น ที่นอกจากจะขายดี ราคาสูงลิบลิ่วแล้ว ยังหาซื้อไม่ได้อีกด้วย แม้แต่ประเทศจีนซึ่งเป็นแหล่งผลิตสำคัญของโลกยังต้องพึ่งพาการนำเข้าจากต่างประเทศ ทำให้เห็นว่าต่อจากนี้โลกเรากำลังจะหมุนไปสู่ธุรกิจเพื่อสุขภาพมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นหน้ากาก เจลล้างมือ เครื่องกรองอากาศ ที่กลายเป็น #ของมันต้องมี  ไปเสียแล้ว 

โอกาสที่มาพร้อมกับวิกฤติ

จีนเป็นประเทศอุตสาหกรรมที่ผลิตข้าวของเครื่องใช้มากมาย ด้วยค่าแรงที่ถูก ทำให้จีนกลายเป็นแหล่งผลิตระดับโลก และสามารถขายสินค้าได้ในราคาถูกตามไปด้วย เช่นเดียวกันกับหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากกันฝุ่น ซึ่งกลายเป็นสินค้าของประเทศที่มาพร้อมวิกฤติปัญหาสุขภาพ

อุตสาหกรรมผลิตหน้ากากอนามัยของประเทศจีนเริ่มต้นจากเหตุการณ์โรคซาร์ส ในปี 2003 (โรคซาร์สเริ่มระบาดในเดือนกุมภาพันธ์ และเริ่มมีการตั้งโรงงานผลิตหน้ากากอนามัยในประเทศจีนในช่วงเดือนเมษายน) แต่ถึงอย่างนั้นในช่วงนั้น ประเทศจีนเองก็ยังคงไม่ได้พัฒนาก้าวไกลทั้งเรื่องเงินทุน การลงทุน เทคโนโลยี เหมือนเช่นทุกวันนี้ โรงงานอุตสาหกรรมผลิตหน้ากากอนามัยเพิ่งจะมาบูมจริงๆ นับตั้งแต่ปี 2012 เป็นต้นมา ด้วยปัญหาค่าฝุ่น PM2.5 และสภาพอากาศที่เป็นมลพิษอันเกิดจากการจราจรและโรงงานอุตสาหกรรมในประเทศจีนเอง 

โดยในปี 2013 มีบริษัทหรือโรงงานอุตสาหกรรมที่จดทะเบียนเพื่อผลิตหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากกันฝุ่น จำนวน 500 บริษัท จากนั้นอีกสองปีจำนวนบริษัทในธุรกิจนี้ก็เพิ่มขึ้นเป็นสองเท่า แต่ในขณะเดียวกันก็พบว่ากว่าครึ่งยังคงมีปัญหาเรื่องคุณภาพของสินค้า ในปี 2014 ทางการเซี่ยงไฮ้แจกหน้ากากอนามัยแก่พลเมืองเนื่องด้วยปัญหามลพิษทางอากาศ โดยเฉพาะฝุ่น PM2.5 สูงเกินค่ามาตรฐานและเลวร้ายที่สุดเท่าที่บันทึกไว้ได้ (สูงกว่าที่ WHO กำหนดไว้ 20 เท่า) ในปี 2016 ปักกิ่ง เทียนจินและอีก 70 กว่าเมืองตอนเหนือของจีนต้องประสบกับมลพิษทางอากาศ ค่าฝุ่น PM2.5 เกินมาตรฐาน ซึ่งส่งผลกระทบต่อประชาชนกว่า 460 ล้านคน จนมีการประกาศภาวะวิกฤติทางสภาวะอากาศใน 24 เมือง 

จากมลพิษทางอากาศนี้เองทำให้ประเทศจีนก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำในการผลิตหน้ากากอนามัยและหน้ากากป้องกันมลพิษต่างๆ โดยในปี 2015 คาดว่ามูลค่าทางเศรษฐกิจของอุตสาหรรมหน้ากากอนามัยสูงถึง 4 พันล้านหยวนหรือประมาณ 600 ล้านดอลลาร์สหรัฐเลยทีเดียว โดยมีเขตอุตสาหกรรมหลักอยู่ทางภาคตะวันออกของประเทศ ในแถบเขตเศรษฐกิจป๋อไห่ แถบลุ่มแม่น้ำแยงซี และแม่น้ำจูเจียง โดยเฉพาะในมณฑลซานตง ซึ่งถือเป็นจุดศุนย์กลางอุตสาหกรรมการผลิตหน้ากากอนามัยของจีน 

นอกจากนี้ยังมีหมู่บ้านต้าเตียน ในเมืองเจี่ยวโจว มณฑลซานตง ที่ได้ชื่อว่าเป็นหมู่บ้านหน้ากากซึ่งถือเป็นแหล่งผลิตหน้ากากอนามัยที่ถูกที่สุดในประเทศจีน โดยมีกำลังผลิต 1 พันล้านชิ้น/ปี โดยมีมูลค่า 1.1 พันล้านหยวน หรือ 160 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือถือเป็น 80% ของส่วนแบ่งการตลาดทั้งหมดในประเทศ 

จากหน้ากากอนามัยแบบมาตรฐาน (การแพทย์) ก็มีการพัฒนารูปแบบเพื่อให้เหมาะสมกับการใช้งานแบบต่างๆ ความสะดวกสบายในการสวมใส่ ไปจนถึงความเป็นแฟชั่นของหน้ากาก ซึ่งเริ่มได้รับความนิยมมากขึ้นในประเทศจีน เช่นหน้ากากนำเข้ายี่ห้อ Vogmask หรือยี่ห้อ Cambridge Mask ที่มีทั้งประสิทธิภาพและความสวยงามในแบบแฟชั่นด้วยลวดลายต่างๆ ซึ่งมีราคาตั้งแต่ 120 หยวนไปจนถึง 245 หยวน และยี่ห้อ Airinum ที่สามารถเปลี่ยนฟิลเตอร์ได้ 

แต่การกำหนดมาตรฐานหน้ากากที่สามารถป้องกันฝุ่น PM2.5 ได้ในประเทศจีน เพิ่งจะเริ่มมีในวันที่ 21 มีนาคม 2016 นี่เอง ซึ่งปรากฏว่ากว่า 99% ของหน้ากากในประเทศจีนไม่สามารถป้องกันฝุ่น PM2.5 ได้ แต่นับจากนั้นก็เป็นจุดเริ่มต้นของอุตสาหกรรมหน้ากากป้องกันฝุ่น PM2.5 อย่างจริงจังในประเทศจีน 

จากการสำรวจยอดขายหน้ากากในเว็บไซต์อีคอมเมิร์ซชื่อดังของประเทศจีนอย่าง Taobao/Tmal ในช่วงเดือนธันวาคม 2018 ถึงมกราคม 2019 พบว่า ยี่ห้อที่ขายดีได้แก่ 

ในขณะที่งานวิจัยสำรวจตลาดการซื้อขายหน้ากากอนามัยในประเทศจีนอีกชิ้น พบว่าแบรนด์ที่ครองตลาดสูงสุดกลับเป็นแบรนด์จากสหรัฐอเมริกา ที่คนทั้งโลกรู้จักกันดี นั่นก็คือ 3M โดยครองส่วนแบ่งในตลาดสูงถึง 90% เลยทีเดียว ตามมาด้วยแบรนด์อย่าง Honeywell และ Ludun (ซึ่ง Ludun เป็นแบรนด์จากจีนเจ้าเดียวที่ติดห้าอันดับแรก ผลิตโดยบริษัทในประเทศอย่าง Sinotextiles Corporation Limited) ในสัดส่วนน้อยกว่า 5% ที่เหลือคือแบรนด์ Uvex และ Hakugen ในสัดส่วนน้อยกว่า 1% ซึ่งที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะความเชื่อใจในคุณภาพของหน้ากากอนามัยว่ามีประสิทธิภาพในการป้องกันหรือไม่ 

แต่ในขณะเดียวกัน ก็มีอีกหนึ่งรายงานกล่าวถึงบริษัทที่ผลิตหน้ากากรายใหญ่ของจีน (ซึ่งอาจจะไม่ได้ผลิตเพื่อขายภายในประเทศเท่านั้น) จำนวน 4 บริษัทที่ผลิตหน้ากากอนามัยขาย 7 แบรนด์ โดยบริษัทรายใหญ่ที่สุดได้แก่ Shanghai Dragon Corporation (ผลิต 2 แบรนด์ มีส่วนแบ่งในตลาด 6.52%) ตามมาด้วยบริษัท Shanghai MNP Inc (ผลิต 3 แบรนด์ มีส่วนแบ่งในตลาด 7.14%) อันดับสามคือบริษัท Teda Tianjin (ผลิต 1 แบรนด์ 1 แบรนด์ มีส่วนแบ่งในตลาด 5.90%) และบริษัท Dongguan Rongxin (ผลิต 1 แบรนด์ มีส่วนแบ่งในตลาด 1.00%)

ทำไมหน้ากากอนามัยในจีนถึงขาดตลาด 

จากเหตุการณ์การระบาดของโคโรนาไวรัส ที่เริ่มจากในเมืองอู่ฮั่น ประเทศจีน ทำให้หน้ากากอนามัยกลับมาเป็นที่ต้องการอย่างล้นหลาม จนขาดตลาด มีการกักตุนสินค้า และราคาถีบตัวสูงขึ้นอย่างน่าตกใจ และจากภาพข่าวที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่ามีชาวจีนกว้านซื้อหน้ากากอนามัยจากเมืองไทยกลับไปยังประเทศจีนเป็นจำนวนมาก ซึ่งสร้างความสงสัยให้แก่ใครหลายคนว่า ในขณะที่ประเทศจีนซึ่งเป็นประเทศที่ผลิตหน้ากากอนามัยส่งออกไปทั่วโลก แล้วเหตุใด หน้ากากจึงยังไม่พอ ถึงขั้นต้องสั่งซื้อจากต่างประเทศ

จากรายงานกระทรวงอุตสาหกรรมประเทศจีน ระบุว่า กว่า 40% ของโรงงานผลิตหน้ากากในประเทศจีน ส่งออกไปยังทั่วโลก ซึ่งคิดเป็นปริมาณกว่าครึ่งของการใช้หน้ากากอนามัยของโลก นี่เป็นอีกหนึ่งเหตุผลที่ว่า ทำไมหน้ากากอนามัยในประเทศจีนถึงไม่เพียงพอ บวกกับความต้องการที่สูงขึ้นกว่า 100% ในช่วงที่เกิดโคโรนาไวรัสอีกด้วย ซึ่งคำว่าความต้องการนี้ ไม่ได้มีเฉพาะในประเทศจีนเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงทั่วโลก 

ไม่เพียงแค่นั้นปริมาณการผลิตหน้ากากตามความต้องการของโลก ยังมีแนวโน้มเป็นหน้ากากป้องกันฝุ่น PM2.5 และมลพิษทางอากาศมากกว่าหน้ากากอนามัยที่ป้องกันไวรัสอีกด้วย ถึงแม้ว่าในหลายๆ กรณีจะมีการใช้ปนกันก็ตามที นั่นจึงทำให้อุตสาหกรรมหน้ากากโน้มเอียงไปทางการผลิตเพื่อป้องกันฝุ่นมากกว่า 

แต่ถึงอย่างนั้นในปี 2019 ที่ผ่านมา กลับกลายเป็นว่าสภาวะอากาศในประเทศจีนนั้นดีขึ้น เนื่องด้วยนโยบายของรัฐบาลไม่ว่าจะเป็นการจำกัดการใช้ยานยนต์ หรือการควบคุมโรงงานอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่องเพื่อลดมลภาวะทางอากาศที่ส่งผลต่อสุขภาพประชาชนอย่างมากในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ยิ่งทำให้กำลังการผลิตและความต้องการหน้ากากลดลงไปอีก 

ซ้ำร้าย อีกหนึ่งปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อการผลิตมากที่สุดก็คือ การแพร่ระบาดของโคโรนาไวรัสนั้น เกิดขึ้นในช่วงวันตรุษจีน ซึ่งเป็นเทศกาลวันหยุดยาวของชาวจีน โรงงานและแรงงานต่างหยุดงานและการผลิตกันนานเป็นสัปดาห์ ทำให้ไม่มีหน้ากากในสต็อก ว่ากันว่าบางโรงงานมีการเรียกตัวคนงานกลับมาผลิตในช่วงวันหยุดต่อเนื่องวันตรุษจีน และเปิดการผลิต 24 ชั่วโมงเลยทีเดียว บริษัทอย่าง CMmask กล่าวว่า มียอดสั่งหน้ากากกว่า 10 ล้านชิ้นตั้งแต่วันที่ 24 มกราคมที่ผ่านมา และยอดรายวันต่อเนื่องสูงถึงวันละ 5 ล้านชิ้น (รวมยอดสั่งจากต่างประเทศ) แต่กำลังการผลิตและแรงงานนั้นไม่พอ 

นั่นเป็นเหตุผลที่ทำให้เราเห็นภาพข่าวการขนหน้ากากอนามัยกลับประเทศของนักท่องเที่ยวชาวจีน แต่นั่นก็เป็นเพียงรายย่อย ซึ่งไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้ภายในประเทศ ประเทศจีนจึงทำการสั่งซื้อหน้ากากอนามัยจากประเทศตุรกี อีกหนึ่งผู้ผลิตรายใหญ่ของโลก (เช่นเดียวกับประเทศอินเดีย) โดยประเทศตุรกีนั้นปกติมีกำลังการผลิตและส่งออกหน้ากากอนามัยอยู่ที่ 150 ล้านชิ้นต่อปี แต่ยอดการสั่งซื้อล่าสุดจากประเทศจีนคือ 200 ล้านชิ้น ยังไม่นับรวมยอดการสั่งซื้อจากประเทศอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น อิตาลี เนเธอร์แลนด์ ฝรั่งเศส โปแลนด์ เยอรมนี ฯลฯ 

ในขณะที่อินเดีย ซึ่งเป็นอีกประเทศหนึ่งที่มีการผลิตและส่งออกหน้ากากและอุปกรณ์ป้องกันเชื้อโรคส่วนบุคคลไปยังทั่วโลก โดยมีประเทศที่ส่งออกคือ สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร สเปน ออสเตรเลีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เนเธอร์แลนด์ ฝรั่งเศส ฯลฯ ก็เพิ่งจะประกาศห้ามการส่งออกอุปกรณ์ป้องกันเชื้อโรคส่วนบุคคล อาทิ หน้ากากอนามัย ออกนอกประเทศ โดยอินเดียเพิ่งจะมีรายงานผู้ติดเชื้อโคโรนาไวรัสเพียง 2 คนเท่านั้น และยังไม่มีผู้เสียชีวิต 

ส่วนอีกประเทศที่ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักหลังห้ามการส่งออกหน้ากากอนามัยไปยังประเทศจีนและประเทศอื่นๆ ก็คือไต้หวัน ไช่อิงเหวิน นายกรัฐมนตรีไต้หวัน ประกาศว่าตั้งแต่วันที่ 24 มกราคม การส่งออกหน้ากากอนามัยทางการแพทย์และหน้ากาก N95 จะถูกระงับเป็นเวลาหนึ่งเดือน เพราะต้องเก็บสต็อกสินค้าในประเทศในซูเปอร์มาร์เก็ตขนาดใหญ่ 4 แห่ง แห่งละ 2 ล้าน และในคลังประเทศอีก 33 ล้านชิ้น 

ตามสถิติ ไต้หวันมีกำลังการผลิตหน้ากากอนามัยวันละ 1.88 ล้านชิ้นและสูงสุดถึง 2.44 ล้านชิ้น ส่วนหน้ากาก N95 มีกำลังการผลิต 100,000 ชิ้นต่อวัน และสูงสุดถึง 120,000 ชิ้น โดยในปี 2018 ที่ผ่านมา ไต้หวันส่งออกหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ไปยังประเทศญี่ปุ่นสูงสุด 65.3% ตามมาด้วย เคนยา 7.4% สหรัฐอเมริกา 6.3% ฮ่องกง 5.8% เกาหลีใต้ 4.3% แคนาดา 2.1% เกาหลีใต้ 4.3% แคนาดา 2.1% จีนเพียงแค่ 1.7% สิงคโปร์ 1.5% เม็กซิโกและบาห์เรน 1.2% เวียดนามและฟิลิปปินส์ 1.1% และอื่นๆ รวมกันอีก 10.3%

ส่วนหน้าหน้ากาก N95 ไต้หวันส่งออกไปยัง สหราชอาณาจักร​ 21.2% สิงคโปร์​ 14.6% สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์​ 9.1% เยอรมนี ​8.7% มาเลเซีย ​8.3% สวิตเซอร์แลนด์​ 7.7% ฝรั่งเศส​ 4.5% จีน​ 3.7% แอฟริกาใต้ ​3.3% อิตาลี ​3.3% ญี่ปุ่น 1.8% เนเธอร์แลนด์เบลเยี่ยมและอินเดีย​ 1.5% และอื่นๆ​ 10.3%

โดยมาตรการการห้ามการส่งออกในครั้งนี้ ทางไต้หวันให้เหตุผลว่า เมื่อครั้งที่เกิดเรื่องโรคซาร์ส มีผู้แอบเอาหน้ากากอนามัยไปขายให้กับจีน จนเกิดการขาดแคลนในประเทศไต้หวัน รัฐบาลจะไม่ยอมให้เกิดเหตุการณ์เช่นนั้นอีกเป็นอันขาด เพื่อป้องกันการตื่นตระหนกของประชาชน แต่ถึงอย่างนั้นก็มีผู้ออกมาวิจารณ์มาตรการนี้ของไช่อิงเหวิน ว่าเลือดเย็นต่อจีน เพราะเมื่อครั้งเกิดเหตุการณ์ไฟป่าออสเตรเลีย ไช่อิงเหวินบริจาคหน้ากากให้กับประเทศออสเตรเลีย แต่พอเกิดขึ้นขึ้นกับจีนแผ่นดินใหญ่ กลับประกาศห้ามส่งออก ซึ่งมีผู้เห็นด้วยกับประเด็นนี้เป็นจำนวนมาก

อนาคตของอุตสาหกรรมเพื่อสุขภาพ 

ก่อนที่จะเกิดโคโรนาไวรัส มีการคาดการณ์กันว่าอุตสาหกรรมหน้ากากอนามัยทุกรูปแบบในประเทศจีนจะเติบโตสูงขึ้นไปจนถึงมูลค่า 1 หมื่นล้านหยวนในอีกไม่เกินห้าปี แต่จากเหตุการณ์การระบาดของโคโรนาไวรัสในครั้งนี้ คงจะต้องมีการประเมินตัวเลขกันใหม่ทั้งตัวเลขอาจจะสูงขึ้นเกิน 1 หมื่นล้านหยวน หรือระยะเวลา 5 ปีอาจจะย่นย่อลงมา 

อีกหนึ่งประเด็นที่น่าสนใจก็คือนวัตกรรมและเทรนด์การใช้หน้ากากที่มาพร้อมกับปัญหาสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะหน้ากากที่มีประสิทธิภาพครบครันและสวมใส่ได้อย่างสบายไม่อึดอัด โดยในช่วงปลายปี 2018 เริ่มมีการนำเอานวัตกรรมเอไอเข้ามาใช้ในการเสริมประสิทธิภาพการทำงานของหน้ากาก โดยเฉพาะหน้ากากป้องกันมลพิษทางอากาศ โดยมีการฝังไมโครชิปส์เข้าไปในหน้ากาก 

ซึ่งตัวไมโครชิปส์นี้มีนวัตกรรมทั้งการมอนิเตอร์ค่ามลภาวะของอากาศ และปรับใช้งานตามค่ามลภาวะในช่วงนั้นๆ และยังมีฟังก์ชั่นการใช้งานอื่นๆ อีกด้วยไม่ว่าจะเป็น วัดอัตราการเต้นของหัวใจ ความดันอากาศ และทำให้ดูเหมือนเป็นอุปกรณ์กีฬามากขึ้น มีความเป็นแฟชั่นและสวมใส่ได้ง่ายในชีวิตประจำวัน ซึ่งอุปกรณ์หน้ากากไฮเทคชนิดนี้เริ่มมีวางขายในประเทศจีนบ้างแล้ว ถึงแม้จะมีราคาสูง แต่ก็พบว่าบรรดาผู้ที่อายุต่ำว่า 30 ปี เริ่มซื้อใช้กันมากขึ้น คิดเป็น 53% และส่วนมากเป็นผู้หญิง 

และคาดว่าไม่นานนอกจากโทรศัพท์มือถือที่เราต้องติดตัวออกจากบ้านเป็นประจำแล้ว หน้ากากป้องกันทั้งฝุ่นทั้งไวรัส อาจจะกลายเป็นอีกหนึ่งอุปกรณ์ประจำตัวที่ต้องมีทุกบ้านและขาดไม่ได้ 

อ้างอิง

https://www.seair.co.in/masks-export-data.aspx 

https://www.reuters.com/article/us-china-health-india/india-bans-export-of-protective-masks-clothing-amid-coronavirus-outbreak 

https://daxueconsulting.com/anti-pollution-mask-industry-in-china/ 

http://www.xinhuanet.com/politics/2017-01/24/c_1120371435.htm 

https://wenku.baidu.com/view/dc94ea86551810a6f4248602.html 

https://www.eveningexpress.co.uk/news/business/face-mask-manufacturers-face-a-surge-in-demand-after-coronavirus-outbreak/ 

https://www.aa.com.tr/en/economy/china-orders-200m-masks-from-turkey-amid-virus-outbreak/1720619 

https://www.scmp.com/business/companies/article/3048496/shanghai-ramps-face-mask-production-supplies-run-out-amid 

https://www.reuters.com/article/us-china-health-masks/china-virus-triggers-global-rush-for-protective-masks-idUSKBN1ZT21L 

https://www.theguardian.com/world/2020/jan/28/china-mask-producers-work-overtime-to-meet-coronavirus-sparked-demand 

https://nei.st/medium/initium/taiwan-mask-wuhan-pneumonia

ภาพ : Candida NG, Handout, Nhac NGUYEN/ AFP, Stringer Shanghai,Yimou Lee/REUTERS

Tags: , , , , ,