หลายคนคิดว่า อาหารเช้าเป็นมื้อส่วนตัว หรือไม่ก็เป็นมื้อที่ควรสงวนไว้สำหรับความรื่นรมย์ผ่อนคลาย เพราะเพิ่งลุกจากที่นอนมาไม่นาน จะให้ทำงานเลยก็กระไรอยู่

    แต่ที่จริงแล้ว นักธุรกิจใหญ่ๆ หลายคน ตั้งแต่วอร์เรน บัฟเฟ็ต จนถึง บิล เกตส์ รวมไปถึงนักธุรกิจไทยระดับบิ๊กเบิ้มจำนวนมาก ต่างชอบการ ‘ประชุมเช้า’ โดยมีอาหารกินแกล้มไปด้วยเป็นอันมาก

    บางคนอาจนึกสงสารนักธุรกิจเหล่านี้ด้วยซ้ำไป เพราะคิดว่าคนเหล่านี้ไม่มีเวลามากนัก ดังนั้นจึงต้องใช้ทุกนาทีให้เป็นประโยชน์ กระทั่งมื้ออาหารเช้าที่ควรเต็มไปด้วยความรื่นรมย์ จิบกาแฟแกล้มกับเอ้กเบเนดิกต์หรืออะโวคาโดโทสต์ไปช้าๆ ก็ต้องมานั่งครุ่นคิดแผนธุรกิจกันเป็นการใหญ่

    แต่ที่จริงแล้ว มีงานวิจัยและการสำรวจหลายครั้งให้ผลตรงกันว่า การประชุมในมื้อเช้าแบบที่เรียกว่า Breakfast Meeting นั้น กลายเป็นการประชุมที่สัมฤทธิ์ผลมากยิ่งกว่า Lunch Meeting หรือการประชุมในมื้อเที่ยงที่เคยเป็นธรรมเนียมปฏิบัติกันมายาวนานเสียอีก (แน่นอนว่า Dinner Meeting นั้นไม่ค่อยมี เพราะมื้ออาหารค่ำจะเป็นมื้อสำหรับการ ‘ออกงาน’ มากกว่า ไม่ใช่มื้อสำหรับการประชุมจริงจัง) ถึงขั้นที่มีสื่อต่างประเทศบางเจ้าบอกด้วยซ้ำไปว่า Breakfast is the New Lunch เลยทีเดียว

ทำไมถึงเป็นอย่างน้ัน?

    ก่อนจะตอบคำถามนี้ อยากชวนคุณมาดูงานวิจัยจากหลายที่ ที่ตั้งข้อสงสัยเป็นสมมุติฐานการวิจัยว่า ‘ช่วงเวลา’ ในแต่ละวัน มีผลต่อการตัดสินใจต่างๆ ของคนทำงานหรือเปล่า

    เช่น ถ้าเราเป็นผู้พิพากษาหรือแพทย์ เราอาจรู้สึกว่าการตัดสินหรือวินิจฉัยโรคของเรานั้น มั่นคงเที่ยงตรงสม่ำเสมอกันในทุกช่วงเวลาของวัน จะตัดสินหรือวินิจฉัยตอนเก้าโมงเช้าหรือบ่ายสี่โมงเย็น ก็ควรให้ผลออกมาเหมือนกัน เพราะเราได้รับการ ‘ฝึก’ มาอย่างนั้น

    แต่มีงานวิจัยหนึ่งเป็นงานของ Shai Danziger, Jonathan Levav และ Liora Avaim-Pesso ตีพิมพ์ในวารสาร PNAS (หรือ Proceedings of the National Academy of Sciences of the United States of America) ที่วิเคราะห์การพิพากษาของศาลว่ามีความ ‘เมตตา’ มากแค่ไหน โดยผ่านการดูว่าศาลมีการอนุมัติปล่อยตัวจำเลยโดยทำทัณฑ์บนมากน้อยแค่ไหน มีการสำรวจจากคดี 1,112 คดี โดยเทียบผลการพิพากษาของศาลกับเวลาของวันนั้นๆ

    พบว่าแนวโน้มเป็นไปในแนวทางเดียวกันเกือบหมด นั่นคือในช่วงเช้า ผู้พิพากษาจะตัดสินใจปล่อยตัวจำเลยแบบมีทัณฑ์บน (จะพูดว่ามี ‘เมตตา’ ต่อจำเลยก็ได้) แต่แล้วพอเวลาผ่านไป กราฟก็จะค่อยๆ ลดลง คือจะมีการปฏิเสธคำร้องของจำเลยมากขึ้นเรื่อยๆ สัดส่วนของการอนุมัติตามคำขอของจำเลยในตอนเช้าอยู่ที่ 65% แต่จะลดลงไปจนเกือบถึง 0 ตอนใกล้เที่ยง แล้วพอหลังอาหารเที่ยงแล้ว รูปแบบเดิมนี้ก็จะย้อนกลับมาอีก คือคำตัดสินปล่อยตัวสูงอีกรอบ แล้วพอถึงตอนเย็นก็ลดลงเกือบถึง 0 อีกครั้ง

    อีกงานวิจัยหนึ่งเกิดกับวงการแพทย์ เป็นงานของ Jeffrey A. Linder, Jason N. Doctor และ Mark W. Friedberg ตีพิมพ์ในวารสาร JAMA Internal Medicine

    งานนี้ก็พบคล้ายๆ กัน ว่าในช่วงเช้า แพทย์จะสั่งยาปฏิชีวนะอย่างเป็นเหตุเป็นผลมากกว่า พอเวลาผ่านไป แพทย์มีแนวโน้มจะสั่งยาปฏิชีวนะบ่อยครั้งขึ้น คือเมื่อเทียบกันระหว่างช่วงแรกกับช่วงสุดท้ายของการทำงาน แพทย์จะสั่งยาปฏิชีวนะเพิ่มขึ้นราว 5%

    นอกจากนี้ ยังมีงานวิจัยของ Maryam Kouchaki (จาก Northwestern’s Kellogg School of Management), Dan Cable (จาก the London Business School) และ Francesca Gino (จาก Harvard Business School) ที่พบด้วยว่า ‘ช่วงเวลาของวัน’ (Time of Day) มีผลต่อการประเมินผู้สมัครเข้าศึกษา (พูดง่ายๆ ก็คือการสอบสัมภาษณ์) คือคนที่เข้ามาสัมภาษณ์คนแรกๆ จะพบกับการสัมภาษณ์ที่มีโครงสร้างคำถามดีกว่า ส่วนคนที่สัมภาษณ์เป็นคนท้ายๆ จะเจอการตั้งคำถามที่เป็นระบบน้อยกว่า ผลจึงมักได้คะแนนประเมินต่ำกว่า

    แม้บางคนอาจยังสงสัยว่า นี่คือเรื่องของ Time of Day คือช่วงเวลาในแต่ละวัน หรือจริงๆ แล้วเป็นเรื่องของความอ่อนล้าสะสม (Fatigue Accumulation) กันแน่ ซึ่งก็ต้องถกเถียงกันต่อไป แต่ที่หลายคนเห็นพ้องต้องกันก็คือ ช่วงแรกๆ ของการทำงานย่อมทำให้ทำอะไรๆ ได้มีประสิทธิภาพกว่าแน่ๆ และ ‘อาหารเช้า’ ย่อมคือ ‘การเริ่มต้น’ ของวันใหม่ (เว้นเสียแต่ว่าคุณจะนอนดึกหรือไม่ได้นอนทั้งคืน) ดังนั้น โดยทั่วไปแล้ว อาหารเช้าจึงเป็นมื้อที่ยังไม่เกิดการสะสมของความอ่อนล้าหรือ Fatigue ซึ่งก็เป็นเหตุผลหนึ่งด้วยเช่นกันที่เรามักรู้สึกว่าอาหารเช้าเป็นมื้อที่รื่นรมย์ เพราะเป็นมื้อที่เกิดขึ้นในช่วงที่ร่างกายและจิตใจยังไม่มี ‘ความเครียดสะสม’

    ดังนั้น คำถามก็คือ หากได้ประชุมหรือตัดสินตั้งแต่เช้าผ่านการประชุมด้วยการกินมื้อเช้า จึงอาจทำให้เกิดประสิทธิภาพในการทำงานมากกว่าหรือเปล่า

    หนังสือพิมพ์ The Telegraph เคยรายงานการสำรวจของ OnePoll ในอังกฤษ ว่า คนราว 67% เชื่อว่าการประชุมในมื้ออาหารเช้านั้นให้ผลลัพธ์ที่ดีกว่า เพราะพบว่าตัวเองสามารถมีสมาธิจดจ่อ และให้ความสนใจกับเรื่องยากๆ ต่างๆ ในตอนเช้าได้มากกว่าช่วงอื่นของวัน นอกจากนี้ คนอังกฤษราวสองในสามยังบอกด้วยว่า การประชุมในช่วงมื้อเช้านั้นเริ่มพบเห็นได้บ่อยขึ้นเรื่อยๆ เพราะเจ้านายพยายามทำให้ทีมงานทำงานได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

    มีตัวเลขของร้านกาแฟเชนชื่อดังอย่าง Costa Coffee ในอังกฤษ ที่บอกว่าลูกค้าที่เข้ามาประชุมในร้านกาแฟตั้งแต่เช้านั้นเพิ่มขึ้นมากด้วยเช่นกัน ​โดยจิบกาแฟไปด้วย กินอาหารเช้าไปด้วย ทั้งนี้ก็เพราะในตอนเช้า ผู้คนจะมีความตื่นตัวมากกว่า แล้วการประชุมในร้านกาแฟแต่เช้าก็เป็นการหลีกเลี่ยงการรับโทรศัพท์ การอ่านอีเมล หรือการจัดการกับงานประเภทที่เป็นกิจวัตรได้ จึงสามารถจดจ่อกับเนื้อหาการประชุมได้ดีกว่า

    นิตยสาร Nation’s Restaurant News อันเป็นนิตยสารแนะนำเคล็ดลับวิธีการในการทำร้านอาหาร บอกว่าการประชุมไปด้วยกินอาหารไปด้วยนั้น เป็นเรื่องที่พบเห็นได้บ่อยขึ้นเรื่อยๆ พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือเป็น ‘เทรนด์’ ที่เกิดขึ้นมานานแล้ว และไม่มีทีท่าว่าจะตกลง

    เมื่อมื้อที่มีประสิทธิภาพที่สุดคือมื้อเช้า นิตยสารนี้จึงขนานนามมื้ออาหารที่เหล่าซีอีโอไปพบปะกันเพื่อเจรจาธุรกิจว่าเป็น Power Breakfasts แต่นอกจากผู้บริหารระดับสูงจะชอบประชุมพร้อมมื้ออาหารเช้าแล้ว พนักงานอื่นๆ รวมไปถึงเหล่าคนทำงานฟรีแลนซ์กับลูกค้า ก็นิยมนัดหมายกันมา ‘คุยงาน’ ในมื้อเช้ามากขึ้นเรื่อยๆ เพราะยิ่งเริ่มวันได้เร็วเท่าไหร่ ก็จะรู้สึกเหมือนวันนั้นๆ มีเวลาเหลือมากขึ้นเท่านั้น

    ด้วยเหตุนี้ นิตยสารนี้จึงแนะนำว่า ร้านอาหารกับร้านกาแฟจำนวนมากควรต้องปรับตัวเพื่อเปิดรับเทรนด์นี้ โดยสร้างบรรยากาศที่ผ่อนคลาย แต่ไม่ได้ผ่อนคลายรื่นรมย์นั่งชมนกชมไม้ ทว่าเป็นความผ่อนคลายที่มีความเป็นมืออาชีพแฝงอยู่ เพื่อรองรับการพูดคุย เจรจา หรือการประชุม

    อาหารที่เกิดขึ้นเพื่อรองรับ Power Breakfast นั้นมีได้หลากหลาย ตั้งแต่อาหารง่ายๆ อย่างกาแฟกับเพสตรี้หรือครัวซองต์สักชิ้น ไปจนถึงเซ็ตอาหารเช้าจำพวก American Breakfast หรืออาจไปถึงขั้นเป็นบุุฟเฟต์อาหารเช้า และในบางที่ก็อาจไปไกลถึงขั้นเป็นแชมเปญเบรคฟาสต์ เพื่อรองรับการเจรจาธุรกิจที่อาจประสบความสำเร็จลงนามทำสัญญาอะไรกันไปเลยก็ได้ นอกจากนี้ ยังอาจต้องจัดเตรียมห้องส่วนตัวเอาไว้ด้วย เพราะในหลายกรณี การประชุมก็ต้องการปิดลับเหมือนกัน

    ที่สำคัญ ร้านอาหารต้องจัดหา ‘เทคโนโลยี’ ต่างๆ เอาไว้รองรับอย่างมีประสิทธิภาพด้วย คือทำให้ร้านอาหารนั้นๆ เป็นคล้ายๆ Business Center เลยตั้งแต่มื้อเช้า แต่ในเวลาเดียวกันก็ต้องไม่ให้บรรยากาศเคร่งขรึมเป็นทางการเหมือน Lunch Meeting หรือการประชุมจริงๆ ซึ่งจะไปสร้างความเครียด (Fatigue) ให้ตั้งแต่เช้าตรู่ เช่น ควรจัดเตรียมไวไฟที่แรงเร็ว หากจะมีการใช้จอก็ควรมีลักษณะแนบเนียน ไม่ใช่จอใหญ่ รวมไปถึงเทคโนโลยีในการสั่งอาหารล่วงหน้า การจองออนไลน์ การจ่ายเงินแบบ Cashless หรืออื่นๆ แต่ที่สำคัญที่สุดก็คือ ต้องเตรียมพนักงานของตัวเองให้พร้อม โดยเฉพาะการเปลี่ยนทัศนคติมามองว่าอาหารเช้าไม่ใช่มื้อรื่นรมย์ผ่อนคลายอย่างเดียว แต่เป็นมื้อสำหรับการประชุมได้ด้วย ทว่าแม้เป็นมื้อประชุม ก็ต้องไม่ทิ้งความรื่นรมย์ผ่อนคลาย โดยต้องทำให้สองสิ่งนี้สมดุล

    ในไทย เทรนด์ Power Breakfast ยังไม่ค่อยเป็นที่นิยมในร้านอาหารเท่าไร ส่วนใหญ่เป็นการเชิญไปประชุมตามบ้าน (หรือคฤหาสน์) ของบอสใหญ่ต่างๆ มากกว่า แต่หากร้านอาหารเริ่มเห็นเทรนด์นี้ (ซึ่งจริงๆ ก็มาแรงขึ้นเรื่อยๆ) และช่วงชิงโอกาสที่จะเป็นผู้นำเสนอที่ทางสำหรับ Power Brakfast ก็จะทำให้อาหารเช้าในฐานะมื้อเจรจาธุรกิจหรือมื้อประชุม เป็น ‘โอกาส’ ใหญ่สำหรับคนทำธุรกิจอาหาร

    ซึ่งน่าจะมีแนวโน้มเติบโตได้อีกมาก

Tags: , , , ,