เราอาจจะคุ้นเคยชื่อเสียงของ Breakfast at Tiffany’s ในรูปแบบของภาพยนตร์ หลงรักตัวละครอย่าง ฮอลลี โกไลต์ลี (Holly Golightly) หญิงสาวชนชั้นสูงกำมะลอผู้รุ่มรวยไปด้วยเสน่ห์และอดีตที่เต็มไปด้วยปริศนา (รับบทโดย ออเดรย์ เฮปเบิร์น) เราอาจจะได้หยิบนวนิยายภาษาอังกฤษบางเล่มของ ทรูแมน คาโพที (Truman Capote) ผู้ประพันธ์ มื้อเช้าที่ทิฟฟานีส์ ขึ้นมาอ่านผ่านๆ ตา

แต่ในวันนี้ นักอ่านคนไทยได้ชื่นชมนวนิยายขนาดสั้นเรื่อง Breakfast at Tiffany’s หรือในชื่อไทยที่ว่า มื้อเช้าที่ทิฟฟานีส์ พร้อมหน้าปกสีฟ้าเทอร์ควอยซ์สดใสที่ชวนให้นึกถึงร้านเครื่องประดับซึ่งเป็นที่มาของชื่อเรื่อง หากเปรียบกับเรือขนส่งทางไกล Breakfast at Tiffany’s ได้เดินทางเทียบท่าเรือประเทศไทยเป็นที่เรียบร้อย ด้วยฝีมือแปลจากนักเขียนผู้เปี่ยมไปด้วยฝีมือและประสบการณ์อย่าง โตมร ศุขปรีชา

มื้อเช้าที่ทิฟฟานีส์ บอกเล่าถึงเรื่องราวในนิวยอร์กช่วงปี 1943 หรือช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 หลังจากที่สหรัฐอเมริกาตัดสินใจเข้าร่วมสงครามโลกภายหลังถูกโจมตีที่เพิร์ลฮาร์เบอร์ นักเขียนหนุ่มไร้นามแถมยังยากไร้ ย้อนไปเล่าเรื่องในอดีตสมัยที่เขาเคยใช้ชีวิตอยู่ที่แมนฮัตตัน ย่านอัปเปอร์อีสต์ไซด์ ในอพาร์ตเมนต์สีอิฐน้ำตาล และที่แห่งนี้เองที่เขาได้รู้จัก ฮอลลี โกไลต์ลี หญิงสาวสังคมชั้นสูง ผู้ซึ่งมีชีวิตด้วยการออกงานสังคมกับชายรุ่นใหญ่กระเป๋าหนัก คนที่คอยพาเธอไปร้านอาหารหรืองานสังสรรค์ต่างๆ เอาอกเอาใจเธอด้วยเงินทอง และเธอก็หวังว่าจะได้แต่งงานกับใครสักคนเพื่อหลุดจากวังวนนี้

เมื่อเวลาผ่านไป ฮอลลีค่อยๆ เปิดใจเล่าเรื่องส่วนตัวของเธอกับนักเขียนหนุ่มทีละน้อย มุมมองและชีวิตที่เป็นแบบฉบับเฉพาะของฮอลลี ทำให้นักเขียนหนุ่มตกหลุมรักเธอ แต่ด้วยทุกอย่างที่ประดังประเดเข้ามาในชีวิตของหญิงสาว ก็ดูเหมือนว่าความสัมพันธ์ครั้งนี้ไม่เป็นไปอย่างที่คิด

แม้ มื้อเช้าที่ทิฟฟานีส์ จะไม่เคยได้รับการยกย่องด้วยรางวัลทางวรรณกรรม เมื่อเทียบกับวรรณกรรมในยุคสมัยเดียวกันอย่าง จะเป็นผู้คอยรับไว้ ไม่ให้ใครร่วงหล่น (The Catcher in the Rye) (1951) โดย เจ.ดี.ซาลินเจอร์ เฒ่าผจญทะเล (The Old Man and the Sea) (1952) โดย เออร์เนสต์ เฮมิงเวย์ (Ernest Hemingway) ‘ก่อนรัตติกาลจะดับสูญ’ (Things Fall Apart) (1958) โดยนักเขียนชาวแอฟริกัน ชินัว อะเชเบ (Chinua Achebe) หรือโลลิต้า (Lolita) (1955) โดยนักเขียนชาวรัสเซีย วลาดิเมียร์ นาโบคอฟ (Vladimir Nabokov) แต่ด้วยตัวละครอย่าง ฮอลลี โกไลต์ลี ที่เป็นแม่เหล็กสำคัญและเนื้อเรื่องเบาสมองชวนหัวเกี่ยวกับหนุ่มสาวที่ค้นหาตัวเองผ่านความสัมพันธ์ ซึ่งสำหรับพวกเขา มันสำคัญเหมือนอากาศที่หายใจเข้าไป และเป็นประสบการณ์ที่ไม่ว่าใครต่างก็เคยประสบพบเจอด้วยตัวเอง ทำให้ มื้อเช้าฯ ยังคงครองใจมวลชนนับล้านคนทั่วโลกจากวันที่มันตีพิมพ์จนถึงปัจจุบัน

กว่าจะเป็น มื้อเช้าที่ทิฟฟานีส์ ในวันนี้

ในตอนแรก ทรูแมน คาโพที ตั้งใจขายต้นฉบับ มื้อเช้าที่ทิฟฟานีส์ ให้กับนิตยสารฮาร์เปอร์สบาร์ซาร์ (Harper’s Bazaar) ซึ่งวางแผนจะตีพิมพ์ลงในฉบับเดือนกรกฎาคม ปี 1958 โดยมีภาพประกอบเป็นภาพชุดของเดวิด แอทไท (David Attie) ช่างภาพของนิตยสารเอง แต่กระนั้นก็เหมือนมีอะไรดลใจให้ The Hearst Corporation บริษัทแม่ของนิตยสารฮาร์เปอร์สบาร์ซาร์ออกคำสั่งลงมาผ่านบรรณาธิการ ให้ทรูแมนเปลี่ยนแปลงภาษาจัดจ้านในเรื่องและปรับเนื้อหาให้ดู ‘เหมาะสม’ ยิ่งขึ้น ซึ่งทรูแมนก็ได้แต่ปฏิเสธหัวชนฝา เขาไม่ยอมเปลี่ยนแปลงอะไรในผลงานชิ้นนี้ และหันไปหานิตยสารเอสไควร์ (Esquire) ขายต้นฉบับ มื้อเช้าฯ ด้วยค่าตอบแทนในราคา 3,000 ดอลลาร์สหรัฐ

มื้อเช้าที่ทิฟฟานีส์ จึงตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสารเอสไควร์ ฉบับเดือนพฤศจิกายน ปี 1958 หน้าปกเป็นรูปองุ่นสีม่วงซึมเซา ผลงานของทรูแมน ความยาวขนาด 30,000 คำชิ้นนี้เป็นเรื่องแต่งที่ยาวที่สุดที่นิตยสารเอสไควร์เคยตีพิมพ์มา และก็ดูเหมือนโชคจะเข้าข้างเอสไควร์ ความนิยมใน มื้อเช้าฯ เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ นักวิจารณ์มักจะหยิบยกนวนิยายขนาดสั้นเรื่องนี้ขึ้นมาพูดถึง ทำให้เอสไควร์ขายดีเป็นเทน้ำเทท่า ต่อมา สำนักพิมพ์แรมดอม เฮาส์ (Random House) ก็เอาเรื่องสั้นขนาดยาวเรื่องนี้ไปรวมเล่มกับเรื่องสั้นเรื่องอื่นของทรูแมนอีกสามเรื่อง และยังตีพิมพ์ซ้ำอีกหลายครั้ง

ในปี 2013 มื้อเช้าที่ทิฟฟานีส์ กลับมาอยู่ในความสนใจของสื่อและนักอ่านอีกครั้ง เมื่อต้นฉบับนวนิยายเล่มนี้ไปตกอยู่ในงานประมูลที่รัฐนิวแฮมเชียร์ เศรษฐีชาวรัสเซีย Igor Sosin ประมูลได้ไปในราคา 306,000 ดอลลาร์สหรัฐ

ต้นฉบับดังกล่าวเป็นงานที่พิมพ์ด้วยเครื่องพิมพ์ดีด มีร่องรอยลายมือที่ ทรูแมน คาโพที เขียนขีดฆ่า แก้ข้อความ และเพิ่มเติมบันทึกสั้นๆ ด้วยดินสอและปากกาเป็นระยะ สิ่งที่ทรูแมนแก้บ่อยที่สุดก็คือชื่อของนางเอกในเรื่องจาก ‘Connie Gustafson’ เป็น ‘Holly Golightly’ ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ทรูแมนเป็นนักเขียนที่ไม่ยอมให้สิ่งเล็กๆ น้อยๆ ผ่านหลงหูหลงตา และมันก็เป็นการแก้ไขที่อาศัยแรงบันดาลและลางสังหรณ์ของนักเขียนอันแม่นยำ เพราะชื่อ ฮอลลี โกไลต์ลี เป็นชื่อที่จดจำได้ง่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อตัวบทถูกนำไปเป็นบทภาพยนตร์ ออกฉายในปี 1961 กำกับโดยผู้กำกับชาวอเมริกัน เบลก เอ็ดเวิร์ดส์ (Blake Edwards)

การก่อร่างสร้างฮอลลี โกไลต์ลี

ทรูแมน คาโพทีเคยกล่าวไว้ว่า ฮอลลี โกไลต์ลี เป็นตัวละครที่เขาชอบมากที่สุดตราบเท่าที่เคยเขียนมา “เหตุผลหลักที่ผมเขียนเกี่ยวกับฮอลลี นอกจากเรื่องที่ผมชอบเธอมากๆ แล้ว เธอยังเป็นสัญลักษณ์ของบรรดาสาวๆ ที่เดินทางมานิวยอร์ก ใช้ชีวิตหมุนวนในแสงอาทิตย์ดังแมลงในฤดูร้อน แล้วค่อยๆ หายตัวไป ผมอยากจะหยิบผู้หญิงคนหนึ่งขึ้นมาพูด ให้เธอหลุดพ้นจากการเป็น ใครคนหนึ่งที่ไม่มีใครรู้จัก และเก็บรักษาเธอไว้ให้แก่อนุชนรุ่นหลัง”

มื้อเช้าที่ทิฟฟานีส์ เล่าถึง ฮอลลี โกไลต์ลี ในแง่มุมต่างๆ ผ่านสายตาของชายหนุ่มผู้เล่าเรื่องถึงผู้หญิงคนหนึ่งที่อยู่ด้วยลำแข้งของตัวเอง ด้วยการรับ “เงินห้าสิบดอลลาร์ให้ผู้หญิงไปเข้าห้องน้ำแต่งหน้า” ดังที่ทรูแมนได้ขนานนามหล่อนไว้ว่าเป็น ‘เกอิชาอเมริกัน’ ผู้หญิงที่ถูกคนสนิทวิพากษ์วิจารณ์ “หล่อนน่ะจอมปลอม… หล่อนไม่ได้จอมปลอมเพราะหล่อนจอมปลอมจริงๆ หล่อนเชื่อทุกเรื่องบ้าบอที่หล่อนเชื่อ… หล่อนเป็นผู้หญิงแบบที่นายจะเจอในข่าวว่าลงเอยด้วยการดวดเซโคนาลจนหมดขวดนั่นแหละ” (หน้า 28) “นี่หรือคือสิ่งที่หล่อนต้องการ… มีคนมากมายมาหาโดยที่ไม่ได้นัดหมายไว้ อยู่ได้ด้วยเงินทิป วิ่งวุ่นกับไอ้พวกจรจัด หรือบางทีหล่อนอาจจะได้แต่งงานกับ รัสตี้ ทรอว์เลอร์ ก็ได้” (หน้า 30)

แต่ก็น่าแปลกที่เราไม่เคยนึกรังเกียจ ฮอลลี โกไลต์ลี จากอาชีพหรือวิถีชีวิตที่เธอเลือกเดินแม้แต่น้อย มิหนำซ้ำ เรากลับเห็นอกเห็นใจและเอาใจช่วยให้เธอถึงฝั่งฝันให้จงได้ ผลลัพธ์อันแยบยลนี้มาจากการที่นักเขียนค่อยๆ เล่าเรื่องเกี่ยวกับฮอลลีผ่านชายหนุ่ม หรือ ‘เฟร็ด’ ชื่อที่ฮอลลีตั้งให้กับเขา ทำให้นักอ่านค่อยๆ เข้าใจเธอทีละน้อย ทำให้รู้ว่า เธอเป็นผู้หญิงจากชนบทที่พยายามผลักดันอย่างสุดกำลังให้ตัวเองเป็นคนรวยมีหน้ามีตาของสังคมนิวยอร์ก เพียงเพราะอยากจะดูแลพี่ชาย คนในครอบครัวคนสุดท้ายที่เธอเหลืออยู่ เธออยากมีบ้านในเม็กซิโกและฟาร์มม้าให้แก่เขา “เขาเป็นคนเดียวที่ยอมให้ฉันกอดเขาในคืนหนาว ฉันเห็นที่ที่นึงในเม็กซิโก มีม้า อยู่ริมทะเล” (หน้า 64)

เฟร็ดเฝ้ามองเธอด้วยสายตาของนักสังเกตผู้ระแวดระวัง เขารู้ดีว่าจะไม่มีอะไรที่จะหยุดยั้งความตั้งใจของเธอลงไปง่ายๆ อาจจะมีเหตุการณ์ไม่คาดฝันที่ทำให้ทุกอย่างล้มครืนลงมา แต่ฮอลลีก็จะสามารถเริ่มต้นได้ใหม่เหมือนต้นหญ้ากลางทะเลทราย ที่อาจเฉาเหลืองกรอบในฤดูร้อน แต่ก็พร้อมที่จะแทงยอดใบเขียวเมื่อฤดูฝนกลับมาอีกครั้ง

มิลเดร็ด กรอสแมน กับ ฮอลลี โกไลต์ลี เหมือนกันตรงนี้ พวกหล่อนไม่เคยเปลี่ยน เพราะพวกหล่อนได้รับบุคลิกแบบนี้เร็วไปเหมือนคนที่จู่ๆ รวย เลยไม่รู้จักสัดส่วน คนหนึ่งเผ่นผลุงสู่โลกข้อเท็จจริงหนักอึ้งสุดขีด อีกคนกลับหัวกลับหางโรแมนติกสุดขั้ว… ทั้งคู่คงจะเดินไปในชีวิตจนสิ้นชีพด้วยก้าวเดินมุ่งมั่นแบบเดียวกันโดยไม่สนอกสนใจอะไรเลยแม้แต่หน้าผาที่อยู่ซ้ายมือ” (หน้า 49-50)

และก็เป็นเฟร็ด ที่ยอมให้เสียงของผู้หญิงนอกขนบอย่างฮอลลีมีพื้นที่ในวรรณกรรม ดังที่เขาหยิบยกคำพูดของฮอลลีที่อธิบายถึงจุดยืนของตัวเองว่า แม้เธอจะเป็นผู้หญิงเหลวไหลในสายตาคนอื่น แต่สิ่งหนึ่งที่เธอคงรักษาไว้และไม่ยอมสูญเสียมันไป คือหัวใจที่ซื่อสัตย์ต่อตัวเอง

เป็นอะไรก็ได้ยกเว้นขี้ขลาด เสแสร้ง คดโกงอารมณ์ตัวเอง และกะหรี่ ฉันขอเป็นมะเร็งดีกว่ามีหัวใจที่ไม่ซื่อสัตย์… มะเร็งอาจทำให้คุณตาย แต่หัวใจที่ไม่ซื่อสัตย์ทำให้คุณตายแน่นอน” (หน้า 69)

แม้สุดท้าย ฮอลลี โกไลต์ลี จะหายหน้าหายตาไปจากนิวยอร์ก แต่เธอก็ยังคงอยู่ในความทรงจำของผู้คนที่เคยรู้จัก เธอทำให้ โจ เบลล์ เจ้าของบาร์ คอยมองหาเธอระหว่างเดินบนถนนเป็นเวลากว่าสิบปี หรือมิสเตอร์ ไอ.วาย. ยูนิโอชิ เดินทางไปทั่วแอฟริกาเพื่อตามหาเธอ

ที่สำคัญ ฮอลลีทำให้เฟร็ดรำลึกถึงเหตุการณ์ช่วงนั้น และบรรยายเรื่อง มื้อเช้าที่ทิฟฟานีส์ โดยมีเธอเป็นตัวละครหลัก คนที่เขาอยากจะเล่าถึง คนที่เขาอาจจะไม่ได้เข้าใจตัวตนของเธอทั้งหมด แต่ก็พยายามเล่าเรื่องของเธอออกมา เรื่องเล่าของนักเขียนหนุ่มทำให้เราไม่อาจตัดสินคนๆ หนึ่งได้อย่างผิวเผินจากการกระทำหรือจากรูปลักษณ์ภายนอกแต่เพียงอย่างเดียว หากต้องมองคนๆ หนึ่งด้วยสายตาที่เป็นธรรมจากหลากหลายมุม ทั้งไกลและใกล้ แล้วจึงพบว่า แต่ละคนต่างมีรายละเอียดปลีกย่อยที่ไม่เหมือนกัน รายละเอียดที่ช่วยให้เข้าใจเพื่อนมนุษย์ ซึ่งบางครั้งก่อให้เกิดความรักความเอื้ออาทรที่เราพึงมีต่อกัน

แต่สำหรับในกรณีของฮอลลี โกไลต์ลีแล้ว เราอาจได้ข้อสรุปสั้นๆ ที่ว่า

คนบางคนก็มีไว้ให้คิดถึง ไม่ใช่มีไว้ให้รัก

 

หมายเหตุ : เราสามารถนั่งเครื่องบินไปดื่มด่ำบรรยากาศมื้อเช้าที่คาเฟ่สีฟ้าเทอร์ควอยส์แห่งแรกของร้านทิฟฟานีส์ได้แล้ว ที่ชั้น 4 ของอาคาร ทรัมป์ ทาวเวอร์ บนถนน Fifth Avenue ร้านเปิดตอน 10 โมงเช้า (แต่ก็มีบล็อกเกอร์ชาวอเมริกันท่านหนึ่งแจ้งว่า ในทางปฏิบัติ มีคนไปเข้าแถวยืนรอตั้งแต่เที่ยงคืน เพื่อได้เข้าคาเฟ่ตอนบ่ายสามโมง) คาเฟ่ให้บริการอาหารและเครื่องดื่มในชุดละ 29 เหรียญสหรัฐ กาแฟหรือชา เสิร์ฟพร้อมครัวซองต์กับนูเทลลาและน้ำผึ้ง หรือจะเลือกเป็นผลไม้ตามฤดูกาล พร้อมกับ entrée อย่าง truffle eggs กับเบคอน หรือวาฟเฟิลเนยสด หรือขนมปังปิ้งอโวคาโด ก่อนกลับ ลูกค้ายังสามารถซื้อเค้กกลับบ้าน บรรจุในกล่องทิฟฟานีส์สวยงาม สนนราคาเพียง 36 เหรียญสหรัฐ

 

อ้างอิง:

Breakfast at Tiffany’s (novella) https://en.wikipedia.org/wiki/Breakfast_at_Tiffany%27s_(novella)

‘Truman Capote’s Breakfast at Tiffany’s manuscript goes to auction’ https://www.thestar.com/entertainment/books

‘Forever a Gamine at Tiffany’s’ http://www.nytimes.com/2013/03/15/

‘About Breakfast at Tiffany’s’ http://classic.esquire.com/breakfast-at-tiffanys/

Fact Box

Breakfast at Tiffany’s (1958) หรือ มื้อเช้าที่ทิฟฟานีส์ (2560) โดย ทรูแมน คาโพที

แปลภาษาไทยโดย โตมร ศุขปรีชา จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ ไลบรารี่ เฮาส์ ประเทศไทย

Tags: , , , ,