‘Hope Springs Eternal’
สุภาษิตว่าด้วย ‘ความหวัง’ ที่เปรียบดังชีวิตของใครหลายคน
ลืมตาตื่นด้วยความหวังว่าเช้านี้จะพบเจอกับเรื่องดี กัดฟันผจญกับสัปดาห์นรกเพื่อหวังรอเงินเดือนก้อนน้อยเข้าบัญชี หรือแม้แต่ขอให้ปีหน้าสถานการณ์บ้านเมืองเอื้อต่อปากท้องบ้างก็พอใจแล้ว
จากความหวังสุดจะธรรมดาข้างต้น นำมาสู่ปรากฏการณ์ใหญ่เมื่อช่วงต้นปี ในการเลือกตั้งใหญ่ 2566 เมื่อพรรคการเมืองในสายตากูรูทั้งหลายมองว่าเป็นมวยรองอย่าง ‘ก้าวไกล’ สามารถกวาดคะแนนเสียงท่วมท้น ทว่าด้วยปัจจัยยิบย่อยนานัปการ และความบิดเบี้ยวของกลไกรัฐสภาที่เหลือไว้จากรัฐบาลยุคเผด็จการ ผลสุดท้ายความหวังของประชาชน (ส่วนใหญ่) ที่จะเห็นพรรคคลื่นลูกใหม่นี้ดำรงตำแหน่งรัฐบาลดับวูบชั่วพริบตา
เฉกเช่นเดียวกับอนาคตของ ช่อ-พรรณิการ์ วานิช ผู้ก่อตั้งและอดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากพรรคอนาคตใหม่ ที่ต้องเผชิญกับขวบปีอันยากลำบาก เมื่อสถานะ ‘นักการเมือง’ ในสภาฯ ถูกริดรอนสิทธิตลอดชีวิต หลังศาลฎีกาตัดสินว่า การกระทำของเธอในอดีตสมัยเป็นนิสิตจุฬาฯ เข้าข่ายพาดพิงสถาบันฯ และผิด ‘จริยธรรม’ นักการเมือง
อย่างไรก็ดี ตลอดการสนทนาระหว่างเรากับพรรณิการ์ ในวัย 35 ปี กลับเปี่ยมด้วยความหวังทุกวินาที เธอยืนยันหนักแน่นว่า แม้หลายสิ่งที่เจอะเจอในปีนี้จะไม่เป็นดังใจ แต่ขอยืนยันสู้ใน ‘วิถี’ เดิม ทั้งในนามของคณะก้าวหน้า หรือผู้ช่วยของพรรคก้าวไกล เพราะเส้นทางที่เธอและผองเพื่อนกรุยทางมาไกลเกินกว่าจะหันหลังกลับ
เป็นอย่างไรบ้างกับปีนี้ มีสิ่งใดที่ได้ทำแล้วสำเร็จบ้าง
ถ้าเป็นเรื่องของความสำเร็จคงแทบไม่ต้องคิดถึงเรื่องอื่น นั่นคือการที่พรรคก้าวไกลชนะการเลือกตั้งในฐานะพรรคอันดับหนึ่ง ซึ่งนับจากวันที่เราตั้งพรรคอนาคตใหม่จนถึงวันนี้ก็ครบ 5 ปีพอดี (2561-2566) และเป็นการลงสมัครเลือกตั้งใหญ่ครั้งที่ 2 ของพรรค
ถือว่าน่าประหลาดใจเหมือนกัน เป็นการเดินทาง 5 ปีที่เราไม่คิดว่าจะเร็วขนาดนี้ วันที่เราตั้งพรรคอนาคตใหม่ เรามองไว้ที่ 10 ปี หรือผ่านการเลือกตั้ง 3 ครั้ง ถึงจะมีโอกาสได้เป็นรัฐบาล
แม้การเลือกตั้งใหญ่จะผ่านไปแล้ว 2 ครั้ง และเรายังไม่ได้เป็นรัฐบาล ปีนี้ก็ยังเป็นปีที่น่าประทับใจ เพราะผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นเป็นสิ่งที่เราไม่คาดคิด เป็นผลสำเร็จที่บ่งบอกว่าตลอด 5 ปีที่ผ่านมาเราเดินมาถูกทางแล้ว ทั้งสิ่งที่เราลงแรงไป สิ่งที่เราสูญเสียไประหว่างทาง แต่ผลที่ได้รับเกินกว่านั้นไปหลายร้อยเท่า
แล้วเรื่องส่วนตัวที่รู้สึกเสียดายเพราะยังไม่ได้ทำในปีนี้ล่ะ มีบ้างไหม
เรื่องส่วนตัวถ้าเกี่ยวกับการทำงานน่าจะไม่มีเลย เพราะเรายินดีกับทุกงานที่ได้ทำ ส่วนตัวเรามีคติการใช้ชีวิตคือ อย่าใช้ชีวิตในแบบที่ต้องมานั่งเสียใจทีหลัง เราจะรู้อะไรก็ได้ แต่ต้องไม่ ‘รู้งี้’ รู้งี้ต้องทำอย่างนั้น รู้งี้ต้องทำอย่างนี้ เราจะไม่ลังเลถ้าคิดอยากจะทำอะไรทำเลย
ถ้าเกี่ยวกับชีวิตส่วนตัวก็มีสิ่งที่อยากจะทำ และทำให้ได้มากกว่านี้ นั่นคือการออกกำลังกาย (หัวเราะ) ซึ่งจะอ้างว่าเป็นเพราะไม่มีเวลาคงไม่ได้ เพราะทุกคนย่อมรู้ดีว่านี่เป็นข้ออ้างที่ใช้แก้ตัว
แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าหากมองภาพรวมขององกรค์อย่างพรรคก้าวไกล ในความสำเร็จก็ยังมีความน่าเสียดายปนเปอยู่
เป็นอีกเรื่องที่เราเสียดายมากในปีนี้ กับการที่พรรคชนะเลิศอันดับหนึ่งแต่ไม่ได้เป็นรัฐบาล ฟังแล้วอาจจะออกแนว Loser หน่อยๆ เหมือนแพ้แล้วโวยวาย เพราะช่วงเวลาสามเดือนหลังการเลือกตั้ง ทางก้าวไกลมีความพยายามในการจัดตั้งรัฐบาล ขณะเดียวกัน ทีมงานเบื้องหลังในพรรคก็เตรียมงานในการบริหารประเทศ เตรียมไปถึงการวางแผนในคณะรัฐมนตรี (ครม.) เช่นการประชุม 12 ครั้งแรกจะนำเรื่องใดเข้าที่ประชุม เพื่อให้นโยบายถูกทำให้เป็นจริง เหล่านี้เป็นความพยายามที่เราไม่ได้ทำเอง แต่เราได้เห็นพรรคทำอย่างตั้งใจ
เราไม่ได้เสียดายที่พิธา (พิธา ลิ้มเจริญรัตน์) ไม่ได้เป็นนายกฯ แต่เสียดายตรงแผนงานที่เห็นและเตรียมไว้อยู่ตรงหน้า ถ้าสำเร็จจริงๆ จะสามารถเปลี่ยนแปลงประเทศนี้ได้มหาศาล
อาจกล่าวได้ว่าปีนี้เป็นปีที่การเมืองไทยพลิกผันได้ตลอดเวลา
เป็น Emotional Coaster มากๆ คือก่อนเลือกตั้งประชาชนส่วนใหญ่เปี่ยมด้วยความหวัง แต่ก็เป็นหวังแบบเผื่อใจ เชื่อว่าคงไม่มีใครเดินเข้าคูหากาพรรคก้าวไกล เพราะคิดว่าพรรคนี้จะได้อันดับหนึ่ง แม้กระทั่งโค้งสุดท้ายก่อนถึงวันเลือกตั้งกระแสความนิยมจะดีมาก เราที่เป็นคนภายใน เป็นคนที่ช่วยหาเสียง รู้อยู่เต็มอกว่าเป็นเรื่องยากที่เราจะได้เป็นรัฐบาล อย่างมากบวกลบคูณหารก็น่าจะเป็นพรรคอันดับสองหรืออันดับสาม คล้ายๆ สถานการณ์เลือกตั้งปี 2562 ที่เราได้คะแนนเป็นพรรคอันดับสาม
แต่สามเดือนหลังการเลือกตั้ง กลายเป็นช่วงเวลาที่มีความหวังจริงๆ ว่าเรากำลังจะมีรัฐบาลจากพรรคก้าวไกล ตอนนั้นไม่ว่าจะผู้ก่อตั้งพรรคหรือประชาชนต่างมีความรู้สึกตรงกันอย่างหนึ่ง นั่นคือเราไม่คิดว่า วันที่ก้าวไกลจะได้เป็นรัฐบาลจะมาเร็วขนาดนี้ แต่ผลสุดท้ายก็จบลงอย่างที่ทุกคนเห็น
อย่างไรก็ตาม ช่วงเวลาที่เปลี่ยนจากความหวังมาเป็นความผิดหวัง เราบอกกับประชาชนอยู่ตลอดว่า เราไม่ได้แพ้
ยกตัวอย่าง วันหนึ่งเรานั่งแกร็บไปทำงาน ได้คุยกับคนขับ ซึ่งเขาก็เล่าให้ฟังว่า เลือกตั้งครั้งนี้เป็นครั้งที่เขาเสียใจที่สุด เพราะเขาต้องขับรถจากกรุงเทพฯ ไปภูมิลำเนาที่จังหวัดกาฬสินธ์ุเพื่อเลือกตั้ง แล้วต้องขับกลับมากรุงเทพฯ ทันที เพราะแฟนเขาลางานวันจันทร์ไม่ได้ รวมระยะทางไปกลับกว่า 1,000 กิโลเมตร เสียตังค์ค่าน้ำมัน 5,000 บาท ต้องเสี่ยงชีวิตบนท้องถนน เพื่อพาครอบครัวกลับไปเลือกตั้งที่บ้านเกิด แต่ผลลัพธ์ที่กลับเป็นแบบนี้
หลังจากได้ฟังเราก็ตอบพี่คนขับเขากลับไปว่า ค่าน้ำมัน 5,000 บาท กับเวลาไปกลับของพี่ไม่ได้เสียเปล่า พี่ แฟนพี่ และลูกอีกสองคน คือส่วนหนึ่งที่ทำให้ก้าวไกลเป็นพรรคอันดับหนึ่งของประเทศ และเป็นการพิสูจน์ว่าประชาชน (ส่วนใหญ่) ต้องการอะไร ฉะนั้นการที่ก้าวไกลไม่ได้เป็นรัฐบาล ไม่ได้หมายความว่าเสียงของพี่เสียเปล่าไป
ยังมีหลายคนที่เจอบอกกับเราว่า ต้องเสียค่ารถ ค่าเครื่องบินหลายพันเพื่อกลับไปเลือกตั้ง ทุกคนทุ่มเทแรงกายแรงใจ ทุ่มเททรัพยากรไปกับการเลือกตั้งครั้งนี้ เราแค่อยากบอกกับทุกคนว่า การที่พรรคก้าวไกลไม่ได้เป็นรัฐบาลแล้วทุกอย่างจะจบ สิ่งที่มีความหมายจริงๆ คือ การแสดงเจตจำนงเสรีที่อยากให้ประเทศนี้เกิดการเปลี่ยนแปลง และแสดงออกว่าพวกคุณต้องการรัฐบาลแบบไหน
แล้วกับสมาชิกในพรรค มีวิธีรับมือกับความผิดหวังครั้งนี้อย่างไร
ว่าตามตรงภายในพรรคมีความคาดหวังน้อยมาก เพราะเราต่างรู้ดีว่ามีโอกาสสูงที่ก้าวไกลจะไม่ได้เป็นรัฐบาล แม้แต่ตอนที่ชนะการเลือกตั้งแล้วก็ตาม เพราะสุดท้ายเราคาดการณ์ไว้ว่าคงไม่ผ่านด่าน ส.ว. และคงไม่อาจทำให้พรรคเพื่อไทยอยู่ด้วยกันไปตลอดรอดฝั่ง
กลับกัน เป็นเพียงตัวเราเองที่รู้สึกผิดหวัง ส่วนหนึ่งเพราะอาจจะมองโลกในแง่ดีว่า ในเมื่อผลออกมาเป็นแบบนี้ ทุกฝ่ายก็ควรจะเคารพเสียงที่มาจากประชาชนและดำเนินเกมไปอย่างที่เขาต้องการ แต่สุดท้ายการที่เรามองว่าเสียงของประชาชนมีค่า ไม่ได้หมายความว่าคนอื่นเขาจะคิดแบบนั้นตาม
อย่างไรก็ตาม หลังการเลือกตั้งภายในพรรคก้าวไกลก็เจอเรื่องน่าปวดหัวมิใช่น้อย เช่นกรณีที่ ส.ส.ในพรรคถูกแฉว่ากระทำการล่วงละเมิดทางเพศ จนบางคนตั้งข้อสังเกตว่า พรรคอาจกำลังเสียเสถียรภาพ
มองตรงกันข้ามเลย ถ้าพรรคปราศจากคำวิพากษ์วิจารณ์ พรรคจะไม่สามารถเป็นความคาดหวังแก่ประชาชนได้ ที่ประชาชนวิจารณ์หรือด่าก็เพราะเขาคาดหวัง
ถามว่าพรรคอื่นมีเหตุการณ์ลักษณะนี้ไหม มี แต่คำถามคือทำไมเขาจึงไม่สนใจนักการเมืองพรรคนั้น แต่สนใจของพรรคก้าวไกล สาเหตุเพราะเขาคาดหวังว่านักการเมืองคุณต้องดีกว่านี้ คุณต้องแตกต่าง นี่คือเหตุผลที่ประชาชนเลือกคุณ
แม้แต่เราเองก็เช่นกัน เราคาดหวังว่าพรรคก้าวไกลต้องแตกต่าง ไม่งั้นคงไม่ตั้งพรรคนี้ขึ้นมา แล้วไปสมัครพรรคอื่นดีกว่า แต่เราตัดสินใจสร้างบ้านหลังใหม่ ทว่าบ้านหลังนี้ยังต้องต่อเติมปรับปรุงไปเรื่อยๆ เพื่อรองรับสมาชิกในบ้านที่เพิ่มขึ้น เพียงแต่บ้านหลังนี้ต้องคงคอนเซปต์เดิมนับตั้งแต่วันแรกที่สร้าง คือเป็นบ้านที่แตกต่างและตรงดังใจหวัง ฝั่งประชาชนก็น่าจะคิดแบบเดียวกัน
เพียงแต่คุณต้องไม่คาดหวังว่าพรรคนี้ต้องเป็นพรรคที่มีแต่คนดี แต่คาดหวังให้พรรคมีระบบจัดการที่ดี เพื่อที่มีคนทำสิ่งใดไม่ถูกต้องเขาจะถูกจัดการอย่างเป็นธรรม และคุณจะทำอย่างไรให้คนที่ถูกกระทำกล้าที่จะออกมาร้องเรียน
เช่นนั้น คุณอยากกล่าวอะไรถึงคนรุ่นใหม่หรือคนที่ยังเชื่อมั่นในพรรคก้าวไกลอยู่
ไม่ต้องเชื่อในพรรคก้าวไกล แต่ให้เชื่อว่าประเทศนี้เปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีกว่านี้ได้ เราเข้าใจมากๆ เวลาที่มีคนบอกว่าอยากย้ายประเทศ เพราะเขามองไปรอบตัวแล้วไม่เห็นความหวัง ปัญหาคือเวลาที่เรามองไปแล้วไม่เห็นความหวัง ทำไมคุณถึงไม่อยากสร้างความหวังขึ้นมาเอง
ก่อนหน้าที่เราจะตั้งพรรคอนาคตใหม่ขึ้นมา หลายคนบ่นว่ามองไปไม่มีพรรคไหนน่าเลือกเลย เราเลยแก้ปัญหาด้วยการไม่ไปเลือกตั้ง แต่นั่นไม่ใช่ ถ้าไม่มีพรรคไหนเป็นตัวแทนของเราได้ เรามาสร้างพรรคในอุดมคติของเราดีไหม เพราะคนที่คิดแบบเดียวกันกับเราน่าจะมีเยอะในสังคมไทย ผ่านไป 5 ปี สิ่งนี้พิสูจน์แล้วว่า คนคิดแบบเดียวกันกับเรามีอยู่เยอะ
ฉะนั้นไม่ต้องเชื่อในพิธา ไม่ต้องเชื่อในพรรคก้าวไกล แต่ให้เชื่อว่าประเทศนี้ยังมีความหวัง ความเปลี่ยนแปลงในประเทศนี้เกิดขึ้นได้ ไม่ใช่ด้วยพิธา ไม่ใช่ด้วยธนาธร แต่เกิดขึ้นได้ด้วยตัวคุณเอง
ขณะเดียวกัน ช่วงกลางปีที่ผ่านมาคุณก็ต้องพบกับอีกหนึ่งเรื่องใหญ่ นั่นคือการถูกศาลฎีกาพิพากษาตัดสิทธิทางการเมือง ซึ่งรังสิมันต์ โรม เคยเปรียบว่า นี่เป็นบทลงโทษที่รุนแรงเสียยิ่งกว่าการถูกจองจำตลอดชีวิตเสียอีก
เราแทบไม่รู้สึกอะไรในแง่ของการทำงาน เพราะอย่าลืมว่าเราถูกตัดสิทธิทางการเมืองมาแล้ว 3 ปี ตั้งแต่โดนยุบพรรค ถามกลับว่าแล้วพวกคุณเห็นบทบาทของฉันลดน้อยลงหรือเปล่า? กลับกันพอเป็นประชาชนธรรมดาที่ทำงานการเมือง อาจจะทำงานได้คล่องตัวกว่าเดิมเสียด้วยซ้ำ เพราะไม่ต้องมากังวลถึงกรอบกฎเกณฑ์ต่างๆ เหมือนตอนเป็น ส.ส.
พอพูดแบบนี้อาจฟังแล้วเกิดคำถามว่า นี่เป็นเรื่องธรรมดาที่เกิดขึ้นกับใครก็ได้จริงๆ หรือ ซึ่งไม่ใช่เลย และถ้าถามว่า ผลตัดสินนี้สร้างผลกระเทือนต่อเราขนาดไหน คงต้องบอกว่ามาก นี่เป็นผลคำตัดสินที่นักกฎหมายทั้งประเทศมองตรงกันว่า ไม่มีหลักบรรทัดฐานทางวิชาการรองรับเลย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการใช้กฎหมายย้อนหลังในหลายมิติ คือคุณกล่าวว่าคนคนนี้ผิดจริยธรรม ส.ส. แต่ปัจจุบันเขาไม่ได้เป็น ส.ส. ขณะเดียวกันกฎหมายข้อนี้ก็มีมาหลังจากการกระทำนั้นด้วยซ้ำ (กรณีโพสต์เฟซบุ๊กพาดพิงสมัยเป็นนิสิตฯ จุฬา) แต่เหตุใดคุณถึงยังใช้กฎหมายจริยธรรม ส.ส. เอาผิดกับบุคคลนี้ได้อีก
เชื่อว่าเราไม่ใช่คนแรกและจะไม่ใช่คนสุดท้ายที่จะโดนแบบนี้อีก พูดให้เข้าใจง่ายคือ ‘ประเทศนี้จะเอาแบบนี้จริงๆ ใช่ไหม’ คือการใช้ศาลรัฐธรรมนูญมาตัดสินเรื่องของจริยธรรม อย่าลืมว่าในคดีเดียวกันเราชนะในทางคดีอาญา คือการดำเนินคดีอาญามี ‘ปวิอาญา’ หรือวิธีการพิจารณาคดีที่เคร่งครัด คุณไม่สามารถเอาผิดใครได้โดยที่ไม่มีกฎเกณฑ์ มีพยานหลักฐานหนักแน่นเพียงพอ แต่พอมาเป็นคดีทางจริยธรรม คุณต้องใช้ดุลพินิจในการตัดสินว่า ตกลงคนนี้เขากระทำด้วยจุดมุ่งหมายอะไร แล้วที่ทำผิดจริยธรรมหรือเปล่า ภาพนี้หรือข้อความที่โพสต์ คุณต้องตีความว่าขัดต่อจริยธรรมของ ส.ส.หรือเปล่า ซึ่งไม่มีกฎเกณฑ์ที่ชัดเจนใดๆ ผลลัพธ์ล้วนขึ้นอยู่กับคนตัดสินใจเท่านั้น
เรื่องของจริยธรรมไม่ควรอยู่ในระบบตุลาการเสียด้วยซ้ำ เราอยากย้ำว่า ไม่อยากให้ใครก็ตามเห็นว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นกับใครก็ได้ แม้สำหรับตัวเราเองจะไม่มีผลกระทบใด เรายังทำงานเหมือนเดิมได้ทุกประการ
แต่สิ่งที่คุณไม่อยากให้เห็นก็ยังเกิดขึ้นต่อเนื่อง อย่างกรณีล่าสุดของ (ไอซ์-รักชนก ศรีนอก ส.ส.บางบอน พรรคก้าวไกล) และอาจจะเกิดขึ้นกับ ส.ส.พรรคก้าวไกลอีกหลายคนในสภาฯ ที่ส่วนใหญ่เคยร่วมชุมนุมหรือเป็นแกนนำในม็อบราษฎร
ใช่ อย่างกรณีเราเป็นเรื่องของ พ.ร.บ.คอมฯ (ว่าด้วยการกระทำความผิดทางคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550) ไม่ใช่คดีมาตรา 112 แต่ต้องเข้าใจว่า ณ เวลานั้นที่เราโดนคดี รัฐมีนโยบายให้ใช้ พ.ร.บ.คอม ไม่ใช่มาตรา 112 เพราะถ้าพูดกันตามตรง สาระในการว่าความเนื้อหาก็ล้วนอยู่กับเรื่องของสถาบันพระมหากษัตริย์
กรณีของ ไอซ์ รักชนก คือตัวอย่างที่ชัดเจนกับการโดนคดีมาตรา 112 เพราะวิจารณ์เรื่องของวัคซีน ซึ่งคล้ายกับกรณีของ ธนาธร จึงรุงเรืองกิจ ที่ไลฟ์ประเด็นวัคซีนพระราชทาน ขณะเดียวกันมี ส.ส.พรรคก้าวไกลอีกหลายคนในสภาฯ ที่โดนคดีมาตรา 112 เหตุเพราะว่านักเคลื่อนไหวจำนวนมากที่เคลื่อนไหวในช่วงเหตุการณ์ที่มีม็อบราษฎร ซึ่งเป็นช่วงเดียวกับที่มีข้อเรียกร้องให้เกิดการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ ส่วนหนึ่งตัดสินใจลงสมัครเลือกตั้งในช่วงปี 2565-2566 แน่นอนว่าพรรคที่พวกเขาเลือกสังกัดคือพรรคก้าวไกล
ผลปรากฏว่า ส.ส.เหล่านี้ชนะการเลือกตั้งครั้งล่าสุด ทำให้เขาต้องเข้าสู่สภาฯ โดยที่ยังมีคดี 112 ติดตัวอยู่ และกำลังเข้าสู่กระกวนการพิพากษาทั้งในปีนี้ (2566) และปีหน้า (2567) แน่นอนว่าการมีคดีอาญาติดตัวย่อมลำบากในระดับหนึ่ง แต่อย่าลืมว่าขั้นตอนการดำเนินการก็ยังอยู่ในกรอบของคดีอาญา คุณมีสิทธิที่จะสู้คดีในชั้นศาลได้
แต่ก็เหมือนถูกหวยสองชั้น คุณอาจจะแพ้หรือชนะในฝั่งคดีอาญา แต่สิ่งที่ตามมาคือเรื่องของคดีจริยธรรม ขนาดเราชนะคดีอาญา แต่ในทางคดีจริยธรรมยังแพ้ ฉะนั้นในรายของรักชนก ถ้ามีคนเอาเรื่องทางจริยธรรมจริงๆ ก็คงเป็นไปได้ยากที่จะรอด นั่นหมายความว่า ถ้าคุณโดนโทษอาญาจำคุก คุณยังจะโดนโทษทางจริยธรรม ตัดอนาคตทางการเมืองจะ 5-10 ปี หรือตลอดชีวิตก็ตาม
เรื่องนี้ถูกตั้งคำถามจากนักวิชาการด้านกฎหมายมาโดยตลอด ว่าจริงๆ แล้วเรื่องนี้ไม่สามารถทำได้หรือเปล่า คุณไม่สามารถลิดรอนสิทธิพื้นฐานพลเมืองได้ โดยเฉพาะสิทธิการไปเลือกตั้ง กรณีของเราคือโดนตัดสิทธิไม่สามารถลงสมัครได้ แต่ยังเลือกตั้งหรือช่วยหาเสียงได้ตามปกติ แต่ในรายของคุณปารีณา (ปารีณา ไกรคุปต์ อดีต ส.ส.จังหวัดราชบุรี พรรคพลังประชารัฐ) คือตัดสิทธิไม่ให้ไปเลือกตั้ง
แน่นอนถ้าคุณทำผิดในคดีอาญาคุณก็ต้องรับโทษตามนั้นไม่มีข้อยกเว้นว่าเป็น ส.ส. หรือคนธรรมดา แต่คำถามคือ ยังต้องมีโทษทางจริยธรรมซ้ำสองด้วยหรือ?
อาจกล่าวโดนนัยได้ไหมว่ากรณี 112 ที่เกิดขึ้นกับนักการเมืองหลายคน ณ เวลานี้ ถือเป็นการ ‘เชือดไก่ให้ลิงดู’ เพื่อให้ประชาชนเกิดความกลัว
แพตเทิร์นของการใช้มาตรา 112 มีมาค่อนข้างชัดเจนตั้งแต่ช่วงปี 2563-2564 ที่มีการออกมาชุมนุมหรือเรียกร้องให้มีการปฏิรูปสถาบันฯ ค่อนข้างเข้มข้น จะเห็นว่า คนที่โดนมีตั้งแต่ระดับแกนนำไปจนถึงคนทั่วไปที่ไม่ใช่บุคคลสาธารณะ ซึ่งรักชนก ณ เวลานั้น ก็เป็นเพียงบุคคลธรรมดาที่ออกมาแสดงความคิดเห็นเท่านั้น
มีหลายคนออกมาพูดว่ามาตรา 112 จะไม่ได้ผล ถ้าเรายืนยันว่า นี่คือสิทธิและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นอย่างสุภาพ แสดงออกอย่างมีหลักการ และแสดงออกเพื่อให้เกิดผลดีต่อสถาบันฯ ดังนั้นสิ่งที่เกิดขึ้นคือการสร้าง ‘ความหวาดกลัว’ ให้ประชาชนเห็นว่า ไม่ใช่แค่รุ้ง เพนกวิน หรือทนายอานนท์เท่านั้นที่โดน แต่อาจจะเป็นเราหรือใครก็ได้
คุณอยากกล่าวอะไรกับนักการเมืองที่ตอนนี้หรือในอนาคตอาจตกอยู่ในสถานะเดียวกันกับคุณ
(หยุดคิดครู่นึง) ไม่ต้องต่อสู้เพื่อตัวเอง แต่ต่อสู้เพื่อความยุติธรรมของคนทุกคน อย่างที่บอกว่าเรื่องนี้แทบไม่มีผลต่อการใช้ชีวิตทำงานกับเรา เราทำงานต่อได้ปกติ เพราะสำหรับเราได้ลงเลือกหรือไม่ได้ลงเลือกตั้ง ได้เป็น ส.ส. หรือไม่ได้เป็น ส.ส. ได้เป็นรัฐบาลหรือไม่ได้เป็นรัฐบาล ไม่มีความหมาย เพราะเราไม่เคยมองว่าตัวเองต้องอยู่ตรงไหน แต่มองว่าประเทศนี้ต้องอยู่ตรงไหน และประเทศนี้ต้องไปต่ออย่างไร
นั่นคือเป้าหมายในการทำงานของเราซึ่งไม่ใช่การหวังเป็นรัฐมนตรีหรือ ส.ส. ฉะนั้น เราไม่จำเป็นต้องเรียกร้องความยุติธรรมให้กับตนเอง สิ่งที่สำคัญกว่านั้นคือ การเรียกร้องความยุติธรรมให้แก่ประเทศนี้ รวมถึงธำรงหลักนิติรัฐและนิติธรรมของประเทศนี้ สิ่งนี้ต่างหากคือสิ่งที่สำคัญ
จะว่าไปตั้งแต่คุณอายุ 30 ปี จนถึงตอนนี้ที่อายุ 35 ปี ก็พบกับความเปลี่ยนแปลงในชีวิตไม่น้อย จากนักข่าวต่างประเทศ สู่เส้นทางนักการเมืองกับพรรคอนาคตใหม่ จนถึงตอนนี้ที่ดำเนินอยู่ในนามคณะก้าวหน้า
เป็น 5 ปีในวัย 30 ที่สนุกมาก (ยิ้ม) ตอนอายุ 30 คือรอยต่อช่วงที่เราเปลี่ยนอาชีพจากนักข่าวมาเป็นนักการเมืองพอดี ในแต่ละปีจะว่าเร็วก็เร็ว จะว่าช้าก็ช้า มีหลายอย่างให้ทำเยอะแยะไปหมด
แต่ 5 ปีนี้ เหมือนเราโตขึ้น 50 ปี ตอนเป็นนักข่าว เราว่าเราก็ผ่านอะไรมาเยอะ ซึ่งชีวิตนักข่าวต่างประเทศไม่ใช่อะไรที่ง่ายหรือสะดวกสบาย เราไม่ได้นั่งทำงานแค่ที่โต๊ะ แต่ต้องบินไปต่างประเทศ ผ่านการทำข่าวทั้งในประเด็นโรฮีนจา ที่ค็อกซ์ บาซาร์ ที่เป็นค่ายผู้ลี้ภัยที่ใหญ่ที่สุดในโลก, เลือกตั้งประธานาธิบดีอินโดนีเซีย, เลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ หลายต่อหลายครั้ง หรือแม้แต่ทำข่าวในประเทศเมียนมาช่วงก่อนเกิดรัฐประหาร
แต่พอมาเป็นนักการเมือง สถานการณ์มันสร้างคนจริงๆ เราโตขึ้นไม่ใช่แค่อายุ แต่เราโตขึ้นด้วยเรื่องราวและอุปสรรคที่เข้ามาแล้วเราต้องก้าวข้ามผ่านไป แต่เราจะไม่ใช่คำว่าแก่ลงเยอะ แม้หน้าตาจะแก่ลงบ้างก็ตาม (หัวเราะ)
เท่าที่สังเกตตลอดการสนทนา ไม่ว่าจะเรื่องที่สำเร็จหรือน่าเสียดายสำหรับคุณ ล้วนขึ้นอยู่กับงานหมดเลย
ต้องบอกว่าชีวิตของเราช่วงนี้แทบไม่มีอะไรเป็นส่วนตัวเลย (หัวเราะ) อย่างความสำเร็จส่วนตัว เรามองเป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ มากกว่า เช่น เรื่องสุขภาพหรือความงามก็ตาม สัดส่วนชีวิตของเรา 80-90% คืออยู่ที่งาน
อีกสิ่งที่สังเกตได้คือ คุณเป็นคนที่ขับเคลื่อนชีวิตด้วยการมองโลกในแง่บวกอยู่เสมอ
ต้องถามว่าการที่คุณมองโลกในแง่ลบนั้นได้อะไร ไม่ได้หมายความว่าคุณต้องมองทุกอย่างสวยดุจทุ่งลาเวนเดอร์ แต่ว่าการที่จะทำงานการเมืองในประเทศไทยจำเป็นต้องมีความหวัง เพราะถ้าคุณทำงานแบบเดิมแล้วอยู่อย่าง Realpolitik อยู่กับการเมืองที่เป็นจริง คุณคิดว่านี่เป็นการเมืองที่คุณปรารถนาหรือเปล่า ถ้าคุณแฮปปี้กับการเมืองที่เป็นอยู่แล้ว คุณก็อยู่อย่าง Realpolitik ได้ ไม่ต้องทำอะไรเพิ่ม
แต่นักการเมืองแบบเรา เราคิดว่าการเมืองที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ไม่ใช่แบบที่เราปรารถนา เพราะฉะนั้นเราจำเป็นต้องมีความหวัง และมองโลกในแง่ดีว่า สิ่งที่เราปรารถนาจะสามารถเกิดขึ้นได้ การเปลี่ยนแปลงกำลังเกิดขึ้นและนำไปสู่การทำให้สิ่งที่เราปรารถนาเป็นจริง
สรุปบทเรียนที่คุณได้สำหรับในปีนี้คือ?
สิ่งสำคัญที่เรียนรู้คือการอยู่กับคำวิพากษ์วิจารณ์ทั้งต่อตัวเราหรือสิ่งที่เราเชื่อ เป็นเรื่องสามัญที่ทุกคนต้องเผชิญ เพียงแต่การเป็นบุคคลสาธารณะอาจต้องเผชิญมากเป็นพิเศษ ตอนเป็นนักข่าว เราอาจจะเผชิญในระดับหนึ่ง แต่ความคาดหวังของประชาชนต่อนักข่าวกับนักการเมืองต่างกันลิบลับ นักการเมืองคือบุคคลสาธาณะที่มีคนรู้จักและถูกคาดหวังจากประชาชนมากกว่า
ฉะนั้นสิ่งแรกที่ควรทำ คืออยู่กับกับคำวิจารณ์อย่างไรให้ไม่เสียสติ สองคือไม่เสียตัวตนและสิ่งที่เรายึดถือ และสามไม่หลงตัวเอง คุณต้องหาบาลานซ์ให้ดี ถ้าคุณเปิดอกรับคำวิจารณ์มากไปคุณจะไม่ได้แค่จิตตก แต่สุดท้ายคุณจะหลงทาง
ขณะเดียวกันก็ตรวจสอบ ‘ความเชื่อ’ ของตัวเอง ว่าวันนี้เรายังเชื่อแบบนี้อยู่ไหม เราเชื่อว่าประเทศไทยต้องดีกว่านี้ เรายังเชื่อในความเท่าเทียม เรายังเชื่อว่าระบบแบบรัฐสวัสดิการยังเป็นไปได้ ถ้าใช่ก็แสดงว่าเรายังอยู่ในทิศทางที่ถูกต้อง
Tags: พรรณิการ์ วานิช, Another Year Another Milestone, ช่อ พรรณิการ์, คณะก้าวหน้า, Close-Up