ถ้าใครยังจำได้ ปีที่แล้ว คำว่า ‘Hygge’ (อ่านว่า ฮุก-กะ) เข้ารอบสุดท้ายในการคัดเลือก Word of the Year 2016 ของ Oxford Dictionaries (พ่ายแพ้ให้กับคำว่า Post-Truth ที่ระอุขึ้นเพราะการเลือกตั้งสหรัฐฯ) กระนั้น ปีที่แล้วเพียงปีเดียว ในสหรัฐฯ และอังกฤษมีหนังสือออกใหม่อย่างน้อยหกเล่มที่ว่าด้วย ‘ฮุกกะ’ ทั้งที่มันไม่ใช่คำภาษาอังกฤษ

‘ฮุกกะ’ เป็นภาษาเดนิช หมายถึง Coziness หรือความสบาย ความสุขจากเรื่องเล็กๆ น้อยๆ รอบตัว ซึ่งเป็นปรัชญาความสุขที่ชาวเดนมาร์ก ตลอดจนชาวนอร์เวย์ ยึดถือในชีวิต แต่ในช่วงสองปีมานี้ มันลุกลามโด่งดังไปทั่วโลก ไม่เว้นแม้แต่เมืองไทย สำนักพิมพ์ openworlds นำ The Little Book of HYGGE โดยไมก์ วิกิง (Meik Wiking) มาแปลเป็นภาษาไทย และขึ้นแท่นขายดีอย่างต่อเนื่อง วารสารรายสัปดาห์ฉบับหนึ่งยังนำฮุกกะมาเป็นธีมประจำเล่ม โดยมีการสัมภาษณ์เอกอัคราชทูตเดนมาร์กเกี่ยวกับการใช้ชีวิตละเมียดละไมและโคซี่ในแบบฮุกกะ หัวใจของมันคือการรายล้อมตัวเองด้วยสิ่งเล็กสิ่งน้อยที่นำความสุขมาให้ เช่น การใส่ถุงเท้าถักอุ่นๆ ในฤดูหนาว โกโก้ร้อนใส่มาร์ชแมลโลว์ การจุดเทียนคุยกัน การนั่งหน้าเตาผิง ดื่มไวน์ผลไม้ ฯลฯ สิ่งต่างๆ เหล่านี้มักมีคุณสมบัติตรงกันคือเรียบง่าย ไม่หรูหรา เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และ… ใช่ คำนั้นเลย – ดีต่อใจ

มาปีนี้ สวีเดนไม่น้อยหน้า ส่งคำว่า Lagom (อ่านว่า ลา-กอม) เข้าประกวด ซึ่งจริงๆ แล้วไม่เกี่ยวอะไรกับชาวสวีเดน แต่มันเป็นฝีมือของ Vogue อเมริกา ซึ่งทำหน้าที่คอยสร้างเทรนด์ใหม่ๆ ในทุกเรื่อง รวมถึงเทรนด์การใช้ชีวิต

‘ลากอม’ ซึ่งเป็นภาษาสวีดิช ถูก Vogue ยกให้เป็นผู้สืบทอดบัลลังก์ความฮิปในปี 2017 แทนที่ ‘ฮุกกะ’ เพียงเพราะมันพูดถึงความสุขเหมือนกัน มีความหมายในเชิงวัฒนธรรมเหมือนกัน และมันมาจากสแกนดิเนเวียเหมือนกัน ในขณะที่ชาวสวีเดนออกมาท้วงติงว่ามันไม่ได้เหมือนกันเลย โปรดอย่าทำให้ลากอมของพวกเขากลายเป็นกระแสฮิปสเตอร์อะไรขึ้นมา

“Lagom är bäst เป็นสุภาษิตเก่าแก่ของชาวสวีดิช หมายถึงความพอดีนั้นดีที่สุด ในขณะที่ฮุกกะหมายถึงไลฟ์สไตล์ การทำอะไรเล็กๆ น้อยๆ เป็นพิเศษ เพื่อสร้างความสุขส่วนตัว แต่ลากอมไม่ใช่ ออกจะตรงกันข้ามด้วยซ้ำ ลากอมคือการไม่ทำเรื่องไม่จำเป็น การไม่ฟุ่มเฟือย การตั้งใจมั่นเฉพาะสิ่งที่เป็นเนื้อหาสาระแท้จริง และรู้แน่ว่าเมื่อใดควรหยุดหรือพอ” ริชาร์ด ออเรนจ์ อธิบายไว้ใน The Guardian ซึ่งในฐานะคนไทย ฟังแล้วก็ชวนให้นึกถึงปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงรัชกาลที่ 9 อยู่เหมือนกัน

ทว่าความหมายที่เก่ากว่านั้น ว่ากันว่า ‘ลากอม’ มาจากคำพูดของพวกไวกิ้งที่ว่า “Laget om.” หรือ “Around the team.” ซึ่งพวกเขาจะพูดเมื่อส่งเหล้ามธุรสให้จิบต่อๆ กันไป เป็นการย้ำเตือนให้ดื่มแต่พอดี เพื่อให้เหลือพอสำหรับทุกคนในทีม ออเรนจ์ยังบอกอีกว่า ไม่ใช่ชาวสวีดิชทุกคนจะชื่นชอบลากอมเหมือนกับที่ชาวเดนิชชอบฮุกกะ เพราะลากอมอาจถูกตีความในทางเคร่งครัดเกินไป เช่น ไม่ควรหัวเราะมากไป ไม่ควรใช้ชีวิตอย่างอวดตน ฯลฯ

ไม่ว่าความหมายของฮุกกะและลากอมจะเหมือนหรือต่างกัน แต่คำถามก็คือ มันเกิดอะไรขึ้นหรือ ทำไมอยู่ๆ อะไรๆ ที่มาจากสแกนดิเนเวียถึงฮอตฮิตขึ้นมา ตั้งแต่แบรนด์เฟอร์นิเจอร์ที่ตั้งชื่อรุ่นด้วยภาษาตัวเองแบบไม่แคร์สื่อ ไปจนถึงวัฒนธรรมการใช้ชีวิต การแต่งบ้าน และอาหารการกิน…?

มองอย่างซื่อที่สุด เพราะไลฟ์สไตล์ของเจ้าแห่งวัฒนธรรมหลักอย่างยุโรปและอเมริกานั้นถูกสำรวจจนพรุนไปหมดแล้ว และถูกนำมาปรับใช้จนเนียนไปแล้วในแทบทุกมุมโลก ในขณะที่ประเทศแถบสแกนดิเนเวียและนอร์ดิกนั้นสดใหม่ต่อโลกมากกว่า และถ้ามองจากนัยทางเศรษฐกิจ แอนนา แอลต์แมน นักเขียน The New Yorker กล่าวไว้ในบทวิเคราะห์กระแสฮุกกะเมื่อปลายปีที่แล้วว่า การที่ใครสักคนจะมีเวลาใส่ใจกับสิ่งละอันพันละน้อย เรื่องใหญ่ๆ ในชีวิตของเขาต้องได้รับการจัดการเป็นอย่างดีแล้ว ซึ่งนั่นก็สะท้อนรัฐสวัสดิการของประเทศแถบสแกนดิเนเวียอันเป็นที่รู้กันว่าพรีเมียมสุดๆ ทั้งการศึกษา การรักษาพยาบาล และคุณภาพชีวิตขั้นพื้นฐานในแทบทุกมิติ คนในประเทศเหล่านั้นจึงเป็นที่อิจฉาตาร้อนของเพื่อนร่วมโลกไม่มากก็น้อย เพราะในขณะที่ชาวโลกยังหมกมุ่นอยู่กับการสร้างฐานะของตัวเองให้ดีพร้อมและมั่นคง แต่ชาวสแกนดิเนเวียนกลับว่างมาก จนถึงขั้นแยกแยะความแตกต่างระหว่าง ‘การมีฐานะดี’ กับ ‘การมีชีวิตที่ดี’

มันจะไม่น่าหมั่นไส้และไม่น่าเลียนแบบไปได้อย่างไร

แล้วเราล่ะ คนไทยตาดำๆ ที่มีไลฟ์สไตล์ชิคๆ ก็อยากจะฮุกกะบ้างเหมือนกัน ถ้า Kinfolk ทำให้เราหลงใหลลินิน ผ้าขาวบาง ต้นไม้ขวด และฟิลเตอร์กิงแฮม ฮุกกะก็มาพร้อมไอเท็มน่าหลงใหลมิใช่น้อย แม้รูปแบบชีวิตของเรากับของเขาจะต่างกันสุดขั้ว เราก็ยังสุขเล็กๆ เมื่อได้สวมสเวตเตอร์ขนแกะแสนนิ่มในออฟฟิศแอร์เย็นๆ ทำงานหาเงินผ่อนบัตรเครดิต (ที่ใช้รูดสเวตเตอร์ตัวนั้น) เราเริ่มซื้อ Throws มาโยนใส่โซฟา ฝึกจิบเครื่องดื่มร้อนๆ หาผ้าปักลายดอกไม้มาคลุมทีวี ตู้เย็น แม้จะถูกกองทัพฝุ่นยึดครองอย่างรวดเร็วก็ไม่เป็นไร แต่เราคงต้องข้ามพาร์ตเรื่องการนั่งผิงไฟ

ฮุกกะแค่ภายนอกอาจจะเลียนแบบยาก แต่เราก็เลียนแบบ(จน)ได้ แต่ภายในนั้น ถ้าเราเลียนแบบเขาได้ คิดว่าน่าจะดีต่อใจ ดีต่อชีวิต และดีต่อประเทศชาติมาก เป็นต้นว่ามุมมองประเภท “There’s no such thing as bad weather, only unsuitable clothes.”

เรื่องอากาศเราไม่โหดเท่าเขา แต่ประเทศเรามีอีกหลายอย่างเลยจริงไหมที่หนักหนาสาหัส ทว่า-ไม่มีหรอกวันร้ายๆ มีแต่ว่าเราเตรียมตัวเตรียมใจมาไม่ดี

Tags: , , , , , ,