21 กุมภาพันธ์ ไม่ใช่ครั้งแรกที่พรรคอนาคตใหม่ขึ้นศาลรัฐธรรมนูญ เพราะก่อนหน้านี้มีทั้งกรณีที่ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคถูกฟ้องในคดีถือหุ้นสื่อจนถูกวินิจฉัยว่าขาดคุณสมบัติการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) และคดีอิลลูมินาติ ที่พรรคอนาคตใหม่ถูกฟ้องในข้อหาล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข 

เพียงแต่คดีในวันที่ 21 กุมภาพันธ์นี้ ส่งผลสะเทือนครั้งใหญ่ที่สุดต่อการเมืองไทยครั้งใหญ่ เมื่อศาลมีคำตัดสินให้ ‘ยุบพรรคอนาคตใหม่’ จากคดีเงินกู้ 191 ล้านบาท และตัดสิทธิทางการเมืองคณะกรรมการบริหารพรรคเป็นเวลา 10 ปี 

คดีการเมืองเหล่านี้ ก่อให้เกิดเป็นกระแสที่ประชาชนตั้งคำถามต่อองค์กรอิสระนี้ว่า ศาลรัฐธรรมนูญมีความเป็นกลางหรือไม่ และยิ่งไปกว่านั้น นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ศาลรัฐธรรมนูญไทยสั่งยุบพรรคการเมือง เพราะนับแต่ประวัติศาสตร์การเมืองไทยเริ่มมีองค์กรอิสระอย่างศาลรัฐธรรมนูญขึ้นมาภายใต้รัฐธรรมนูญปี 2540 ก็เกิดปรากฏการณ์การยุบพรรคมาแล้วหลายต่อหลายครั้ง ตั้งแต่พรรคไทยรักไทย พรรคพลังประชาชน และล่าสุดคือ พรรคไทยรักษาชาติ  

จากงานเสวนา “ประชาชนอยู่ตรงไหน เมื่อตุลาการเป็นใหญ่ในแผ่นดิน” ที่คณะสังคมวิทยาและมนุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ร่วมกับกลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย (DRG) ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน และโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) จัดขึ้นเมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2563 ธีระ สุธีวรางกูร อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มธ. อธิบายถึง ‘ความเป็นใหญ่ในแผ่นดิน’ ของตุลาการว่า “ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีสถานะใหญ่โดยโครงสร้างขององค์กร มีอำนาจตรวจสอบองค์กรของรัฐเกือบทั้งหมด ไม่มีองค์กรไหนสามารถตรวจสอบคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญได้ และการแก้ไขอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องที่ยุ่งยาก ในกรณีนี้จึงทำให้ศาลรัฐธรรมนูญเป็นใหญ่ในแผ่นดินตามภาษากฎหมาย” 

ด้าน เข็มทอง ต้นสกุลรุ่งเรือง อาจารย์คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ศาลมีวัตถุประสงค์ที่จะระงับข้อพิพาทในสังคม และศาลต้องรับผิดชอบกับประชาชนซึ่งเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย ดังนั้น ประชาชนมีสิทธิคาดหวังกระบวนการยุติธรรมที่สมเหตุสมผล แต่เมื่อประชาชนรู้สึกว่าไม่ใช่ ก็ต้องกลับมาถามว่า มันมีความยุติธรรมจริงหรือไม่ และมีการใช้อำนาจที่เป็นไปตามหน้าที่และวัตถุประสงค์ที่ได้รับมอบหมายหรือไม่ ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องวินิจฉัยเพื่อธำรงไว้ซึ่งระบอบประชาธิปไตย 

อย่างไรก็ดี นักวิชาการจากคณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ สะท้อนว่า แต่ตลอด 14 ปีที่ผ่านมา เกิดคำถามว่า ยิ่งวินิจฉัยไป ประชาธิปไตยแข็งแรงขึ้นไหม และส่งเสริมสิทธิเสรีภาพของประชาชนหรือเปล่า 

เข็มทองชวนมองไปถึงคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญในอดีต ที่เคยวินิจฉัยให้การเลือกตั้งเมื่อวันที่ 2 เมษายน 2549 เป็นโมฆะด้วยเหตุผลว่า กกต. ดำเนินการเลือกตั้งโดยมิชอบด้วยกฎหมาย และตัดสินคดียุบพรรคไทยรักไทยในข้อหาเป็นปรปักษ์ต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตย จนเกิดศัพท์ใหม่ๆ ขึ้นมาในการเมืองไทย ทำให้ตอนนี้คนไทยพูดถึงคำว่า ‘Lawfare’ หรือนิติสงคราม กันขึ้นมา

ที่มาของผู้พิพากษาศาลรัฐธรรมนูญ แต่เดิม ‘เคย’ ยึดโยงกับประชาชน

อนุสรณ์ อุณโณ คณบดีคณะสังคมวิทยาและมนุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แสดงความเห็นว่า “ตุลาการกำลังตีตัวออกจากประชาชน ทำให้อำนาจตุลาการไม่เอื้อประโยชน์กับประชาชน และมีราคาที่จะเข้าถึงความยุติธรรม อำนาจตุลาการจึงกลายเป็นอำนาจที่เอื้อประโยชน์กับกลุ่มอภิสิทธิ์ชนเท่านั้น”

เขาขยายความว่า ในอดีต ที่มาของผู้พิพากษามาจากการแต่งตั้งโดยสำนักคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม (กต.) ซึ่ง กต. มาจากการแต่งตั้งของรัฐสภาที่ ส.ว. มาจากการเลือกตั้ง แต่ตอนนี้กลายเป็นว่า ส.ว. และผู้พิพากษาได้รับการแต่งตั้งจาก คสช. โดยตรง ทำให้อำนาจตุลาการในช่วงเวลานี้ถูกแทรกแซงโดยกลุ่มการเมืองของรัฐสภา

สัณหวรรณ ศรีสด คณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล ให้ความเห็นตามมาตรฐานกฎหมายระหว่างประเทศเรื่องอำนาจตุลาการ โดยกล่าวว่า ในกฎหมายมาตรฐานระหว่างประเทศเรื่องผู้พิพากษา ผู้พิพากษาต้องเป็นอิสระจากการถูกแทรกแซงจากรัฐสภาและเป็นกลาง ไม่เลือกปฏิบัติ โดยที่มาของผู้พิพากษาตามมาตรฐานระหว่างประเทศ ควรได้รับการแต่งตั้งจากองค์กรอิสระตามคุณสมบัติของผู้พิพากษาที่ดี และไม่แนะนำให้มาจากการแต่งตั้งของรัฐสภาโดยตรง เพื่อไม่ให้รัฐสภาเข้ามาแทรกแซงตุลาการ 

ทางออกของการเชื่อมตุลาการและประชาชนเข้าด้วยกัน

วงเสวนาพยายามมองหาทางออก โดยมีการเสนอการจัดความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนกับตุลาการ ถ้าตุลาการกำลังออกจากขอบเขตหน้าที่เดิมของตัวเอง ภายใต้บริบททางประวัติศาสตร์และสังคมชนชั้น เราสามารถจัดการเพิ่มการเข้าถึงความรู้ทางนิติศาสตร์ให้ประชาชนทั่วไปให้เข้าถึงได้ เพื่อให้สังคมเกิดการตั้งคำถามและวิพากษ์คำวินิจฉัยของศาล รวมไปถึงข้อเสนอให้ลดความศักดิ์สิทธิ์ของศาลและเพิ่มบทบาทของประชาชนในการตรวจสอบอำนาจตุลาการ เช่น ให้มีระบบลูกขุน

หลังปรากฏการณ์ยุบพรรคอนาคตใหม่ในครั้งนี้ แม้คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญถือเป็นที่สิ้นสุดไปแล้ว แต่คำตัดสินครั้งนี้จะยังคงถูกพูดต่อไปอีกนาน เพราะมันชวนให้เกิดข้อครหาว่า ผลของคำพิพากษาอาจเอื้อต่อกลุ่มการเมืองบางกลุ่มให้ได้ประโยชน์ และท่ามกลางคำตัดสินหลายคดีที่สร้างความค้างคาใจในสังคม ก็ทำให้สังคมไทยตั้งคำถามถึงความเป็นอิสระและความยุติธรรมที่เราพึงคาดหวังต่อตุลาการ ว่าหากเกิดความไม่เป็นธรรมจริง จะมีมาตรการอะไรที่จะมาตรวจสอบอำนาจตุลาการที่ ‘เป็นใหญ่’ ในแผ่นดิน ในวันที่ประชาชนสิ้นหวังกับการเมืองไทยในปัจจุบัน

Tags: , ,