การเติบโตของ ‘พรรคก้าวไกล’ สั่นสะเทือนโครงสร้างอำนาจเดิม – กา ‘ก้าวไกล’ ประเทศไทยเปลี่ยนไปอีกขั้น การจับมือกันของพรรคเพื่อไทยและฝ่าย ‘อำมาตย์’ โดยมีโจทย์ใหญ่ว่า พรรคก้าวไกลต้องไม่ร่วมเป็นรัฐบาล ทำให้เกิดรัฐบาล ‘สลายขั้ว’ ครั้งแรกในรอบสองทศวรรษ และในเวลาเดียวกัน สิ่งที่จะเกิดขึ้นจากวันนี้ คือการ ‘รุมสกรัม’ พรรคก้าวไกลจากทุกฝ่ายทางการเมือง แม้พรรคก้าวไกลจะมีสถานะเป็นฝ่ายค้านก็ตาม

แต่เมื่อความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นแล้ว การหยุดพรรคก้าวไกลดูจะเป็นเรื่องที่ยากยิ่ง ‘กระแส’ ของก้าวไกลยังอยู่ แม้ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล จะได้เป็นเพียง ‘นายกฯ รถแห่’ อย่างที่หลายคนคาดไว้ แต่ถ้า ณ วันนี้ รัฐบาลยุบสภาฯ ก็มีความเป็นไปได้สูงที่พรรคก้าวไกลจะได้คะแนนเสียงมากเป็นอันดับหนึ่ง และมีความเป็นไปได้ที่พวกเขาจะได้คะแนนที่มากกว่าเดิม

ทั้งหมดนี้ หลายคนบอกว่าเป็น ‘แผน’ ที่วางไว้ตั้งแต่ครั้งพรรคอนาคตใหม่ เป็น ‘บันได 4 ขั้น’ ที่ถูกคิดค้นโดย ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ และปิยบุตร แสงกนกกุล สองผู้ก่อตั้งคนสำคัญ ในการใช้พรรคการเมืองพรรคนี้เป็นจุดเริ่มต้นเปลี่ยนแปลงประเทศ หลายคนมองว่า ทุกอย่างเป็น ‘แผน’ ที่วางไว้อย่างเป็นลำดับขั้นในการเปลี่ยนประเทศ

ในเวลาเดียวกัน การเกิดขึ้นของพรรคอนาคตใหม่ และการเติบโตอย่างรวดเร็วของพรรคก้าวไกล ได้เป็นโมเดลสำหรับพรรคการเมืองใหม่ๆ ทั่วโลก ว่าพรรคการเมืองที่ไม่ต้องใช้ทุน ไม่ต้องใช้วิถีทางทางการเมืองเหมือนเดิม ก็สามารถต่อสู้จนได้รับชัยชนะได้โดยใช้เวลาไม่นาน

b-holder Podcast ชวน ปิยบุตร แสงกนกกุล ผู้ก่อตั้งพรรคอนาคตใหม่และเลขาธิการคณะก้าวหน้า ย้อนกลับไปมองเส้นทางของพรรคอนาคตใหม่ แผนของพวกเขา การเรียนรู้ระหว่างทาง และ ‘อนาคต’ ของพรรคก้าวไกลในสายตาของเขา

ถึงวันนี้ ถ้ามองย้อนกลับไป ถือว่าเป็นการตัดสินใจที่ถูกต้องหรือไม่

ยืนยันว่าเหมือนเดิม แล้วถ้าย้อนเวลากลับไปก็จะตัดสินใจแบบเดิม ยิ่งพอเห็นผลการเลือกตั้งแบบนี้ เห็นความตื่นตัวของประชาชนแบบนี้ ผมเพิ่งคุยกับคุณชัยธวัช (ชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล) ยังบอกเลยว่า การตัดสินใจเมื่อปลายปี 2561 เป็นการตัดสินใจที่ถูกต้องที่สุด ถูกช่วงจังหวะเวลาที่สุด

ก่อนหน้านั้น ผมเชื่อว่าก็ยังไม่เหมาะ หรือหลังจากนั้น เช่น ปุบปับมาตั้งตอนเลือกตั้ง 2566 ก็ไม่เหมาะ มันต้องตั้งช่วงนั้นพอดี สิ่งหนึ่งที่น่าเสียดายในการเมืองไทยก็คือว่า นับตั้งแต่เรามีการอภิวัฒน์สยาม 2475 มาถึงตอนนี้ เราไม่มีพรรคการเมืองที่่เป็นพรรคการเมืองจริงๆ ส่วนใหญ่จะเป็นที่รวมตัวกันของคนไปลง ส.ส. เก็บจำนวน ส.ส.ให้เยอะๆ แล้วไปแลกรัฐมนตรีกี่ที่นั่ง แล้วก็ไม่ได้มีกิจกรรมอะไร 

ทั้งนี้ ผมเชื่อว่ามีพรรคการเมืองหลายพรรคที่ตั้งใจจะทำพรรคการเมือง แต่พอเจอกับระบบการเมืองแบบนี้ มันไปไม่ได้ แล้วถ้าพูดตรงไปตรงมา พรรคการเมืองในแบบทฤษฎีที่เราร่ำเรียนกันมา มันจะต้องยืนอยู่ด้วยอะไร

1. ต้องเป็นพรรคที่ยืนอยู่บน Ideology Base ก็คือมีวิธีคิด ชุดอุดมการณ์เป็นของตัวเอง คุณจะขวาจัด ซ้ายจัด ขวากลาง ซ้ายกลาง ลัทธิเศรษฐกิจอย่างไร เป็นพรรคระดับภูมิภาค เป็นพรรคจากคนเฉพาะกลุ่ม ก็สุดแท้แต่ ขอให้มันมี Ideology Base ก่อน 

2. ต้องเป็นพรรคมวลชน หมายความว่า คุณต้องมีความสัมพันธ์ในการขับเคลื่อนขบวนการ ขับเคลื่อนไปพร้อมกับประชาชนที่สนับสนุนคุณ ไม่ใช่เห็นเขามีคุณค่าสำคัญแค่ตอนเลือกตั้งอย่างเดียวเสร็จแล้วก็บ๊ายบายแยกจากกัน แล้วเดี๋ยวก็มาใหม่ 

3. ต้องเป็นพรรคยุทธศาสตร์ ก็คือว่าคุณเคลื่อน คุณกำหนดยุทธศาสตร์ กำหนดแท็กติก ยุทธวิธีในการเคลื่อนในแต่ละครั้ง แล้วต้องเคลื่อนทั้งขบวนการในสภาฯ และนอกสภาฯ 

แต่ถ้าเราลองย้อนประวัติศาสตร์กลับไป ตั้งแต่อภิวัฒน์สยามกันมา มันแทบจะไม่ปรากฏนะ พรรคที่เป็นแบบนี้ มีความพยายามจะทำ แต่มันก็ล้ม

อย่างพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย เป็นพรรคนอกกฎหมายก่อน แต่เป็นทั้งพรรคอุดมการณ์ พรรคมวลชน แล้วก็พรรคยุทธศาสตร์ด้วย แต่เขาถูกผลักให้เป็นพรรคนอกระบบ กฎหมายไม่ยอมรับ คุณพยายามสู้ในระบบ ในชื่อของพรรคสังคมนิยมแห่งประเทศไทย พรรคแนวร่วมสังคมนิยม พรรคพลังใหม่ ซึ่งมีขึ้นมาตอนปี 2518 แต่หลังจากนั้นเกิดเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ก็พังหมดเลย ส.ส.พรรคสังคมนิยม ก้าวหน้าในสมัยนั้น ทุกวันนี้กลายเป็นอยู่ในพรรคที่ Royalist ซึ่งก็น่าประหลาดเหมือนกัน
ดังนั้น ตรงนี้ พรรคที่เราเห็นในประเทศอื่น พรรคการเมืองต้องยึดว่า คุณเป็นอุดมการณ์แบบไหน ซ้ายขวาหน้าหลังอย่างไร มีการทำงานกับมวลชน และมียุทธศาสตร์และยุทธวิธีในการเดิน แต่บ้านเรายังไม่มี

เพราะฉะนั้น ผม คุณธนาธร คุณชัยธวัช คุณศรายุทธ ใจหลัก ก็คิดอ่านกันว่า ตั้งพรรคทั้งที มันเอาชีวิตเราไปนะ เพราะเราประกอบอาชีพอื่นได้อยู่แล้ว คุณธนาธรไม่ต้องพูดถึง ทำธุรกิจกำลังสนุกเลย เขาเตรียมจะบุกเบิกที่ใหม่ๆ ของเขาเต็มไปหมด รวมทั้งเขายังมีงานอดิเรก คือการไปวิ่งเทรล ความฝันจะไปขั้วโลกใต้ เขาวางแผนไว้หมด ผมเองตอนนั้นได้รองศาสตราจารย์ กำลังจะเตรียมขอศาสตราจารย์ ก็สนุกในการสอน คุณชัยธวัชก็เป็นบรรณาธิการในสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน ผลิตหนังสือออกมาหลายเล่ม แล้วก็เป็นนักกิจกรรมเคลื่อนไหว คุณศรายุธ ใจหลัก ก็เป็นนักกิจกรรม เขาก็ทำกิจกรรมนักศึกษามาร่วมกันกับคุณชัยธวัช แล้วก็กำลังทำธุรกิจปลูกยางพารา ทำสวนยาง แต่ละคนมันก็มีที่ทางของตัวเอง แล้วอยู่ดีๆ คุณมาตั้งพรรคการเมือง ซึ่งทุกคนก็รู้อยู่แล้วว่ามันยาก 

ไม่พอ เรายังมีรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ซึ่งทุกคนรู้ว่าเป็นรัฐธรรมนูญสืบทอดอำนาจ ทุกอย่างเลยยากเข้าไปอีก แล้วเราก็เห็นประวัติศาสตร์การเมืองไทยมาว่า สร้างพรรคแล้ว พรรคใหม่ๆ พังหมดทุกครั้ง ตั้งไป ความฝัน เสร็จแล้วก็แป๊บเดียวพัง ดังนั้น เราจะเอาตัวเองมาเสี่ยงตั้งทำไม แสดงว่ามันต้องได้อะไรมา ก็คือมันต้องได้ตามความฝันที่เราคิด เช่น ถ้าเราสี่คนตัดสินใจแล้ว มันดันไม่เป็นพรรคอุดมการณ์ ไม่เป็นพรรคมวลชน ไม่เป็นพรรคยุทธศาสตร์ อย่างนี้ไม่ต้องตั้ง ถ้าคิดอยากเป็นแค่ ส.ส. ก็แค่รวบรวมขุมกำลัง แล้วไปเอาตำแหน่งรัฐมนตรี ไปกางมุ้งในพรรคอื่นพอ เช่น ผมกางมุ้ง ผมขอดูแล ส.ส. 30 คน แป๊บเดียวก็ได้เป็นรัฐมนตรีแล้ว ถ้าคิดแบบนี้ก็ไม่ต้องตั้งพรรค

ทีนี้ ถ้าจะทำพรรค ก็ต้องทำให้สมบูรณ์ รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ด้านหนึ่งเป็นโทษ แต่อีกมุมเป็นคุณ คือถ้าคุณอ่านระบบเลือกตั้งครั้งนั้น ต้องการสกัดพรรคเพื่อไทย เพราะผู้ร่างเขาไม่ต้องการให้มีพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งมีเสียงที่มากกว่า 250 ธงเขามีแค่นี้ แต่ในขณะเดียวกัน มันกลับเป็นคุณกับพรรคใหม่ๆ ที่ไม่มีฐานคะแนน ไม่มีหัวคะแนนในพื้นที่ แต่เป็นพรรคที่ใช้กระแสภาพใหญ่ทั้งหมด ระบบเลือกตั้งปี 2560 ตอนเลือกตั้งปี 2562 มันออกมาเอื้ออำนวยแบบนี้ เพราะทุกคะแนนเสียงถูกเอามานับ แล้วมันก็มีความหมาย เราก็นั่งคิดว่า แบบนี้ล่ะเป็นโอกาส ระบบเลือกตั้งมันเป็นคุณ ต่อมา มันยังมีเครื่องไม้เครื่องมือสมัยใหม่ พูดง่ายๆ คือคุณไม่ต้อง้องอนสื่อกระแสหลักมากแล้ว เมื่อก่อนนี้อยากจะไปออกรายการสักช่อง อยากจะเขียนอะไรลง ต้องแล้วแต่ว่าเขาจะเชิญหรือเปล่า พรรคใหม่เป็นใคร ใครจะเชิญคุณ แต่นี่โซเชียลมีเดียเริ่มทำงานได้ แล้วเป็นต้นทุนที่ต่ำมาก แปลว่าคุณสามารถทะลุทะลวงความคิดทางการสื่อสารด้วยโซเชียลมีเดียได้ทันที

อีกเรื่องคือจังหวะ-สถานการณ์ทางการเมือง ในการเลือกตั้งปี 2562 คนเริ่มเบื่อกับความขัดแย้งชุดเดิมที่ทำให้การเลือกตั้งเสร็จแล้วไม่จบ เลือกตั้งเสร็จแล้ว ไม่ว่าฝั่งไหนมาเป็นรัฐบาลก็จะต้องมีอันเป็นไปด้วยวิธีไม่ปกติ เช่น รัฐประหาร ยุบพรรค ตัดสิทธิทางการเมือง แล้วก็เกิดการชุมนุม สลายการชุมนุม วนแบบนี้ เรื้อรังมาตั้งแต่ปี 2549 ในขณะเดียวกัน ก็มีประชากรกลุ่มใหม่ๆ ขึ้นมา มันผ่านมาหลายปี แล้วก็มีประชากรกลุ่มใหม่เกิดขึ้น ที่เขาอาจจะยังไม่เคยไปอยู่ในชุดความขัดแย้งตั้งแต่ปี 2549 อาจจะเป็นคนที่เคยอยู่ แต่ตอนนี้คิดออกแล้วว่า ฉันขอเดินแบบใหม่ และมีคนที่ Ignorant ทางการเมือง ที่อยากจะสนใจการเมืองแล้ว เพราะเมื่อก่อนไม่สนใจหรอก แต่เดี๋ยวนี้ ตั้งแต่ยึดอำนาจมาตั้งแต่ปี 2557 ชีวิตกูพังไปหมดเลย เลยเริ่มหันมาสนใจการเมือง

เพราะฉะนั้น เริ่มมี Voter กลุ่มใหม่ๆ หน้าใหม่ๆ เข้ามา แล้วเราเห็นแล้วว่าการตั้งพรรคการเมืองในประเทศไทยเหนื่อยยากเย็นแสนเข็ญ แต่มันก็มีโอกาสอยู่ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของ Voter กลุ่มใหม่กำลังเกิด เครื่องไม้เครื่องมือผ่านโซเชียลมีเดีย ซึ่งใช้ต้นทุนต่ำ แล้วก็เรื่องของระบบเลือกตั้ง การคำนวณคะแนน คิดมา นั่งเทรด นั่งคำนวณกัน เป็นโอกาสสำคัญชี้ขาดว่า การตั้งพรรคแบบนี้มาเดินไปได้

วันที่ 7 สิงหาคม 2559 มีการลงประชามติ รับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ผลออกมาคือรับถล่มทลาย และคำถามพ่วงก็รับเช่นกัน จนกลายมาเป็นรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 แบบทุกวันนี้ พร้อมด้วยมาตรา 272 ที่ให้ ส.ว.เลือกนายกฯ 

วันนั้นผม คุณชัยธวัช แล้วก็คุณธนาธร ต่างก็เข้าไปมีส่วนร่วมในการรณรงค์เรื่อง Vote No ซึ่งในเวลานั้น แต่ละพรรคการเมืองเขาไม่ได้ขยับกันเท่าไร เพราะยังคงมีกฎอัยการศึก และประกาศของ คสช.อยู่ นักการเมืองหลายคนก็พักผ่อนกัน รอเวลากลับมา ภาคประชาชนก็พยายามขยับ ทีนี้พอรณรงค์โหวตโน ก็คิดอ่านกันว่า เอาล่ะ ถ้าพรรคเพื่อไทยบอกว่าโหวตโน ประชาธิปัตย์บอกว่าโหวตโน โหวตโนชนะแน่นอน แต่ปรากฏออกมาแพ้เละเลย 

ดังนั้น เราเริ่มคิดละ เฮ้ย ตายละ ถ้าบ้านเมืองนี้อยู่กับรัฐธรรมนูญฉบับนี้ยาวไปเรื่อยๆ สงสัยจะไม่รอด แล้วจะยาวไปในลักษณะที่รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 เหมือนกับรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2521 ซึ่งกว่าจะแก้ได้คือ รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2534 มันก็ตามด้วยเหตุการณ์เดือนพฤษภาคม 2535 แล้วกว่าจะไปจบจริงๆ ก็รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 

ผมเกิดปี 2522 กว่าจะเข้ารัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 ผมเข้ามหาวิทยาลัย นั่นแปลว่า ลากเอาชีวิตคนไปประมาณ 18-19 ปี แล้วลองดูตอนนี้คล้ายๆ กันไหม ปี 2548 เกิดการชุมนุมต่อต้านรัฐบาลไทยรักไทย ปี 2549 เกิดการรัฐประหาร ลากกันไปลากกันมาก็ปี 2557 มีรัฐประหารอีกที แล้วรัฐธรรมนูญก็ออกแบบมาให้แก้ยากมากๆ จนมาถึงตอนนี้ เกือบ 20 ปีแล้วเหมือนกัน

ฉะนั้น เฟสนี้ก็เป็นอีกรอบที่ได้เห็นกลุ่มก้อนของอำนาจเก่าทั้งหมด ที่ทำให้เห็นว่าเขาไม่ยอมให้การเมืองเดินแบบปกติ ถ้าเราไม่ทำอะไรเลย ผมก็เชื่อว่ามันจะออกจากวิกฤตนี้ไม่ได้ 

แล้วอันนี้ก็ต้องพูดตรงไปตรงมา ธนาธรก็พูดหลายครั้ง เราก็ประเมินว่า พรรคที่มีอยู่เดิมทั้งหมดไม่สามารถตอบโจทย์แบบที่พวกเราคิดได้แล้ว ในเมื่อคุณไปผลักดัน ไปเสนอกับเขา เขาก็บอกว่าเขาไม่ทำ จนได้เคาะกันว่าปี 2560 เริ่มทำ 15 มีนาคม 2561 จดจัดตั้งชื่อพรรค แล้วก็ทำมาเรื่อยๆ 

เข้าใจว่าอาจารย์น่าจะดูนักการเมืองพรรค Liberal ในยุโรปหลายประเทศมา พรรคเหล่านี้เป็นอย่างไรบ้าง เติบโตหรือประสบความสำเร็จมากน้อยขนาดไหน ถ้าเทียบกับก้าวไกลวันนี้

ต้องเท้าความการเมืองในยุโรปนิดหนึ่ง คือมันค่อนข้าง Settle พอสมควร มีการเลือกตั้งโดยสม่ำเสมอ นานวันเข้าพรรคที่เป็นขวากลางกับพรรคที่เป็นซ้ายกลาง ก็สลับกันไปมาขึ้นเป็นรัฐบาล อยู่ไปอยู่มาก็เริ่มไม่แตกต่าง เพราะทั้งสองพรรค เวลาเป็นรัฐบาลอยู่ในร่มของลัทธิเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมใหม่ ผ่านองค์กรโลกบาล องค์กรระหว่างประเทศ สหภาพยุโรป กรรมาธิการยุโรป ธนาคารยุโรป พวก IMF ธนาคารโลก ฉะนั้น ลัทธิเศรษฐกิจเสรีนิยมใหม่ได้ครอบงำหมด ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลขวากลางหรือซ้ายกลาง การตัดสินใจต่างๆ ก็คล้ายกันหมด แล้วปัญหามันก็เกิดขึ้น เกิดวิกฤตการเงิน ค.ศ. 2008 หรือวิกฤตซับไพรม์ รัฐบาลก็เดินตามวิธีเดิมๆ คือรัดเข็มขัด ลดงบประมาณสวัสดิการ ฯลฯ 

ในขณะเดียวกัน ยุโรปยังมีลักษณะพิเศษอีก คือเปิดรับผู้ลี้ภัยเข้ามาเยอะ ดังนั้น ขวากลาง ซ้ายกลางมันก็คล้ายกัน มันก็มีฝ่ายหนึ่งขยับไปเป็นขวาจัดเลย บอก “เฮ้ย กูจะไม่มีแดกกันอยู่แล้ว มึงปล่อยให้คนต่างชาติเข้ามาทำไมเยอะแยะ” พวกนี้ก็ปลุกชาตินิยมขึ้นมา เห็นไหมเราอย่าไปทำตามสหภาพยุโรป เราอยู่กันเองสิประเทศของเรา ทำไมเราต้องเอาเงินไปช่วยกรีซ เอาเงินไปช่วยโปรตุเกส เดี๋ยววันนี้คุณต้องมาแบ่งโควตารับผู้ลี้ภัยกันอีก ลำบากชีวิตของเราจะไม่มีจะกินอยู่แล้ว 

อันนี้พวกที่รณรงค์เป็นขวาจัดเลย กับอีกปีกหนึ่ง อันนั้นเป็น Populist แบบขวา นักทฤษฎีชื่อ เออร์เนสโต ลาคลาว (Ernesto Laclau) และชองตาล มูฟ (Chantal Mouffe) คิดทฤษฎีเรื่อง Populist แบบซ้าย เขาบอกว่าคุณจะสู้ Populist แบบขวาได้ ถ้าปล่อยไปเรื่อยๆ เลือกตั้งกี่ที คนที่ในอดีตเคยเป็นซ้ายจัด บางทีบ้าๆ บอๆ วันหนึ่งพอมันแก่ตัวไป มันไปโหวตขวาจัดนะ เพราะมีจุดร่วมกันเรื่องการปกป้อง ผลประโยชน์ของชาติ เรื่องสวัสดิการ

ถ้าอย่างนั้นทำไงดี นักคิดพวกนี้บอก คุณตั้ง Populist แบบซ้าย แล้วดึงพวกนี้มา มันอาจมีจุดร่วมอะไรบางอย่าง แต่จุดแตกต่างมันเยอะ เพื่อแย่งคะแนนส่วนนี้กลับมา ดังนั้น พรรคแบบ Moderate มันถูกแยกออก เมื่อก่อนซ้ายจัดมันเป็นคอมมิวนิสต์ เออร์เนสโต ลาคลาวกับมูฟ ก็พยายามวิพากษ์วิธีคิดแบบคอมมิวนิสต์แบบดั้งเดิม บอกว่า วิธีแบบเดิมใช้ไม่ได้แล้ว ทั้งสองคนคือลาคลาวกับมูฟซึ่งเป็นสามีภรรยา เขายังเป็นมาร์กซิสม์อยู่นะ แต่เขาเรียกตัวเองเป็นมาร์กซิสม์แบบใหม่ เขายังเชื่อในเรื่องชนชั้น เรื่องการต่อสู้ เพียงแต่อธิบายใหม่ ไม่ได้นิยามคำว่า Class ในลักษณะที่ต้องเป็นชนชั้นแรงงานที่เป็นผู้ผลิตเท่านั้น แต่เด็กวัยรุ่นบางทีเขาก็ไม่อยู่ในสหภาพ บางทีเขาเป็น Freelance เป็นแรงงานอิสระ แล้วมันก็มีประเด็นซ่อนอยู่ในนั้นเต็มไปหมด เรื่องเฟมินิสต์ เรื่อง LGBTQ เรื่องสิ่งแวดล้อม ไม่ได้มีแค่ว่าจะปักธงแดงกลางนคร

แปลว่าไม่ได้สุดโต่งแบบเมื่อก่อน

ไม่เชิงสุดโต่ง ไม่ใช่การเมืองลักษณะที่ว่าจะต้องเข้าสู่คัมภีร์แบบนี้ แล้วต้องเชื่อว่าทุกชนชั้น ชนชั้นกรรมกรจะเป็นหัวหอกในการเปลี่ยนแปลง แต่ต้องอธิบายใหม่ทั้งหมด ใช่ ยังต้องยืนหยัดต่อสู้ทางชนชั้น แต่ก็มีไอเดียใหม่ข้นมา ไอเดียนี้ว่าด้วยการสร้าง People 

เขาบอกว่า เวลาคุณพูดว่าประชากร อันนี้เป็นข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ว่า ประชากรมีสัญชาติ เชื้อชาติ วัฒนธรรมอะไร มีกี่คน พูดภาษาอะไร ถิ่นฐานอยู่ไหน แต่ถ้าพูดว่า People หรือประชาชน มันเป็นคำศัพท์ทางการเมือง 

ทุกวันนี้เราพูดคำว่า People เราไม่เห็นเลยว่ามีใครบ้าง จะนิยามก็ไม่ออก ใครๆ ก็อ้างประชาชนทั้งนั้น ดังนั้น มันจึงเป็นคำศัพท์ที่ต้องชิงมาให้ได้ ด้วยการอธิบายว่า ขีดเส้นความขัดแย้งใหม่ ไม่ใช่ขวาซ้ายแบบเดิม แต่นี่คือประชาชนคนส่วนใหญ่ทั้งหมด สู้กับชนชั้นนำไม่กี่กลุ่มไม่กี่คน

พูดง่ายๆ 99% รบกับ 1% ทีนี้คุณรวม 99% ให้มาร้อยรัดกันได้อย่างไร เขาเสนอไอเดียที่ชื่อว่า Chain of Equivalence เป็นห่วงโซ่แห่งความเชื่อมโยง โดยพรรคการเมืองจะต้องเป็นแพลตฟอร์ม จะต้องมีผู้นำทางการเมืองที่สร้างแพลตฟอร์มนี้ขึ้นมาเพื่อบอกว่า เอาละ ทุกคน ปัญหาคืออะไร มารวมกันให้หมดเลย แล้วคุณก็บอกว่า คุณคือ People ใส่ Storytelling ใหม่ทั้งหมด บอกว่าไอ้ที่เราเจอทุกวันนี้คือพวกชนชั้นนำเอาไปหมด 

วิธีการแบบนี้ที่พรรคต่างประเทศเอาไปใช้ ก็เช่นพรรค โปเดมอส ของสเปน ซีรีซา ของกรีซ ลาฟร็องแซ็งซูมิส ของฝรั่งเศส แล้วก็มีของโปรตุเกสอีกพรรคหนึ่ง พวกนี้ก็เอาไปประยุกต์ใช้ เต็มบ้าง ไม่เต็มบ้าง ปรับปรุงตามสไตล์ตัวเองบ้าง ก็มีทั้งสำเร็จและไม่สำเร็จ

แต่ตอนเริ่มต้นสำเร็จกันหมดนะ Start เริ่มต้น สำเร็จหมด ซีรีซาได้เป็นรัฐบาล แต่เข้าไปแล้วก็เละ เพราะเพื่อนสองคน คนหนึ่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กับอีกคนหนึ่งเป็นนายกฯ ทะเลาะกันเรื่อง EU ว่า นโยบายรัดเข็มขัดจะรัดแค่ไหน สุดท้ายนายกฯ ยอม รัฐมนตรีคลังไม่ยอมเลยลาออก เป็นตัวอย่างว่าขึ้นมาแล้วก็พัง

โปเดมอสก็เหมือนกัน มาแรงมาก ตอนแรกพรรคใหม่ใครก็ไม่รู้ ได้ที่สาม อยู่ไปอยู่มาก็ขัดแย้งกันข้างใน ก็ไปแยกกลุ่มใหม่ ตั้งพรรคใหม่มาเต็มไปหมด แต่คะแนนก็ลดลงไปเรื่อยๆ ขณะที่ ลาฟร็องแซ็งซูมิส อันนี้ยังได้นำ ยังได้ลุ้นอยู่ เพราะพรรคตัดสินใจไปผนึกกำลังกับพรรคโซเชียลลิสต์และพรรคกรีก ในการเลือกตั้ง ส.ส. พูดง่ายๆ คือแบ่งเขตกันลง เลยได้คะแนนเสียงเพิ่มขึ้น ทั้งหมดเป็นตัวอย่าง มีสำเร็จบ้าง แล้วก็มีล้มเหลวบ้าง 

แล้วสำหรับ อนาคตใหม่ ก้าวไกล นำพรรคพวกนี้มาประยุกต์ใช้อย่างไร

พอผมกลับมานั่งคิดอ่าน การเมืองสไตล์แบ่งเหลืองแดง มันไม่ได้แล้ว สุดท้ายมันเป็นมายาคติ เป็นภาพลวงตาอะไรบางอย่าง สุดท้ายคนเจ็บจริง ตายจริง เดือดร้อนจริง ลำบากจริง มันก็คือคนธรรมดาทั้งนั้น ที่บังเอิญไปใส่สีเสื้อคนละสี เชียร์คนละพรรค บางทีอยู่บ้านเดียวกัน ก็ใส่เสื้อคนละสี แต่ถอดออกมาปุ๊ป ปัญหาที่คุณเจอมันคล้ายๆ กันหมดเลย ยกตัวอย่างเช่น ราคาพืชผลการเกษตร ถ้าคุณบอกว่าเป็นราคาข้าว ราคาอ้อย ในภาคอีสาน ราคาข้าวโพดในภาคเหนือ ราคายางในภาคใต้ แต่ก็ปัญหาเดียวกัน คือราคาพืชผลทางการเกษตรที่นายทุกผูกขาดมีอำนาจกำหนดราคา

ถามว่าทำไมท้องถิ่นเราทำอะไรกันไม่ได้ เหนือก็เป็น ใต้ก็เป็น ทำไมภูเก็ตไม่สามารถมีอำนาจอิสระในการเก็บภาษีอะไรต่างๆ ได้ เชียงใหม่ก็อยากเป็น ขอนแก่นก็อยากเป็น แต่พอไปถามประชากร “อ้าว กูเลือกคนละพรรค สวมเสื้อคนละสี” แต่ทั้งหมดปัญหาเดียวกัน ผู้ค้าขนาดเล็ก ขนาดย่อย จะทำร้านโชห่วย ไม่ว่าอยู่ภาคไหนก็เจอห้างสะดวกซื้อ ร้านโชห่วยก็พังหมด แม้ว่าอยู่ภาคใต้เชียร์พรรคหนึ่ง อยู่อีสานจะเชียร์อีกพรรคหนึ่ง 

อีกปัญหา – ลูกของเราเติบโตมาแล้วจะเรียนหนังสืออะไรวะ สวัสดิการก็ไม่มี จบไปมีงานทำไหม ทั่วประเทศปัญหาเดียวกันหมด แม้จะอยู่คนละภาค เชียร์คนละพรรค ถามว่ามีอีกกี่ปัญหาก็ลองแกะกันมาดู มันเรื่องเดียวกันหมดเลย ผมก็มานั่ง แล้วก็คิดว่าทั้งสองเรื่องเขาคิดจริงหรือไม่จริงไม่รู้ แต่ระดับมวลชน ต้องมีคิดบ้าง แต่เซนส์ของเหลืองกับแดง มันมีความต่างตรงนี้อยู่ คือเสื้อแดงในสมัยนั้นก็สนับสนุนพรรคไทยรักไทย พรรคเพื่อไทย ทั้งหมดเชื่อว่าอำนาจมาจากการเลือกตั้ง เลือกแล้วต้องได้เป็นรัฐบาล ส่วนพวกเหลือง เขาก็จะพยายามพูดเรื่องตรวจสอบคอร์รัปชันว่า ที่เลือกมาแล้วมันโกงอย่างไร ผมไม่รู้ว่าแกนนำของทั้งสองฝ่ายจะคิดอย่างไร แต่มันมีชุดวิธีคิดของมวลชนแบบนี้อยู่ ถามว่ามันต้องเลือกอันใดอันหนึ่ง เราก็ต้องมีรัฐบาลจากการเลือกตั้งได้ด้วย พร้อมมีระบบตรวจสอบได้ด้วย และประเด็นปัญหาต่างๆ ที่ไม่ว่าคุณจะเคยใส่เสื้อเหลืองหรือแดงมา แต่สุดท้ายเวลาจับมาปนกัน มันไม่ใช่แค่ปัญหาสีเสื้อ แต่คือปัญหาโครงสร้าง

แล้วผมก็กลับไปย้อนคิดถึง เออร์เนสโต ลาคลาว และชองตาล มูฟ ก็ไอ้นี่ไง 99 กับ 1 ไง คุณใส่แดง คุณใส่เหลือง คุณเชียร์ประชาธิปัตย์ คุณเชียร์เพื่อไทย แต่สุดท้ายปัญหาในชีวิตประจำวันแม่งเหมือนกันหมดเลย แล้วสุดท้ายเปิดทางให้รัฐประหารเข้ามา พอเข้ามาก็ไม่แก้อะไรเลย หนักไปกว่าเดิมอีก บางอันของพรรคเพื่อไทยก็ยืมไปใช้ บางอันของพรรคประชาธิปัตย์ก็ยืมไปใช้ สุดท้ายคือ แล้วมันซัดกันไปกันมาทำไม 

ทีนี้เราจะเปลี่ยนชุดความขัดแย้ง คือการแบ่งอย่างนี้ในหมู่ประชาชนให้เป็นสองฝั่ง แบ่งกันหลวมๆ ก็เหลืองกับแดงได้ ให้กลายเป็นทางขวางแทน ก็คือประชาชนคนส่วนใหญ่ของประเทศคนธรรมดา กับคนกลุ่ม 1% ที่อะไรก็ได้ไปหมด ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลเลือกตั้งหรือรัฐบาลทหาร จะแบ่งจากตั้งให้เป็นขวาง ถามว่าจะแบ่งได้อย่างไร ถ้าใช้ตัวละครการเมืองแบบเดิมทั้งหมด ไม่มีทาง เราก็คิดว่าต้องเอาพลังแบบใหม่เข้าไป เอาคนใหม่เข้าไป เอาพรรคแบบใหม่เข้าไป เป็นที่มาของการตัดสินใจตั้งพรรคนี้ขึ้นมา

ในเวลานั้น คุณคิดไหมว่าการเอา 1% สู้กับ 99% จะต้องเจอแรงกระแทกแบบมาตรา 112 หรือมาตรา 116 วันนั้นคุยกันอย่างไรบ้าง

มันสัมพันธ์กับช่วงจังหวะเวลาในทางการเมือง แล้วก็บริบทในการเมืองของประเทศไทยด้วย อย่างในต่างประเทศ พอคุณจะสร้างสิ่งที่เรียกว่า ‘ห่วงโซ่แห่งความเชื่อมโยง’ เพื่อให้เป็นชื่อประชาชนร่วมกัน ปัญหาที่คุณจะต้องเจอคือมันหลากหลายมาก ผมมองไปในพรรคก้าวไกลก็จะเจอความหลากหลายอยู่นะ แล้วทำอย่างไรจะรวมกันให้ได้ ยกตัวอย่าง นโยบายขึ้นค่าแรง พวกเอสเอ็มอีจะโวยทันที เพราะมีทั้งปีกแรงงาน และปีกเอสเอ็มอีเรื่องเศรษฐกิจก็มีความเห็นไม่ตรงกันว่าสุดท้ายจะหลอมรวมอย่างไร

แต่ตอนตั้งพรรคเข้ามา ลำบากกว่าตอนนี้เยอะ เพราะตอนนั้นเรามีทั้งคนที่เป็น กปปส. เป็นเสื้อแดง มีคนที่เคยต้านกฎหมายนิรโทษกรรมเหมาเข่ง บางคนก็มีความรู้สึกว่า ถ้าเข้ามาจะยังไม่พูดเรื่องมาตรา 112 ใช่ไหม ถ้าเอาแค่นี้ผมเอาด้วย แต่เกินกว่านั้นผมจะไม่เอา ปัญหามันก็เกิด แล้วพอเยอะขนาดนี้ เราจะรวมคนอย่างไรไปลงเลือกตั้งให้ได้ ในเวลาเดียวกัน กฎหมายพรรคการเมือง กฎหมายการเลือกตั้งมันก็พิสดาร ที่มาบังคับว่าต้องมีสมาชิกทั่วประเทศจังหวัดละกี่คน เพื่อตั้งตัวแทนจังหวัด ตัวแทนสาขา แล้วพรรคอนาคตใหม่ตอนนั้นก็ฝันใหญ่ด้วย แทนที่จะทำแบบที่คนอื่นเขาทำกัน ง่ายๆ เราจะเอาสมาชิกจริงๆ ตัวแทนพรรคประจำจังหวัดจริงๆ วันเปิดพรรคก็จะเอาคนจริงๆ จากทั่วประเทศ 

ถ้าเราทำแบบคนอื่น เราอาจจะขอร้องธนาธรให้ขอคนในโรงงานคุณทั้งหมดมาเป็นสมาชิกพรรคก่อน แต่เราเลือกที่จะไม่ทำ เราก็ไปเอาสมาชิกจากทั่วประเทศมาจริงๆ แล้วเรามีครบทุกจังหวัด เป็นสิ่งที่ภาคภูมิใจมาก

ปัญหาคือถ้าย้อนไปปี 2561 มันไม่แหลมคมเหมือนตอนนี้ หน้าตาผม หน้าตาธนาธร หน้าตาชัยธวัช คนแปะยันต์ไปแล้วว่า ไอ้นี่นิติราษฎร์ ไอ้นี่เคยเสนอแก้มาตรา 112 ปัญหามันก็เริ่มเกิดขึ้นแล้วว่าจะเดินต่อไปอย่างไร

ผมเคยให้สัมภาษณ์กับ The Momentum ไปแล้วว่า ในวันนั้นเป็นการกลืนเลือดที่เจ็บปวดพอสมควร แล้วก็เป็นบทเรียนทางการเมืองของผมด้วย ก็คือในพรรคมีความเห็นว่าต้องให้ผมประกาศให้ชัดว่า จะไม่ทำเรื่องมาตรา 112 ไม่อย่างนั้นจะเดินต่อไม่ได้ พูดง่ายๆ คือในพรรคเนี่ย เขามีความเห็นกันว่า ต้องให้ผมประกาศให้ชัดว่าผมจะไม่ทำเรื่องการแก้ 112 ด้วยเหตุผลที่ว่าไม่งั้นมันเดินต่อไม่ได้

ต้องบอกว่าบริบท ณ วันนี้ กับห้าปีที่แล้วคนละเรื่องกัน

แต่ผมมานั่งประเมิน ในความรู้สึกส่วนตัวผมตอนนั้น ผมก็คิดว่าตอนนั้นผมไม่จำเป็น ยังไม่จำเป็นต้องพูด เพราะต่อให้ผมพูด คนก็คงไม่เชื่อ เพราะมันทำมาแล้ว เคยรณรงค์มาแล้วเมื่อปี 2554 ดังนั้น คนก็คงไม่เชื่อหรอก ก็เดินหน้าต่อไปแล้วเดี๋ยวค่อยว่ากัน แต่ทุกคนจะบอกว่าพูดไม่ได้ พูดแล้วในพื้นที่เดินไม่ได้ จะเจอแรงต้าน จะเจอคนไปร้องคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) 

นั่นจึงเป็นที่มาที่ผมใช้คำว่า ‘กลืนเลือด’ หมายถึงเราต้องทำในสิ่งที่เราไม่อยากทำ ทำในสิ่งที่ขัดกับความเชื่อ ความรู้สึก ความเห็น จิตสำนึกของเรา แต่ต้องทำเพื่อให้มันเดินไปต่อ

อันนี้ถ้าย้อนเวลาได้ ยืนยันว่า ย้อนได้ก็ตั้งพรรคแบบเดิม แต่ผมจะไม่พูดประโยคนี้ออกไป เพราะผมคิดว่าไม่จำเป็น แต่ถึงกระนั้นก็ตาม ถ้าเราลองไปดูนโยบายในพรรคอนาคตใหม่ ผมก็ซ่อนเอาไว้คำหนึ่ง ผมเขียนว่า จะแก้กฎหมายหมิ่นประมาททั้งระบบ ก็ในเมื่อไม่ให้พูดเรื่องการแก้มาตรา 112 ผมใส่คำนี้แล้วกัน ก็ใส่คำนี้เข้าไป ตอนนี้พรรคมันถูกยุบไปแล้วก็เอามาเล่าสู่กันฟังได้ 

นอกจากนี้ เรายังมีเรื่องลบล้างผลพวงรัฐประหาร เรายังมีเรื่องลงนามใน ICC ศาลอาญาระหว่างประเทศ ทีนี้พอมันเข้ามาอยู่ด้วยกัน มันก็ค่อยปรับจูนความคิดกัน คนก็เริ่มเข้าใจมากขึ้น ช่วงแรกหลายคนบอกว่าทำแต่เรื่องเศรษฐกิจก็พอ อย่าเพิ่งทำเรื่องการเมือง เราก็อธิบายพูดคุยกันไปจนหลอมรวมกันได้

ดังนั้น ผมแบ่งเป็นเฟสอย่างนี้แล้วกัน ตัดสินใจปลายปี 2560 จดชื่อพรรค 15 มีนาคม 2561 จนถึงวันเลือกตั้ง ผมเรียกว่าเป็นเฟสที่หนึ่ง คือต้องบินต่ำ เพื่อตั้งพรรคให้ได้ เพื่อรวมคนให้ได้ เพราะเมื่อคุณจะสร้าง Chain of Equivalence มันสร้างยากมากๆ แน่ ถ้ายังติดเรื่อง 112 อยู่ เลยต้องบินต่ำ

พอบินต่ำเสร็จ เข้าสภาฯ ก็ต้องบินต่ำอีก เพราะคุณเจอกฎกติกามารยาทของสภาฯ ไทยเข้าไป มันทำให้หาเบียดจังหวะพูดยาก อะไรต่างๆ แต่พอมันมีโอกาสอยู่หนึ่งช็อต คือพระราชกำหนดโอนกำลังพลฯ ก็ใช้อันนี้ แล้วผมก็ยืนยันในหลายที่ว่า การที่พรรคอนาคตใหม่โหวตไม่เห็นชอบ พ.ร.ก.โอนกำลังพลฯ มันทำให้พรรคแตก เพราะบางคนเริ่มรู้สึก ไอ้ห่าอยู่ที่นี่แม่งตายแน่นอน เริ่มมาคุยกับผมว่า “อย่างนี้ไม่ไหว” ต่อมาพรรคโดนยุบ คนเหล่านั้นก็แยกย้ายกันออก ช่วงพรรคถูกยุบก็เป็นช่วงที่บินต่ำน่าเสียดาย พอเข้าสภาฯ เป็นช่วงที่พยายามหาทางดันเพดานภายใต้ข้อจำกัด แล้วเวลามันน้อยไปนิดหนึ่ง ทำอะไรได้ไม่มาก พรรคก็โดนยุบ 

มาสู่ช่วงถัดไป คือพอพรรคโดนยุบ กระแสของเยาวชนคนหนุ่มสาวคลื่นข้างนอก แล้วขึ้นไปไกลจนถึงปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ เรื่องยกเลิกมาตรา 112 เลย กระแสมันขึ้นสูง พอมันขึ้นสูงปุ๊บ พรรคก็ต้อง คือช่วงแรก ช่วงตั้งพรรคใหม่ พรรคนำมวลชน ในเซนส์ที่ว่าคุณดึงคนอีกกลุ่มที่ไม่สนใจการเมืองเข้ามาสนใจ คุณดึงคนจากหลายสีเสื้อเข้ามารวมกัน แล้วค่อยๆ ขยับประเด็น

แต่พออนาคตใหม่โดนยุบ ข้างนอกขึ้น พรรคตาม ตรงนี้ข้างนอกมันไปไกลกว่าพรรค พรรคต้องวิ่งเกาะตาม จนมาถึงตอนนี้ เลือกตั้ง 2566 ปรากฏออกมาคือพูดกันตรงไปตรงมา กระแสสูงจากข้างนอก ถึงเวลาเลือกตั้ง เขาก็ต้องมียานพาหนะ มันชุมนุมเสร็จแล้วโดนปราบ โดนคดี กระแสมันลง การชุมนุม มันกลับมาเลือกตั้ง 

ดังนั้น มันก็จะเป็นการเอาพลังของข้างนอกมาฝากไว้กับพรรค “เอ้ย ไอ้ห่า! มึงต้องไปต่อ” ก็เลยออกมาเลือกกันถล่มทลาย ผสมกับกระแสเบื่อคุณประยุทธ์ด้วย มันก็พุ่งขึ้นสูงอีกรอบหนึ่ง ตอนนี้เลยต้องคิดอ่านกันว่า สุดท้ายพรรคก้าวไกลในวันนี้จะจัดวาง Positioning ตัวเองอย่างไร โดยเฉพาะในช่วงในช่วงที่กระแสของมวลชนขึ้นสูง แล้วก็ฝากความหวังเอาไว้กับคุณมาก ก็เป็นเฟสต่อไป ตอนแรกเริ่มอ่านลึกๆ ในหัวสมองของคนก่อตั้ง ยาวไปถึง End Game แต่พอมันเริ่มสู้ ก็ต้องดูตามช่วงเวลา ช่วงไหนต้องเดินแบบไหน ซึ่งเรื่องนี้ไม่มีใครเก่งกว่าใคร ไม่มีใครรู้ล่วงหน้า เราไม่ใช่หมอดู ก็วิเคราะห์ประเมินการเมืองถูกบ้างผิดบ้าง

คือมันมีคนบอกว่า อาจารย์ปิยบุตร คุณธนาธร คุณชัยธวัช วางแผนไว้แล้วว่าเป็นแผน 12 ปี แผน 20 ปี ช่วงนี้จะโดนอย่างนี้ก่อน ช่วงนั้นจะโดนอย่างนี้ก่อน ในความเป็นจริงมีการวางแผนมากขนาดนั้นไหม

ไอ้ที่วางแน่ๆ คือยาว เราเชื่อตอนตั้งกันขึ้นมาเนี่ย ไม่คิดว่าลงเลือกตั้งแล้วต้องได้เป็นเลย เพราะถ้าลงเลือกตั้งแล้วอยากเป็นรัฐบาลเลย มีวิธีง่ายที่สุดที่เขาทำกันมา คือไปกวาดเชิญ ส.ส.เก่า เข้ามาให้เยอะ แล้วใช้ทรัพยากรจำนวนมากแบบที่เขาทำกัน เดี๋ยวก็ได้เป็น ผมไม่ได้บอกว่าวิธีนั้นผิดนะ วิธีคุณอาจจะถูกก็ได้ เพราะคุณได้เป็นรัฐบาลเร็ว ของผมเป็นรัฐบาลช้า ไม่มีใครถูกใครผิดเรื่องนี้ 

อยู่ที่ว่า มันมองดาวคนละดวง ก็คุณมองดาวอันนั้น ผมมองดาวอีกดาวหนึ่ง ถูกไหม กลุ่มที่เขาตั้งกันมาเขามองดาวอีกดาวหนึ่งไง แล้วเขาก็ขบขัน เยาะเย้ย ไอ้โง่ ไอ้อ่อน ไอ้กระจอก ไม่รู้จักการเมืองจริงๆ ทำไมไม่รู้เรื่อง อยากเป็นรัฐบาลเร็วๆ มันต้องทำอย่างนี้สิ พี่ถูกพี่ก็ว่าไป แต่พี่มองดาวดวงนั้นไง แต่ผมมองดาวอีกดวงหนึ่ง

พี่มองดาวขอสัมปทานอำนาจรัฐ ซึ่งจะมีเปิดประมูลทุกสี่ปี แต่พวกผมไม่ได้มองสัมปทานอำนาจรัฐเป็นรายกระทรวงที่เปิดประมูลทุกสี่ปี ผมต้องการชิงมาเปลี่ยนประเทศ ดังนั้น วิธีการไม่เหมือนกันอยู่แล้ว พอผมเห็นการเมืองเป็นอย่างนี้ ผมแม่ง ทุบโต๊ะ ถูกต้องแล้ว จะได้ชัดเสียที 

ก็เลยคิดว่าต้องวางยาวสี่ปีแรกฝ่ายค้าน สี่ปีที่สองเอาให้เยอะที่สุด สี่ปีที่สามอาจจะได้ร่วม สี่ปีสุดท้าย เราเป็นรัฐบาลพรรคเดียว พอดีรอบนี้มันมาเร็ว เร็วเกินคาด คือดันไปได้ที่หนึ่งเลย พอได้ที่หนึ่งก็ต้องมีโอกาสจัดตั้งรัฐบาล คือเขารับอาณัติจากประชาชน พอประชาชนเลือกคุณมา 14.4 ล้านเสียง 151 ส.ส. อยู่ดีๆ คุณประกาศ “ขอโทษพี่น้องด้วยครับ ผมรู้ว่าระบบอำนาจการเมืองไทยตอนนี้เป็นอย่างไร ดังนั้น ผมขออนุญาตไม่จัดตั้งรัฐบาลครับ” มันได้ไหมล่ะ มันเป็นไปไม่ได้ ถ้าเป็นอย่างนั้น ประชาชนโห่ใส่ แล้วกูเลือกมาทำไมวะ เขาเลือกคุณมาขนาดนี้คุณก็ต้องทำหน้าที่ ต้องทำให้ถึงที่สุด แต่ พอทำให้ถึงที่สุดแล้วก็ไม่ได้กลับมาสู่จุดเดิมของเรา ยังต้องเตรียมทำงานต่อ ถ้าได้ คุณก็ได้โอกาสประลองฝีมือ ได้โอกาสแสดงผลงานให้เห็น 

ดังนั้น สำหรับผม มองจากคนนอกเข้าไปนะ ผมมองว่าไม่เห็นพรรคก้าวไกลจะต้องมีความกังวลใจอะไรเลย มีแต่บวกกับบวก คุณไปเป็นรัฐบาลคุณก็ได้แสดงฝีมือตามที่คุณหาเสียง แล้วผมก็เชื่อด้วยว่าเขาทำได้ดีแน่นอน

ผมมีโอกาสได้ไปคุยกับเพื่อนพี่น้องในก้าวไกล ที่หลายคนเขาวางตัวจะเป็นรัฐมนตรีกัน โอ้โห เขานั่งเล่าให้ฟัง มันมีโครงการสารพัดอย่าง เอาแค่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ถ้าเท้ง (ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ ส.ส.พรรคก้าวไกล) ได้เป็นรัฐมนตรี แป๊ปเดียวรู้เรื่องเลย จะเห็นความเปลี่ยนแปลงทันที

ผมเชื่อว่าตอนนี้มันค่อยๆ Groom ความคิดกันเข้ามาหมดแล้ว ว่าใครมาอยู่ก้าวไกล ถ้าฝันอยากเป็นรัฐมนตรีไวๆ อยากเป็น ส.ส.หลายสมัย ก็ไปอยู่ที่อื่นครับ อยู่ที่นี่มันเป็นอย่างนี้อยู่แล้ว ผมเชื่อว่า คนที่เข้ามาเริ่มรู้แล้ว ดังนั้น มันยาวแน่นอน แต่ไอ้ส่วนประเภทวางแผนเหมือนที่เค้าเรียกพวก ทฤษฎีสมคบคิด (Conspiracy Theory) มันลึกซึ้งเกินไป แล้วคงไม่ใช่ขนาดนั้น

ถ้าไม่นับความสำเร็จของก้าวไกลครั้งนี้ ย้อนไปอนาคตใหม่ หลายๆ คนก็บอกว่า เพราะว่าอนาคตใหม่โตเร็วไป ประสบความสำเร็จมากเกินไป เลยทำให้จบเร็ว รวมถึงยุบพรรค มันเป็นเช่นนั้นไหม

สิ่งที่การเมืองไทยแตกต่างคือ ยังไม่ได้เป็นประชาธิปไตยในระบบรัฐสภาที่ตั้งมั่น คือยังมีศาลรัฐธรรมนูญ มีองค์กรอิสระ ที่มีโอกาสจัดการตลอดเวลา ที่เรียกว่า ‘นิติสงคราม’ ยังมีอยู่ตลอดเวลา ในขณะเดียวกัน การออกแบบระบบพรรคการเมือง กฎหมายพรรคการเมืองของเราก็ไม่เป็นคุณต่อการทำพรรคการเมืองแบบนี้ เช่น อยู่ดีๆ จะลงเลือกตั้ง เราก็จำเป็นจะต้องหาผู้สมัครเลือกตั้งให้เร็ว ให้ครบ

ตอนปี 2562 คุณขาดไปเขตหนึ่ง เท่ากับว่าคนอยากเลือกคุณก็ไม่มีบัตรให้กา หนึ่งถึงสองหมื่นคะแนน ไฟลต์บังคับของอนาคตใหม่ถึงต้องหาให้ครบ 350 เขต ขณะเดียวกัน ยังเป็นช่วงที่ คสช.ยังครองอำนาจ แล้วคุณก็ออกระเบียบ คำสั่ง คสช.บ้าบอคอแตกเต็มไปหมด ไม่ให้ทำกิจกรรมทางการเมืองเลย 

ตอนนั้นผมตั้งพร้อมกับพลังประชารัฐ ใกล้ๆ กัน ผมไปจดชื่อก่อนพลังประชารัฐด้วย พลังประชารัฐแป๊บเดียวได้แล้ว แล้วผมก็สงสัยพวกคุณไปเอาเงินเอาทองมาจากไหนในพรรคเนี่ย ผมจะเปิดรับบริจาค เตรียมทำแรลลี ทำแอปพลิเคชันให้คนโอนเงินบริจาค เตรียมเรียบร้อย พอเริ่มขายวันแรก กกต.โทร.มาเลย วันนั้น ผม ธนาธร คุณช่อ Road Show อยู่ญี่ปุ่น ไปพูดกับคนไทยที่ญี่ปุ่น ติดต่อมาเลยว่า เอาเงินไปคืนให้หมด ห้ามขาย ห้ามระดมทุนทั้งสิ้น เพราะอยู่ในช่วงห้ามทำกิจกรรมการเมือง ผมก็อ้าว แล้วกูจะทำไงวะเนี่ย เราก็รู้ละว่าพรรคอื่นทำอย่างไร เจ้าของพรรคอื่นเขาทำไงก็รู้ แต่เราไม่อยากทำแบบนั้นไง

เราอยากจะระดมคน อยากจะสมัครสมาชิก อยากจะขายสินค้าที่ระลึก โอ้โห ไปเจอกฎระเบียบ กกต. ไอ้นั่นก็ไม่ได้ ไอ้นี่ก็ไม่ได้ บริจาคยังต้องมีใบเสร็จทุกใบ เซ็นกันจนมือหงิก แล้วถึงวันนี้นะ ได้กองทุนพัฒนาการเมืองมา ที่พวกเราใส่เลข 164 ให้พรรคก้าวไกล จนได้ที่หนึ่งตลอดติดต่อกัน เงินก้อนนี้ก็ไม่ได้ยกให้ก้าวไกลทั้งหมด บอกแต่ว่ามีวงเงินเท่านี้ อยากใช้อะไรก็ส่งโครงการมา แล้ว กกต.จะตรวจทุกอัน นั่งเฝ้าด้วยว่าทำอะไรได้หรือไม่ได้ กลายเป็นได้อย่างเดียว คือจัดสัมมนา

แล้วตอนนั้นเรายังไม่รู้อีกว่า ลุงตู่จะให้เลือกตั้งเมื่อไร เราก็เริ่มเปิดรับสมัครคนลง ส.ส.ในเดือนมกราคม 2562 กลายเป็นว่าได้เลือกตั้ง มีนาคม 2562 ซึ่งผมไม่มีเวลาคัดกันจริงๆ เลย ถ้าพูดตรงๆ แล้วถ้าเป็นระบบแบบ 400/100 แบบนี้นะ ผมเลือกไม่ส่งบางเขตก็ได้ แต่มันไม่ได้ เพราะเป็นบัตรใบเดียว เลยต้องลากกันส่งให้หมด ก็ต้องหาให้ครบ รู้สึกตอนนั้นขาดไปสองเขตมั้ง

อันนี้ต้องยอมรับ ก็ทำให้ที่คนบอกว่าโตเร็ว ผมคิดว่ามันไม่ใช่เรื่องโตเร็ว ในเซนส์ของการที่ว่าได้แปดสิบคน แล้วบริหารจัดการไม่ถูก แต่เป็นเรื่องที่พอเราใหญ่ขึ้น ในขณะที่เราไม่ได้คัดผู้สมัครมาจริงๆ ไม่มีโอกาสได้คัดกันแบบสุดๆ ประกอบกับทฤษฎีชี้นำของเรา ที่เราต้องการหลอมรวมทุกคนเข้ามา พอหลอมรวมปุ๊ป แปปเดียว หกเดือนก็เลือกตั้ง มันยากมากที่จะทำให้คนเชื่อได้แบบเดียวกันทั้งหมด

ถือว่าเวลาน้อยมาก

วันนั้นก็คิดอ่านกันนะว่า ช่วงนั้นคดีมันเข้ามาสองคดี พอคดีแรกเข้ามาปุ๊ป เราก็เริ่มคิดกันในหมู่อนาคตใหม่แล้ว แต่คดีแรกไม่ได้ยุบพรรคไง คดีที่สองถึงจะยุบ ก็ต้องนั่งคุยกันว่า ถ้าจะไปตั้งกันใหม่ ใครจะต้องขึ้นมานำ 

ตอนนั้น ต้องให้เครดิตกับผู้นำของพรรคก้าวไกล เขาโดนมรสุมเยอะ จากแปดสิบคน ลดฮวบมาเหลือห้าสิบคน ระหว่างทางออกไปอีก โควตาต่างๆ กรรมาธิการก็หายเพียบ แต่ถึงกระนั้น เขาก็ยังรักษามาตรฐานการทำงานในสภาฯ ได้ดี คือเพดานมีแบบนี้ แต่เขาก็ไต่เพดานขึ้นไป ทำผลงานจนได้รับการยอมรับ

ถ้าหากพรรคการเมืองอื่นๆ ที่แข่งกับพรรคก้าวไกลในเวลานี้ ย้งเชื่อว่าพรรคก้าวไกลชนะเพราะมีไอโอ ยังเชื่อว่าเพราะพรรคก้าวไกลมีเอเจนซีโฆษณามาทำให้ ครั้งหน้าคุณก็จะแพ้พรรคก้าวไกลอีก ครั้งต่อๆ ไปคุณก็จะยังแพ้

ถ้าเชื่อกันแบบนี้ก็เชิญคุณเอางบประมาณไปจ้างไอโอ เชิญเอางบประมาณไปจ้างเอเจนซี่โฆษณามา แล้วเดี๋ยวคุณก็จะเสียเงินฟรีๆ สำหรับผม ก้าวไกลชนะด้วยการสื่อสารแน่นอน แต่การสื่อสารจะไปได้ต้องมีคอนเทนต์ ถ้าคุณมีมือสื่อระดับโลกมาทำให้มันก็ไม่ได้ มันไม่มีคอนเทนต์ แล้วคอนเทนต์เดี๋ยวนี้ ประชาชนเข้าไปดูเองได้หมด สืบค้นกันได้หมด

สำหรับคอนเทนต์จากนักการเมือง ที่สำคัญที่สุดคือต้องตรงไปตรงมา ชัดเจนไม่เปลี่ยน วันนั้นพูดอย่างไร วันนี้พูดแบบเดิม เพราะถ้าเปลี่ยนไปมา ชุดวิธีคิดแบบเดิมๆ ยิ่งเก๋ายิ่งเท่ เก๋าเกมทางการเมืองนั้นอาจจะขายได้ในรุ่นหนึ่ง แต่ผมเชื่อว่าตั้งแต่การเลือกตั้งปี 2566 จนถึงการเลือกตั้งครั้งต่อไป มันขายไม่ได้แล้ว คนเขาจะรู้สึก มันกลายเป็นฉลาดแกมโกง ทำไมคุณไม่ตรงไปตรงมากับประชาน 

ดังนั้น ที่พรรคก้าวไกลชนะเลือกตั้ง ต้องให้เครดิตเขาในเรื่องของงานสภาฯ อีกเรื่องคือจุดยืน ความชัดเจน

ระบบการเมืองไทยออกแบบให้ต้องมีพรรคร่วมรัฐบาล ต้องเป็นรัฐบาลผสม การที่พรรคอนาคตใหม่ พรรคก้าวไกล ออกแบบมาโดยที่บอกว่า ไม่เอาพรรคการเมืองดั้งเดิม ทำให้พรรคก้าวไกลไม่มีเพื่อน หรือปิดโอกาสในการทำงานกับพรรคการเมืองอื่นหรือไม่

เป็นคำศัพท์นะ ผมว่าการร่วมมือการตั้งรัฐบาลมันคือพันธมิตร Alliance มันก็ตรงตัวนะ คือไปเชื่อมกัน คือมาเป็นมิตรกันโดยมีพันธะ โดยร่วมกัน เราร่วมกันเพื่อจะทำอะไรบางอย่าง แต่ไม่ได้หมายความว่า ทุกอย่างต้องเหมือนกัน ต้องคิดเหมือนกันหมด แต่คือร่วมกันด้วยภารกิจเฉพาะหน้า ผมเชื่อว่า พรรคก้าวไกล เขาพร้อมเป็นพันธมิตรกับหลายพรรคในการตั้งรัฐบาล แต่ถามว่าจะให้เขาเหมือนกันไปหมด ถ้าอย่างนี้ก็ไปอยู่พรรคเดียวกัน

พรรคเดียวกันอาจจะเห็นไม่ตรงกันก็ได้ อย่างที่คุณบอกตอนแรก 

เวลาเราพูดถึงการเมืองหรือความเป็นการเมือง ขึ้นชื่อว่าความเป็นการเมืองมันต้องขัดแย้ง ดังนั้น ใครบอกห้ามขัดแย้ง สลายขัดแย้ง อันนี้เตรียมสร้างฉันทมติปลอม คือมันต้องขัดแย้ง เพราะการเมืองมันคือเรื่องของอำนาจในที่สาธารณะ มันเป็นไปไม่ได้ที่คุณจะบอกว่าคุณกลุ่มหนึ่งกับคนกลุ่มหนึ่งจะเห็นตรงกันหมด

ดังนั้น เวลาต้องการมีอำนาจสาธารณะเพื่อไปตัดสินใจในเรื่องสาธารณะ ก็ถือเป็นธรรมดาที่ต้องมีความขัดแย้ง แล้วการขัดแย้งมันจะมีขัดแย้งลักษณะที่แบบเป็นคู่กันแย้งในทางการเมือง ถึงเวลาก็เข้าอกเข้าใจ ร่วมมือกันได้ กับขัดแย้งอีกแบบหนึ่ง คือขัดแย้งจนลงรอยกันไม่ได้เลย ก็ต้องไปดูวิธีคิดว่าเป็นอย่างไร ก็ต้องออกแบบวิธีคิดดูว่าอะไรที่จะขัดแย้ง ถึงขั้นที่ชีวิตนี้มันไม่ลงรอยกันหรอก มันต้องรบกันไปให้จบข้างหนึ่ง 

ตอนปี 2562 ก็คือพรรคเพื่อไทย แล้วเบ้าหลอมหลายอันมันก็คล้ายกันด้วย หมายถึงเคยมีโหวตเตอร์จำนวนมากที่เชียร์พรรคไทยรักไทย พลังประชาชน เพื่อไทย จำนวนมาก มาอยู่ที่ก้าวไกลปัจจุบัน แต่พอตั้งรัฐบาลรอบนี้เสร็จ ผมเชื่อว่ามันขยับแล้ว จะกลายเป็นชุดใหม่ ดังนั้น คำว่า ‘ฝ่ายประชาธิปไตย’ ในเครื่องหมายคำพูดที่พูดกันมา มันจะหายไปแล้ว จะกลายเป็นเส้นแบ่งชุดใหม่ ผมไม่อยากเรียก 99% กับ 1% แต่คิดเอาแบบหลวมๆ เร็วๆ ก็คือ ‘เก่า’ กับ ‘ใหม่’ ก็คือชนชั้นนำทางการเมืองแบบ Traditional Political Elite ทั้งหมด จะไปกองอยู่ตรงนี้ กับอีกกลุ่มก็คือ กลุ่มของก้าวไกล 

กลุ่มแรก ผมนั่งดูปุ๊ป คุณลุง คุณอา คุณลุง คุณอาหลายคน เป็นรัฐมนตรีตั้งแต่ผมยังเรียนมหาวิทยาลัย คนเหล่านี้ก็ยังเป็นรัฐมนตรีอยู่ ฝ่ายหนึ่งก็จะบอกว่าดีแล้ว สลายความขัดแย้งกลับไปแฮปปี้เอนดิงได้ แต่ปี 2548-2566 มันมีเลือดเนื้อประชาชน มีคนบาดเจ็บล้มตาย ผลกระทบจากวิกฤตการณ์ทางการเมืองไทย ไม่รู้กี่ครั้งกี่หน 

แล้วความคิดของคนมันขยับขึ้นหน้าไปแล้ว ดังนั้น คุณจะย้อนกลับไปแบบเดิมมันเป็นไปไม่ได้ ถ้าใครจำได้ วันที่ผมปราศรัยที่สามย่านมิตรทาวน์ ผมบอกว่า การเลือกตั้ง 2566 มีสองกลุ่ม กลุ่มหนึ่งอยากจะย้อนกลับไปปี 2520 คือพวกนี้อยากเป็นประชาธิปไตยครึ่งใบ ที่ทหาร-ข้าราชการบงการได้ กับอีกกลุ่มคือต้องการกลับไปรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 มีรัฐบาลเข้มแข็ง ทำผลงานทางเศรษฐกิจได้ ส่วนก้าวไกลคือไปข้างหน้า ไม่ต้องคิดถึงความสำเร็จในอดีตแบบเดียว คิดเพื่อเป็นบทเรียน เป็นประสบการณ์ได้ แต่ไม่จำเป็นที่จะต้องกลับไปเป็นแบบนั้น โลกมันหมุน คนมันเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ดังนั้น พอมาถึงรอบนี้ ผมจึงมีความเห็นว่า ถ้าต้องทำงานกับใครก็ตาม แล้วตามมาด้วยเรื่องของการต้องลูบหน้าปะจมูก พวกผมจะออกมาตั้งพรรคกันทำไม ก็อยู่ด้วยกันให้หมด ก็คุยภาษาเดียวกันให้รู้เรื่อง ตรงกันข้าม ทำแบบนี้ บ้านนี้เมืองนี้มันจะได้ขยับขึ้นเหมือนประชาธิปไตยในที่อื่นๆ ที่พรรคการเมืองมันชัดว่ามันอยู่ไอเดียแบบไหน เวลาเลือกตั้งคุณรู้ว่าเลือกเสร็จเป็นอย่างไร แต่เดี๋ยวนี้คุณเลือกแล้วอย่างไร ไม่เห็นมันต่างกันอย่างไรก็ไปรวมกันหมดเลย 

อย่างน้อยรอบนี้ เพื่อไทยเป็นรัฐบาลกับกลุ่มนี้ แล้วก้าวไกลเป็นค้าน คุณก็จะเริ่มเห็นความไม่เหมือนกันแล้ว แล้วถ้าสองพรรคนี้เป็นสองพรรคใหญ่ต่อไป มันก็จะเกิดการแข่งขัน กลุ่มหนึ่งมีแนวนโยบายเศรษฐกิจอีกแบบหนึ่ง เช่น พรรคเพื่อไทย เขาต้องการทำเค้กให้ชิ้นใหญ่ก่อน แล้วค่อยมาแบ่ง แต่ก้าวไกลเขาคิดอะไร เขาจะขยายเค้ก พร้อมกับแบ่งให้เป็นธรรมไปเรื่อยๆ พร้อมกัน อันนี้นโยบายเศรษฐกิจ สังคม มันเริ่มไม่เหมือนกันแล้ว เริ่มชัด ทางนี้จะสร้างสวัสดิการทั่วหน้า อีกทางจะทำเศรษฐกิจให้ใหญ่ก่อน ต่อไปจะได้รวยกัน 

แบบนี้คุณภาพประชาธิปไตยมันดีขึ้นไหมล่ะ ผมก็เชื่อว่าเพื่อไทยก็คงจะไม่ไปเชียร์อำนาจนอกระบบ ไม่เชียร์รัฐประหารอยู่แล้ว ก้าวไกลเป็นฝ่ายค้านให้ตายก็ไม่มีวันเชียร์ทหารหรอก วันนี้สู้เพื่อไทยไม่ได้ ถ้างั้นเราสนับสนุนให้รัฐประหารออกมา ไม่มีทาง ถ้ามันเป็นอย่างนี้ได้ก็สวยสิ ในปี 2570 ก็แข่งกัน ประชาชนก็มีทางเลือกทั้งสองแบบ ขออย่างเดียว อย่ามีอำนาจนอกระบบมาตัดตอนอีกแล้วกัน มันน่าจะกำลังไปในแบบนี้

ถ้าพูดถึงบรรยากาศของสังคมภาพรวมทางการเมือง ความตื่นรู้ของประชาชนในช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมา นับตั้งแต่อนาคตใหม่จนถึงวันนี้ วันที่ก้าวไกลได้คะแนนเสียงมากที่สุดในสภาฯ คุณมองว่าความคิดคนเปลี่ยนไปขนาดไหน

รอบนี้ผมเชื่อว่าเปลี่ยนแรงด้วยนะ แรงมากกว่า มันสะสมกันมา ผมเชื่อว่าคนจำนวนมาก อดทนกับที่เราเรียก ‘ระบอบประยุทธ์’ มานานมากแล้ว ปี 2562 เขาก็เลือกไปแล้ว สุดท้ายคุณก็เจอ ส.ว. แล้วคุณก็ทนกันมา เจอโควิด-19 เจอพรรคอนาคตใหม่โดนยุบอีก พอเลือกตั้ง 2566 ก็ยังแบ่งกันเป็นสองก้อน คือก้าวไกลกับเพื่อไทย แล้วพอตั้งรัฐบาลก็โดนจับแยกจากกัน สุดท้ายก้าวไกลเป็นฝ่ายค้าน เพื่อไทยเป็นรัฐบาล

ผมคิดว่าจากนี้ การเมืองไทยจะแหลมขึ้นเรื่อยๆ เพราะวันนี้มวลชน ความคิดจิตใจของประชาชนขยับขึ้นสูง เมื่อก่อน พอมวลชนขยับขึ้นสูง การเมืองในระบบรัฐธรรมนูญ ระบบรัฐสภา ระบบผู้แทนต้องมีตัวแทนเข้าไปทำ ไม่มีแพลตฟอร์ม แต่วันนี้เขามีแพลตฟอร์ม และก้าวไกลก็พร้อมเป็นแพลตฟอร์มได้ แล้ววันนี้เขาเชื่อว่า ก้าวไกลไปได้ แต่ถ้าวันไหนก้าวไกลห่วยแตก เขาก็ไปหาพรรคอื่นฝากไว้ให้เหมือนกัน ดังนั้น รอบนี้มันจะแหลมคมขึ้นเรื่อยๆ เมื่อก่อน ถ้าพรรคไม่ตอบสนองคุณ คุณก็แยกย้ายกลับบ้านไปทำงาน หรือถ้าสมัยก่อนเป็นการเมืองมวลชน มันก็จะเป็นประเด็นแค่เรียกร้องเป็นเรื่องๆ ราคาพืชผลการเกษตร ราคาน้ำมัน มันก็จะเป็นแบบนั้น แต่ตอนนี้พอมันขึ้นประเด็นใหญ่ในเชิงโครงสร้างทั้งระบบ ถ้าเขาพร้อมมีพรรคที่จะเคลื่อนให้แบบนี้ มันจะแหลมคมขึ้นเรื่อยๆ ทั้งในและนอกสภาฯ

เพียงแต่ว่าจุดท้าทายของพรรคก้าวไกลตอนนี้ คือเขาน่าจะต้องฝ่าเคลื่อนคมหอกคมดาบรอบนี้ เพราะว่าตอนนี้พูดจริงๆ คือน่าจะเกิด Consensus ร่วมกันของนักการเมืองไทย พรรคการเมืองไทย กลุ่มก้อน Political Elite ไทยดั้งเดิมทั้งหมดแล้วว่า อย่างไรก็ตามคงไม่มีก้าวไกล ก็อยู่ตรงที่ว่าจะโดนบดขยี้ขนาดไหน แต่ผมก็เชื่อว่า เขาผ่านแรงเสียดทานมาแล้ว ต่อให้เขาโดนบดขยี้อย่างไรก็ตาม ความคิดนี้มันอยู่ สมมติคุณโดนบดขยี้จนพรรคถูกยุบ เดี๋ยวเขาก็ไปสร้างกันใหม่ ไอ้ความคิดนี้มันก็จะไปต่อ ไปต่อไม่พอมันก็จะแรงขึ้นด้วย ผมเชื่อว่าเขาน่าจะผ่านประสบการณ์เรื่องเหล่านี้แล้ว น่าจะเอาตัวรอดไปได้ ก็มีความเป็นห่วงที่ผมมีก็แค่นี้ มันจะทนทานแรงเสียดทานในช่วงนี้ได้ขนาดไหน

ส่วนตัวคุณในฐานะหนึ่งในผู้ก่อตั้งพรรค เป็นคนเริ่มเดินในการเปลี่ยนแปลงนี้ มองย้อนกลับไป การเดินทางไปถึงไหนแล้ว

ถ้าให้ประเมิน มันมาเร็วกว่าที่คิด มันใช้เวลาประมาณห้าปี ตอนแรกผมคิดว่า ต้องใช้เวลานานกว่านั้น นี่มาห้าปี ผมว่าไปได้ครึ่งหนึ่งแล้วนะ ครึ่งหนึ่งในความรู้สึกของผม คือไม่ใช่เรื่องของธนาธร ไม่ใช่เรื่องของผม ไม่ใช่เรื่องของชัยธวัช หรือของพิธา หรือใครอีกแล้ว แพลตฟอร์มนี้เกิดขึ้นแล้ว แล้วก็มีชุดความคิดกำกับ พอผ่านไปได้ ต่อให้คุณยุบกี่ครั้ง ตัดสิทธิไปกี่คน หรือต่อให้พวกผมเลิกทำไปเลย มันจะทำให้อาวุธลับของผู้มีอำนาจ ไม่ว่าจะยุบพรรรค ไม่ว่าจะตัดสิทธิ มันทำงานไม่ได้

หรือถ้าคุณหยิบมาใช้ ในที่สุด คุณก็จะเสียต้นทุนมหาศาล ในขณะเดียวกัน คุณฆ่าเขาไม่ตาย เดี๋ยวเขาก็เกิดใหม่อีก แล้วจะมีเจเนอเรชันใหม่เติมขึ้นมาเรื่อยๆ

ผมเชื่อว่าพอคุณเซ็ตแพลตฟอร์มได้แล้ว พอคุณมีความคิดกำกับ เดี๋ยวคนก็มา แล้วความคิดนี้ มันกลายเป็นความคิดกระแสหลัก การทำงานทางความคิดมันสำคัญกว่าการใช้กำลัง ต่อให้คุณเป็นทหารยึดอำนาจไป แต่คุณยึดความคิดคนไม่ได้ คุณมีอาวุธครบมือเลย คุณมีศาล ทหาร คุก ตำรวจ จัดการใครก็ได้หมด แต่คุณยึดความคิดคนไม่ได้ คุณก็ได้อำนาจไปชั่วคราว 

แต่ก้าวไกลวันนี้ยึดอำนาจรัฐไม่ได้ เพราะไม่มีอาวุธ ไม่มีกลไกรัฐ ไม่เคยเป็นรัฐมนตรี สั่งข้าราชการไม่ได้ ยุ่งกับศาลก็ไม่ได้ ทุกอย่างพร้อมสกรัม แต่สิ่งหนึ่งที่ก้าวไกลได้มาเรียบร้อยแล้ว คือความคิด พอความคิดมันไป ต่อให้กี่คนล้มหายตายจากหรือรีไทร์ไป มันจะไปต่อของมันเอง 

ดังนั้น ผมเลยว่ามันมาครึ่งทางคือตรงนี้แหละ ไอ้สงครามทางความคิดมันกลายเป็น Battle of Ideas ไปแล้ว แล้วเดี๋ยวจะไปต่อเรื่อยๆ ยิ่งโดนบดขยี้ยิ่งไปอีก หลายคนร้องห่มร้องไห้เสียใจ “โอ้ พิธาไม่ได้เป็นนายกฯ ก้าวไกลไม่ได้เป็นรัฐบาล โดนรุมกระทำ” แต่ผมก็อยากให้กำลังใจ คณะผู้นำพรรคก้าวไกลทั้งหมด ผมว่ามองเกมระยะยาว 

จงภูมิใจกับการที่ทุกท่านออกไปใช้สิทธิใช้เสียง แล้วก็จงภูมิใจกับการตัดสินใจในการเดินเส้นทางทางการเมืองแบบนี้ ผมว่าข้างหน้ามีแต่หนทางสดใส ผมรอลุ้นเต็มที่ อยากให้มีพรรคแบบนี้ที่เป็นความคิดอีกข้างขึ้นมาสักทีหนึ่ง มันจะได้แข่งกันสนุก แต่ผมเชื่อว่าจะยังไม่มี ส่วนก้าวไกลเขาก็จะต้องประคองสถานการณ์แล้วก็เดินหน้าต่อไปให้ได้ ผมเชื่อว่ามาครึ่งทางแล้ว ถึงวันนั้น วันที่มีอำนาจแล้วเปลี่ยนแปลงได้จริง คนรุ่นผมก็จะหมดเวลาไป แต่รุ่นต่อๆ ไป อย่างน้อยมันก็จะมียานพาหนะให้คุณใช้ขับเคลื่อนในทางการเมือง พรรคการเมืองที่เราคิดอ่านฝันตั้ง เราอยากให้เป็นพรรคแบบนี้ที่ไม่ใช่มีใครเป็นเจ้าข้าวเจ้าของ แต่ละคนก็เข้ามาได้ในการแสดงออก ช่วงที่ผมไปหาเสียงผมได้เห็นแกนนำรุ่นใหม่ๆ ส.ส.รุ่นใหม่ๆ เข้ามา โอ้โห เห็นแล้วก็รู้สึกว่ามันไปต่อได้จริงๆ หลายเรื่องเมื่อก่อนผมเคยคิดนะว่า ผมออกไปจากสภาฯ แล้ว เดี๋ยวจะเดินต่ออย่างไร แต่เดี๋ยวนี้สบายเลยนะ ผมยังนั่งคิดว่าผมไม่ต้องกลับไปเป็นเลยนะ ผมพ้นโทษมาผมไม่ต้องไปเป็นอะไรแล้ว นั่งดูอยู่อย่างนี้ แล้วก็วิเคราะห์วิจารณ์กันไป น่าจะเป็นประโยชน์ รุ่นหลังๆ เขาทำผลงานได้ดี แล้วยิ่งเจอมรสุมเท่าไร เขาจะแข็งแกร่งขึ้นเรื่อยๆ แล้วก็พร้อมที่จะเดินทางต่อไปให้ถึงเป้าหมาย ถึงเส้นชัย 

ทั้งหมดนี้คือการมองโลกในแง่ดีว่า มันจะไม่มีอำนาจนอกระบบหรือฝ่ายอนุรักษนิยม จะมาทุบด้วยวิธีอื่นๆ

ต่อให้มีเนอะ แล้วอย่างไรต่อ คือจะยึดแบบพม่าแบบยาวๆ เหรอ ผมเชื่อว่าประเทศไทยไม่พร้อม ยึดยังไงเดี๋ยวคุณก็กลับไปเลือกตั้งอีก จะทุบให้ตายแล้วไง ห้ามไอ้คนกลุ่มนี้ตั้งพรรคเหรอ อย่างไรไม่มีคนนามสกุลผมลงอยู่แล้ว คนนามสกุลอื่นๆ ของแกนนำคงไม่มาลง แต่มันหลากหลายคนมาก มันไม่ใช่ของ Family ใด Family หนึ่ง คุณยุบเสร็จ ตัดสิทธิเสร็จแล้วอย่างไรต่อ เดี๋ยวคุณก็จะเจอคนรุ่นต่อไปยังไง

ผมเลยว่ามันมีแต่ทางที่จะไป ทางเดียวที่จะหยุดก้าวไกลคือฝ่ายอนุรักษนิยมทั้งหมดต้องยอมรับความเป็นจริงแล้วสู้กันอย่างนี้ แล้วคุณไปตั้งพรรคแบบนี้ขึ้นมา ไปหาคนมา หลายคนในก้าวไกลวันนี้อาจเป็นอนุรักษนิยม แต่มันไม่มีพรรคสมัยใหม่ให้เขาอยู่ เลยต้องมาอยู่ที่นี่ แต่ถ้ามีที่ไป เขาอาจจะไปก็ได้ ถ้าไปอยู่ได้ ทำอันนี้ขึ้นมาได้ อำนาจนอกระบบก็จะค่อยๆ เฟดตัวออก ทำให้การแข่งขันมันเป็นไปอย่างเป็นธรรม ถ้าคุณอยากยังมีอำนาจอยู่ คุณก็ส่งคนไปอยู่ในพรรคอื่นๆ แล้วก็แข่งกันไปให้มันเป็นแบบนี้ การเมืองจะได้เดินหน้าได้

Fact Box

  • b-holder Podcast EP 37 “เรามาได้ครึ่งทางแล้ว” เส้นทาง ‘อนาคตใหม่’ กับปิยบุตร แสงกนกกุล ออกอากาศเมื่อวันที่ 9 กันยายน 2566 สามารถชมได้ทาง https://youtu.be/e3u_RU26XOw

Tags: , , , ,