“หน้าเกาหลีเกาใจมาก”
“หน้าอินเตอร์ สายฝอสุด”
“หน้าปลาร้า”
ลองจินตนาการว่าคุณโพสต์รูปตัวเองลงบนอินสตาแกรมแล้ว ได้รับ 3 คอมเมนต์นี้ คุณจะรู้สึกโกรธความเห็นใดเป็นพิเศษหรือไม่ ความเห็นไหนเป็นคำชื่นชม ความเห็นไหนเป็นคำดูถูก
คนส่วนใหญ่น่าจะตอบได้ไม่ยากว่า ‘หน้าปลาร้า’ ให้ความรู้สึกเชิงลบชัดเจน ซึ่งหากชีวิตจริงเดินไปพูดกับใครเช่นนี้อาจมีเรื่องกันได้ ส่วน ‘หน้าเกาหลี’ และ ‘หน้าสายฝอ’ ฟังดูเหมือนคำชม ได้ยินแล้วปลื้มปริ่มคล้ายกับเวลาโดนบอกว่าสวยมากกว่า
คำถามคือ เพราะอะไร คนไทยหลายคนมักนำปลาร้า ลาบ หรือสิ่งต่างๆ ที่แสดงถึงความเป็นไทยมาใช้แทนคำเหยียดหยาม ในขณะเดียวกัน กลับยกย่องสหรัฐอเมริกา ยุโรป และเอเชียตะวันออกราวกับพระเจ้า
คงไม่สามารถตอบประเด็นนี้ให้ครบถ้วนในประโยคเดียวหรือในบทความเดียวได้ เพราะเป็นประเด็นที่ซับซ้อนหลายมิติ แต่อย่างน้อยที่สุด ประการแรก เราต้องเริ่มจากเรียนรู้สิ่งที่เรียกว่า ‘Internalized Racism’ เสียก่อน
Internalized Racism คืออะไร
หลายคนทราบดีอยู่แล้วว่า Racism หมายถึงการเหยียดเชื้อชาติ เช่น ตำรวจใช้ความรุนแรงกับคนดำเกินกว่าเหตุเพราะอคติส่วนตัว คนขาวทำตาตี่ล้อเลียนเมื่อเห็นคนเอเชียเดินผ่าน การเหยียดเชื้อชาติอยู่คู่สังคมโลกมาเนิ่นนาน แทรกซึมผ่านทางวัฒนธรรม การศึกษา กฎหมาย ฯลฯ กลายเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่ฝังรากลึก
ส่วน Internalized Racism แปลตรงตัวได้ว่า การเหยียดเชื้อชาติที่ถูกซึมซับเข้าสู่ภายใน หรือหากอธิบายให้ครอบคลุมกว่านั้น คือการที่ผู้ถูกกดทับทางเชื้อชาติ (Racially Oppressed) ซึมซับแนวคิดจากผู้กดทับ (Oppressor) และนำแนวคิดเหล่านั้นมาเหยียดเชื้อชาติตัวเอง
ย้อนกลับไปยังสถานการณ์สมมติของเรา คนไทยคอมเมนต์ชมกันด้วยวลี ‘หน้าสายฝอ’ แต่คอมเมนต์ด่ากันว่า ‘หน้าปลาร้า’ สาเหตุหนึ่งเพราะซึมซับแนวคิดขาวเป็นใหญ่ (White Supremacy) มาจากสื่อต่างๆ จนทำให้เชื่อว่า คนขาวหรือฝรั่งนั้นมีชาติกำเนิดสูงส่งกว่า มีคุณค่าความเป็นมนุษย์มากกว่าคนไทยด้วยกัน
ไม่เพียงเท่านั้น หากสังเกตดูดีๆ การเหยียดเชื้อชาติในหมู่คนไทยกันเองมักเกิดขึ้นกับประชากรภาคอีสานมากกว่าภาคอื่น กระทั่งคำด่าอย่าง ‘หน้าปลาร้า’ หรือ ‘หน้าลาบ’ ก็หยิบยกมาจากอาหารขึ้นชื่อภาคอีสานทั้งสิ้น
เมื่อคนอีสานกลายเป็น ‘คนอื่น’
หนึ่งในสาเหตุที่คนอีสานตกเป็นสนามอารมณ์ของคนไทยบางกลุ่มเสมอ อาจเกิดจากปรากฏการณ์ที่เรียกว่า ‘Defensive Othering’ หรือกลไกปกป้องตัวเองโดยการแบ่งแยกผู้อื่น
ไมเคิล ชวาลบ์ (Michael Schwalbe) ศาสตราจารย์ด้านสังคมวิทยา อธิบายปรากฏการณ์นี้ว่า เป็นการที่ผู้ถูกกดทับทางเชื้อชาติอยากเข้าพวกกับผู้มีอำนาจ จึงพยายามแยกตัวเองออกมาจากอคติด้านลบต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับเชื้อชาติตัวเอง
เมื่อปี 2003 นักวิชาการ คาเรน ไพก์ (Karen Pyke) และเจิ่น ดัง (Tran Dang) สัมภาษณ์ชาวเอเชียน-อเมริกันในแคลิฟอร์เนีย 184 คน พบว่าในกลุ่มตัวอย่างนี้ มีคนจำนวนมากใช้ศัพท์สแลง FOB (ย่อมาจาก Fresh off the Boat หมายถึงผู้อพยพที่เพิ่งมาถึงสหรัฐอเมริกาใหม่ๆ) เพื่อดูถูกชาวเอเชียน-อเมริกันด้วยกัน โดยชาวเอเชียน-อเมริกันที่โดนดูถูกคือคนที่มีพฤติกรรม ‘เอเชียน’ เช่น เป็นเด็กเนิร์ด พูดภาษาอังกฤษติดสำเนียงภาษาบ้านเกิด
พฤติกรรมเหล่านี้สอดคล้องกับอคติด้านลบซึ่งคนขาวมีต่อชาวเอเชียนอยู่ก่อนแล้ว เมื่อเอเชียน-อเมริกันบางคนต้องการแยกตัวออกจากอคติเหล่านั้น กลมกลืนเป็นส่วนหนึ่งของประเทศอเมริกาโดยสมบูรณ์ จึงมีการใช้กลยุทธ์ Defensive Othering เกิดขึ้น โดยพวกเขาขีดเส้นแบ่งชัดเจนระหว่างตัวพวกเขากับชาวเอเชียนที่เป็น FOB ซึ่งพวกเขามองว่าน่าละอาย
ย้อนกลับมามองบริบทประเทศไทย ผู้ได้รับผลกระทบจาก Defensive Othering มากที่สุดคงไม่พ้นคนอีสาน ดังที่เกริ่นไปก่อนหน้า กระทั่งศิลปินดังอย่าง ลิซ่า-ลลิษา มโนบาล สมาชิกวง BLACKPINK ที่มาจากจังหวัดบุรีรัมย์ ก็เคยเผชิญกับคอมเมนต์เหยียดภูมิลำเนามาก่อนเช่นกัน
“เจอตัวอีป้อกแป้กสัญญากูจะเอาน้ำโคลนบุรีรัมย์ราดหัวมัน แค่นี้!!!”
“อย่าลืมนะว่าน้องลิซคือสาวอีสาน ซึ่งสาวอีสานโดยธรรมเนียมแล้วส่วนใหญ่ก็จับฝรั่งรวยๆ เป็นสามีกันทั้งนั้น”
“ถนัดกินกิมจิ ไม่ถนัดกินปลาร้า”
ข้างต้นคือตัวอย่างทวีตที่คนไทยบางส่วนกล่าวถึงลิซ่า โดยทั้งสามทวีตล้วนมีนัยการเหยียดอีสาน และแบ่งแยกคนอีสานออกไปเป็น ‘คนอื่น’ (Other) ทั้งยังผลักอคติเชิงลบซึ่งชาวต่างชาติมีต่อคนไทย เช่น การแต่งงานกับสามีฝรั่งเพื่อเงิน ไปให้ประชากรภาคอีสานรับแทน
อย่างไรก็ตาม กลยุทธ์ Defensive Othering ไม่ได้ช่วยให้ใครหลุดพ้นจากการกดทับทางเชื้อชาติอย่างแท้จริง แม้คนไทยเหล่านี้จะเชื่อว่าตัวเองสูงส่งกว่าคนอีสาน แต่เมื่อไรที่ชาวต่างชาติเหยียดประเทศไทย สุดท้ายก็มักจะเหยียดรวมๆ ทั้งประเทศอยู่ดี
ยกตัวอย่าง ซีรีส์เกาหลีเรื่อง Big Mouth มีบทสนทนาด่าตัวละครไซโคพาธ โดยยืมชื่ออาหารไทยอย่างต้มยำกุ้งมาใช้ จะเห็นว่าซีรีส์ไม่ได้กล่าวถึงปลาร้าหรือลาบ แต่เลือกต้มยำกุ้งที่เป็นอาหารประจำชาติไทย นั่นหมายความว่าทัศนคติคนเขียนบทไม่ได้เหยียดเพียงแค่ภาคอีสาน แต่เหยียดประเทศไทยทั้งประเทศ
หรือแม้แต่รายการวาไรตี้เกาหลีชื่อดัง Knowing Brothers ในตอนที่วง BLACKPINK ไปเป็นแขกรับเชิญ เมื่อสมาชิกวงเล่าถึงการแสดงคอนเสิร์ตที่กรุงเทพฯ พิธีกรก็ถามแทรกขึ้นมาว่า “มีคนขี่ช้างเข้าไปดูคอนเสิร์ตหรือเปล่า?”
สุดท้าย Internalized Racism ก็ไม่ได้ส่งผลประโยชน์ใดๆ รังแต่จะสร้างความแตกแยกในหมู่ผู้ถูกกดทับด้วยกัน และยังส่งต่อแนวคิดที่เอื้อให้ผู้มีอำนาจทางสังคม เช่น คนขาว ได้ครองอำนาจต่อไปเท่านั้น
แน่นอนว่าการรื้อถอน Internalized Racism ในจิตใต้สำนึกไม่ใช่เรื่องง่าย เราทุกคนล้วนเคยเสพสื่อที่ปลูกฝังแนวคิดเชิดชูคนขาวหรือแม้กระทั่งคนเอเชียตะวันออก จึงอาจซึมซับมาไม่มากก็น้อย
แต่จะไม่ดีกว่าหรือ หากเราเริ่มจากพยายามตรวจสอบตัวเองกันทีละนิด ก่อนพิมพ์ด่าใครว่า ‘หน้าปลาร้า’ ลงอินเทอร์เน็ต ลองหยุดคิดดูก่อนว่า นอกเหนือจากทำให้คู่กรณีรู้สึกเจ็บแล้ว คำด่านี้ส่งผลกระทบอย่างไรอีกบ้าง
อ้างอิง
Pyke, Karen. 2010. “What is Internalized Racial Oppression and Why Don’t We Study it? Acknowledging Racism’s Hidden Injuries.” Sociological Perspectives 53(4):551–572
Pyke, Karen and Tran Dang. 2003. “‘FOB’ and ‘Whitewashed’: Identity and Internalized Racism among 2nd Generation Asian Americans.” Qualitative Sociology 26(2):147–172
Schwalbe, Michael, Sandra Godwin, Daphne Holden, Douglas Schrock, Shealy Thompson, and Michele Wolkomir. 2000. “Generic Processes in the Reproduction of Inequality: An Interactionist Analysis.” Social Forces 79(2):419–452
Tags: racism, เชื้อชาติ, การเหยียดเชื้อชาติ, Internalized Racism, ลิซ่า, Knowledge & Wisdom, อีสาน