“ถ้าไม่อยากให้ใครมาข่มขืน ก็อย่าใส่ส้นสูง คุณจะได้หนีเขาได้”

“ฉันไม่เหมือนผู้หญิงคนอื่น”

“ฉันเป็นผู้หญิงลุยๆ แมนๆ”

“ผู้หญิงด้วยกันดูออก”

เชื่อว่าหลายคนคงเคยได้ยินคำนี้หรือเคยหลุดพูดออกมาเอง เมื่อพบเจอผู้ที่มีลักษณะของความเป็นหญิง (Femininity) สูงเกินกว่าเคยชิน ไม่ว่าจะเป็นจากการแต่งตัว เสียงพูดเล็กๆ วาจา ท่าทางที่เราคิดไปว่าดูไม่จริงใจ จนเกิดอคติบางอย่างที่ทำให้เราตัดสินใครสักคนไปก่อนโดยไม่รู้ตัว

แต่เชื่อเถอะว่าแค่เพียงเพราะมีเพศสภาพเดียวกัน ไม่สามารถทำให้เราอ่านใจหรือเดาพฤติกรรมใครได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ ซึ่งความคิดเช่นนี้เกิดจากความเกลียดชังที่เรียกกันว่า Internalized Misogyny หรือการเหยียดเพศที่ผู้หญิงกระทำต่อกันเอง

Internalized Misogyny คือการที่ผู้หญิงมีความคิดเหยียดหยามความเป็นหญิง โดยแสดงผ่านวิธีคิด การพูดเหน็บแนม หรือการยกตนให้สูงกว่า เพื่อลดทอนคุณค่าที่แสดงออกถึงความเป็นหญิงนั้นๆ ไม่ว่าจะเป็นคำที่พูดติดปากกันอย่างคำว่า “แอ๊บแบ๊ว” ซึ่งแฝงการเหยียดผู้หญิงแบ๊ว การตัดสินผู้หญิงคนหนึ่งที่แต่งตัวสวยว่าตั้งใจจะยั่วยวนผู้ชาย หรือความคิดที่ว่าผู้หญิงเป็นเพศที่ใช้อารมณ์มากกว่าเหตุผล ที่ลึกๆ แล้วคนพูดมีความเชื่อว่าอะไรที่ดูเป็น ‘ผู้หญิ๊ง ผู้หญิง’ ถือเป็นพฤติกรรมอันไม่พึงประสงค์

แนวคิดเหยียดความเป็นหญิงด้วยกัน เป็นค่านิยมที่แฝงตัวอยู่ในสังคมอย่างแนบเนียน ส่วนใหญ่ผู้ที่มีอคติดังกล่าวมักจะไม่รู้ตัวว่าตนเป็นทั้งผู้กระทำและผู้ถูกกระทำในเวลาเดียวกัน เพราะคงไม่มีใครอยากจะเหยียดอัตลักษณ์ทางเพศของตนเอง ที่เหมือนกับผู้หญิงเหล่านั้นได้เป็นส่วนหนึ่งของการสร้างความรุนแรงและการกดทับผู้หญิงต่อไป

“ถ้าไม่อยากให้ใครมาข่มขืน ก็อย่าใส่ส้นสูง คุณจะได้หนีเขาได้”

คริสซี่ ไฮนด์ (Chrissie Hynde) ผู้ก่อตั้งวงดนตรี The Pretenders ให้สัมภาษณ์ในฐานะเหยื่อที่เคยถูกล่วงละเมิดทางเพศว่า การที่เธอโดนข่มขืนนั้นเป็นความผิดของเธอเอง และตักเตือนว่าผู้หญิงใส่ส้นสูงหรือแต่งตัวโป๊จะนำมาซึ่งการข่มขืน ทั้งที่ความจริงแล้ว การข่มขืนเป็นความผิดของผู้ก่อเหตุทั้งหมด ไม่ใช่ความผิดของเหยื่อแต่อย่างใด

ตราบใดที่ยังมีอคติต่อความเป็นหญิง จะเห็นว่าแม้แต่ผู้ที่เป็นเหยื่อก็สามารถมีความคิดแบบกล่าวโทษเหยื่อ (Victim Blaming) ด้วยกันเองได้ ทั้งที่ตัวเองก็ถูกทำร้ายมา ซึ่งการบอกเล่าประสบการณ์ที่เป็นแผลทางใจของเธอ อาจสร้างแผลทางใจให้ผู้หญิงคนอื่นได้อีกมาก ทั้งการใส่ส้นสูงหรือการแต่งตัวตามที่คริสซี่กล่าวโทษ

การเหยียดความเป็นหญิงด้วยกันเองจึงไม่ได้เป็นเพียงเรื่องซุบซิบนินทา หรือการมองว่าเป็นเรื่องหยุมหยิม แต่สิ่งเหล่านี้สามารถสร้างผลกระทบที่ใหญ่กว่าได้

พฤติกรรมแบบใดที่เข้าข่ายว่าเราอาจมีความคิดเหยียดผู้หญิงด้วยกัน?

ความคิดแบบที่ว่า “I’m not like other girls” หรือ “ฉันไม่เหมือนผู้หญิงคนอื่น” แสดงให้เห็นถึงลักษณะของการเหยียดผู้หญิงด้วยกันเอง แน่นอนว่าเราต่างก็ไม่เหมือนใคร แต่เหตุผลที่ประโยคดังกล่าวมีปัญหาในตัวเอง เพราะมันเป็นการย้ำว่าฉันมีความพิเศษ แตกต่างจากพวกผู้หญิงที่มีความเป็นหญิงสูง เช่น การพูดว่าฉันเป็นคนง่ายๆ สบายๆ ไม่ชอบนินทาคนเหมือนผู้หญิงคนอื่น คำถามคือทำไมเราถึงผูกนิสัยชอบนินทาไว้กับความเป็นหญิง รวมถึงคิดว่าความง่ายๆ สบายๆ เป็นคุณสมบัติที่ผู้หญิงไม่มี ทั้งที่ตัวแปรของแต่ละนิสัยที่ว่าไม่ได้ขึ้นอยู่กับเพศแต่อย่างใด

ในช่วงหลังมานี้ ลักษณะพฤติกรรมแบบดังกล่าวถูกวิจารณ์มากขึ้น จนถึงกับมีคำเรียกว่าเป็นพวก ‘Pick Me Girl’ ซึ่งใช้พูดถึงผู้หญิงในความหมายเชิงว่า เธอเหล่านั้นต้องการการยอมรับจากผู้ชาย ถึงได้โจมตีลักษณะที่ผู้หญิงคนอื่นๆ เพื่อบอกว่าตัวเองไม่เหมือนใคร ในประเด็นนี้ สิ่งที่ควรจะเป็นคือการปรับเปลี่ยนค่านิยมที่แฝงอคติเหยียดเพศหญิง และระวังไม่ให้ตนมีพฤติกรรมเหล่านั้น ไม่ใช่มุ่งไปที่การทำร้ายกันเอง

มากกว่าการเหยียดลักษณะโดยทั่วไป ยังมี Slut-shaming หรือการเหยียดพฤติกรรมทางเพศของผู้หญิง ที่ถือเป็นลักษณะของอคติเหยียดเพศหญิงซึ่งเกิดขึ้นบ่อยครั้ง เช่นคำกล่าวว่าไม่รักนวลสงวนตัว สำส่อน หรือการนำอาชีพขายบริการมาเป็นคำดูถูก สิ่งเหล่านี้อยู่ภายใต้ความคิดแบบเกลียดความเป็นหญิงที่หลายครั้งผู้หญิงด้วยกันก็นำมาใช้เช่นกัน

แม้แต่การเปรียบเทียบตนเองกับผู้หญิงคนอื่นอยู่ลึกๆ ในใจ ถึงจะมีประเด็นอะไรกันหรือไม่ การเปรียบเทียบหน้าตา นิสัย หน้าที่การงาน ไม่ว่าจะคิดว่าเขาดีกว่าเราหรือเราดีกว่าเขา สิ่งที่ดูเหมือนว่าเกิดขึ้นได้เหล่านี้ นอกจากจะเป็นสัญญาณที่แสดงถึงความไม่มั่นใจในตัวเองแล้ว ยังอาจแสดงถึงความคิดแบบเหยียดหยามผู้หญิง เพราะชี้ให้เห็นว่าตัวเรายังมีความคาดหวังว่าผู้หญิงจะต้องสวย นิสัยดี หรือทำงานเก่ง ตามภาพที่สังคมและตัวเรายึดถือ ซึ่งแน่นอนว่าการเปรียบเทียบเช่นนี้ไม่ส่งผลดีต่อใครทั้งสิ้น

อคติถูกลบเลือนได้หากเราตั้งคำถามกับความคิดและการกระทำของตัวเอง หากพบว่าเรามีความเกลียดชังต่อความเป็นหญิงด้วยกัน การยอมรับและปรับปรุงพฤติกรรมเหยียดเพศย่อมส่งผลดี อย่างน้อยที่สุดคือดีต่อสุขภาพจิต ไม่เป็นการทำร้ายใคร และการทิ้งอคติทางเพศจะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เราเข้าใกล้ความเท่าเทียมทางเพศได้อีกขั้นหนึ่ง

ที่มา

https://www.thenewfeminist.co.uk/2021/09/women-too-must-face-their-own-engagement-in-internalised-misogyny/

https://feminisminindia.com/2022/03/07/internalised-sexism-the-practice-of-women-being-misogynistic-towards-themselves-and-other-women/

https://www.urbandictionary.com/define.php?term=Pick-me%20girl

https://www.modernintimacy.com/7-not-so-obvious-signs-of-internalized-misogyny/

 

ภาพ: Paramount/ Courtesy Everett Collection

Tags: , , , , , ,