“สดใสแต่ลึกลับ”
“สวยงามแต่ก็ชวนให้รู้สึกขนลุก”
“ใครมันจะบ้าเอาสีพาสเทลมาฉาบคู่กับฉากไล่ฆ่ากันเอง”
“Red Velvet ทั้งสวย ทั้งแปลก และน่าค้นหา”
“การเล่าเรื่องที่แตกต่างกัน แต่ก็ทำให้ความต่างแบบสุดขั้วเข้ากันได้ ตรงนี้คือหัวใจสำคัญที่ทำให้อยากตามดูต่อไปเรื่อยๆ ว่าหลังจากนี้พวกเธอจะเล่าเรื่องออกมาในรูปแบบไหน”
แรกเริ่มเดิมที ศิลปิน Red Velvet จากค่าย SM Entertainment ที่เดบิวต์เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2014 มักถูกพูดถึงในแง่คอนเซ็ปต์การทำเพลงที่โดดเด่น แตกต่าง เอาเรื่องสยองมาเล่าคู่กับความสดใส หรือการเล่าเรื่องฆาตกรรมด้วยวิธีโหดๆ ที่จะสรรหาได้ แต่ทำให้เบาลงด้วยการย้อมสีพาสเทล หรือเล่าเรื่องการลักพาตัว กักขัง ไล่ฆ่า ภายใต้เพลงจังหวะสนุกสนานและท่าเต้นแปลกตา
ไม่ได้มีเพียงแค่คอนเซ็ปต์ของวงเท่านั้นที่โดดเด่น แต่จังหวะการปล่อยเพลงแบบดูบรรยากาศรอบตัวก็เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่น่าสนใจไม่แพ้กัน เพราะพวกเธอเคยถูกเรียกว่าเป็น “ราชินีเพลงฤดูร้อน” รวมถึงการปล่อยเพลงที่เข้ากับฤดูกาลต่างๆ ก็ยิ่งเสริมให้ภาพจำและเอกลักษณ์ของ Red Velvet นั้นชัดเจนยิ่งขึ้น
การเติบโตของพวกเธอในแต่ละครั้งดึงดูดแฟนเพลงได้ไม่น้อย อีกทั้งสมาชิกทั้ง 5 คน อย่าง ไอรีน (Irene) ซึลกิ (Seulgi) เวนดี้ (Wendy) จอย (Joy) และ เยริ (Yeri) ก็มีเคมีที่เข้ากันได้ลงตัว มีความสามารถโดดเด่นแตกต่างกันไปทั้งการร้อง การเต้น หรือแม้กระทั่งการแสดง จึงทำให้พวกเธอสามารถยืนระยะอยู่ในวงการมาได้นานกว่าแปดปี
ทั้งหมดนี้คือข้อมูลแบบคร่าวๆ ของ Red Velet…
แต่ทำไมเราถึงต้องพูดถึง Red Velvet?
พวกเธอมีความน่าสนใจอย่างไร มีความโดดเด่นแบบไหน และอะไรที่ทำให้พวกเธอสามารถรับความรักจากแฟนคลับได้อย่างยาวนานและเหนียวแน่น
สามารถหาคำตอบไปพร้อมกันได้ในบทความนี้
การแบ่งคอนเซ็ปต์ ‘Red’ และ ‘Velvet’
ย้อนกลับไปในช่วงแรกเริ่ม คอนเซ็ปต์ของ Red Velvet ถูกแบ่งออกเป็น 2 แบบ คือ Red และ Velvet ที่เมื่อดูแล้วทั้งสองแบบมีความแตกต่างกันพอสมควร แต่แฟนๆ ก็คาดเดาว่าเส้นเรื่องของทั้งสองแบบก็ยังคงอยู่ในจักรวาลเดียวกัน
แล้วจะแยกได้อย่างไรว่าอันไหนเป็น Red อันไหนเป็น Velvet?
หลายครั้ง SM เองก็ไม่ได้บอกชัดเจนว่าการคัมแบคแต่ละครั้งจะมาในรูปแบบไหน แต่ค่ายก็เคยให้นิยามถึงความแตกต่างเอาไว้ว่า Red คือสีสันที่ฉูดฉาด สนุกสนาน ดึงดูดใจ และเต็มไปด้วยชีวิตชีวา เหมือนกับนิยามของสีแดง ส่วน Velvet นั้นตรงตามความหมายของกำมะหยี่ คือการเป็นตัวแทนของความนุ่มนวล น่าค้นหา และเต็มไปด้วยเสน่ห์ แต่ก็อาจจะซ่อนอะไรบางอย่างให้แฟนคลับได้ค้นหาสัญญะที่ซ่อนใน MV คู่ไปกับการนำเสนอผลงานที่หยิบยืมศิลปะและภาพยนตร์ซ่อนอยู่ในบทเพลง
เมื่อเป็นดังนั้น ลัฟวี่ส่วนใหญ่จึงจำแนกเพลงของ Red Velvet คร่าวๆ ว่า Happiness เพลงเดบิวต์ที่มีจังหวะสดใส และงานอาร์ตในเอ็มวีที่เรียกว่าฉูดฉาด ไปจนถึงสไตล์ของตัวศิลปินเองที่ทำไฮไลท์ 4 สีที่ปลายผม หรืออย่าง Ice Cream Cake และ Dumb Dumb (2015) กับเส้นเรื่องที่ว่าเด็กๆ ถูกทำเหมือนว่าเป็นตุ๊กตาที่ถูกผลิตขึ้นจากโรงงานเดียวกัน ที่เมื่อลองฟังจะรู้ทันทีว่านี่คือเพลงในคอนเซ็ปต์ Red แม้ตัวของอัลบั้มเพลง Dumb Dumb จะเฉลยตรงตัวด้วยการใช้ชื่อว่า The Red ก็ตาม
นอกจากนี้ Dumb Dumb ยังสร้างสถิติด้วยการเป็นเพียงเดียวที่ไม่ใช่ภาษาอังกฤษแต่ติดอยู่ใน 10 มิวสิกวิดีโอยอดเยี่ยมประจำปี 2015 ของ โรลลิงสโตน (Rolling Stone) โดยนิยามไว้ว่า
“Red Velvet คือเกิร์ลกรุ๊ปหน้าใหม่ในวงการ K-Pop แต่ Dumb Dumb โดดเด่น มีชีวิตชีวา และให้บรรยากาศที่แตกต่าง ฉากต่างๆ ในมิวสิกวิดีโอก็สวยงาม องค์ประกอบภาพลงตัว จนสามารถแคปภาพไปวางในหนังสือแฟชั่นได้เลย”
ส่วนเพลงที่ถูกนับว่าอยู่ใน Velet จะเป็นเพลงที่มีจังหวะช้าลงกว่าเพลงอื่นๆ อาทิ Be Natural (2014) ที่ไม่ได้เน้นสีสันฉูดฉาด เช่นเดียวกัน Automatic (2015) ที่เนื้อเพลงได้เปรียบเทียบคนรักเป็นดั่งผ้ากำมะหยี่ ไปจนถึง One of These Nights (2016) ที่เพลงเหล่านี้มีจุดร่วมเดียวกันคือแนวเพลงที่มีกลิ่นอาย R&B ชัดเจน
ในช่วงโปรโมตเพลง Russian Roulette (2016) สิ่งที่ถูกพูดถึงมากที่สุดคือเส้นเรื่องของเด็กสาว 5 คน ที่แต่งตัวคล้ายกับอยู่ในโรงเรียน ทว่าเมื่อเรื่องดำเนินไปเรื่อยๆ กลับเผยให้เห็นการผลัดกันวางแผนสังหารเพื่อนตัวเอง ทั้งการจุดไฟเผา ผลักเปียโนให้ตกบันไดลงไปทับ ผลักเพื่อนลงไปในสระว่ายน้ำที่ไม่มีน้ำ จัดฉากแสร้งว่าจะแต่งหน้าให้แต่จริงๆ แล้ววางกับดักให้ตู้เย็นล้มทับอีกฝ่าย เข็นเตียงลงถนนให้รถชน หรือวางยาในอาหารเช้า เพื่อล้อกับชื่อเพลงที่สลับกันยิงตัวเองว่าใครจะรอดหรือใครจะตาย ซึ่งความรุนแรงที่ว่ามานี้ก็ถูกทำให้เบาลงด้วยสีพาสเทลกับดนตรีจังหวะน่ารักๆ
สิ่งที่เกิดขึ้นสร้างความงุนงงให้แฟนคลับและนักฟังเพลงพอสมควร กับความโหดที่ซ่อนเอาไว้ในสีพาสเทลและตัวการ์ตูนแมวสีดำกับหนูตัวเล็ก คล้ายกับเรื่อง Tom and Jerry จนทำให้เริ่มเกิดการตั้งข้อสังเกตว่าจริงๆ แล้ว Red Velet เป็นกลุ่มศิลปินที่พยายามจะสื่ออะไร มีเส้นเรื่องแบบไหน และทั้งหมดนี้เป็นเพียงโลกสมมุติที่จบลงไปในแต่ละเพลงเหมือนกับ MV ทั่วไปจริงหรือไม่
อีกหนึ่งความพิเศษของ Russian Roulette คือการถูกเรียกว่าเป็นจุดตัดระหว่างคอนเซ็ปต์ของ Red Velvet เมื่อจอยให้สัมภาษณ์ในรายการ Behind Show Champion ว่าเพลงนี้จะไม่ถูกจัดอยู่ใน Red หรือ Velet แบบชัดเจน แต่จะเป็นการรวมกันระหว่างสองคอนเซ็ปต์ เพราะจะมีทั้งความสดใส ฉูดฉาด ชวนค้นหาไปพร้อมกัน และคาดว่าหลังจากนี้จะนำเสนอ Red Velvet ที่ครบถ้วนสมบูรณ์แบบ
แต่ถึงอย่างนั้น หลายเพลงที่ถูกปล่อยหลัง Russian Roulette ก็ทำให้แฟนๆ อดไม่ได้ที่จะจัดหมวดหมู่ให้ผลงานเหล่านั้นอยู่ดี เช่น เพลง Red Flaver (2017) กับดนตรีจังหวะสนุกสนาน ซึ่งถือเป็นหนึ่งในผลงานที่สร้างสถิติใหม่ๆ และเป็นไวรัลฮิตติดชาร์ตอยู่นานจนได้รับฉายาว่า ‘เพลงแห่งฤดูร้อน’ ที่มีชื่ออัลบั้มว่า The Red Summer ก็จะถูกจัดอยู่ใน Red ไปโดยปริยาย
Power Up (2018) จากอัลบั้ม Summer Magic และ Really Bad Boy (2018) หรือ RBB และ Zimzalabim (2019) ก็ถูกแฟนคลับจัดให้อยู่ในหมวด Red เพราะเมื่อลองสังเกตดูแล้ว ด้วยจังหวะดนตรีที่ดุดัน บีทหนัก ซึ่งหลายคนลงความเห็นถึงขั้นว่าแอบหนวกหู แต่เมื่อขึ้นชื่อว่าเป็นเพลงที่มีจังหวะเร็ว และโดดเด่นด้วยดนตรีอิเล็กทรอนิกส์ จึงไม่มีใครคิดว่าทั้งสองเพลงเหมาะจะอยู่ใน Velvet สักเท่าไหร่ รวมถึง Umpah Umpah (2019) ที่ปล่อยหลังจากนั้นไม่นานเช่นกัน
เกร็ดเล็กน้อยที่น่าสนใจของ Zimzalabim คือนำคอนเซ็ปต์ของภาพยนตร์ชื่อดังอย่าง The Wizard of Oz (1939) และ Alice in Wonderland (2010) มาเป็นพื้นหลัง โดยสาวๆ Red Velvet จะได้ออกเดินทางไปยังสวนสนุกแห่งหนึ่ง ท่ามกลางสีสันที่สดใสฉูดฉาด ภายใต้ชื่อ The ReVe Festival ที่เคยถูกแฟนคลับแซวเอาไว้ว่าเป็นงานที่ทำให้ผู้คนทั้งแสบตาและแสบหู
ทางด้านของ Velvet ในยุคหลัง Russian Roulette ก็มักเป็นเพลงที่ถูกพูดถึงมากอย่าง Peek-A-Boo (2017) จากอัลบั้ม Perfect Velvet กับดนตรีแนว Uptempo Pop Dance และเส้นเรื่องในมิวสิกวิดีโอที่โดดเด่นจากการที่พวกเธอพยายามฆาตกรรมชายส่งพิซซ่าในคืนพระจันทร์เต็มดวง แถมยังล้อกับชื่อเพลง ที่ให้เหยื่อจำเป็นต้องเล่นซ่อนหา (Peek-A-Boo) ในบ้านของกลุ่มฆาตกรต่อเนื่อง หรือการเล่นกับเหยื่อด้วยการแกล้งว่าจะช่วย บางครั้งปล่อยให้หนี แต่สุดท้ายก็ไม่รอดอยู่ดี
แม้ว่าทางต้นสังกัดจะให้ข้อมูลว่า Peek-A-Boo คือการรวมกันระหว่าง Red และ Velvet แต่คนส่วนใหญ่ก็ยังคงมองว่าเพลงเพลงนี้ควรถูกจัดอยู่ใน Velvet อยู่ดี ซ้ำยังพัฒนาสีสันในงานดนตรีแบบ Velvet ให้น่าสนใจมากขึ้นอีกด้วย
Bad Boy (2018) จากอัลบั้ม The Perfect Red Velvet ที่ยังคงพัวพันกับการฆาตกรรม ความรัก และการพยายามอำพรางศพที่คาดว่าซ่อนอยู่ในกระเป๋าเดินทาง กับดนตรีสไตล์ Hip-Hop และ R&B Dance ส่งให้องค์ประกอบทั้งหมดสร้างความรู้สึกลึกลับชวนให้ค้นหาตีความ ด้วยความดึงดูดแบบประหลาดนี้เอง ทำให้ Bad Boy กลายเป็นเพลงแรกของ Red Velvet และ SM Entertainment ที่มียอดสตรีมบน Spotify เกิน 100 ล้านครั้ง
จะเรียกได้ว่าเพลง Psycho (2019) เป็นอีกหนึ่งผลงานมาสเตอร์พีซของ Red Velvet และเป็นเพลงที่แฟนคลับส่วนใหญ่มองว่าควรอยู่ใน Velvet ก็คงจะไม่เกินจริงเท่าไหร่นัก เพราะพวกเธอถูกพูดถึงในวงกว้างตั้งแต่ปล่อยภาพทีเซอร์ เนื้อเรื่องในมิวสิกวิดีโอ กับแนวเพลงแนว R&B ซึ่งเป็นที่ชื่นชอบของแฟนคลับและแฟนเพลง
คอนเซ็ปต์ของ Psycho ทำให้รู้สึกว่าไม่มีอีกแล้วเด็กผู้หญิง 5 คน ที่ออกมาจากโรงงานผลิตหุ่นตุ๊กตา เด็กสาววัยรุ่นที่พยายามลอบสังหารกันเอง หรือกลุ่มเด็กผู้หญิงที่พยายามไล่ฆ่าชายหนุ่ม แต่พวกเธอดูโตขึ้นกว่าแต่ก่อน ดูลึกลับ อยู่ในคฤหาสน์ห่างไกลเมือง และพยายามทำบางสิ่งบางอย่าง
ส่วนเพลงอื่นๆ อย่าง Queendom (2021) และ Birthday (2022) ก็เล่าเรื่องแตกต่างจากที่เคยทำมา เพราะเพลงหนึ่งมีเส้นเรื่องเป็นกลุ่มผู้ใช้เวทมนตร์ และเพลงหนึ่งเล่าเรื่องงานปาร์ตี้วันเกิดของแก๊งสรรพสัตว์และตัวประหลาด ที่ไม่ต้องการให้ Red Velvet มาร่วมงานด้วย เมื่อถูกปฏิเสธ พวกเธอจึงพยายามฝ่าด่านป้องกันต่างๆ ของเจ้าของงาน เพื่อหาทางเข้าไปร่วมปาร์ตี้ให้ได้ ซึ่งลัฟวี่ส่วนใหญ่ก็มองว่าหากจะจัดคอนเซ็ปต์ให้ ทั้งสองเพลงนี้น่าจะอยู่ใน Red มากกว่า Velvet
หากตัดเรื่องความเป็น Red และความเป็น Velvet ออกไป แล้วมองที่เนื้อเพลง ภาพรวมของ Red Velvet คือการเล่าเรื่องความรักที่มักแบ่งความสัมพันธ์เป็นสองฝ่ายคือ ผู้ล่าและผู้ถูกล่า คนที่ตกหลุมรักกับคนที่ได้เปรียบในความสัมพันธ์ บางครั้งก็เป็นเหมือนกับคนที่ยังอ่อนหัดเรื่องความรัก แต่บางเวลาก็เหมือนคนที่ผ่านเรื่องราวมามาก
พวกเธอไม่ยอมอยู่ในกรอบเดิมๆ พร้อมแหกขนบออกมาอยู่เสมอ แล้วเล่าเรื่องผ่านมิวสิกวิดีโอที่แปลกใหม่ แหวกแนว เพราะมีทั้งความสยดสยอง ลึกลับ ขณะเดียวกันก็ยังคงมีมุมที่สดใส ร่าเริง จนกลายเป็นจุดแข็งที่นำพาสิ่งที่ไม่น่าไปด้วยกันได้ มาเล่าเรื่องคู่ขนานกันไปในนามของ Red Velvet
‘ราชินีทุกฤดูกาล’ การตั้งข้อสังเกตคอนเซ็ปต์ที่เข้ากับบรรยากาศ
“Red Flaver คือราชินีซัมเมอร์”
“Bad Boy เหงา หว่อง เย็น แถมยังสยองขวัญ”
“ส่วน Psycho ที่ปล่อยช่วงปลายปี ก็ชวนให้เหงาแบบเย็นยะเยือก”
“Feel My Rhythm คู่ควรกับการเป็นเพลงประจำฤดูใบไม้ผลิ”
อีกหนึ่งความน่าสนใจของ Red Velvet นอกจากคอนเซ็ปต์สองแบบที่เดินคู่ขนานไปพร้อมกัน คือการที่แฟนเพลงเริ่มตั้งข้อสังเกตว่า Red Velvet มักดูสภาพอากาศ ดูบรรยากาศในช่วงเวลาที่ตัวเองกำลังจะคัมแบค
Red Flaver ที่ปล่อยในเดือนกรกฎาคม ถูกเรียกว่าเป็นเพลงประจำฤดูร้อนไปโดยปริยาย เพราะทั้งแนวเพลงสดใส ให้ความรู้สึกสดชื่น มิวสิกวิดีโอที่ดึงความสดชื่นของผลไม้ที่ได้รับความนิยมในฤดูร้อนอย่างแตงโม สับปะรด ส้ม กีวี่ และองุ่น มาชูเป็นแกนหลัก ไหนจะการตัดฉากไปยังแสงแดดกลางแจ้ง และแฟชั่นซัมเมอร์ที่เหมาะแก่การออกไปเดินเล่นนอกบ้าน สร้างภาพจำชัดเจนว่าเพลงเพลงนี้ควรเปิดในช่วงฤดูร้อน
Psycho ที่ปล่อยในเดือนธันวาคม ถูกลงความคิดเห็นตรงกันว่าชวนให้นึกถึงบรรยากาศเย็นๆ ยามค่ำคืน หรือลมหนาวในเดือนธันวาคม แม้ว่าช่วงเวลาดังกล่าวจะเต็มไปด้วยงานเทศกาลและการเฉลิมฉลอง แต่ความหนาวของ Red Velvet อาจหมายถึงความเหงา ดาร์ก บรรยากาศเย็นยะเยือกเคล้ากับความมืดที่ซ่อนบางอย่างเอาไว้ เพราะในเชิงเปรียบเทียบ ก็เคยมีนิยามที่ว่าฤดูหนาวเปรียบเสมือนตัวแทนของความตาย
ที่หลายคนรู้สึกแบบเดียวกันนั้นเป็นเพราะบางส่วนในมิวสิกวิดีโอ Psycho อาจได้รับแรงบันดาลใจจากภาพยนตร์หลายเรื่อง เช่น Psycho (1960) และ Black Swan (2010) ที่สื่อถึงความผิดปกติบางอย่างที่เกิดขึ้นกับสมาชิก Red Velet เพราะบางช่วงบางตอนก็คล้ายกับว่าพวกเธอกำลังหนีอะไรบางอย่าง กำลังคิดจะทำหรือวางแผนอะไรบางอย่าง แต่บางครั้งก็ดูอารมณ์ดีและมีความสุข โดยที่ไม่รู้เลยว่าสิ่งที่เกิดขึ้นนั้นเป็นความจริงหรือเป็นเพียงภาพจินตนาการในจิตใต้สำนึก หรือตกอยู่ในห้วงความสัมพันธ์ที่เป็นพิษ ตามเนื้อเพลงที่เล่าถึงความสัมพันธ์ของคนสองคน ที่มักจะโต้เถียงกัน พยายามหนีจากกัน แต่สุดท้ายก็ยอมกลับเข้าสู่ความสัมพันธ์ท็อกซิกอยู่ดี
ส่วน Bad Boy ที่ปล่อยช่วงปลายเดือนมกราคม นับเป็นอีกหนึ่งเพลงช่วงหิมะตก แม้หนาวเหน็บไม่เท่ากับ Psycho แต่ก็ทำให้รู้สึกขนลุกไม่แพ้กัน นอกจากนี้การเซตฉากก็ยังห้อมล้อมด้วยภูเขาหิมะ เกล็ดหิมะที่พัดไปมาตามลม หรือหิมะที่กองอยู่รอบๆ พวกเธอ จึงไม่แปลกที่ใครๆ จะรู้สึกว่า เป็นอีกหนึ่งเพลงที่ทำให้รู้สึกอยู่ท่ามกลางบรรยากาศเย็นๆ ช่วงปลายของฤดูหนาว
หาก Psycho กับ Bad Boy คือช่วงที่หนาวที่สุดและช่วงที่ใกล้หมดฤดูหนาว Feel My Rhythm (2022) ที่ปล่อยในเดือนมีนาคม ก็คงจะเป็นการเข้าสู่ช่วงฤดูใบไม้ผลิ ที่เราจะเริ่มเห็นต้นไม้ใบหญ้าและดอกไม้กลับมาเติบโตอีกครั้ง
เพราะนอกจากจังหวะการปล่อยเพลงจะตรงกับช่วงฤดูใบไม้ผลิของเกาหลีใต้ บรรยากาศในมิวสิกวิดีโอยังเผยให้เห็นหิมะที่ยังคงกองอยู่ตามพื้นแบบประปราย ก่อนจะเปลี่ยนไปยังสวนกลางแจ้ง มีนก ดอกไม้บาน คล้ายกับกำลังสื่อว่ากำลังจะผ่านพ้นฤดูหนาวมาสู่ฤดูใบไม้ผลิ
Feel My Rhythm เป็นเพลงแนว Pop Dance ที่มีการแซมเปิล (การหยิบบางช่วงบางตอนของบทเพลงอื่นมาใช้ทำเพลงใหม่) จากเพลง Air On The G String ผลงานของโยฮันน์ เซบาสเตียน บาค (Johann Sebastian Bach) กวีและนักออร์แกนชาวเยอรมนีที่โด่งดังในช่วงปลายศตวรรษที่ 17 ถึงกลางศตวรรษที่ 18 มาผสมผสานกับดนตรีในยุคสมัยใหม่ ที่ซึลกิมองว่าเป็นเพลงที่ทำให้รู้สึกอบอุ่น ฟังสบาย เหมาะกับช่วงใบไม้ผลิอยู่ไม่น้อย
ไม่เพียงเท่านี้ Soompi เว็บไซต์ภาษาอังกฤษที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับวัฒนธรรมเคป๊อป ยังเคยเขียนคอลัมน์ 11 Red Velvet Songs That Encapsulate Each Season ที่มีมุมมองไม่แตกต่างจากแฟนคลับและแฟนเพลงคนอื่นๆ เท่าไหร่นัก โดยมองว่าเพลง Peek-A-Boo ที่มีทั้งความสดใสและความน่าขนลุก บรรยากาศหม่นๆ ในคืนพระจันทร์เต็มดวง เมื่อฟังแล้วก็ทำให้รู้สึกว่าอยู่ในช่วงฤดูใบไม้ร่วง
เดิมทีพวกเธอมักถูกมองว่าเป็นราชินีฤดูร้อนเพราะเพลง Red Flaver แต่เวนดี้แสดงความคิดเห็นว่า Red Velvet ก็อยากจะถูกจดจำในหลายฤดูกาล เช่นเดียวกับจอยที่ให้สัมภาษณ์ว่านอกจากฤดูร้อน พวกเธอก็อยากถูกเรียกว่าเป็นราชินีช่วงฤดูใบไม้ผลิ และถ้าเป็นไปได้ ก็อยากจะเป็นราชินีในทุกฤดูกาลอยู่เหมือนกัน
ความบังเอิญแบบตั้งใจเหล่านี้ก็นับเป็นอีกหนึ่งเสน่ห์เฉพาะตัวของ Red Velvet
The Story of ReVe
“ไขมันในพุงหมีสีชมพูคือน้องเค้ก?”
“SM พยายามจะบอกกับเราว่าน้องเค้กเกิดจากพุงหมี?”
“ลายเส้นน่ารักมาก สมแล้วที่เป็นสตอรีของคุณหนู Red Velvet”
หลายคนคงเคยได้ยินว่า SM Entertainment กำลังวางโครงสร้าง SM Culture Universe (SMCU) จักรวาลประจำค่ายที่เล่าผ่านศิลปินในค่ายตัวเอง เพื่อเสริมความเข้มแข็งให้กับคอนเซ็ปต์ต่างๆ ที่ศิลปินจะแสดงออกมาในแต่ละการคัมแบค
วันที่ 9 พฤศจิกายน 2022 SM Entertainment เปิดตัวเนื้อเรื่องหลักของ Red Velvet ในจักรวาล SMCU อย่างเป็นทางการชื่อว่า The Story of ReVe-The Comic ใช้คอมมิกสั้นเป็นตัวเล่าเรื่องตั้งแต่จุดเริ่มต้นของ Red Velvet ที่ผ่านเหตุการณ์ต่างๆ เติบโตขึ้นเรื่อยๆ จนถึงปัจจุบัน โดยอ้างอิงมาจากคอนเซ็ปต์อาร์ตการคัมแบคในแต่ละอัลบั้ม และเป็น Original Webtoon เรื่องแรกจากจักรวาล SMCU
คิม อาโรมิ (Kim Aromi) คือผู้วางโครงเรื่องทั้งหมดของ คอมมิก The Story of ReVe เคยฝากผลงานเอาไว้กับหนังสือนิทานชุด Brown & Friends ของ LINE ส่วนผู้สร้างสรรค์ลายเส้นน่ารักๆ คือ ดีดี คัง (DD Kang) ผู้กำกับแอนิเมชันชุด Random! ของ Nickelodeon และผู้กำกับศิลป์ของ Nexon
จะเห็นว่าหมีสีชมพูที่ว่านี้ปรากฏอยู่ใน MV เพลงเดบิวต์ของ Red Velvet มาตั้งแต่แรกนั้นกลายเป็นตัวเดินเรื่องหลักของจักรวาล The Story of ReVe
แรกเริ่มหมีตัวนั้นยังไม่ได้มีรูปร่างเป็นหมี แต่เป็นก้อนกลมๆ ดูนุ่มหยุ่นเท่านั้น โดยเขาได้บังเอิญพบกับเมืองแห่งหนึ่ง ที่คนในเมืองจะเป็นอะไรก็ได้ เช่น ผลไม้ สัตว์หลากหลายสายพันธุ์ หรือแม้กระทั่งกรวยจราจรเดินได้ ซึ่งคนในเมืองกำลังเดินทางไปดูศิลปินที่พวกเขาชื่นชอบอย่าง Red Velvet ทำให้ผู้มาเยือนสีชมพูได้พบกับสาวๆ เป็นครั้งแรก
ก้อนกลมสีชมพูเกิดความคิดที่ว่าหากมีหน้าตาน่ารักกว่านี้ ก็คงจะดึงดูดความสนใจของ Red Velvet ได้ จึงเปลี่ยนรูปร่างตัวเองให้เป็นหมีสีชมพู แต่ระหว่างที่ตามหากลุ่มศิลปิน หมีตัวนี้บังเอิญได้พบความลับบางอย่างว่าตัวเองสามารถดึงเนื้อส่วนท้องของตัวเองมาปั้นเป็นตุ๊กตา เขาจึงปั้นตุ๊กตาผู้หญิง 5 ตัวคล้ายกับ Red Velvet และสร้างโลกจำลองขึ้นมาคล้ายกับการเล่นบ้านตุ๊กตา ซึ่งฉากนี้ล้อไปกับมิวสิกวิดีโอเพลง Rookie ที่หมีสีชมพูคือบุคคลนิรนามที่มีร่างกายเป็นดอกไม้ วิ่งตัดฉากไปมา รวมถึงซีนที่สื่อไปยังการเชิดหุ่นละครในโรงละครของเล่น ที่เมื่อดูแล้วก็ชวนให้รู้สึกขนลุกไม่น้อย
หมีสีชมพูพึงพอใจกับการสร้างตุ๊กตาแล้วจำลองสถานการณ์ต่างๆ เช่น การให้พวกเธอเหมือนออกมาจากโรงงานผลิตตุ๊กตา จัดเสื้อผ้าท่าทางให้สวยงาม ล้อไปกับเพลง Dumb Dumb และเมื่อหมีสีชมพูรู้สึกเศร้าโศกที่ไม่สามารถเอาตัวเองไปร่วมเล่นกับตุ๊กตาไอดอลของเขาได้ เขาก็ร้องไห้อย่างหนักจนน้ำตากลายเป็นน้ำตก ที่ลัฟวี่จะรู้ได้ทันทีว่าตั้งใจให้เหมือนกับฉากหนึ่งในเพลงแสนเศร้าอย่าง One of These Nights รวมถึงอีกหลายฉากที่ปรากฏอยู่ในช่องคอมมิกก็ล้อไปกับทุกมิวสิกวิดีโอของ Red Velvet
แฟนคลับตัวยงรายนี้เชื่อว่าหากเขาใช้จินตนาการส่วนตัวที่ซ่อนอยู่ในจิตใจมากเท่าไหร่ โลกจำลองจากจินตนาการของเขาก็จะยิ่งสมบูรณ์แบบ และสักวัน Red Velvet ตัวจริงจะได้มาเยือนเมืองที่เข้าสร้างขึ้น
กลายเป็นว่าทุกคนล้วนมีความคิดดำมืดหรือความกลัวในบางอย่างซ่อนอยู่ จินตนาการที่ควรจะสดใสกลับกลายเป็นเรื่องสยองขวัญ เขาสร้างสัตว์ประหลาดหลากรูปแบบออกมา เปลี่ยนบรรยากาศที่เคยสดใสกลายเป็นมืดหม่น แต่ในความดื้อรั้นและมั่นใจในตัวเอง ทำให้หมีสีชมพูตัดสินใจกลืนกินสัตว์ประหลาดในใจของตัวเอง จนตัวของเขากลายเป็นปีศาจจริงๆ ไปเสียแล้ว ซึ่งรูปร่างหน้าตาของมอนสเตอร์ตัวนี้ก็เหมือนกับมนุษย์หมาป่าที่อยู่ในเพลง Really Bad Boy
Red Velvet ที่อยู่ในช่วงพักผ่อนตัดสินใจเดินทางมายังโลกแห่งจินตนาการ พวกเธออยากไปเที่ยวทะเล แต่กลับมาโผล่ในเมืองสวนสนุกที่อยู่ในเพลง Zimzalabim ผู้อ่านจะเคยเห็นบรรยากาศเมืองที่เคยสดใส ตอนนี้แปรเปลี่ยนไปคล้ายกับบ้านผีสิง และ Red Velvet จะถูกบังคับให้ซื้อตั๋วเข้าพื้นที่ดังกล่าว ทำให้พวกเธอพยายามดิ้นรนหาทางออกจากเมืองสยองขวัญแห่งนี้
สุดท้ายพวกเธอจะได้พบกับต้นเหตุของเรื่องราวทั้งหมดที่กำลังร้องไห้อย่างหนักเพราะเมื่อกลืนกินจินตนาการตัวเอง เขาก็จะไม่สามารถควบคุมตัวเองได้ แต่ก็สามารถกลับคืนเป็นก้อนกลมสีชมพูดังเก่าได้เพราะความรักและความเข้าใจของ Red Velvet
แม้ว่าจักรวาลของ Red Velvet จะมาช้ากว่าศิลปินร่วมค่ายหลายวง แต่ด้วยเรื่องราวที่ค่อนข้างเฉพาะตัว การใส่ Easter Egg ของมิวสิกวิดีโอเพลงต่างๆ ไว้ในคอมมิก ที่หยิบมาหมดทั้งความสดใสอย่าง Red หรือความลึกลับและดึงดูดอย่าง Velvet ทำให้ The Story of ReVe นั้นกลมกล่อมและโดดเด่นไม่แพ้ใคร
กลายเป็นว่า หากวงรุ่นพี่อย่าง Girl’s Generation มี Cosmic Festa วงน้องสาวอย่าง aespa มี KWANGYA ส่วน NCT ก็มี Neo Culture Technology
ในตอนนี้ Red Velvet ก็มีจักรวาลเป็นของตัวเองที่ชื่อว่า The Story of ReVe แล้วเหมือนกัน
อ้างอิง
– https://www.soompi.com/article/1520396wpp/11-red-velvet-songs-that-encapsulate-each-season
Fact Box
Red Velvet ที่แรกเริ่มมีสมาชิก 4 คน คือ ไอรีน (Irene) ซึลกิ (Seulgi) เวนดี้ (Wendy) จอย (Joy) เปิดตัวอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2014 ด้วยเพลง Happiness (2014) ก่อนจะทำกิจกรรมด้วยสมาชิกสี่คนเรื่อยมาจนถึงเพลง Be Natural (2014) ก่อนในเดือนมีนาคม 2015 ต้นสังกัดจะประกาศเพิ่มสมาชิกคนที่ 5 คือ เยริ (Yeri) ที่ปรากฏตัวครั้งแรกในเพลง Ice Cream Cake (2015)
ในประเทศไทย Red Velvet ถูกเรียกแตกต่างกันไปในหลายชื่อ เช่น น้องเค้ก เค้กแดง (มาจากเค้ก Red Velvet) ราชวงศ์กำมะหยี่ กำมะหยี่แดง (เอาชื่อวงมาผสมกับคอนเซ็ปต์ของวง) ส่วนชื่อแฟนคลับคือ ReVeluv (เรเวเลิฟ) โดยตัวอักษร 4 ตัวของ ReVe มาจาก Red Velvet และ luv ก็หมายถึงความรักที่แฟนๆ ที่สุดท้ายเหล่าแฟนคลับจะเรียกตัวเองด้วยชื่อที่สั้นลงว่า “ลัฟวี่”