การระดมเงินทุนผ่านช่องทาง Initial Coin Offering (ICO) ได้รับความนิยมอย่างมากในรอบปีที่ผ่านมา แม้ในหลายประเทศยังไม่มีการประกาศรับรองอย่างเป็นทางการ
ในปี 2017 การระดมเงินทุนด้วยช่องทาง ICO มีมูลค่ารวมกันเกือบ 6,000 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 180,000 ล้านบาท และในปี 2018 การเติบโตของ ICO ยังคงไม่มีทีท่าว่าจะคลายความร้อนลงจากเดิม โดยในสองเดือนแรกของปี 2018 มีการระดมเงินทุนไปแล้วกว่า 2,000 ล้านดอลลาร์ หรือกว่า 60,000 ล้านบาทเข้าไปแล้ว จากกว่า 260 โครงการ และมีหลายโครงการที่เป็นการระดมเงินทุนขนาดใหญ่ระดับหลายพันล้านบาท ยกตัวอย่างเช่น Bankera ที่วางเป้าหมายการระดมเงินทุนไว้ที่ 177 ล้านยูโร หรือเกือบ 7 พันล้านบาท
ปัจจุบัน แม้การดำเนินธุรกิจยังไม่เห็นความชัดเจนมากนัก แต่ก็สามารถระดมเงินได้แล้วกว่า 60 เปอร์เซ็นต์ ภายใต้การออกเหรียญดิจิทัล หรือ Token ที่ชื่อว่า BNK ซึ่งได้รับการกล่าวขานว่าเป็นการระดมเงินทุนในโลกดิจิทัลที่ใหญ่ที่สุดในสองเดือนแรกของปี 2018
และในปี 2018 นี้ ก็จะมีการระดมเงินทุนจากโครงการขนาดใหญ่อีกหลายโครงการที่น่าจะมีขนาดใหญ่กว่า Bankera อีกมากนัก เช่น Telegram ที่เป็นแอปพลิเคชันพูดคุยที่นิยมในต่างประเทศ ก็ได้วางแผนที่จะทำ ICO สำหรับโครงการ Telegram Open Network ตั้งเป้าหมายในการระดมทุนไว้มากถึง 850 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 27,000 ล้านบาท
ไม่ใช่แค่บริษัทสตาร์ตอัปเท่านั้นที่สนใจระดมเงินทุนผ่าน ICO ล่าสุด ประเทศเวเนซุเอลา ก็ประกาศว่าจะระดมเงินผ่าน ICO โดยออกเหรียญ Token ที่ชื่อว่า Petro ท่ามกลางความสงสัยของของผู้คนทั้งในประเทศและต่างประเทศ
ในประเทศไทยเอง แม้เรื่องของกฎหมายและการกำกับดูแลยังไม่ชัดเจน แต่ก็เริ่มมีบริษัทต่างๆ ทั้งที่อยู่ในและนอกตลาดหลักทรัพย์ออกมาระดมเงินผ่านช่องทาง ICO โครงการที่ได้รับการพูดถึงอย่างมากคือการระดมทุน ICO ของบริษัทลูกของ JMART ซึ่งเป็นบริษัทที่จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ที่ออกเหรียญ Token ที่ชื่อว่า JFIN coin และสามารถระดมเงินได้ตามเป้าหมาย จำนวน 660 ล้านบาท ได้ครบในเวลา 55 ชั่วโมงนับตั้งแต่ที่เปิดขาย Pre-Sale
ด้วยความสำเร็จในการระดมเงินทุนของเครือ JMART และของบริษัทอื่นที่อยู่นอกตลาดหลักทรัพย์ ทำให้เชื่อได้ว่า น่าจะยังมีหลายโครงการที่เตรียมระดมเงินผ่านช่องทางดังกล่าวนี้
การระดมเงินผ่านช่องทาง ICO มีข้อดีต่อผู้ระดมเงินในหลายประการ ที่น่าจะเป็นประโยชน์ที่สุดน่าจะเป็นเรื่องความง่ายและความรวดเร็วในการระดมเงิน เมื่อเทียบกับการระดมเงินทุนในรูปแบบอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นการกู้ธนาคาร การออกหุ้นกู้ หรือการเอาบริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์ อีกทั้งยังเป็นการระดมทุนที่อาจไม่ต้องเสียดอกเบี้ย และไม่เกิดผลกระทบ Dilution effect กับผู้ถือหุ้นเดิม
ในทางกลับกัน ในแง่ของผู้ลงทุน แม้จะมีข้อดีตรงที่ได้เพิ่มทางเลือกการลงทุนให้หลากหลายมากขึ้น แต่ก็ต้องแลกมาด้วยความเสี่ยงทีสูงขึ้นมาก เพราะปัจจุบันยังไม่มีกฎหมายรองรับทำให้ผู้ลงทุนไม่ได้รับความคุ้มครอง ประกอบกับบางโครงการที่ระดมทุนอาจยังเป็นเพียงแนวคิดเริ่มต้นเท่านั้น นอกจากนี้ข้อมูลในเอกสารประกอบการเสนอขาย ICO หรือที่เรียกว่า Whitepaper นั้นก็ไม่แน่ว่าจะมีผลผูกพันตามกฎหมายมากน้อยเพียงใด
ความหลากหลายของเหรียญดิจิทัล
เหรียญดิจิทัล ยังเป็นเรื่องที่ค่อนข้างใหม่ สามารถมีได้หลากหลายรูปแบบ บางครั้งมีชื่อที่แปลความหมายออกมาแล้วไม่ต่างกันมากนัก เช่น Digital asset, Digital coin, Cryptocurrency, Token และอื่นๆ อีกมากมายที่ทำให้สับสนได้ นอกจากนี้ โครงการทั้งระดมเงินทุน ICO ยังมีหมวดหมู่ที่มากมายหลากหลาย เช่น แพลตฟอร์ม เงินคริปโต บริการทางธุรกิจ การลงทุน ซอฟต์แวร์ เรื่องบันเทิง อินเทอร์เน็ต การธนาคาร โครงสร้างพื้นฐาน การสื่อสาร การค้าปลึก สุขภาพ บิ๊กดาต้า อสังหาริมทรัพย์ บ่อนและการพนัน ปัญญาอัจฉริยะ การท่องเที่ยว การศึกษา กีฬา พลังงาน โลกเสมือน งานการกุศล กฎหมาย ศิลปะ ฯลฯ
ถ้าเราพิจารณาเรื่องประโยชน์การใช้งาน (Economic function) ของตัวมันเอง โดยไม่สนว่าจะเรียกชื่อว่าอะไร ก็จะสามารถทำความเข้าใจลักษณะของสิ่งนี้ (ซึ่งต่อไปนี้ขอเรียกรวมๆ ว่าเหรียญดิจิทัล) ได้ชัดเจนขึ้น
Payment token คือเหรียญดิจิทัลที่ใช้ชำระราคา เหรียญดิจิทัลประเภทนี้จะมีวัตถุประสงค์ของการดำรงอยู่เพื่อใช้ในการชำระราคาสินค้าและบริษัท ซึ่งอาจจะสามารถใช้ชำระราคาในปัจจุบันได้เลย (หากมีผู้ยอมรับ) หรืออาจตั้งใจเพื่อใช้ชำระราคาในอนาคตก็ได้ ซึ่ง Payment tokens นี้ หลายคนอาจจะรู้จักในอีกชื่อหนึ่งคือ Cryptocurrency ที่เป็นที่รู้จักมากที่สุดของผู้คนในยุคนี้ก็คือบิตคอยน์ (Bitcoin) และอีเธอเรียม (Ethereum) นั่นเอง
Utility token หรือเหรียญดิจิทัล ที่ใช้ประโยชน์ได้เท่าที่ผู้ออกเหรียญกำหนดเอาไว้ ซึ่งเหรียญดิจิทัล ประเภทนี้จะมีวัตถุประสงค์ของการดำรงอยู่เพื่อให้เข้าถึงแอปพลิเคชัน แพลตฟอร์ม หรือบริการบางอย่างที่ถูกกำหนดเอาไว้ตั้งแต่แรก เช่น ใช้ซื้อไอเท็มในแอปพลิเคชันที่กำหนด หรือใช้ชำระว่าใช้บริการในแพลตฟอร์มที่ถูกสร้างขึ้นมา เป็นต้น
Asset token หรือเหรียญดิจิทัล ที่มีลักษณะคล้ายทรัพย์สิน ซึ่งเหรียญดิจิทัล ประเภทนี้จะมีลักษณะของการเป็นเจ้าของหรือเจ้าหนี้ต่อผู้ที่เสนอขายเหรียญดิจิทัล นั้นๆ ยกอย่างอย่างเช่น ผู้ถือเหรียญดิจิทัลอาจมีสิทธิได้รับส่วนแบ่งจากกระแสเงินสดในอนาคตของโครงการหรือบริษัทผู้ออกเหรียญ ซึ่ง Asset token จะคล้ายคลึงกับตราสารทุนการเงินประเภทตราสารทุน ตราสารหนี้ หรือตราสารอนุพันธ์
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะพอเริ่มเข้าใจสถานะและวัตถุประสงค์ของการดำรงของเหรียญดิจิทัลประเภทต่างๆแล้ว แต่เหรียญดิจิทัลเป็นเหรียญที่ถูกสร้างขึ้นมา แทบไม่มีกฎเกณฑ์ใดๆ กำกับ ดังนั้น Asset และ Utility token บางเหรีญอาจจะสามารถใช้เพื่อการชำระราคาหรือ Payment ก็ได้ ซึ่งก็จะกลายเป็นเหรียญดิจิทัลลูกผสมหรือ Hybrid token ซึ่งอาจมีความซับซ้อนมากขึ้นอีกในอนาคต
การระดมทุนผ่าน ICO เป็นของใหม่ และเป็นเรื่องที่น่าตื่นตาตื่นใจสำหรับผู้ออกเหรียญเพื่อระดมเงินและนักลงทุนจำนวนไม่น้อย แต่ควรพึงระลึกไว้เสมอว่าแม้กระทั่งการลงทุนแบบปกติก็ยังมีความเสี่ยงอยู่แล้ว ยิ่งเป็นการลงทุนในโลกดิจิทัลที่มีความซับซ้อน ประกอบกับกฎหมายที่มีอยู่อาจจะยังไม่รองรับธุรกรรมประเภทนี้มากนัก อีกทั้งสิทธิของนักลงทุนก็ไม่ชัดเจนในทางกฎหมาย
ผู้ที่สนใจจึงควรใช้ความระวังอย่างมากในการลงทุน . . . Know what you own, and know why you own it.
Tags: การลงทุน, Bitcoin, Cryptocurrency, บิตคอยน์, ICO, การระดมทุน, Initial Coin Offering, JFIN