กฎข้อแรกในการลงทุนของผม คือต้องรู้จักของที่เราจะซื้อก่อนที่จะควักกระเป๋าสตางค์ลงทุน มีนักลงทุนหน้าใหม่หลายรายอยากเริ่มต้นเทรดหุ้น แต่ก่อนจะพุ่งทะยานไปฝ่าคลื่นลมในตลาด ลองมาทำความรู้จักหุ้นสามัญกันก่อนดีไหมครับ ว่าเจ้าสินทรัพย์ยอดนิยมนี้คืออะไร แล้วถ้าเราซื้อไปจะได้สิทธิอะไรบ้าง

ก่อนอื่นขอเท้าความย้อนไปเมื่อปี 1599 ในสมัยที่การเดินเรือค้าขายมีความเสี่ยงสูงลิ่วแต่กำไรงาม บริษัทรวมทุนอินเดียตะวันออก (East India Company) ก่อตั้งขึ้นโดยพ่อค้าแนวหน้าแห่งลอนดอนชื่อว่า โจสิอาห์ ไชลด์ (Josiah Child) ที่ระดมเงินทุนจากสาธารณะแล้วสัญญาว่าจะแบ่งปันผลกำไรตามสัดส่วนการลงทุน แต่ถ้าเรือเกิดสาบสูญไปในทะเล ผู้ร่วมลงทุนก็จะไม่เสียเงินมากกว่าเงินทุนที่ลงกับบริษัท (limited liability) แนวคิดดังกล่าวได้รับความนิยมอย่างมาก และเป็นต้นแบบบริษัทมหาชนในปัจจุบัน

ผ่านมา 400 ปี หัวใจของรูปแบบบริษัทดังกล่าวก็ยังอยู่ที่การระดมเงินลงทุนจากสาธารณะเพื่อสร้างการเติบโตของธุรกิจแบบก้าวกระโดด

แม้ว่าบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ของไทยส่วนใหญ่จะเป็นธุรกิจครอบครัวมาก่อน แต่การจะขยายสาขาจำนวนมาก หรือเริ่มลงทุนในต่างประเทศ ต่อให้สายป่านของญาติสนิทมิตรสหายจะยาวแค่ไหน ก็คงไม่สู้เงินลงทุนจากนักลงทุนทั้งรายย่อยและรายใหญ่ในตลาด และสาเหตุที่บริษัทต้องออกขายหุ้น ก็เนื่องจากการขยายหรือริเริ่มธุรกิจใหม่ในปีแรกจำเป็นต้องใช้เงินลงทุนจำนวนมหาศาล และหลังจากนั้น เงินที่ลงทุนไปก็จะค่อยๆ สร้างกำไรคืนกลับมายังบริษัท

เพื่อให้เข้าใจง่าย ลองจินตนาการว่าเรากำลังจะเปิดร้านกาแฟก็ได้ครับ ในปีแรก เราต้องลงทั้งทุน ทั้งออกแบบร้าน สรรค์สร้างเมนู สั่งซื้อวัตถุดิบ ยังไม่นับอุปกรณ์ราคาแพงทั้งเครื่องชง เครื่องดริป เครื่องคั่วกาแฟ กว่าจะเปิดร้านได้ก็อาจต้องลงทุนกันไปเป็นหลักล้าน แต่พอเปิดร้านแล้วอาจจะได้กำไรเดือนละหลักหมื่น ซึ่งต้องใช้เวลาหลายปีกว่าจะคืนทุน

ตัวอย่างกระแสเงินสดจากการลงทุนขยายธุรกิจหรือสร้างโครงการใหม่

การระดมทุนผ่านหุ้นสามัญดูเป็นทางเลือกที่ค่อนข้างน่าดึงดูด เนื่องจากบริษัทแทบไม่มีภาระผูกพันที่ต้องเสียสตางค์จ่ายผลตอบแทนให้ผู้ถือหุ้น ต่างจากการกู้ยืมเงินที่เจ้าหนี้จ้องจะบีบคอเอาดอกเบี้ยให้ได้ตามสัญญา แต่ในทางกลับกัน การลงทุนในหุ้นสามัญก็ย่อมเสี่ยงกว่า เพราะนอกจากบริษัทจะจ่ายเงินปันผลให้เราหรือไม่ก็ได้ หากบริษัทเกิดไปไม่รอด ผู้ถือหุ้นยังเป็นผู้ได้รับผลประโยชน์กลุ่มสุดท้ายจากการขายกิจการ (ซึ่งส่วนใหญ่เจ้าหนี้จะฟาดเรียบจนแทบไม่เหลือซาก)

แต่อย่าลืมประโยคประจำตัวของนักลงทุนอย่างเรานะครับ ว่า “High Risk High Return” – ยิ่งเสี่ยง ผลตอบแทนก็ยิ่งสูง โดยผู้เขียนขอแบ่งผลตอบแทนของหุ้นสามัญออกเป็น 3 สิทธิ ดังนี้ครับ

  • สิทธิในการได้รับปันผล

เมื่อบริษัทที่เราลงทุนมีกำไร เราก็มีสิทธิได้รับส่วนแบ่งกำไรนั้นผ่านการปันผล ส่วนใหญ่มักจะอยู่ในรูปเงินปันผล แต่ก็มีหลายบริษัทที่อาจต้องการเก็บเงินสดไว้เพื่อนำไปลงทุน แล้วปันผลเป็นหุ้นสามัญหรือสิทธิในการซื้อหุ้นแทน

การปันผลเปรียบเสมือนค่าตอบแทนระหว่างทางจากการลงทุนในบริษัท แต่บางทฤษฎีก็ไม่สนับสนุนการจ่ายปันผลนัก เพราะมองว่าจะทำให้มูลค่าหุ้นลดลงเท่ากับเงินที่จ่ายออก และยังตัดโอกาสที่บริษัทจะนำเงินสดเหล่านั้นไปหาโอกาสในการลงทุนต่อ ภายใต้สมมติฐานที่ว่าบริษัทสามารถหาช่องทางในการสร้างผลตอบแทนได้ดีกว่านักลงทุนทั่วไป

บางทฤษฎีไม่สนับสนุนการจ่ายปันผลนัก เพราะตัดโอกาสที่บริษัทจะนำเงินสดเหล่านั้นไปหาโอกาสในการลงทุนต่อ

ในทางกลับกัน นักลงทุนหลายรายกลับชื่นชอบลงทุนในหุ้นที่ปันผลบ่อยครั้ง เพราะมองว่าได้เงินเล็กๆ น้อยๆ กลับคืนมาเป็นค่าขนม โดยไม่ต้องรอได้เงินก้อนใหญ่ทีเดียวจากการขายหุ้นทิ้ง

ข้อควรรู้เกี่ยวกับเงินปันผล คือการขอคืนภาษี เนื่องจากเงินปันผลจะจ่ายออกจากกำไรของบริษัทหลักหักภาษีนิติบุคคล นักลงทุนในฐานะบุคคลธรรมดาจึงไม่มีภาระที่ต้องจ่ายภาษีดังกล่าว เราจึงสามารถขอภาษีในส่วนนั้นคืนได้โดยการยื่นแบบเสียภาษีประจำปีต่อกรมสรรพากร โดยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยมีบริการสรุปข้อมูลเงินปันผลผ่าน TSD Investor Portal ที่เพียงลงทะเบียนก็สามารถดาวน์โหลดข้อมูลไปใช้ได้ในหนึ่งคลิก ไม่ต้องรวบรวมเอกสารมานั่งกรอกให้เสียเวลา

  • สิทธิในฐานะผู้ถือหุ้น

เคยฝันจะเป็นเจ้าของกิจการไหมครับ? แค่คลิกเข้าแอปฯ ซื้อขายหุ้นแล้วเลือกหุ้นที่ชอบ จะเป็นธนาคารยักษ์ใหญ่ หรือร้านสะดวกซื้อที่พบเห็นได้ทั่วกรุงเทพฯ คุณก็สามารถเป็นเจ้าของได้ง่ายๆ แค่ปลายนิ้ว แต่ความเป็นเจ้าของที่ว่ามันอาจจะน้อยแสนน้อย น้อยจนแทบไม่มีผลอะไรต่อการตัดสินใจของบริษัท

แต่ถึงจะน้อยขนาดไหน กฎหมายก็บังคับให้บริษัทมหาชนต้องส่งรายงานและจดหมายเชิญเข้าประชุมผู้ถือหุ้นประจำปี (ซึ่งมักจัดที่บริษัทหรือตามโรงแรมหรู) ซึ่งนักลงทุนรายย่อยอย่างเราๆ ท่านๆ ก็มีสิทธิเข้าร่วมและรับของที่ระลึกได้เช่นกัน รวมทั้งสามารถเสนอมติในที่ประชุม แสดงความเห็น และตั้งคำถามต่อคณะผู้บริหารได้

สิ่งที่เราทำไม่ได้หลังจากกดซื้อหุ้นร้านสะดวกซื้อสัก 1,000 หุ้น คือการเดินอาดๆ เข้าไปสั่งพนักงานในร้านทำนู่นทำนี่ในฐานะผู้ถือหุ้น เพราะบริษัทสมัยใหม่จะแยกความเป็นเจ้าของออกจากการบริหารอย่างเด็ดขาด โดยเรามีสิทธิแค่ ‘ลงคะแนนเสียงตามสัดส่วนหุ้น’ เพื่อเลือกผู้บริหารมืออาชีพมานั่งทำงานในบริษัท ส่วนผู้ถือหุ้นอย่างเรา นอกจากจะได้เข้าไปมีสิทธิมีเสียงอย่างน้อยปีละหนึ่งครั้ง ก็ทำอะไรไม่ได้นอกจากนั่งเฝ้ากระดานเทรด หรือรอรับปันผลจากบริษัท

  • สิทธิในการขาย

หุ้นสามัญก็ไม่ต่างจากสินทรัพย์อย่างอื่น ที่หากเราพอใจจะขาย และมีคนพอใจจะซื้อ ก็สามารถแลกเปลี่ยนกันได้ที่ตลาดเพื่อรับกำไรจากส่วนต่าง ส่วนจะขายเมื่อไหร่ คำตอบแบบกำปั้นทุบดินคือ ขายเมื่อราคาหุ้นสูงกว่าที่ควรจะเป็น

การคำนวณมูลค่าที่แท้จริงของหุ้นมีหลากแนวคิดหลายแนวทาง แต่วิธีที่ได้รับความนิยมมากที่สุดคือการคิดลดกระแสเงินสด (Discounted Cash Flow) ที่มีสมมติฐานว่ามูลค่าของหุ้นนั้นคือผลรวมของกระแสเงินสดที่บริษัทจะสร้างได้ในอนาคต คิดลดกลับมาเป็นมูลค่าปัจจุบัน หักเงินคืนให้เจ้าหนี้ แล้วหารจำนวนหุ้น ก็จะได้มูลค่าต่อหุ้นนั่นเอง

แม้ว่านักวิเคราะห์แต่ละเจ้าจะใช้วิธีการคิดลดกระแสเงินสดเหมือนกัน แต่ก็อาจประเมินมูลค่าหุ้นต่างกันแบบฟ้ากับเหว เนื่องจากการวิเคราะห์ดังกล่าวไม่ต่างจากการคาดการณ์อนาคต ที่ต้องอาศัยความรู้ความเข้าใจในธุรกิจ เทรนด์ตลาด และที่ขาดไม่ได้คือประสบการณ์และวิจารณญาณของผู้วิเคราะห์ซึ่งส่งผลค่อนข้างมาก

หุ้นสามัญตามแนวคิดนี้ ก็คล้ายกับการซื้อความสามารถในการทำกำไรของบริษัท ส่วนนักลงทุนคาดหวังกับบริษัทนี้มากน้อยแค่ไหน เราสามารถดูได้จากอัตราส่วนราคาต่อกำไรสุทธิ (P/E Ratio) ที่คำนวณจากราคาตลาดในปัจจุบันหารด้วยกำไรสุทธิของปีที่ผ่านมา ซึ่งบริษัทในไทย P/E Ratio เฉลี่ยราว 20 หรือนักลงทุนยอมจ่ายเงิน 20 บาทเพื่อซื้อบริษัทที่ทำกำไรต่อหุ้นได้ปีละหนึ่งบาทนั่นเอง ยิ่ง P/E Ratio มาก ก็สะท้อนว่านักลงทุนคาดหวังว่าหุ้นดังกล่าวจะเติบโตอย่างก้าวกระโดด และเป็นหนึ่งในสัญญาณที่บอกว่าหุ้นบริษัทนั้นราคาเริ่มสูงกว่าที่ควรจะเป็น

ยิ่ง P/E Ratio มาก ก็สะท้อนว่านักลงทุนคาดหวังว่าหุ้นดังกล่าวจะเติบโตอย่างก้าวกระโดด และเป็นหนึ่งในสัญญาณที่บอกว่าหุ้นบริษัทนั้นราคาเริ่มสูงกว่าที่ควรจะเป็น

ทั้งสามข้อคือสิทธิขั้นพื้นฐานที่นักลงทุนต้องทำความเข้าใจ ผู้เขียนแถมข้อเตือนใจให้อีกสักหนึ่งข้อที่นักเทรดมือใหม่มักเข้าใจผิด การซื้อหุ้นในตลาดไม่ใช่การซื้อหุ้นดีนะครับ แต่คือการมองหาหุ้นราคาถูกกว่าที่ควรจะเป็น เช่น หุ้นร้านขนมชื่อดังที่เรามองว่าพื้นฐานดี งบการเงินเยี่ยม เติบโตได้ทั่วอาเซียนแน่นอน อย่าลืมว่านักลงทุนทั้งตลาดก็มองแบบเดียวกันและอาจดันราคาสูงจน P/E Ratio เกือบ 100 เท่า (จ่ายซื้อหุ้น 100 บาท แต่บริษัททำกำไรต่อหุ้นได้ปีละหนึ่งบาท) ซึ่งต่อให้บริษัทจะเติบโตดีขนาดไหน ณ ระดับราคาดังกล่าวก็อาจแพงเกินไปอยู่ดี

การหาหุ้นราคาถูกไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเป็นไปไม่ได้นะครับ สำหรับตลาดขาขึ้นแบบนี้ ผู้เขียนขอให้พลังจงสถิตแก่นักลงทุนทุกคนครับ

Did you Know?

คำว่า ‘ผู้ถือหุ้นใหญ่’ ของแต่ละประเทศอาจมีความหมายแตกต่างกันราวฟ้ากับเหว ในประเทศไทย บริษัทส่วนใหญ่จะเติบโตมาจากธุรกิจครอบครัว ทำให้กลุ่มผู้ถือหุ้นใหญ่อาจถือหุ้นมากกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ กล่าวคือสามารถตัดสินใจทุกอย่างเกี่ยวกับบริษัทได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ในทางกลับกัน ผู้ถือหุ้นใหญ่ในสหรัฐอเมริกาอาจถือหุ้นไม่ถึง 10 เปอร์เซ็นต์ เช่น บิล เกตส์ ที่เรามักกล่าวถึงในฐานะเจ้าของบริษัทไมโครซอฟต์ มีสัดส่วนการถือหุ้นในบริษัทที่เขาก่อตั้งเพียง 4 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น การตัดสินใจของเขาจึงอาจไม่มีน้ำหนักมากนัก และจำเป็นต้องโน้มน้าวนักลงทุนราวอื่นๆ ให้คล้อยตาม

Fact Box

ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยถือเป็นตลาดรอง หมายถึงตลาดสำหรับซื้อขายหุ้นระหว่างนักลงทุนกับนักลงทุน โดยที่เงินจะไม่ได้เข้ากระเป๋าบริษัทแต่อย่างใด การระดมทุนผ่านตลาดหลักทรัพย์ของบริษัทจะแบ่งกว้างๆ เป็นสองประเภท คือ การจำหน่ายหุ้นต่อสาธารณะเป็นครั้งแรก (Initial Public Offering) หรือที่เราคุ้นหูว่า IPO และการออกหุ้นเพิ่มทุนสำหรับบริษัทที่ซื้อขายกันอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ (Seasoned Equity Offerings) สองลักษณะนี้เท่านั้นที่เงินจะเข้ากระเป๋าของบริษัทจริงๆ

อ้างอิง

The Economics Book – Let Firms be Traded (หน้า 38)

Stocks Basics: What Are Stocks?

P/E Ratio คืออะไร

Tags: , , , , ,