ผมเพิ่งได้ไปเยี่ยมเยียนเมืองที่แทบจะเรียกได้ว่า ‘ศักดิ์สิทธิ์’ ที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศอินเดีย

‘พาราณสี’ พูดกันตามตรง ผมมีความผูกพันมากกับเมืองโบราณแห่งนี้ อาจเพราะผมสนใจศึกษาเรื่องเกี่ยวกับพระศิวะ ผู้เป็นเจ้าแห่งเมืองนี้ รวมทั้งเพื่อนๆ พี่ๆ น้องๆ ณ เมืองแห่งนี้ แต่สิ่งหนึ่งที่ผมมักจะรู้สึกทุกครั้งเวลาได้เดินทางไปยืนบนฆาต (สถานที่เผาศพ) ริมแม่น้ำคงคา ณ เมืองนี้คือ

ผมมาถึงจุดสิ้นสุดแล้ว ความทุกข์ความโศกทั้งหลายของผมในช่วงชีวิตนั้น มาถึงจุดสิ้นสุดแล้ว 

พาราณสีเมืองแห่งแสงสว่าง 

เมืองพาราณสีตั้งอยู่ ณ ริมฝั่งแม่น้ำคงคา รัฐอุตตรประเทศ ประเทศอินเดีย จากการศึกษาทางโบราณคดีพบว่า เมืองพาราณสีมีการอยู่อาศัยอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ 2,000 ปีก่อนคริสตกาล (ประมาณ 4,000 ปีมาแล้ว) โดยมีการขุดค้นทางโบราณคดีในหลายพื้นที่ของเมือง เช่น บริเวณป้อมรามนคร (Ramnagar Fort) และเขตอกาถะ (Akatha) โดยทีมนักศึกษา คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยบาณารัสฮินดู (Banaras Hindu: BHU) นำโดย ศาสตราจารย์วิทูละ ชยสวัล (Vidula Jayaswal) พบเครื่องปั้นดินเผา ตุ๊กตาดินเผา บางชิ้นมีเศษเชือกถักจากหญ้าผูกอยู่ ทำให้นักโบราณคดีสามารถนำไปกำหนดอายุทางวิทยาศาสตร์ได้ราว 2,000-1,800 ปีก่อนคริสตกาล การค้นพบนี้จึงทำให้พาราณสีนับเป็นเมืองที่เก่าแก่ที่สุดที่ยังมีการอยู่อาศัยต่อเนื่องในลุ่มแม่น้ำคงคา 

ในทางนิรุกติศาสตร์เชื่อมโยงคำว่า ‘พาราณสี’ เข้ากับชื่อ ‘วรุณ’ สาขาของแม่น้ำคงคาที่ก่อตัวเป็นอาณาเขตของเมือง ซึ่งไหลอยู่ทางตอนเหนือของเมืองพาราณสี ปัจจุบันสายน้ำสาขานั้นตื้นเขินเหลือเป็นเพียงลำธารเล็กๆ ใกล้กับท่าน้ำอัสซี (Assi Ghat) โดยเมืองนี้ยังถูกขนานนามว่า ‘กาศี’ ตามข้อความในมหาภารตะ ชื่อกาศีนี้เชื่อว่ามาจากรากศัพพ์ภาษาสันสกฤตคือ ‘กาศ’ ซึ่งแปลว่า ‘ส่องสว่าง’ ฉะนั้นเมืองกาศีจึงหมายถึง ‘เมืองแห่งแสง’ ซึ่งในปัจจุบันเราจะสามารถเข้าใจถึงความสุกสว่างนั้นได้เป็นอย่างดีในช่วงเทศกาลดิวาลี (Diwali Festival) ที่เมืองโบราณแห่งนี้จะเต็มไปด้วยแสงไฟจากตะเกียงนับล้านดวงตลอดเทศกาล

ที่มา: AFP

อย่างที่กล่าวข้างต้น ชาวฮินดูนับถือพาราณสีอย่างมากในฐานะ 1 ใน 7 เมืองศักดิ์สิทธิ์ (สัปตะปุรี; Sapta Puri) เช่น อโยธยา เมืองแห่งพระราม และมถุรา เมืองแห่งพระกฤษณะ สำหรับพาราณสีคือบ้านของพระศิวะ โดยเชื่อว่าเมืองแห่งนี้เป็นสถานที่ที่พระศิวะทรงหลุดพ้นจากคำสาปของพระพรหมา หลังจากทรงตัดเศียรที่ 5 ของพระพรหมา เมื่อทรงสรงน้ำ ณ โค้งน้ำคงคาของเมือง ขณะนั้นพระศิวะทรงสถิตอยู่ ณ เมืองแห่งนี้ในลักษณะของศิวลึงค์ชื่อ ‘กาศีวิศวนาถ’ (Kashivishvanath) ที่ถือเป็น 1 ใน 12 มหาชโยติลิงค์ของพระศิวะในอินเดีย เทวาลัยแห่งพระกาศีวิศวนาถจึงกลายเป็นศูนย์กลางที่สำคัญมากที่สุดของพาราณสี และกลุ่มผู้นับถือพระศิวะ (ไศวนิกาย) ทั่วทั้งอินเดีย 

ความยิ่งใหญ่ของกาศีวิศวนาถ สะท้อนชัดอยู่ในขนบธรรมเนียมการแสวงบุญสุดอลังการของชาวฮินดูที่เรียกว่า ‘กาศีวิศวนาถ-ราเมศวรัม’ โดยในการแสวงบุญนี้จะตักน้ำจากเมืองหนึ่งไปสรงศิวลึงค์อีกเมืองหนึ่ง เช่น ถ้าเริ่มเดินจากเมืองราเมศวรัม ผู้แสวงบุญก็จะตักน้ำจากเมืองนั้น ก่อนจะเดินมาสรงพระกาศีวิศวนาถ แล้วตักน้ำคงคาจากเมืองพาราณสีกลับไปสรงพระศิวลึงค์ประจำเมืองราเมศวรัม การแสดงบุญนี้ฟังดูเหมือนง่าย แต่จริงๆ แล้วทั้ง 2 เมืองมีระยะห่างกันหลายพันกิโลเมตรจากเหนือสู่ใต้ 

จุดสุดท้ายที่กาศี

อย่างที่บอกไปแล้ว ทุกครั้งที่เดินทางไปพักที่เมืองแห่งนี้ ผู้เขียนมักจะรู้สึกว่า เรื่องราวร้ายๆ ใกล้จะจบลงแล้ว ราวกับว่าคงคาได้ชำระล้างสิ่งต่างๆ นั้นจนหมดไป มันเป็นความรู้สึกที่อธิบายไม่ถูกว่ามีที่มาที่ไปอย่างไรกันแน่ แต่สำหรับชาวอินเดีย เมืองพาราณสีนอกจากจะเป็นบ้านของพระศิวะอันพึงเดินทางมาเพื่อแสวงบุญแล้ว เมืองแห่งนี้ยังเป็นจุดหมายปลายทางสุดท้ายที่พวกเขาคาดหวังกันด้วย 

ใช่แล้ว พวกเขาหวังว่าจะ ‘ตาย’ ณ เมืองแห่งนี้ 

ชาวอินเดียเชื่อว่า ณ เมืองกาศีแห่งนี้ พระศิวะทรงหลุดพ้นทางคำสาป แม่น้ำคงคา ณ จุดนี้จึงมีความศักดิ์สิทธิ์กว่าบริเวณอื่น เพื่อนชาวอินเดียบางคนอธิบายว่า แม่น้ำคงคาโดยปกติจะไหลเชียวอยู่ตลอดเวลา แต่บริเวณเมืองพาราณสีคงคาจะไหลเอื่อยเสมอ แม้จะเป็นโค้งน้ำก็ตาม ผู้คนจำนวนมากทุกชนชั้นจึงนิยมมาตาย ณ เมืองพาราณสี

มีการกล่าวกันว่า จำนวนศพที่ถูกหามกันมาเผาในแต่ละวันตลอด 24 ชั่วโมง จุดต่อเนื่องกันไม่มีวันดับเป็นระยะเวลากว่า 5,000 ปีจวบจนถึงปัจจุบัน จนทำให้เมืองพาราณสี ซึ่งในอดีตเป็นเมืองหลวงของแคว้นกาศี ถูกเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า ‘เมืองแห่งความตาย’ และยังขนานนามว่า ‘นครแห่งแสงไฟ’ จากแสงไฟอันเกิดจากการเผาศพ

ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลทางธรรมชาติหรือเทวตำนาน การตาย ณ เมืองแห่งการไถ่บาปนี้จึงเป็นความฝันอย่างยิ่งของชาวฮินดูทั่วทั้งอินเดีย ถึงขนาดที่ว่ามีที่พักมากมายเพื่อรองรับผู้คนในวาระสุดท้ายของชีวิต 

‘กาสีลาภมุกติภวาน’ (Kashi Labh Mukti Bhawan) หรือสถานแห่งการไถ่ สถานพักผ่อน 2 ชั้น สร้างขึ้นเป็นอาคารในสไตล์อาณานิคม (Colonial-era Building) รับรองผู้คนในช่วงท้ายของชีวิตราว 20 คนต่อเดือน มุกติภวานเปิดให้บริการมาตั้งแต่ปี 1958 โดยครอบครัวดัลเมีย (Dalmia) รวมกับเงินบริจาคจากผู้คนมากมาย เพื่อช่วยเหลือคนทุกชนชั้นจากทุกมุมของอนุทวีป โดยที่ผ่านมามีผู้มาเสียชีวิตที่นี่แล้วไม่น้อยกว่า 1.5 หมื่นคน

ทั้งนี้ผู้จะเข้าพักที่โรงแรมแห่งนี้มีข้อจำกัดคือ สามารถใช้เวลาอยู่ที่นี่ได้เพียงแค่ 2 สัปดาห์ หากผู้เข้าพักไม่จากไป ทางผู้จัดการโรงแรมจะขอความร่วมมือจากญาติให้นำผู้เข้าพักกลับไปก่อน แล้วอาจจะกลับมาใหม่ในภายหน้า โดยผู้ที่จะจากไปส่วนใหญ่เป็นผู้ที่แพทย์วินิจฉัยแล้วว่า ไม่สามารถรักษาต่อได้ คนนั้นไม่สามารถรับยาหรือรับประทานอาหารได้อีกต่อไปแล้ว 

เมื่อเข้าพักแล้ว ในทุกเช้าจะมีบัณฑิตผู้รู้ในพิธีกรรมนำการสวดมนต์และประพรมน้ำจากแม่น้ำคงคาให้กับแขกทุกท่าน เพื่อเป็นการชำระล้างบาปของผู้ใกล้จะจากไป และในทุกเย็นบัณฑิตผู้ดูแลก็จะสวดกิรตัน (Kirtan) สรรเสริญพระเป็นเจ้า เพื่ออวยพรแก่ผู้กำลังจะจากไปเช่นกัน 

กระนั้นโรงแรมแห่งนี้ก็มีกฎระเบียบเล็กน้อย ซึ่งผู้ที่ต้องการเข้ามาใช้งานจะต้องทำตาม ดังนี้ 

1. ผู้จะตายต้องเป็นชาวฮินดูเท่านั้น

2. ผู้จะตายจะต้องเชื่ออย่างสนิทใจว่า การตายที่กาศีจะไถ่บาปให้คุณได้

3. ไม่ขอรับผู้ป่วยโรคติดต่อร้ายแรง

4. หากผู้เข้าใช้บริการถูกจับได้ว่ากระทำความผิดที่เป็นบาป เช่น มีเซ็กซ์หรือกินเนื้อสัตว์ จะต้องถูกเชิญออกจากบริเวณที่พัก

5. ผู้เข้าพักไม่เสียค่าบริการ จะเสียเพียงแค่ค่าไฟฟ้าเป็นเวลา 15 วันเท่านั้น

6. ญาติของผู้เข้าพักต้องจัดการเรื่องอาหารการกินเอง

บัณฑิตผู้ดูแลจะคอยเดินดูสถานการณ์อยู่ตลอดเพื่อประเมินว่า ผู้ที่เข้าพักใกล้จะจากไปหรือยัง ฉะนั้นการได้ยินว่า “อีกไม่นานพ่อ-แม่ของคุณก็จะจากไปแล้ว” จึงเป็นเรื่องปกติธรรมดามากสำหรับที่นี่ ผู้คนไม่ได้มองว่าการตายที่นี่เป็นเรื่องน่าเศร้า แต่กลับเป็นเรื่องน่ายินดีของผู้คนที่กำลังจะไปสู่พระเป็นเจ้า

อีกทางหนึ่งเปรียบได้กับการแต่งงานมากกว่า เพราะวิญญาณของผู้ตายกำลังจะได้แต่งงานกับพระเจ้าที่พวกเขาบูชาในอีกไม่ช้า ช่างเป็นการเดินทางที่น่ายินดีเสียนี่กะไร อย่าเศร้าไปเลย นี่ไม่ใช่จุดจบ แต่เป็นการเริ่มต้น การเริ่มต้นในอ้อมกอดของพระเจ้า

เมื่อพวกเขาเหล่านั้นจากไปแล้วบัณฑิตจะดำเนินพิธีกรรมสุดท้ายให้ก่อนญาติจะเข้ามาดำเนินการจัดการศพไปยัง ‘ฆาต’ (Ghat) ท่าน้ำเผาศพต่อไป (เป็นที่มาของสำนวน ‘ถึงฆาต’ ในภาษาไทย) 

ที่มา: AFP

ฆาต: สู่การหลุดพ้นริมแม่น้ำคงคา

พิธีกรรมการเผาศพริมฝั่งแม่น้ำคงคาของเมืองพาราณสีเป็นพิธีกลางแจ้ง โดยมี 2 ฆาตสำคัญที่ไว้ประกอบพิธีคือ มณิกรรณิการ์ฆาต (Manikarnika Ghat) และหริศจันทร์ฆาต (Harishchandra Ghat) แต่จริงๆ ฆาตในเมืองพาราณสีนั้นมีมากมายถึง 84 ฆาต 

พิธีศพในศาสนาพราหมณ์เรียกว่า ‘อันตเยษฏิ’ หรือ ‘อันตกรณะ’ หมายถึง ‘บูชายัญสุดท้าย’ จากทั้งสิ้น 16 ประการ เช่น เข้าสู่วัยเรียนและเข้าสู่วัยแต่งงาน นับตั้งแต่เกิดไปจนตาย ขั้นตอนที่สำคัญที่สุดในการปลงศพของชาวฮินดูคือ การเผาศพ เพื่อนำศพของผู้ตายไปเผาบริเวณฆาต ระหว่างทางญาติจะขับมนต์ไปตลอดทางว่า ‘รามนามสัตยะไฮ’ (Ram Nam Satya Hai) แปลว่า ‘ชื่อพระรามองค์เดียวเท่านั้นที่เป็นความจริง’ หรืออาจแปลได้ว่า ‘พระนามแห่งพระเป็นเจ้าคือความจริง’

ก่อนพิธีกรรมเผาศพจะเริ่มต้นขึ้น ศพผู้ตายจะถูกนำไปจุ่มลงในแม่น้ำคงคา (หรือแม่น้ำศักดิ์สิทธิ์ในชุมชนของตน) อีกครั้งหนึ่ง เจ้าหน้าที่จะนำกองฟืนซึ่งส่วนใหญ่เป็นไม้มะม่วง หรือหากมีทรัพย์มากอาจใช้ไม้หอมเช่นไม้จันทร์หอม ซึ่งเตรียมมาจัดวางบนแผ่นปูนแล้วจึงนำศพมาตั้งวางไว้ จากนั้น โดม ราชา (Dom Raja) หรือผู้ดูแลไฟเผาศพ จะเดินรอบกองฟืนที่ศพตั้งอยู่ 3 รอบ พร้อมทั้งนำของ 10 อย่าง ได้แก่ ข้าวบาเลย์ งา แป้งข้าวเจ้า น้ำมันเนย ธัญพืช และปัญจเมวะ (Panchamewa: ผลไม้แห้ง 5 อย่าง) ซึ่งจะนำใส่กองฟืนเพื่ออุทิศแก่ผู้ตาย เรียกว่า ทศัง (Dasang) และอัษตคันธะ (Astagandha) เครื่องหอม 8 อย่าง เช่น ไม้จันทน์ เนย ไม้กะเพรา ฯลฯ ซึ่งการอุทิศในพิธีนี้แก่ผู้ตายไม่ได้มีรูปแบบที่แน่นอนอยู่ที่ดุลพินิจของญาติในการปลงศพครั้งสุดท้าย จากนั้นโดม ราชาจะเป็นผู้จุดเผาตรงปากของผู้ตายเป็นอันดับแรกและบริเวณกองฟืนทั้งหมด เพื่อให้ไฟศักดิ์สิทธิ์ได้ทำหน้าที่ชำระล้างบาปผู้ตายเป็นครั้งสุดท้าย

ที่น่าสนใจคือ จะมีหม้อดินเผาใส่น้ำใบหนึ่ง ก่อนจะเผาศพผู้เผาจะทุบหม้อน้ำนี้และวางไว้ข้างศีรษะผู้ตาย (คล้ายทุบมะพร้าวในบ้านเรา) และเมื่อเผาไหม้แล้วจะทำพิธีกปาลกิริยาคือ ใช้ไม้ไผ่เจาะกะโหลกให้เป็นรูหรือแตก เพื่อให้ดวงวิญญาณออกจากร่างกาย หลังจากเผาศพเสร็จเรียบร้อยแล้ว ครอบครัวหรือผู้ประกอบพิธีจะนำอัฐิไปลอยน้ำ ในระหว่างนั้นต้องถวายอาหารและน้ำแก่ผู้ตายอย่างน้อย 3 วันทั้งเช้าและเย็น และต้องไว้ทุกข์อย่างน้อย 10-16 วัน โดยกินแต่อาหารมังสวิรัติ ที่ไม่มีเกลือปรุงรส ไม่ใส่หัวหอมและกระเทียม ทั้งต้องทำบุญให้ทานตลอดช่วงนั้น องค์ประกอบที่สำคัญอีกสิ่งหนึ่งของพิธีศพคือ ญาติฝ่ายชายจะต้องโกนศีรษะ (เหลือปอยที่ท้ายทอยไว้สำหรับเป็นมวยผม เรียกว่า ศิขา)

ตรงนี้ทำให้เป็นที่พูดกันเล่นๆ ว่า เพราะคนมาตายที่พาราณสีเยอะทำให้มีขอทานอยู่ที่เมืองแห่งนี้เยอะไม่ต่างจากวัวคือ ไปตรงไหนก็จะเจอขอทานมารอรับทานจากญาติผู้ตายที่จะต้องทำบุญอุทิศให้กับผู้วายชนม์ หากมองในมุมหนึ่งมันก็คือ การค้ำจุนสังคมผ่านระบบศาสนาที่สอนให้แบ่งปัน แต่หากมองอย่างเป็นธรรมและเป็นจริง ผู้เขียนเห็นว่า มันคือการเอาปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคมไปซุกไว้ใต้พรหม 

สำหรับชาวฮินดู การตายเป็นเพียงการเปลี่ยนผ่านไปสู่ภพภูมิอื่น ก่อนกลับมาเวียนว่ายในสังสารวัฏจนกว่าจะบรรลุโมกษะ เหมือนการเปลี่ยนเสื้อผ้าใหม่ก็เท่านั้น ผู้ตายอาจไปสู่โลกของบรรพบุรุษหรือปิตฤโลก (โลกของเทพบิดร) กลายเป็นปิตฤ (ผีบรรพชน) หรือหากมีศรัทธากล้าอาจได้รับพระกรุณาจากพระเจ้าให้ไปสู่ไวกุณฑโลกของพระวิษณุ หรือสวรรค์ของเทพเจ้าที่ตนนับถือโดยมิต้องกลับมาเวียนว่ายตายเกิดอีก ในประเด็นนี้เมืองพาราณสีเข้ามามีบทบาทสำคัญ เพื่อชาวฮินดูผู้ศรัทธาเชื่อว่า แม่น้ำคงคามีอิทธิฤทธิ์ในการชำระล้างบาปของผู้คนได้อย่างหมดสิ้น ชาวฮินดูจึงเชื่อว่าหากได้ตายลงแม่น้ำคงคา พวกเขาจะหลุดพ้นออกจากวังวนแห่งการเวียนว่ายตายเกิดและไปสู่โมกษะ 

เมื่อมองย้อนกลับมาดูตัวเอง กลิ่นประทีป กำยาน เครื่องบูชา ระคนด้วยควันไฟจากเชิงตะกอน ขับขานด้วยเสียงน้ำคงคาที่ไหลไปอย่างไม่รู้วันคืน และเสียงแตรรถอันดังสนั่น องค์ประกอบเหล่านี้อาจเป็นที่มาที่ไปสำหรับความรู้สึกของผมที่มีต่อเมืองนี้ เมืองที่เป็นทั้งจุดเริ่มและจุดจบของชีวิตและวัฒนธรรมอินเดียอันยาวนาน เมืองที่เมื่อผมทุกข์ใจก็อยากจะกลับไปทุกครั้ง เมืองที่เป็นเหมือนสถานที่พักกายและใจของผม เมืองที่อุดมไปด้วยความผูกพันระหว่างตัวผม ผู้คน เมือง และพระเป็นเจ้า

ผมเลือกเรื่องราวของเมืองกาศีมาเป็นเรื่องส่งท้ายปี 2024 ด้วยความตั้งใจที่จะส่งมอบความรู้สึกส่วนตัวบางประการให้กับคุณผู้อ่านทุกคน ผมขอขอบคุณผู้อ่านทุกคนที่ติดตามอ่านคอนเทนต์เกี่ยวกับวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ และโบราณคดีอินเดียมาตลอดทั้งปีที่กำลังจะผ่านไปนี้ ขอให้พระเจ้าผู้ทรงนามกาศีวิศวนาถทรงโปรดอวยพรทุกคน และหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ทุกข์โศกของท่านทั้งหลายจะมลายสิ้น ณ ปลายฆาตแห่งเมืองกาศี 

โมกษะ เฮา โมกษะ เฮา (Moksha hua Moksha hua) – สู่การหลุดพ้น สู่การหลุดพ้น!

 

ที่มา:

Cunningham, Alexander; Sastri, Surendranath Majumdar. (2002). Ancient Geography of India. Delhi: Munshiram Manoharlal.

Sharma Aabhas. (2024). Banaras (Inde): new archaeological excavations are going on to determine the age of Varanasi access through http://www.business-standard.com/article/specials/how-old-is-banaras-114051501029_1.html

Sunita Pant Bansal. (2008). Hindu Pilgrimage. Delhi: Pustak Mahal. 

อาชว์ภูริชญ์ น้อมเนียน. (2567). ความเชื่อเบื้องหลังพิธีเผาศพของชาวอินเดีย สู่สถิติเผาริมฝั่งแม่น้ำคงคา 35,000 ศพต่อปี เข้าถึงจาก https://www.silpa-mag.com/culture/article_30615

Tags: , , ,