กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว พระราชาหนุ่มพระองค์หนึ่งเสด็จไปทรงศึกษาศิลปวิทยาการ ณ เมืองริมทะเลสาบ ครั้งหนึ่ง พระองค์เสด็จประพาสชานเมืองมหานครแห่งแสงสี ที่แห่งนั้นเป็นที่ตั้งของปราสาทเก่าแก่ ทรงพบรักกับเจ้าหญิงรูปงามในครานั้น แล้วทั้งสองก็ครองรักกันชั่วนิรันดร์

นี่อาจจะเป็นโครงเรื่องของเทพนิยายชวนฝัน ใครจะรู้ว่าเรื่องราวดังกล่าวเคยเกิดขึ้นจริง แม้มิได้ฟู่ฟ่าฟุ้งฝันเหมือนกับเรื่องราวในนิยาย แต่ก็เรียบง่าย น่ารัก และเป็นที่จดจำไปแสนนาน

ท่านผู้หญิงเกนหลง สนิทวงศ์ ณ อยุธยา นางสนองพระโอษฐ์ในสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 เล่าถึงการพบกันครั้งประวัติศาสตร์ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชกับสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถในรัชกาลที่ 9 ไว้อย่างน่าสนใจ

ย้อนกลับไปเมื่อปี 2491 ‘สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช’ พระมหากษัตริย์ที่ยังมิได้ผ่านพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระชนมพรรษา 20 พรรษา ทรงศึกษาอยู่ที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการกลับมารับหน้าที่อันยิ่งใหญ่ คือการดำรงตำแหน่งประมุขของชาติ

ครั้งหนึ่งทรงว่างจากพระราชภาระ จึงมีพระราชประสงค์จะเสด็จฯ เป็นการส่วนพระองค์ไปทอดพระเนตรโรงงานต่อรถยนต์ ณ เมืองฟงแตนโบล (Fontainebleau) เมืองเก่าแก่ร่มรื่นแห่งแคว้นอีล-เดอ-ฟร็องส์ (Île-de-France) ซึ่งตั้งอยู่ทางตะวันออกเฉียงใต้ของกรุงปารีส ห่างจากศูนย์กลางนครหลวงแห่งฝรั่งเศสราว 55 กิโลเมตร เมืองนี้เป็นที่รู้จักในฐานะผืนป่าล่าสัตว์อันอุดมของเหล่าปารีเซียงผู้มีอันจะกินในอดีต และเป็นที่ตั้งของพระราชวังฟงแตนโบล (Château de Fontainebleau) พระราชวังที่ยิ่งใหญ่และเก่าแก่อันดับต้นๆ ของฝรั่งเศส

หม่อมเจ้านักขัตรมงคล กิติยากร (พระยศในขณะนั้น) ผู้ดำรงตำแหน่งอัครราชทูตประจำกรุงปารีสในสมัยนั้น มีหน้าที่ในการเฝ้ารับเสด็จฯ หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร พระธิดาของท่าน จึงได้รับโอกาสให้ตามมารับเสด็จฯ ด้วย ในวันนั้น หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ สาวน้อยผู้มีอายุ 15 ปี และใฝ่ฝันจะเป็นนักเปียโนอาชีพ แต่งกายด้วยชุดสูทสีเนื้อ รวบผมเป็นเปียเดี่ยวยาวถึงกลางหลัง

ก่อนหน้านั้น ดูเหมือนว่าสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ทรงถูกกะเกณฑ์ให้ทรง ‘เลือกคู่’ เหมือนพระราชาในนิทานอยู่เหมือนกัน ท่านผู้หญิงเกนหลงเล่าว่ามีพระบรมวงศ์ผู้ใหญ่ได้รวบรวมรายพระนามพระราชวงศ์และรายนามสุภาพสตรีผู้มีคุณสมบัติเพียบพร้อมเหมาะสมสำหรับตำแหน่งพระราชินีในอนาคต ทูลเกล้าฯ ถวายเพื่อทรงทราบ แต่ในบัญชีรายชื่อนั้น ไม่ปรากฏนาม หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร แต่อย่างใด

เป็นที่รู้กันว่าสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุยเดชทรงเป็นผู้ตรงต่อเวลายิ่ง แต่ก็มีเหตุให้การรอรับเสด็จฯ ครั้งแรกของหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ยาวนานเป็นพิเศษ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จฯ ล่าช้ากว่าหมายกำหนดการถึง 3 ชั่วโมง ด้วยเพราะรถยนต์พระที่นั่งที่ค่อนข้างจะเก่านั้นขัดข้องระหว่างทาง ต้องใช้เวลานานพอสมควรกว่าจะแก้ไขได้สำเร็จ

สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ พระราชทานสัมภาษณ์กับสถานีโทรทัศน์บีบีซีเมื่อปี 2521 ถึงการพบกันครั้งนั้นว่าเป็น “Hate at first sight” มากกว่า “Love at first sight”

ในขณะที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงโทรศัพท์ถึงสมเด็จพระราชชนนี เมื่อสมเด็จพระราชชนนีทรงรับสั่งถามถึงลูกสาวท่านทูตที่ได้พบกันในวันนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงรายงานว่า “เห็นแล้ว น่ารักมาก”

แม้เหตุการณ์จะผ่านไปเนิ่นนานแล้ว เมื่อรับสั่งถึงเหตุการณ์ในวันนั้น พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมักจะทรงล้อสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ว่า “เดินตุปัดตุเป๋ หน้างอคอยถอนสายบัว”

ดอกรักผลิดอกที่ฟงแตนโบล แย้มบานหมดจดในพระราชพิธีราชาภิเษกสมรส ในวันที่ 28 เมษายน 2493 เมื่อ 67 ปีที่แล้ว

ย้อนกลับไปเมื่อคริสต์ศตวรรษที่ 12 กษัตริย์แห่งฝรั่งเศสสร้างพระราชวังฟงแตนโบล และดัดแปลง ต่อเติม บูรณะเรื่อยมาทุกยุคทุกสมัย พระราชวังแห่งนี้ได้ชื่อว่าเป็นจุดกำเนิดศิลปะเรอแนซ็องส์ (Renaissance) ในฝรั่งเศส ด้วยพระเจ้าฟร็องซัวที่ 1 (François I) ผู้ปกครองฝรั่งเศสในช่วงปี 1515-1147 เป็นผู้อุปถัมป์อัครศิลปินเรอแนซ็องส์ชาวอิตาเลียน เล่ากันว่าผลงานภาพเหมือนหญิงสาวของศิลปินผู้นั้นแขวนอยู่ในห้องสรงของพระราชวังฟงแตนโบลเป็นที่แรก ผลงานอมตะนิรันดร์กาลชิ้นนั้นก็คือ Mona lisa ฝีมือ เลโอนาร์โด ดา วินชี (Leonardo di Vinci) ที่อวดโฉมท้าทายสายตาชาวโลกครั้งแรก ณ ที่นี้

หลังจากถูกทิ้งร้างหลังการปฏิวัติฝรั่งเศส จักรพรรดินโปเลียน (Napoleon) เป็นผู้คืนชีวิตชีวาให้ปราสาทแห่งนี้อีกครั้ง พระองค์รู้สึกผูกพันลึกซึ้งกับพระราชวังแห่งนี้เป็นพิเศษ และที่ลานหน้าปราสาทแห่งนี้นี่เองที่พระองค์กล่าวอำลากองทหารหลังจากพ่ายแพ้สงคราม และถูกเนรเทศไปยังเกาะไกลโพ้น ปิดฉากตำนานจักรพรรดิผู้เกรียงไกรแห่งยุคสมัย ลานแห่งนั้นจึงมีชื่อเรียกแสนเศร้าว่า ‘cour des adieux’ (ลานแห่งการอำลา)

หลังจากนั้นราวครึ่งศตวรรษ ณ ราชอาณาจักรสยาม ตรงกับรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 พระมหากษัตริย์ผู้ทรงเปี่ยมล้นไปด้วยความเป็น Renaissance man พระองค์มีความพยายามอย่างยิ่งยวดในการ ‘ฟื้นฟูศิลปวิทยาการ’ ในทุกๆ ด้าน ความร่มเย็นเป็นสุขแบบ ‘สุโขทัย’ รวมไปถึงความรุ่งเรืองเฟื่องฟูแบบ ‘อยุธยา’ เป็นสิ่งที่พระองค์ปรารถนา

ทั้งนี้ทั้งนั้น สิ่งดังกล่าวจะต้องผสมผสานเป็นหนึ่งเดียวกับองค์ความรู้ก้าวหน้า อันจะพารัฐนาวาสยามล่องไปสู่ความเป็นสากล ในสมัยนั้นจึงมีการฟื้นฟูความสัมพันธ์กับฝรั่งเศส ซึ่งขาดช่วงไปราว 160 ปี หลังจากที่สมเด็จพระนารายณ์มหาราชส่งคณะราชทูตไปเจริญสัมพันธ์ไมตรีกับฝรั่งเศส และได้เข้าเฝ้าพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 (Louis XIV) ณ พระราชวังแวร์ซาย (Château de Versailles) การเดินทางครั้งนั้นเป็นตำนานกล่าวขานโจษจันกันมาเนิ่นนาน จนกระทั่งในหลวงรัชกาลที่ 4 ทรงจัดการส่งราชทูตไปเฝ้าพระเจ้าแผ่นดินฝรั่งเศสอีกครั้งเมื่อปี 2404 คณะทูตข้ามน้ำข้ามทะเลจากพระนครไปสู่แผ่นดินฝรั่งเศสใช้เวลาเดินทาง 3 เดือนเศษ แล้วจึงได้เข้าเฝ้าจักรพรรดินโปเลียนที่ 3 ณ พระราชวังฟงแตนโบล พระราชวังแห่งนี้จึงเป็นฉากสำคัญอีกแห่งหนึ่งของภาพความสัมพันธ์ระหว่างสยามกับโลกตะวันตก

ทุกวันนี้ เมืองฟงแตนโบลยังคงสงบร่มรื่นคอยต้อนรับนักท่องเที่ยวจากทุกมุมโลก พระราชวังฟงแตนโบลยังสูงสง่าน่าเกรงขาม รอบล้อมไปด้วยลำคลองใสไหลเย็นสลับกับสวนสวยแบบฝรั่งเศสเหมือนวันวาน ทว่าพระราชาผู้ทรงพบรักที่นี่มิได้ครองรักกับราชินีไปตลอดกาลในปราสาทแห่งนี้ พระองค์เสด็จฯ กลับไปสู่ดินแดนของท่าน และทรงดลบันดาลให้ที่แห่งนั้นงดงาม

 

อ้างอิง:

  • เกนหลง สนิทวงศ์ ณ อยุธยา, ท่านผู้หญิง, ทำเป็นธรรม, พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพฯ: มูลนิธิสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์, 2554.
  • เกนหลง สนิทวงศ์ ณ อยุธยา, ท่านผู้หญิง, บันทึก เป็น อยู่ คือ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ, กรุงเทพฯ: เมจิก โปรดักชั่นส์, 2535.
  • Xavier Salmon, direction. Le Siam a Fontainebleau: l’ambassade du 28 juin 1861: [exposition], chateau de Fontainebleau, 5 novembre 2011-27 fâevrier 2012, 2011, Paris: Râeunion des musâees nationaux-Grand Palais, c2011.
Tags: , , , , , ,