สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง

เรื่อง: ศรัญญา โรจน์พิทักษ์ชีพ ภาพ: อัษฎาวุธ ซารัมย์ เรียบเรียง: จินตนา ประชุมพันธ์

“อ่างขางในวันนี้ต่างจากอ่างขางเมื่อ 30 ปีก่อนมาก”

อัษฎาวุธ ซารัมย์ ช่างภาพอิสระรุ่นใหญ่กล่าวขึ้นทันทีที่เริ่มต้นพูดคุยรื้อฟื้นความทรงจำเกี่ยวกับพื้นที่อันห่างไกลแห่งนี้ ซึ่งแตกต่างไปจากอดีตที่ไม่ใช่แค่ความสวยงามของวิวทิวทัศน์ใน สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง เท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงวิถีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของชาวเขาในพื้นที่โดยรอบโครงการหลวงอีกด้วย
อ่างขางเมื่อปี พ.ศ. 2520 เป็นหมู่บ้านเล็กๆ ยังไม่ได้รับการพัฒนา มีเพียงแปลงทดลองปลูกผักไม่กี่แปลงท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่แห้งแล้ง

30 ปีผ่านไป สภาพแวดล้อมดีขึ้นมาก เพราะโครงการหลวงเข้ามาให้ความรู้ ส่งเสริมการทำแปลงผักและผลไม้เมืองหนาวที่เราไม่คิดว่าจะปลูกได้ในภาคเหนือของไทย อีกทั้งยังมีสวนดอกไม้นานาชนิด สวนบอนไซ แปลงต้นบ๊วยร้อยปี

ชาวเขาจำนวนหนึ่งทำงานอยู่ในสถานีเกษตร และยังใช้พื้นที่ในสถานีและบริเวณโครงการหลวงปลูกผักและผลไม้ เช่น สตรอว์เบอร์รี และชา เพื่อส่งขายให้กับโครงการหลวงอีกที ทำให้ชาวบ้านมีรายได้เป็นระบบครบวงจร

เมื่อออกจากสถานีเกษตร จะพบกับตรอกบนเนินเล็กๆ มีแผงขายของที่ระลึก โรงแรม ร้านอาหาร ที่มีบรรยากาศคล้ายเมืองจีน สัมผัสได้ถึงกลิ่นอายวัฒนธรรมและการใช้ภาษาจีนของชาวเขาที่อพยพจากประเทศจีนมากระจายตัวอาศัยอยู่ตามชายแดนบนดอยต่างๆ เช่น ดอยแม่สลอง ภูชี้ฟ้า ผาตั้ง เป็นต้น

ภาพความเปลี่ยนแปลงที่เราได้เห็น ได้สัมผัสนี้ ทำให้เราเข้าใจได้ชัดเจนว่าทุกสิ่งที่พระองค์ทรงทำล้วนแล้วแต่เป็นประโยชน์ อย่างตามชายแดนเมื่อ 40-50 ปีก่อนนี้ ยังมีปัญหาอย่างหนักทั้งเรื่องลัทธิคอมมิวนิสต์ ผู้ก่อการร้าย คนอพยพ และยาเสพติด แต่ด้วยพระปรีชาสามารถและการมองการณ์ไกลของพระองค์ทำให้พื้นที่นี้อุดมสมบูรณ์และประชาชนเปี่ยมสุขยิ่งขึ้น

 

ไร่ชา 2000

เรื่อง: กมลวรรณ ส่งสมบูรณ์ ภาพ: คงกฤช ล้อเลิศรัตนะ เรียบเรียง: จินตนา ประชุมพันธ์

คงกฤช ล้อเลิศรัตนะ หนึ่งในผู้ร่วมเดินทางกับโครงการ ‘เดินทางพ่อ’ ร่วมเดินทางไปตามเส้นทางของ ไร่ชา 2000 แหล่งผลิตชาชั้นดีของสถานีเกษตรหลวงอ่างขาง สถานที่ที่ครั้งหนึ่งมีแต่ความแห้งแล้ง กระทั่งได้รับพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 พลิกฟื้นผืนป่าให้กลายเป็นพื้นที่แห่งความร่มเย็นและเขียวชอุ่ม

ไร่ชา 2000 เป็นแหล่งผลิตชาชั้นดีของสถานีเกษตรหลวงอ่างขาง ที่ใช้พลังงานสะอาดจากลมและแสงอาทิตย์ในการผลิตกระแสไฟฟ้าเสริม สำหรับใช้ในโรงอบใบชา นอกจากนี้ที่นี่ยังเป็นจุดชมพระอาทิตย์ขึ้นท่ามกลางมวลหมอกยามเช้าที่ปกคลุมแปลงชา ซึ่งทอดตัวยาวขนานไปสุดแนวเขาที่สวยงามที่สุดแห่งหนึ่งบนดอยอ่างขาง

ในวันที่เราเดินทางไปนั้นมีฝนพรำ ชาวบ้านเล่าให้เราฟังว่าฝนบนดอยอ่างขางนี้ไม่เหมือนกับที่อื่น เพราะเป็นฝนจากโครงการฝนหลวงที่พ่อหลวงพระราชทานให้ประชาชนในพื้นที่ได้ทำการเกษตร จากพระราชดำริเมื่อครั้งที่พระองค์เสด็จมายังอ่างขางด้วยความลำบาก ไร้ถนนหนทาง เพราะทั่วทั้งบริเวณนี้เป็นป่ารก ไร้ความสะดวกสบายกว่าการเดินทางมาในวันนี้ของเราหลายเท่า เพื่อช่วยเหลือชาวบ้าน และนำความรู้มาเผยแพร่ให้พวกเขามีรายได้จากการเพาะปลูกพืชเมืองหนาวและเลี้ยงสัตว์แทนที่การปลูกฝิ่น

การได้เข้ามาคลุกคลีกับผู้คนท้องถิ่น ได้สัมผัสและทำความเข้าใจถึงสิ่งที่พระองค์ได้พระราชทานแก่ชาวไทยภูเขาผ่านทุกชีวิตบนผืนดินแห่งนี้ ตั้งแต่ต้นไม้ สัตว์ ไปจนถึงผู้คนที่ยังคงดำเนินชีวิตอยู่ ทำให้การท่องเที่ยวของเรามีความหมายมากขึ้น

FACT BOX:

สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง เป็นโครงการหลวงแห่งแรกของประเทศไทย ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2512 จากแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 โดยพระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์จำนวน 1,500 บาท ซื้อที่ดินและแปลงเกษตรจากชาวเขาในบริเวณดอยอ่างขาง เพื่อสร้างสถานีวิจัยและทดลองปลูกพืชเมืองหนาวหลากหลายชนิด เป็นตัวอย่างแก่ชาวเขาทางภาคเหนือให้ได้ทำการเพาะปลูกแทนการปลูกฝิ่นและทำไร่เลื่อนลอย เป็นการพลิกฟื้นผืนดินอันห่างไกลและหนาวเหน็บ ให้มีความอุดมสมบูรณ์และพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนไปพร้อมๆ กัน
ตั้งอยู่ที่: หมู่ 5 ตำบลแม่งอน อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่
โทร.: 0 5396 9476 ถึง 78 ต่อ 114
ศูนย์บริการนักท่องเที่ยวสถานีฯ อ่างขาง โทร.: 0 5396 9489

Tags: , ,