วันนี้ (11 มิถุนายน 2567) ณ ห้องจิ๊ด เศรษฐบุตร (LT.1) คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ บนเวทีเสวนา ‘บอกเล่าประสบการณ์ผู้สมัคร ส.ว.ดวงแตก’ เปิดเวทีให้อดีตผู้สมัคร ส.ว.บอกเล่าความผิดปกติหลังผ่านการลงคะแนนเสียง ส.ว.ระดับอำเภอ เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2567 นำโดยผู้สมัคร ส.ว.ที่ตกรอบในระดับอำเภอ ได้แก่ ณัฏฐธิดา มีวังปลา ผู้สมัคร ส.ว.กลุ่มสาธารณสุข, พัชรี พาบัว ผู้สมัคร ส.ว.กลุ่มประชาสังคม, สากล พูนกลาง ผู้สมัคร ส.ว.กลุ่มอาชีพอิสระ, เกรียงไกร สันติพจนา ผู้สมัคร ส.ว.กลุ่มศิลปวัฒนธรรม, พนิดา บุญเทพ ผู้สมัคร ส.ว.กลุ่มประชาสังคม พร้อมด้วย iLaw (โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน) นักวิชาการ และผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายเข้าร่วมเสวนาในครั้งนี้

บนเวทีเสวนาเริ่มต้นให้ผู้สมัคร ส.ว.บอกเล่าประสบการณ์หลังตกรอบการเลือก ส.ว.ในระดับอำเภอ โดยผู้สมัครต่างวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของเจ้าหน้าที่ในหน่วยลงคะแนนเสียง ในแง่ความโปร่งใส ทั้งการห้ามมิให้ประชาชนผู้เดินทางมาสังเกตการณ์เลือก ส.ว.เก็บภาพ หรือบันทึกเสียงบริเวณจุดลงคะแนน บางหน่วยลงคะแนนมีการตั้งป้ายผลการเลือก ส.ว.ไว้บริเวณด้านในที่ประชาชนทั่วไปไม่สามารถเข้าถึงได้ เป็นเหตุให้ประชาชนจำนวนหนึ่งไม่สามารถติดตามผลการเลือก ส.ว.ครั้งที่ผ่านมา

อดีตผู้สมัคร ส.ว.ยังสะท้อนความไม่มีมาตรฐานของเจ้าหน้าที่ในหน่วยลงคะแนน โดยพบว่า ในบางหน่วยมีช่วงเวลาให้ผู้สมัครพูดคุยทำความรู้จักกัน ขณะที่บางหน่วยไม่มีช่วงเวลาลักษณะดังกล่าวแก่ผู้สมัคร ทั้งยังตั้งข้อสงสัยกับการจัดการของเจ้าหน้าที่ในการรับสมัคร ส.ว.ตามกลุ่มอาชีพ ที่บางพื้นที่มีการโยกผู้สมัคร ส.ว.ที่ประสงค์สมัครกลุ่มอาชีพอีกกลุ่มไปยังอีกกลุ่มหนึ่ง โดยให้เหตุผลว่า จำนวนผู้สมัครในกลุ่มอาชีพที่ผู้สมัครประสงค์แต่แรกเต็มจำนวนแล้ว 

สำหรับประชาชนอาสาสมัครที่เข้าไปสังเกตการณ์การเลือก ส.ว.ในระดับอำเภอ มีหลายหน่วยที่อาสาสมัครถูกเจ้าหน้าที่กดดัน ทั้งการติดตามบันทึกภาพโดยเจ้าหน้าที่ มีการเดินตามประกบอาสาสมัครที่มาสังเกตการณ์ในหน่วยลงคะแนนเสียง หรือบางหน่วยมีการเรียกอาสาสมัครให้ยืนขึ้นและประกาศแก่เจ้าหน้าที่ให้เฝ้าติดตาม

ด้านนักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมาย นำโดย ปริญญา เทวานฤมิตรกุล, ปุรวิชญ์ วัฒนสุข, พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต และกฤต แสงสุรินทร์ เห็นตรงกันว่า ระบบการเลือก ส.ว.ระดับอำเภอมีปัญหาอยู่หลายส่วน ทั้งการจัดการของเจ้าหน้าที่ที่ไม่มีมาตรฐาน และการถูกตั้งคำถามเรื่องความโปร่งใส 

อย่างไรก็ตาม ความผิดปกติดังกล่าวที่เกิดขึ้นในการเลือก ส.ว.ครั้งที่ผ่านมา ยังไม่เป็นเหตุให้ถึงขั้นต้องล้มการเลือก ส.ว. โดยเสนอแนะกับผู้สมัครและประชาชนว่า หากพบความผิดปกติในการดำเนินการของเจ้าหน้าที่ในการเลือก ส.ว. ให้ร้องเรียนเป็นรายกรณีไป 

นอกจากนี้ยังเสนอแนะให้ กกต.นำปัญหาข้อวิพากษ์จากการเลือก ส.ว.ระดับอำเภอครั้งนี้ มาพิจารณาและถอดเป็นบทเรียนเพื่อพัฒนาการจัดการเลือก ส.ว.อย่างเป็นระบบต่อไปในครั้งหน้า และเชิญชวนให้ประชาชนร่วมกันจับตาการเลือก ส.ว.ในระดับจังหวัดที่จะมาถึงในวันที่ 16 มิถุนายน 2567 เพื่อให้กระบวนการเลือก ส.ว.เป็นไปอย่างโปร่งใส

Tags: , , ,