เคยไหมที่บางครั้งอยากออกไปใช้ชีวิตตอนกลางคืน แต่ก็เบื่อหน่ายกับร้านเหล้าที่เคยดื่มทุกค่ำคืน

หรือบางครั้งก็มีความตั้งใจอยากออกไปฟังดนตรีใหม่ๆ แต่ร้านประจำก็กลับเล่นแต่เพลงเดิมๆ ซ้ำไปซ้ำมา

หรือในบางทีเราต้องการเพียงแค่จิบเบาๆ ในค่ำคืน แต่กลับต้องหมดเงินค่าเปิดโต๊ะในร้านดื่มกินหลายบาท

หากคุณหลงใหลในเวลากลางคืน แต่ประสบปัญหาสักข้อในนี้ บางที ไลฟ์เฮาส์ (Live House) อาจเป็นสถานที่เหมาะจะเปิดประสบการณ์การฟังดนตรี และแฮงเอาต์กับเพื่อนรูปแบบใหม่ของคุณ

ไลฟ์เฮาส์คือสถานที่สำหรับฟังดนตรี ลักษณะคล้ายบาร์ เพียงแต่ไม่มีโต๊ะเก้าอี้วางเต็มร้าน เมื่อเข้าไปจะพบกับพื้นที่โล่งตรงกลางสำหรับยืนดูวงดนตรี โดยทั่วไปมีขนาดเล็ก จุคนได้ไม่มาก จุดเริ่มต้นธุรกิจนี้มาจากประเทศญี่ปุ่นตั้งแต่ช่วงต้นยุค 70s ไลฟ์เฮาส์แห่งแรกเปิดขึ้นมาเพื่อเล่นดนตรีแนวอินดี้ ซึ่งปัจจุบันในประเทศญี่ปุ่นยังคงมีไลฟ์เฮาส์เก่าแก่ที่เปิดพื้นที่ให้นักดนตรีมาอย่างยาวนาน คือ Shinjuku Loft

วัฒนธรรมไลฟ์เฮาส์ของญี่ปุ่นเบ่งบานมาหลายทศวรรษ จนกระทั่งแผ่ขยายมาสู่ไทย กรุงเทพฯ จึงมีไลฟ์เฮาส์ แม้มีไม่กี่แห่งจนนับนิ้วได้ แต่สถานที่เหล่านี้ก็ถือว่ามีบทบาทสำคัญในการเปิดพื้นที่ให้เกิดความหลากหลายทางแนวเพลง มากกว่าเพลงตลาดที่เราได้ยินได้ฟังกันบ่อยครั้ง

เหตุที่บอกว่า สถานที่ฟังเพลงเช่นนี้เหมาะกับการรวมกลุ่มของมนุษย์ เพราะความนิยมชมชอบดนตรีสดไม่ได้เป็นลักษณะเฉพาะของคนไทยเพียงชนชาติเดียว จากผลวิจัยเกี่ยวกับระบบประสาทที่สัมพันธ์กับดนตรีสด Live music stimulates the affective brain and emotionally entrains listeners in real time ของมหาวิทยาลัยซูริค (University of Zurich) พบว่า การฟังเพลงจากดนตรีสดกระตุ้นการทำงานของสมองส่วนอะมิกดาลา (Amygdala) คือส่วนที่ทำหน้าที่ควบคุมอารมณ์และความรู้สึก ผู้ชมดนตรีสดหรือโชว์เคสจะรู้สึกเชื่อมโยงอย่างลึกซึ้งกับเสียงดนตรี ซึ่งปรากฏการณ์นี้ไม่พบในการฟังเพลงจากสตรีมมิง หรือฟังเสียงบันทึก

อธิบายให้ง่ายขึ้นคือ ต่อให้ฟังเพลงเดียวกัน ศิลปินคนเดียวกัน ในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน มนุษย์จะรู้สึกประทับใจเพลงนั้นในเวอร์ชันเล่นสดมากกว่าการฟังในผ่านสตรีมมิง นั่นเป็นผลมาจากอะมิกดาลาถูกกระตุ้นผ่านเสียงดนตรีสด

เมื่อพูดถึงแนวเพลง หากสงสัยว่า เมื่อไปเยือนแล้วจะได้ฟังเพลงแนวไหน คำตอบคือหลากหลายแนวแล้วแต่วัน เพราะด้วยความที่ไลฟ์เฮาส์ในกรุงเทพฯ มีไม่กี่แห่ง ไม่ได้แยกแนวเพลงเจาะจงว่าต้องเป็นร็อก พังก์ บลูส์ อินดี้ ฯลฯ ทำให้มีวงดนตรีหลากแนวหลายแขนงสลับสับเปลี่ยนกันมาเล่น ทั้งวงดนตรีที่มีอัลบั้ม มีฐานแฟนคลับอยู่บ้างแล้ว และวงดนตรีที่ยังมีแค่เดโม่ เพราะด้วยแรกเริ่มเดิมทีไลฟ์เฮาส์เปิดขึ้นเพื่อเป็นพื้นที่สำหรับนักดนตรี และคนฟังที่สนใจแนวเพลงที่ไม่ใช่แนวเพลงตลาด จึงขายบัตรเข้าชมราคาถูก และบางคืนที่เป็นนักดนตรีหน้าใหม่ อาจให้เข้าชมฟรี เพียงแต่ควรอุดหนุนเครื่องดื่มที่ขายข้างในเสียหน่อย

อีกทั้งยังมีเหตุผลอื่นๆ อีกว่า ทำไมเราควรไปไลฟ์เฮาส์ในวันนี้

ได้ค้นพบเพลงกับวงดนตรีใหม่

เป็นปกติของผู้คนเวลาฟังเพลงจากสตรีมมิง จะเลือกกดเปิดเฉพาะเพลงที่คุณชอบหรือเป็นระบบสุ่ม ทำให้แนวเพลงก็ไม่ได้หนีจากที่คุณฟังอยู่ทุกวันมากนัก แต่สำหรับการเลือกไปฟังดนตรีสดที่ไลฟ์เฮาส์ หลายครั้งคุณจะได้ฟังเพลงที่ไม่เคยคิดจะเปิดฟัง ก่อนจะค้นพบว่า พวกเขาเล่นดนตรีดีอยู่ไม่น้อย ดีจนต้องตามไปฟังต่อ จนกลายเป็นแฟนเพลงของวงนั้น หรือได้กลับไปฟังเพลงสมัยวัยรุ่นจากเด็กวัยรุ่นที่เกิดไม่ทันเพลงเหล่านั้นด้วยซ้ำในไลฟ์เฮาส์

ดังนั้นการฟังดนตรีแนวใหม่ จึงช่วยฝึกฝนการเปิดใจให้กว้าง เพราะการตัดสินความชอบหรือไม่ชอบ ต้องเริ่มต้นจากการเปิดใจรับฟังก่อน 

จะ Introvert หรือ Extrovert ก็ไปได้

ไม่สำคัญว่าคุณจะมีบุคลิกภาพหรือ MBTI แบบไหน หากคุณเป็นอินโทรเวิร์ต (Introvert) ไม่ต้องรู้สึกวิตกกังวล เพราะไลฟ์เฮาส์ออกแบบมาเพื่อให้ร่วมสนุกกับดนตรี ไม่จำเป็นต้องพูดคุยก่อร่างสร้างมิตรภาพกับใครถ้าไม่ต้องการ และแน่นอนว่าในที่แห่งนี้ไม่มีใครมองว่าคุณแปลกแยก

ในขณะเดียวกัน ยังเป็นสังคมให้คนฟังที่มีความสนใจแนวเพลงคล้ายกันมารวมตัวกัน หากคุณเป็นเอ็กโทรเวิร์ต (Extrovert) กระหายการพูดคุยเข้าสังคม ผู้คนก็ยินดีจะคุยกับคุณอย่างออกรส รวมถึงนักดนตรีด้วย เพราะพื้นที่เล็กๆ ทำให้คนเล่นกับคนฟังเชื่อมต่อกันง่ายขึ้น

ไลฟ์เฮาส์อาจกลายเป็นสถานที่ออกเดต?

ชีวิตตอนกลางคืนเป็นเหมือนสวรรค์ของใครหลายคน กับการเกิดในประเทศที่ตอนกลางวันร้อนดั่งนรก เป็นธรรมดาที่อยากออกไปสนุกสนานตอนแดดร่มลมตกมากกว่า แต่ในแง่ของพื้นที่กรุงเทพฯ ยามค่ำคืน กลับไม่มีสถานที่รองรับไลฟ์สไตล์ตอนค่ำ 

ดังนั้นใครที่ทำงานตอนกลางวัน อยากออกเดตกลางคืนหลังเลิกงานก็แทบเป็นไปไม่ได้เลย แต่ตอนนี้ไลฟ์เฮาส์อาจเข้ามาเป็นอีกตัวเลือกหนึ่งสำหรับการออกเดต ด้วยราคาบัตรที่ถูกและมีกิจกรรมฟังเพลงอันทำให้เกิดอารมณ์ร่วม ไม่ต่างจากการเดตด้วยการดูหนังในโรงหนัง แถมยังสามารถพูดคุยกันได้

และหากใครที่มีแพสชันแรงกล้ากับการฟังดนตรีสด คงอยากพาคู่ของคุณไปไลฟ์เฮาส์สักครั้ง ถึงแม้บางคนมีความสนใจในดนตรีเพียงเสี้ยวเดียว แต่การเดตท่ามกลางวัฒนธรรมแปลกใหม่จากเดิมเช่นนี้ ก็ถือว่าน่าตื่นเต้นไม่น้อย

สุดท้าย ในวันนี้ต้องยอมรับว่าวัฒนธรรมไลฟ์เฮาส์ในไทยยังไม่แข็งแรง หลายคนยังตั้งคำถามว่า ทำไมต้องจ่ายเงินไปฟังวงดนตรีที่ไม่รู้จัก นั่นเพราะวงดนตรีหน้าใหม่ ดนตรีแนวใหม่ในไทยยังขาดคนฟัง เพราะถูกตัดขาดการรับรู้จากสังคม ขาดพื้นที่แสดงแก่สาธารณชน และผู้ฟังยังขาดแรงและกำลังจะสนับสนุน การไปเยือนไลฟ์เฮาส์ ไม่ว่าเป้าประสงค์จะเป็นการฟังเพลง หาเพื่อนใหม่ หรือออกเดต หากมีผู้คนแวะเวียนเข้ามาเรื่อยๆ จะทำให้ธุรกิจนี้อยู่รอด จนกระทั่งเติบโตต่อไปได้

อ้างอิง

Live music stimulates the affective brain and emotionally entrains listeners in real time. https://www.pnas.org/doi/10.1073/pnas.2316306121

Tags: , , , , ,