ความตึงเครียดทางการเมืองกลายเป็นข่าวพาดหัวหลายต่อหลายครั้งในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นการงัดข้อระหว่างจีนกับสหรัฐอเมริกา ความขัดแย้งในตะวันออกกลาง

การก้าวขึ้นสู่อำนาจของผู้นำประชานิยมในอเมริกาใต้ หรือการรัฐประหารและละเมิดสิทธิมนุษยชนครั้งแล้วครั้งเล่าในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่สภาวะเศรษฐกิจโลกในภาพรวมก็ไม่ได้รับผลกระทบมากนัก เพราะเหล่านักลงทุนต่างเชื่อว่าบรรยากาศทางการเมืองที่อึมครึมจะไม่ ‘แพร่ระบาด’ จนกลายเป็นปัญหาใหญ่ในระดับโลก

แต่การใช้กำลังทหารของรัสเซียเพื่อล่วงล้ำอธิปไตยของยูเครนครั้งนี้แตกต่างออกไป

ในสายตาโลกตะวันตกและประชาคมโลก การพยายามช่วงชิงดินแดนโดยใช้กำลังเข่นฆ่าเพื่อนมนุษย์เป็นสิ่งที่ยากจะยอมรับได้ ไม่ว่าจะใช้เหตุผลใดก็ตามผลพวงที่ตามมาหลังสิ้นไฟสงครามคือ ความเป็นไปได้ที่จะสะบั้นความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างประเทศรัสเซียกับโลกตะวันตก นำไปสู่ระเบียบเศรษฐกิจโลกใหม่ที่ไม่มีทางเหมือนเดิม

เดินหน้ามาตรการคว่ำบาตรรัสเซีย

หลายคนไม่เคยได้ยินบทบาทของรัสเซียบนเวทีการค้าระหว่างประเทศมากนัก แต่รัสเซียนับเป็นผู้ส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์สำคัญหลายชนิด ขึ้นแท่นประเทศส่งออกน้ำมันอันดับสองของโลก ก๊าซธรรมชาติอันดับหนึ่งของโลก โดยมีคู่ค้าสำคัญคือสหภาพยุโรปที่ต้องพึ่งพารัสเซียด้านความมั่นคงทางพลังงาน อีกทั้งแร่หายากที่มีมูลค่ามากกว่าทองคำอย่างพัลลาเดียม (Palladium) กว่าครึ่งหนึ่งของโลกก็ผลิตจากเหมืองในรัสเซีย ยังไม่นับแร่อย่างนิกเกิล อะลูมิเนียม และทองแดง รวมถึงข้าวสาลีที่รัสเซียถือเป็นเจ้าใหญ่ในตลาดโลก

เมื่อรัสเซียส่งทหารบุกยูเครน ผู้นำและประชาชนในยูเครนต่างก็เรียกร้องให้เหล่าประเทศมหาอำนาจดำเนินมาตรการขั้นเด็ดขาดเพื่อตัดขาดรัสเซียออกจากภูมิทัศน์การค้าโลก เช่น ยุติการค้ากับรัสเซีย ห้ามธนาคารรัสเซียทำธุรกรรมทางการเงินผ่านโครงข่าย SWIFT หรือการห้ามไม่ให้เรือขนสินค้ารัสเซียผ่านช่องแคบบอสฟอรัสและดาร์ดะเนลส์ในตุรกี แต่ข้อเรียกร้องดังกล่าวได้รับการตอบรับเพียงบางอย่าง แม้ว่าท่าทีแรกเริ่มของสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรปจะค่อนข้างแข็งกร้าวก็ตาม

การขยับตัวล่าสุดของสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรปคือการคว่ำบาตรเจ้าหน้าที่ระดับสูง ธนาคารและรัฐวิสาหกิจบางแห่งอายัดสินทรัพย์ในต่างประเทศของรัสเซีย รวมทั้งห้ามส่งออกสินค้าเทคโนโลยี อาทิ ชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์ ชิ้นส่วนเครื่องบิน และเซมิคอนดักเตอร์ เพื่อหวังบั่นทอนพลานุภาพทางการทหารของรัสเซียในอนาคต พร้อมทั้งตัดธนาคารบางแห่งของรัสเซียออกจากโครงข่าย SWIFT

แต่การคว่ำบาตรครั้งนี้กระทบต่อเศรษฐกิจในปัจจุบันไม่มากนัก และกว่าผลกระทบดังกล่าวจะออกดอกผลก็อาจต้องรออีกหลายปี เพราะนานาชาติยังไม่กล้าตัดสายสัมพันธ์กับอุตสาหกรรมสินค้าโภคภัณฑ์ของรัสเซียซึ่งเปรียบเสมือน ‘ท่อน้ำเลี้ยง’ หลักของรัฐบาล อีกทั้งอุตสาหกรรมเหล่านั้นยังได้รับแรงหนุนด้านราคาจากความขัดแย้งที่เกิดขึ้น

คงไม่ผิดนักหากจะกล่าวว่า มาตรการตอบโต้ของสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรป ‘อ่อนแอกว่าที่คาดการณ์ไว้’ สังเกตได้จากตลาดหลักทรัพย์ในโลกตะวันตกที่ปรับตัวบวกเล็กน้อยหลังสงครามปะทุขึ้น เช่นเดียวกับราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่เพิ่มสูงขึ้นในช่วงสั้นๆ ก่อนจะค่อยๆ ปรับตัวลงเมื่อเห็นท่าทีของพันธมิตรโลกเสรีที่คงไม่ทำให้ความขัดแย้งลุกลามบานปลาย

รัสเซียกับ ‘ป้อมปราการ’ ป้องกันการคว่ำบาตร

การคว่ำบาตรรัสเซียในระดับเข้มข้นในมุมมองของหลายประเทศในสหภาพยุโรปอาจได้ไม่คุ้มเสีย เพราะสหภาพยุโรปยังต้องพึ่งพาก๊าซธรรมชาติจากรัสเซียโดยคิดเป็น 35 เปอร์เซ็นต์ของความต้องการใช้ทั้งหมด ประกอบกับสินทรัพย์มูลค่าหลายแสนล้านดอลลาร์สหรัฐที่ภาครัฐและภาคเอกชนยุโรปลงทุนไว้ในรัสเซีย การตัดสายสัมพันธ์ทิ้งอาจเป็นการซ้ำเติมภาวะเศรษฐกิจตกต่ำเนื่องจากการระบาดของโควิด-19 ที่ย่ำแย่อยู่แล้วให้เลวร้ายลงไปอีก

รัสเซียทราบดีว่าตนเอง ‘เสี่ยง’ ที่จะโดนคว่ำบาตรจากมหาอำนาจโลกตะวันตกทุกเมื่อนับตั้งแต่การบุกยึดไครเมีย จึงได้เดินหน้าสร้าง ‘ป้อมปราการ’ ป้องกันการคว่ำบาตรทางการค้า ทั้งการเพิ่มเงินสดสำรองระหว่างประเทศมูลค่ามหาศาล การลดธุรกรรมระหว่างประเทศที่ใช้เงินสกุลดอลลาร์สหรัฐ ลดปริมาณการพึ่งพาสินเชื่อและระดมเงินทุนจากโลกตะวันตก พร้อมทั้งเพิ่มศักยภาพในการผลิตน้ำมันและก๊าซธรรมชาติเพื่อให้โลกขาดรัสเซียไม่ได้

ขณะที่การตัดรัสเซียออกจาก SWIFT โครงข่ายหลังบ้านสำหรับทำธุรกรรมระหว่างประเทศโดยมีธนาคารสมาชิกกว่า 11,000 แห่งใน 200 ประเทศ เช่นเดียวกับที่เคยตัดอิหร่านออกจากระบบดังกล่าวใน พ.ศ. 2561 ก็อาจส่งผลร้ายมากกว่าผลดี เพราะธนาคารกลางรัสเซียได้พัฒนาระบบ SPFS ซึ่งสามารถใช้เป็นโครงข่ายสำรองแทน SWIFT ได้ แม้ว่าอาจไม่สมบูรณ์แบบก็ตาม

นอกจากนี้ การดำเนินกลยุทธ์ดังกล่าวอาจย้อนกลับมาทำร้ายสหรัฐอเมริกาในฐานะเจ้าของเงินสกุลดอลลาร์ซึ่งใช้กันอย่างแพร่หลายในตลาดการซื้อขายระหว่างประเทศ ระบบชำระราคาที่ใช้เงินดอลลาร์สหรัฐเป็นหลักอาจถูกทดแทนด้วยคู่แข่งอย่างเงินหยวนของจีนที่ทำธุรกรรมผ่านโครงข่าย CIPS ซึ่งปัจจุบันมีมูลค่าราว 1 ใน 8 ของธุรกรรมสกุลดอลลาร์สหรัฐที่ดำเนินการผ่าน SWIFT การใช้โครงข่ายดังกล่าวเพื่อหวังผลทางการเมืองอาจยิ่งสร้างแรงจูงใจให้เหล่าประเทศที่อุดมการณ์ทางการเมืองแตกต่างจากสหรัฐอเมริกายิ่งเอนเอียงไปหาจีนซึ่งเปิดกว้างกว่า

ดังนั้น มาตรการคว่ำบาตรแบบ ‘ครึ่งๆ กลางๆ’ ดังที่เป็นอยู่ในปัจจุบันจึงไม่อาจป้องปรามการรุกรานยูเครนของรัสเซียได้ ขณะที่การคว่ำบาตรแบบเข้มข้นก็อาจแว้งกลับมาทำร้ายเศรษฐกิจของโลกตะวันตกที่กำลังซบเซา เหล่ามหาอำนาจจึงไม่มีทางเลือกมากนักนอกจากแถลงประณามพลางข่มขู่ แต่ก็ลังเลที่จะดำเนินมาตรการขั้นเด็ดขาด คือยุติการซื้อสินค้าโภคภัณฑ์จากรัสเซีย 

อนาคตของเศรษฐกิจ ‘แบ่งค่าย’

นับตั้งแต่สิ้นสุดยุคสงครามเย็น แทบทุกประเทศทั่วโลกต่างเปิดรับกระแสโลกาภิวัตน์

การซื้อขายระหว่างประเทศเพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว เศรษฐกิจในแต่ละภูมิภาคเชื่อมต่อสัมพันธ์กันอย่างแนบแน่น แทบทุกประเทศโอบรับการค้าโดยไม่สนใจว่าประเทศปลายทางจะมีอุดมการณ์แบบใด ไม่มีใครคิดว่าจะเกิดการใช้กำลังทหารท่ามกลางสนามการค้าที่ทำให้แทบทุกฝ่ายได้รับประโยชน์ แต่การรุกรานยูเครนของรัสเซียทุบทำลายภาพ ‘ระเบียบโลกใหม่ที่ไร้สงคราม’ จนแหลกละเอียดไม่มีชิ้นดี

มาตรการคว่ำบาตรในปัจจุบันประกอบกับอุดมการณ์ทางการเมืองที่แตกต่างกันย่อมทำให้สหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา และเหล่าประเทศพันธมิตรค่อยๆ ถอนตัวเองจากความสัมพันธ์ทางการค้ากับประเทศรัสเซีย ขณะที่รัสเซียก็คงเอนเอียงไปทำการค้ากับประเทศมหาอำนาจที่พร้อมต้อนรับอย่างจีน

แม้ว่าจีนจะยังเปิดบ้านทำการค้ากับโลกตะวันตก บทเรียนจากรัสเซียก็ทำให้จีนทราบดีว่าต้องป้องกันตัวเองจากการคว่ำบาตรทางการค้า เร่งเพิ่มศักยภาพการผลิตภายในประเทศให้เพียงพอต่อความต้องการ เพราะในอนาคตไม่ว่าจะช้าหรือเร็ว ความขัดแย้งของจีนกับโลกตะวันตกในกรณีของไต้หวันย่อมปะทุขึ้นอย่างยากจะหลีกเลี่ยง

หากความขัดแย้งยังดำเนินต่อไป ประเทศน้อยใหญ่ก็จะถูกบีบบังคับให้เลือกข้างระหว่างขั้วเสรีประชาธิปไตยและขั้วที่ไม่รังเกียจเผด็จการ ดังเช่นประเทศญี่ปุ่น ออสเตรเลีย และเกาหลีใต้ที่ประกาศคว่ำบาตรทางการค้ากับรัสเซียอย่างแข็งขันเมื่อรัสเซียประกาศสงคราม แม้ว่าขั้วของรัสเซียและจีนยังไม่ปรากฏพันธมิตรมากนัก แต่การงดออกเสียงโดยอินเดียและสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ในการออกแถลงการณ์ประณามการบุกยูเครนของรัสเซียก็สะท้อนได้อย่างชัดเจนว่ารัสเซียไม่ได้ยืนอยู่โดดเดี่ยว

การใช้กำลังทหารรุกรานยูเครนจึงไม่ใช่เหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองที่จะกระทบต่อเศรษฐกิจเพียงระยะสั้น แต่เป็นจุดเริ่มต้นของความไม่ลงรอยกันที่จะเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์การค้าระหว่างประเทศไปอีกหลายทศวรรษ

 

เอกสารประกอบการเขียน

History will judge Vladimir Putin harshly for his war

The West struggles to respond forcefully to Russia’s war in Ukraine

The economic consequences of the war in Ukraine

Why the West is reluctant to deny Russian banks access to SWIFT

Tags: , , ,