“เช้าชามเย็นชาม งานสบายรายได้ดี” คือคำนิยามของข้าราชการไทย ณ ปี 2566

ทั้งหมดดูจะเป็นคำพูดเสียดสีในเชิงลบ แต่ก็สะท้อนมุมมองจากคนภายนอก ที่มองเข้ามายังระบบราชการไทยได้อย่างดี…

เดิม ข้าราชการเป็นอาชีพในฝันของพ่อแม่ผู้ปกครองไทย ที่อยากให้ลูกเติบโตไปสวมชุดกากี มีเกียรติ มีศักดิ์ศรี แม้รายได้ไม่มาก แต่ก็เป็นอาชีพที่มั่นคง ข้าราชการไม่เคยเลย์ออฟ เงินเดือนขึ้นตามขั้น มีเวลาการทำงานที่แน่นอน สำทับด้วยสวัสดิการชั้น ‘พรีเมียม’ ชนิดเบิกค่ารักษาพ่อแม่ลูกเมียได้ และเป็นสิทธิที่ดีกว่าประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือประกันสังคมไม่รู้กี่เท่า

ทว่าวันนี้ ‘ข้าราชการ’ ดูจะไม่ใช่อาชีพในฝันของเด็กรุ่นใหม่ที่มีความสามารถอีกต่อไป ‘คนใน’ เริ่มบ่นว่าสิ่งที่ถ่วงระบบที่สุดคือข้าราชการ และคนคุณภาพถูกภาคเอกชนดูดไปหมดแล้ว

ปัจจุบันอาชีพ 10 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา ปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ออกมายอมรับว่า หนึ่งในเหตุผลที่ต้องพยายาม ‘ปรับฐานเงินเดือน’ ข้าราชการ ก็เพื่อดึงคนคุณภาพให้อยู่ในระบบ ไม่ให้หนีไปภาคเอกชน และต้องทำให้ดึงดูดพอในการดึงคนมีความสามารถให้เข้ามาอยู่ในระบบให้ได้

ปฏิเสธไม่ได้ว่า ถึงรัฐบาลจะดีเพียงใด มีนโยบายที่ตั้งใจเปลี่ยนประเทศแค่ไหน แต่หาก ‘ข้าราชการ’ ไม่มีประสิทธิภาพ เป็นพวก ‘เช้าชามเย็นชาม’ โยนงานไปที่อื่น บอกว่าทุกงานไม่ใช่หน้าที่ของตัวเอง หากข้าราชการเป็นพวก ‘ตามน้ำ’ หากผู้ใหญ่บอกให้เป็นส่วนหนึ่งของการหาเงินทอน-คอร์รัปชัน ก็ต้องทำตาม

และนี่คือสาเหตุ (บางส่วน) ที่ทำให้วันนี้ งานราชการไม่ได้เป็นงานที่ดึงดูดคนที่มีความสามารถ หากแต่ไปดึงดูดผู้ที่ ‘รักสบาย’ เพื่อให้อยู่กับระบบ และเติบโตกับระบบต่อไป

1. ระบบ ‘เฉื่อย’ ไม่ทันการเปลี่ยนแปลง ไม่เคยปรับตัวได้ทัน

ปฏิเสธไม่ได้ว่า ในรอบหลายสิบปีที่ผ่านมา ข้าราชการไทยไม่เคยผ่านการ Disrupt ครั้งใหญ่ ระบบราชการอยู่ภายใต้ร่มเงาอันอบอุ่นจากการเมืองภาพใหญ่อันยุ่งเหยิง นักการเมืองอาจใช้ข้าราชการเป็นครั้งคราว แต่หลังจากเกิดการรัฐประหารเมื่อปี 2557 ระบบราชการยิ่งสบายเข้าไปอีก รัฐบาลทหารต้องการใช้ข้าราชการเป็นพวก และเมื่อไม่ได้มีนวัตกรรมใดๆ ก็ไม่มีอะไรกระตุ้นให้พวกเขาต้องกระเตื้องขึ้น

หากมองย้อนกลับไป ระบบนี้ก็ผิดตั้งแต่ต้นทางที่ไม่เคยมีการตั้ง KPI เหมือนกับองค์กรเอกชน ที่มีเป้าหมายชัดเจนว่าจะทำอะไร จะไปให้ถึงตรงไหน แต่ระบบราชการมีเพียงเป้ากว้างๆ คือ ‘บริการประชาชน’ ซึ่งหากบริการประชาชนได้ไม่ดี ก็อาจมีเพียง ‘เรื่องร้องเรียน’ เท่านั้น

ขณะเดียวกัน การลงโทษในระบบราชการยังเป็นไปอย่างย่อหย่อน หากมีความผิดที่ไม่ได้รุนแรง ก็เพียง ‘ย้าย’ ไปพักสักที่ ก่อนจะย้ายกลับมา บางทีเงินเดือนไม่ได้ปรับลดด้วยซ้ำ แค่เงียบไปสักระยะหนึ่งก็กลับมา

เมื่อไม่ได้มีแรงจูงใจ ไม่ได้มีตัวชี้วัด ข้าราชการก็ทำงานกันเรื่อยๆ เอื่อยๆ หากไม่มีอะไรเสียหายก็ได้เลื่อนขั้น เลื่อนซีไปเรื่อยๆ จนอยู่ถึงระดับสูงสุด เมื่อทุกอย่างไม่ได้มีความท้าทาย ข้าราชการไทยจึงทำงานกันสบายตัว และหากมองจากภายนอก จึงเป็นภาพ ‘ลบ’ มากกว่าเป็นอาชีพที่น่าเข้าหา

เรื่องเหล่านี้ คงเป็นเช่นนี้ต่อไปอีกเรื่อยๆ

2. สังคมอุปถัมภ์แบบไทยๆ

ค่านิยมอย่างหนึ่งของระบบราชการไทยคือคำกล่าวที่ว่า ‘ค่าของคน อยู่ที่คนของใคร’ ตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา ระบบอุปถัมภ์แบบไทยๆ การเล่นพรรคเล่นพวก ทำให้หลายคนได้ดิบได้ดี และทำให้หลายคนที่มีความสามารถจริงๆ ถูกเตะออกจากวง หากไม่ยอมพินอบพิเทาผู้ใหญ่

คำว่า ‘นาย’ กลายเป็นคำติดปากของระบบราชการไทย เมื่อต้องพูดถึงผู้อาวุโสกว่า ขณะเดียวกัน คำว่า ‘ท่าน’ ดูจะเป็นคำพูดติดหู เมื่อต้องเรียกคนที่อยู่ในลำดับชั้น ลำดับศักดิ์ที่สูงกว่า แน่นอนว่าคนรุ่นปัจจุบันที่เชื่อเรื่อง ‘คนเท่ากัน’ ไม่ได้สมาทานความคิดนี้เหมือนเมื่อหลายสิบปีก่อน

เมื่อรู้ว่าจะต้องไปเจออะไรแบบนี้ หลายคนจึงเลือกที่จะ ‘ถอย’ มากกว่าที่จะเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของระบบ

3. ‘เงินเดือน’ และ ‘สวัสดิการ’ ไม่ได้อู้ฟู่เหมือนแต่ก่อน

ว่ากันว่า ในบรรดากระทรวง ทบวง กรม ต่างๆ นั้น ‘กระทรวงการต่างประเทศ’ เคยเป็นกระทรวงที่ได้รับความนิยมเป็นอันดับ 1 สำหรับคนที่อยากบรรจุเป็นข้าราชการ เพราะส่วนหนึ่งมีตำแหน่งแห่งหนให้ได้ออกไปปฏิบัติหน้าที่รอบโลก รองลงมา กระทรวงพาณิชย์และกระทรวงมหาดไทย ล้วนเป็นกระทรวงที่หลายคน (เคย) ใฝ่ฝัน อยากจะรับใช้ชาติผ่านกระทรวงเท่ๆ เหล่านี้

แม้ในวันนี้ กระทรวงต่างๆ จะยังเป็นที่หมายปองให้บรรดาบัณฑิตรัฐศาสตร์ บัณฑิตเศรษฐศาสตร์ ให้สอบบรรจุเข้าเป็นส่วนหนึ่งของระบบอันยิ่งใหญ่ แต่หากเทียบกันแล้ว แรงงานที่มีความสามารถจริงๆ อาจหาเงินได้มากกว่าเดิม 3-4 เท่า หากภาษาดี มีความรู้ตรงกับที่ตลาดต้องการ ขณะเดียวกัน เด็กจบใหม่ที่ยังมีไฟล้นเหลือย่อมรู้ดีว่าพวกเขานั้นเหมาะกว่าพื้นที่ที่ส่งเสริมให้พวกเขาได้เรียนรู้ ได้พัฒนาตัวเอง ได้มองเห็นประสบการณ์จากคนเก่งๆ มากกว่าจะจมอยู่ในโครงสร้างที่ตายซาก

4. คำว่า ‘ชาติ’ เสื่อมมนต์ขลังแล้ว

ในอดีต การรับใช้ชาติอาจเป็นคำที่ยิ่งใหญ่ โดยเฉพาะเมื่อประเทศเผชิญกับภัยความมั่นคง เผชิญกับวิกฤตเศรษฐกิจที่ทำให้ทุกคนล้วนเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน

แต่ ณ วันนี้ ชาติไม่ได้มีความหมายเพียงหนึ่งเดียวอีกต่อไป หลายคนผูกขาดความรักชาติไว้กับตัวเอง หลายคนทำตัวเป็นชาติเสียเอง แล้วทำทีชี้หน้าอีกฝ่ายหนึ่งว่า ‘ไม่รักชาติ’ เพราะฉะนั้น ไมน์เซ็ตว่าด้วยการทำเพื่อชาติจึงเป็นสิ่งล้าสมัย

การเป็นข้าราชการในยุคใหม่ จึงไม่อาจเป็นเรื่องของการรับใช้ชาติเพียงอย่างเดียว หากแต่ต้องเป็นการรับใช้ ‘ประชาชน’ อย่างมีเป้าหมาย เป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาประเทศไปด้วยกัน และต้องออกแบบระบบไม่ให้เฉื่อย ไม่ให้โอนเอนไปมาตามการเมือง

หากยังเดินต่อไปแบบนี้ ระบบราชการก็จะเป็นไปแบบนี้ ประเทศไม่ได้อะไร ประชาชนไม่ได้อะไร ระบบจะอยู่กับแรงเฉื่อย จนรู้ตัวอีกทีก็ตามหลังประเทศเพื่อนบ้านไปไกล

ทั้งหมดคือเป้าของระบบราชการ ที่ต้องการการสังคายนาใหม่ ออกแบบใหม่ทั้งระบบ และต้องการการปฏิรูปโครงสร้างอย่างจริงจังให้ระบบนี้เป็นที่ดึงดูดคนที่มีความสามารถให้พร้อมเข้ามาเป็นส่วนหนึ่ง

ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่หากไม่ทำ ประเทศก็จะจมปลักอย่างนี้ต่อไปเรื่อยๆ

Tags: , ,