เมื่อกล่าวถึงเทพปกรณัมกรีก-โรมันแล้ว สิ่งแรกที่หลายคนนึกถึงก็อาจเป็นภาพยนตร์ที่สร้างจากเรื่องเล่าต่างๆ อย่างภาพยนตร์แอนิเมชันเรื่อง Hercules (1997) ของดิสนีย์ ภาพยนตร์เรื่อง Troy (2004) หรือ Clash of the Titans (2010) หรือไม่ก็สื่อบันเทิงอื่นๆ อย่างมังงะเรื่อง Record of Ragnarok (2017-ปัจจุบัน) ซึ่งก็ไม่น่าแปลกใจเพราะเทพปกรณัมกรีก-โรมันเต็มไปด้วยเรื่องราวเหนือจินตนาการ มีทั้งทวยเทพ วีรบุรุษ และสัตว์ประหลาดที่ชวนให้ตื่นตาตื่นใจ 

แท้จริงแล้ว อิทธิพลของเทพปกรณัมกรีก-โรมันนั้นแผ่ซ่านไปกว้างไกลกว่าแค่ความบันเทิงเท่านั้น แต่ยังแทรกซึมอยู่ในงานศิลปะ ดนตรี วรรณคดี ไปจนถึงภาษาที่เราใช้อย่างที่เรียกว่าแยกออกจากกันไม่ขาด ขนาดที่แม้ Word Odyssey จะเคยเขียนถึงศัพท์และสำนวนในภาษาอังกฤษจากเทพปกรณัมกรีก-โรมันได้สัก 10 บทความแล้ว ก็ยังมีอะไรให้เขียนอีกมาก

สัปดาห์นี้ Word Odyssey ขอชวนมานั่งล้อมวงฟังเรื่องเล่าจากเทพปกรณัมกรีก-โรมัน 3 เรื่องที่เป็นที่มาของศัพท์สำนวนในภาษาอังกฤษอีก 3 คำ

สามารถอ่านบทความอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับเทพปกรณัมกรีก-โรมัน ได้ทาง

https://themomentum.co/words-from-mythology/

https://themomentum.co/words-from-mythology-2/

https://themomentum.co/elements-named-after-greek-and-roman-mythology/

https://themomentum.co/io-in-greek-mythology-word-odyssey/

https://themomentum.co/amazon-word-odyssey/

https://themomentum.co/lgbtqi-vocabulary/

https://themomentum.co/theseus-word-odyssey/

https://themomentum.co/wordodyssey-hercules/

https://themomentum.co/wordodyssey-hercules2/

https://themomentum.co/wordodyssey-hercules3/

 

Pandora’s box

ตำนานกรีกสายหนึ่งเล่าไว้ว่า ผู้ที่สร้างมนุษย์ขึ้นมาบนโลกจากดินและน้ำ คือเทพไททันโพรมีธีอุส (Prometheus) ซึ่งขึ้นชื่อเรื่องความฉลาดปราดเปรื่อง

ในฐานะที่เป็นผู้สร้างมนุษย์ขึ้นมา จึงไม่แปลกที่โพรมีธีอุสจะรักมวลมนุษยชาติมาก ดังนั้น เมื่อถึงคราวต้องแบ่งวัวบูชายัญเป็น 2 กอง เพื่อสังเวยให้แก่เทพเจ้ากองหนึ่ง โพรมีธีอุสจึงออกอุบายนำเนื้อส่วนดีๆ มันๆ แยกไว้กองหนึ่ง (ถ้าสมัยนั้นมีเนื้อวากิว ก็น่าจะอยู่กองนี้) แล้วคลุมทับด้วยส่วนท้องที่ดูไม่น่ากิน ส่วนอีกกองมีแต่กระดูก แต่วางทับด้วยแผ่นไขมันให้แลดูน่ากิน เพื่อจะตบตาเทพเจ้าและหลอกให้เลือกกองที่ 2 เนื้อส่วนที่อร่อยจะได้ตกเป็นของมนุษย์ พอถึงเวลา ซุส (Zeus) ผู้เป็นมหาเทพก็เลือกกองกระดูกหุ้มด้วยไขมันจริงๆ (เป็นเหตุให้นับแต่นั้นมา เวลาที่บูชายัญวัว มนุษย์จะเก็บส่วนเนื้อไว้กิน ส่วนกระดูกเผาถวายให้แก่ทวยเทพ)

ซุสโกรธมากที่มีการตุกติกพยายามหลอกทวยเทพ จึงลงโทษมวลมนุษย์ด้วยการเอาไฟไปซ่อนไว้ไม่ให้มนุษย์ได้ใช้ แต่โพรมีธีอุสก็ไม่วายยังอุตส่าห์ไปแอบขโมยไฟจากโอลิมปัส (Olympus) อันเป็นเคหสถานของเหล่าเทพลงมาให้มนุษย์อีก

ซุสจึงโกรธเป็นฟืนเป็นไฟ ลงโทษโพรมีธีอุสด้วยการนำไปล่ามไว้บนเทือกเขาคอเคซัส (Caucasus) แล้วให้นกอินทรียักษ์ลงมาจิกตับ พอตกกลางคืนและตับงอกใหม่แล้ว วันรุ่งขึ้นก็จะมีนกอินทรียักษ์มาจิกตับใหม่แบบนี้วนไปเรื่อยๆ จนกว่าเฮอร์คิวลีสจะมาช่วยแก้พันธนาการ

เท่านั้นไม่พอ ซุสยังต้องการลงโทษมวลมนุษย์ที่ได้ไฟไปด้วย จึงให้เทพเฮเฟสตัส (Hephaestus) สร้างมนุษย์ผู้หญิงคนแรกขึ้นมา (สมัยนั้นแนวคิด Misogyny รุนแรงมาก) และตั้งชื่อว่าแพนดอรา (Pandora) หมายถึง ของขวัญทั้งมวล ที่ได้ชื่อเช่นนี้ก็เพราะเทพแต่ละองค์มอบ ‘ของขวัญ’ ให้แพนดอรา เทพีแห่งสติปัญญา อธีนา (Athena) จับแต่งองค์ทรงเครื่องและสอนให้รู้จักเย็กปักถักร้อย ส่วนเทพีแห่งความงาม อโฟรไดที (Aphrodite) มอบความงามให้ เทพผู้ส่งสาส์น เฮอร์มีส (Hermes) มอบความเจ้าเล่ห์และสอนให้รู้จักพูดจาโกหกป้อยอ จากนั้นซุสก็ส่งนางแพนดอราลงไปเป็นของขวัญให้แก่เทพไททันอีพิมีธีอุส (Epimetheus) ผู้เป็นน้องของโพรมีธีอุส

อันที่จริงโพรมีธีอุสเคยเตือนอีพิมีธีอุสแล้วว่าไม่ให้รับของขวัญจากซุส แต่พอเห็นความเลอโฉมของแพนดอรา อีพิมีธีอุสก็ลืมคำเตือนของพี่ไปเสียหมด รับแพนดอราเป็นภรรยาอย่างหน้าชื่นตาบาน

ทั้งนี้ แพนดอราไม่ได้มาตัวเปล่า แต่ถือไหมาด้วยใบหนึ่ง ภายในบรรจุสิ่งชั่วร้าย ความทุกข์โศก โรคภัยต่างๆ เอาไว้ พออีพิมีธีอุสรับแพนดอราเป็นภรรยาแล้ว แพนดอราก็เปิดฝาไห ทำให้โรคภัยไข้เจ็บและความทุกข์ยากทุกอย่างหลุดออกมาหมดและแพร่กระจายไปทั่วโลก เหลือไว้แต่เพียงความหวังที่ยังอยู่ในไห ทำให้มนุษย์ที่แต่เดิมใช้ชีวิตสุขสบายต้องตรากตรำทุกข์โศก (ตำนานหลังๆ มักบอกว่า เหล่าทวยเทพสั่งแพนดอราไว้ไม่ให้เปิดไห แต่ด้วยความอยากรู้อยากเห็น แพนดอราจึงอดรนทนไม่ได้และเปิดฝาไห)

หลายคนอ่านมาถึงตรงนี้แล้วก็อาจแย้งอยู่ในใจว่า สิ่งที่แพนดอราถือลงมาไม่ใช่กล่องเหรอ เพราะสำนวนในภาษาอังกฤษก็พูดว่า Pandora’s box ไม่ใช่ Pandora’s jar คำตอบก็คือ จริงๆ แล้วในต้นฉบับภาษากรีกโบราณเขียนไว้ว่า pithos ซึ่งหมายถึง ไหทรงสูง มีหูสองข้าง แต่ว่าตอนช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 16 นักปรัชญาชาวดัตช์ชื่อ อีราสมุส (Erasmus of Rotterdam) แปลผิดเป็นคำว่า pyxis ในภาษาละติน ซึ่งหมายถึง กล่อง ก็เลยเข้าใจกันว่าเป็นกล่องมาจนถึงปัจจุบัน

ทั้งนี้ ภาษาอังกฤษมีสำนวน to open Pandora’s box หมายถึง จุดชนวนปัญหาต่างๆ มากมาย ทำให้ปัญหาต่างๆ พรั่งพรูตามมา (คล้ายๆ to open a can of worms) เช่น กรณีที่มีผู้เสียหายรายแรกเข้าแจ้งความดำเนินคดีกับ ปริญญ์ พานิชภักดิ์ อดีตรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ในฐานล่วงละเมิดทางเพศ ทำให้มีผู้เสียหายรายอื่นๆ ออกมาแจ้งความกันเป็นสิบคน แบบนี้ก็อาจพูดได้ว่า The first woman who came forward really opened Pandora’s box for Prinn Panitchpakdi.

ทั้งนี้ ชื่อของแพนดอรายังไปปรากฏในชื่อเอกสาร Pandora Papers ซึ่งเป็นเอกสารลับจำนวนเกือบ 12 ล้านฉบับ ที่หลุดออกมาเมื่อปีที่แล้ว ซึ่งเปิดโปงว่าผู้นำ เศรษฐี ดารา และนักธุรกิจ จากหลายประเทศทั่วโลกลักลอบทำบัญชีหรือเปิดบริษัทนอกประเทศเพื่อทำธุรกรรมที่ไม่โปร่งใส 

 

Halcyon days

ครั้งหนึ่งมีคู่สามีภรรยาที่รักกันมาก นามว่า ซีอิกซ์ (Ceyx) เป็นกษัตริย์เมืองทราคิส (Trachis) และแอลไซโอนี (Alcyone) ลูกสาวของเทพแห่งลม เอโอลัส (Aeolus) อยู่มาวันหนึ่ง ซีอิกซ์ได้รับข่าวว่าน้องชายตายแล้วก็รู้สึกว้าวุ่นใจมาก จึงตัดสินใจจะออกเรือเดินทางไปยังวิหารเดลฟี (Delphi) เพื่อขอคำทำนาย แต่แอลไซโอนีดันมีลางสังหรณ์ว่าจะเกิดเรื่องไม่ดีหากสามีออกทะเล จึงขอร้องไม่ให้ไป ซีอิกซ์จึงพยายามปลอบภรรยาและสัญญาว่าจะกลับมาภายใน 2 เดือน

แต่ปรากฏว่าพอเดินเรือไปได้แค่ครึ่งทาง เรือของซีอิกซ์ก็เจอพายุกลางทะเลและอับปางเข้า ทางฝ่ายแอลไซโอนียังไม่รู้ว่าสามีตายแล้ว ก็ยังไหว้เทพีเฮรา (Hera) ผู้เป็นภรรยาของซุส ทุกวี่ทุกวันให้คุ้มครองสามี จนเฮราสงสาร ส่งเทพแห่งความฝัน มอร์ฟิอุส (Morpheus) ให้มาปรากฏตัวในความฝันเป็นซีอิกซ์สภาพผิวซีดเผือก ผมเปียกปอน และบอกกับแอลไซโอนีว่า ตนเองเรืออับปางจมน้ำตาย (บ้างก็บอกว่า จริงๆ แล้วโดนซุสเอาสายฟ้าฟาด เพราะ 2 คนนี้แสดงความอยากตีตนเสมอเทพและชอบเรียกแทนกันว่าซุสกับเฮรา)

แอลไซโอนีตื่นแล้วรีบวิ่งไปที่ชายฝั่ง จึงไปพบศพสามีที่คลื่นซัดมาขึ้นฝั่ง แอลไซโอนีโศกเศร้ามากจึงพยายามโดดน้ำตายตาม แต่เทพเจ้าสงสาร จึงแปลงทั้งแอลไซโอนีและซีอิกซ์ให้เป็นนกกระเต็น (halcyon) เพื่อที่ทั้งคู่จะยังได้อยู่ด้วยกันและครองรักกัน

นอกจากนั้น เมื่อถึงฤดูหนาว ซึ่งเป็นฤดูผสมพันธุ์และวางไข่ เทพเอโอลัสผู้เป็นพ่อก็จะคุมให้คลื่นลมสงบเป็นเวลา 14 วัน (บ้างก็ว่า 7 วัน) เพื่อที่จะได้ทำรังวางไข่ได้โดยสงบ ช่วงเวลาที่คลื่นลมสงบนี้ จึงได้ชื่อว่า halcyon days ซึ่งในภาษาอังกฤษนำมาใช้เป็นสำนวนด้วย หมายถึง ช่วงเวลาอันแสนสงบสุข โดยเฉพาะเมื่อพูดแบบหวนนึกถึงอดีต ทำนองวันวานอันแสนสุข เช่น It’s time to stop reminiscing about halcyon days and look ahead. ก็คือถึงเวลาเลิกระลึกถึงอดีตอันแสนสุขและมองไปข้างหน้าได้แล้ว

 

Priapism

ไพรเอพัส (Priapus) เป็นเทพแห่งความเจริญพันธุ์และสวนผักในเทพปกรณัมกรีก-โรมัน ว่ากันว่าเป็นลูกของเทพีแห่งความงาม อโฟรไดที (Aphrodite) กับเทพีแห่งเหล้าองุ่น ไดโอไนซัส (Dionysus) แต่เทพีเฮรา (Hera) ภรรยาของซุส ไม่ปลื้มด้วยเหตุอันใดไม่ทราบ จึงไปแตะตัวอโฟรไดทีตอนตั้งครรภ์อยู่และสาปให้ลูกที่ออกมีรูปร่างไม่สมประกอบ ปรากฏพอถึงเวลาคลอดออกมา เทพีอโฟรไดทีตกใจมาก เพราะทารกชายมีน้องชายที่ใหญ่โตผิดส่วนกับร่างกายเหลือเกิน อโฟรไดทีรับไม่ได้จึงยกให้คนเลี้ยงแกะเอาไปชุบเลี้ยงดูแล

ด้วยความที่ไพรเอพัสเป็นเทพที่อยู่ในป่าเขาลำเนาไพรและมีความเกี่ยวพันกับธรรมชาติ จึงมีลักษณะสัญชาตญาณด้านเพศที่ดิบเถื่อนในระดับหนึ่ง มีอยู่ครั้งหนึ่ง ไพรเอพัสเห็นนางพรายชื่อโลทิส (Lotis) นอนหลับอยู่ จึงหวังจะเข้าไปทำมิดีมิร้าย แต่จังหวะที่กำลังจะเข้าด้ายเข้าเข็ม ปรากฏว่า ลาของเทพซิเลนัส (Silenus) ดันร้องขึ้นมา โลทิสจึงตื่นแล้ววิ่งหนี ทำให้ทวยเทพและนางพรายตื่นกันทั้งป่าและเห็นไพรเอพัสในสภาพโด่ไม่รู้ล้มจนเป็นที่หัวเราะเยาะเย้ยกันไปทั่ว นับแต่บัดนั้น ไพรเอพัสจึงเกลียดลามาก และเป็นสาเหตุที่คนสมัยก่อนใช้ลาเป็นสัตว์บูชายัญเวลาไหว้เทพไพรเอพัส

ทั้งนี้ ในบางเวอร์ชัน ไพรเอพัสยังไล่ตามนางโลทิสต่อ จนทวยเทพสงสาร เปลี่ยนนางโลทิสให้กลายเป็นต้นโลตัส (ซึ่งไม่ใช่บัว แต่เป็นต้นไม้ชนิดหนึ่งในเทพปกรณัมกรีก-โรมันที่ออกผลที่กินเข้าไปแล้วจะเกิดอาการง่วงนอนเพ้อฝัน)

ด้วยความที่ไพรเอพัสเป็นเทพแห่งสวนผักผลไม้ และมีความเชื่อมโยงกับความอุดมสมบูรณ์และความเจริญพันธุ์ ชาวโรมันสมัยก่อนจึงมักแกะสลักรูปปั้นไม้ไพรเอพัส ทาเป็นสีแดง แล้วนำไปวางในสวน เพื่อทำหน้าที่เป็นตัวนำโชค (คล้ายๆ ที่ร้านค้าหลายร้านตั้งปลัดขิกไว้) และเป็นหุ่นไล่กาไปในเวลาเดียวกัน

ทั้งนี้ เนื่องจากไพรเอพัสเป็นเทพที่ขึ้นชื่อว่ามีน้องชายมหึมาผิดกับขนาดตัว ในรูปปั้นและภาพวาดต่างๆ ก็มักมีน้องชายแข็งตัวชี้โด่ ชื่อของไพรเอพัสจึงถูกนำมาทำเป็นคำคุณศัพท์ priapic แปลว่า เกี่ยวข้องกับอวัยวะเพศชาย รวมถึงนำไปตั้งชื่อภาวะองคชาติแข็งค้าง ไม่ยอมกลับสู่สภาพเดิม เรียกว่า priapism

 

บรรณานุกรม

Addis, Ferdie. Opening Pandora’s Box: Phrases We Borrowed from the Classics and the Stories behind Them. Michael O’ Mara Books: London, 2010.

American Heritage Dictionary of the English Language

Ayto, John. Word Origin: The Hidden Histories of English Words from A to Z. 2nd ed. A&C Black: London, 2008.

Hamilton, Edith. Mythology: Timeless Tales of Gods and Heroes. Grand Central Publishing: New York, 1999.

March, Jenny. The Penguin Book of Classical Myths. Penguin Books: London, 2009.

Merriam-Webster Dictionary

Nurnberg, Maxwell, and Morris Rosenblum. All About Words: An Adult Approach to Vocabulary Building. Signet Reference Books: New York, 1968.

Oxford Advanced Learners’ Dictionary

Shorter Oxford English Dictionary

The Merriam-Webster New Book of Word Histories. Merriam-Webster, 1991.

Tags: , ,