หากพูดถึงเทพปกรณัมกรีก-โรมัน ชื่อหนึ่งที่แม้แต่คนที่ไม่คุ้นเคยกับเรื่องเทพเจ้าทั้งหลายก็ยังน่าจะรู้จักหรืออย่างน้อยก็คุ้นหูก็คือ เฮอร์คิวลีส (Hercules)

เหตุผลหลักๆ ก็น่าจะเป็นเพราะตำนานเฮอร์คิวลีสถูกนำมาดัดแปลงเป็นภาพยนตร์และซีรี่ส์บ่อยพอสมควร เช่น ซีรีส์ Hercules: The Legendary Journeys ที่นำแสดงโดย เควิน ซอร์โบ (Kevin Sorbo) ในยุค 90 หรืออย่างในปี 2014 ก็มีภาพยนตร์เกี่ยวกับเฮอร์คิวลีสออกมาชนกันถึงสองเรื่อง คือ Hercules ที่นำแสดงโดย ดเวนย์ จอห์นสัน (Dwayne Johnson) และ The Legend of Hercules ที่นำแสดงโดย เคลลัน ลัตซ์ (Kellan Lutz) และที่ดังที่สุดน่าจะเป็นเวอร์ชั่นภาพยนตร์แอนิเมชั่นของดิสนีย์ในปี 1997 (ซึ่งอาจจะพูดได้ว่าเป็นเวอร์ชั่นที่ผู้สร้างใช้ความคิดสร้างสรรค์แต่งเติมเยอะมากที่สุดเวอร์ชั่นหนึ่งด้วย)

เนื่องจากเรื่องราวของวีรบุรุษคนนี้ทรงอิทธิพลมากมาตั้งแต่สมัยกรีกโบราณและถูกเล่าสืบต่อกันมาเรื่อยๆ ในโลกตะวันตก จึงไม่แปลกเลยที่ตำนานของเฮอร์คิวลีสจะเป็นฝากคำและสำนวนหลายๆ อย่างไว้ในภาษาอังกฤษ

ในสัปดาห์นี้ เราจะไปดูกันว่า เรื่องราวของเฮอร์คิวลีส* เป็นอย่างไร ต่างจากในบรรดาภาพยนตร์ดัดแปลงขนาดไหน และเป็นที่มาของคำและสำนวนอะไรบ้างในภาษาอังกฤษ

*เฮอร์คิวลีส (Hercules) เป็นชื่อโรมัน ส่วนชาวกรีกเรียกวีรบุรุษคนนี้ว่า เฮราคลีส (Heracles) ทั้งนี้ เนื่องจากเรื่องราวที่จะเล่าต่อไปนี้เกิดขึ้นในกรีซและชื่อตัวละครในเรื่องตัวอื่นๆ เป็นชื่อกรีก บทความนี้จะใช้ชื่อ เฮราคลีส

 

กว่าเฮราคลีสจะได้มาเกิด

เรื่องราวของเฮราคลีสเริ่มต้นในเมืองไมซีนี (Mycenae) ซึ่งตั้งอยู่ในประเทศกรีซในปัจจุบัน ในตอนนั้นกษัตริย์ที่ครองเมืองไมซีนีอยู่คือ อิเล็กทริออน (Electryon) ซึ่งเป็นลูกของวีรบุรุษเพอร์ซิอุส (Perseus) ที่แสนโด่งดังและเป็นผู้ก่อตั้งเมืองไมซีนี

สิ่งที่อาจจะทำให้คนยุคเราตกใจมือทาบอกเล็กน้อยก็คือ กษัตริย์อิเล็กทริออนได้จับให้ลูกสาวของตนเองนามว่า แอลค์มีนี (Alcmene) แต่งงานกับหลานชายชื่อว่า แอมฟิทริออน (Amphitryon) (ในสมัยกรีกโบราณถือว่าเป็นเรื่องปกติ โดยเฉพาะในตระกูลร่ำรวย เนื่องจากเป็นการเก็บรักษาให้สมบัติยังวนเวียนอยู่ในวงตระกูล)

แต่ความซวยก็คือว่า ระหว่างนั้น เผ่าเทเลโบอัน (Teleboan) ได้มาขโมยวัวของกษัตริย์อิเล็กทริออนไป แถมระหว่างที่รบกันยังฆ่าลูกชายเก้าคนของตน (พี่ชายน้องชายของแอลค์มีนี) ด้วย กษัตริย์อิเล็กทริออนจึงสั่งห้ามไม่ให้ทั้งสองคนมีอะไรกันจนกว่าจะไปรบกับพวกเทเลโบอันและล้างแค้นให้แก่พี่ชายน้องชายของแอลค์มีนีได้สำเร็จ

แอมฟิทริออนผู้เป็นทั้งหลานและลูกเขยจึงรีบไปออกรบและกู้วัวที่ถูกขโมยไปได้สำเร็จ แต่ระหว่างนี้ที่นำวัวกลับมาคืนให้แก่กษัตริย์อิเล็กทริออน เหตุไม่คาดฝันก็เกิดขึ้น เพราะวัวตัวหนึ่งเกิดคุ้มคลั่งขึ้นมา แอมฟิทริออนจึงเขวี้ยงกระบองใส่เพื่อปราบวัว แต่กระบองกลับกระดอนมาโดนกษัตริย์อิเล็กทริออนตายคาที่ ทำให้แอมฟิทริออนและแอลค์มีนีถูกขับจากเมืองไมซีนีและต้องระหกระเหินไปเพิ่งใบบุญกษัตริย์ครีออน (Creon) แห่งเมืองธีบส์ (Thebes)

แต่ระหว่างที่อยู่ในเมืองธีบส์นั้น แอมฟิทริออนและแอลค์มีนีก็ยังไม่กล้ามีอะไรกันเพราะถึงแม้จะกู้วัวกลับมาได้แล้ว แต่ก็ยังปราบพวกเทเลโบอันเพื่อล้างแค้นให้พี่ชายน้องชายของแอลค์มีนีได้ไม่สำเร็จ แอมฟิทริออนจึงยกทัพไปตีพวกเทเลโบอันอีกครั้ง เนื่องจากครั้งนี้มีกษัตริย์ครีออนช่วย แอมฟิทริออนจึงปราบพวกเทเลโบอันและล้างแค้นให้แก่พี่ชายน้องชายของแอลค์มีนีได้ในที่สุด

เมื่อได้ทำตามคำสั่งของกษัตริย์อิเล็กทริออนครบถ้วนสมบูรณ์แล้ว แอมฟิทริออนจึงรีบเดินทางกลับไปหาแอลค์มีนีเพื่อจะได้ปฏิบัติหน้าที่เยี่ยงสามีเสียที แต่ปรากฏว่าคุณภรรยากลับไม่ได้ดูตื่นเต้นที่ได้เห็นหน้าสามีที่เพิ่งกลับมาจากสงคราม แถมยังรู้รายละเอียดการรบทุกอย่าง และที่น่าฉงนที่สุดคือไม่ได้ดูดีใจที่ได้ร่วมรักกับสามีเป็นครั้งแรกด้วย พอแอมฟิทริออนถามว่าเหตุใดจึงเฉยเมยเหลือเกิน แอลค์มีนีก็ตอบว่า ก็เมื่อคืนเธอเล่าทุกอย่างให้ฉันฟังแล้ว และเราก็มีอะไรกันแล้วเป็นครั้งแรกไง! 

แอมฟิทริออนถึงกับงงเป็นไก่ตาแตก จึงเดินทางไปปรึกษาโหรตาบอดนามว่าทิรีเซียส (Tiresias) และได้ความว่า คืนก่อนที่แอมฟิทริออนจะเดินทางกลับมาหาแอลค์มีนี ซุส (Zeus) ผู้เป็นมหาเทพได้แปลงกายให้หน้าตาเหมือนแอมฟิทริออนมาปาดหน้าเค้กไปเรียบร้อยแล้ว พร้อมเล่าเรื่องราวการรบทุกอย่างเพื่อให้แอลค์มีนีเชื่อโดยสมบูรณ์ว่าเป็นสามีตัวเองจริงๆ ทำให้ตอนนี้ในครรภ์ของแอลค์มีนีมีเด็กสองคน คนหนึ่งเป็นลูกของแอมฟิทริออน และอีกคนเป็นลูกของซุส นั่นเอง

 

กำเนิดเฮราคลีส

แม้ว่าซุสจะไข่ลูกทิ้งไว้ทั่วบ้านทั่วเมืองจนไม่น่าจะตื่นเต้นแล้วที่มีลูกอีกคน แต่ซุสกลับตื่นเต้นกับลูกคนนี้มากเนื่องจากรู้ว่าจะเป็นวีรบุรุษที่ยิ่งใหญ่เกรียงไกรที่สุด ด้วยเหตุนี้ ในวันที่แอลค์มีนีจะคลอด ซุสจึงเที่ยวไปโม้กับทวยเทพต่างๆ และให้คำสัตย์ไว้ว่าจะให้เด็กที่เป็นเลือดเนื้อเชื้อไขของตนที่จะมาเกิดในวันนี้ ได้เติบโตขึ้นมาเป็นผู้ครองเมืองไมซีนีอันยิ่งใหญ่

เฮรา (Hera) มเหสีเอกที่ขึ้นชื่อเรื่องความหึงหวงและการตามรังควานหญิงที่ซุสไปมีความสัมพันธ์ด้วย ได้ยินดังนั้น จึงใช้อิลิไธอา (Ilithyia) เทพีแห่งการคลอดบุตรซึ่งเป็นลูกสาวของตน ให้ไปยับยั้งไม่ให้แอลค์มีนีคลอดลูกในวันนั้น และบันดาลให้ภรรยาของสเธเนลัส (Sthenelus) น้องชายของกษัตริย์อิเล็กทริออน ซึ่งขณะนั้นตั้งครรภ์ได้เพียงแค่เจ็ดเดือน ให้คลอดลูกนามว่า ยูริสธีอุส (Eurystheus) ก่อนกำหนด

เนื่องจากสเธเนลัสกับกษัตริย์อิเล็กทริออนเป็นลูกของวีรบุรุษเพอร์ซิอุสและเป็นหลานของซุส ยูริสธีอุสจึงนับเป็นเหลนของซุส ทำให้ยูริสธีอุสมีสเปคตรงตามคำสัตย์ที่ซุสให้ไว้ ซุสจึงจำใจต้องให้ยูริสธีอุสได้ครองเมืองไมซีนีในเวลาต่อมา

ส่วนแอลค์มีนีก็ได้คลอดลูกแฝดในเวลาต่อมา คนหนึ่งคือเฮราคลีส ซึ่งเป็นลูกของซุส ส่วนอีกคนชื่อ อิฟิคลีส (Iphicles) เป็นลูกแอมฟิทริออน

ที่มา : Wikipedia

 

พอเฮราคลีสได้ลืมตามาดูโลกแล้ว เฮราก็ยังไม่หยุดรังควาน ส่งงูตัวเขื่องสองตัวลงมาจัดการทารกเฮราคลีสที่นอนอยู่ในเปล แต่ปรากฏว่าเฮราคลีสมีกำลังวังชาผิดมนุษย์มนา (ก็เป็นลูกเทพอะเนอะ) จึงบีบงูสองตัวตายคามือโดยง่ายดาย (บ้างก็ว่าเฮราไม่ได้ส่งงูมา แต่แอมฟิทริออนเป็นคนเอางูมาใส่เปลเพื่อทดสอบว่าแฝดคนไหนเป็นลูกตัวเองและคนไหนเป็นลูกซุส)

ที่มา : Wikipedia

 

ทั้งนี้ ยังมีเรื่องเล่าอีกว่า ซุสหวังให้เฮราคลีสมีฤทธิ์เดชอย่างเทพ จึงแอบนำทารกเฮราคลีสมาให้กินนมเทพีเฮรา แต่ด้วยความที่เฮราคลีสมีกำลังวังชามากกว่าคนธรรมดา จึงกัดลงไปที่นมของเฮราแรงจนเฮราสะดุ้งตื่นและผละเฮราคลีสออกจากอก ผลก็คือน้ำนมพุ่งพวยออกจากอกเทพีเฮราและสาดกระเซ็น เกิดเป็นทางช้างเผือก หรือ the Milky Way นั่นเอง

 

เฮราคลีสเสียสติ

เฮราคลีสเติบใหญ่ขึ้นมาเป็นชายกำยำที่มีพละกำลังเหนือมนุษย์ และได้แต่งงานกับเมการา (Megara) ลูกสาวของกษัตริย์ครีออนแห่งเมืองธีบส์ ทั้งคู่ครองรักกันอย่างสงบสุขหลายปีและมีลูกด้วยกันหลายคน ซึ่งแน่นอนว่าเป็นสิ่งที่ขัดหูขัดตาเฮราอย่างมาก เฮราจึงบันดาลให้เฮราคลีสเกิดคุ้มคลั่งขึ้นมา พอได้สติขึ้นมา เฮราคลีสจึงเห็นว่าในช่วงที่หน้ามืดตามัวไม่ได้สตินั้น ตนเองได้ฆ่าลูกเมียตายเรียบ

เฮราคลีสจึงรู้ผิดและโศกเศร้าอย่างมาก จึงอัปเปหิตัวเองออกจากเมืองธีบส์และออกเดินทางไปยังวิหารเดลฟี (Delphi) เพื่อขอคำชี้แนะ ปรากฏว่านักบวชที่วิหารบอกว่าเพื่อเป็นการล้างมลทินจากการฆ่าคน (เรียกว่า miasma ภาษาอังกฤษในปัจจุบันนำมาใช้หมายถึง ไอเหม็น) เฮราคลีสจะต้องไปรับใช้ยูริสธีอุส ซึ่งได้ขึ้นเป็นกษัตริย์แห่งเมืองไมซีนี เป็นเวลา 12 ปีและปฏิบัติภารกิจทุกอย่างที่กษัตริย์มอบหมายให้ไม่ว่าภารกิจนั้นจะหินขนาดไหน

ภารกิจเหล่านี้มีด้วยกันทั้งสิ้น 12 ประการ เรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า 12 Labors แต่ในภาษากรีกใช้คำว่า athloi ซึ่งหมายถึง ภารกิจที่ทำเพื่อพิชิตรางวัล และเป็นญาติกับคำว่า athlete ที่หมายถึง นักกรีฑา (ผู้ที่ลงแข่งขันเพื่อรางวัล) รวมถึง triathlon (ไตรกรีฑา) pentathlon (ปัญจกรีฑา) และ decathlon (ทศกรีฑา)

ทั้งนี้ ด้วยความที่ภารกิจเหล่านี้ส่วนใหญ่มีความโหดหินแบบที่ปุถุชนคนทั่วไปไม่น่าทำได้เพราะเกี่ยวข้องกับการปราบสัตว์ประหลาดหรือการไปนำสิ่งของพิสดารมากจากแดนไกล ดังนั้นจึงทำให้มีคนนำชื่อเฮอร์คิวลีสมาทำเป็นคำว่า herculean ในภาษาอังกฤษมาใช้อธิบายงานที่ยากเข็ญจนแทบจะเป็นไปไม่ได้ ต้องใช้กำลังวังชาและความอุตสาหะมหาศาล เช่น Ridding Thailand of illegal gambling houses is a herculean task. เป็นต้น

นอกจากนั้น คำว่า herculean ยังใช้บรรยายคนที่แข็งแรงกำยำ กล้ามเป็นมัดๆ แบบเฮราคลีสได้อีกด้วย เช่น Can you please take your eyes off that herculean hunk for a moment and actually focus? ก็คือ ช่วยละสายตาจากพ่อหนุ่มล่ำบึกคนนั้นแล้วตั้งสติหน่อยได้ไหม

       ส่วนภารกิจทั้ง 12 ประการของเฮราคลีสมีอะไรบ้างและเป็นที่มาคำศัพท์แสงอะไรในภาษาอังกฤษบ้าง ติดตามกันในสัปดาห์หน้านะครับ

 

บรรณานุกรม :

Buxton, Richard. The Complete World of Greek Mythology. Thames & Hudson: New York, 2004.

Graves, Robert. The Greek Myths: The Complete and Definitive Edition. Penguin Books: London, 2011.

 Grimal, Pierre. Dictionary of Classical Mythology. Penguin Books: London, 1991.

Hamilton, Edith. Mythology: Timeless Tales of Gods and Heroes. Grand Central Publishing: New York, 1999.

Hard, Robin. The Routledge Handbook of Greek Mythology. Routledge: New York, 2004

Jones, Daniel. Cambridge English Pronouncing Dictionary. Cambridge University Press: Cambridge, 2003.

March, Jenny. Dictionary of Classical Mythology. Oxbow Book: PA, 2014.

March, Jenny. The Penguin Book of Classical Myths. Penguin Books: London, 2009.

Morford, Mark, et al. Classical Mythology. 11ed. OUP: New York, 2019

Stuttard, David. Greek Mythology: A Traveller’s Guide from Mount Olympus to Troy. Thames & Hudson: London, 2016.

Wells, J. C. Longman Pronunciation Dictionary. Pearson Education: Essex, 2008.

Tags: , , ,