แม้จะเคยเขียนคำที่มาจากปกรณัมกรีกโรมันไปแล้วมากมาย ไม่ว่าจะเป็นคำที่ใช้เรียกอาหารอย่างซีเรียล คำเรียกสถานที่อย่างป่าแอมะซอน ไปจนถึงคำที่เราได้ยินในสื่อบันเทิงอย่างเมนเทอร์ และชื่อธาตุต่างๆ แต่อิทธิพลของปกรณัมโบราณเหล่านี้แผ่ซ่านแทรกซึมไปกว้างมากจนยังมีคำอีกมากมายที่เราใช้กันในชีวิตประจำวันโดยอาจไม่รู้เลยว่าแท้จริงแล้วมีที่มาจากปกรณัมกรีกโรมัน

ในสัปดาห์นี้ เราจะไปดูนางไม้ สัตว์ประหลาด และเทพเจ้าอื่นๆ จากปกรณัมกรีกโรมันที่จำแลงกายมาเป็นศัพท์ภาษาอังกฤษที่เราใช้กันอยู่ทุกวันนี้

Panic

คำนี้เป็นหนึ่งในคำที่คนไทยใช้ทับศัพท์กันบ่อยครั้ง ส่วนใหญ่มักใช้เป็นกริยา (เช่น อย่าแพนิกไป) แต่ในภาษาอังกฤษ คำนี้เป็นได้ทั้งนาม (เช่น Everyone fled in panic when they heard that the police were coming.) และกริยา (เช่น Everyone panicked and fled when they heard that the police were coming.) มีความหมายว่า ตระหนกหรือตื่นตกใจ

แม้ว่าคำนี้ดูเผินๆ ไม่น่าจะมีอะไรเกี่ยวกับปกรณัมกรีกโรมันได้เลย แต่อันที่จริงแล้วมีที่มาจากชื่อเทพองค์หนึ่งนามว่า แพน (Pan) ซึ่งเป็นลูกของเทพเฮอร์มีส (Hermes) เทพองค์นี้เป็นเทพครึ่งคนครึ่งแพะ คือ ท่อนบนเป็นคน ท่อนล่างเป็นแพะ และมีเขาแพะบนหัว โดยปกติแล้วอาศัยและเตร็ดเตร่อยู่ตามป่าเขาลำเนาไพร จึงกลายมาเป็นเทพผู้พิทักษ์คนเลี้ยงแพะเลี้ยงแกะที่พาสัตว์ออกมากินหญ้าหาอาหารตามทุ่งด้วย

ลักษณะเด่นอีกอย่างของเทพองค์นี้ก็คือเป็นเทพที่มักมากในกาม วันๆ เอาแต่ไล่ปล้ำนางไม้ในป่าเขา แต่นางไม้ก็มักจะพากันหนีจ้าละหวั่นเนื่องจากรูปร่างของแพนค่อนข้างผิดมาตรฐานความงามไปหน่อย อันที่จริงแล้ว วีรกรรมความมักมากในกามคุณของแพนนี้ยังไปเกี่ยวโยงกับคำว่า syringe ที่แปลว่า หลอดฉีดยา อีกด้วย เรื่องมีอยู่ว่า วันหนึ่งแพนไปเห็นนางไม้ชื่อ ซีริงซ์ (Syrinx) เข้าแล้วเกิดจิตปฏิพัทธ์ จึงวิ่งกวดหวังจับปล้ำตามสไตล์ ฝ่ายนางไม้สาวเห็นเข้าก็วิ่งหนีเตลิดเปิดเปิงด้วยไม่อยากสมสู่กับแพน แต่นางซีริงซ์น่าจะใช้แต้มบุญหมดพอดีเพราะดันวิ่งไปเจอแม่น้ำใหญ่ จะข้ามแม่น้ำหนีไปก็ไม่ได้ พอเห็นว่าตนเองกำลังจะเพลี่ยงพล้ำตกเป็นเมียของเทพครึ่งคนครึ่งแพะแล้ว จึงอ้อนวอนเทพประจำแม่น้ำสายนั้นให้ช่วยเหลือตน เทพแม่น้ำเห็นเข้าก็เห็นใจจึงแปลงนางซีริงซ์ให้กลายเป็นต้นกก หยั่งรากอยู่ตรงริมน้ำ (เป็นที่มาว่าทำไมจึงมักมีต้นกกงอกริมน้ำ) แต่แม้นางไม้สาวจะกลายเป็นพืชไปแล้วก็ไม่ได้ทำให้แพนล้มเลิกความคิดที่จะนำนางซีริงซ์มาครองอยู่ดี พอเห็นเช่นนี้ แพนก็ลงมือตัดต้นกกแล้วนำมาเรียงประกอบกันเป็นขลุ่ย (เรียกว่า pan flute) เกิดเป็นเครื่องดนตรีชนิดใหม่ ส่วนชื่อนางซีริงซ์ก็กลายมาเป็นคำที่ใช้เรียกต้นกกและสิ่งของที่ลักษณะเป็นท่อคล้ายลำต้นของต้นกก ในเวลาต่อมา เมื่อวิทยาการทางการแพทย์ก้าวไกลจนมีผู้คิดค้นเข็มฉีดยาได้สำเร็จ จึงเรียกกระบอกฉีดยาที่มีลักษณะเป็นท่อว่า syringe นั่นเอง

ตัดกลับมาที่เรื่องเทพแพน เหตุผลที่เทพครึ่งคนครึ่งแพะองค์นี้กลายมาเป็นที่มาของภาวะตื่นตระหนกได้ก็เพราะว่ากันว่าเทพองค์นี้มักส่งเสียงดังโหยหวนชวนสะพรึง ใครที่เดินเข้าพงไพรแล้วอยู่ได้ยินเสียงประหลาดชวนให้ตื่นตกใจ คนโบราณก็จะบอกว่าเป็นเสียงของเทพแพนที่โลดแล่นอยู่ตามป่าเขานั่นเอง ตำนานยังกล่าวไว้อีกด้วยว่าในช่วงสงครามระหว่างเทพโอลิมปัส (Olympus) และเทพไททัน (Titanomachy) เทพแพนเคยช่วยซุส (Zeus) ไว้ด้วยการแผดเสียงกัมปนาทจนฝั่งเทพไททันตกใจหนีเตลิดกันไปหมด ด้วยเหตุนี้ ชื่อของเทพแพนจึงกลายมาเป็นคำว่า panic ในภาษาอังกฤษปัจจุบันและหมายถึง ภาวะตื่นตระหนก

ทั้งนี้ คำว่า panic ยังถูกเอามาใช้ประกอบเป็นคำใหม่ๆ ที่เกี่ยวกับความตื่นตระหนกหรือภาวะคับขัน เช่น panic attack (อาการทางกายที่เกิดขึ้นเมื่อแพนิก เช่น แน่นหน้าอก หายใจไม่ออก เหงื่อออก ตัวสั่น) panic room (ห้องนิรภัยที่ไว้ใช้หลบภัย) และ panic button (ปุ่มแจ้งเตือนภัย เช่นที่ใช้ในธนาคารเพื่อแจ้งเตือนว่ามีการปล้นธนาคารเกิดขึ้น)

Echo

คำนี้ใช้เรียกเสียงสะท้อนแบบที่เราได้ยินเวลาตะโกน “ฮัลโหล” ใส่หน้าผาแล้วได้ยินเสียง “โหล โหล โหล” สะท้อนกลับมา ถือได้ว่าเป็นอีกคำที่หลายคนใช้โดยไม่เคยทราบมาก่อนว่ามีที่มาจากปกรณัมกรีกโรมันเมื่อหลายพันปีก่อน

ตำนานเล่าว่า เอคโค่ (Echo) แต่เดิมเป็นชื่อของนางไม้ตนหนึ่ง นางไม้ตนนี้มีความขี้เจ๊าะแจ๊ะช่างเจรจา เจอใครเข้าไม่ได้เป็นต้องปรี่เข้าไปเม้าธ์มอย ชวนคุยจนทำคนอื่นเสียธุระก็มี ความช่างพูดช่างคุยนี้ไม่เคยสร้างปัญหาให้แก่นางเอกโค่เลยจนกระทั่งอยู่มาวันหนึ่ง ขณะที่เทพีเฮรา (Hera) ผู้เป็นราชินีแห่งทวยเทพและมเหสีของซุส (Zeus) กำลังไล่ตามสวามีของตนเองที่กำลังจะไปคบชู้กับบรรดานางไม้ ได้ผ่านมาแถวที่นางเอคโค่อยู่ พอนางเอคโค่เห็นเทพีเฮราเข้าจึงรี่เข้าไปรั้งตัว ชวนคุยอยู่เสียนาน จนท้ายที่สุดเฮราตามซุสไม่ทัน เทพีเฮราโกรธมากที่ความขี้เม้าธ์มอยหอยกาบของนางเอคโค่ทำให้สามีตนเองรอดพ้นสายตาไปได้ จึงลงโทษนางเอคโค่ด้วยการสาปให้นางเริ่มชวนชาวบ้านคุยไม่ได้ ได้แต่พูดตามสิ่งที่คนอื่นพูดเท่านั้น

หลังจากโดนคำสาปนี้เข้าไป นางเอคโค่ก็เศร้าเป็นหมาหงอย เพราะจะไปชวนใครคุยเหมือนเดิมก็ไม่ได้ ความซวยซ้ำซวยซ้อนก็คือนางเอคโค่ดันแอบไปหลงรักชายผู้หนึ่งนามว่า นาร์ซิสซัส (Narcissus) เข้า นาร์ซิสซัสเป็นชายหนุ่มรูปงามที่หล่อเหลาถึงขนาดที่ใครเห็นก็รักก็หลง มีหนุ่มสาวตามจีบไม่ขาดสาย แต่ถึงกระนั้น นาร์ซิสซัสก็ไม่เคยรับรักใคร หักอกผู้ที่เข้ามาเกี้ยวพาราสีทุกราย ดังนั้น แน่นอนว่านางเอคโค่เองก็ไม่มีโอกาสจีบติด แม้จะพยายามเข้าหาชวนพูดคุย แต่ก็ได้แต่พูดตามสิ่งที่นาร์ซิสซัสพูดออกมาเท่านั้น จนทำให้นาร์ซิสซัสเข้าใจว่านางเอคโค่ล้อเลียนตัวเองอยู่และไล่ตะเพิดนางเอคโค่ไป

แต่เนื่องจากนาร์ซิสซัสหักอกคนไว้มากมาย จึงมีผู้ไม่สมหวังไปอ้อนวอนสาปแช่งให้นาร์ซิสซัสโดนแบบที่ตนเองโดนบ้าง พอเทพีเนเมซิส (Nemesis) ได้ยินเข้าจึงบันดาลให้นาร์ซิสซัสเดินไปเจอบ่อน้ำใสกิ๊งราวกระจก เมื่อนาร์ซิสซัสยื่นหน้าลงไป ก็ตกหลุมรักชายหนุ่มรูปงามที่ตนเห็นในบ่อน้ำนั้น แต่ไม่ว่าจะพยายามยื่นมือลงไปโอบกอดก็ไม่เป็นผลเพราะชายหนุ่มที่เห็นก็คือเงาสะท้อนของตนเองนั่นเอง นาร์ซิสซัสหลงใหลในความงามของตนเองจนไม่ยอมลุกไปไหน ไม่กินไม่ดื่ม เอาแต่จ้องเงาตัวเองบนผิวน้ำจนท้ายที่สุดก็ตรอมใจตายอยู่ตรงริมสระนั้นและกลายไปเป็นดอกนาร์ซิสซัส (หรือมีอีกชื่อว่าดอกแดฟโฟดิล)

นอกจากจะเป็นดอกไม้แล้ว ชื่อของชายหนุ่มผู้นี้ก็ยังมาโผล่ในภาษาอังกฤษเป็นคำว่า narcissism ที่แปลว่า อาการหลงตัวเอง หรือหากใครที่เป็นแฟนแฮร์รี่ พอตเตอร์ ก็อาจจะคุ้นว่าแม่ของมัลฟอยมีชื่อว่า นาร์ซิสซา (Narcissa) ซึ่งก็มาจากชื่อตัวละครในปกรณัมกรีกตัวนี้เช่นกัน

ทั้งนี้ หลังจากที่นาร์ซิสซัสตายไป นางเอคโค่ก็โศกเศร้ามากจนถึงขั้นตรอมใจ ไม่ดื่มไม่กินจนร่างกายมลายหายไป เหลือไว้แต่เพียงเสียงพูดตามคนอื่นหรือเสียงสะท้อนเท่านั้น

ด้วยเหตุนี้ คำว่า echo จึงนำมาใช้ในภาษาอังกฤษเป็นคำนามหมายถึง เสียงสะท้อน และใช้เป็นกริยา หมายถึง พูดพ้องเหมือนกับที่คนก่อนหน้าพูด คำว่า echo นี้ยังไปโผล่ในศัพท์วิทยาศาสตร์อย่าง echolocation ด้วย หมายถึง การระบุตำแหน่งด้วยเสียงสะท้อน แบบที่ค้างคาวหรือโลมาใช้ในการหาเหยื่อ นอกจากนั้น ยังมาโผล่ในศัพท์ยุคอินเทอร์เน็ตอย่างในคำว่า echo chamber หมายถึง ภาวะที่ผู้รับสื่อได้ยินได้เห็นแต่เฉพาะข้อมูลข่าวสารที่พ้องกับความเชื่อความคิดเห็นของตนเองจากคนที่คิดแบบเดียวกับตน พากันพูดสนับสนุนความคิดเดิมซ้ำๆ เหมือนเสียงที่ก้องสะท้อนอยู่ในห้องปิด

Atlas

แม้ว่าทุกวันนี้เวลาที่เราได้ยินคำว่า atlas เราจะนึกถึงหนังสือรวมแผนที่โลกเป็นอย่างแรกก่อน แต่หากย้อนเวลากลับไปในสมัยกรีกโบราณ คนสมัยนั้นจะรู้จักแค่ว่านี่คือชื่อของเทพไททันองค์หนึ่ง

ไททันเป็นกลุ่มเทพที่เคยมีอำนาจสูงสุดมาก่อน แต่ภายหลังกลุ่มเทพโอลิมปัส (ซึ่งจริงๆ แล้วก็เป็นลูกๆ ของไททันนี่แหละ) ก็ผงาดขึ้นมาชิงอำนาจ ก่อให้เกิดสงครามครั้งยิ่งใหญ่ระหว่างเหล่าเทพไททันและเทพโอลิมปัส เรียกว่า Titanomachy หรือสงครามไททัน หลังจากที่เหล่าเทพโอลิมปัสพิชิตเทพไททันได้ ก็จัดการลงโทษเทพไททันทุกองค์ที่เป็นฝ่ายปฏิปักษ์กับตนในช่วงสงคราม คือจับโยนลงไปขังในทาร์ทารัส (Tartarus) ซึ่งเป็นหลุมใหญ่เวิ้งว้างที่ลึกมากเสียจนมีตำนานเล่าไว้ว่าหากโยนทั่งเหล็กลงไป ต้องใช้เวลาเก้าวันเก้าคืนเต็มกว่าทั่งเหล็กจะกระทบก้นหลุมนี้

ทั้งนี้ แอตลัส (Atlas) เป็นชื่อเทพไททันองค์หนึ่งซึ่งเป็นแม่ทัพของฝ่ายไททันในศึกครั้งนี้ ด้วยเหตุนี้ เทพโอลิมปัสจึงลงโทษหนักกว่าคนอื่น คือให้ไปยืนแบกท้องฟ้าหนักอึ้งไว้บนบ่าไปตลอดกาล (ได้มีโอกาสพักครั้งเดียวตอนที่เฮราคลีสผ่านมาเจอ ซึ่งจะเล่าในโอกาสถัดไป) ด้วยเหตุนี้ จึงมีภาพเขียนจำนวนมากที่เป็นรูปแอตลัสแบกท้องฟ้าหรือลูกโลกอยู่

ต่อมาในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 16 นักภูมิศาสตร์ชาวเฟลมมิชคนหนึ่งนามว่า เจอราร์ดัส เมอร์เคเตอร์ (Gerardus Mercator) ได้พิมพ์หนังสือรวมแผนที่โลกชื่อว่า Atlas Sive Cosmographicae Meditationes de Fabrica Mundi et Fabricati Figura เมอร์เคเตอร์ใช้นำชื่อแอตลัสมาใส่ในชื่อหนังสือและใส่รูปแอตลัสถือลูกโลกบนหน้าปก ด้วยเหตุนี้ คำว่า atlas จึงถูกนำมาใช้เรียกหนังสือแผนที่เรื่อยมาจนมาถึงปัจจุบันนี้

 

บรรณานุกรม

http://www.etymonline.com/

American Heritage Dictionary of the English Language

Ayto, John. Word Origin: The Hidden Histories of English Words from A to Z. 2nd ed. A&C Black: London, 2008.

Barnhart, Robert K. The Barnhart Concise Dictionary of Etymology: The Origins of American English Words. H. W. Wilson: New York, 1995.

Cresswell, Julia. Oxford Dictionary of Word Origins. OUP: New York, 2009.

Funk, Wilfred. Word Origins: A Classical Exploration of Words and Language. Gramercy Books: New York, 2008.

Graves, Robert. The Greek Myths: The Complete and Definitive Edition. Penguin Books: London, 2011.

Hamilton, Edith. Mythology: Timeless Tales of Gods and Heroes. Grand Central Publishing: New York, 1999.

Hoad. T. F. (Ed.). Oxford Concise Dictionary of English Etymology. OUP: Oxford, 2003.

Jones, Daniel. Cambridge English Pronouncing Dictionary. Cambridge University Press: Cambridge, 2003.

March, Jenny. Dictionary of Classical Mythology. Oxbow Book: PA, 2014.

March, Jenny. The Penguin Book of Classical Myths. Penguin Books: London, 2009.

Merriam-Webster Dictionary

Shorter Oxford English Dictionary

Skeat, Walter. A Concise Etymological Dictionary of The English Language. Forgotten Book: NY, 2012.

The Merriam-Webster New Book of Word Histories. Merriam-Webster, 1991.

Wells, J. C. Longman Pronunciation Dictionary. Pearson Education: Essex, 2008.

Fact Box

แอตลัสนอกจากจะเป็นที่มาของแผนที่โลกแล้ว ยังมีความเกี่ยวข้องกับคาบาเร่ต์โชว์ด้วย เพราะแอตลัสมีลูกชื่อคาลิปโซ (Calypso) ซึ่งเป็นนางพรายที่อาศัยอยู่บนเกาะโอจิเจีย (Ogygia) คาลิปโซใช้เสน่ห์และมนตราของตนรั้งโอดิซิอุส (ซึ่งกำลังเดินทางกลับบ้านไปหาศรีภรรยาหลังสิ้นศึกสงครามเมืองทรอย) ไว้บนเกาะได้นานถึงเจ็ดปี ด้วยเสน่ห์ในการตรึงใจชายของนางคาลิปโซ จึงไม่น่าแปลกใจเลยที่จะมีคนนำชื่อนี้มาตั้งเป็นชื่อคาบาเร่ต์โชว์

 

Tags: ,