หากพูดชื่ออย่าง เฮอร์คิวลีส เปกาซัส หรือ เมดูซ่า แล้ว คิดว่าคนส่วนใหญ่ก็น่าจะเคยได้ยินมาบ้างไม่ชื่อใดก็ชื่อหนึ่ง

ชื่อเหล่านี้ล้วนมาจากเทพปกรณัมยุคกรีก-โรมัน ซึ่งแม้จะถือกำเนิดมาอย่างน้อยสองพันปีแล้ว แต่ก็ยังมีอิทธิพลมหาศาลในโลกตะวันตกปัจจุบัน เรียกได้ว่าแทรกซึมอยู่แทบทุกวงการ เช่น คทางูพันที่เป็นสัญลักษณ์การแพทย์ (มาจากคทาของเอสคลิปิอุส) ไวรัสโทรจัน (มาจากม้าไม้เมืองทรอย) รองเท้าไนกี้ (มาจากชื่อเทพีไนกี้) ยานอะพอลโล (มาจากเทพอะพอลโล) เมนเทอร์ในรายการเดอะเฟซ (มาจากตัวละครชื่อเม็นทอร์) โรคโฟเบียต่างๆ (มาจากชื่อเทพโฟบอส) หรือแม้แต่มอร์ฟิอุสในเรื่อง เดอะแมทริกซ์ (มาจากชื่อเทพมอร์ฟิอุส)

ด้วยอิทธิพลที่แผ่ขจรขจายขนาดนี้ แม้แต่ในตารางธาตุเอง ก็ยังมีตัวละครจากในเทพปกรณัมกรีก-โรมันซ่อนตัวอยู่เต็มไปหมด

สัปดาห์นี้ เราจะไปเจาะลึกตารางธาตุและพาไปดูชื่อธาตุที่มีที่มาจากเทพปกรณัมกรีก-โรมัน

ปรอท

ปรอทเป็นโลหะสีเงิน เป็นของเหลวที่อุณหภูมิห้อง หากจะเห็นได้ใกล้ตัวที่สุดก็น่าจะเป็นในปรอทวัดอุณหภูมิและเครื่องวัดความดันโลหิต

ภาษาอังกฤษเรียกปรอทว่า mercury ซึ่งเป็นชื่อดาวพุธด้วย มาจากชื่อเทพเมอร์คิวรีของชาวโรมัน เทียบได้กับเทพเฮอร์มีส (Hermes) ของชาวกรีก เทพองค์นี้เป็นผู้ส่งสาร มีความเป็นไลน์แมนหรือเคอร์รี่ในยุคโบราณ ปกติจะเห็นภาพใส่หมวกและรองเท้าติดปีก บินไปไหนต่อไหนเพื่อไปส่งข้อความ เมอร์คิวรี่เป็นเทพที่ขึ้นชื่อเรื่องความปราดเปรียว ดังนั้น คนโบราณจึงเอามาใช้ตั้งชื่อธาตุโลหะที่ไหลไปมาได้อย่างรวดเร็ว

ทั้งนี้ หากใครเรียนเคมีมาก็อาจจำได้ว่าตัวย่อของปรอทคือ Hg ซึ่งดูยังไงก็ไม่น่าจะมาจาก Mercury ได้ นั่นก็เพราะตัวย่อนี้มาจาก hydragyrum ซึ่งชื่อของปรอทในภาษาละติน (มาจาก hydragyros ในภาษากรีกโบราณอีกทอด) มาจาก hydro- ที่แปลว่า น้ำ รวมกับ argyros ที่แปลว่า เงิน (เป็นที่มาของตัวย่อ Ag ของธาตุเงินในตารางธาตุด้วย) ได้ความหมายรวมว่า เงินที่เป็นน้ำ นั่นเอง ตรงกับลักษณะของปรอทที่เป็นของเหลวที่อุณหภูมิห้อง

ทั้งนี้ แต่เดิมภาษาอังกฤษเรียกปรอทว่า quicksilver (ซึ่งเป็นชื่อตัวละครในจักรวาล Marvel ที่มีความเร็วเหนือมนุษย์ด้วย) ที่น่าสนใจคือ quick ในที่นี้ไม่ได้แปลว่า เร็ว อย่างที่ใช้ในปัจจุบัน แต่ใช้ในความหมายดั้งเดิม หมายถึง มีชีวิต (ปัจจุบันหลงเหลือในสำนวน the quick and the dead หมายถึง ทั้งคนที่ยังมีชีวิตอยู่และคนที่ตายไปแล้ว) นั่นก็เพราะปรอทมีสีคล้ายเงินแต่ดันไหลไปมาได้อย่างกับมีชีวิต คนสมัยก่อนก็เลยเรียกปรอทด้วยชื่อนี้

แทนทาลัม

แทนทาลัมเป็นโลหะสีเทาอมน้ำเงิน ทนต่อการกัดกร่อนได้ดี ไม่เกิดปฏิกิริยากับของเหลวในร่างกายมนุษย์ จึงนำมาทำเป็นอุปกรณ์ผ่าตัดและวัสดุที่ฝังในร่างกาย นอกจากนั้นยังนำมาทำเป็นตัวเก็บประจุในอุปกรณ์พกพาต่างๆ ด้วย

ชื่อธาตุแทนทาลัมนี้มาจากตัวละครในเทพปกรณัมกรีกชื่อแทนทาลัส (Tantalus) เป็นลูกของเทพซุส (Zeus) ด้วยความที่เป็นลูกของเทพซุส จึงมีโอกาสได้ร่วมโต๊ะอาหารกับทวยเทพอยู่บ่อยครั้ง อยู่มาวันหนึ่ง แทนทาลัสก็อยากจะทดสอบเทพว่ามีฌานรอบรู้ทุกอย่างจริงไหม เลยเอาลูกชายแท้ๆ ของตนเองชื่อพีลอปส์ (Pelops) มาหั่นปรุงเป็นอาหารเซ่นแก่ทวยเทพ แน่นอนว่าบรรดาเทพต่างรู้ว่าในอาหารมีเนื้อมนุษย์อยู่ จึงไม่มีใครกินอาหารนี้ เว้นก็แต่เทพดีมีเทอร์ (Demeter) ที่เผลอกินเข้าไปเพราะมัวแต่กำลังเศร้าโศกที่ลูกของตนถูกลักพาตัวไป

เทพซุสโกรธมาก จึงสั่งลงทัณฑ์แทนทาลัสด้วยการให้ไปยืนแช่น้ำ มีผลหมากรากไม้ห้อยยั่วอยู่ตรงหน้า แต่พอยื่นมือเอื้อมจะไปเด็ดมากิน กิ่งไม้ก็ดีดหนี พอจะก้มตัวลงไปกินน้ำ ระดับน้ำก็ลดลง ด้วยความที่แทนทาลัสยืนแช่อยู่ในน้ำแต่ไม่ได้แตะต้องน้ำ จึงนำมาใช้ตั้งชื่อธาตุที่ไม่ค่อยเกิดปฏิกิริยากับธาตุอื่นๆ

ส่วนพีลอปส์ ซุสได้ชุบชีวิตขึ้นมาใหม่และนำงาช้างมาเติมส่วนหัวไหล่ที่ดีมีเทอร์เผลอกินเข้าไป แต่พอได้ไหล่ใหม่ปรากฏว่าโพไซดอนเกิดจิตปฏิพัทธ์ขึ้นมา เลยจับไปเป็นสารถีของตนเองเสียเลย

ไนโอเบียม

ไนโอเบียมเป็นโลหะสีเงิน ใช้ผสมเป็นอัลลอยเพื่อใช้ทำส่วนประกอบยานอวกาศ มีคุณสมบัติเป็นตัวนำยวดยิ่ง ใช้ในแม่เหล็กในเครื่องสแกนเอ็มอาร์ไอตามโรงพยาบาล

ไนโอเบียมมาจากชื่อนางไนโอบี (Niobe) ซึ่งเป็นลูกสาวของกษัตริย์แทนทาลัส นางไนโอบีมีลูกสาวและลูกชายอย่างละ 7 คน (บางตำนานก็บอกว่า 6 คน บ้างก็บอกว่า 10 คน) นางไนโอบีมีความเชื้อไม่ทิ้งแถว คือชอบท้าทายเทพเจ้า ป่าวประกาศด้วยความหยิ่งผยองว่าตนนั้นเหนือกว่าเทพีเลโต เพราะในขณะที่เทพีเลโตมีลูกแค่สองคน แต่ตนกลับมีลูกถึง 14 คน ตั้งทีมฟุตบอลแล้วยังเหลือคนอีก แต่บังเอิญว่าลูกของเทพีเลโตไม่ใช่คนกะโหลกกะลาที่ไหน แต่เป็นถึงเทพอะพอลโลและเทพีอาร์เทมิส ซึ่งเป็นสมาชิกเทพโอลิมปัส 12 คนที่ทรงอำนาจที่สุด

พอมีคนหยามเกียรติแม่ตนเอง เทพอะพอลโลและเทพีอาร์เทมิสจึงออกโรง เทพอะพอลโลยิงธนูฆ่าลูกชายทั้ง 7 คน ส่วนเทพีอาร์เทมิสจัดการลูกสาวทั้ง 7 คน นางไนโอบีช็อคหนักทำอะไรไม่ถูก ได้แต่ยืนนิ่งน้ำตาไหลพรากอยู่บนภูเขาซิพิลัส (Sipylus) จนแข็งกลายเป็นหินในท้ายที่สุด เป็นที่มาของหินร้องไห้ที่ตั้งอยู่ในตุรกีในปัจจุบัน

ทั้งนี้ ที่ชื่อนางไนโอบีถูกเอามาตั้งเป็นชื่อธาตุนี้ไม่ใช่เพราะธาตุนี้มีลักษณะเหมือนนางไนโอบี แต่เป็นเพราะธาตุนี้มีคุณสมบัติคล้ายแทนทาลัมมาก จึงนำชื่อนางไนโอบีที่เป็นลูกของแทนทาลัสมาตั้งเป็นชื่อเพื่อให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างสองธาตุนี้

ฮีเลียม

ฮีเลียมเป็นแก๊สไม่มีสีและกลิ่น เป็นแก๊สเฉื่อยตัวแรกในตารางธาตุ และเป็นแก๊สที่ใช้เติมในลูกโป่งเพื่อให้ลอยได้

ชื่อธาตุนี้มีที่มาจากชื่อเทพเฮลิออส (Helios) ซึ่งเป็นสุริยเทพในเทพปกรณัมกรีก มีหน้าที่ขับรถเทียมม้าลากพระอาทิตย์แล่นข้ามท้องฟ้าจากทิศตะวันออกไปยังทิศตะวันตกทุกวัน แม้เทพเฮลิออสจะไม่ได้เป็นตัวละครหลักในเทพปกรณัมกรีก แต่ก็มีเรื่องเล่าเกี่ยวกับเฮลิออสอยู่บ้าง

สมัยก่อนยังไม่มี Google Earth ชาวกรีกก็ไม่ได้มีความรู้ภูมิศาสตร์โลกดีเท่าปัจจุบัน เข้าใจว่าขอบเขตโลกไม่ได้กว้างขวางมากมาย สมัยนั้นเชื่อว่าขอบโลกทางทิศตะวันออกสิ้นสุดแค่ตรงส่วนที่เป็นประเทศตุรกีในปัจจุบันเท่านั้นเอง

ในสมัยนั้น ชาวกรีกมีการข้องแวะกับคนผิวดำแล้ว แต่ด้วยความเข้าใจด้านภูมิศาสตร์ที่จำกัดจำเขี่ยและจินตนาการสุดล้ำลึก ชาวกรีกเลยเชื่อว่าคนพวกนี้คงอยู่แถบที่เทพเฮลิออสขับรถม้าลากพระอาทิตย์ขึ้นท้องฟ้าทุกเช้า เลยถูกพระอาทิตย์เผาแรงกว่าที่อื่น ทำให้ผิวดำ คนกรีกเลยเรียกคนชาตินี้ว่า Ethiopia มาจาก aitho (เผา) และ ops (แปลว่า ตา แบบที่เจอในคำว่า optic ใช้เป็นนามนัยแทนใบหน้าได้ด้วย) แปลได้ความหมายรวมว่า หน้าเกรียม

หลังจากนั้นอีกพักใหญ่กว่าชาวกรีกจะรู้ว่าไอ้ชนชาติที่ตัวเองเรียก Ethiopia และเข้าใจว่าอยู่ทางตะวันออก จริงๆ แล้วอยู่ในแอฟริกา

แต่อีกสายเล่าว่าที่ชาวหน้าเกรียมเหล่านี้มีผิวดำเพราะลูกของเทพเฮลิออสที่ชื่อ เฟอีทอน (Phaethon) เรื่องมีอยู่ว่า เฟอีทอนอาศัยอยู่กับแม่สองคน ไม่เคยเห็นหน้าพ่อ แต่แม่ก็คอยบอกตลอดว่าพ่อคือสุริยเทพเฮลิออส เฟอีทอนเล่าให้เพื่อนฟังแต่ไม่มีใครเชื่อ จึงออกเดินทางไปยังที่ประทับของเทพเฮลิออส

เมื่อสองพ่อลูกได้เจอกัน เทพเฮลิออสก็ดีใจมาก จึงบอกว่าจะให้พรข้อหนึ่ง เฟอีทอนได้ทีจึงขอขี่รถม้าลากพระอาทิตย์ของพ่อ เพื่อจะขี่ไปเย้ยเพื่อนให้เห็นว่าตนเป็นลูกของสุริยเทพจริง แม้เทพเฮลิออสจะไม่อยากให้พรข้อนี้ แต่สัญญาต้องเป็นสัญญา จึงให้ขี่รถม้าออกไป แต่ปรากฏว่าเฟอีทอนควบคุมรถม้าไม่ได้ ขับเข้ามาใกล้แถบเอทิโอเปียมาก พระอาทิตย์จึงแผดเผาจนภูมิประเทศแห้งเหือดเป็นทะเลทราย ส่วนผู้คนก็ถูกแผดเผาจนผิวดำเมี่ยม

ทั้งนี้ ที่ชื่อสุริยเทพเฮลิออสถูกนำมาใช้ตั้งชื่อแก๊สชนิดนี้ ก็เพราะนักวิทยาศาสตร์พบว่าธาตุนี้มีเส้นสเปกตรัมตรงกับที่สังเกตได้จากดวงอาทิตย์นั่นเอง

แคดเมียม

แคดเมียมเป็นโลหะสีเงินขาว มีคุณสมบัติทนต่อการสึกกร่อนได้ดี จึงนิยมใช้ชุบโลหะหรือฉาบผิววัสดุอื่นเพื่อใช้ในเชิงอุตสาหกรรม เป็นพิษต่อมนุษย์ทำให้เป็นโรคอิไตอิไต คืออาจมีอาการกระดูกกร่อนและไตวายได้

แคดเมียมได้ชื่อมาจากแคดมัส (Cadmus) เป็นลูกของกษัตริย์เอจีนอร์ (Agenor) และพี่น้องกับนางยูโรปา (Europa) ตอนที่นางยูโรปาถูกซุสแปลงกายมาเป็นวัวแล้วลักพาตัวไป กษัตริย์เอจีนอร์ได้สั่งให้พี่ชายสองคนของนางยูโรปาออกตามหาและบอกว่าไม่ให้กลับมาจนกว่าจะเจอตัวน้อง แคดมัสก็ออกเดินทางตามหานางยูโรปาจนไปถึงวิหารเดลฟี (Delphi) นักบวชที่วิหารก็บอกว่าให้เลิกตามหาน้องได้แล้ว แต่ให้ไปตามหาวัวตัวเมียที่มีลายจุดกลมสีขาวสุกสกาวเหมือนพระจันทร์ตรงสีข้างแทน แถมยังบอกอีกว่า พอเจอแล้วให้เดินตามไปเรื่อยๆ วัวไปหยุดที่ตรงไหนก็ให้ตั้งเมืองตรงนั้น

แคดมัสก็เลยเลิกตามหาน้องเสียอย่างนั้น แล้วออกตามหาวัวแทน เมื่อเจอวัวแล้ว แคดมัสก็เดินตามวัวต้อยๆ จนวัวหยุดพักตรงบริเวณที่เรียกว่า บีโอเชีย (Boeotia) แคดมัสตั้งใจจะเริ่มสร้างเมืองตรงนี้ แต่ดันไปเจอมังกรยักษ์ที่ปกป้องแหล่งน้ำใกล้ๆ อยู่ แม้มังกรจะดุร้ายและฆ่าไพร่พลของแคดมัสจนหมด แต่แคดมัสก็ปราบมังกรได้ในท้ายที่สุด ปัญหาก็คือตอนนี้ไม่มีคนช่วยสร้างเมือง แคดมัสจึงวอนขอให้เทพีอธีนา (Athena) ช่วย เทพีอธีนาจึงมาปรากฏตัวและบอกให้แคดมัสนำฟันมังกรตัวนี้ไปหว่านลงดิน พอแคดมัสทำตามคำสั่ง ฟันที่โปรยลงไปก็กลายเป็นทหารผุดขึ้นมาจากพื้นดิน แคดมัสเห็นแล้วกลัวก็เลยทุ่มก้อนหินใส่ ปรากฏว่าทหารต่างนึกว่าตนเองถูกโจมตี เลยสู้กันเองจนท้ายที่สุดเหลือทหารห้านาย  กลายมาเป็นทหารเอกของแคดมัสที่ช่วยสร้างเมือง

เนื่องจากทหารเหล่านี้เกิดจากฟันมังกรที่โปรยลงดิน จึงเรียกว่า Spartoi หมายถึง มนุษย์ที่เกิดจากการหว่าน และเป็นบรรพบุรุษของชาวสปาร์ตาในเวลาต่อมา

ส่วนเมืองที่สร้างขึ้นใหม่นี้มีชื่อว่าแคดเมีย (Cadmeia) ตามชื่อของแคดมัส ต่อมาภายหลังจึงเปลี่ยนชื่อเป็นเมืองธีบส์ (Thebes) ที่แสนโด่งดัง

เนื่องจากดินใกล้เมืองแคดเมียมีแร่สังกะสีอยู่ สมัยนั้นจึงเรียกแร่สังกะสีว่า kadmeia ge หมายถึง ดินจากแคดเมีย ตอนที่นักวิทยาศาสตร์พบธาตุแคดเมียมครั้งแรก ธาตุนี้ปนเปื้อนอยู่ในสารประกอบสังกะสี จึงเรียกธาตุนี้ว่า แคดเมียม นั่นเอง

ทั้งนี้ คำว่า kadmeia ge ยังถูกภาษาละตินยืมไปและกร่อนจนกลายเป็น calamine ด้วย ชาวฝรั่งเศสนำไปใช้เรียกชื่อเมือง Kermis ในประเทศเบลเยียม เพราะเป็นเมืองที่มีเหมืองสังกะสี ภายหลังนำมาใช้เรียกชื่อโลชั่นที่มีส่วนประกอบเป็นสารประกอบสังกะสี แบบที่เรานำมาใช้ทาผิวเมื่อเกิดผื่นคันในปัจจุบันนั่นเอง

ไทเทเนียม

ไทเทเนียมไม่ได้เป็นแต่ชื่อวงดนตรีไทยและชื่อเพลงของ Sia เท่านั้น แต่เป็นชื่อโลหะสีเงินวาวที่ขึ้นชื่อเรื่องความแข็งแกร่งด้วย ไทเทเนียมนี้นิยมนำไปใช้ในการผลิตชิ้นส่วนอากาศยาน รวมไปถึงอุปกรณ์ทางการแพทย์ต่างๆ เพราะร่างกายไม่ค่อยต่อต้าน

ชื่อของธาตุนี้ได้มาจาก ไททัน (Titan) ซึ่งเป็นชื่อที่ใช้เรียกบรรดาลูกๆ ทั้ง 12 ตนที่เกิดแก่อูรานอส (Ouranos) หรือฟากฟ้าและพระแม่ธรณีไกอา (Gaia)

เนื่องจากอูรานอสกลัวว่าลูกๆ จะโค่นบัลลังก์ตัวเอง จึงจับไปขังไว้ในหลุมทาร์ทารัสลึกลงไปใต้ดิน (ซึ่งก็อยู่ในตัวนางไกอา) ไม่ให้ได้โผล่มาเห็นเดือนเห็นตะวัน นางไกอาก็โกรธที่สามีตัวเองจับลูกไปขังเสียหมด แทบยังเจ็บปวดเพราะมีลูกถูกขังอยู่ในท้อง จึงขอให้ลูกช่วยปราบพ่อให้หน่อย ลูกชายทั้ง 6 คนไม่มีใครกล้าลงมือ เว้นแต่โครนอส (Cronos) นางไกอาจึงมอบเคียวให้และปล่อยตัวออกจากทาร์ทารัส พอตกกลางคืน อูรานอสก็เตรียมปกคลุมพื้นดินเพื่อสมสู่กับนางไกอา โครนอสได้ทีจึงใช้เคียวตัดเครื่องเพศอูรานอสจนขาด ทำให้ท้องฟ้าและแผ่นดินแยกจากกันนับแต่นั้นเป็นต้นมา (ส่วนกระปู๋ของอูรานอสนั้น ว่ากันว่าโครนอสโยนลงน้ำ และเกิดเป็นเทพีอโฟรไดท์หรือที่ชาวโรมันเรียกว่าเทพีวีนัสนั่นเอง)

โครนอสจึงสถาปนาตัวเองเป็นใหญ่และขึ้นปกครองพิภพ เกิดเป็นยุคที่เทพไททันครองโลก (ก่อนที่เทพโอลิมปัสรุ่นหลังจะมาโค่นเหล่าไททันในเวลาต่อมา)

ด้วยความที่เหล่าเทพไททันมีพละกำลังมหาศาล ร่างกายใหญ่โตกำยำ นักวิทยาศาสตร์ที่ค้นพบไทเทเนียมจึงนำมาใช้ตั้งชื่อธาตุโลหะที่แข็งแกร่งชนิดนี้นั่นเอง

 

บรรณานุกรม

http://www.etymonline.com/

Graves, Robert. The Greek Myths: The Complete and Definitive Edition. Penguin Books: London, 2011.

Hamilton, Edith. Mythology: Timeless Tales of Gods and Heroes. Grand Central Publishing: New York, 1999.

Kean, Sam. The Disappearing Spoon: And Other True Tales of Madness, Love, and the History of the World from the Periodic Table of the Elements. Back Bay Books: New York, 2010.

March, Jenny. The Penguin Book of Classical Myths. Penguin Books: London, 2009.

Tags: , , , ,