หากเราลองสังเกตชื่ออาหารไทยรอบตัว จะเห็นว่าอาหารบางชนิดก็ได้ชื่อจากรูปร่างหน้าตา (เช่น ขนมกลีบลำดวน ทุเรียนก้านยาว) บางชนิดก็ได้ชื่อจากถิ่นกำเนิด (เช่น เส้นจันท์ ผัดหมี่โคราช) บางชนิดก็ได้ชื่อมาจากกรรมวิธีการปรุง (เช่น ห่อหมก ผัดไทย)

ความจริงแล้วชื่ออาหารในภาษาอังกฤษก็ใช้กลวิธีคล้ายๆ กัน เพียงแต่บางครั้งเกิดการยืมข้ามหลายภาษา ทำให้ที่มาที่ไปเหล่านี้มองเห็นได้ยากขึ้น

หลังจากที่เราเคยไปดูที่มาของชื่อกาแฟ และผลไม้ สัปดาห์นี้ Word Odyssey จะขอพาเข้าร้านขนมอบ ไปสำรวจที่มาที่ไปของชื่อขนมปังและเพสทรีทั้งหลายบ้าง

 

[1]

Baguette

ชื่อของขนมปังท่อนยาวเปลือกสีทองกรอบสวยที่คนไทยหลายคนรู้จักกันในชื่อ ขนมปังฝรั่งเศส นี้มีความหมายในภาษาฝรั่งเศสว่า ท่อนไม้ หรือ แท่ง ที่น่าสนใจก็คือ บาแก็ตเพิ่งกลายมาเป็นชื่อทางการที่ใช้เรียกขนมปังชนิดนี้ในช่วงศตวรรษที่ 20 เท่านั้นเอง แม้ว่าขนมปังแท่งยาวๆ แบบนี้จะมีบันทึกปรากฏตั้งแต่ศตวรรษที่ 18 แล้วก็ตาม

ทั้งนี้ ชื่อ baguette นี้ย้อนกลับไปได้ถึงคำว่า baculum ในภาษาละติน แปลว่า ท่อนไม้ กระบอง แบบที่เจอในชื่อตรรกะวิบัติประเภท argumentum ad baculum ที่หมายถึง โต้แย้งด้วยการข่มขู่ (อ่านเพิ่มเติมได้ ที่นี่)

นอกจากนั้น baguette ยังเป็นญาติกับคำว่า bacteria ด้วย เพราะมาจากคำว่า bakterion ในภาษากรีก หมายถึง ท่อนไม้ขนาดเล็ก กระบองขนาดเล็ก ซึ่งเป็นญาติกับคำว่า baculum ที่เราพูดถึงไป ส่วนที่แบคทีเรียได้ชื่อนี้ก็เพราะนักวิทยาศาสตร์ในสมัยศตวรรษที่ 19 สังเกตเห็นว่าแบคทีเรียมีหน้าตาเป็นท่อนๆ เหมือนท่อนไม้

ทั้งนี้ ในภายหลังมีการพบว่า แบคทีเรียมีรูปร่างอื่นๆ ด้วย เช่น ทรงกลม ทรงเกลียว จึงเรียกแบคทีเรียทรงท่อนด้วยคำเฉพาะเจาะจงว่า bacillus (แบบที่อยู่ในชื่อ lactobacillus) ซึ่งเป็นรูปกระจุ๋มกระจิ๋ม (diminutive) ของ baculum และหมายถึง ท่อนไม้ขนาดเล็ก นั่นเอง

 

 

[2]

Ciabatta

ชาบัตตา เป็นขนมปังอิตาเลียน ทำด้วยแป้งสาลี ยีสต์ น้ำตาล เกลือ และน้ำมันมะกอก ส่วนใหญ่รูปทรงค่อนข้างแบนกว้าง เวลากินจะหั่นเป็นแว่นๆ ตามขวางก็ได้ หรือจะหั่นตามยาวแล้วใส่ไส้ตรงกลางคล้ายแซนด์วิชก็ได้

ชื่อ ciabatta เป็นภาษาอิตาเลียน แปลว่า รองเท้าแตะ เนื่องจากมีรูปทรงแบนกว้างคล้ายรองเท้า ว่ากันว่าชื่อนี้เป็นญาติๆ กับคำว่า zapatos ในภาษาสเปน ที่ปัจจุบันใช้หมายถึง รองเท้า และคำว่า sabot ในภาษาฝรั่งเศส ที่หมายถึง รองเท้าไม้ (แบบที่เป็นของประจำชาติชาวดัตช์)

ส่วนญาติในภาษาอังกฤษที่ยังหลงเหลืออยู่คือคำว่า sabotage ที่เป็นกริยาหมายถึง บ่อนทำลาย ส่วนสาเหตุที่รองเท้ามาเกี่ยวข้องกับการบ่อนทำลายได้นั้น มักเล่ากันว่าเป็นเพราะคนงานในฝรั่งเศสสมัยก่อนประท้วงนายจ้างด้วยการโยนรองเท้าไม้ใส่เข้าขัดในฟันเฟืองให้เครื่องจักรพัง แต่นักวิชาการส่วนใหญ่ไม่ค่อยเชื่อทฤษฎีนี้ และบอกว่าจริงๆ แล้วคำว่า saboter (กริยาของ sabot ที่เป็นที่มาของ sabotage) น่าจะไม่ได้หมายถึงการเอารองเท้าไม้ไปใส่ในเครื่องจักรจริงๆ แต่เป็นสแลง หมายถึง จงใจทำอย่างสั่วๆ จงใจทำให้ออกมาแย่ มากกว่า

 

[3]

Focaccia

โฟกัชชา เป็นขนมปังอิตาเลียนอีกชนิด มีแป้ง น้ำมัน น้ำ ยีสต์ และเกลือ เป็นส่วนประกอบ จะแผ่เป็นแผ่นแล้วอบคล้ายพิซซ่าหรือจะกรุลงถาดแล้วอบก็ได้ ส่วนใหญ่มีรูปทรงแบน มีจุดสังเกตคือมักมีรอยบุ๋มทั่วทั้งชิ้น บางครั้งก็โรยหน้าด้วยเครื่องต่างๆ ตั้งแต่สมุนไพรอย่างโรสแมรี ไปจนถึงมะกอกดองหรือมะเขือเทศตากแห้ง

ขนมปังนี้ว่ากันว่ามีประวัติย้อนกลับไปถึงในสมัยโรมัน ซึ่งมีขนมปังแผ่นแบนที่อบเหนือเตาไฟกลางบ้าน เรียกว่า panis focacius มาจากคำว่า panis แปลว่า ขนมปัง (เป็นที่มาของคำว่า pain ที่แปลว่า ขนมปัง ในภาษาฝรั่งเศส และ company ในภาษาอังกฤษ อ่านเพิ่มเติมได้ ที่นี่ รวมกับคำว่า focacius ที่มาจากคำว่า focus ที่แปลว่า เตาไฟ เตาผิง ในภาษาละติน (ส่วนที่ focus กลายมาหมายถึง จุดรวมแสง หรือ จุดสนใจ ในปัจจุบัน ก็เพราะเตาไฟในสมัยก่อนอยู่กลางบ้าน เป็นส่วนที่สำคัญที่สุดในบ้านนั่นเอง)

 

[4]

Croissant

ขนมอบกรอบร่วนหอมเนยทรงพระจันทร์เสี้ยวนี้ได้ชื่อว่า croissant เพราะคำนี้แปลว่า พระจันทร์เสี้ยว ในภาษาฝรั่งเศส และเป็นญาติกับคำว่า crescent ในภาษาอังกฤษ 

รูปทรงจันทร์เสี้ยวของครัวซองต์นี้ ว่ากันว่าได้แรงบันดาลใจมาจากรูปทรงขนมอบของออสเตรียที่มีชื่อว่า คิฟเฟิร์ล (Kipferl) ส่วนว่าทำไมคิฟเฟิร์ลถูกปั้นให้เป็นรูปทรงจันทร์เสี้ยว มีคนเล่าไว้หลายอย่าง บ้างก็บอกทำมาแบบนี้ตั้งแต่สมัยโบราณกาลเพื่อบูชาเทพีเซลีนี (Selene) ซึ่งเป็นเทพีแห่งดวงจันทร์ แต่เวอร์ชันที่น่าจะได้ยินกันบ่อยที่สุดก็คือ ขนมนี้ถูกคิดค้นขึ้นในกรุงเวียนนา หลังจากที่ขับไล่ออตโตมันเติร์กที่พยายามเข้าล้อมโจมตีเมืองได้ และถูกทำให้เป็นรูปจันทร์เสี้ยวเพื่อเป็นตัวแทนของอาณาจักรออตโตมัน เวลาที่กินขนมนี้เข้าไป จะได้ระลึกถึงครั้งที่ขับไล่กองกำลังออตโตมันได้ (เวอร์ชั่นนี้แม้จะฟังดูสนุก แต่นักวิชาการส่วนใหญ่บอกว่าไม่น่าจะเป็นที่มาจริงๆ ของรูปทรงขนมชนิดนี้)

ทั้งนี้ คำว่า croissant และ crescent ต่างก็มาจากคำว่า crescere ในภาษาละติน ที่แปลว่า เติบโต (เพราะจันทร์เสี้ยวเป็นช่วงก่อนที่พระจันทร์จะเต็มดวง) และมีญาติอยู่ในภาษาอังกฤษหลายคำ เช่น increase (เพิ่ม) และ decrease (ลด) รวมไปถึง create ที่แปลว่า สร้าง ด้วย

 

 

[5]

Pretzel

เพรทเซลเป็นขนมอบชนิดหนึ่ง ปกติแล้วจะปั้นเป็นท่อนยาว นำมาพันเป็นรูปคล้ายปมเชือก แล้วนำไปอบ บางครั้งอาจโรยเกลือหรืองาด้านนอก มีทั้งแบบนุ่มและแบบแข็ง

ขนมอบชนิดนี้มีประวัติเล่าไว้หลายแบบ ส่วนใหญ่ล้วนเล่าว่ามีที่มาเก่าแก่ อาจย้อนกลับไปได้ถึงราว 1,500 ปีทีเดียว ส่วนชื่อของขนมนี้ ภาษาอังกฤษยืมมาจากคำว่า Bretzel ในภาษาเยอรมัน ซึ่งสืบสาวย้อนกลับไปได้ถึงคำว่า *brachiatellus ในภาษาละติน ซึ่งเป็นชื่อขนมเค้กในสมัยนั้นที่มีหน้าตาคล้ายแขนที่พับขัดกันอยู่เหมือนกอดอก (ซึ่งหน้าตาเพรทเซลในปัจจุบันก็คล้ายการกอดอกเช่นกัน)

ทั้งนี้ คำว่า *brachiatellus ที่ว่าไปนี้ มาจากคำว่า bracchium ในภาษาละติน ที่แปลว่า แขน (รับมาจากคำว่า brakhion ในภาษากรีก อีกที) ทำให้คำว่า pretzel นี้เป็นญาติกับหลายๆ คำที่เกี่ยวกับแขนในภาษาอังกฤษในปัจจุบัน เช่น bracelet (กำไลข้อมือ) และ embrace (กอด) รวมไปถึงชื่อไดโนเสาร์กินพืชคอยาวชื่อดัง brachiosaurus ที่ได้ชื่อเช่นนี้เพราะมีขาหน้า (เทียบได้กับแขน) ยาวโดดเด่นกว่าขาหลัง 

 

 

บรรณานุกรม

http://oed.com/

American Heritage Dictionary of the English Language

Ayto, John. Word Origin: The Hidden Histories of English Words from A to Z. 2nd ed. A&C Black: London, 2008.

Barnett, Martha. Ladyfingers & Nun’s Tummies: A Lighthearted Look at How Foods Got Their Names. Times Book: New York, 1997.

Jack, Albert. What Caesar did for My Salad: The Curious Stories Behind Our Favourite Foods. Albert Jack Publishing: Cape Town, 2017.

Merriam-Webster Dictionary

Oxford Advanced Learners’ Dictionary

Shorter Oxford English Dictionary

The Merriam-Webster New Book of Word Histories. Merriam-Webster, 1991.

 

Tags: , , , , , , ,