คำถามหนึ่งที่หลายคนอดสงสัยไม่ได้เวลาเรียนภาษาอังกฤษ คือ ทำไมคำว่า child เมื่อจะทำเป็นรูปพหูพจน์ถึงไม่เติม -s ข้างท้ายให้เป็น childs เหมือนเวลาที่เปลี่ยน dog เป็น dogs แต่กลับต้องแปลงร่างเป็น children ที่หน้าตาแสนประหลาด
เนื่องในโอกาสวันเด็กหรือ Children’s Day วันนี้เราจะไปสืบสาวกันว่า -ren ใน children มาจากไหน แล้วมีไปโผล่ในคำไหนอีกหรือเปล่า
กลับไปที่ต้นตอ
ย้อนกลับไปสมัยพันกว่าปีที่แล้ว ภาษาที่พูดบนเกาะอังกฤษ เรียกกันว่า ภาษาอังกฤษเก่า (Old English) หรือ แองโกล-แซกซัน (Anglo-Saxon) ตามชนเผ่าที่อาศัยบนเกาะ เป็นภาษาที่ค่อยๆ พัฒนามาจนเป็นภาษาอังกฤษยุคใหม่อย่างที่เราคุ้นหน้าค่าตากันในปัจจุบัน
อันที่จริงแล้ว ศัพท์หลายๆ คำที่เราใช้ทุกวันนี้ ก็มาจากภาษาแองโกล-แซกซัน ส่วนมากเป็นคำเรียกสิ่งต่างๆ ในชีวิตประจำวันของคนสมัยนั้น เช่น ox, tree, และ house หรือศัพท์ที่เกี่ยวกับมนุษย์และร่างกาย เช่น man, woman, eye, และ tongue คำว่า child ก็เป็นคำหนึ่งในกลุ่มนี้ที่เหลือตกทอดมาจากภาษาแองโกล-แซกซันเช่นกัน
แต่สิ่งที่ทำให้ภาษาอังกฤษยุคนั้นต่างจากภาษาอังกฤษปัจจุบัน ก็คือ ตัวสะกดของคำที่หลงรอดมาอาจต่างจากเดิมไปมากจนไม่เห็นความเชื่อมโยง เหมือนไปผ่าจมูกมาแล้วเพื่อนจำหน้าไม่ได้ เช่น เห็นคำว่า eage แล้ว หลายคนอาจนึกไม่ถึงว่าคำนี้กลายมาเป็น eye หรือคำว่า book ที่แปลว่าหนังสือ สมัยนั้นสะกดว่า boc
หนังสือหลายเล่มเรียกว่า bec
อีกเรื่องที่ภาษาอังกฤษเก่าต่างจากภาษาอังกฤษปัจจุบันก็คือ การทำรูปพหูพจน์ ปัจจุบันเอะอะอะไรเราก็เติม -s ข้างท้ายคำได้เกือบหมด แต่ในภาษาแองโกล-แซกซัน ทำรูปพหูพจน์ได้หลายแบบ
ทั้งนี้ ไม่ได้แปลว่าจะเลือกใช้ได้ตามใจชอบ เพราะจะทำพหูพจน์ด้วยวิธีใด ขึ้นอยู่กับคำนามว่าเป็นคำกลุ่มไหน เช่น stan (ที่กลายมาเป็น stone ในปัจจุบัน) อยู่คนละกลุ่มกับ wudu (ที่กลายมาเป็น wood ในปัจจุบัน) ก็จะใช้ส่วนเติมท้ายต่างกัน ในขณะที่ stan ก็จะกลายเป็น stanas แต่ wudu กลับกลายเป็น wuda แทน
พอเวลาผ่านไป ส่วนเติมท้ายของ stanas นี้ กลับเป็นที่นิยมที่สุด เบียดคนอื่นตกชั้น และต่อมาก็พัฒนากลายมาเป็น -s ที่เราใช้เติมท้ายคำนามตั้งแต่สากกะเบือยันเรือรบในปัจจุบัน
แต่บางคำก็ไม่ใช้การเติมส่วนเติมท้าย มาใช้เปลี่ยนเสียงสระแทน เช่นคำว่า boc ที่แปลว่าหนังสือ (book) เวลาทำเป็นพหูพจน์ก็จะกลายเป็น bec แทน ก่อนที่ภายหลังวิธีการนี้จะหมดความนิยม ทำให้คำว่า book ในปัจจุบันทำเป็นพหูพจน์ว่า books แทน beek
การทำรูปพหูพจน์แบบนี้ยังไม่ได้หายไปจากภาษาอังกฤษปัจจุบันทั้งหมด และเป็นสาเหตุที่คำอย่าง man และ mouse จึงกลายเป็น men และ mice นั่นเอง
แต่จริงๆ แล้ว วิธีการทำรูปพหูพจน์ที่แพร่หลายที่สุดในยุคนั้น ก็คือ -an ถือเป็นส่วนเติมท้ายครอบจักรวาล คำอะไรต่อมิอะไรก็เติม -an เช่น คำว่า name และ tongue ก็เคยมีรูปพหูพจน์ว่า naman และ tungan
ส่วนเติมนี้ภายหลังมีสะกดทั้งแบบ -an และ -en พอเอามาเติมท้าย oxa ที่แปลว่า วัว ก็จะได้เป็น oxan ที่กลายมาเป็น oxen แบบที่เราใช้ในปัจจุบันนั่นเอง แต่ภายหลังส่วนเติมท้ายนี้ถูกเบียดตกกระป๋อง เลยแทบไม่เหลือในภาษาอังกฤษปัจจุบันแล้ว
สรุป -ren ใน children มาจากไหน
คำว่า child นั้น ในภาษาอังกฤษเก่าสะกดว่า cild ออกเสียงคล้ายๆ ชิลด์ คำนี้เป็นคำพิเศษเพราะทำเป็นรูปพหูพจน์ด้วยการเติม -ru เป็น cildru
แต่ด้วยความที่ส่วนเติมท้ายนี้เจอน้อยมาก คนภายหลังเริ่มดูไม่ออกว่า cildru นี้จริงๆ เป็นพหูพจน์แล้ว ก็เลยหวังดีบรรจงเติม -en แบบในคำว่า oxen เข้าไปให้ กลายมาเป็น children เช่นในปัจจุบันนี่เอง
สรุปก็คือ -ren เป็นส่วนเติมท้ายพหูพจน์ซ้อนกันสองชั้น ดังนั้น จริงๆ แล้ว children อาจไม่ได้แปลแค่ว่า เด็กๆ แต่แปลว่า เด็กๆๆ เลยทีเดียว
Did you know?
อันที่จริงแล้ว คำว่า brother มีรูปพหูพจน์ คือ brethren ด้วย แต่ฟังแล้วเป็นทางการและออกจะล้าสมัยหน่อย ความหมายก็ไม่ได้หมายถึงพี่ชายน้องชายร่วมสายเลือด แต่หมายถึงสมาชิกร่วมองค์กร ภราดร โดยเฉพาะองค์กรทางศาสนาทั้งหลาย เช่น our Thai brethren ก็จะหมายถึง พี่น้องชาวไทยของเรา
Tags: Child, Word Odyssey, Children