ใครที่สนใจที่มาของคำศัพท์ในภาษาอังกฤษก็คงจะเห็นว่าคำและสำนวนมีที่มาสร้างสรรค์คาดไม่ถึง ได้แรงบันดาลใจจากสัตว์บ้าง จากชื่อสถานที่บ้าง มาจากเครื่องเพศบ้าง

สัปดาห์นี้ เราจะไปดูกันว่า มีคำอะไรที่เราอาจมีโอกาสได้พบเจอในชีวิต แต่ไม่เคยรู้ว่ามีที่มาจากอาหาร

Company

คำว่า company ในภาษาอังกฤษอาจหมายถึง บริษัท (เช่น limited company หมายถึง บริษัทจำกัด) หรือ การอยู่เป็นเพื่อน ก็ได้ (เช่น I enjoy his company. หมายถึง ชอบเวลาอยู่กับเขา)

สิ่งที่หลายคนอาจไม่ทราบก็คือ ในคำว่า company นี้มีขนมปังซ่อนอยู่ นั่นก็เพราะคำนี้มาจากภาษาละติน companio มาจาก com- ที่แปลว่า ร่วมกับ มารวมกับ panis ที่แปลว่าขนมปัง

ส่วนที่ขนมปังมาเกี่ยวกับความเป็นเพื่อนและบริษัทได้นั้น ก็เพราะคนที่เราร่วมรับประทานอาหารหรือบิขนมปังกินด้วยกันนั้น ต้องเป็นคนที่เราไว้วางใจหรือสนิทสนมพอสมควร (อันที่จริงภาษาอังกฤษมีสำนวน break bread แปลว่า รับประทานอาหารร่วมกัน) เมื่อเป็นเพื่อนกันหรือทำอะไรร่วมกัน จึงพัฒนากลายไปหมายถึง บริษัท ซึ่งหมายถึงกลุ่มคนที่มาร่วมกันทำธุรกิจนั่นเอง

Galaxy

หลายคนที่ใช้มือถือหรือแท็บเล็ตของซัมซุงรุ่น Galaxy อาจไม่เคยทราบว่า อุปกรณ์ที่อยู่ในมือนั้นเกี่ยวข้องกับนม

คำว่า galaxy อันที่จริงแล้วหมายถึง ดาราจักร หรือกลุ่มดาวฤกษ์ที่อยู่รวมตัวกัน ระบบสุริยะของเราเองก็อยู่ในดาราจักรที่มีชื่อว่าทางช้างเผือก หรือที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า Milky Way

คำว่า galaxy หากสืบสาวกลับไปจะพบว่ามาจากคำกรีก galaxias kyklos ประกอบจาก galaxias ที่แปลว่า เกี่ยวกับนม และ kyklos ที่กลายมาเป็นคำว่า cycle ที่หมายถึง วงจรหรือวัฏจักร ในภาษาอังกฤษนั่นเอง

ที่ดาราจักรมาเกี่ยวกับนมได้ก็เพราะพอชาวกรีกโบราณเห็นกลุ่มดาวเรียงเป็นแถบสีขาวบนท้องฟ้า ก็จินตนาการไปว่าสิ่งที่เห็นเกิดจากน้ำนมของเทพ จึงพยายามอธิบายสาเหตุโดยเล่าว่า กาลครั้งหนึ่ง เทพซุสมีบุตรที่กำเนิดแต่หญิงปุถุชนชื่อเฮราคลีส (หรือที่ชาวโรมันรู้จักกันในนามเฮอร์คิวลีส) แต่ซุสหวังให้เฮราคลีสมีฤทธิ์เดชอย่างเทพ จึงแอบนำทารกเฮราคลีสมาให้กินนมเทพีเฮราผู้เป็นภรรยาของตน แต่ด้วยความที่เฮราคลีสมีกำลังวังชามากกว่าคนธรรมดา จึงกัดลงไปที่นมของเฮราแรงจนเฮราสะดุ้งตื่นและผละเฮราคลีสออกจากอก ผลก็คือน้ำนมพุ่งพวยออกจากอกเทพีเฮราและสาดกระเซ็นกลายเป็น ‘ทางช้างเผือก’ นั่นเอง

Spam

คนที่ใช้อีเมลหรือโซเชียลมีเดียต่างๆ น่าจะเคยพบเจอเวลาที่คนส่งข้อความเดิมซ้ำๆ แบบไม่รู้จักหยุดหย่อน ไม่ว่าจะเป็นอีเมลขายของที่โผล่มาในอินบ็อกซ์ของเราครั้งแล้วครั้งเล่าหรือเป็นข้อความหาคนมีเวลาว่างทำงานผ่านอินเทอร์เน็ตจากที่บ้านที่เรามักเจอตามโพสต์ในเฟซบุ๊กหรืออินสตาแกรม

ตัวข้อความหรือการส่งข้อความถล่มซ้ำๆ แบบนี้ ภาษาอังกฤษเรียกว่า spam คำนี้แต่เดิมเป็นยี่ห้อหมูแฮมกระป๋องที่เริ่มมีมาตั้งแต่สมัยสงครามโลกครั้งที่สอง ว่ากันว่าเป็นการประกอบร่างระหว่างคำว่า spiced และ ham หมายถึง หมูที่ใส่เครื่องเทศปรุงรส นั่นเอง

ที่ยี่ห้อหมูแฮมนี้ซวยและกลายมาเป็นคำที่คนรังเกียจนั้น เป็นเพราะรายการตลกยุค 70 ชื่อ Monty Python’s Flying Circus นำหมูแฮมชนิดนี้มาใช้ในรายการตอนหนึ่ง มีฉากเป็นร้านอาหารที่ใส่สแปมในอาหารแทบทุกรายการ ทั้งตอนที่มีคนพูดคำว่า สแปม ซ้ำๆ แถมยังร้องเป็นเพลงอีกต่างหาก ทำให้คนเริ่มนำคำว่า สแปม มาใช้หมายถึงข้อความหรือการส่งข้อความที่ผู้รับไม่ต้องการซ้ำๆ อย่างในปัจจุบัน

Lady

คำนี้ก็อีกคำที่เราอาจมีโอกาสได้พบเจอบ่อยๆ อย่างสุภาพสตรีก็เลือกสังสรรค์ในช่วงที่เป็น ladies’ night (ช่วงเวลาตามบาร์ที่ลดราคาเครื่องดื่มหรือมีโปรโมชั่นอื่นๆ ให้ผู้หญิง) หรือห้องน้ำหญิงก็เรียก ladies’ room เป็นต้น

ที่น่าสนใจก็คือคำนี้มีที่มาเกี่ยวกับขนมปังอีกเช่นกัน ว่ากันว่าคำว่า lady มาจากคำภาษาอังกฤษเก่า hlafdige ประกอบขึ้นจาก half ที่กลายมาเป็นคำว่า loaf หรือก้อนขนมปังในปัจจุบัน รวมกับ dige หมายถึง หญิงที่ทำงานในบ้าน แม่บ้าน คนใช้ รวมได้ความหมายว่า ผู้ทำขนมปัง หรือคนที่จัดแจงดูแลปากท้องคนในบ้านนั่นเอง

อีกคำที่เป็นคู่กับคำว่า lady ก็คือคำว่า lord ซึ่งก็มีที่มาเกี่ยวกับขนมปังเช่นกัน ว่ากันว่าคำนี้มาจาก hlafweard ข้างหน้าเป็น hlaf ที่แปลว่า ขนมปัง เหมือนกัน แต่ส่วนท้ายคือคำที่กลายมาเป็น ward และ guard ในปัจจุบัน แปลว่า ผู้ปกปักษ์รักษา ได้ความหมายรวมว่า ผู้ดูแลรักษาขนมปัง หรือคนที่ปกป้องดูแลความเป็นอยู่ของคนในครอบครัว

Nuclear

ใครที่ติดตามสถานการณ์สงครามและความขัดแย้งในโลกมาตลอดก็คงจะได้ยินเรื่องเกี่ยวกับอาวุธปรมาณูหรืออาวุธนิวเคลียร์บ่อยๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงหลังที่ทั้งโลกกำลังจับตาดูว่าเกาหลีเหนือจะหยุดการพัฒนานิวเคลียร์หรือไม่

คำว่า nuclear นี้ อันที่จริงแล้วเป็นคุณศัพท์ของ nucleus ที่หมายถึง แก่นกลาง หรือหากในทางวิทยาศาสตร์ก็คือ นิวเคลียส หากสืบกลับไปจริงๆ จะพบว่ามาจากคำว่า nux ในภาษาละติน หมายถึง เม็ดถั่ว

ด้วยความที่เม็ดถั่วเป็นส่วนที่อัดแน่นอยู่ตรงกลางและหุ้มด้วยเปลือกนอก จึงถูกนำมาใช้หมายถึง แก่น และถูกนักวิทยาศาสตร์นำไปใช้เรียกส่วนที่อยู่ใจกลางอะตอมนั่นเอง ภายหลังคำนี้ถูกนำไปโยงกับการผลิตอาวุธที่อาศัยความรู้เรื่องคุณสมบัติของนิวเคลียสและอะตอม จึงทำให้อาวุธเหล่านี้ถูกเรียกว่า อาวุธนิวเคลียร์นั่นเอง

จริงๆ แล้วคำว่า nuclear ในภาษาอังกฤษยังใช้อธิบายครอบครัวที่มีแต่พ่อแม่ลูก ไม่มีรุ่นปู่ย่าตายายหรือหลานๆ ได้ด้วย ทำนองว่ามีอยู่แต่สมาชิกที่นับว่าเป็นแก่นของครอบครัว

คำว่า nuclear นี้ พอเรียกย่อเข้าก็เหลือแค่ nuke ซึ่งเป็นคำนามหมายถึง ระเบิดนิวเคลียร์ ภายหลังนำมาใช้เป็นกริยา หมายถึง อุ่นอาหารในเตาไมโครเวฟ เช่น Instead of cooking it on the stovetop, you can just nuke it for one minute. ก็จะหมายถึง แทนที่จะตั้งเตา เอาไปเข้าไมโครเวฟสักหนึ่งนาทีก็ได้

 

บรรณานุกรม

  • http://www.etymonline.com/
  • American Heritage Dictionary of the English Language
  • Ayto, John. Word Origin: The Hidden Histories of English Words from A to Z. 2nd ed. A&C Black: London, 2008.
  • Cambridge Advanced Learners’ Dictionary
  • Longman Dictionary of Contemporary English
  • Oxford Advanced Learners’ Dictionary
  • Shorter Oxford English Dictionary
  • The Merriam-Webster New Book of Word Histories. Merriam-Webster, 1991.
Tags: , , ,