ในช่วงที่คนไทยจำนวนไม่น้อย โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ ที่ท้อแท้หมดหวังกับการได้ลืมตาอ้าปากและมีคุณภาพชีวิตที่ดีในผืนแผ่นดินบ้านเกิดเมืองนอน และรู้สึกว่าอนาคตในประเทศนี้ช่างมืดหม่นเหลือเกิน กลุ่มเฟซบุ๊กหนึ่งที่เป็นเหมือนแสงสว่างส่องทางสู่คุณภาพชีวิตที่ดีกว่าก็ได้ผุดขึ้น นั่นก็คือ กลุ่ม ‘ย้ายประเทศกันเถอะ’ (ซึ่งเปลี่ยนชื่อมาเป็น ‘โยกย้าย มาส่ายสะโพกโยกย้าย’ เพราะโดนทางการเพ่งเล็ง)

ภายในเวลาเพียงไม่ถึง 10 วัน กลุ่มเฟซบุ๊กสุดฮ็อตนี้มีผู้เข้ามาเป็นสมาชิกแล้วถึงหนึ่งล้านคน ประกอบด้วยคนที่เข้ามาขอคำปรึกษาและผู้ที่เข้ามาให้คำแนะนำด้านต่างๆ เกี่ยวกับการย้ายรกรากไปอยู่ต่างแดนในประเทศต่างๆ 

ดังนั้น ในสัปดาห์นี้ เราจะพาทุกคนไปสุ่มเลือกประเทศกันแบบขำๆ จากชื่ออาหารในภาษาอังกฤษที่มีชื่อเมืองต่างๆ ซ่อนอยู่ว่า เผื่อได้ไอเดียว่าจะไปประเทศไหนดีถ้าจะย้ายรกรากไปอยู่ที่อื่น

Cantaloupe แคนตาลูป

ยินดีด้วย คุณได้ไปเมืองกันตาลูโป อิตาลี!

คำว่า cantaloupe (ในภาษาอังกฤษอ่านว่า แคนเทอะโลพ ลงเสียงหนักพยางค์แรก) ปรากฏในภาษาอังกฤษครั้งแรกช่วงศตวรรษที่ 18 และเป็นคำที่ภาษาอังกฤษรับผ่านเข้ามาทางฝรั่งเศส แต่หากสืบสาวกลับไปจริงจะพบว่าชื่อผลไม้ตระกูลแตงนี้มาจากชื่อเมือง กันตาลูโป (Cantalupo) ในประเทศอิตาลี ซึ่งเป็นเมืองแรกที่มีการเพาะปลูกแตงชนิดนี้หลังรับเข้ามาจากประเทศอาร์เมเนีย

ทั้งนี้ ชื่อเมือง Cantalupo บ้างก็ว่าหมายถึง เสียงหมาป่าหอน มาจากกริยา cantare ที่หมายถึง ร้อง (เป็นญาติกับคำว่า chant และ enchant ในภาษาอังกฤษ) รวมกับ lupo ที่แปลว่าหมาป่า (มาจาก lupus ในภาษาละติน เป็นญาติกับคำว่า lupine ในภาษาอังกฤษ และเป็นที่มาของชื่อศาสตราจารย์ Remus Lupin ในเรื่อง Harry Potter ด้วย) ว่ากันว่าที่ตั้งชื่อเช่นนี้ก็เพราะเมืองมีหมาป่าอยู่มาก

Tangerine ส้มเขียวหวาน

ยินดีด้วย คุณได้ไปเมืองแทนเจียร์ ประเทศโมร็อกโก!

คำว่า tangerine ที่ทุกวันนี้เป็นคำนามใช้เรียกส้มเปลือกบางลูกแป้นๆ อย่างส้มเขียวหวานหรือส้มสายน้ำผึ้ง แต่เดิมแล้วเคยเป็นคำคุณศัพท์ หมายถึง เกี่ยวข้องกับเมืองแทนเจียร์ (Tangier) ซึ่งเป็นเมืองท่าในโมร็อกโกตรงช่องแคบยิบรอลตาร์ ด้วยเหตุนี้ ในสมัยแรกๆ ส้มที่มาจากเมืองนี้ จึงถูกเรียกว่า Tangerine orange ในเวลาต่อมาจึงเรียกสั้นๆ เหลือ tangerine อย่างในทุกวันนี้

 

Mayonnaise มายองเนส

ยินดีด้วย คุณได้ไปเมืองมาออน เกาะเมนอร์กา สเปน!

นักวิชาการหลายคนเชื่อว่า ชื่อของซอสเนื้อข้นเนียนที่เกิดจากการตีไข่แดงเข้ากับน้ำมัน และเสริมรสเปรี้ยวด้วยน้ำส้มสายชูหรือน้ำจากผลเลมอนนี้ มาจากชื่อเมืองมาออน (Mahón) ซึ่งเป็นเมืองหลวงของเกาะเมนอร์กา (Menorca) ในประเทศสเปน ว่ากันว่าในช่วงศตวรรษที่ 18 ดยุกคนหนึ่งของฝรั่งเศสได้ไปตีเมืองมาออนและนำซอสท้องถิ่นกลับไปยังพระราชสำนัก ปรากฏว่าซอสนี้เป็นนิยมขึ้นมา จึงมีคนตั้งชื่อว่า Mahonnaise เพื่อให้รู้ถิ่นกำเนิด จนที่สุด ชื่อซอสนี้ก็เพี้ยนจนมาเป็น Mayonnaise อย่างในปัจจุบัน

Buffalo wings ปีกไก่บัฟฟาโล

ยินดีด้วย คุณได้ไปนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา!

หลายคนได้ยินชื่อปีกไก่สูตรนี้เป็นครั้งแรกอาจเกาหัวแกรกๆ สงสัยว่ามีควายเป็นส่วนผสมหรือเปล่า แต่แท้จริงแล้ว คำว่า บัฟฟาโล ในชื่ออาหารจานนี้มาจากชื่อเมืองบัฟฟาโล (Buffalo) ในนิวยอร์ก (New York) ว่ากันว่าปีกไก่รสเผ็ดร้อนนี้ถูกคิดค้นขึ้นในช่วงปี 1960 โดยเจ้าของบาร์แห่งหนึ่งชื่อแองเคอร์ (Anchor Bar) ในเมืองบัฟฟาโลแห่งนี้ เพื่อเสิร์ฟเป็นกับแกล้ม ปีกไก่นี้ได้รับความนิยมมาก จนบาร์ต่างๆ ในเมืองเริ่มลอกเลียนแบบ และในท้ายที่สุด แบรนด์อาหารฟาสต์ฟู้ดชื่อดังต่างๆ ก็นำไปใส่ในเมนู จนมาโผล่อีกซีกโลกหนึ่งในเมืองไทย อย่างที่เราเห็นตามร้านพิซซานั่นเอง

Mocha มอคค่า

ยินดีด้วย คุณได้ไปเมืองโมคา เยเมน!

มอคค่าเป็นกาแฟที่ชงด้วยการนำเอสเปรสโซมาเติมนมและช็อกโกแลตเพื่อให้หวานรับประทานง่าย ชื่อกาแฟชนิดนี้มาจากชื่อเมืองโมคา (Mocha) ในประเทศเยเมน ในช่วงศตวรรษที่ 15-18 ชาวไร่กาแฟในพื้นที่ที่ห่างจากชายฝั่งออกไป จะขนเมล็ดกาแฟมาที่เมืองท่าแห่งนี้ เพื่อส่งออกไปยังที่อื่นๆ ในโลก ทำให้เมืองนี้เฟื่องฟูขึ้นมาจากธุรกิจส่งออกกาแฟ และมีชื่อปรากฏเป็นกาแฟประเภทหนึ่งอย่างในปัจจุบันนี้ (อ่านเรื่องกาแฟชนิดอื่นๆ ได้ทาง https://themomentum.co/coffee-word-odyssey/)

Peach ลูกท้อ

ยินดีด้วย คุณได้ไปอิหร่าน!

แม้ว่าลูกท้อน่าจะมีต้นกำเนิดอยู่ในประเทศจีน แต่ยุโรปรับผลไม้ผ่านอาณาจักรเปอร์เซีย จึงทำให้คนยุโรปในสมัยโบราณ เข้าใจไปว่าผลไม้ชนิดนี้มีถิ่นกำเนิดในเปอร์เซีย ด้วยเหตุนี้ ชาวโรมันโบราณจึงเรียกลูกท้อว่า malum persicum หมายถึง แอปเปิลจากเปอร์เซีย ในเวลาต่อมา คำว่า persicum นี้ก็ตกทอดไปสู่ในภาษายุโรปต่างๆ และไปโผล่ในภาษาฝรั่งเศสกลางว่า pesche ซึ่งภายหลังถูกยืมเข้าไปในภาษาอังกฤษ และเพี้ยนจนมาเป็น peach อย่างทุกวันนี้

Sardine ปลาซาร์ดีน

ยินดีด้วย คุณได้ไปเกาะซาร์ดิเนีย อิตาลี!

ปลาซาร์ดีนเป็นปลาขนาดเล็ก ที่คนไทยมักรู้จักในฐานะปลากระป๋อง ชื่อของปลาชนิดนี้เชื่อกันว่ามาชื่อเกาะซาร์ดิเนีย ซึ่งเป็นเกาะในทะเลเมดิเตอเรเนียนและเป็นแคว้นหนึ่งของอิตาลี (ชาวอิตาเลียนเรียกว่า Sardegna หรือ ซาร์เดญญา) นั่นเอง

Tamarind มะขาม

ยินดีด้วย คุณได้ไปอินเดีย?

คำว่า tamarind ที่ใช้เรียกมะขามในภาษาอังกฤษ มีต้นกำเนิดมาจากคำว่า tamar hindi ในภาษาอาหรับ หมายถึง อินทผาลัมจากอินเดีย (นักวิทยาศาสตร์ปัจจุบันจะเชื่อว่ามะขามมีถิ่นกำเนิดเดิมในแอฟริกา แต่มะขามไปถึงอินเดียตั้งแต่สมัยโบราณกาล และปลูกกันอย่างกว้างขวาง จนทำให้หลายคนคิดว่าเป็นแหล่งกำเนิดของมะขามไปแล้ว) ต่อมาคำว่า tamar hindi ก็ถูกยืมเข้าไปในภาษายุโรปต่างๆ และรวบเป็นคำเดียว (เช่น tamarindo ในภาษาสเปน) และกลายมาเป็น tamarind ในภาษาอังกฤษในที่สุด

Scallion ต้นหอม

ยินดีด้วย คุณได้ไปอิสราเอล!

คำว่า scallion ที่แปลว่าต้นหอมนี้ สืบสาวกลับไปได้ถึงคำว่า cæpa Ascalōnia ในภาษาละติน หมายถึง หัวหอมที่มาจากเมืองแอสคาลอน (Ascalon) ซึ่งเป็นเมืองท่าที่ตั้งอยู่ในอิสราเอลทุกวันนี้ ในปัจจุบันมีชื่อว่า อัชเคลอน (Ashkelon) 

ทั้งนี้ ที่น่าสนใจก็คือ คำว่า Ascalōnia นี้ ยังถูกยืมเข้าไปในภาษาฝรั่งเศสและกร่อนเหลือ échalot เพื่อใช้เรียก หอมแดง ซึ่งในเวลาต่อมา ภาษาอังกฤษก็ยืมมาเป็นคำว่า shallot ที่หมายถึง หอมแดง นั่นเอง

 

บรรณานุกรม

http://www.etymonline.com/

http://oed.com/

American Heritage Dictionary of the English Language

Ayto, John. Word Origin: The Hidden Histories of English Words from A to Z. 2nd ed. A&C Black: London, 2008.

Funk, Wilfred. Word Origins: A Classical Exploration of Words and Language. Gramercy Books: New York, 2008.

Hoad. T. F. (Ed.). Oxford Concise Dictionary of English Etymology. OUP: Oxford, 2003.

Shorter Oxford English Dictionary

Skeat, Walter. A Concise Etymological Dictionary of The English Language. Forgotten Book: NY, 2012.

The Merriam-Webster New Book of Word Histories. Merriam-Webster, 1991.

Wells, J. C. Longman Pronunciation Dictionary. Pearson Education: Essex, 2008.

Tags: ,