แม้เทคโนโลยีสมัยใหม่จะทำให้การถกเถียงอภิปรายเกิดขึ้นได้อย่างกว้างขวางแบบที่มวลมนุษยชาติไม่เคยพบเห็นมาก่อน แต่นั่นก็ไม่ได้แปลว่าคุณภาพของการพูดคุยอภิปรายจะเพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย

อุปสรรคหนึ่งที่ทำให้การพูดคุยถกเถียงของเราไม่มีคุณภาพเท่าที่ควร ก็คือการใช้ตรรกะวิบัติ (logical fallacy) ซึ่งหมายถึงการใช้เหตุผลที่ไม่สมเหตุสมผล เช่น เราอาจด่วนสรุปว่าทุกคนที่ไม่สนับสนุนรัฐบาลเป็นพวกล้มเจ้า หรือหันไปโจมตีตัวบุคคลแทนที่จะถกประเด็นที่กำลังพูดถึงอยู่จริงๆ 

แม้ว่าเราจะพบเจอตรรกะวิบัติเกลื่อนอินเทอร์เน็ต แต่ก็ไม่ได้แปลว่าตรรกะวิบัติเป็นสิ่งที่เกิดมาพร้อมกับเทคโนโลยีสมัยใหม่แต่อย่างใด อันที่จริงแล้ว การศึกษาการให้เหตุผลและตรรกะวิบัติมีประวัติย้อนกลับไปเป็นพันๆ ปี ทั้งในโลกตะวันตกและตะวันออก ทั้งยังมีการศึกษาอย่างเป็นระบบในยุโรปช่วงฟื้นฟูศิลปวิทยาการและยุคเรืองปัญญา ด้วยเหตุนี้ ตรรกะวิบัติจำนวนไม่น้อยจึงมีชื่อเป็นภาษาละติน ซึ่งนับเป็นภาษาวิชาการในสมัยนั้นด้วย

สัปดาห์นี้ คอลัมน์ Word Odyssey จะพาไปดูตรรกะวิบัติ 5 ชนิด ผ่านประโยคยอดฮิตที่เราพบเห็นได้บ่อยๆ ในโซเชียลมีเดีย และทำความรู้จักศัพท์ภาษาอังกฤษที่เกี่ยวข้องกับชื่อภาษาละตินของตรรกะวิบัติเหล่านี้

โจมตีตัวบุคคล Argumentum ad hominem

“คนพูดเป็นสามกีบไง”

การโต้แย้งด้วยการโจมตีตัวบุคคล เช่น บอกว่าสิ่งที่พูดมาไม่ถูกต้อง เพราะคนพูดเป็น ‘สามกีบ’ หรือ ‘สลิ่ม’ หรือบอกว่าเราไม่ควรฟังเคล็ดลับการลดน้ำหนักจากคนคนหนึ่ง เพราะคนคนนั้นเป็นคนอ้วน เป็นตรรกะวิบัติที่มีชื่อเรียกในภาษาละตินว่า argumentum ad hominem หรือมักเรียกกันสั้นๆ ว่า ad hominem 

ชื่อภาษาละตินนี้ มาจากคำว่า ad ที่แปลว่า ไปยัง รวมกับ hominem ที่แปลว่า มนุษย์ และเป็นรูปหนึ่งของ homo แบบที่เราเจอในชื่อวิทยาศาสตร์ของมนุษย์สายพันธุ์ต่างๆ เช่น Homo sapiens และ Homo erectus ด้วย คำว่า homo นี้ยังเป็นที่มาของคำว่า hominid ที่หมายถึง วงศ์ลิงใหญ่ (เช่น มนุษย์ กอริลลา ชิมแปนซี อุรังอุตัง) homunculus ซึ่งหมายถึง มนุษย์แคระ และ homicide หมายถึง การฆ่าคน (homo ในที่นี้เป็นคนละคำกับ homo- ที่เจอใน homosexual หรือ homogenous ซึ่งมาจากภาษากรีก homos แปลว่า เหมือนกัน)

คำว่า homo นี้ ยังมีญาติอีกคำในภาษาละตินคือ humanus หมายถึง มนุษย์ ซึ่งเป็นที่มาของคำที่เกี่ยวกับคนมากมาย ตั้งแต่ human (มนุษย์) humanity (มนุษยชาติ) humanoid (มีรูปร่างอย่างมนุษย์) ไปจนถึง humane (มีมนุษยธรรม) inhumane (ไร้มนุษยธรรม) และ humanitarianism (การช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์)

ทั้งนี้ การโจมตีตัวบุคคลนับว่าตรรกะวิบัติประเภทหนึ่ง เพราะเป็นการเลี่ยงไม่ตอบข้อโต้แย้งหลัก พูดอีกอย่างคือเบี่ยงประเด็นจากข้อโต้แย้งหลักไปสู่เรื่องคุณลักษณะของคนพูดแทน ตัวอย่างเช่น หากมีคนพูดว่าการรับประทานผักที่มีกากใยเยอะช่วยให้อิ่มได้นานและช่วยลดน้ำหนักได้ดี แต่เราแย้งโดยบอกว่าคนพูดยังอ้วนอยู่เลย ก็แปลว่าเราไม่ได้โต้แย้งว่าผักที่มีกากใยช่วยให้อิ่มนานและช่วยลดน้ำหนักได้จริงหรือเปล่า (พูดอีกอย่างคือข้อความนี้จะจริงหรือไม่ ไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่าคนพูดมีคุณลักษณะอย่างไร) หรือหากมีคนบอกว่ารัฐบาลนี้บริหารวัคซีนและโรคระบาดผิดพลาด การแย้งแค่ว่าเพราะคนพูดตั้งตัวเป็นปฏิปักษ์ต่อรัฐบาล ก็ไม่ได้เป็นการพิสูจน์ว่ารัฐบาลบริหารวัคซีนและโรคระบาดได้ดีแต่อย่างใด

ขอความเห็นใจ Argumentum ad misericordiam

“นายกฯ ตั้งใจทำงาน ไม่ได้หยุดหย่อนเลย สำหรับคนที่บอกว่ารัฐบาลยังบริหารได้ไม่ดีพอ อันนี้ต้องขอความเห็นใจด้วย ต้องไม่บั่นทอนกำลังใจกัน”

การโต้แย้งด้วยการขอความเห็นใจแบบนี้ เป็นตรรกะวิบัติประเภทหนึ่งที่มีชื่อเรียกว่า argumentum ad misericordiam คำที่น่าสนใจในที่นี้ก็คือคำว่า misericordiam แปลว่า ความสงสาร ความเห็นใจ ซึ่งประกอบขึ้นจากคำว่า miser ที่แปลว่า ความโศกเศร้า ความน่าสงสาร รวมกับ cor ที่แปลว่า หัวใจ อีกทอดหนึ่ง

คำว่า miser ในภาษาละตินนี้เป็นที่มาของคำในภาษาอังกฤษหลายคำ เช่น misery (สภาพที่เป็นทุกข์) miserable (เป็นทุกข์) miser (คนขี้เหนียว) และ miserly (ขี้เหนียว) ส่วน cor เองก็มีลูกหลานในภาษาอังกฤษไม่น้อย เช่น core (แกน) discord (ความขัดแย้ง) record (บันทึก) และ courage (ความกล้า อ่านเพิ่มเติมได้ทาง https://themomentum.co/word-odyssey-courage/)

ส่วนคำว่า misericordiam ยังเป็นที่มาของคำว่า misericord ในภาษาอังกฤษ ซึ่งเป็นชื่อที่ใช้เรียกแผ่นไม้สั้นๆ ที่ติดอยู่ใต้ที่นั่งในโบสถ์ เมื่อพับที่นั่งขึ้นแล้ว จะยื่นออกและใช้เป็นที่ยืนอิงกึ่งนั่งเวลายืนสวดมนต์ได้ เรียกอีกอย่างว่า เก้าอี้อิง หรือ เก้าอี้กรุณา (mercy seat) (อ่านเรื่องเก้าอี้อิง พระสันตะปาปา และตูดไก่ ได้ทาง https://themomentum.co/pope-word-odyssey/) ทั้งยังเรียกมีดสั้นหรือกริชที่ใช้ปลิดชีพศัตรูที่บาดเจ็บสาหัสเพื่อเป็นการแสดงความปรานีด้วย

ทั้งนี้ เหตุผลที่การขอความเห็นใจนับเป็นตรรกะวิบัติก็เพราะเป็นการเบี่ยงประเด็น แทนที่จะพูดถึงข้อโต้แย้งว่าถูกผิดเพราะอะไร กลับใช้อารมณ์ความรู้สึกว่าเป็นเครื่องมือเพื่อโน้มน้าวคนแทน หากดูจากตัวอย่างด้านบน เราก็จะเห็นว่าการขอความเห็นใจให้แก่รัฐบาลโดยบอกว่ารัฐบาลตั้งใจทำงานแล้ว ไม่ได้แสดงให้เห็นว่ารัฐบาลบริหารงานได้ดีมีประสิทธิภาพแล้วหรือยัง พูดอีกอย่างก็คือ ตั้งใจทำงานหรือขยันขันแข็งไม่ได้แปลว่าจะทำได้ดีหรือมีประสิทธิภาพ อาจจะขยันผิดเรื่องและทำงานไม่มีประสิทธิภาพก็ได้

 

ใช้อำนาจข่มขู่ Argumentum ad baculum

“ดาราที่ออกมาคอลเอาต์ ผมก็คงต้องขอให้เจ้าหน้าที่สืบสวน ดังนั้น ดาราท่านอื่นๆ ไม่ควรเอาเยี่ยงอย่าง”

การโน้มน้าวให้ยอมรับข้อสรุปบางประการด้วยการใช้อำนาจข่มขู่ว่าจะมีผลเชิงลบตามมา เป็นตรรกะวิบัติประเภทหนึ่งที่มีชื่อภาษาละตินว่า argumentum ad baculum ในที่นี้ คำว่า baculum หมายถึง ท่อนไม้ กระบอง ดังนั้นจึงได้ความหมายรวมทำนองว่า โต้เถียงด้วยท่อนไม้

คำว่า baculum ที่แปลว่าท่อนไม้ในภาษาละตินนี้ ภาษาอังกฤษรับมาใช้ทั้งดุ้น (pun intended) เลย ในทางวิทยาศาสตร์หมายถึง กระดูกในองคชาติ ซึ่งแม้ไม่พบในคนแต่พบได้ในสัตว์หลายชนิด เช่น กระต่าย หมา หมี และกอริลลา เพราะรูปทรงคล้ายท่อนไม้ นอกจากนั้น ยังเป็นที่มาของคำต่างๆ ที่ใช้เรียกของที่มีรูปร่างคล้ายท่อนไม้ เช่น baguette ซึ่งเป็นขนมปังเรียวยาวและคนไทยมักเรียกว่าขนมปังฝรั่งเศส หรือ bacillus ซึ่งเป็นชื่อเรียกแบคทีเรียที่มีรูปทรงยาวรีเหมือนท่อนไม้ (แบบที่ได้ยินในชื่อ lactobacillus นั่นเอง) ทั้งนี้ คำว่า bacillus ยังเป็นญาติกับคำว่า bacteria ซึ่งมาจากภาษากรีกและแปลว่า ท่อนไม้ เช่นเดียวกันด้วย เพราะแบคทีเรียชนิดแรกๆ ที่นักวิทยาศาสตร์พบเป็นสายพันธุ์ที่มีหน้าตาคล้ายท่อนไม้นั่นเอง

นอกจากนั้น นักวิชาการบางคนยังเชื่อคำว่า baculum เป็นที่มาของคำว่า imbecile ที่แปลว่า โง่ อีกด้วย คือมาจากคำว่าการนำส่วนเติมหน้า in- ไปแปะกับคำว่า baculum ได้ความหมายทำนองว่า ไม่มีไม้เท้าช่วยค้ำยัน จึงนำไปสู่ความหมายว่า อ่อนแอ และพัฒนาไปหมายถึง โง่ ในที่สุด

อย่างไรก็ตาม การข่มขู่แบบนี้ถือเป็นตรรกะวิบัติ เพราะไม่ได้ให้เหตุผลหรืออธิบายว่าทำไมสิ่งที่ตนพยายามโน้มน้าวอยู่จึงเป็นสิ่งที่ถูกต้อง พูดอีกอย่างก็คือ หากคนโอนอ่อนและทำตาม ก็อาจไม่ใช่เพราะอ้างเหตุผลได้น่าเชื่อถือ แต่เป็นเพราะกลัวจะได้รับผลพวงบางอย่างหากไม่ทำตาม อย่างในตัวอย่างด้านบน หากดาราคนอื่นๆ ตัดสินใจไม่ออกมาคอลเอาต์ ก็ไม่ได้แปลว่าทางการมีเหตุผลหนักแน่นน่าเชื่อถือหรือดาราตัดสินใจเช่นนั้น เพราะยอมรับเหตุผลของทางการ (เพราะในตัวอย่างข้างต้นไม่มีเหตุผลอะไรประกอบเลย) แต่อาจเป็นเพราะกลัวว่าผลร้ายจะมาถึงตัว

ตรรกะวิบัติชนิดนี้ยังมีตัวอย่างอื่นอีก เช่น ตอนที่นายกรัฐมนตรีประยุทธ์ จันทร์โอชา พูดกลางสภาว่า “ระวังตัวกันบ้าง” เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมาในการประชุมสภาพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2564 หรือแม้แต่การขู่กลายๆ ในเชิงจิตวิทยาด้วยคำพูดทำนองว่า “หากเราไม่ซื้อเรือดำน้ำ ถ้าวันหนึ่งมีสงครามเราจะทำอย่างไร” ก็นับเป็น argumentum ad baculum หากไม่อธิบายสนับสนุนให้ชัดเจนพอว่าสงครามนี้เป็นภัยที่มีความเป็นไปได้ขนาดไหน

เกิดหลังแปลว่าเกิดจาก Post hoc ergo propter hoc

“จำนวนผู้ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นต้องมาจากพวกที่ไปม็อบเมื่อสัปดาห์ที่แล้วแน่นอน”

การสรุปว่าเหตุการณ์ที่เกิดก่อนต้องเป็นสาเหตุของอีกเหตุการณ์หนึ่งที่เกิดขึ้นในเวลาต่อมา เป็นตรรกะวิบัติประเภทหนึ่งที่เรียกว่า post hoc ergo propter hoc มีความหมายว่า after this, therefore because of this หรือเกิดหลังสิ่งนี้ ดังนั้นจึงเกิดจากสิ่งนี้ มักจะเรียกกันสั้นๆ ว่า post hoc 

คำว่า post ในภาษาละตินที่อยู่ในชื่อนี้ หมายถึง เกิดทีหลัง, ตามมา ในภาษาอังกฤษนำมาใช้เป็นส่วนเติมหน้าในคำจำนวนมาก แปะลงไปหน้าคำไหนก็จะหมายถึงหลังจากสิ่งๆ นั้น เช่น post-mortem (หลังเสียชีวิต) post-test (ข้อสอบหลังจบบทเรียน) postnatal (หลังคลอด) postpone (เลื่อนออกไป) post-pandemic (ยุคหลังโรคระบาด) หรือแม้แต่ postscript (ปัจฉิมลิขิต) ที่เราชอบย่อเหลือ P.S.

ส่วนคำว่า hoc ในภาษาละตินแปลว่า นี้ ในภาษาอังกฤษจะเจอได้ในคำว่า post hoc ซึ่งนอกจากจะใช้เรียกตรรกะวิบัติประเภทนี้แล้ว ยังนำไปใช้เป็นคุณศัพท์หรือกริยาวิเศษณ์ เพื่ออธิบายอะไรที่เกิดขึ้นหรือสร้างขึ้นตามมาทีหลัง เช่น สมมติว่าทางการสั่งเลื่อนฉีดวัคซีนออกไปโดยไม่มีสาเหตุอันควรแน่ชัด แล้วค่อยมาอธิบายแก้ต่างทีหลังว่าเป็นเพราะอย่างโน้นอย่างนี้ แบบนี้ก็จะเรียกว่า post hoc justification อีกคำหนึ่งในภาษาอังกฤษที่เราจะเจอ hoc ได้ก็คือคำว่า ad hoc หมายถึง เฉพาะกิจ ใช้เพื่อการนี้เท่านั้น เช่น ad hoc committee ก็คือ คณะกรรมการเฉพาะกิจ

เหตุผลที่การสรุปว่าเหตุการณ์ที่เกิดก่อนต้องเป็นเหตุของอีกเหตุการณ์หนึ่งที่เกิดขึ้นในเวลาต่อมาเป็นตรรกะวิบัติ ก็เพราะสองเหตุการณ์นั้นอาจไม่ได้มีความสัมพันธ์แบบสิ่งหนึ่งทำให้เกิดอีกสิ่งหนึ่ง (causation) แต่เป็นเพียงแค่สหสัมพันธ์ (correlation) เช่น แม้ทุกครั้งที่เราก้าวเท้าซ้ายออกจากบ้านแล้วจะประสบอุบัติเหตุ ก็ไม่ได้แปลว่าการก้าวเท้าซ้ายออกจากบ้านเป็นสาเหตุให้เกิดอุบัติเหตุ

หากจะขยายความโดยใช้ตัวอย่างจากด้านบน เราอาจพูดได้ว่า หากเราพิสูจน์ไม่ได้แน่ชัดว่าผู้ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นได้รับเชื้อมาจากผู้ที่ไปม็อบมา เราก็ไม่อาจสรุปแบบนั้นได้เพียงเพราะม็อบเกิดขึ้นก่อนที่จะมีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น (นี่ยังไม่รวมถึงว่าจำนวนผู้ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นนี้มาจากสาเหตุอื่นๆ ได้อีกมากมาย เช่น การยืนต่อคิวฉีดวัคซีนที่สถานีกลางบางซื่อ หรือวัคซีนมีประสิทธิภาพในการป้องกันติดเชื้อโรคต่ำ)

หรือหากจะยกอีกสักตัวอย่างหนึ่ง การที่โทนี วู้ดซัมออกมาพูดว่านายกฯ ประสาอะไรทำงานจากที่บ้าน แล้ววันรุ่งขึ้น ประยุทธ์ จันทร์โอชาเข้าทำเนียบ ก็อาจจะไม่ได้แปลว่าเข้าทำเนียบเพราะโทนีพูด

จำกัดทางเลือก Falsum dilemma

“เอาแต่ด่า ทำไมไม่หันมาช่วยกัน แล้วประเทศจะเดินหน้าได้อย่างไร”

ตรรกะวิบัติประเภทที่จำกัดทางเลือกที่เป็นไปได้ให้กับเรา ทั้งที่จริงๆ มีทางเลือกมากกว่านี้ เราจะเรียกกันว่า false dilemma หรือ false dichotomy หมายถึง ภาวะที่ต้องเลือกอย่างใดอย่างหนึ่งเท่านั้น แต่เป็นภาวะที่สร้างลวงขึ้นมา ส่วนชื่อภาษาละติน คือ falsum dilemma ซึ่งดูออกได้ง่ายมากว่ามาจากคำว่า falsum ที่เป็นที่มาของคำว่า false ที่แปลว่า ปลอม ในภาษาอังกฤษ (รวมถึงญาติๆ อย่าง falsehood, falsify, และ fail) รวมกับคำว่า dilemma ที่ภาษาอังกฤษนำมาใช้ในรูปนี้เลย หมายถึง สถานการณ์ที่เราต้องตัดสินใจระหว่างสองทางเลือกที่เลือกได้ยากยิ่ง เพราะดีหรือแย่พอๆ กัน เช่น ถ้ารัฐบาลสั่งล็อกดาวน์ ก็ต้องหาเงินมาเยียวยาประชาชนมหาศาล แต่ถ้าไม่ล็อกดาวน์ จำนวนผู้ติดเชื้อก็อาจพุ่งกระฉูด แบบนี้เราก็อาจพูดว่า The government has been put on the horns of a dilemma.

การยื่นทางเลือกให้อย่างจำกัด ทั้งที่ในความเป็นจริงมีทางเลือกมากกว่านี้ นับเป็นตรรกะวิบัติอย่างหนึ่ง เพราะเป็นการจำกัดว่าทางเลือกที่ถูกต้องหรือเป็นจริงอยู่เฉพาะในทางเลือกที่มอบให้เท่านั้น ทั้งที่จริงๆ อาจจะอยู่นอกเหนือจากที่ให้มา ตัวอย่างเช่น คำพูดที่ว่า “เอาแต่ด่า ทำไมไม่หันมาช่วยกัน” ก็เป็นการจำกัดตัวเลือกกลายๆ ว่าต้องเลือกระหว่างการด่าหรือการช่วยกันเท่านั้น มีแค่สองทางเลือกนี้ ทั้งที่แท้จริงแล้วทางเลือกไม่ได้มีแค่นี้ เช่น เราอาจจะมีทางเลือกที่สาม คือทั้งด่าคนที่สมควรถูกด่าและช่วยเหลือสังคมไปพร้อมกัน (นี่ยังไม่พูดถึงว่าการด่าคนที่สมควรถูกด่าอาจเป็นการช่วยสังคมเสียด้วย)

ตัวอย่างอีกอันของตรรกะวิบัติประเภทนี้ที่เราอาจจะเห็นได้บ่อยๆ ก็เช่น “ถ้าไม่รักชาติก็ออกไป” ซึ่งจำกัดทางเลือกเหลือแค่ ‘รักชาติและอยู่ในประเทศ’ และ ‘ไม่รักชาติและออกนอกประเทศ’ ทั้งที่จริงๆ แล้วมีทางเลือกอื่นอีก เช่น คนที่บอกว่ารักชาติสุดหัวใจ ประเทศไทยดีที่สุดในโลก ก็ยังเลือกไปลงหลักปักฐานอยู่ต่างประเทศได้ (นี่ยังไม่พูดถึงว่าความรักชาติคืออะไรและวัดอย่างไร) 

บรรณานุกรม

http://oed.com/

American Heritage Dictionary of the English Language

Ayto, John. Word Origin: The Hidden Histories of English Words from A to Z. 2nd ed. A&C Black: London, 2008.

Barnhart, Robert K. The Barnhart Concise Dictionary of Etymology: The Origins of American English Words. H. W. Wilson: New York, 1995. 

Cambridge Advanced Learners’ Dictionary

Cottrell, Stella. Palgrave Study Skills: Critical Thinking Skills. Palgrave: New York, 2005.

Cresswell, Julia. Oxford Dictionary of Word Origins. OUP: New York, 2009.

Hayes, Justin Cord. The Unexpected Evolution of Language: Discover the Surprising Etymology of Everyday Words. F+W Media: Avon, 2012.

Heinrichs, Jay. Thank You for Arguing. Penguin Books, 2017.

Hoad. T. F. (Ed.). Oxford Concise Dictionary of English Etymology. OUP: Oxford, 2003.

Longman Dictionary of Contemporary English

Merriam-Webster Dictionary

Oxford Advanced Learners’ Dictionary

Shorter Oxford English Dictionary

Skeat, Walter. A Concise Etymological Dictionary of The English Language. Forgotten Book: NY, 2012.

Tags: ,