บทสนทนาคือสื่อนำพาให้มนุษย์สามารถแลกเปลี่ยนข้อมูลซึ่งกันและกันได้ และถือเป็นวิธีการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพและง่ายดายที่สุด 

ฟังดูไม่น่าเชื่อว่าเพียงแค่การเปล่งเสียงสูงต่ำจากลำคอ ประกอบกับการกระดกลิ้นเพียงเล็กน้อย จะสามารถทำให้มนุษย์มี ‘ภาษา’ และการสื่อสารที่สลับซับซ้อนมากกว่าสัตว์อื่น จึงไม่น่าแปลกที่นักประวัติศาสตร์มนุษย์บางคนเชื่อว่าการพูดคุยและการสนทนา อาจเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้มนุษย์กลายเป็นเผ่าพันธุ์ที่มีสังคมและสามารถครองโลกได้

ทว่าการพูดคุยสื่อสารแบบปกติไม่อาจทำให้มนุษย์ครองโลกได้ภายในเวลาไม่กี่พันปี ดังนั้น สิ่งที่เป็นจุดพลิกทำให้การสื่อสารของคนแตกต่างจากการร้องของโลมาหรือการเห่าของสุนัข คือการนินทา (Gossip) ซึ่งเป็นขั้นกว่าของการพูดคุยแบบปกติ ที่จากการค้นพบในตอนนี้มีเพียงมนุษย์เท่านั้นที่มีพฤติกรรมการสื่อสารที่สลับซับซ้อนกว่าสัตว์อื่น เพราะเราพูดคุย นินทา กล่าวหา และเสียดสี 

ในบทหนึ่งของหนังสือ Sapiens: A Brief History of Humankind ที่เขียนโดยนักประวัติศาสตร์ชาวยิว ยูวัล โนอาห์ แฮรารี (Yuval Noah Harari) เขียนไว้ว่า มนุษย์ไม่ได้ดีเด่นไปกว่าสัตว์อื่นเพียงเพราะพวกเราใช้ไฟเป็น แต่เมื่อประมาณ 7 หมื่นปีที่แล้ว เกิดเหตุการณ์ ‘การปฏิวัติทางปัญญา’ ที่ทำให้มนุษย์ประสบความสำเร็จเกินกว่าที่สัตว์ตัวใดบนโลกจะทำได้ หนึ่งในผลพลอยได้จากการปฏิวัติทางปัญญาคือ ‘การนินทา’ ซึ่งเป็นรูปแบบการสื่อสารในกลุ่มที่ซับซ้อนมากกว่าปกติ

โดยปกติเรามักคิดว่าการนินทาเป็นสิ่งไม่ดี แต่การสื่อสารเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับผู้อื่นเป็นหนึ่งในวิธีการสร้างความไว้วางใจให้กับคู่สนทนาเป็นอย่างดี เมื่อเกิดความไว้เนื้อเชื่อใจก็สามารถสร้างความร่วมมือทางสังคมได้ ซึ่งจะทำให้เราได้เปรียบในการวางแผนเพื่อรับมือกับสถานการณ์ต่างๆ โดยเฉพาะการต่อสู้และการเอาชีวิตรอด เมื่อธรรมชาติเล็งเห็นว่าการนินทามีประโยชน์ต่อการดำรงชีวิต พฤติกรรมเหล่านี้จึงถูกฝังลงไปในยีนของเราทุกคน จึงเป็นสาเหตุว่าทำไมมนุษย์ถึงไม่สามารถหลีกเลี่ยงการสนทนาในรูปแบบการนินทาได้ เพราะเราทุกคนล้วนมีพฤติกรรมเช่นนี้ติดตัวมาตั้งแต่เกิด

ในงานวิจัย Gossip drives vicarious learning and facilitates social connection เกี่ยวกับความเชื่อมโยงระหว่างการนินทากับปฏิสัมพันธ์ทางสังคม ระบุไว้ว่า มนุษย์สนทนาประมาณ 1.6 หมื่นคำต่อวัน โดย 65% ของบทสนทนาเหล่านี้ เต็มไปด้วยการพูดคุยเกี่ยวกับสังคมที่ตัวเองอาศัยอยู่และการนินทาคนอื่นรอบตัว ซึ่งแตกต่างจากรูปแบบการสื่อสารทั่วไป เช่น การแลกเปลี่ยนข้อเท็จจริง และการอบรมสั่งสอน 

การนินทาช่วยให้เราแลกเปลี่ยนและเรียนรู้ข้อมูลใหม่ได้รวดเร็ว โดยไม่ต้องอาศัยการสังเกตด้วยตนเอง นอกจากนี้ ยังมีอิทธิพลเป็นอย่างมากต่อพฤติกรรมทางสังคม เช่น การกีดกันคนที่กลุ่มของตนคิดว่าไม่ดีออกไป หรือคัดสรรคนที่น่าสนใจเข้ามาในกลุ่มของตัวเอง ซึ่งกลไกนี้จะช่วยเสริมสร้างให้กลุ่มก้อนของมนุษย์มีความสามารถในการอยู่รอดมากขึ้น แน่นอนว่ามันเชื่อมโยงกับการอยากถูก ‘ยอมรับ’ จากผู้คนรอบข้าง ทำให้เรามักจะเห็นพฤติกรรมที่หากใครอยากเข้ากลุ่มสังคมใหม่ๆ จะใช้วิธีการร่วมนินทาใครสักคนที่พวกเขาไม่ชอบ

นอกจากนี้ การนินทายังมีบทบาทสำคัญในการทำให้ผู้คนใกล้ชิดกันมากขึ้น โดยเฉพาะเมื่อบทสนทนาเหล่านั้นเต็มไปด้วยการเปิดใจและเปิดเผยตัวตนของผู้พูด จะยิ่งทำให้คนที่สนทนาด้วยรู้สึกในเชิงบวกและสร้างความสัมพันธ์อันดีต่อกัน ซึ่งเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้การทำงานหรือการร่วมมือทำอะไรบางอย่างลุล่วงไปได้ด้วยดี ขณะเดียวกัน ก็สามารถตอบสนองทางสังคมตามธรรมชาติของมนุษย์ที่เป็นสิ่งจำเป็นต่อการดำรงชีวิต ตามที่นักปรัชญาชาวกรีก อริสโตเติล (Aristotle) กล่าวไว้ว่า มนุษย์เป็นสัตว์สังคม

ในหนังสือ Grooming, Gossip, and the Evolution of Language เขียนโดยนักจิตวิทยา โรบิน ดันบาร์ (Robin Dunbar) ระบุว่า การสนทนาในรูปแบบการนินทาเป็นหนึ่งในกลไกที่ทำให้มนุษย์เชื่อมโยงกันและกัน ซึ่งเป็นหนึ่งในเครื่องมือการเข้าสังคมที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด เพราะการนินทาในเรื่องเดียวกันกับผู้คนหมู่มากสามารถสร้างการถูกยอมรับภายในกลุ่มได้ ไม่ต่างจากการแต่งตัว หรือการแสดงพฤติกรรมร่วมกันกับคนส่วนใหญ่ ดังนั้น จึงอาจกล่าวได้ว่า ภายใต้การนินทาที่ใครหลายคนมองว่าเป็นพฤติกรรมที่ไม่ดี ก็มีจุดประสงค์และเป้าหมายในเชิงการผูกสัมพันธ์

อย่างไรก็ตาม ตราบใดที่บทสนทนาไม่ได้สร้างความเจ็บปวดแก่ใครจนเขารู้สึกสูญเสียความเป็นตัวเองในฐานะมนุษย์ การนินทาเล็กน้อยก็อาจมีประโยชน์ต่อการเข้าสังคม แต่อย่าหลงลืมว่าทุกคำพูดมีราคาของมันเสมอ มันอาจเป็นทั้งเครื่องมือสื่อสารและอาวุธในเวลาเดียวกัน หากความสามารถของมันทำให้มนุษย์ขึ้นมาครองโลกได้ ก็อาจทำให้สูญสลายได้เช่นกัน

Tags: , , ,