ปฏิเสธไม่ได้ว่าการเติบโตเป็นผู้ใหญ่ มีการมีงาน มีคนรู้จัก มีสังคมที่ขยายกว้างขึ้น ในมุมหนึ่งก็อาจพาให้เราต้องพบเจอ ‘คนที่ไม่ถูกชะตา’ หรือ ‘คนที่ไม่ชอบขี้หน้า’ ที่พยายามหลีกเลี่ยงการพบเจอมาตลอดเข้าสักวัน จะด้วยสถานการณ์บังคับหรือไม่ตั้งใจก็ตาม นั่นเป็นเรื่องปกติที่ทุกคนต้องเคยประสบ แต่สิ่งที่แตกต่างกันไป คือเราจะแสดงออกอย่างไรในสถานการณ์สุดอิหลักอิเหลื่อนั้น

แน่นอนว่าเราจะแสดงท่าทีอย่างชัดเจนและตรงไปตรงมาว่า ‘ไม่ชอบ’ บุคคลตรงหน้าก็ย่อมได้ แต่ในบางสถานการณ์ก็ไม่เปิดโอกาสให้ทำเช่นนั้น จะด้วยเพราะอยู่ในพื้นที่สาธารณะที่มีคนจับจ้องอยู่หรืออะไรก็ตาม การกล้ำกลืนฝืนทนและยอมอึดอัดชั่วครู่ชั่วยามอาจเป็นสิ่งที่เราเลือกทำ แต่จะดีกว่าหรือไม่ หากเราสามารถฝึกฝนจิตใจและเทคนิคเล็กๆ น้อย เพื่อสามารถรับมืออย่าง ‘เป็นผู้ใหญ่’ ได้ ยามต้องเผชิญหน้ากับบุคคลเหล่านั้น

ดีพ พาเทล (Deep Patel) ผู้เขียนหนังสือ A Paperboy’s Fable: The 11 Principles of Success เคยกล่าวไว้ว่า การจดจำว่า ‘ไม่มีใครสมบูรณ์แบบ’ ก็เป็นสิ่งหนึ่งที่ช่วยได้ แน่นอนว่าหมายรวมถึงตัวเราเองด้วย

พาเทลเคยเขียนในเว็บไซต์ Entrepreneur.com โดยเน้นย้ำถึงเคล็ดลับบางประการที่ผู้คนที่ประสบความสำเร็จใช้ เพื่อจัดการกับสถานการณ์ที่ต้องพบเจอกับคนที่เราอาจไม่ได้ชื่นชอบนัก เพราะท้ายที่สุด คงเป็นไปไม่ได้ที่เราจะสามารถหลีกเลี่ยงคนที่ไม่ชอบไปได้ตลอด ในทางกลับกัน พาเทลบอกว่า หากเราจำกัดคนรอบวงเพียงแค่ ‘คนที่เราสามารถทำงานด้วยได้’ เท่านั้น นั่นก็หมายถึงเรากำลัง ‘จำกัดตัวเอง’ อยู่เช่นเดียวกัน

แทนที่จะต้องคอยรู้สึกประสาทเสียอยู่เสมอ ยามต้องพบเจอ ‘บุคคลไม่น่านิยม’ การเปลี่ยนมุมมองตามเคล็ดลับของคนที่ประสบความสำเร็จ ก็อาจเป็นทางออกและพลิกกลับมาให้เรา ‘สร้างประโยชน์’ ให้กับสถานการณ์เหล่านั้นได้

1. ยอมรับว่าเราไม่สามารถเข้ากันได้กับทุกคน

ยิ่งเราหวังว่าจะสามารถ ‘ชื่นชอบ’ และ ‘เข้ากันได้’ กับทุกคนที่ได้พบเจอ ผลท้ายสุดก็มักไม่เคยเป็นไปตามนั้น ในขั้นแรกจึงควรยอมรับเสียแต่เนิ่นว่า ไม่มีใครสามารถเข้ากันได้กับทุกคน นั่นไม่ใช่เรื่องผิดปกติแต่อย่างใด และไม่ได้หมายความว่าคุณเป็นคนที่แย่ หรืออีกฝ่ายก็เป็นคนที่แย่ นักจิตวิทยากล่าวเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้ว่า เป็นเพียงเพราะเราและเขาไม่เหมาะสมกันก็เท่านั้น โดยเฉพาะเรื่องของรูปแบบพฤติกรรม บางคนอาจโดดเด่นในบทบาทหน้าที่เหลือเกิน ขณะที่อีกคนอาจขี้อายไม่กล้าแสดงออก หรือบางคนเป็นพวกมองโลกในแง่ดี ขณะที่อีกคนเป็นพวกมองโลกตามความเป็นจริง

2. พยายามคิดในแง่บวกสำหรับสิ่งที่อีกฝ่ายพูด

คงไม่ใช่เรื่องง่าย เมื่อมีคนพยายามโจมตีเราด้วยคำพูด อย่างไรก็ดี การลองพยายามมองให้ลึกไปอีกขั้นว่าทุกคนมีพฤติกรรมที่แตกต่างกัน การโมโหไปกับสิ่งที่คนที่เราไม่ชอบขี้หน้าพูดหรือแสดงออก อาจยิ่งทำให้เราดูแย่ลง ดังนั้น หากเป็นไปได้ จงพลิกกลับมาเป็นฝ่ายที่อยู่เหนือกว่า ด้วยการพยายามคิดแง่บวกสำหรับสิ่งที่อีกฝ่ายพูด

3. รู้เท่าทันอารมณ์ของตัวเอง

การรู้เท่าทันอารมณ์ของตัวเองเป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งท้ายที่สุดแล้ว เราเพียงคนเดียวเท่านั้นที่จะสามารถควบคุมวิธีตอบสนองต่อสถานการณ์ต่างๆ ได้ จดจำไว้ว่าคนอื่นจะทำให้เรารู้สึกประสาทเสียได้ก็ต่อเมื่อเราเป็นผู้อนุญาตให้สิ่งนั้นเข้ามาในจิตใจเท่านั้น ดังนั้น อย่าปล่อยให้ความรู้สึกโกรธหรือไม่พอใจมาควบคุมตัวเรา

4. ปฏิบัติต่อทุกคนที่พบด้วยความเคารพในระดับเดียวกัน

กุญแจสำคัญอีกข้อคือ การปฏิบัติต่อทุกคนที่เราพบด้วยความเคารพในระดับเดียวกัน ซึ่งไม่ได้หมายความว่าเราต้องเห็นด้วยกับคนที่ไม่ชอบ หรือเห็นด้วยกับสิ่งที่พวกเขาพูด แต่การกระทำดังกล่าวเป็นการแสดงความสุภาพในลักษณะของอารยชน ในการทำเช่นนี้ เราจะสามารถคงความหนักแน่นในประเด็นที่เราต้องการสื่อได้ โดยไม่กลายเป็นการโจมตีกลับ ซึ่งจะทำให้เราได้เปรียบในสถานการณ์นั้น

5. อย่าใส่ความรู้สึกส่วนตัวและหาพื้นที่ผ่อนคลาย

หากเรารู้สึกไม่เห็นด้วยกับฝ่ายตรงข้าม ให้ลองพิจารณาอีกมุมจากมุมมองของพวกเขา พยายามอย่าแสดงท่าทีหรือมีปฏิกิริยาที่มากเกินไป เพราะมันอาจทำให้อีกฝ่ายตอบสนองกลับด้วยอารมณ์ที่มากกว่า นั่นหมายถึงสิ่งต่างๆ จะบานปลายอย่างรวดเร็วและรุนแรง พยายามอยู่เหนือสิ่งเหล่านั้นด้วยการจดจ่อกับข้อเท็จจริงเข้าไว้ รวมถึงพยายามเพิกเฉยว่าอีกฝ่ายมีปฏิกิริยาอย่างไร ไม่ว่าจะไร้สาระและไร้เหตุผลเพียงใดก็ตาม อธิบายง่ายๆ ก็คือ จดจ่อกับประเด็น ไม่ใช่ตัวบุคคล ที่สำคัญ และหากรู้สึกว่าต้องการพื้นที่สักเล็กน้อยเพื่อผ่อนคลายความรู้สึกและอารมณ์ จำไว้ว่าเรามีสิทธิสำหรับสิ่งนั้นอย่างเต็มที่

 

ที่มา

businessinsider.com

psychologytoday.com

Tags: ,