มนุษย์ถือเป็นหนึ่งในสิ่งมีชีวิตที่มีกลไกการป้องกันตัวเองที่สลับซับซ้อน ตั้งแต่เนื้อเยื่อลึกลงไปจนถึงระดับเซลล์ต่างมีระบบที่ใช้ในการพิทักษ์รักษาตนเอง ทั้งในเชิงกายภาพและกระบวนการทางจิต ทุกอย่างจะสอดประสานกันเป็นโครงข่ายโปรแกรมอัจฉริยะ ที่เอื้อต่อการดำรงอยู่ของมนุษย์ รวมถึงสารเคมีเจือจางที่ถูกปล่อยออกมาก็มีส่วนช่วยเล็กๆ ทำให้เราผ่านพ้นวิกฤตอันเลวร้าย แล้วนอกเหนือจากไวรัสและภัยคุกคามทางธรรมชาติ ร่างกายของมนุษย์ต้องหวาดกลัวอะไรอีก?

เคยมีคำกล่าวว่า ไม่มีอะไรน่ากลัวไปกว่ามนุษย์ด้วยกันเอง จิตใจที่เต็มไปด้วยความดำมืด นิสัยเห็นแก่ตัวที่ฝังรากลึกลงไปในดีเอ็นเอ รวมถึงการคิดและตัดสินใจที่มีชั้นเชิง ทำให้มนุษย์เป็นหนึ่งในสิ่งมีชีวิตที่อันตรายต่อสายพันธุ์อื่น หรือแม้กระทั่งสปีชีส์เดียวกัน ซึ่งความมหัศจรรย์ของธรรมชาติก็ได้รังสรรค์แม้กระทั่งกลไกการป้องกันภัยจาก ‘คน’ ด้วยกันเอง จากงานวิจัยเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมาค้นพบกลไกที่น่าสนใจบางอย่าง ทำให้ทั้งรู้สึกประหลาดใจปะปนไปกับความกระอักกระอ่วน

งานวิจัย ‘A chemical signal in human female tears lowers aggression in males’ ที่เผยแพร่ในปี 2023 เกี่ยวกับความเชื่อมโยงระหว่างสารประกอบทางเคมีในน้ำตาของผู้หญิงกับพฤติกรรมความก้าวร้าวในผู้ชาย ระบุว่า การดมน้ำตาของผู้หญิงจะช่วยลดความโกรธและพฤติกรรมก้าวร้าวของผู้ชายได้ถึง 43.7% 

เนื่องจากน้ำตาของผู้หญิงมีสารประกอบทางเคมีที่ส่งผลให้ระดับฮอร์โมนเทสโทสเตอโรน (Testosterone) ในผู้ชายลดลง เพราะนอกจากฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนจะสร้างหนวดและกระตุ้นอารมณ์ทางเพศในผู้ชายแล้ว ยังส่งผลต่อการแสดงออกด้านพฤติกรรมที่มักจะฉุนเฉียวง่าย ก้าวร้าว และชอบเอาชนะ ยิ่งชนะในสิ่งที่ตนเองต้องการ จะยิ่งกระตุ้นให้มีการหลั่งฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนมากขึ้น หรือที่เรียกว่า Positive Feedback

ดังนั้น เมื่อสารประกอบในน้ำตาของผู้หญิงช่วยลดระดับเทสโทสเตอโรนของผู้ชาย ก็อาจจะมีส่วนช่วยในการยับยั้งหรือหยุดการกระตุ้นวงจร Positive Feedback ทำให้พวกเขาอาจรู้สึกใจเย็นลงหรือหยุดพฤติกรรมก้าวร้าวชั่วคราว

นอกจากนี้ กลไกการป้องกันความโกรธโดยใช้สารประกอบทางเคมีของเพศหญิง ไม่ได้มีแค่ในมนุษย์เพียงอย่างเดียว แต่มีในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมหลายชนิด โดยเฉพาะสัตว์ฟันแทะ เช่น หนู ตุ่น และกระรอก ซึ่งเป็นกลไกทางเคมีที่ใช้ป้องกันการถูกรุกรานหรือทำร้ายจากเพศผู้ เพราะในทางธรรมชาติสัตว์เพศเมียมักถูกคุกคามจากสัตว์เพศผู้ในช่วงที่ร่างกายอ่อนแอหรือตั้งท้อง นอกจากนี้ ในสัตว์ฟันแทะยังพบสารประกอบทางเคมี ที่สามารถป้องกันภัยจากเพศผู้ด้วยคัดหลั่งอื่นๆ เช่น เหงื่อ ปัสสาวะ หรือน้ำนม 

ทว่าในสัตว์ชนิดอื่นกลับไม่พบสารประกอบทางเคมีที่ใช้ป้องกันตัวจากเพศผู้ในน้ำตา เว้นแต่มนุษย์ ซึ่งนักวิจัยกำลังพยายามหาคำตอบกันต่อไป เพราะไม่ใช่น้ำตาของใครที่ไหลออกมาเมื่อไรก็ได้ ที่จะมีคุณสมบัติป้องกันการถูกคุกคามจากเพศชาย จากการวิจัยยังระบุอีกว่า ต้องใช้น้ำตาของผู้หญิงจากการร้องไห้ที่มีสาเหตุมาจากความเศร้าหรืออารมณ์ในเชิงลบ เนื่องจากสารประกอบในน้ำตาที่ไหลออกมาจากการหั่นหัวหอม การหาว หรือการที่ฝุ่นเข้าตา แตกต่างจากน้ำตาที่ไหลออกมาจากความเสียใจ เพราะน้ำตาที่ไหลออกมามีจุดประสงค์ในการใช้ที่ต่างกัน 

อย่างไรก็ตาม สาเหตุที่แน่ชัดของการวิวัฒนาการนี้คงต้องใช้เวลาศึกษากันต่อไป ทว่าหากมองเรื่องนี้ในเชิงวิทยาศาสตร์ อาจกำลังบอกบางสิ่งที่น่าสนใจกับเรา เพราะในทางธรรมชาติวิทยาไม่มีการเหยียดเพศ พวกเราล้วนเป็นสัตว์ที่ดำรงอยู่ในนิเวศเดียวกัน 

แต่การคิด การตั้งคำถาม การหาคำตอบ การวิเคราะห์ และการเรียนรู้ ทำให้เราแตกต่างจากสัตว์อื่น ดังนั้น ในบางครั้งการอ่านบทความที่เกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์และงานวิจัย ก็อาจต้องยอมวางทิฐิบางอย่างลง เพราะสุดท้ายทุกอย่างล้วนเป็นไปเพื่อความอยู่รอด และด้วยยุคสมัยที่เปลี่ยนผ่าน เราไม่จำเป็นต้องใช้น้ำตาชะล้างโทสะของใครอีกคน

Tags: , , ,