เป็นที่รู้กันว่า โดยเฉลี่ยแล้วมนุษย์ทั่วไปสามารถใช้ศักยภาพสมองของตนเองได้เพียงแค่ประมาณ 10% เท่านั้น และตลอดมามนุษย์ก็พยายามจะเพิ่มพูนอัตราการใช้ศักยภาพสมองของตัวเองให้เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ด้วยสารพัดวิธี ไม่ว่าจะเป็นการกินอาหารเสริม การเล่นเกมฝึกทักษะของสมอง หรือการพยายามศึกษาหาช่วงเวลาที่สมองของตัวเองมีประสิทธิภาพการทำงานได้ดีที่สุด

ไม่ว่าจะด้วยวิธีใดก็ตาม การพยายามจะเพิ่มศักยภาพในการใช้สมองของคนเราล้วนแล้วแต่พยายามหาวิธีผลักดันไปข้างหน้าเพียงอย่างเดียว โดยหารู้ไม่ว่า แท้จริงแล้ว สิ่งที่สมองของเราต้องการที่สุดเพื่อยกระดับประสิทธิภาพการทำงานก็คือ ‘ความเบื่อหน่าย’

สมองของมนุษย์ ถือได้ว่าเป็นเครื่องมืออันทรงพลัง และมีประสิทธิภาพสูงมาก ตลอดเวลาที่ลืมตาตื่น สมองของเราพยายามจะใช้ความคิดในการรับมือกับสถานการณ์ต่างๆ ที่ต้องเผชิญในแต่ละวัน โดยไม่จำกัดว่าจะเล็กน้อยหรือใหญ่มากแค่ไหน สมองของเราคอยจัดการกับสิ่งที่อยู่ตรงหน้าเราทั้งหมด ซึ่งแม้ว่าสมองของเราจะมีขนาดความจำเทียบเท่ากับเมมโมรีการ์ด 2.5 ล้านกิกะไบต์ แต่สมองของมนุษย์ก็ยังมีขีดจำกัดเหมือนกับเครื่องยนต์ การใช้งานมันอย่างไม่ลดละ เกินกำลัง ย่อมทำให้เกิดอาการ ‘เครื่องร้อน’ (Overheat) ได้เช่นกัน

งานวิจัยของ อลิเซีย วอล์ฟ (Alicia Walf) นักประสาทวิทยา สาขาวิทยาการปัญญา (Cognitive Science) ประจำสถาบันโพลิเทคนิคเรนส์ซเลียร์ ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้แนะนำว่า การปล่อยให้ตัวเองนั้นรู้สึกถึงความเบื่อหน่ายบ้างเป็นครั้งคราว มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งในการรักษาสมองของเราให้คงอยู่ในสุขภาพที่ดี และแข็งแรง 

วอล์ฟกล่าวว่า ‘ความเบื่อหน่าย’ (Boredom) นั้นสามารถช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของการปฏิสัมพันธ์ทางสังคมได้ โดยสมองจะทำการรีเซ็ตตัวเองกลับไปอยู่ในโหมดค่าเริ่มต้น (Default Mode) เมื่อมันได้รับการหยุดพักจากการใช้งานที่ต่อเนื่องยาวนาน ซึ่งเป็นการพักไม่ใหัเครื่องร้อนเกินไป 

นอกจากนี้ ความเบื่อหน่ายยังสามารถส่งเสริมในเรื่องของความคิดสร้างสรรค์ เพราะการทำให้สมองไม่ต้องอยู่ในสภาวะน้ำเต็มแก้วตลอดเวลา จะช่วยให้ความคิดสร้างสรรค์ได้มีระยะฟักตัว บ่มเพาะไอเดียที่ดีสำหรับการทำงานครีเอทีฟ เหมือนกับเวลาที่ไอเดียดีๆ จะไหลเข้ามาตอนสมองเราอยู่ในสภาพผ่อนคลาย เช่น ขณะอาบน้ำ จนเกิดเป็น ‘ช่วงเวลายูเรก้า’ (Eureka Moment) นั่นเอง

ในช่วงเวลาที่เรากำลังทำอะไรน่าตื่นเต้น สมองจะปล่อยสารเคมีที่เรียกว่าโดปามีน (Dopamine) ออกมา กระตุ้นให้เกิดความรู้สึกที่ดี แต่เมื่อเหตุการณ์น่าตื่นเต้นจบลง สมองก็จะกลับไปอยู่รูปแบบของค่าเริ่มต้น จนหลายคนรู้สึกเบื่อหรือแม้กระทั่งซึมเศร้าได้ เพียงเพราะสมองไม่คุ้นชินกับการมีระดับสารโดปามีนต่ำ วิธีหนึ่งที่จะช่วยได้ก็คือ การฝึกสมองให้เคยชิน หรือแม้กระทั่งสนุกไปกับช่วงเวลาที่น่าเบื่อหน่ายจนเกินความคุ้นชิน ทำให้สภาวะ ‘เบื่อหน่าย’ กลายมาเป็นสภาวะ ‘ปกติ’

ปกติความเบื่อหน่ายมักเป็นสิ่งที่ใครๆ อยากหลีกเลี่ยง เราหาความบันเทิงให้ตัวเองตลอดเวลา โดยไม่คาดคิดว่า ความเบื่อหน่ายที่เราไม่ปรารถนานั้นเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้เราเดินไปข้างหน้าได้อย่างมั่นคง ถ้าวันไหนหัวเกิดตีบตัน ลองยืดเส้นยืดสาย หายใจเข้าลึกๆ หรือนอนมองเพดานดูบ้าง วิธีนี้อาจช่วยให้คุณมีแรงฮึดออกไปลุยกับโลกได้อีกวัน 

 

ที่มา

https://www.newswise.com/articles/let-your-brain-rest-boredom-can-be-good-for-your-health

https://www.forbes.com/sites/bryanrobinson/2020/09/02/why-neuroscientists-say-boredom-is-good-for-your-brains-health/?sh=6abbb0371842

https://www.sciencedaily.com/releases/2019/07/190708140109.htm

Tags: , , , , ,