When Philo Met Sophia 08
The Cynic Street-Preacher: สุนัขมรรคา/ทางของหมา
1
Lives and Opinions of Eminent Philosophers ของไดโอจินิส เลเทียส (Diogenes Laertius) ได้บอกเล่าถึงชีวิตนักปรัชญาต่างๆ มากมาย หนึ่งชีวิตนั้นอาจมีหลายเวอร์ชัน หรือขึ้นกับว่าใครเป็นผู้เล่า ชีวิตจากอดีตอันไกลโพ้นจึงประพิมประพายคล้ายเรื่องสั้น The Garden of the Forking Paths ของ ฆอร์เก ลุยส์ บอร์เกส (Jorge Luis Borges) ตรงที่มีลักษณาการของทางแพร่งที่แยกออกไปสู่ความเป็นไปได้ต่างๆ หรือเป็นมัลติเวิร์ส (Multiverse) ในศัพท์แสงของคนปัจจุบันนั่นเอง
ชีวิตหนึ่งใน Lives and Opinions ที่ผมประทับใจ หรือตราตรึงอยู่ความทรงจำมากสุด ย่อมหนีไม่พ้นชีวิตของนักปรัชญาผู้มีชีวิตระหว่าง 404-323 ก่อนคริสตกาล และมีชื่อเดียวกับผู้แต่ง นั่นก็คือ ไดโอจินิสแห่งซิโนเป (Diogenes of Sinope) ที่จุดจบของชีวิตถูกบอกเล่าไว้อย่างพิสดาร คือไม่ตายเพราะกินปลาหมึก (เป็นๆ?) ก็กลั้นใจตาย เพราะแหนงหน่ายโลกใบนี้เต็มที
ไดโอจินิสผู้นี้เอง ที่กลายเป็นตัวแทนของลัทธิซินิก (Cynicism) แม้ว่าลัทธิดังกล่าวจะถือว่าเริ่มมาจากแอนทิเธนีส (Antisthenes) หนึ่งในศิษย์เอกของโสเครติส (Socrates) ซึ่งทั้งสองถือเป็นผู้ให้กำเนิดทั้งลัทธิซินิกและสโตอิก (Stoicism) ทว่านักวิชาการในปัจจุบันเห็นว่า ‘คำบอกเล่า’ ที่ว่าไดโอจินิสเคยเป็นศิษย์ของแอนทิเธนีสมาก่อนอาจเป็นเพียง ‘เรื่องแต่ง’ ที่พยายามเชื่อมโยง หรือสืบวงศ์วานความคิดจากโสเครติสผ่านแอนทิเธนีส และจากไดโอจินิสผ่านเครติส (Crates) ไปสู่เซโนแห่งซิทิอุม (Zeno of Citium)
ข้อโต้แย้งนี้วางอยู่บนหลักฐานทางโบราณคดีที่ว่า เหรียญที่เชื่อกันว่าไดโอจินิสหรือบิดาของเขาปลอมแปลง (จนเป็นเหตุให้ต้องถูกขับออกจากเมืองซิโนเป) ถูกทำขึ้นหลังจากแอนทิเธนีสเสียชีวิตไปแล้วหลายปี ดังนั้น เรื่องที่ว่าไดโอจินิสจะเคยเป็นคนติดตามรับใช้แอนทิเธนีส เพื่อแลกกับการร่ำเรียนปรัชญาก็ไม่น่าจะเป็นไปได้
นักวิชาการในชั้นหลังถึงกับเสนอด้วยว่า ‘คำสารภาพ’ ของไดโอจินิสที่ว่าเขาหรือพ่อปลอมแปลงเหรียญดังกล่าว ซึ่งปรากฏในผลงานหรือข้อเขียนที่เชื่อว่าเป็นของไดโอจินิสนั้น อาจตีความได้เช่นกันว่าเป็นเพียง ‘อุปมาอุปไมย’ ที่บ่งชี้ว่าตัวของไดโอจินิสไม่เชื่อในคุณค่าของสิ่งที่เรียกว่า ‘เงิน’ ซึ่งทำให้เขาสามารถปลอมแปลงมันได้ง่ายๆ แต่กลายเป็นว่าคนที่ได้ยิน หรือโดยเฉพาะศัตรูของครอบครัวไดโอจินิสยึดถือเป็นเรื่องจริง และนั่นทำให้พ่อและตัวเขาถูกขับไล่ออกจากเมือง เพราะพบเหรียญที่ถูกขัด หรือลบรอยพิมพ์บนเหรียญที่บ่งบอกถึงการทำลาย หรือยกเลิกการใช้แลกเปลี่ยน
อิทธิพลทางปรัชญาของโสเครติสหรือแอนทิเธนีสที่ไดโอจินิสได้รับมานั้น ถือเป็นสิ่งที่ยอมรับกันโดยกว้างขวาง แต่การเดินทางมาเอเธนส์ เพื่อร่ำเรียนปรัชญากับแอนทิเธนีสโดยตรง (หรือแม้แต่การกลายเป็นทาสรับใช้) ยังเป็นเรื่องที่แวดวงวิชาการยังคงถกเถียงกันต่อไป ชีวประวัติของไดโอจินิสที่มีความเป็นเรื่องเล่าและตำนาน จึงคงยังไม่มีข้อสรุปตายตัว แต่เพื่อจะเข้าใจกับปรัชญาของเขา เราอาจต้องรู้จักกับวิถีชีวิตและตัวตนของไดโอจินิสแบบพอเป็นสังเขปกันก่อน
2
ไดโอจินิสเป็นบุคคลร่วมยุคร่วมสมัยกันกับเพลโต (Plato) ผู้ให้อรรถาธิบายเกี่ยวกับไดโอจินิสไว้เป็นอย่างดีว่า เขาคือ ‘โสเครติสที่กลายเป็นบ้า’ ชาวเอเธนส์รู้จักและจดจำไดโอจินิสได้ในภาพของชายคนหนึ่งที่อาศัยอยู่ในถังไวน์ขนาดใหญ่ รอบล้อมไปด้วยสุนัข มีชีวิตอยู่ได้โดยการขอทานหรือเศษอาหาร ซึ่งว่ากันว่า ไดโอจินิสสามารถกินอยู่หลับนอนได้ทุกที่ ไม่ว่าจะเป็นพื้นถนน ทางเดิน หน้าอาคาร ร้านค้า หรือพื้นที่สาธารณะต่างๆ ‘ถังไวน์’ อันเป็นภาพจำของเขาจึงเป็นที่พำนักชั่วคราว หรือเป็นที่พักในช่วงอากาศหนาวเย็น และเขาต้องการความอบอุ่นเท่านั้น
วีรกรรมของไดโอจินิสมีตั้งแต่ไปก่อกวนเพลโตขณะกำลังสั่งสอนปรัชญาบรรดาลูกศิษย์ หรือที่อื้อฉาวกว่าก็คือ การสำเร็จความใคร่ (Masterbation) ต่อหน้าธารกำนัลชาวเอเธนส์
ในตำนานที่ได้รับการกล่าวอ้างถึงกันมากที่สุด ก็คือเมื่อครั้งที่อเล็กซานเดอร์ในวัยหนุ่ม ตั้งใจเดินทางมาพบกับไดโอจินิสด้วยความเลื่อมใสศรัทธา อเล็กซานเดอร์ได้เอ่ยถามไดโอจินิสว่า “ท่านปรารถนาในสิ่งใด” ไดโอจินิสที่ขณะนั้นกำลังนอนผิงแดดอยู่ จึงตอบว่า “แค่ท่านไม่ยืนบังแสงอาทิตย์ก็พอแล้ว”
การมีชีวิตที่พิสดารของไดโอจินิสถูกอธิบายว่า มาจากการผลักความคิดทางจริยศาสตร์ของโสเครติสไปจนถึงขีดสุด หรือจากการกำหนดควบคุมความต้องการ การพึงพอใจในสิ่งที่จำเป็นต้อง ‘มี’ หรือ ‘ครอบครอง’ หรือการถือพรต (Ascetic Way of Life) ในแบบแอนทิเธนีส ได้กลายเป็นการเลือกเผชิญหน้ากับ ‘ความขาด’ และ ‘ความยากไร้’ โดยถือว่าสภาพการณ์ดังกล่าวเป็นเป้าหมายสูงสุด หรือความสำเร็จของชีวิต
นั่นทำให้ตัวของไดโอจินิสนั้นไม่เพียงปฏิเสธธรรมเนียมปฏิบัติของคนในสังคมทั่วไป แต่ยังปฏิเสธการแสวงหาความสุข ความมั่นคงในชีวิต และแม้แต่ระบบคุณค่าต่างๆ เขาเหยียดหยามและประณามอารยธรรมของชาวกรีก ความเป็นนครรัฐ ศิลปะ วรรณกรรม และแม้แต่การถกเถียงทางปรัชญาถือเป็นเรื่องเสียเวลา
3
หากไม่นับว่า ไดโอจินิสสามารถพูดได้และมีสติปัญญาหลักแหลมไม่น้อยไปกว่านักปรัชญาคนอื่นๆ ‘ภาพปรากฏ’ ของเขาต่อหน้าคนทั่วไปก็แทบจะไม่ต่างจากไปจากขอทาน คนเร่ร่อน คนบ้า หรือบางระดับคือใช้ชีวิตไม่ต่างไปจากสัตว์ หรือ ‘สุนัข’ ที่อยู่รายล้อมตัวเขา
คำว่า Cynic หรือในภาษากรีก Kynikos ที่พ่วงท้ายชื่อของไดโอจินิสนั้น มาจากคำว่า Kuōn ที่แปลว่า ‘หมา’ ซึ่งกล่าวกันว่าในข้อเขียนของอริสโตเติล (Aristotle) ใช้คำว่า Kuōn แทนชื่อของไดโอจินิส ลัทธิซินิก หรือ Cynicism จึงสามารถแปลตามตัวอักษรได้ว่า ‘ลัทธิเหมือนหมา’
ปรัชญาของไดโอจินิสจึงสัมพันธ์กับวิถีชีวิตที่สุดโต่งของเขา ซึ่งแน่นอนว่าแปลกแยกแตกต่างจากสำนักทางปรัชญาอื่นๆ ณ เวลานั้น โดยเขาใช้ ‘ชีวิต’ ที่มีลักษณะคล้ายคลึงกับศิลปะการแสดงสด (Performance Art) เพื่อสอนปรัชญาในแบบของเขา (ไม่ว่าจะโดยตั้งใจ หรือไม่ตั้งใจก็ตาม) เช่น การจุดตะเกียงเดินถนนตอนกลางวัน เพื่อติดตามหาสิ่งที่เรียกว่า ‘คนที่จริงแท้’ ในท่ามกลางคนมากมาย การขอทานหน้ารูปปั้นที่เขาให้เหตุผลว่า เป็นการฝึกให้ชินกับ ‘คำปฏิเสธ’ รวมถึงการโต้ตอบโดยไหวพริบปฏิภาณ เช่นในตอนที่มีคนไปถามเขาแบบเสียดเย้ย (Irony) ว่า “รู้ไหมว่าทำไมคนถึงให้ทานคนพิการมากกว่านักปรัชญา” ไดโอจินิสจึงสวนกลับไปว่า “เพราะคนเหล่านั้นรู้ว่า วันหนึ่งพวกเขาอาจตาบอด หรือแขนขาขาดได้ แต่พวกเขาไม่มีวันเป็นนักปรัชญาได้นะสิ” หรือครั้งหนึ่งมีคนถามว่าเขาเป็นคนที่ไหน ไดโอจินิสตอบว่า “เป็นพลเมืองของโลกใบนี้”
สำหรับ เพเทอร์ สโลเทอร์ไดจก์ (Peter Sloterdijk) นักปรัชญาเยอรมัน ผู้เขียน Critique of Cynical Reason (1983) Cynicism ที่เขาเรียกว่า Kynicism คือความหมายของการต่อต้านผ่านการแสดงออกที่ดูไร้ยางอาย (Cheekiness) ซึ่งหลอมรวมเป็นวิถีชีวิตของไดโอจินิส
ในทางปรัชญา นี่คือการโต้ตอบกับความรู้อันสูงส่งที่ไดโอจินิสมักจะลอบเข้าไปป่วนอยู่เสมอๆ เช่น ถ้าใครสักคนกำลังอธิบายเรื่อง ‘จิต’ ของโสเครติสขึ้นมา ไดโอจินิสก็จะแคะขี้มูก หรือหากเพลโตกำลังสอนเรื่องโลกของแบบ (Theory of Form) อันสูงส่ง ไดโอจินิสก็จะผายลมออกมาดังๆ หรือกระทั่งตอบโต้คำอธิบายเรื่องความรัก (Eros) ของเพลโต ด้วยการเดินออกไปสำเร็จความใคร่
การกระทำของไดโอจินิสจึงสร้างทั้งความหงุดหงิดรำคาญใจและเป็นที่ขบขันของคนทั่วไป หากสำหรับนักปรัชญาหรือ ‘ผู้รักในความรู้’ ความปั่นป่วนนี้อาจก่อให้เกิด ‘คำถาม’ และ ‘ความเคลือบแคลงใจ’ ในความรู้ที่ตนมี
ดังเช่นเรื่องเล่าหนึ่งที่ว่า เพลโตกำลังอธิบายให้บรรดาศิษย์ของเขาฟังว่า ‘มนุษย์คือสัตว์สองเท้าไร้ขน’ ไดโอจินิสที่อยู่ตรงนั้นก็เลยนำไก่ที่ถูกถอนผ่าเข้าไปในวงสนทนา แล้วพูดว่า “นี่คือมนุษย์ของเพลโต” ทำให้เพลโตต้องเปลี่ยนคำนิยามมนุษย์เพิ่มเติมเข้าไปว่า ‘มนุษย์คือสัตว์สองเท้าไร้ขนที่มีเล็บแบนราบ’
ความขวางโลกและการกระทำที่คาดเดาไม่ได้ของไดโอจินิส ทำให้เขาเป็นที่ชื่นชอบของนักปรัชญาในชั้นหลัง ตั้งแต่ ฟรีดริช นิทเช่ (Friedrich Nietzsche) มิแช็ล ฟูโกต์ (Michel Foucault) จนถึงเพเทอร์ สโลเทอร์ไดจก์ (Peter Sloterdijk)
4
ลัทธิซินิกของไดโอจินิสมักถูกนำไปเทียบเคียงกับลัทธิซิเรนาอิกส์ (Cyrenaics) หรือลัทธิสุขนิยมแบบอริสทิพพุส (Aristippus) นักปรัชญาผู้มีชีวิตอยู่ระหว่าง 435-360 ปีก่อนคริสตกาล ซึ่งเป็นศิษย์ของโสเครติสเช่นเดียวกับแอนทิเธนีสหรือเพลโต
ตามคำบอกเล่าที่ปรากฏใน Lives and Opinions of Eminent Philosophers อริสทิพพุสเป็นชาวเมืองซิเรเน ซึ่งเดินทางมายังเอเธนส์เพราะชื่อเสียงอันโด่งดังของโสเครติส หลังจากร่ำเรียนปรัชญาสำเร็จแล้ว อริสทิพพุสก็กลายเป็นโซฟิสต์ (Sophist) คือทำการสอนวิชาความรู้ในเรื่องต่างๆ เพื่อแลกกับเงิน
ตำนานเล่าว่า เขานำเงินที่ได้มาส่งไปให้โสเครติส แต่โสเครติสปฏิเสธ และส่งเงินคืนกลับไปให้อริสทิพพุส โดยให้เหตุผลว่า เทพเจ้าไม่ยินยอมให้เขารับเงินก้อนนี้
อริสทิพพุสใช้ชีวิตส่วนใหญ่กับการเดินทาง เพื่อไปรับจ้างสอนปรัชญาในที่ต่างๆ เรื่องเล่าส่วนใหญ่ที่เกี่ยวแก่ตัวเขาจึงมักเกิดขึ้นระหว่างการเดินทาง ที่กล่าวกันว่าเขาเคยไปถึงทวีปเอเชียมาแล้ว อริสทิพพุสจึงถือเป็นศิษย์คนแรกของโสเครติสที่เป็นโซฟิสต์ นั่นทำให้เขากลายเป็นที่ชิงชังของบรรดาลูกศิษย์คนอื่นๆ ของโสเครติส โดยเฉพาะอย่างยิ่งเซโนฟอน (Xenophon) ที่เขียนงานที่ชื่อว่า On Pleasure โดยใช้ตัวละครโสเครติสวิจารณ์ความคิดของอริสทิพพุส
อย่างไรก็ตาม ลัทธิซิเรนาอิกส์ที่สอนเรื่องของการแสวงหาความสุขและความพึงใจ ก็มีความน่าสนใจในแง่ที่อริสทิพพุสเน้นย้ำให้เราอยู่กับปัจจุบัน หรืออย่าคิดกังวลกับสิ่งที่ยังมาไม่ถึง เป้าหมายสูงสุดคือ ทำอย่างไรก็ได้ให้ชีวิตเราเป็นสุข แต่สิ่งสำคัญที่อริสทิพพุสเน้นย้ำก็คือ การเป็นนายเหนือความสุข ไม่ใช่ทาสของความสุข ซึ่งก็คือการควบคุมและยับยั้งความต้องการของตัวเราเอง การไม่ผูกมัด หรือยึดติดกับสิ่งใดๆ ถือเป็นหลักสำคัญที่ทำให้เราเป็นอิสระจากพันธะผูกพันทั้งหลาย
ตรงจุดนี้เอง ที่ทำให้ลัทธิซิเรนาอิกส์มีความคล้ายคลึงกับซินิกส์ แต่ด้วยหนทางหรือวิธีการที่เหมือนจะแตกต่างกันราวฟ้ากับเหว ด้วยเหตุนี้ ไดโอจินิสจึงเรียกอริสทิพพุสว่า ‘สุนัขที่มีปลอกคอ’
5
สำหรับในโลกปัจจุบัน Cynicism อาจหมายความถึงมุมมอง หรือทัศนคติที่ไม่เชื่อในความคิด การกระทำ หรือความหวังที่คนอื่นๆ มี ในทางหนึ่ง มันคือการโต้ตอบกับ ‘ฝันหวาน’ หรือ ‘อุดมคติ’ ทางความคิดที่ไม่มีวันเป็นจริงได้ ซึ่งแตกต่างจากทุทรรศนนิยม (Pessimism) ที่รู้ว่าโลกไม่ได้ดีงาม ไม่ใช่สถานที่แห่งความสุข แต่ก็ไม่จำเป็นต้องใช้ชีวิตอย่างสิ้นหวัง หรือหมดสิ้นความเชื่อถือต่อกัน
สลาวอย ชิเชก (Slavoj Žižek) นักปรัชญาชาวสโลเวเนีย อธิบายไว้ว่า เราจำเป็นต้องแบ่งแยก Cynicism ออกจากสิ่งที่สโลเทอร์ไดจก์เรียกว่า Kynicism ที่เป็นรูปแบบของการต่อต้านอุดมการณ์หลักของผู้มีอำนาจ ที่แน่นอนว่าต้องการรักษาอำนาจนั้นไว้ (ผ่านการใช้อำนาจและการเผยแพร่ความคิดเรื่องการเสียสละเพื่อส่วนรวม การทำเพื่อบ้านเมือง ฯลฯ) ซึ่งสำหรับชิเชกแล้ว Kynicism คือการเปิดโปง หรือทำให้คนอื่นเห็นว่า เหตุผลทั้งหลายที่ผู้มีอำนาจกล่าวอ้างเป็นไปก็เพื่อผลประโยชน์ของตนเองทั้งสิ้น
ในขณะ Cynicism ในโลกปัจจุบันเป็นทางออกให้กับผู้มีอำนาจ หรือชนชั้นปกครองในการสกัดกั้น Kynicism เพราะ Cynicism แสดงตัวว่ารู้ทัน ไม่เชื่อในอำนาจ คำสั่งสอน หรืออุดมการณ์หลักทางสังคมทั้งหลาย แต่สุดท้ายก็ยังทำเหมือนคนที่ไม่รู้ พร้อมทั้งยังวิจารณ์โจมตี Kynicism ว่าเป็นพวกแหวกหญ้าให้งูตื่น ไม่รู้จักการตีเนียน หรือเป็นนิเสธของนิเสธ (Negation of the Negation) ของอุดมการณ์หลักนั่นเอง
Tags: Lives and Opinions of Eminent Philosophers, ไดโอจินิสแห่งซิโนเป, Cynicism, Kynicism, เพลโต, โสเครตีส, ปรัชญา, When Philo met Sophia, ไดโอจินิส เลเทียส