When Philo Met Sophia 07

The Solitary Thinker: ยังคงโดดเดี่ยวโดยท้าทาย

 

“The world is not beautiful; rather it is

insupportable, unless seen from a distance.”[1]

Leopardi

  

1

 หากจะกล่าวถึงแนวคิดแบบทุทรรศนนิยม (Pessimism) ในศตวรรษที่ 19 โดยมิได้อ้างอิงตัวตน/ผลงานของ จาโคโม เลโอปาร์ดี (Giacomo Leopardi) ก็คงจะเหมือนการมองข้ามกวีและนักมองโลกในแง่ร้ายคนสำคัญที่โชเพนเฮาเออร์ (Schopenhauer) กล่าวยกย่องไว้ใน Die Welt als Wille und Vorstellung, Vol.II ว่า

“ไม่มีใครอีกแล้วที่จะผลักดันประเด็นความคิดนี้ให้ทะลุทะลวงและมีพลังไม่สิ้นสุดได้เท่ากับเลโอปาร์ดี  ณ ห้วงเวลานั้น เขาคือผู้ที่ผลักดันและเจาะลึกลงไปข้างในทุกหย่อมย่านของเนื้อความ คือการเสียดเย้ยและเวทนาต่อการดำรงอยู่ เขานำเสนอออกมาในทุกหน้าของผลงาน แม้กระทั่งในรูปแบบอันหลากหลาย การประยุกต์ใช้อย่างชนิดที่รุ่มรวยจินตนาการ แม้กระนั้น เขาก็ไม่เคยทำให้เรารู้สึกเหนื่อยหน่าย ทว่าเป็นไปในทางตรงข้าม คือส่งผลในทางที่ชวนให้ตื่นตะลึงใจและกระตุ้นเร้าความคิด”

เช่นเดียวกับ ฟรีดริช นิทเช (Friedrich Nietzsche) ที่กล่าวชื่นชมเขาไว้ในผลงาน Unfashionable Observations, Vol.II ว่า “เลโอปาร์ดีเป็นต้นแบบให้แก่นักนิรุกติศาสตร์สมัยใหม่ ทั้งยังเป็นนักประพันธ์งานร้อยแก้วที่ดีที่สุดในศตวรรษ”

จาโคโม เลโอปาร์ดี (Giacomo Leopardi) กวีและนักคิดชาวอิตาลี

กระทั่ง เฮอร์แมน เมลวิลล์ (Herman Melville) นักประพันธ์เอกชาวอเมริกัน ยังนำเอาบุคลิกของเลโอปาร์ดีไปสร้างเป็นตัวละครตัวเอกในบทกวีขนาดยาว Clarel: A Poem and Pilgrimage in the Holy Land (1876) ซึ่งผลงานชิ้นนี้ได้รับการยกย่องให้เป็นกวีนิพนธ์ที่สุดชิ้นหนึ่งของวรรณกรรมอเมริกันในศตวรรษที่ 19 โดยก่อนหน้านั้นไม่นาน เจมส์ ธอมสัน (James Thomson) กวีและนักมองโลกในแง่ร้ายชาวสกอตแลนด์ที่เมลวิลล์ชื่นชมในฝีมือ ก็ได้อุทิศบทกวีขนาดยาว The City of Dreadful Night (1873) ให้แก่เลโอปาร์ดีที่เขานับถือเสมือนพี่น้องร่วมสาบาน

        ภายหลังจากนึกตรึกตรองอยู่หลายเพลา จึงแลเห็นว่ามีความจำเป็นต้องลงมือเขียนถึงเลโอปาร์ดีในประเด็นของความเป็นนักมองโลกในแง่ร้าย โดยเฉพาะการเป็น ‘นักคิดผู้โดดเดี่ยว’ (The Solitary Thinker) ซึ่งส่งผลอิทธิพลต่อทั้งนักเขียนและนักคิดมากมาย

      ภาพของความเป็น ‘นักปรัชญา’ ของเลโอปาร์ดีเริ่มปรากฏให้เห็นโดดเด่นโดยท้าทาย ภายหลังจากตัวบทที่มีชื่อว่า Zibaldone หรือ ‘บันทึกมโนสาเร่’ ที่เป็นการเขียนความคิดในเรื่องต่างๆ ตั้งแต่ครั้งเยาว์วัยจนล่วงเลยเข้าสู่ความเป็นผู้ใหญ่ ได้รับการค้นพบและเผยแพร่ออกมาครั้งแรกในช่วงปลายของศตวรรษที่ 19 หรือภายหลังจากเลโอปาร์ดีเสียชีวิตไปแล้วหลายสิบปี จนกระทั่ง Zibaldone ได้รับการแปลและเผยแพร่สู่โลกภาษาอังกฤษครั้งแรกในปี 2013 หรือในอีก 100 ปีต่อมา

Zibaldone หรือบันทึกมโนสาเร่ ที่เป็นการเขียนความคิดนเรื่องต่างๆ ตั้งแต่ครั้งเยาว์วัยจนล่วงเลยเข้าสู่ความเป็นผู้ใหญ่

โดยก่อนหน้านั้น ผลงานที่แสดง ‘ความคิด’ อันลึกล้ำของเลโอปาร์ดี นอกเหนือจากกวีนิพนธ์เล่มต่างๆ แล้วก็คือ Operette morali[2] ซึ่งประกอบด้วยบทสนทนาและความเรียง 24 ชิ้น ที่ว่าด้วยปัญหาทางปรัชญาระหว่างมนุษย์กับประวัติศาสตร์ หรือระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ ที่นำไปสู่ข้อถกเถียงในประเด็นต่างๆ ตั้งแต่เรื่องของแฟชั่น ความตาย ฟิสิกส์ และอภิปรัชญา หากพิจารณาในเชิงโครงสร้างหรือรูปแบบการประพันธ์แล้ว ต้องถือว่า Operette morali เป็นงานแปลกล้ำนำสมัย คล้ายคลึงกับนวนิยายเชิงทดลองในยุคสมัยของเรา หรือ Pensieri ที่เป็นการรวบรวมความคิดว่าด้วย ‘มนุษย์’ กับ ‘สังคม’ ที่เลโอปาร์ดีตั้งใจไว้ว่าจะตีพิมพ์ออกมาในช่วงวาระสุดท้าย (ในปี 1837) เพียงแต่การเรียบเรียงข้อเขียนต่างๆ ยังไม่ทันเสร็จสิ้นสมบูรณ์ เขาก็จากไปเสียก่อน อันโตนิโอ รานิเอรี (Antonio Ranieri) มิตรสหายของเลโอปาร์ดี[3] จึงตัดสินใจนำเอาเสี้ยวส่วนความคิดเท่าที่มีอยู่นั้นตีพิมพ์ออกมา Pensieri ถือได้ว่าเป็นตัวบทที่แสดงถึงความเป็นกวี-นักปรัชญาของเลโอปาร์ดีมากที่สุด

อย่างไรก็ดี ผลงานทั้ง Operette morali และ Pensieri นับว่าเป็นเพียง ‘ยอด’ ของภูเขาน้ำแข็งที่ชื่อ Zibaldone ซึ่งความคิดโดยส่วนใหญ่ยังจมอยู่ใต้ท้องมหาสมุทร ด้วยเพราะ Zibaldone เป็นผลงานที่เขียนตั้งแต่ปี 1817-1832 มีความยาวร่วม 4,526 หน้ากระดาษ ถ้าเราเจาะลึกลงไปในรายละเอียดของวันเวลาที่ปรากฏบนหน้ากระดาษจะพบว่า เลโอปาร์ดีเขียนไปได้ 4,000 หน้าตั้งแต่ปี 1823 หรือในขณะที่เขามีอายุได้ 25 ปี และเป็นที่น่าอัศจรรย์ใจยิ่งขึ้นไปอีกเมื่อได้ทราบว่า ข้อเขียนใน Zibaldone จำนวน 3,197 หน้า เขียนขึ้นภายใน 2 ปีเท่านั้น (1821-1823)

Pensieri ฉบับตีพิมพ์ในปี 1845 เรียบเรียงโดย อันโตนิโอ รานิเอรี มิตรสหายคนสนิทของเลโอปาร์ดี

 2

 เลโอปาร์ดีเกิดในวันที่ 29 กรกฎาคม 1798 เมืองเรคานาติ เป็นบุตรหัวปีในบรรดาพี่น้องทั้งหมด 3 คน (เลโอปาร์ดี, คาร์โล และเปาลีนา) บิดาและมารดาของเลโอปาร์ดีมาจากครอบครัวชนชั้นสูง

เคานต์ โมนัลโด (Count Monaldo) ผู้เป็นบิดา หมกมุ่นสนใจในโลกของภูมิปัญญาความรู้และมีหนังสือตำราเก็บสะสมไว้มากมาย เขาเข้มงวดกวดขันกับการศึกษาของบรรดาลูกๆ จนทำให้สามพี่น้องที่มีวัยไล่เลี่ยกันต่างต้องร่ำเรียนสรรพวิชาต่างๆ ของผู้ใหญ่ตั้งแต่ยังเล็ก

เลโอปาร์ดีเป็นเด็กที่มีสุขภาพอ่อนแอ แต่ด้วยความเฉลียวฉลาดทำให้เขาสำเร็จวิชาพื้นฐานตั้งแต่อายุ 14 ปี เขาเรียนเขียนอ่านภาษากรีกโบราณ และฮีบรูด้วยตนเอง จนกระทั่งสามารถเขียนบันทึกแก้ไขและให้คำแนะนำแก่สำนักพิมพ์ในการจัดพิมพ์ตัวบทโบราณ เรียกได้ว่า เลโอปาร์ดีได้กลายเป็นนักนิรุกติศาสตร์ (Philologist) ตั้งแต่อายุยังไม่ถึง 18 ปี ไม่เพียงเท่านั้น เขายังเขียนบทความขนาดยาว Essay on the Popular Errors of the Ancients (ที่ได้ตีพิมพ์จริงๆ หลังจากเขาเสียชีวิตไปแล้ว) ที่มีการอ้างอิงชื่อนักเขียน-นักคิดจากยุคโบราณและร่วมสมัยจำนวนมากถึง 400 ชื่อ!

ข้อวิจารณ์ของเลโอปาร์ดีในเวลานั้นต่อปราชญ์ยุคโบราณมีว่า “ปรัชญาของคนโบราณ คือศาสตร์แห่งความแตกต่าง และสำนักทั้งหลายคือที่ตั้งของความสับสนและโกลาหล อริสโตเติลประณามสิ่งที่เพลโตสอน โสเครติสล้อเลียนแอนไทเธนิส และเซโนนำเอพิคุรัสมาประจาน สำนักพิทากอรัส สำนักเพลโต สำนักไม่แน่ไม่นอน ลัทธิสโตอิก ลัทธิไซนิก ลัทธิอีพิคูเรียน ลัทธิไซเรเนอิก ลัทธิเมการิก ลัทธิผสมผสานต่างตะลุมบอนเข้าใส่กัน เย้ยหยามใส่กัน ในขณะที่ผู้รู้จริงหัวเราะใส่พวกนั้น คนทั้งหลายต่างก็บ่ายหน้าหนีไปในระหว่างการถกเถียงอึงอลที่ไม่ถึงเปลืองเปล่า แต่ก็เป็นการสูญเสียกำลังเพื่อขยายความผิดพลาดกองพะเนินของมนุษย์อยู่เงียบๆ”[4]

อย่างไรก็ตาม ความฝันอันไม่มีวันเป็นจริงของบิดา ผู้ต้องการผลักดันให้เขาเป็นศาสนาจารย์หรือนักบวช มากกว่าจะเป็นนักเขียน-กวี ทำให้ในใจของเลโอปาร์ดีเกิดความขมขื่นและขัดแย้งในตัวเอง จากโลกอุดมคติในความรู้ที่เขาเคยคุ้นในวัยเยาว์ ค่อยๆ แปรเปลี่ยนไปสู่โลกของความจริงอันแปลกแยกที่แปรเปลี่ยนเป็นความทุกข์สะสม จากการไม่สามารถกำหนดตัดสินชะตาชีวิตของตนได้ นี่เป็นห้วงเวลาที่เลโอปาร์ดีค้นพบกวีนิพนธ์ที่ช่วยเยี่ยวยาและประคับประคองจิตใจ และพร้อมกันนั้นก็ช่วยให้เขาแลเห็นชีวิตนอก ‘ตัวบท’ ทั้งหลายด้วย ‘ดวงตาคู่ใหม่’ ในช่วงที่เขาย่างเข้าสู่วัย 18 ปี

จนกระทั่งปี 1817 เลโอปาร์ดีพบกับรักแรก (ที่แน่นอนว่าไม่สมหวัง) และถ่ายทอดสิ่งที่เกิดขึ้นนั้นเป็นบทกวี Il primo amore หรือรักแรก หลังจากนั้น เลโอปาร์ดีก็ก้าวย่างเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของแวดวงนักเขียนและนักวิชาการ ผ่านการมีผลงานตีพิมพ์ในสิ่งพิมพ์รายคาบต่างๆ อีกหลายชิ้น จนทำให้เขากลายเป็นเพื่อนต่างวัยกับนักเขียนรุ่นใหญ่อย่าง ปีเอโทร จอร์ดานี (Pietro Giordani) และบรรณาธิการเจ้าของสำนักพิมพ์อย่าง อา. เอเอฟ. สแตลลา (A. F. Stella)

เลโอปาร์ดีเขียนบทความขนาดยาวชิ้นที่มีชื่อว่า Discourse of an Italian on Romantic Poetry ที่เป็นบทปริทัศน์ผลงาน Giaour ของไบรอน (Byron) ที่สามารถกล่าวได้ว่า เป็นบทวิพากษ์ขบวนการโรแมนติก (Romanticism) ในแง่มุมหนึ่ง โดยที่เลโอปาร์ดีชี้ว่า ความรู้สึกต่อธรรมชาติที่ปรากฏในกวีนิพนธ์ยุคกรีก-โรมันโบราณ ‘จริงใจ’ หรือเป็นความรู้สึกที่ ‘แท้จริง’ กว่าที่ปรากฏในบทกวียุคโรแมนติก ซึ่งสำหรับเลโอปาร์ดีแล้วเป็นเพียง ‘สิ่งสังเคราะห์’ หรือดู ‘ปลอม’ เพราะไม่ได้มาจาก ‘หัวใจ’ หากมาจาก ‘ความหลงตนเอง’ หรือการพยายามโอ้อวดแสดงตนให้คนอื่นเห็นก็เท่านั้น ข้อวิจารณ์นี้เป็นผลมาจากความเชื่อและศรัทธาในบทกวีของเลโอปาร์ดี ณ ตอนนั้น

แน่นอนว่ามิตรน้ำหมึกของเขา ไม่ว่าจะเป็นจอร์ดานีหรือสแตลลา ก็ไม่สามารถนำพาความเรียงชิ้นนี้ไปตีพิมพ์ที่ใดได้ (ได้ตีพิมพ์เผยแพร่สู่สาธารณะครั้งแรกเมื่อต้นของศตวรรษที่ 20 ไปแล้ว) ความคิดนี้คงปรากฏให้เห็นใน Zibaldone ในช่วงก่อนหรือระหว่างปีที่เลโอปาร์ดีพยายามส่งความเรียงชิ้นดังกล่าวไปตีพิมพ์ตามวารสารต่างๆ

หากมองผ่านสายตาของเราในปัจจุบัน ข้อวิจารณ์ของเลโอปาร์ดีใน Discourse ถือว่าฟังขึ้นหรือไม่? มันเป็นไปอย่างคึกคะนอง ต้องการอวดภูมิรู้แค่นั้นหรือ? ดังที่ได้กล่าวไปแล้วในตอนต้นว่า เลโอปาร์ดีมีรากฐานความคิดมาจากการศึกษา ‘ภาษา’ และความเชี่ยวชาญใน ‘การอ่าน’ ตัวบทจากยุคโบราณ (โดยยังไม่นับว่า เขาร่ำเรียน ‘การเขียน’ ในแบบพระเยซูอิตที่ทำให้ต้องเข้าใจตรรกะและการเขียนโดยใช้เหตุผลโต้แย้งอย่างเคร่งครัด) สิ่งที่เขาวิจารณ์จึงนับว่าเกี่ยวโยงโดยตรงกับประวัติศาสตร์ของความหมาย อันรวมไปถึงความรู้และความรู้สึกที่มนุษย์มีต่อโลกอีกด้วย

เลโอปาร์ดีมีความคล้ายคลึงกับรุสโซ (Rousseau) ในแง่ที่เขาเห็นว่า ความก้าวหน้า (Progress) เป็นเพียง ‘สิ่งลวงตา’ มนุษย์ในยุคโบราณเข้าใจและรู้จัก ‘ธรรมชาติ’ มากกว่ามนุษย์ในโลกสมัยใหม่

จริงที่ว่า เลโอปาร์ดีถือเป็นกวีคนสำคัญในยุคโรแมนติกของอิตาลี แต่ความคิดของเขา รวมถึงข้อวิจารณ์ที่เขามีต่อไบรอนและขบวนการนับว่าไม่โรแมนติกเอาเสียเลย สิ่งที่ทำให้เขาเรียกได้ว่ามีความโรแมนติกมากที่สุด คงเป็นช่วงหนึ่งที่เขาแสดงความเป็นชาตินิยมผ่านบทกวี 2 ชิ้นที่เขาอุทิศให้แก่อิตาลี 

ปี 1819 หรือในขณะที่มีอายุได้ 21 ปี ถือได้ว่าเป็นปีที่หนักหน่วงสำหรับเขา เลโอปาร์ดีกับคาร์โลน้องชายวางแผนจะหนีออกจากบ้าน แต่ไม่ประสบผลสำเร็จ ความสนิทสนมใกล้ชิดระหว่างเลโอปาร์ดีกับจอร์ดานีที่จัดได้ว่าเป็นฝ่ายก้าวหน้า ยิ่งทำให้พ่อของเขาไม่พอใจ และยิ่งควบคุมกดดันเลโอปาร์ดีมากขึ้นไปอีก

นี่เป็นเหตุผลให้เลโอปาร์ดีได้กลับเข้าสู่โลกของ ‘ตัวบท’ อีกครั้ง พร้อมกับการพัฒนารูปแบบการเขียนกวีนิพนธ์ในชุดที่เรียกว่า Idilli ซึ่งมีโครงสร้าง/ฉันทลักษณ์คล้ายคลึงกับกวีแบบกรีกโบราณ และเขาได้ประพันธ์ L’infinito (1819) หรืออนันตภาพ บทกวีมีความสำคัญมากที่สุดชิ้นหนึ่งก็ถือกำเนิดขึ้นในห้วงเวลาเดียวกันนี้

 

ฉันชื่นชอบเนินเขาอันโดดเดี่ยวแห่งนี้เสมอมา

รวมถึงแนวไม้ที่พาดขนานจนเกือบสุดปลายฟ้า

เพียงแค่นั่งลงที่นี่และทอดมอง เหนือขึ้นไป

ฉันได้แลเห็น ในดวงตา พื้นที่อันไม่สิ้นสุด

กับความเงียบงันเหนือมนุษย์ กับความสงบที่ลึกล้ำ

มันทำให้ใจฉันประหวั่น

แลเมื่อฉันแว่วยินเสียงลม

โบกพัดผ่านแมกไม้ ฉันเปรียบเทียบ

ความเงียบอันเป็นอนันต์กับเสียงนั้น

และความเป็นนิรันดร์ก็ปรากฏในความคิด

กับฤดูกาลที่พ้นผ่าน กับปัจจุบัน

ที่ยังคงมีชีวิตอยู่ กับสุ้มเสียงต่างๆ ดังนั้นแล้ว

ความคิดอันหนักอึ้งของฉันจึงได้จมลงไป

และเป็นการอับปางที่อ่อนหวานใต้ท้องทะเล

 

(Sempre caro mi fu quest’ermo colle,
e questa siepe, che da tanta parte
dell’ultimo orizzonte il guardo esclude.
Ma sedendo e mirando, interminati
spazi di là da quella, e sovrumani
silenzi, e profondissima quïete
io nel pensier mi fingo; ove per poco
il cor non si spaura. E come il vento
odo stormir tra queste piante, io quello
infinito silenzio a questa voce
vo comparando: e mi sovvien l’eterno,
e le morte stagioni, e la presente
e viva, e ‘l suon di lei. Così tra questa
immensità s’annega il pensier mio:
e ‘l naufragar m’è dolce in questo mare.)

ต้นฉบับลายมือ L’infinito (1819) หรืออนันตภาพ

‘อนันตภาพ’ หรือ ‘ความเป็นนิรันดร์’ ในบทกวีนี้เกี่ยวโยงสัมพันธ์กับ ‘ความว่างเปล่า’ หรือ Il nulla ที่เลโอปาร์ดีหลงใหล เพราะสำหรับเขาแล้ว ความคิดเกี่ยวกับ ‘ความไม่มีอะไร’ นำพาเขาออกจากโลกแห่งความไม่แน่นอน โลกอันกำหนดเกณฑ์มิได้ ทำหน้าที่คล้ายกับสารเสพติดหลอนประสาท มอบพื้นที่และเสรีภาพให้กับเขา ทำให้เลโอปาร์ดีหลุดพ้นจากความเจ็บปวดทางกายหรือจิตใจ หรืออย่างน้อย ‘ความว่างเปล่า’ ก็ช่วยให้เขาสามารถถอยห่างหรือถอนตัวจากชีวิตที่เป็นอยู่ได้ระยะเวลาหนึ่ง

เลโอปาร์ดีเชื่อว่า ‘ธรรมชาติ’ ได้มอบ ‘ภาพลวงตา’ ให้แก่มนุษย์ ภาพลวงตาที่ทำให้เรามีความกล้าหาญที่จะมีชีวิตอยู่ หรือสามารถทำในหลายสิ่งหลายอย่างที่หากปราศจาก ‘ภาพลวงตา’ นั้นแล้ว ก็ไม่อาจสำเร็จลุล่วงลงได้ แต่ ‘ภาพลวงตา’ นี้ไม่อาจอยู่ร่วมกันได้กับ ‘ความจริง’ ซึ่งสำหรับเลโอปาร์ดีแล้ว ความจริงนั้นโหดร้าย และไม่มีอะไรมากไปกว่าการค้นพบว่า สิ่งต่างๆ ทั้งหลายกำเนิดขึ้นมาจาก ‘ความว่างเปล่า’ ซึ่งทำให้ปรัชญาของไม่เพียงเป็นทุทรรศนิยม หากยังเป็นสุญนิยม (Nihihilsm) อีกด้วย

3

คาร์โลผู้เป็นบิดาอนุญาตให้เลโอปาร์ดีออกไปท่องโลกด้วยตนเองได้จริงๆ เมื่อปี 1822 ดังที่เราทราบกันดีว่า เลโอปาร์ดีโหยหาที่จะเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนนักเขียนและปัญญาชนมากกว่าจะเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนบ้านเกิดที่เรคานาติ ซึ่งผู้คนที่นี่มองเขาเป็นตัวประหลาด หรือมักจะเรียกเขาอย่างประชดประชันว่า ‘ท่านนักพรต’ หรือ ‘ท่านนักปราชญ์’

อย่างไรก็ตาม ภายหลังจากได้พำนักอยู่ที่โรมได้ราว 5 เดือน เขาเริ่มเข้าใจและมองเห็นโลกด้วยแว่นตาคู่ใหม่ที่หม่นมืดและทึมเทายิ่งกว่าเดิม เพราะนับจากวันแรกๆ ที่ไปถึง เขาเขียนจดหมายไปหาคาร์โลผู้เป็นน้องชายว่า “พี่หาความพึงใจจากสิ่งยิ่งใหญ่ที่ได้แลเห็นมิได้เลย ถึงพี่รู้ว่ามันน่าอัศจรรย์ใจ แต่พี่ไม่อาจรู้สึกได้” ไม่เพียงเท่านั้น ผู้คนในแวดวงที่เขาต้องการจะเข้าร่วมกลับกลายเป็นเพียง “คนโง่ทึ่มที่พูดจาเรื่อยเจื้อยไม่สิ้นสุด เป็นมนุษย์ประเภทที่น่าเบื่อหน่ายและชวนให้รำคาญมากที่สุดบนโลกใบนี้” เลโอปาร์ดีเดินทางกลับจากโรมในปี 1823 เหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในห้วงเวลาดังกล่าว กลายเป็นที่มาให้ในระหว่างปี 1821-1823 เลโอปาร์ดีเขียน Zibaldone จำนวนมากถึง 3,197 หน้า

ยูจีน แท็กเกอร์ (Eugene Thacker) นักเขียนและกวีชาวอเมริกัน อาจพูดถูกที่ว่า นักมองโลกในแง่ร้ายไม่ได้มาจากมุมมองหรือความคิด แต่มักจะมาจากเหตุการณ์พลิกผันต่างๆ ที่ทำให้พวกเขาคิดเห็นและมองโลกเช่นนั้น ซึ่งสำหรับกรณีของเลโอปาร์ดีแล้ว ความเจ็บป่วย ความโศกเศร้า ความผิดหวัง และแรงกดดันตั้งแต่เมื่อครั้งยังเยาว์ ทำให้เขาเห็นโลกไม่สวยงามสักเท่าไร เมื่อผสานประสบการณ์เข้ากับมุมมองที่มีต่อโลก ความจริงที่แลกมาด้วยการสูญเสียภาพลวงตา ความงมงาย และศรัทธา ย่อมส่งผลให้โลกสำหรับเขาไม่ใช่ที่น่าอยู่อีกต่อไป

 “ความจริงสองเรื่องที่คนทั้งหลายไม่เคยจะเชื่อ หนึ่งคือเราไม่รู้อะไร ถัดมา เราต่างเป็นเพียงความไม่มีอะไร และถ้าเพิ่มอย่างที่สามเข้าไป ซึ่งเกี่ยวพันอย่างมากกับอย่างที่สอง ไม่มีอะไรให้เราหวัง หลังจากตายไปแล้ว” (Two truths that men will generally never believe: one, that we know nothing, the other, that we are nothing. Add the third, which depends a lot on the second: that there is nothing to hope for after death.)

นี่เป็นคำกล่าวในย่อหน้าท้ายๆ ของ Zibaldone ที่สะท้อนถึงความเป็นสุญนิยมของเลโอปาร์ดีในแบบที่อาจทำให้ใครหลายคนต้องฉงนฉงาย ด้วยว่ามันเป็นส่วนท้ายเล่ม มันจึงสะท้อนอารมณ์ที่ไม่มีทางออกให้กับชีวิตหรืออะไรทั้งสิ้น ซึ่งว่าไปมันอาจหนักหน่วงเสียยิ่งกว่าการประกาศว่า ‘พระเจ้าตายแล้ว’ ของนิทเช่เสียด้วยซ้ำไป

การปฏิเสธความรู้ที่เป็นจริง หรือกฎที่เป็นจริงของเลโอปาร์ดี อยู่ในย่อหน้าสุดท้ายที่เขาได้กล่าวย้ำไว้ว่า

“สิ่งที่อยู่เหนือความคาดหมายที่สุด สำหรับคนที่ก้าวเข้าไปในชีวิตทางสังคม และโดยมาก คือคนที่แก่ตัวลงที่นั่น คือการพบว่าโลกเป็นไปตามที่เขาได้รับคำอธิบาย ตามสิ่งที่เขารู้และเชื่อในทางทฤษฎี มนุษย์ถูกทำให้สับสนงุนงงจนแลไปว่าสิ่งที่เป็นไปนั้น กฎเกณฑ์โดยทั่วไปได้แสดงให้เห็นว่าเป็นจริง” (The most unexpected thing for someone who is entering social life, and very often for someone who has grown old there, is to find that the world is as it has been described to him, and as he already knows and believes it to be in theory. Man is stupefied to see in his own case that the general rule is shown to be true.)

 

อ้างอิง

[1] “โลกใบนี้ไม่ได้งดงาม ยิ่งไปกว่านั้น หากไม่ได้มองดูอยู่ไกลๆ มันก็สุดเกินกว่าจะทนได้”

[2] ตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 1827 แต่ถูกปรับเปลี่ยนแก้ไขและยกข้อความบางตอนออกแล้วตีพิมพ์ใหม่ในปี 1835 จนกระทั่งหลังจากเลโอปาร์ดีเสียชีวิตไปแล้ว เพื่อนของเขา อันโตนิโอ รานิเอรี่ (Antonio Ranieri) จึงได้นำเอาฉบับดั้งเดิมมาตีพิมพ์ใหม่อีกครั้งในปี 1845

[3] ที่มีความใกล้ชิดสนิทสนมถึงขนาดที่ผู้ศึกษาชีวประวัติของเลโอปาร์ดีเห็นว่าเป็น ‘ชายคนรัก’ ของเขา

[4] “The philosophy of the ancients was the science of differences; and their academies were the seats of confusion and disorder. Aristotle condemned what Plato had taught. Socrates mocked Antisthenes; and Zeno scandalized Epicurus. Pythagoreans, Platonians, Peripatetics, Stoics, Cynics, Epicureans, Sceptics, Cyrenaics, Megarics, Eclectics scuffled with and ridiculed one another; while the truly wise laughed at them all. The people, left to themselves during this hubbub, were not idle, but labored silently to  increase the vast mound of human errors.”

Tags: , , , , ,