When Philo Met Sophia (05)

Weltschmerz: ยามเมื่อโลกเราเศร้าซึม

 

“The world of the happy is quite another than that of the unhappy.”

ลุดวิก วิตต์เกินชไตน์ (Ludwig Wittgenstein)

 

 

Weltschmerz หรือ ‘ทุกขโลก’ เป็นคำที่ ฌ็อง-ปอล (Jean-Paul) ใช้เรียกสภาวะ/ คุณลักษณะที่เกิดขึ้นกับตัวละครในนวนิยายของ ลอร์ด ไบรอน (Lord Byron) หรือบุคคลในช่วงระหว่างศตวรรษที่ 18-19 ที่วันหนึ่งตื่นมาพบว่า โลกที่เราอยู่เป็นสถานที่แห่งความทุกข์และความเจ็บปวด หรือในอีกทางก็แลเห็นว่า ตนเองไม่สามารถจะปรับตัวปรับใจประนีประนอมกับโลกที่ว่าได้ Weltschmerz ตามบทนิยามนี้จึงจำกัดไปที่อารมณ์หรือห้วงความคิดที่เกิดขึ้นมา

Weltschmerz เรียกได้ว่าเป็นอารมณ์แห่งยุคสมัยที่ปรากฏหรือสะท้อนในงานวรรณกรรม ศิลปกรรม และคีตศิลป์ในช่วงรอยต่อของศตวรรษ ซึ่งนักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ความคิดบางคนเห็นว่า สามารถแบ่งออกเป็น 2 ยุคกว้างๆ คือยุคแรกที่ยังเห็นว่า สิ้นสุดการปฏิวัติฝรั่งเศส อาจมีอนาคตที่มีความหวังรออยู่ก็เป็นได้ ยุคถัดมาคือยุคที่แลเห็นว่าความหวังเป็นเพียงภาพลวงตา โลกเป็นสถานที่แห่งความหดหู่สิ้นหวัง นี่คืออารมณ์ในช่วงก่อนที่ปรัชญาทุทรรศนนิยม (Pessimism) จะเฟื่องฟูขึ้นในช่วงครึ่งหลังของศตวรรษที่ 19 ผ่านผลงานของ อาร์เทอร์ โชเพนเฮาเออร์ (Arthur Schopenhauer) นักปรัชญาเยอรมัน ซึ่งเราจะพูดถึงเขาต่อไปข้างหน้า

ลัทธิมองโลกในแง่ร้าย หรือทุทรรศนนิยมในทางปรัชญามักประกอบด้วยมุมมองหลักๆ 3 ด้านที่เกี่ยวกับการดำรงอยู่ของโลก คุณค่า-ความหมาย และตัวเรา ได้แก่ หนึ่ง โลกนี้คือสถานที่ที่เลวร้ายที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ สอง ชีวิตแท้จริงเป็นสิ่งที่ไร้ซึ่งคุณค่าและความหมาย สาม ‘การไม่มีอยู่’ เป็นสิ่งที่น่าพึงปรารถนากว่า ‘การมีอยู่’

อาจกล่าวได้ว่า การมองโลกในแง่ร้ายเป็นสารบบความคิดที่มีมาเนิ่นนานแล้วในสังคมมนุษย์ อย่างพุทธศาสนาก็มักถูกมองโดยชาวตะวันตกว่า เป็นส่วนหนึ่งของลัทธิมองโลกในแง่ร้าย เนื่องจากสอนให้คนทั้งหลายเห็นว่า การหลุดพ้นจากการมีอยู่หรือการเวียนว่ายตายเกิด คือเป้าหมายสูงสุดของทุกชีวิต เพราะโลกคือ ‘โรงละครแห่งความทุกข์’

อาร์เทอร์ โชเพนเฮาเออร์ (Arthur Schopenhauer) นักปรัชญาเยอรมัน ผู้ทำให้ปรัชญาทุทรรศนนิยม (Pessimism) เฟื่องฟูในช่วงครึ่งหลังของศตวรรษที่ 19

ขณะที่โลกตะวันตกยกให้กอร์เกียส (Gorgias) นักปรัชญา-โซฟิสต์ผู้โด่งดังในยุคก่อนโสเครตีสเป็นหนึ่งในนักสุญนิยม (Nilhilist) และนักมองโลกในแง่ร้ายยุคบุกเบิก หนังสือ On Nature หรือ On the Non-Existent ของเขา (ที่ปัจจุบันต้นฉบับสาบสูญไปแล้ว)[1]  เน้นย้ำความคิดที่ว่า ไม่มีสิ่งใดดำรงอยู่ โลกใบนี้เป็นสิ่งที่เราเข้าใจไม่ได้ และความจริงก็เป็นเพียงสิ่งที่ถูกสร้างขึ้น   

แม้การมองโลกในแง่ร้ายจะไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่คำว่า ‘Pessimism’ ถือเป็นศัพท์สมัยใหม่ (Modern Term) ที่บัญญัติขึ้นเมื่อศตวรรษที่ 18 นี้เอง โดยมีที่มาจากคำในภาษาละตินว่า Pessimus ที่แปลว่า เลวร้าย

นิโกลาส์ ช็องฟอรต์ (Nicolas Chamfort)[2] นักเขียนคติธรรม (Moraliste) ชาวฝรั่งเศส และนักปฏิวัติผู้มีชีวิตขึ้นสุดและลงสุดในช่วงศตวรรษที่ 18 นิยามการดำรงอยู่ของมนุษย์เอาไว้ว่า “การมีชีวิตคือโรคร้ายอันเกิดจากความเจ็บปวดที่จะบรรเทาลงในทุก 16 ชั่วโมง ผ่านการหลับใหล การนอนหลับคือยาชา และการรักษาที่แท้จริงคือความตาย”[3]

มุมมองนี้ของช็องฟอรต์ถือว่าสอดคล้องกับแนวคิดแบบทุทรรศนนิยม แม้ว่าตัวเขาจะได้รับความช่วยเหลือและเป็นที่รักใคร่จากราชสำนักฝรั่งเศสไปจนถึงสมาชิกในคลับฌากอแบ็ง (Jacobin) แต่ลึกๆ แล้ว ช็องฟอรต์ถือเป็นพวกชิงชังมนุษย์ (Misanthrope) ข้อเขียนจำนวนหนึ่งโดยเฉพาะในงาน Maximes et pensées – Caractères et anecdotes[4] สะท้อนความคิดดังกล่าวได้ชัดเจน กอปรกับอุปนิสัยส่วนตัวที่เป็นคนตรงไปตรงมา หรือค่อนข้างจะขวานผ่าซาก หากมองว่ามีข้อติติงหรือจุดผิดพลาดใด เขาก็จะลุกขึ้นวิจารณ์โต้แย้งอย่างดุเดือด แม้กระทั่งฝ่ายเดียวกัน นั่นเป็นเหตุให้หลังการปฏิวัติฝรั่งเศสเพียงไม่นาน ช็องฟอรต์ก็วิพากษ์กลุ่มฌากอแบ็ง โดยเฉพาะ รอแบ็สปีแยร์ ผู้มีอำนาจในเวลานั้น ว่ายังไม่เด็ดขาดถึงรากอย่างเพียงพอ! จนเป็นเหตุให้เขาถูกคณะผู้ก่อการสั่งจับกุมและควบคุมตัวอยู่หลายครั้ง

ครั้งสุดท้าย ช็องฟอรต์พยายามฆ่าตัวตายด้วยปืน อนิจจา กระสุนนัดนั้นทำลายใบหน้าอันหล่อเหลา (จมูกและดวงตาข้างหนึ่ง) ทว่าไม่อาจฆ่าเขาให้ตายได้ เขาคว้าเอามีดโกนมาปาดคอตัวเอง แต่ปรากฏว่ามีดนั้นทื่อเกินกว่าจะตัดเส้นเลือดใหญ่ จากนั้นเขาก็พยายามใช้มีดจ้วงแทงหัวใจหมายจบชีวิตให้จงได้ แต่ก็ไม่สำเร็จ พ่อบ้านพังประตูเข้ามาพบเขานอนจมกองเลือด และกว่าช็องฟอรต์จะได้อำลาจากโลกไปจริงๆ เขาต้องนอนติดเตียงในสภาพปางตายนานร่วมปี

ช็องฟอรต์เป็นหนึ่งในมรณสักขีของลัทธิมองโลกในแง่ร้าย ที่ชีวิตและความตายถือว่ามีความผกผันพิสดารมากที่สุดคนหนึ่ง จุดจบของเขาถูกมองว่า เป็นอารัมภบทของ Weltschmerz หรือ ‘ทุกขโลก’ ที่แพร่หลายจนถึงต้นศตวรรษที่ 19 ด้วยภาวะผันผวนทางการเมืองและสงครามในนามของจักรพรรดิแห่งโลกที่ชื่อว่า นโปเลียน (Napoleon) ทำให้โลกที่เป็นไปได้ในทางที่ดีที่สุดกลับกลายเป็นโลกที่เป็นไปได้ในทางที่เลวร้ายที่สุดสำหรับคนจำนวนมาก

การมองโลกในแง่ร้ายในกระแสคิดแบบทุทรรศนนิยม เริ่มปรากฏให้เห็นในปรัชญา บทกวี และวรรณกรรมโรแมนติก เช่นผลงานของลอร์ด ไบรอน หรือจาโกโม เลโอปาร์ดี (Giacomo Leopardi) โดยหนึ่งในบุคคลสำคัญที่มีบทบาทอย่างยิ่งในการวางรากฐานการมองโลกในแง่ร้ายอย่างเป็นระบบและรัดกุมที่สุด ก็คือ อาร์เทอร์ โชเพนเฮาเออร์ นักปรัชญาเยอรมัน ผู้สมาทานความคิดแบบฮินดูเข้ากับปรัชญาของ อิมมานูเอล คานต์ (Immanuel Kant) และแน่นอนที่สุดว่า เขาเป็นที่รู้จักของใครอีกหลายคนในฐานะศัตรูคู่อาฆาตตลอดกาลของ เฮเกล (Hegel) ปราชญ์ผู้ยิ่งใหญ่แห่งเยอรมนี

โชเพนเฮาเออร์เกิดและเติบโตในครอบครัวพ่อค้าเชื้อสายดัตช์ แม่ของเขาเป็นนักประพันธ์หญิงผู้กว้างขวาง ที่นำพาโชเพนเฮาเออร์ในวัยเยาว์ไปรู้จักกับนักเขียนและกวีคนสำคัญทั้งในและนอกเยอรมนี ตัวของโชเพนเฮาเออร์เอง แม้แรกเริ่มเดิมทีร่ำเรียนทางด้านวิทยาศาสตร์กายภาพ แต่เขากลับทุ่มเทความสนใจให้แก่ศิลปศาสตร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งวิชาปรัชญา        

ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของชีวิต แม่ของโชเพนเฮาเออร์พาเขาไปหา คริสทอฟ วีลันด์ (Christoph Wieland) กวีเอกชาวเยอรมัน เพื่อช่วยเกลี้ยกล่อมให้เขาเลือกเส้นทางเดินอื่นที่มิใช่ปรัชญา วีลันด์ถามโชเพนเฮาเออร์ว่า เพราะเหตุใดเขาถึงเลือกที่จะร่ำเรียนทางปรัชญา หรือทำไมเขาถึงต้องการที่จะเป็นนักปรัชญา ซึ่งน่าจะเป็นอาชีพที่แสนลำบาก หรือหาเลี้ยงตัวเองได้ยากมากๆ โชเพนเฮาเออร์ตอบวีลันด์ว่า “ชีวิตคือคำถามที่ยากที่สุด และผมได้ตัดสินใจแล้วว่า จะใช้ชีวิตที่เหลืออยู่ทั้งหมดเพื่อคิดหาคำตอบนี้” เมื่อได้ยินคำตอบที่แน่วแน่และหนักแน่นของโชเพนเฮาเออร์ วีลันด์จึงพูดว่า “ฉันเข้าใจธรรมชาติของเธอดี จงเป็นนักปรัชญาเถิด” หลังจากนั้น โชเพนเฮาเออร์จึงดุ่มเดินไปในโลกแห่งปรัชญา

อาจไม่ผิดไปจากความจริงนัก หากจะกล่าวว่า แม้แต่ เกอเธ่ (Goethe) เองก็นิยมชมชอบ หรือมองเห็นความพิเศษในตัวของโชเพนเฮาเออร์ กระทั่งพูดได้ว่า เขาเป็นหนึ่งในนักปรัชญาร่วมสมัย ไม่กี่รายที่เกอเธ่ได้อ่านงานอย่างละเอียด โดยเฉพาะผลงาน Die Welt als Wille und Vorstellung: vier Bücher, nebst einem Anhange, der die Kritik der Kantischen Philosophie enthält  (1819) หรือ The World as Will and Representation: four books, with an appendix containing a criticism on the philosophy of Kant ที่เกอเธ่ยอมรับว่า เป็นปรัชญานิพนธ์ที่ยอดเยี่ยม

ผลงาน Die Welt als Wille und Vorstellung นำเสนอความคิดสำคัญที่อยู่ในชื่อของมันคือ ‘โลกคือความรู้ตัวเองของเจตจำนง’ เจตจำนง (Will) ของโชเพนเฮาเออร์ไม่ได้มีอยู่แค่กับมนุษย์ แต่มีอยู่ในสิ่งมีชีวิตและสรรพสิ่งทั้งหลายที่หยัดยืน ต้องการจะดำรงอยู่ต่อไป โดยที่หลายครั้งเจตจำนงนี้ก็ไม่ได้สอดคล้องต้องกับความเป็นเหตุผล (Rationality) หรือสิ่งที่มนุษย์เราเห็นว่า ‘ดี’ โชเพนเฮาเออร์เชื่อว่า สิ่งใดที่เราเห็นว่า ‘ดี’ นั้น แท้จริงเจตจำนงเป็นตัวกำหนดทั้งสิ้น

โชเพนเฮาเออร์มองว่า ปรัชญาของเขาเป็นการสานต่อและทำให้ปรัชญาของคานต์สมบูรณ์ขึ้น เขาปฏิเสธ ‘ปทารถะ’ (Categories)[5] ของคานต์ทั้งหมด ยกเว้นก็แต่เพียงหลักเหตุผลเพียงพอ (Principle of sufficient reason)[6] ที่โชเพนเฮาเออร์นำมาพัฒนาต่อและกล่าวถึงหลักการนี้ในผลงาน Die Welt als Wille und Vorstellung โดยเรียกว่าหลักปัจเจกภาวะ ‘Principle of individuation’ [7]

อย่างไรก็ตาม แม้โชเพนเฮาเออร์จะได้คำชมเชยจากเกอเธ่ แต่ยอดจำหน่ายและการยอมรับในปรัชญาและความคิดของเขากลับมิได้กระเตื้องขึ้น ผลงาน Die Welt als Wille und Vorstellung ขนาด 4 เล่มจบของเขาถูกนำไปขายเลหลังกลายเป็นเศษกระดาษ และชีวิตการเป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัยกลับยิ่งสร้างความขมขื่นให้แก่โชเพนเฮาเออร์

Die Welt als Wille und Vorstellung: vier Bücher, nebst einem Anhange, der die Kritik der Kantischen Philosophie enthält (1819)

เส้นทางในโลกแห่งปรัชญาทั้งในฐานะของนักเขียนและอาจารย์ จึงเต็มไปด้วยความทุกข์ทรมานโดยแท้ โชเพนเฮาเออร์ต้องล้มลุกคลุกคลานอยู่กับความล้มเหลวในโลกวิชาการด้านปรัชญาอีกนานนับสามทศวรรษ กว่าจะได้รับการยอมรับนับถือจากผู้อ่านในวงกว้าง จึงไม่แปลกที่เขาจะโทษว่า บรรดาอาจารย์มหาวิทยาลัยทั้งหลายทำให้ปรัชญากลายเป็นสิ่งสกปรกแปดเปื้อน ซึ่งว่าไปแล้ว โชเพนเฮาเออร์ถือเป็นไม้เบื่อไม้เมากับนักปรัชญาสายจิตนิยมเยอรมัน (German Idealism) นับจาก ฟิชเทอ (Fichte) มาจนถึงเฮเกล และเชลลิง (Schelling)

ความเป็นปฏิปักษ์ต่อเฮเกลว่ากันว่ามีมาตั้งแต่โชเพนเฮาเออร์เริ่มบรรยายที่มหาวิทยาลัยเบอร์ลิน และในครั้งที่ต้องบรรยายเพื่อเลื่อนตำแหน่งเป็นอาจารย์ประจำแบบมีเงินเดือน เขากลับเดินออกจากโพเดียมเพื่อไปถกเถียงกับเฮเกลที่นั่งอยู่อีกมุมหนึ่งของห้อง

เส้นทางการเป็นอาจารย์ของโชเพนเฮาเออร์จึงเต็มไปด้วยวิบากกรรมหลังจากนั้น เพราะเขาไม่เอาใครและไม่มีใครเอาเขา สุดท้ายโชเพนเฮาเออร์ก็ต้องผละออกมาจากโลกวิชาการและกลายเป็นนักปรัชญาอารมณ์เสียที่โลกรู้จัก คำด่าที่เจ็บแสบฟังแล้วยากจะลืมเลือน คือเฮเกลคือสถาปัตยกรรมแห่งความเขลาของชาวเยอรมัน

อย่างไรก็ตาม โชเพนเฮาเออร์เป็นที่รู้จักมากขึ้น หรืองานเขียนเริ่มขายได้จริงๆ ก็เมื่อตีพิมพ์งานรวมบทความ Parerga und Paralipomena (ขนาด 2 เล่มจบ) จนเริ่มมีคนกล่าวขานถึงความปราดเปรื่องของเขา การบรรยายวิชาที่เบรสเลาและไลพ์ซิกมีคนเข้าฟังมากมายอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน

แม้กระทั่ง ริชาร์ด วากเนอร์ (Richard Wagner) คีตกวีชาวเยอรมัน ก็ยังเป็นผู้หนึ่งที่สร้างสรรค์ผลงานตามแนวทางปรัชญาของโชเพนเฮาเออร์ และส่งทอดความนิยมชมชอบนี้ให้แก่ ฟรีดริช นิทเช (Friedrich Nietzsche) ในวัยหนุ่ม

โชเพนเฮาเออร์ถูกจัดให้เป็นนักคิดผู้มองโลกในแง่ร้ายจากการที่เขาเชื่อว่า มนุษย์ไม่ต่างจากซิซิฟัส (Sisyphus) ที่พยายามผลักหินขึ้นเขา คือไม่ว่าเราจะดิ้นรนหรือพยายามอย่างไร โลกก็จะไม่มีวันเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น

“สิ่งที่เป็นไปได้ ไม่ได้หมายถึงสิ่งที่เราสามารถวาดภาพหรือจินตนาการถึง หากแต่เป็นสิ่งที่มีตัวตนและคงอยู่ หากโลกในตอนนี้ถูกจัดการให้ดูประหนึ่งว่าจะสามารถดำรงอยู่ได้ ก็ด้วยความยุ่งยากที่ต่อเนื่องและทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งผลที่ตามมาก็คือ เป็นไปไม่ได้ที่โลกที่เลวร้ายจะไม่สามารถคงมีอยู่และดำเนินต่อไป ด้วยเหตุผลเดียวกันนี้ โลกจึงเป็นไปได้ด้วยหนทางที่เลวร้ายที่สุด”

ทางรอดเดียวที่พอมีสำหรับโชเพนเฮาเออร์อาจคือการตัดขาดจากโลก ผ่านการมีชีวิตอยู่ในโลกศาสนา การครุ่นคิดทางปรัชญา หรือไม่ก็ตายจากโลกนี้ไปเสีย ดังเช่นที่ปรากฏอยู่ในบทสุดท้ายของ Die Welt als Wille und Vorstellung ความคิดของโชเพนเฮาเออร์จึงถูกมองว่าส่งผลร้ายสำหรับมนุษย์โดยทั่วไปที่ยังต้องการความหวัง ปรารถนาที่จะมีชีวิตที่ดี หรือหวังจะเห็นโลกที่ดีกว่านี้

อย่างไรก็ตาม มรดกความคิดที่โชเพนเฮาเออร์ทิ้งไว้ (ในช่วงครึ่งหลังของศตวรรษที่ 19) นับได้ว่ามีความน่าสนใจ เพราะมันสร้างส่วนผสมทางความคิดที่ไม่น่าจะเกิดขึ้นได้ เช่น ปรัชญาของ จูลีอุส บานเซิน (Julius Bahnsen) ที่ประสานการมองโลกในแง่ร้ายแบบโชเพนเฮาเออร์เข้ากับวิภาษวิธีของเฮเกล โดยตัดเอาบทสังเคราะห์ (Synthesis) ซึ่งเป็นส่วนสุดท้ายออกไป ให้เหลือแต่กระบวนการความขัดแย้งที่ดำเนินต่อไปไม่สิ้นสุด ซึ่งบานเซินเรียกมันว่า Realdialektik หรือสัจวิภาษวิธี (วิภาษวิธีที่แท้จริง)

อาจกล่าวได้ว่า สานุศิษย์ของโชเพนเฮาเออร์จำนวนไม่น้อยพยายามประสานหรือหาจุดสมดุลระหว่างปรัชญาของโชเพนเฮาเออร์กับเฮเกล หากจะมีข้อยกเว้นก็คงเป็น ฟีลิพพ์ บัตซ์ (Philipp Batz) เจ้าของนามปากกา ฟีลิพพ์ ไมน์ลันเดอร์ (Philipp Mainländer) นักเขียนและกวีชาวเยอรมัน ที่พยายามปรับแปลงแนวคิดของโชเพนเฮาเออร์ให้มืดมนสุดทาง

จูลีอุส บานเซิน (Julius Bahnsen) ที่ประสานการมองโลกในแง่ร้ายแบบโชเพนเฮาเออร์เข้ากับวิภาษวิธีของเฮเกล

เมนแลนเดอร์ประกาศว่า “พระเจ้าตายแล้ว ความตายของพระองค์คือชีวิตของโลกใบนี้” ที่ตีความได้ว่า ชีวิตของโลกใบเกิดขึ้นมาพร้อมกับความตายของพระเจ้า โลกดำรงอยู่มาโดยไม่มีพระเจ้านับจากนั้น ก่อนหน้า นิทเช่จะเขียน The Gay Science (1882) หลายปี

เมนแลนเดอร์ก้าวเข้าสู่แวดวงปรัชญาผ่านการอ่านผลงานของ สปิโนซา (Spinoza) ก่อนจะค้นพบผลงานของโชเพนเฮาเออร์ในวันหนึ่ง เขาใช้เวลาอ่านงาน Die Welt als Wille und Vorstellung ขนาด 4 เล่มจบ จากย่ำค่ำจนรุ่งสาง และชีวิตของเขาก็ได้เปลี่ยนไปหลังจากนั้น

ปรัชญาของไมน์ลันเดอร์ได้ชื่อว่ามืดมนสิ้นหวังอย่างที่สุด หากบานเซินตัดเอาส่วนประสานในขั้นสุดท้ายในวิภาษวิธีของเฮเกลออกไป เพื่อยืนยันว่า โลกเรานั้นเต็มไปด้วยความขัดแย้งไม่สิ้นสุด เพื่ออธิบายถึงเจตจำนงในการมีอยู่ที่แท้จริง ผลงาน Die Philosophie der Erlösung (1876) หรือ The Philosophy of Redemption ของไมน์ลันเดอร์ก็คือการพิสูจน์ว่า ชีวิตเป็นสิ่งไร้ความหมาย หรือกำเนิดขึ้น คงอยู่ เพื่อตายจากไป หากเจตจำนงจะมีอยู่ มันก็มิใช่เจตจำนงเพื่อมีชีวิต แต่เป็นเจตจำนงมุ่งสู่ความตาย

ฟีลิพพ์ ไมน์ลันเดอร์ (Philipp Mainländer) นักเขียนและกวีชาวเยอรมันที่พยายามปรับแปลงแนวคิดของโชเพนเฮาเออร์ให้มืดมนสุดทาง

ไมน์ลันเดอร์เป็นนักมองโลกในแง่ร้ายอีกคนหนึ่ง ซึ่งเลือกจบชีวิตด้วยการฆ่าตัวตายในวัยเพียง 34 ปี การก่ออัตวินิบาตกรรมไม่เพียงเป็นปัญหาสำคัญสำหรับปรัชญา ทว่ายังเป็นข้อถกเถียงในหมู่ของนักมองโลกในแง่ร้ายว่า มันใช่ทางออกที่ดีที่สุดสำหรับการดำรงอยู่ในโลกที่ไร้คุณค่าและความหมายจริงหรือ

ในความเรียง On Suicide โชเพนเฮาเออร์กล่าวถึงประเด็นการฆ่าตัวตายผ่านมุมมองศาสนา เขาชี้ให้เห็นว่า นอกจากศาสนายิวแล้วไม่มีศาสนาใดห้ามการกระทำดังกล่าวนี้ โชเพนเฮาเออร์ยังได้อ้างถึงความเรียงชื่อเดียวกันของ เดวิด ฮิวม์ (David Hume) ที่ออกมาโต้แย้งมุมมองความเชื่อที่ว่า การฆ่าตัวตายเป็นความผิดทางศีลธรรมและอาชญากรรม

โชเพนเฮาเออร์เห็นด้วยกับฮิวม์ กระทั่งยกตัวอย่างศาสนาตะวันออก เช่น พราหมณ์-ฮินดู ที่การสละชีวิตตัวเองเป็นการกระทำที่สูงส่ง แม้กระนั้น โชเพนเฮาเออร์ก็จบความเรียงนี้ด้วยการชี้ให้เห็นถึงความยอกย้อนที่ว่า ถ้าการฆ่าตัวตายเป็นการตั้งคำถามต่อการมีชีวิตอยู่ คำถามที่ว่าตายแล้วไปไหน ผู้ฆ่าตัวตายที่ทำได้สำเร็จก็ไม่ได้อยู่พบคำตอบนั้น

ล่วงเลยมาสู่ศตวรรษที่ 20 เอมิล โชราน (Emil Cioran) นักมองโลกในแง่ร้ายชาวโรมาเนียกลับมองว่า คนที่ฆ่าตัวตายไม่ใช่นักมองโลกในแง่ร้ายอย่างถึงที่สุด หรือพูดอีกอย่างคือเป็นนักมองโลกในแง่ร้ายที่มองโลกในแง่ดีเกินไป ดังคำกล่าวอันโด่งดังของโชรานที่ว่า “เราฆ่าตัวตายช้าไปเสมอ” สะท้อนให้เห็นความคิดในเรื่องนี้ได้เป็นอย่างดี

โชรานจบชีวิตตัวเองในภาวะอัลไซเมอร์เหมือนเช่นชายชราธรรมดาๆ ในวันหนึ่ง

ปรัชญามองโลกในแง่ร้ายของโชรานอาจไม่ใช่การมองโลกแบบสิ้นหวังมากเท่ากับการมองโลกในแง่ที่เป็นจริง ว่าโลกเป็นสถานที่ที่เต็มไปด้วยความทุกข์ ความสิ้นหวัง และมนุษย์จำนวนมากดำรงอยู่ด้วยความยากมากกว่าสุขสบาย การดำรงอยู่ผ่านสายตาและการรับรู้เช่นนี้จึงทำให้ความทุกข์เปรียบเสมือนมิตรแท้ที่อยู่คู่กับเราไปจนสิ้นลมหายใจ

เอมิล โชราน (Emil Cioran) นักมองโลกในแง่ร้ายชาวโรมาเนีย

อ้างอิง

[1] ผลงานที่เหลืออยู่เพียงน้อยนิด หรือปรากฏให้เห็นจากคำกล่าวอ้าง/ อ้างอิงถึงในผลงานต่างๆ ทำให้ในโลกวิชาการด้านปรัชญายังคงถกเถียงกันถึงสถานะและบทบาทแท้จริงของกอร์เกียส เพราะถึงแม้เขาจะเป็นหนึ่งในโซฟิสต์เรืองนามจนเพลโต นำไปสร้างเป็นบทสนทนาในชื่อเดียวกันกับเขา ทว่าหลักฐานที่มีอยู่ในปัจจุบันยังยากจะหาข้อสรุปว่า ข้อเสนอทางปรัชญาของเขาเป็นเช่นไรกันแน่ แม้จะเป็นที่ยอมรับกันว่า On Nature ของกอร์เกียสเป็นปฏิกิริยาและความพยายามจะหักล้างข้อเสนอของพาร์เมนิดีส ที่ว่าการมีอยู่ (Being) นั้นเป็นนิรันดร์ หรือความเปลี่ยนแปลง (Change) เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้

[2] Chamfort, Sébastien-Roch-Nicolas, Maxims and Considerations of Chamfort (London: Golden Cockerel Press, 1926).

[3] “Living is a sickness to which sleep provides relief every sixteen hours. It’s a palliative. The remedy is death.” (Chamfort, 1926)

[4] Dagen, Jean., Chamfort, Sébastien-Roch-Nicolas. Maximes et pensées: Caractères et anecdotes (Belgium: Garnier-Flammarion, 1968).

[5] Kant, Immanuel, 1781 [1958], Critique of Pure Reason, Norman Kemp Smith (trans.), London: Macmillan

[6] White, F.C., 1992, On Schopenhauer’s Fourfold Root of the Principle of Sufficient Reason, Leiden: E.J. Brill.

[7] Schopenhauer: ‘The World as Will and Representation’: Volume 1. United Kingdom: Cambridge University Press, 2014.

Tags: , , , , ,