กระแสการลงทุนในการซื้อขายเงินดิจิทัล (Cryptocurrency) ที่นำโดยสกุลเงินหลักคือ บิตคอยน์ (Bitcoin) เป็นที่กล่าวถึงอย่างมากในช่วงปีที่ผ่านมา โดยมีทั้งแง่มุมทั้งบวกและลบให้พูดถึงได้มากมาย

การเกิดขึ้นและมีอยู่ของเงินดิจิทัลเป็นที่ถกเถียงกันอย่างแพร่หลายในทั้งประเทศและต่างประเทศ บางประเทศถึงกับประกาศว่า เงินดิจิทัลผิดกฎหมาย และยังปราบปรามผู้ที่เกี่ยวข้อง ในขณะที่มีประเทศอีกจำนวนไม่น้อยเริ่มยอมรับการมีอยู่ของเงินดิจิทัล และยังมีประเทศอีกมากอยู่ระหว่างการสังเกตการณ์นวัตกรรมทางการเงินตัวใหม่นี้ ว่ามีข้อดีและข้อเสียที่ชัดเจนอย่างไร ก่อนที่จะมีท่าทีหรือนโยบายที่ชัดเจนออกมารองรับ

แต่ความรวดเร็วของเทคโนโลยีก็ไม่เคยรอใคร เมื่อกระแสของเงินดิจิทัลเบ่งบานในวงกว้าง ด้วยเทคโนโลยีบล็อคเชน ประกอบกับแนวคิดเรื่องการระดมทุนจากมวลชน (Crowdfunding) ส่งผลให้การระดมทุนรูปแบบใหม่ที่เรียกว่า Initial Coin Offering (ICO) หรือ การเสนอขายเหรียญในระยะเริ่มต้น ซึ่งเกิดขึ้นและได้รับความนิยมอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหมู่ผู้ประกอบธุรกิจสตาร์ตอัปรุ่นใหม่ๆ

ที่เป็นเช่นนั้น เพราะ ICO มีข้อดีที่ทำให้ผู้ประกอบการสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนในรูปแบบใหม่ได้ง่ายและรวดเร็ว และมีต้นทุนในการระดมทุนที่ไม่สูงนัก เมื่อเทียบกับการระดมทุนในรูปแบบดั้งเดิมอย่างการกู้เงินธนาคาร การเสนอขายหุ้นต่อสาธารณะชน เป็นต้น

การระดมทุนรูปแบบใหม่ที่เรียกว่า Initial Coin Offering (ICO) มีข้อดีที่ทำให้ผู้ประกอบการสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนในรูปแบบใหม่ได้ง่ายและรวดเร็ว และมีต้นทุนในการระดมทุนที่ไม่สูงนัก

รูปแบบของ ICO คือการระดมทุนรูปแบบหนึ่ง แต่แทนที่จะระดมทุนโดยออกตราสารทางการเงิน (เช่น หุ้น หรือ หุ้นกู้) แลกกับเงิน แต่ ICO จะระดมทุนโดยการออกเหรียญที่เรียกว่าดิจิทัลโทเคน (Digital token) ของตัวเองมาขายให้กับนักลงทุน โดยที่นักลงทุนจะต้องนำเงินดิจิทัลสกุลเงินหลัก เช่น บิตคอยน์ หรือ อีเธอเรียม (Ethereum) มาซื้อเหรียญดิจิทัลโทเคน ดังกล่าว

จากกระบวนการนี้ สิ่งที่ผู้ระดมทุนจะได้ คือเงินดิจิทัลสกุลเงินหลักมาใช้เป็นทุนในการดำเนินธุรกิจ แต่การที่จะระดมทุนให้ได้สำเร็จตามเป้าหมาย ผู้ระดมทุนจะต้องนำเสนอเอกสารที่เรียกว่า Whitepaper ที่บรรยายถึงโครงการในแง่มุมต่างๆ เป็นแนวคิดโครงการ โมเดลทางธุรกิจ ตลอดจนคำบรรยายทางเทคนิคทางคณิตศาสตร์และคอมพิวเตอร์ต่างๆ เพื่อให้นักลงทุนสามารถพิจารณาความน่าสนใจและโอกาสประสบความสำเร็จของธุรกิจหรือโครงการที่นำเสนอ

หากจะเปรียบเทียบให้เข้าใจง่ายขึ้น Whitepaper ที่กล่าวถึงนี้ จะคล้ายกับหนังสือชี้ชวนซื้อขายหลักทรัพย์นั่นเอง เพียงแต่ในปัจจุบัน ICO ยังไม่ได้ถูกกำกับดูแลโดยหน่วยงานทางการ และ Whitepaper ที่ออกมานี้ก็ยังถูกตั้งข้อสงสัยถึงความน่าเชื่อถืออยู่มากพอสมควร

ในมุมของผู้ลงทุน การจะเข้าสู่กระบวนการ ICO ได้จะต้องมีเงินดิจิทัลสกุลเงินหลักในมือ ซึ่งต้องนำเงินจริงไปซื้อและต้องมี Wallet สำหรับเก็บเงินดิจิทัลนั้น และพิจารณาเป้าหมายที่จะลงทุน ปัจจุบันมีเว็บไซต์หลายแห่งที่จะมีลิสต์ของ ICO ตลอดจนคำบรรยายคร่าวๆ ของดิจิทัลโทเคนที่เตรียมจะระดมทุน และเมื่อนักลงทุนเข้าไปมีส่วนร่วมในการระดมทุนผ่าน ICO แล้ว จะได้ดิจิทัลโทเคนมาเป็นกรรมสิทธิ์

ตัวดิจิทัลโทเคนนี้จะมีรูปแบบของสิทธิที่หลากหลาย ขึ้นกับการออกแบบของผู้ระดมทุน เช่น อาจใช้โทเคนในการซื้อสินค้าและบริการของบริษัทในอนาคต หรืออาจรวมถึงการซื้อหุ้นจริงของบริษัท หากบริษัทเติบโตขึ้นจะมีการเสนอขายหุ้น ก็เป็นไปได้ ซึ่งสิทธิต่างๆ อาจคล้ายกับสิทธิในการลงทุนในหลักทรัพย์ทั่วไป แต่บางอย่างก็อาจไม่ใช่ นักลงทุนจึงต้องศึกษาให้ดี

ที่สำคัญไปกว่านั้นคือ ด้วยความง่ายของการระดมทุนผ่านช่องทาง ICO ส่งผลให้มูลค่าการระดมทุนผ่าน ICO ทั่วโลกสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว และมีช่วงเวลาที่มูลค่าการระดมทุนสูงขึ้นไปอยู่ในระดับเดียวกับ Venture capital ซึ่งเป็นช่องทางที่เคยเป็นที่นิยมของผู้ประกอบการ Tech startup แล้ว บางบริษัทที่เพิ่งก่อตั้งมาไม่นาน สามารถระดมทุนได้ถึงหลักร้อยล้านดอลลาร์สหรัฐ และการระดมทุนผ่าน ICO ในปี 2560 ที่ผ่านมา มีมูลค่ารวมกันถึง 5.6 พันล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 180,000 ล้านบาท

การระดมทุนผ่าน ICO บางโครงการ ผู้ระดมทุนยังไม่มีอะไรในมือเลย มีแค่ไอเดียที่เสนออยู่ใน Whitepaper

แต่การระดมทุนประเภทนี้ในหลายโครงการยังเป็นการระดมทุนที่นักลงทุนต้องเผชิญกับความเสี่ยงที่สูงมาก เนื่องจากบางโครงการ ผู้ระดมทุนยังไม่มีอะไรในมือเลย มีแค่ไอเดียที่เสนออยู่ใน Whitepaper มีข้อมูลที่ชี้ว่า มีเพียง 10 เปอร์เซ็นต์ที่โครงการที่ระดมทุนผ่าน ICO ถูกนำไปใช้ในการดำเนินธุรกิจจริงๆ ขณะที่ดิจิทัลโทเคนบางตัวก็ราคาปรับสูงขึ้นมาก แต่ก็มีจำนวนไม่น้อยที่ปิดตัวไปหลังระดมทุนเสร็จ ทำให้ดิจิทัลโทเคนที่อยู่ในมือของนักลงทุนกลายเป็นเหรียญดิจิทัลที่ไร้มูลค่า

นอกจากนี้ ICO ส่วนมาก ยังไม่ได้รับการรับรองหรือกำกับดูแลจากหน่วยงานทางการของประเทศต่างๆ และในบางประเทศถึงกับประกาศห้ามการระดมทุนผ่าน ICO ด้วยซ้ำ เช่นที่ประเทศจีน แต่ประเทศส่วนใหญ่ก็ยังไม่ได้มีท่าทีที่แข็งกร้าวต่อ ICO มากนัก เนื่องจากตระหนักดีว่า แม้ยังมีความเสี่ยงและไม่ชัดเจนในหลายเรื่อง แต่ ICO ก็ถือเป็นนวัตกรรมที่ช่วยเพิ่มทางเลือกให้กับผู้ประกอบการและประชาชนให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้มากกว่าเดิม และในอนาคต อาจเป็นช่องทางที่ทำให้ผู้ประกอบการรุ่นใหม่ๆ ที่มีนวัตกรรม สามารถใช้ช่องทางดังกล่าวระดมทุนได้

มีตัวอย่างให้เห็นในหลายโครงการ เช่น การระดมทุนของกลุ่มโอมิเสะ (Omise) ที่สามารถระดมทุนได้ถึง 20 ล้านดอลลาร์สหรัฐเพื่อไปพัฒนาระบบการโอนเงินและ e-wallet เป็นต้น และเริ่มมีอีกหลายบริษัทในประเทศไทยที่เริ่มพิจารณาการระดมทุนในรูปแบบดังกล่าว เช่น เมื่อกลางเดือนมกราคม 2561 บริษัทย่อยของบริษัทเจมาร์ท (JMART) ซึ่งเป็นบริษัทที่จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ก็ประกาศที่จะเตรียมระดมทุนผ่านช่องทาง ICO เช่นกัน โดยมีเป้าหมายในการระดมทุน 660 ล้านบาท ผ่านการออกดิจิทัลโทเคนที่ชื่อว่า Jfin coin

คำว่าเหรียญมีสองด้านยังใช้ได้เสมอ กับทุกเรื่องและทุกเวลา กับกระบวนการ ICO ก็เช่นกัน ที่อาจมีประโยชน์ได้มากและอาจมีโทษในหลายมุมให้กล่าวถึง แต่สิ่งหนึ่งที่เป็นจริงคือ ไม่ว่าจะมีคุณหรือโทษมากกว่ากันก็ตาม แต่ด้วยความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี และด้วยการที่มีพื้นฐานอยู่บนโลกดิจิทัลที่ปราศจากตัวกลางคอยทำหน้าที่ ก็คงทำให้การระดมทุนผ่าน ICO มีสูงขึ้นอีกในอนาคต

ในเดือนธันวาคมที่ผ่านมา การระดมทุนผ่าน ICO ทั่วโลก สามารถระดมเงินทุนได้เกิน 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่า 32,000 ล้านบาทเป็นครั้งแรกแล้ว

จะเห็นด้วยหรือไม่ก็คงยากที่จะหลีกเลี่ยง ขึ้นอยู่กับว่าเราจะอยู่กับสิ่งนี้อย่างไร

Tags: , , , ,