น้ำท่วมทีไร หมอกควันปกคลุมภาคเหนือเมื่อไหร่ ก็ไม่วายที่จะมีคนชี้นิ้วโทษกันไปมา ว่าคนนั้นคนนี้คือต้นเหตุของปัญหา ‘ป่าน่าน’ แปลงสภาพเป็นป่าข้าวโพด ผู้บริโภคชี้นิ้วด่าบริษัทยักษ์ใหญ่ว่าเป็นต้นเหตุ เอ็นจีโอกล่าวโจมตีเกษตรกรรุกป่าว่าคือปัญหาหลัก ส่วนบริษัทผู้รับซื้อข้าวโพดได้แต่ยืนงง พลางส่งสายตาสงสัยว่านี่มันความผิดของกูหรือ

ด้วยเส้นทางอุปทานที่ซับซ้อนซ่อนเงื่อนของระบบธุรกิจสมัยใหม่ที่ไม่มีใครรู้ว่าอะไรมาจากไหน เราลองมาคุ้ยให้ทะลุปรุโปร่งดีไหมว่า ปลายทางข้าวโพดนั้นอยู่ที่ใด

 

คำตอบไม่ใกล้ไม่ไกล–เพราะสุดท้ายเจ้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่ว่าก็มากลายร่างเป็นเนื้อไก่ในจานอาหารของเรานี่เอง!

แต่กว่าจะมาถึงผลิตภัณฑ์สุดท้าย ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ก็ผ่านมือเกษตรกร สู่ผู้รับจ้างสีและขนส่งข้าวโพด ไปยังผู้รวบรวมผลผลิต เช่น ไซโล หรือสหกรณ์การเกษตร มาแปรรูปที่โรงงานผลิตอาหารสัตว์ ส่งต่อไปยังเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ เมื่ออ้วนพีน่ารักน่ากอด เจ้าไก่ก็จะถูกลำเลียงไปยังโรงเชือด ชำแหละแยกชิ้นส่วนสวยงามแล้วจึงมาวางขายตามห้างร้านโมเดิร์นเทรด หรือตามตลาดนัด และกลายเป็นเนื้อไก่ในจานของเรานี่เอง

สรุปคือ มันก็จะงงๆ หน่อย ถ้าต้องการหาคำตอบสุดท้ายว่าใครคือคนผิด

 

แต่สำหรับประเทศไทย 4.0 (อ่ะแฮ่ม!) ทางออกที่ว่าคงจะหนีไม่พ้นการใช้เทคโนโลยีที่มีความโปร่งใสสุดขั้วอย่าง Blockchain ซึ่งเป็นนวัตกรรมที่ขับเคลื่อนเบื้องหลังการทำงานของเงินตราเข้ารหัส (Cryptocurrency) อย่าง Bitcoin หัวใจสำคัญของ Blockchain คือให้เครือข่ายควบคุมกันเองแบบไร้หัว โปร่งใสตรวจสอบได้ และที่สำคัญคือ ยากที่จะย้อนกลับไปแก้ไขข้อมูลที่ประมวลผลแล้ว

เพื่อให้เห็นภาพมากขึ้น ผมชวนผู้อ่านลองจินตนาการว่าเรากำลังจะไปโอนเงิน Bitcoin ให้พ่อแม่ที่อยู่ห่างไกล เมื่อเราระบุลงไปว่าจะทำธุรกรรม ความต้องการของเรา (รวมทั้งอีกหลายแสนธุรกรรม) จะถูกรวบรวมแล้วเผยแพร่ออกไปทั้งเครือข่าย แล้วจึงกระจายให้คอมพิวเตอร์ในระบบแบ่งกันประมวลผล เมื่อประมวลผลแล้ว ข้อมูลธุรกรรมก็จะถูกอัดเป็น Block แล้วนำไปต่อในระบบที่ใครๆ ก็สามารถเข้ามาเช็คได้

แถมการแก้ไขก็ยากแสนยาก เพราะการต่อของ Block นั้นยืดยาวเป็นหางว่าว สมมติว่าตอนนี้เครือข่ายกำลังประมวลผล Block ที่ 100 แต่เราต้องการแก้ไข Block ที่ 16 ก็ต้องทุ่มทุนระบบแก้ไขตั้งแต่บล็อกที่ 99 ย้อนไปจนถึงบล็อกที่เราต้องการ ซึ่งต้องใช้พลังในการประมวลผลมหาศาล

หลายคนอาจสงสัยว่า เอ๊ะ ถ้า Bitcoin โปร่งใสจริง ทำไมถึงไม่ตามจับคนปล่อย WannaCry ที่เลือกใช้ Bitcoin ในการเรียกค่าไถ่ล่ะ?

หากใครตามอ่านข่าวประเด็นดังกล่าวอย่างใกล้ชิดคงจะพอรู้ว่า เหล่าประชาชนผู้โดนโจมตีได้จับตาบัญชี Bitcoin 3 บัญชีที่เป็นของผู้ปล่อยไวรัส WannaCry และมีการรายงานอย่างแพร่หลายว่า WannaCry ทำรายได้ได้ราว 50,000 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 1.5 ล้านบาท พลเมืองดียังตั้ง Twitter จับตาความเคลื่อนไหวของทั้ง 3 บัญชีเป็นของแถม เรียกว่าถ้าแฮคเกอร์เด๋อด๋าไปถอนเงินเมื่อไหร่ ก็ตามจับตัวได้ไม่ยาก

นวัตกรรมอย่าง Blockchain จึงสามารถนำมาประยุกต์ใช้แก้ปัญหาป่าน่านหายโดยใช้ความโปร่งใส หากผ่านอุปสรรคที่ว่าทุกผู้เล่นในห่วงโซ่อุปทานยอมร่วมมือใช้เทคโนโลยีนี้เพื่อตอบโจทย์ว่าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์มีที่มาที่ไปอย่างไร กล่าวคือ เพียงสแกนบาร์โคด เราจะรู้ได้ทันทีว่าไก่ในจานของเราถูกเลี้ยงโดยข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่บุกรุกป่าหรือไม่ และใครเป็นผู้เล่นที่รับซื้อสินค้าดังกล่าว

ความโปร่งใสของระบบ Blockchain จะทำให้ ทั้งบริษัทผลิตอาหารสัตว์ เกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ พ่อค้าคนกลาง รวมทั้งผู้บริโภค ยากที่จะปฏิเสธความรับผิดชอบด้วยการหงายการ์ด ‘รู้เท่าไม่ถึงการณ์’

การสร้างความโปร่งใสในห่วงโซ่อุปทานโดย Blockchain ยังสามารถนำไปใช้กับปัญหาอื่นๆ ที่ประเทศไทยต้องเผชิญ ไม่ว่าจะเป็นเส้นทางอาหารทะเลเพื่อแก้ปัญหา ‘ใบเหลือง’ ในอุตสาหกรรมประมง หรือเส้นทางอาหารอินทรีย์ที่ตรวจสอบได้จากฟาร์มจนถึงโต๊ะอาหาร นอกจากนี้ เทคโนโลยีดังกล่าวยังสามารถนำไปใช้กับปัญหากรรมสิทธิในที่ดิน เพื่อป้องกันโฉนดที่มักโผล่มาแบบไม่มีปี่มีขลุ่ยหลังเกิดเหตุภัยพิบัติจนเอกสารออฟไลน์ต้องเสียหาย

ผู้อ่านหลายคนอาจยังสงสัย ว่าระบบที่ยุ่งยากซับซ้อนแบบนี้จะมีใครนำไปใช้ได้จริงหรือ ?

 

คำตอบคือมีแล้วครับ (และมีเยอะด้วย) ยกตัวอย่างเช่นร้านค้าปลีกยักษ์ใหญ่อย่าง WalMart ที่จับมือกับ IBM เพื่อพัฒนา Blockchain โดยมีเป้าหมายในการแก้ปัญหาอาหารเป็นพิษ ผ่านการเก็บข้อมูลห่วงโซ่อุปทานอาหาร เพียงลูกค้าเก็บใบเสร็จรับเงิน ก็สามารถระบุอย่างชัดเจนเลยว่าอาหารนั้นมาจากคู่ค้ารายได้ ฟาร์มแห่งไหน ใครเป็นผู้คนส่ง และใครเป็นคนตรวจคุณภาพสินค้า

เทคโนโลยีดังกล่าวนอกจากจะทำให้ลูกค้ามั่นใจที่จะจับจ่ายใช้สอย บริษัทเองก็สามารถลดความเสียหายในกรณีที่เกิดปัญหาอาหารเป็นพิษ กล่าวคือ แทนที่จะทิ้งอาหารไปทั้งหมดจากทุกสาขา WalMart ก็จะระบุได้ว่าคู่ค้ารายใดที่เป็นต้นเหตุของปัญหา และเลือกเก็บอาหารลงจากชั้นได้อย่างแม่นยำ

สิ่งหนึ่งที่ปฏิเสธไม่ได้คือ Blockchain เป็นเทคโนโลยีที่ค่อนข้างใหม่ โดยเริ่มแพร่หลายเป็นครั้งแรกในปี 2551 หลัง Bitcoin ประสบความสำเร็จ Blockchain จึงยังมีอุปสรรค เช่น ใช้พลังงานในการประมวลผลค่อนข้างสูง และยังต้องพึ่งพิง ‘รหัสผ่าน’ สำหรับผู้ใช้งานเป็นหลัก จึงยังมีความเสี่ยงที่จะถูกขโมยตัวตน

ปัญหาโลกสมัยใหม่ที่หลายบริษัทยักษ์ใหญ่ตีโจทย์ไม่แตกอย่างห่วงโซ่อุปทาน กำลังจะถูกปฏิวัติโดย Blockchain จึงน่าจับตามองอย่างยิ่งว่าในอนาคต เทคโนโลยีดังกล่าวจะผลักให้ทั้งบริษัทและผู้บริโภคปรับตัวอย่างไร และความโปร่งใสตรวจสอบได้ สุดท้ายแล้วจะนำไปสู่การเปลี่ยนวิธีปฏิบัติของภาคเอกชนหรือไม่

ก็ต้องติดตามกันต่อไปครับ

FACT BOX:

รู้จักห่วงโซ่อุปทานป่าน่านต่อได้ในรายงานการวิจัย “การวิเคราะห์การจัดการห่วงโซ่อุปทานของข้าวโพดอาหารสัตว์ เพื่อส่งเสริมการจัดการลุ่มน้ำอย่างยั่งยืนใน จ.น่าน” โดย บริษัท ป่าสาละ จำกัด

Tags: , , , , , , ,