นักเรียนหนัง ที่ไม่ได้เริ่มจากอยากเรียนฟิล์ม

แม้ผลงานภาพยนตร์สารคดีและหนังสือ Wish Us Luck ผลงานของ วรรณ-วรรณแวว หงษ์วิวัฒน์ ที่บันทึกเรื่องราวที่เธอและแฝด แวว-แวววรรณ ใช้เส้นทางรถไฟสายทรานสไซบีเรียเดินทางกลับบ้าน หลังจากสิ้นสุดการไปเรียนต่อปริญญาโทด้านมีเดียอาร์ตซึ่งครอบคลุมสื่อภาพยนตร์ที่ University for the Creative Arts ประเทศอังกฤษ จะทำให้คิดว่า เธอตั้งเป้าอยากทำภาพยนตร์

แต่ความจริงแล้วเธอไม่ได้เริ่มตั้งธงอย่างนั้นเสียทีเดียว

เธอเรียนจบนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ สาขาภาพยนตร์ ทั้งที่แรกเริ่ม เธอเพียงอยากหาจุดร่วมกับกิจการของที่บ้าน ‘หงษ์วิวัฒน์’ ซึ่งมีสำนักพิมพ์แสงแดดเป็นเสาหลัก

“คิดว่าที่บ้านทำสื่อสิ่งพิมพ์ ก็เข้าไปเรียน JR (สาขาวิชาวารสารสนเทศ) แล้วกัน เพราะน่าจะใกล้เคียงกัน แต่พอเข้าไปเรียนพื้นฐานของทุกภาค เราพบว่า JR ที่นี่เรียนหนังสือพิมพ์ มีสัดส่วนนิตยสารน้อยมาก และเราไม่ชอบหนังสือพิมพ์ ช้อยส์ที่เหลือที่ชอบก็คือฟิล์ม”

และการกลายมาเป็นบรรณาธิการบริหารของ KRUA.CO ก็ห่างไกลกับภาพจินตนาการของวรรณแววในวันนั้น ซึ่งที่บ้านยังคงทำสื่อสิ่งพิมพ์อย่างขันแข็งและมีฐานแฟนเหนียวแน่น

วรรณแววบอกด้วยน้ำเสียงนิ่งๆ ดูมีสมาธิกับทุกถ้อยคำที่พูด ว่าแผนชีวิตที่ผ่านมา ไม่ได้ตั้งต้นแบบที่มีแพสชัน แล้ววิ่งไปหาจุดนั้น

“ก็ไม่ได้คิดว่าจะต้องมาลงเอยกับที่บ้าน ไม่ได้มีบั้นปลายอะไรเบอร์นั้น มันค่อยๆ สโคปลงมาเรื่อยๆ ซึ่งมองย้อนกลับไปก็ไม่รู้สึกว่าคิดผิดอะไรสักอย่าง แม้มันจะเคยเป็นตัวเลือกเบอร์สอง แต่เราก็ชอบภาพยนตร์แล้ว”

ผลงานสารคดีสั้น ‘คืนวันเสาร์’ และ ‘สมัครงาน’ ที่วรรณแววทำและส่งประกวดในสมัยเรียน ต่างได้รับรางวัลรองชนะเลิศ สาขาช้างเผือก เทศกาลหนังสั้น ครั้งที่ 10 และ ครั้งที่ 11

เรียนทำหนัง แต่เริ่มงานแรกด้วยการทำแม็กกาซีน

นิตยสารก็ยังไม่ห่างจากความสนใจ วรรณแววเป็นหนึ่งใน a team junior รุ่น 2 โครงการฝึกงานกับนิตยสาร a day ซึ่งเมื่อนับรุ่นย้อนไป ก็คือเมื่อสิบกว่ารุ่นที่แล้ว

“ตอนนั้นรุ่นเดียวกันก็มี เต๋อ-นวพล บองเต่า  มีมิสเตอร์แพรว หรือโจนัส ฯลฯ มันเป็นโมเมนต์ที่คงต้องจดจำไปตลอด เป็นช่วงปิดเทอมที่เรามีเพื่อนกลุ่มหนึ่งที่มีช่วงเวลาร่วมกันแล้วเราประทับใจ และการทำงานร่วมกันก็เป็นจุดที่ทำให้เรารู้สึกว่าเราทำงานแม็กกาซีนได้ ช่วงนั้นเป็นเด็กๆ ความไม่กลัวผิดกลัวถูกมันก็เยอะประมาณหนึ่ง ซึ่งทำให้เราได้ลอง”

วรรณแววเรียนจบออกมาด้วยความตั้งมั่นว่าจะกลายเป็นคนเขียนบทภาพยนตร์ แต่สุดท้ายก็กลับมาลงเอยกับนิตยสาร

“ตอนเราเรียนจบ เราอยากทำงานเขียนบทมากกว่า ไม่อยากไปทำงานออกกอง แต่พยายามสมัครแล้วถอดใจ การไปฝึกงานเป็น a team junior ทำให้รู้สึกว่า งานกองบรรณาธิการเป็นงานที่เราทำได้ในตอนนั้น เราเขียนหนังสือได้อยู่แล้ว ก็เลยไปทำงานที่นิตยสารไบโอสโคป (Bioscope)

“เราเป็นกองบรรณาธิการนิตยสารฟิ้ว ซึ่งเป็นเล่มแยกออกมาจาก Bioscope ตอนนั้นฟิ้วเป็นนิตยสารเกี่ยวกับสื่อใหม่ สื่อภาพเคลื่อนไหว และหนังสั้น ทำกันอยู่สองสามคน และเมื่อเป็นนิตยสารที่พูดเรื่องหนังสั้น สื่อใหม่ แอนิเมชัน ฯลฯ มันก็อยู่ในความสนใจของเรา เหมือนเอาสองด้านมารวมกัน เราสนใจเรื่องภาพยนตร์ แต่ว่าฉันคงต้องทำงานเขียนแหละ มันเป็นพื้นที่ที่เราทำได้”

วรรณแวววนเวียนอยู่ในแวดวงนิตยสารได้หนึ่งปี ก่อนไปเรียนต่อที่อังกฤษ ตั้งธงเอาจริงเอาจังกับสายอาชีพคนทำหนัง เริ่มสตาร์ตจากจุดเริ่มต้นใหม่ๆ

แต่การได้ผ่านงานนิตยสารมาก็ทำให้เธอได้มีโอกาสฝึกเล่าเรื่องด้วยงานเขียน

“เราเปลี่ยนแปลงไปตามมีเดีย เป็น storyteller – ถ้าเราทำหนัง เราจะเล่าเรื่องแบบนี้ ถ้าเราทำงานเขียน เราจะเล่าเรื่องแบบนี้ – ก็เลยคิดว่า ในเมื่อเราเป็น storyteller เราจะอยู่ในสื่อแบบไหน เราก็คิดคอนเทนต์ คิดงานให้มันสอดคล้องกับสื่อนั้นๆ ไม่ยึดติดกับอย่างใดอย่างหนึ่ง ทำคร่อมกันไปได้ เพราะเราให้ความสำคัญกับเมสเสจที่จะพูดมากกว่า”

ทำสารคดีจนได้รางวัล แล้วผันตัวมาเขียนบทซีรีส์รสเผ็ด

“หนังสั้นที่ได้รางวัลสมัยเรียนตอนปี 3-4 สิ่งที่คล้ายกันคือมันเป็นเรื่อง personal เรื่องแรกคือเรื่อง คืนวันเสาร์ ตอนนั้นเราเรียนวิชาสารคดีแต่คิดไม่ออกว่าจะทำสารคดีเรื่องอะไร แต่แล้วก็มีเหตุการณ์หนึ่งเกิดขึ้น

“วันนั้นเราอยากไปดูคอนเสิร์ต a day กับเพื่อน a team junior เป็นเด็กแนวเนี่ยแหละ ตอนนั้นมีประท้วงช่วงแรกๆ ที่ทักษิณยังเป็นนายกฯ อยู่ ช่วง “ทักษิณออกไป!” ช่วงนั้นน่ะ… แล้วเราขอพ่อไปดูคอนเสิร์ต กลายเป็นว่าเกิดความ ‘มาคุ’ ใส่ว่า นี่เธอจะไปดูคอนเสิร์ตหรอ ไม่สนใจเหตุการณ์บ้านเมืองเลยใช่ไหม แล้วก็จะชวนเราไปประท้วงด้วย เราเซ็งมาก แต่แล้วก็เกิดปิ๊งขึ้นมาว่า งั้นทำสารคดีเรื่องนี้ดีกว่า เป็นเรื่อง เด็กวัยรุ่นที่ไม่สนใจการเมือง”

“เราทำสารคดีเรื่องนี้ โดยเอาเหตุการณ์ที่เราเจอเป็นภาชนะ เป็นตัวเล่าเรื่อง เลยทำให้ขอพ่อไปสองงานได้ (ยิ้ม) เป็นสองสถานที่ที่เกิดขึ้นในวันและเวลาเดียวกัน เรารู้สึกว่านี่เป็นสองขั้วที่เป็นเหตุการณ์มวลชนเหมือนกัน แต่ว่าเป็นคนละขั้ว เราไปเก็บบรรยากาศ ประกอบกับการ vox pop เพื่อนๆ รุ่นราวคราวเดียวกัน ไปเดินสยาม สัมภาษณ์ความคิดเห็น ว่าเขาคิดอย่างไรกับเรื่องนี้”

“อีกเรื่องคือเรื่อง สมัครงาน มันมีความเป็นฟิกชันแต่ก็ดูเป็นสารคดี ตั้งคำถามว่า เรียนจบแล้วจะยังไงต่อ สิ่งที่มีร่วมกันของหนังสองเรื่องนี้ ก็คือการคิดพล็อตจากเรื่องราวส่วนตัวของเรา ซึ่งก็กลับเป็น stage สำคัญของชีวิตคนอื่นๆ ด้วย เช่น เรื่องคอนเสิร์ต เรื่องการเมือง เรื่องเรียนจบแล้วทำอะไรต่อ เราเจออะไรในชีวิต เรารู้สึก ก็เลยหยิบมันมา เพราะฉะนั้น ยุคที่ทำหนัง คืนวันเสาร์, สมัครงาน และ Wish Us Luck มันเหมือนกันตรงที่มีลักษณะกึ่งๆ สารคดี เป็นเรื่องที่เราทำหนังจากตัวเอง

“แต่พอเริ่มทำ ฮอร์โมนส์ฯ  ก็เป็นอีกยุคแล้ว เป็นฟิกชันเลย”

จากคนหนังสารคดี (ซึ่งบางทีก็กึ่งๆ ฟิกชัน) ที่จนแล้วจนรอดก็ไม่ได้ทำงานเขียนบทเป็นอาชีพ ในที่สุดวรรณแววก็ได้ร่วมทำงานกับทีมเขียนบทซีรีส์ของค่ายจีดีเอช ซึ่งต่อมากลายเป็นซีรีส์ที่ฮิตกันไปทั่วบ้านทั่วเมือง อย่างเรื่อง ฮอร์โมนส์ วัยว้าวุ่น

“ตอนนั้นเราเลิกคิดเรื่องงานเขียนบทที่เราอยากเขียนไปแล้ว คิดว่าถ้าเกิดเรียนจบมาแต่สมัครไม่ได้เพราะไม่มีเครดิตอะไรเลยก็ไม่เป็นไร เราไปทำงานในพื้นที่ที่เราทำได้ จนกระทั่งลืมสิ่งที่อยากเป็นไปแล้ว

“เรากลับจากเรียนปริญญาโท แล้วทำ Wish Us Luck ออกมา เราคิดว่า โอเค เราจบแล้ว ต้องกลับมาใช้ชีวิตทำงานในประเทศไทยต่อแล้ว ตั้งโจทย์กับตัวเองใหม่ว่า เราจะทำงานอะไรก็ได้ที่เกี่ยวกับอุตสาหกรรมภาพยนตร์ ไม่ไปทำแล้วนะ นิตยสาร อยากโฟกัสที่ภาพยนตร์ และให้ทำอะไรก็ทำได้หมด พร้อมจะเรียนรู้ใหม่ ไม่จำกัดแล้วว่าอยากเป็นผู้กำกับ หรืออยากจะเขียนบท

“เราเริ่มจากไปทำหน้าที่เป็นโค-โปรดิวเซอร์เรื่อง รักจัดหนัก บริษัทที่ผลิตก็คือ ออกไปเดิน เป็นบริษัทของ Bioscope หลังจากนั้นก็ไปเป็นไลน์-โปรดิวเซอร์ ให้หนังสารคดีอิสระชื่อ ที่ว่างระหว่างสมุทร (The Isthmus) เป็นหนังอิสระของอาจารย์ที่คณะนิเทศที่เรารัก ชื่อ อาจารย์โสภาวรรณ บุญนิมิตร ตอนนั้นอะไรเข้ามา เราก็ทำไปเรื่อยๆ”

จนกระทั่งกรุงเทพฯ เจอเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่เมื่อปี 2554 ปิง-เกรียงไกร วชิรธรรมพร ผู้กำกับ ฮอร์โมนส์ฯ ซึ่งเป็นเพื่อนร่วมรุ่นนิเทศฯ จุฬาฯ ของเธอ จึงประกาศหาอาสาสมัครมาร่วมทำสื่อเฉพาะกิจ นำเสนอเป็นอินโฟกราฟิกในช่วงน้ำท่วมให้ผู้คนได้รับรู้ข้อมูลเกี่ยวกับการรับมือน้ำท่วม

“ตอนนั้นหลายคนไม่ต้องไปทำงานเพราะน้ำท่วม บุคลากรส่วนใหญ่คือเพื่อนร่วมรุ่นที่นิเทศฯ เราไปช่วยในฐานะ creative เบรนสตอร์มงานร่วมกัน หาข้อมูลและเขียนบทบ้างบางตอน

“เราคิดเอาเองว่า หลังจากนั้นเมื่อมีโปรเจ็กต์รายการเรียลลิตี้ที่นาดาว (บริษัท นาดาว บางกอก จำกัด) เราก็เลยได้เข้าไปทำ และเมื่อมีโปรเจ็กต์ฮอร์โมนส์ ปิงก็เลยชวนมาทำตรงนั้น

“ตอนนั้นเราเป็นฟรีแลนซ์ เจออะไรเข้ามาก็ใส่ ก็ลุย คิดว่าจะให้การทำ ฮอร์โมนส์ เป็นห้องเรียนเขียนบทของเรา คนที่เข้ามาก็มีไม่กี่คนที่เคยทำงานเขียนบท คือใหม่เลย ไม่เคยเขียนบทแบบเป็นทางการมาก่อน”

“วิถีแบบฮอร์โมนส์ฯ คือเขียนกันเป็นทีม คิดคาแร็กเตอร์ตัวละครร่วมกัน ประชุมกันนาน เวลาปกติคือบ่ายโมงถึงสี่ทุ่ม เวลาไม่ปกติคือ บ่ายโมงถึงตีสาม ขั้นตอนทั้งหมดก็คือ คุยตัวละครก่อน แบ่งกันว่าใครรับผิดชอบตัวละครไหน แล้วก็มาคุยเรื่องยาวทั้งซีรีส์ ซึ่งก็กินเวลานานหลายเดือน

“การรับผิดชอบตัวละคร ก็เหมือนเราเป็นร่างทรงของตัวละครนั้น ซึ่งในซีซันหนึ่ง เราดูแลหมอกกับเต้ย เป็นการ์เดียนของหมอกกับเต้ย หมายความว่า ถ้าเป็นเต้ยเจอเหตุการณ์นี้ต้องทำแบบนี้ ต้องรีแอคแบบนี้ น่าจะไปมีเรื่องกับคนนี้ ชอบคนนี้ ไม่ชอบคนนี้เพราะว่าตัวละครมีหลายตัว ก็เลยต้องมีผู้รับผิดชอบแต่ละตัว เพื่อให้เก็บตกรายละเอียดตัวละครได้ ให้เห็นเขาเป็นคนขึ้นมาคนหนึ่ง”

เป็นคนทำ KRUA ที่ไม่ทำครัว

ระหว่างการรับจ็อบเขียนบทซีรีส์ วรรณแววก็จับมือแวววรรณ ก้าวเข้าสู่กิจการของบ้านด้วยการเปิดสตูดิโอเล็กๆ ในชื่อ Spoonful Production แผนกสร้างสรรค์วิดีโอของสำนักพิมพ์แสงแดด เพราะแม้ว่าจะไม่ใช่คนทำอาหาร แต่ก็รักการกินและชอบเรียนรู้เรื่องวัตถุดิบในการทำอาหารไม่ต่างจากแม่

แต่เมื่อพี่ชายคนโตที่เคยรับบทบาทอาร์ตไดเร็กเตอร์ให้กับนิตยสาร ครัว ลาไปบวช วรรณแววจึงค่อยๆ ต้องก้าวเข้ามารับหน้าที่ดูแลการเปลี่ยนแปลงของนิตยสารซึ่งเป็นหัวใจของสำนักพิมพ์แสงแดด ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงสู่สื่อในยุคดิจิทัล

“ถ้าให้เปรียบเทียบกัน ชัดเจนว่าเราชอบทำงานกำกับหรือเขียนบทมากกว่า แต่ว่างานที่บ้านก็ไม่ได้เกลียด ที่บ้านเราไม่ได้ทำงานวัสดุก่อสร้างที่เราไม่จูนอะไรกันเลย เป็นหัวข้ออาหารที่เราชอบ เป็นมีเดียที่เราสนุกไปกับมัน และเป็นธุรกิจที่บ้านที่เรานิ่งดูดายไม่ได้ เพราะว่าพ่อก็แก่ลงทุกวัน

“แต่ไม่เคยมีเหตุการณ์ที่ว่าไม่ได้ ลูกจะต้องกลับมาสืบทอดกิจการที่บ้าน มันเป็นการค่อยๆ ก้าวเข้ามาทีละนิด ตอนที่เราเริ่มมาเปิดแผนกวิดีโอแรกๆ เราก็จะเริ่มเห็นปัญหาว่ามีอะไรที่ยังไม่ได้ทำ อะไรที่เป็นเทรนด์ออนไลน์ที่น่าจะทำบ้าง ช่วงที่อยู่กองฮอร์โมนทั้งสามซีซัน เป็นช่วงที่งานบทเป็นสิ่งหลักในชีวิต แต่ขณะเดียวกันเราก็เปิด Spoonful Production ไปด้วย ทำงานควบคู่สองอย่างตลอดเวลา”

รายการที่เป็นหน้าเป็นตาของ Spoonful Production รายการ C.I.Y. cook it yourself ที่ได้เชฟน่าน หงษ์วิวัฒน์ พี่ชายอีกคนมาทำหน้าที่พิธีกรและคนปรุงอาหาร

แล้ว C.I.Y. ต่างจากรายการทำอาหารทั่วไปอย่างไร เมื่อวรรณแววซึ่งเป็นคนทำหนังผันตัวมาทำรายการอาหาร

“เราไม่อยากให้พี่ต้องออกมาดูเป็นพิธีก๊อนพิธีกร อยากให้คนดูรู้สึกว่าเข้าถึงเขาได้ ตอนตัดต่อ ถ้ามีอะไรหลุดๆ เช่น น้ำมันกระเด็นใส่ หรือทำพลาด โจทย์ที่คนตัดต่อต้องคิดก็คือ คาแร็กเตอร์ต้องออกมา ต้องมีคนเดินเข้ามาชิม ทีมงานโวยวายน้ำมันกระเด็นใส่กล้อง ให้เก็บเอาไว้

“และปกติสคริปต์รายการทีวีมันจะเป็น ภาพ-เสียง ของเราจะไม่ได้เขียนทุกคำ เพราะเราอยากให้ปล่อยออกมาเป็นธรรมชาติ สิ่งที่น้องครีเอทีฟรายการจะต้องทำก็คือต้องรีเสิร์ชเนื้อหาเกี่ยวกับอาหารในธีมนั้นๆ เพราะเราไม่โอเคกับการแค่สอนทำอาหาร”

จากที่เริ่มก้าวขาเข้ามาหนึ่งข้าง ยื่นมือเข้ามาช่วยครอบครัวปรับปรุงหน้าตาของนิตยสารครัวให้ทันสมัย ท่ามกลางการหดหายไปของนิตยสารหลายหัว ซึ่งถือเป็นช่วงที่ต้องเจอโจทย์ยากพอดิบพอดี

“ใช่ ก็ยาก แต่ตอนนั้นคิดแค่ว่าทำยังไงดี ไม่ได้คิดว่า โอ้ มันเป็นปัญหาที่แก้ไม่ได้”

แต่การทำงานกับครอบครัวคงไม่ใช่เรื่องง่ายที่มีแต่มุมอบอุ่น เพราะบางทีการอยู่ในครัวก็มีจังหวะร้อนๆ ที่ทำให้เกิดการกระทบกระทั่งกัน เราถามเธอว่าเคยรู้สึกไหมว่า work-life balance เสียไปเพราะการทำงานกับที่บ้าน

“เสีย (ตอบทันที) อย่างช่วงที่พ่อยังทำนิตยสารครัวอยู่และเราดูแลอาร์ตและทำงานเขียนบทด้วย ชีวิตยุ่งเหยิงมาก ต้องคุยงานตลอดเวลา หัวข้อบนโต๊ะอาหารเป็นการคุยเรื่องงานตลอด บางวันกลับมาดึก กินข้าว พ่อก็จะลงมาพูดสิ่งที่อยู่ในใจ ซึ่งจะมีช่วงที่เรา โอ๊ย หงุดหงิดจัง จนเคยมีการขอตั้งกฎว่า เวลากินข้าวห้ามพูดเรื่องงาน เพราะกินเข้าไปก็ไม่อร่อย ไม่รู้ว่ากินอะไรเข้าไป”

ซึ่งสุดท้ายวรรณแววบอกว่า ก็เป็นไปไม่ได้อยู่ดี เหลือแค่ต้องเปลี่ยนมุมมองของตัวเอง เพื่อรับมือกับอารมณ์ต่างๆ

“การทำงานกับที่บ้านมันคือความคาดหวัง คาดหวังว่าเขาต้องมาช่วยเราดูแลสิ่งนั้นสิ่งนี้ หรือเขาก็คาดหวังจากเรา และพอคาดหวังมันก็จะมีเรื่องที่ไม่ได้ตามที่คาดหวัง มันมากกว่าเพื่อนร่วมงาน จะรู้สึกว่า ทำไมต้องให้ตาม ถ้าเป็นเพื่อนร่วมงาน เราก็แค่ส่งไลน์ไปบอก แต่พอเป็นคนในครอบครัว เราก็จะจิก และพอเป็นธุรกิจของที่บ้านเราก็ต้องคิดเยอะอีก ว่าทำแบบนี้แล้วเราจะได้หรือเราจะเสีย

“แต่ยังไงธรรมชาติของสมาชิกในครอบครัวก็คือเป็นคนมุ่งงานอยู่แล้ว เราเห็นพ่อแม่ทำงานมาตั้งแต่เด็ก ก็เลยซึมซับมา” วรรณแววกล่าวยิ้มๆ

Fact Box

เคล็ดลับการทำงาน

“ต้องพยายามหาเวลาออกกำลังกายมากขึ้น แค่นั้นเลย เช่น โยคะ ว่ายน้ำ วิ่ง ต่อยมวย แล้วแต่ฤดูกาล การออกกำลังกายมันทำให้เกิดโมเมนต์ที่เรา ‘ไม่คิด’ ได้ ไม่คิดเรื่องงานแล้วมาโฟกัสอยู่กับกายภาพของเรา มันก็ทำให้รู้สึกว่าได้ทำอะไรเพื่อตัวเองบ้าง”

อาหารที่ชอบ

“ชอบกินส้มตำ ส้มตำเป็นอาหารที่มีเสน่ห์มากเลย ไม่ว่าอยู่ชนชั้นวรรณะไหนในสังคมไทย มันคือสิ่งที่มีร่วมกัน ไม่ว่าจะขึ้นห้างหรือข้างถนน และเป็นอาหารละลายพฤติกรรม สมมติเรามีเพื่อนใหม่เข้ามา แล้วชวนกันไปกินส้มตำ มันก็จะละลายพฤติกรรมไปโดยปริยาย เป็นซีนที่แต่ละคนจะเอ็กซ์เพรสอะไรบางอย่างออกมา

"ส่วนอีกอันที่เห็นแล้วพ่ายแพ้ ต้องกิน ก็คือมันฝรั่งต้ม ไม่เข้าใจเหตุผลเหมือนกัน”

Tags: , ,