หลายคนอาจไม่ได้นึกภาพขนมปังในฐานะอาหารเช้าสักเท่าไร เพราะในมื้ออาหารแบบตะวันตก ขนมปังมีเสิร์ฟเป็นเครื่องเคียงทุกมื้ออยู่แล้ว
มีการค้นพบว่า มนุษย์กินขนมปังมาอย่างน้อยๆ ก็ 12,000 ปี คือก่อนหน้าที่เราจะเพาะปลูกธัญพืชต่างๆ เสียอีก พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ เราเก็บธัญพืชป่าเอามาทำขนมปัง (ไม่ว่าจะด้วยความบังเอิญหรืออะไรก็ตาม) ก่อนจะตั้งรกรากเป็นสังคมเกษตรด้วยซ้ำไป และขนมปังก็น่าจะเป็นสิ่งที่กินกันทุกมื้อมาตั้งแต่โบราณแล้ว
อย่างเช่นในยุคกรีกโบราณ มีหลักฐานบอกว่า ทุกมื้อต้องมีขนมปัง แล้วสิ่งที่กินประกอบกับขนมปัง จะถูกเรียกว่า ‘ของอื่นๆ’ หรือ opson (ซึ่งฟังดูคล้ายๆ option คือเป็นตัวเลือก) ดังนั้น ขนมปังจึงเป็นตัวเอกบนโต๊ะอาหารในทุกมื้อ โดยเฉพาะการกินขนมปังกับไวน์ ซึ่งเราจะเห็นได้ชัดจาก The Last Supper ของพระเยซูกับอัครสาวก ที่ขนมปังเป็นตัวแทนเนื้อของพระเยซู ส่วนไวน์เป็นตัวแทนเลือดของพระองค์ ซึ่งคือหลักฐานว่าการกินขนมปังกับไวน์เป็นเรื่องปกติ
แล้วคนเรากินขนมปังเป็นอาหารเช้าเมื่อไหร่?
มีหลักฐานว่า ชาวกรีกจะจุ่มขนมปังลงในไวน์ที่เจือจางด้วยน้ำแล้วกินเป็นอาหารเช้า เรียกว่า akratisma (อย่างที่เคยเล่าให้ฟังไปแล้ว) ดังนั้นถ้าดูจากชาวกรีกนี้ เราก็พอบอกได้ว่า อย่างน้อยที่สุด มนุษย์เรากินขนมปังเป็นอาหารเช้ามาหลายพันปีแล้ว
การกินขนมปังเป็นอาหารเช้าโดยจุ่มลงในไวน์ยังมีบันทึกจากศตวรรษที่ 6 ด้วยนะครับ โดยเป็นการบันทึกของนักประวัติศาสตร์ชาวกัลโล-โรมัน (Gallo-Roman หมายถึงชาว Gaul ซึ่งเป็นดินแดนที่อยู่แถบๆ ลักเซมเบิร์ก เบลเยี่ยม ฝรั่งเศส และสวิตเซอร์แลนด์ในปัจจุบัน แต่ตกอยู่ใต้การปกครองของชาวโรมัน) ที่บอกว่าชาวนาและผู้ใช้แรงงานของฝรั่งเศสในยุคนั้นกินขนมปังจุ่มไวน์เป็นอาหารกันทุกๆ เช้า
ที่น่าสนใจก็คือ วิธีกินอาหารแบบนี้แพร่ไปหาพระด้วย เพราะชาวนาจะมาขอให้พระอวยพรหรือ ‘เสก’ ขนมปังให้ก่อน (เพื่อให้ขนมปังธรรมดาๆ กลายเป็นเนื้อของพระเยซู) แล้วจะได้กินเป็นอาหารเช้าเพื่อเพิ่มทั้งพลังกายและพลังใจ และทำให้ไม่ถูกปีศาจหรือมารมาผจญในเวลาทำงาน (โดยเฉพาะเวลาข้ามแม่น้ำ เพราะเชื่อกันว่าปีศาจแฝงตัวอยู่ในแม่น้ำ ยามข้ามน้ำปีศาจจะทำลายสะพาน ทำให้วัวและเกวียนของตัวเองตกลงไปในน้ำ) พระก็เลยติดการกินขนมปังเป็นอาหารเช้ามาด้วย
ตัดภาพข้ามมาถึงศตวรรษที่ 18 มีหลักฐานพบว่า คนยุโรปเริ่มกินขนมปังกับเนยเป็นอาหารเช้ากันทั่วไปแล้ว ก่อนหน้านั้น มีความเชื่อกันว่าการกินอาหารเช้าเป็นเรื่องของคนป่วย เด็ก และผู้ใช้แรงงานเท่านั้น แม้ความเชื่อนี้ค่อยๆ คลายตัวลง แต่กระนั้นก็ยังถือกันว่าตอนเช้าไม่ควรกินอาหารที่หนักเกินไป เช่น เนื้อสัตว์ เพราะจะทำให้เกิดผลเสียทั้งร่างกายและจิตวิญญาณ
จอห์น ล็อค (John Locke) เคยเขียนเอาไว้ว่า อาหารเช้าที่เหมาะกับเด็กๆ นั้นได้แก่ “ขนมปังสีน้ำตาลที่ทำอย่างดีและอบอย่างดี บางครั้งอาจกินกับเนยหรือชีสก็ได้ นี่คืออาหารเช้าที่ดีที่สุดสำหรับเด็กๆ” โดยเขาเตือนด้วยว่า ไม่ควรให้เด็กกินอาหารที่ปรุงรสมากเกินไป โดยเฉพาะการใส่เกลือลงไปในเนื้อเพื่อถนอมอาหาร ดังนั้น คนยุโรปจึงไม่ค่อยกินเนื้อสัตว์ (หรือกระทั่งไข่) เป็นอาหารเช้า ไม่เหมือนคนอเมริกัน
เวลานึกถึงขนมปังเป็นอาหารเช้า หลายคนนึกถึงขนมปังปิ้งหรือ Toast แต่รู้ไหมครับว่าใครเป็นคนคิดนำขนมปังไปปิ้งเป็นชาติแรก
คำตอบคือชาวโรมันเจ้าเก่าของเรานั่นเอง
คำว่า Toast มาจากภาษาละตินว่า Tostus หมายถึงการทำให้แห้งด้วยความร้อน (ซึ่งก็คือการปิ้งนั่นแหละครับ) ชาวโรมันทำอย่างนี้มานานแล้วเพื่อยืดอายุของขนมปัง คือพอขนมปังเริ่มเก่าก็นำมาปิ้งใหม่ ทำให้ขนมปังน่ากินขึ้นมา
ขนมปังปิ้งจึงเดินทางจากชาวโรมันไปสู่ชาวยุโรป แต่ปรากฏว่าชาติที่นิยมกินขนมปังปิ้งมากที่สุด กลับเป็นชาติที่อยู่ไกลที่สุด นั่นคืออังกฤษ
ที่น่าสนใจก็คือ ชาวอังกฤษนั้นกินขนมปังปิ้งแบบปิ้งด้านเดียว ซึ่งร่องรอยนี้ยังปรากฏอยู่ในเพลงของ Sting ชื่อ ‘An Englishman in New York’ หรือ ‘ชายชาวอังกฤษในนิวยอร์ก’ ที่มีเนื้อร้องบางตอนว่า
ฉันไม่ดื่มกาแฟ ฉันดื่มชานะที่รัก
ฉันชอบขนมปังปิ้งให้เกรียมหนึ่งด้าน
เรามักจะคุ้นกับขนมปังปิ้งแบบเกรียมสองด้าน เพราะเรารับวัฒนธรรมปิ้งขนมปังมาจากอเมริกาพร้อมเครื่องปิ้งขนมปัง แต่สำหรับคนอังกฤษแล้วจะชอบแบบที่สติงเขียนไว้นั่นแหละครับ คือปิ้งขนมปังเพียงด้านเดียว
นักประวัติศาสตร์บางคนพยายามอธิบายว่า อังกฤษนั้นกินขนมปังปิ้งแบบเป็นแผ่นๆ มาก่อนที่อเมริกาจะกิน แล้วสมัยก่อนโน้นไม่มีเครื่องปิ้งขนมปังอย่างที่เราคุ้นเคยกันในปัจจุบัน คนอังกฤษจึงใช้วิธี ‘ย่าง’ ขนมปัง ด้วยการเอาส้อมจิ้มแล้วเอาไปอังกับกองไฟ หรือไม่ก็จี่กับกระทะ โดยนิยมทำให้มันเกรียมเพียงด้านเดียวเท่านั้น
ว่ากันว่า วิธีการแบบนี้เป็นวิธีโบราณที่ทำกันในโรงแรมหรูๆ ของอังกฤษด้วย ผู้ดีอังกฤษสมัยก่อนจะกินขนมปังกันแบบนี้ คือปิ้งให้เกรียมเพียงด้านเดียว แล้วก็ทิ้งไว้ให้เย็นๆ หน่อย ก่อนจะทาเนยหรือแยมลงไป ว่ากันว่า ที่ต้องทิ้งไว้ให้เย็นก็เพราะสมัยก่อนการทำครัวนั้นยากลำบาก กว่าจะปิ้งกันได้เกรียมทุกแผ่น แผ่นที่ปิ้งไว้แต่แรกก็เย็นแล้ว คนอังกฤษเลยคุ้นเคยกับการปิ้งขนมปังด้านเดียวแล้วปล่อยให้เย็น แม้กระทั่งในปัจจุบันก็ยังไม่นิยมกินขนมปังปิ้งร้อนๆ ที่พอทาเนยลงไปปุ๊บ เนยก็ละลายทันที
เรื่องนี้เป็นเหตุให้คนอเมริกันยุคใหม่ (อย่างเร็วก็ราวๆ ยุค 70s-80s) ที่มีเครื่องปิ้งขนมปังไม่เข้าใจ การใช้เครื่องปิ้งขนมปังนั้นมากับวิถีชีวิตยุคใหม่ หลังมีการคิดค้นการผลิตขนมปังแถวๆ แบบเป็นอุตสาหกรรมแล้ว เครื่องปิ้งขนมปังทำให้เราปิ้งได้ทีละ 2-4 แผ่น (หรือบางทีก็ 6 แผ่น) ทำให้ได้ขนมปังร้อนๆ ออกมาทันที คนอเมริกันจึงคุ้นเคยกับขนมปังปิ้งร้อนๆ ที่พอทาเนยลงไปปุ๊บก็ละลายปั๊บ
นอกจากนี้ คนอเมริกัน (อย่างน้อยก็ในรัฐมิชิแกน) ของศตวรรษที่ 19 ยังนิยมกินขนมปังปิ้งแบบที่ปิ้งจนแห้งเกรียมและกรอบด้วย เรียกว่า Zwieback Toast โดยจะกินกันเป็นอาหารเช้า ทว่ามีการดัดแปลงให้พิเศษขึ้นไปอีกขั้น ด้วยการเสิร์ฟพร้อมสตูว์หรือไม่ก็พอร์ริดจ์ โดยเจ้า Zwieback Toast นี้ ได้รับความนิยมอย่างมากในหมู่ชาวคริสต์นิกาย Seventh Day Adventist และชาวมังสวิรัติต่างๆ
ว่ากันว่า Zwiback Toast นี้ ต่อมาภายหลังกลายเป็นต้นกำเนิดของอาหารเช้าอบกรอบ โดยเอลลา เคลล็อก (Ella Kellogg) ซึ่งเป็นภรรยาของ ดร. เจ. เอช. เคลล็อก (ผู้ก่อตั้งบริษัทเคลล็อกที่ผลิตธัญพืชอาหารเช้าอบกรอบ) เคยเขียนไว้ว่าเจ้า Zwieback นี่แหละ คือรากฐานของขนมปังปิ้งหรือ Toast ทั้งปวง จึงไม่น่าประหลาดใจเท่าไหร่ ที่ในยุคแรกๆ เคลล็อกจะเคยมีชื่อว่า Kellogg Toasted Corn Flake Company มาก่อน
ที่จริงแล้ว ต้นแบบของธัญพืชอบกรอบแบบอาหารเช้านั้น น่าจะมาจากสิ่งที่เรียกว่า Milk Toast ซึ่งก็คือขนมปังปิ้งให้กรอบ แล้วใส่นมอุ่นๆ ที่มีรสหวานลงไป
จะเห็นว่า ขนมปังในอาหารเช้ามีความเป็นมายาวนาน ตั้งแต่ขนมปังจุ่มไวน์ของกรีก จนมาถึงการปิ้งของโรมัน แล้วแพร่หลายกลายมาเป็นต้นธารให้กับอาหารเช้าประเภทอบกรอบในปัจจุบัน โดยมีเกร็ดต่างๆ รายทางมากมาย
ขนมปังในอาหารเช้าจึงไม่ใช่ของกินที่มองข้ามผ่านได้เลย
Tags: วัฒนธรรมการกิน, คอร์นเฟลก, Kellogg, อาหาร, ไวน์, ขนมปัง, โรมัน