สมัยนี้ หลายคนบอกว่าอาหารเช้าเป็นเรื่องจำเป็นต่อร่างกาย ใครไม่กินอาหารเช้ามักจะถูกมองว่าไม่ค่อยรักษาสุขภาพเท่าไหร่ แต่คุณรู้ไหมครับ ว่านี่ไม่ใช่แนวคิดใหม่ เพราะถ้าย้อนกลับไปในช่วงศตวรรษที่ 2-8 คือหลังจากอาณาจักรโรมันล่มสลายไปแล้วจนถึงช่วงต้นยุคกลาง หรือยุคที่เรียกกันว่า ‘ยุคมืด’ นั้น มีการแนะนำให้ผู้คนกินอาหารเช้ากันเหมือนอย่างในยุคปัจจุบันนี่แหละครับ

พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ ถ้าดูในสายตาของ ‘ประวัติศาสตร์อาหารเช้า’ แล้ว ยุคมืดก่อนยุคกลางนี่ ต้องเรียกว่าไม่ค่อยจะมืดเท่าไร เพราะ ‘เมคเซนส์’ มากเลยที่แนะนำให้คนกินอาหารเช้า

แต่พอเข้ายุคกลางแล้วนี่สิครับ มีหลักฐานมากมายบอกว่า คนเลิกกินมื้อเช้ากันไปเยอะทีเดียว ด้วยค่านิยมใหม่ที่บอกว่า คนที่กินอาหารเช้านั้น ถ้าไม่เป็นพวกใช้แรงงานซึ่งเป็นคนชั้นล่างในสังคม ก็ต้องเป็นพวกตะกละตะกลาม ตื่นมายังไม่ทันทำอะไรก็จะสวาปามเสียแล้ว

แนวคิดนี้เริ่มมาจากราชวงศ์ในยุโรปนะครับ เพราะราชสำนักยุโรปทั้งหลายในยุคกลางนั้น จะค่อนข้างพรั่งพร้อมบริบูรณ์ มีอะไรต่อมิอะไรให้กินให้ใช้มากมาย แล้วสิ่งที่ราชสำนักยุโรปทำกันทั้งวันคืออะไรรู้ไหมครับ ก็คือการ ‘นั่งโต๊ะ’ กินข้าวนี่แหละ

สิ่งที่ราชสำนักยุโรปทำกันทั้งวันคืออะไรรู้ไหมครับ ก็คือการ ‘นั่งโต๊ะ’ กินข้าวนี่แหละ

หลายราชสำนักว่าราชการกันบนโต๊ะกินข้าวเลยนะครับ แต่อย่าคิดว่าเป็นโต๊ะเล็กโต๊ะน้อย เพราะมักจะเป็นห้องใหญ่มาก แล้วมีคนผลัดเปลี่ยนเวียนหน้ากับมา ‘กินข้าว’ กับกษัตริย์ผู้ทรงอำนาจ คือมีโต๊ะใหญ่ของกษัตริย์ แล้วก็มีโต๊ะเล็กๆ อยู่รอบๆ

กิจกรรมเหล่านี้มีอยู่ตลอดทั้งวัน จนทำให้นักประวัติศาสตร์อาหารเชื่อว่า เมื่อต้องกินอยู่ตลอดเวลา และการกินมาพร้อมพิธีกรรมต่างๆ เหล่านี้ ตอนตื่นเช้าขึ้นมา คนในราชสำนักก็อาจไม่อยากกินเท่าไหร่ก็ได้ ทำให้เป็นเรื่องที่ ‘เมคเซนส์’ อยู่ไม่น้อย ที่จะเลิกกินอาหารเช้าไปเลย เพราะเดี๋ยวก็ต้องเข้าวังไปกินโน่นกินนี่ตลอดวันอยู่แล้ว

นอกจากนี้ ในยุคกลาง ศาสนจักรยังมีอำนาจมากมายด้วย ศาสนจักรในยุคกลางเห็นว่าบาปตะกละนั้นเป็นเรื่องผิดร้ายแรง (แต่ไม่ยักไปชี้นิ้วบอกราชสำนักที่กินตลอดเวลานะครับ) และการอดอาหารนั้นถือเป็นวัตรปฏิบัติ (เรียกว่า de rigueur) คนที่เคร่งศีลธรรมในยุคกลางจะกินอาหารกันแค่สองมื้อ คือมื้อเที่ยง (เรียกว่า midday dinner) ซึ่งเป็นอาหารเบาๆ แล้วก็อาหารหนักหน่อยคือ มื้อค่ำหรือมื้อเย็น (หรือ supper) ในขณะที่อาหารเช้าถูกมองว่าเป็นเรื่องไร้สาระ (crass) ไปเลยทีเดียว ส่วนการกินหลังมื้อค่ำก็เป็นเรื่องที่น่ารังเกียจด้วยเหมือนกันนะครับ เพราะฉะนั้นถ้าใครเคร่งครัดและถือเป็น ‘ผู้ดี’ จริงๆ ก็ต้องกินกันแต่น้อย

การกินอาหารเช้ายังถือกันว่าเป็นเรื่องของคนจนด้วย เพราะคนจนต้องการแคลอรี่มากๆ จะได้เอาไว้ไปทำงานใช้แรงงาน ซึ่งถ้าเป็นคนจน ในทางศาสนาถือว่า ‘พอทนได้’ ที่จะกินอาหารเช้า ไม่อย่างนั้นจะไม่มีเรี่ยวแรงทำงาน เพราะฉะนั้น การกินตอนเช้าจึงเป็นเรื่องของชาวนาและกรรมกร ที่ต้องการพลังงานสำหรับสองสามชั่วโมงแรกในการทำงานหนัก ก่อนจะได้กินอาหารกลางวัน แต่ไม่ใช่มื้อเบาๆ แบบผู้เคร่งครัดศาสนานะครับ ทว่าเป็นมื้อกลางวันหนักๆ ไปเลย

ถ้าเป็นคนจน ในทางศาสนาถือว่า ‘พอทนได้’ ที่จะกินอาหารเช้า ไม่อย่างนั้นจะไม่มีเรี่ยวแรงทำงาน

คนอีกกลุ่มหนึ่งที่ได้รับอนุญาตให้กินอาหารเช้าได้ ก็คือผู้สูงวัยกับเด็กๆ ซึ่งก็จะมีอาหารอย่างพวกข้าวโอ๊ตใส่นมเป็นอาทิ ด้วยเหตุนี้ ในยุคกลาง จึงพูดได้ว่าอาหารเช้าเป็นเรื่องที่แสนจำกัดจำเขี่ย ใครกินอาหารเช้าจะถูกมองว่าเป็นคนประหลาด มีการล้อเลียนกันอะไรทำนองนั้น

อย่างไรก็ตาม ทุกเรื่องมีข้อยกเว้นเสมอ

มีบันทึกเอาไว้ว่า ในเดือนมีนาคม ปี 1255 ตอนที่พระเจ้าเฮนรี่ที่ 3 แห่งอังกฤษ (ต้องเน้นว่าอังกฤษนะครับ เพราะมีพระเจ้าอองรีที่ 3 แห่งฝรั่งเศสด้วย) เสด็จต่างแดนเพื่อไปจาริกแสวงบุญนั้น มีการสั่งไวน์มากถึงหกทัน (tun) (1 tun เท่ากับ 252 แกลลอน) เพื่อนำไปกินกับอาหารเช้า

อ้าว! ไหนว่าทั้งราชสำนักทั้งศาสนจักรห้ามนักห้ามหนากับการกินอาหารเช้าไง แล้วนี่เป็นกษัตริย์ที่กำลังไปจาริกแสวงบุญด้วย ทำไมถึงต้องกินไวน์กับอาหารเช้าเยอะขนาดนี้

อย่างแรกก็คือ การกินในขณะเดินทางนั้น ถือว่าเป็นข้อยกเว้นครับ เพราะคนเดินทางไม่ได้กินทั้งวันเหมือนตอนอยู่ในราชสำนัก เพราะฉะนั้นตื่นมาก็เลยหิว ส่วนอย่างที่สองก็คือ เวลาเดินทางไกลๆ นั้น น้ำท่าอาจจะไม่สะอาด อาหารหรือตลาดก็ไม่คุ้นเคยเหมือนเดิม ดังนั้นจึง ‘จำเป็น’ ต้องสั่งไวน์มากิน ถือเป็นเรื่องที่ผ่อนผันละเว้นกันได้

หลังจากนั้น พอมาถึงศตวรรษที่ 13 ราชสำนักก็เริ่มกินอาหารเช้ากันแล้วละครับ โดยเฉพาะในอังกฤษ แต่เป็นอาหารเช้าง่ายๆ ก่อน อย่างเช่นขนมปังไรย์ ชีสนิดหน่อย แล้วก็มีเอลแกล้มไม่ให้ฝืดคอ ก่อนจะเริ่มมีเนื้อเข้ามาเกี่ยวข้องในอาหารเช้าสมัยศตวรรษที่ 15

ในกลางศตวรรษที่ 15 พระเจ้าฟรานเซสที่ 1 แห่งฝรั่งเศส ถึงกับเขียนวัตรปฏิบัติประจำวันขึ้นมาเลยครับว่า

Rise at 5, Dine at 9, Sup at 5, Couch at 9

คือ

ตื่นตีห้า กินอาหารเก้าโมง กินอาหารห้าโมง เข้านอนเก้าโมง

อย่างไรก็ตาม คนทั่วไปก็ยังรู้สึกอับอายอยู่ดี ถ้าจะต้องยอมรับว่าตัวเองกินอาหารเช้า เนื่องจากมีนัยของการเป็นคนแก่ เด็ก คนจน และคนไม่เคร่งศาสนาซ่อนแฝงอยู่ และในศตวรรษที่ 16 แพทย์ก็ยังเตือนคนทั่วทั้งยุโรปว่า การกินอาหารเช้าไม่ใช่เรื่องที่ดีต่อสุขภาพของมนุษย์ เนื่องจากตอนตื่นนอนขึ้นมา เราอยู่ในสภาพ ‘บริสุทธิ์’ (pure) การกินจะทำให้เราแปดเปื้อน (impure) การกินอาหารเช้าอย่างรีบเร่งจะทำให้เลือดสูบฉีดเร็วเกินไป ร่างกายจะร้อนขึ้น ซึ่งก็จะทำให้เกิดโรคต่างๆ ขึ้นมาได้

ในศตวรรษที่ 16 แพทย์ก็ยังเตือนคนทั่วทั้งยุโรปว่า การกินอาหารเช้าไม่ใช่เรื่องที่ดีต่อสุขภาพของมนุษย์

ในศตวรรษที่ 16 เริ่มมีคนดื่มกาแฟกัน เชื่อกันว่า กาแฟนี่แหละครับ คือตัวกระตุ้นให้คนหันมากินอาหารเช้ากันมากขึ้น เพราะก็มีความเชื่อเสริมเข้ามาอีกเช่นกัน ว่ากาแฟช่วยให้ร่างกายหลีกเลี่ยงไม่ต้องแปดเปื้อนกับสิ่งไม่บริสุทธิ์ต่างๆ ในอาหารเช้าได้ คนก็เลยเริ่มกินกาแฟกับอาหารเช้ากัน

จะเห็นว่า ความหมายของอาหารเช้าเปลี่ยนแปลงไปได้เรื่อยเปื่อยตามความคิด ความเชื่อ และค่านิยมต่างๆ ของสังคมตลอดมา

ครั้งหน้า ไปดูกันว่าอังกฤษยุควิกตอเรียทำให้อาหารเช้ากลายเป็นอาหารมื้อสำคัญของมนุษยชาติได้อย่างไร

สนุกมากครับ!

Tags: , , , ,