เมื่อพูดถึงน่าน เราจะนึกถึงอะไร?

บรรยากาศแบบเมืองเหนือที่มีความ ‘เนิบๆ’ ที่หลายคนรัก ความเป็นชุมชนเล็กๆ เงียบสงบ ที่เหมาะแก่การเดินทางมาท่องเที่ยวหรือพักผ่อน หรือโฮมสเตย์ห่างจากตัวเมืองที่ล้อมรอบด้วยทุ่งนาและทิวเขาเขียวขจี

นั่นคือภาพของนักท่องเที่ยว แต่สำหรับคนที่อยู่อาศัย โดยเฉพาะในวัยที่ยังอายุน้อย บรรยากาศเช่นนี้กลับส่งผลอีกด้าน โดยเฉพาะในข้อจำกัดของการขาด ‘พื้นที่’ แห่งการเรียนรู้ที่จะช่วยส่งเสริมความคิด เพื่อต่อยอดและเปิดโอกาสใหม่ๆ ให้พวกเขา ต่างจากเมืองใหญ่ที่ไม่ว่าย่านไหนก็มีพื้นที่เหล่านี้เต็มไปหมด 

สุดท้ายก็ต้องผลักให้เด็กเหล่านี้ต้องออกจากบ้านเกิดมุ่งหน้าสู่เมืองใหญ่

โจทย์เหล่านี้คือสิ่งที่ อะตอม-วิชินันท์ สิงห์น้อย และไนท์-วัทธิกร ธนกิจกร และกลุ่มเพื่อนในจังหวัดน่าน พยายามเติมเต็มผ่านการสร้างกลุ่ม ‘ที่หลบฝน’ บ้านไม้หลังเล็กแสนอบอุ่น ที่เปิดเป็นพื้นที่สาธารณะสำหรับจัดกิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้อย่างสร้างสรรค์ให้เยาวชนในจังหวัดน่าน ผ่านการออกแบบพื้นที่และกิจกรรมร่วมกัน

ทั้งกิจกรรมหนังสั้น งานเวิร์กช็อป งานดนตรี จับกลุ่มเสวนา ไปจนถึงการให้คำปรึกษาทั้งในแง่การเรียนและปัญหาชีวิตแก่เด็กที่เข้ามาในที่หลบฝน

‘เพราะไม่มีใครอยากเปียกปอน’ คือหัวใจสำคัญที่ทำให้ ‘ที่หลบฝน’ เกิดขึ้น เพื่อให้ผู้คนได้เข้ามาพักใจ ไปจึงถึงค้นพบตัวเองผ่านการเรียนรู้ และหากพร้อมเมื่อไร ก็ค่อยออกไปต่อสู้อีกครั้ง 

 

แนะนำตัวให้ทุกคนรู้จักหน่อย

ไนท์: ผมเป็นคนระยอง ส่วนอะตอมเป็นคนเชียงใหม่ ปัจจุบันผมทำงานอยู่ในโครงการครูผู้นำการเปลี่ยนแปลง มูลนิธิ Teach For Thailand ส่วนอะตอมเคยทำงานเรื่องพื้นที่สร้างสรรค์กับเยาวชนให้กับองค์กรเพื่อพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (อพท.) ทำให้มองเห็นปัญหาเกี่ยวกับเรื่องพื้นที่สาธารณะและพื้นที่แห่งการเรียนรู้ที่ขาดหายไปในจังหวัดน่าน

หากไม่นับเรื่องการทำงาน พวกคุณชอบอะไรในเมืองน่าน

อะตอม: เราชอบความมินิมอล ความไม่ต้องเยอะ สมมติเป็นเชียงใหม่ เราจะรู้สึกว่ามันมีความเนิบช้าก็จริง แต่จะเริ่มมีความเป็นเมืองที่วุ่นวายเข้ามา แต่ที่น่านจะมีความสงบบางอย่าง แล้วเราก็รู้สึกว่ามันเป็นเอกลักษณ์ ทั้งความสงบ ผู้คน มันมีความใสซื่อมาก

ไนท์: อย่างที่บอกว่าน่านๆ เนิบๆ มันดีกับนักท่องเที่ยว ดีกับผู้สูงอายุเกษียณแล้ว แต่เด็กที่กำลังโต เด็กที่อยากพัฒนา เด็กที่อยากเรียนรู้โลก มันโคตรไม่ดีกับเขา ปัญหาอีกอย่างหนึ่งของน่านคือ วัยทำงานไหลออกจากน่านหมด ส่วนใหญ่จะไปที่ระยองกับกรุงเทพฯ แล้วพอเด็กบางคนต้องอยู่กับตากับยาย ช่องหว่างระหว่างวัยก็เกิด แล้วทุกอย่างที่น่านมีความ Conservative มาก ผมรู้สึกว่าอยากเติมเต็มส่วนนี้ คือมีพื้นที่เป็นจุดเชื่อมให้พวกเขา

แล้วจุดเริ่มต้นในการก่อร่างสร้าง ‘ที่หลบฝน’ เป็นอย่างไร

อะตอม: ความจริงเริ่มแรกจะไม่ใช่บ้านหลังที่เราอยู่ตอนนี้ แต่จะอยู่อีกที่หนึ่ง ตอนนั้นเราเปิดฉายหนังสั้น หนังนอกกระแส เป็นกิจกรรมแบบที่ให้เด็กมารวมตัวกันตอนเย็น แต่กลับกลายเป็นว่า คนที่น่านเขามองว่าเด็กน่านไม่น่าจะชอบ ไม่น่าจะเข้าใจ ไม่น่าจะสนใจ 

แต่เรารู้สึกว่าความคิดอันนี้น่ากลัวนะ คือการมีความคิดว่า พอเป็นเด็กที่อยู่ห่างไกล หรือไม่เคยเจออะไรมาก่อน แล้วบอกว่าเขาไม่ชอบ เขาไม่สนใจ ซึ่งความจริงเขาอาจจะแค่ยังไม่เคยเห็น หรือไม่เคยรู้ว่ามันมีแบบนี้ เราจึงเริ่มฉายหนังนอกกระแส 

ตอนนั้นพอทำจริงๆ คือเด็กเลิกเรียนก็แทบจะไม่ได้ออกไปไหน ต้องกลับเข้าบ้าน ผู้ปกครองไม่พาออกไปไหน แต่ความโชคดีของเราคือไปเจอกลุ่มพี่ๆ ที่ทำงานเรื่องการขับเคลื่อนเมืองสร้างสรรค์ในน่าน เขาจึงเป็นจุดเริ่มต้นที่แนะนำว่า ควรเริ่มทำพื้นที่กันอย่างไร สเตปต่อไปควรทำอย่างไร หรือควรตั้งใจกับมันแค่ไหน 

 

ตอนนั้นพวกคุณหาพื้นที่บ้านในการจัดกิจกรรมฉายหนังอย่างไร

อะตอม: เราเช่าบ้านกันเลย คนชอบมองว่าเวลาจะทำพื้นที่อะไรสักอย่าง เราจะอยากได้พื้นที่ใหญ่ๆ คนเยอะๆ หรือทำอะไรแล้วอิมแพ็กต์กับคนมากๆ แต่ตอนนั้นเรารู้สึกว่า เรื่องของการทำพื้นที่แบบนี้ เราควรทำให้คนที่อยู่ที่นี่ใช้งาน ทำให้คนที่อยู่ที่นี่ได้ประโยชน์ อย่างเช่น เราอยู่น่าน เราจะสร้างพื้นที่อะไรที่เป็นประโยชน์กับคนน่าน ไม่ใช่รอให้นักท่องเที่ยวมา แบบนั้นมันไม่ยั่งยืน 

ฟีดแบ็กในการจัดกิจกรรมฉายหนังครั้งแรกเป็นอย่างไร

อะตอม: ฟีดแบ็กโอเค มันเป็นการฉายหนังแล้วมานั่งคุยกัน มันจึงเกิดการพูดคุยกันต่อว่าในน่านต้องการอะไร พื้นที่แบบไหนควรมีในน่าน หรือมันไม่ใช่แค่พื้นที่สำหรับเด็ก แต่ควรเป็นพื้นที่สำหรับคนทั่วไปด้วย 

ตอนนั้นเราเริ่มคิดว่า ที่หลบฝนก็เหมือนกับพื้นที่พักใจ ให้คนได้มาทำกิจกรรมนู่นนี่นั่นก่อน จนกระทั่งทำมาสักระยะหนึ่ง ก็คิดว่าอยากเป็นที่รู้จักมากขึ้น เราก็ไปออกบูธ เริ่มเอากิจกรรมไปทำกับเด็ก หรือมันมีงานอีเวนต์ในน่านที่ทำให้เราได้รู้จักกับกลุ่มเด็กกลุ่มหนึ่งที่สนใจ เป็นกลุ่มเด็กที่อยากทำกิจกรรม แต่ยังไม่มีที่ที่ให้เขาแสดงศักยภาพ หลังจากนั้นสักพักจะเกิดงานที่เป็นอีเวนต์หนังสั้นชื่อ ‘เทศกาลหนังสั้นน่าน’ เป็นอีเวนต์เล็กๆ ที่จัดในบ้านเช่าของเรา แล้วก็มีน้องๆ มาช่วย 

งานนั้นเป็นครั้งแรกที่เราคิดว่า ไม่ใช่แค่ให้เด็กจัด เด็กดู แต่มีผู้ปกครองเด็กเข้ามาด้วย มันคือครั้งแรกที่ผู้ปกครองเด็กรู้ว่าเราสามารถจัดอะไรทำแบบนี้ได้ด้วย แม้กระทั่งเพิ่งรู้ว่าลูกเขามีความสามารถนะ หรือเพิ่งเคยเห็นเด็กในการทำงานจริงๆ นอกเหนือจากอยู่บ้าน เล่นเกม เรียนหนังสือ เพราะเราให้เด็กคิดกิจกรรม ขายของ ซื้อของ ทำกับข้าว ทำอาหาร เตรียมฉายหนัง ส่วนพวกเรามีหน้าที่แค่วางแผน แล้วหาหนังมาให้ 

 

แล้วพวกคุณรู้สึกว่าอยากจริงจังกับการจัดกิจกรรมหรือทำพื้นที่เหล่านี้ตอนไหน

อะตอม: เราอยากจริงจังตั้งแต่แรก แต่มันไม่ได้เป็นอย่างที่เราคิด แต่ก็รู้สึกว่าสิ่งนี้ยังจำเป็น เราก็ทำมาเรื่อยๆ ซึ่งพอทำกิจกรรมมาเรื่อยๆ เรากลับได้เรื่องที่มากกว่าแค่การมาพบกันแล้วทำกิจกรรม เราพบว่าเด็กเรามีปัญหาเรื่องซึมเศร้า มีความเครียด มีภาวะที่เขารู้สึกว่า ไม่มีพื้นที่ให้เขาแสดงความเห็นอะไรได้ 

มีครั้งหนึ่งที่เราทำหนังสั้น แล้วเด็กมาบอกว่า “พี่ หนูอยากเข้านิเทศฯ จุฬาฯ แต่มันต้องยื่นพอร์ตโฟลิโอ หนูต้องเข้าไปฝึกงานที่กรุงเทพฯ จะทำอย่างไรดี หนูไม่ได้มีค่ารถ ค่าเดินทาง ค่าที่พัก ไม่อย่างนั้นหนูคงต้องไปหางานทำ” นั่นเป็นจุดที่เรารู้สึกว่า ทำไมเด็กจากจังหวัดเล็กๆ ที่อยากไปเรียนที่ดีๆ หรือไปต่อยอดศักยภาพตัวเอง ต้องใช้ต้นทุนสูงขนาดนั้น 

โชคดีที่ไนซ์ก็จะมีคอนเนกชันที่สามารถช่วยแนะน้องๆ ได้ว่า ถ้าจะไปเรียนในกรุงเทพฯ หรือที่ไหน ต้องเตรียมตัวอย่างไร หรือถ้าต้องใช้ต้นทุนขนาดนั้น มันควรจะเป็นหน่วยงานสักหน่วยงานหนึ่ง ควรเป็นรัฐ หรือใครสักคนที่มีต้นทุนสูงๆ พาคนเหล่านั้นเข้ามาซัพพอร์ตเด็กได้ไหม

เราจะเห็นว่า พอเมืองให้อะไรกับเด็กไม่ได้ เด็กจะเกิดความคับข้องใจและอยากออกไป แล้ววันหนึ่งมันจะกลายเป็นว่าเขาอยากออกไป และพอออกไป เขาจะรู้สึกไม่อยากกลับเข้ามาแล้ว 

ไนท์: ความจริงน่านมีองค์กรใหญ่ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนเข้ามาเยอะ แต่มันขาดความต่อเนื่องและความเข้าใจจริงๆ น่านมีความพิเศษบางอย่างที่ความเนิบๆ ความ Conservative และเรื่องการเปิดใจ มันต้องอยู่นานๆ ต้องใช้เวลา ไม่ใช่ว่าแค่เอาเงินมาลง 

การเปิดพื้นที่ให้คนมาใช้ทำกิจกรรมสร้างสรรค์ หากเป็นคนอายุน้อยอาจจะพอเข้าใจ แต่กับผู้ปกครองที่อาจมีอายุหน่อยอาจจะไม่เข้าใจ เรื่องนี้ยากแค่ไหนในช่วงเริ่มต้น 

อะตอม: แรกๆ เราก็ถูกมองว่า ทำไมเด็กมาที่บ้านหลังนี้ทุกเย็น มันเกิดอะไรขึ้นแถวบ้านเขา ตอนแรกเราไม่ได้สนใจ เพราะเราไม่ได้ทำอะไรผิด แต่เราก็กลัวเหมือนกัน เพราะเคยมีกรณีที่ว่าคนพูดกันไปต่างๆ นานา หรือมีเรื่องการเมืองหรือเปล่า มีเรื่องนั้นเรื่องนี้ที่เซนซิทีฟหรือเปล่า 

อีกอย่างคือ ต้องยอมรับว่าปกติเด็กที่นี่เลิกเรียนควรกลับบ้าน ถ้าไม่ไปเรียนพิเศษหรือไปไหน แต่ถ้าไปที่อื่นมันคือการเถลไถล ดังนั้นเราต้องไปทำความเข้าใจก่อน อย่างเด็กที่จะมาทำงานกับเรา ถ้ามีอีเวนต์อะไรที่เลิกดึกก็ต้องขอจดหมายผู้ปกครองหรือแจ้งผู้ปกครอง หรือครั้งหนึ่งที่เราจัดอีเวนต์ฉายหนัง ก็ให้เด็กไปโปรโมตตามซอยบ้านว่าเรากำลังจะทำอะไร และชวนคนมาร่วมงาน ด้วยความที่เป็นเด็กเป็นนักเรียน ก็จะเข้ากับชุมชนได้ง่าย ผู้ใหญ่ก็จะเริ่มเข้าใจ

แต่แน่นอนว่ายังมีผู้ปกครองที่อาจจะยังไม่เข้าใจ หรือรุ่นคุณปู่คุณย่าก็ไม่เข้าใจว่าที่เด็กทำคืออะไร แต่อย่างน้อยเราให้เขาสบายใจว่ามาอยู่กับเราเด็กจะได้รับการดูแล และพื้นที่นี้ปลอดแอลกอฮอล์ มีช่วงจำกัดเวลา ไม่ใช่เด็กจะอยู่ได้ตลอด พอหกโมงเย็นถึงทุ่มหนึ่งก็จะให้กลับบ้านหมด ยกเว้นวันไหนจัดอีเวนต์ เราก็จะมีจดหมายให้ผู้ปกครองเซ็นก่อนทุกครั้ง 

พอทำกิจกรรมมาหลายครั้ง พวกคุณมองเห็นเรื่องอะไรที่เด็กน่านสนใจเป็นพิเศษบ้างไหม

ไนท์: ศิลปะ ดนตรี เพลง หนัง การแสดง

อะตอม: กลุ่มเด็กของเรา ส่วนใหญ่ที่มาจะชอบหนังกับดนตรี หลายคนอยากทำหนังสั้น อยากเป็นนักแสดง บางคนเป็นนักดนตรี เล่นกีตาร์ เราก็เปิดวงอะไรให้เขามีพื้นที่แสดงออก ซึ่งเด็กเหล่านี้ตอนอยู่โรงเรียนก็คือเด็กกิจกรรม แค่พอโรงเรียนเลิกแล้วเขาก็ไม่มีที่ให้แสดงออก

ฟังพวกคุณเล่าแล้วก็รู้สึกว่าความรับผิดชอบของที่หลบฝนใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ จากพื้นที่จัดกิจกรรมกลายเป็นพื้นที่กึ่งๆ ที่ปรึกษาให้เด็ก 

อะตอม: มันดูเหมือนใหญ่นะ แต่ถามว่าการจะทำให้เด็กสักคนไปถึงจุดนั้นได้ มันคือการอยู่กับเขาทุกวัน หรือใช้เวลาอยู่กับเขานานมาก จนเกิดกระบวนการที่เชื่อใจกันแล้ว เข้าใจกันแล้ว พูดคุยกัน แล้วค่อยๆ เติมให้เขาทีละนิด อะไรที่มันหักหรือเปราะบาง หรือเรื่องจิตใจ ก็ต้องค่อยๆ ซ่อมให้เขาไปทีละครั้ง ดังนั้นต่อให้เป็นเรื่องใหญ่ เราก็ทำได้แค่ทีละไม่กี่คน วิธีการทำงานกับเด็กไม่สามารถทำทีละเยอะๆ ได้

ไนท์: เหมือนตกปลาทีละตัว

อะตอม: มันคือการสร้างเด็กทีละคน ดูเป็น Case by Case ด้วยซ้ำ บางคนไม่ได้มีปัญหาอะไร เราก็แค่เสริมทักษะให้เขาไปต่อได้ แต่บางคนก็ต้องกลับมานั่งรักษาถึงข้างในเลยว่า เขาต้องการการยอมรับอะไรและต้องใส่อะไรให้เขา 

คิดอย่างไรหากบางคนบอกว่า ความจริงแล้วหน้าที่ที่พวกคุณทำต้องเริ่มต้นมาจากครอบครัวหรือโรงเรียน

อะตอม: ใช่ แต่อย่างที่บอกว่า จังหวัดเล็กๆ โรงเรียนเล็กๆ เราจะหานักจิตแพทย์มาจากไหน ขนาดโรงเรียนใหญ่ๆ ที่เหมือนมีทุนพร้อม บางทีนักจิตแพทย์ยังไม่พอเลย เราคิดว่าเด็กแต่ละคนเวลาไปอยู่โรงเรียน เขาต้องเข้มแข็งนะ เพราะการไปอยู่โรงเรียนต้องเป็นสภาวะที่ต้องการให้เพื่อนยอมรับแล้ว เขาอ่อนแอแทบจะไม่ได้เลย 

ไนท์: อยากเสริมว่า ธีมหลักของที่หลบฝนคือพื้นที่ปลอดภัย หมายถึง เป็นตัวของตัวเองได้อย่างเต็มที่โดยไม่ไปรบกวนการเป็นตัวของตัวเองคนอื่น ซึ่งสิ่งที่เราเห็นคือ มันไม่มีพื้นที่ให้เด็กๆ เป็นตัวของตัวเองเลย เพราะไม่มีใครเข้าใจเขา แล้วรัฐพยายามบีบ พยายามใส่กรอบให้เขา 

 

ที่หลบฝนเป็นการลงทุนของพวกคุณเองทั้งหมดใช่ไหม

อะตอม: จนถึงวันนี้ยังเป็นแบบนั้น

ไนท์: ตอนนี้ผมเข้าโครงการของ School of Changemaker หรือโรงเรียนผู้นำการเปลี่ยนแปลง จะมีคอร์สคือ ตอนกลางวันผมเป็นครู ตอนกลางคืนประชุม ทำงาน วางแผน ทำ Business Model ทำ Unit Course ทำ Strategic Planning เหมือนองค์กรหนึ่ง แต่จะออกแนว Social Enterprise แล้วก็ได้ทุนมาสองหมื่น แต่หากทำงานเสร็จทุกอย่างก็จะได้เงินสนับสนุนมาอีกหกหมื่น แต่ว่าทั้งหมดก็เข้าเนื้อพวกเราไปเยอะมาก

อะตอม: มีคนที่ช่วยซัพพอร์ตบ้าง แต่ไม่ได้เยอะ เขาจะซัพพอร์ตเป็นบางกิจกรรม หรือบางทีแบบว่ามากินข้าว ก็หิ้วของมาแชร์กันก็มี 

ไนท์: แต่มุมมองในอนาคตคือ ถ้าเราสามารถวัด Social Impact มีโมเดล มี Pitching Deck ได้อย่างดี เราจะสามารถได้สายตาจากองค์กรในพื้นที่ได้ ตอนนี้กำลังพยายามก่อตั้งให้เป็นองค์กรกัน 

อะตอม: เหมือนกับว่าเราเห็นปัญหาแล้ว พอเรารู้ว่าจะจริงจัง และมุ่งไปด้านไหน ก็คิดว่ามันจะยั่งยืนได้ต่อเมื่อสิ่งนี้มันกลายเป็นธุรกิจ

ที่หลบฝนเกิดมาแล้วหนึ่งปีครึ่ง สิ่งที่ประทับใจในการทำตรงนี้คืออะไร

อะตอม: สิ่งที่ประทับใจมากๆ และน่าจะเป็นจุดเปลี่ยนของเราด้วย คือช่วงแรกที่จะตัดใจและกลับเชียงใหม่แล้ว แต่พอจัดงานฉายหนังสั้น แล้วมีเด็กมาบอกกับเราว่า “ขอบคุณมากนะพี่ ที่ทำพื้นที่นี้ขึ้นมา” เพราะมันไม่มีที่แบบนี้ให้เลย เป็นที่ที่เขาสามารถบอกได้ว่าตัวเองอยากเป็นแบบไหน หรืออยากทำอะไร ในขณะที่คนอื่นๆ พยายามบอกเขาว่า ทำไมถึงอยากไปทางนั้น แต่เราไม่เคยบอกเขาเลยนะว่าทางที่จะไปนั้นดีหรือไม่ดี เราแค่บอกเขาว่าถ้าอยากไปทางนั้นต้องทำอย่างไร

ไนท์: ส่วนของผมจะชอบเวลาเห็นคนเติบโต ทั้งเพื่อนๆ ทีมงาน และเด็กๆ ที่มา แม้จะยังเป็นช่วงเวลาสั้นๆ แต่ด้วยความคิดที่เขาสามารถสื่อสารหรือสะท้อนออกมาก็ทำให้ผมคิดว่า ถ้าเรายังเชื่อในตัวพวกเขา เขาจะเติบโตมากๆ ในทางกลับกัน ผมก็เติบโตขึ้นมากเช่นกัน เพราะเพื่อนๆ เชื่อในตัวเรา มันคือความเชื่อใจในกันและกัน และเฝ้ามองด้วยตาที่เป็นประกายว่า คุณเติบโต เราเติบโต ทุกคนเติบโตไปด้วยกัน 

 

เป้าหมายในอนาคตอยากให้ที่หลบฝนเติบโตไปในทิศทางไหน

อะตอม: เราใช้คำว่าพื้นที่ปลอดภัย พื้นที่พักใจ และรวมไปถึงเติมเต็มศักยภาพบางอย่างให้กับเด็ก ถ้าเปรียบเป็นต้นไม้สักต้น ก็เหมือนเรากำลังบ่มเพาะต้นกล้า เพื่อที่วันหนึ่งเด็กเขาพร้อมและสามารถออกไปเติบโตข้างนอกได้ เราไม่มั่นใจว่าจะสามารถใส่ความรู้ ใส่ทักษะอะไรให้เขาได้ขนาดนั้นไหม แต่อย่างน้อย เราจะสามารถเป็นแว่นตาแว่นหนึ่งที่ช่วยเขาได้ว่า ถ้าเขาอยากไปเป็นอะไร อยากทำอะไร เราสามารถแนะนำได้ว่าควรทำอะไรต่อ จะหาใครมาช่วย หรือจะซัพพอร์ตเขาอย่างไรได้บ้าง

การมีพื้นที่แบบแบบที่หลบฝนในจังหวัดอื่นๆ จะส่งผลดีอย่างไรในมุมมองพวกคุณ

อะตอม: เราว่าสำคัญมากนะ สิ่งเหล่านี้เป็นปัญหาพื้นฐานของเด็กทั่วไป ตามสถิติเราจะเห็นว่าเดี๋ยวนี้อัตราอายุของเด็กที่ฆ่าตัวตายลดลงมา กลายเป็นว่าเด็กช่วงมัธยมฯ เยอะขึ้นกว่าเดิม ซึ่งพอเราเข้าไปศึกษาปัญหาจริงๆ จะพบว่า ความที่ยุคนี้เป็นยุคอินเทอร์เน็ต เด็กจะมองเห็นสิ่งที่เด็กจากเมืองใหญ่มีหรือทำ แล้วเขาจะมองว่า ทำไมเขาไม่มี ทำไมจังหวัดเล็กๆ ไม่มีงานรองรับ แล้วเรื่องสังคมผู้สูงอายุที่เพิ่มมากขึ้นอีก เราเชื่อว่ามันเป็นทุกจังหวัด แล้วไม่ได้เป็นแค่นอกเมือง แม้แต่ในเมืองใหญ่ก็มี

สำหรับคนที่อาจจะยังไม่รู้จักหรือไม่เข้าใจสิ่งที่ ที่หลบฝน ทำ คุณอยากสื่อสารว่าอย่างไร

ไนท์: ไม่มีใครอยากเปียกปอน ไม่ว่าคุณจะเป็นใคร เป็นราชา เป็นขอทาน เป็นพ่อค้าหรือทหาร ถ้าโดนฝนเยอะๆ ไม่ว่าคุณร่างกายแข็งแรงขนาดไหนก็ต้องป่วย ดังนั้น ที่หลบฝนไม่ได้เป็นที่ที่ยิ่งใหญ่ ไม่ได้เป็นที่ที่หรูหรา แต่เรายินดีต้อนรับพวกคุณทุกคน พื้นที่ตรงนี้แห้ง ทุกคนที่มาอยู่ด้วยกันจะรู้สึกปลอดภัย รู้สึกแห้งสบายตัว

อะตอม: ในคำว่า ที่หลบฝน เราไม่ได้บอกว่าเราจะให้ร่ม หรือว่าเราจะให้อะไรกลับไป หรือเราจะสั่งให้ฝนหยุดตกได้ แต่เราบอกว่า มาหลบฝนก่อน ถ้าพร้อมเมื่อไร หรือฝนหยุดเมื่อไร ค่อยกลับออกไปสู้อีกครั้ง

 

Tags: , , ,