ปี 2562 รัฐบาล คสช. อนุมัติโครงการจะนะเมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต โดยมอบหมายให้ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) เป็นผู้ดำเนินการ แต่โครงการนี้ไม่ได้เปิดรับฟังความเห็นแท้จริงของคนในพื้นที่ จึงทำให้ ‘ไครียะห์ ระหมันยะ’ เยาวชนวัย 19 ปี ที่เติบโตท่ามกลางความอุดมสมบูรณ์ทางธรรมชาติ ซึ่งเต็มไปด้วยความรักและผูกพันในถิ่นฐานบ้านเกิด ลุกขึ้นสู้กับเครือข่ายอำนาจที่ใหญ่กว่าตัวเธอเองโดยไม่มีความเกรงกลัว 

เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2563 ไครียะห์และกลุ่มจะนะรักษ์ถิ่น เข้ายื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีที่ทำเนียบรัฐบาลให้ทบทวนโครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะฯ โดย ‘แรมโบ้อีสาน’ หรือ เสกสกล อัตถาวงศ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรี ได้รับปากกับไครียะห์ว่าจะจัดตั้งคณะกรรมการทบทวนบริบทพื้นที่เชิงยุทธศาสตร์ระดับพื้นที่ระดับจังหวัด โดยให้ชาวบ้านเป็นคณะกรรมการด้วย รวมถึงนักวิชาการและหน่วยงานของรัฐ 

แม้สัญญานี้มีการร่วมลงนามด้วยกัน แต่ล่าสุดกลับมีการผลักดันโครงการนี้ขึ้นมาอีกครั้ง วันนี้ ‘ไครียะห์’ ผู้เป็น ‘ลูกสาวแห่งทะเลจะนะ’ จึงเดินทางสู่ทำเนียบรัฐบาล เพื่อทวงสัญญาที่รัฐเคยให้ไว้กับประชาชนอีกครั้ง

ไครียะห์โตมาแบบไหน

“หนูโตริมทะเล พ่อจะชอบโชว์กุ้งหอยปูปลาที่พ่อจับมาได้ให้เราดู แกงส้มแม่อยู่ในหม้อกำลังเดือด พอปลามาก็สับๆๆ เรากินข้าวแบบอาหารทะเลแบบอร่อยมาก” ไครียะห์กล่าวด้วยรอยยิ้มในแววตา เธอเล่าว่าแม้จะมากรุงเทพฯ แค่ไม่กี่วันก็คิดถึงบ้านมาก เพราะไม่มีที่ไหนเหมือนบ้านเธอ ทุกเช้าเธอตื่นขึ้นในชุมชนประมงริมทะเล สูดอากาศบริสุทธิ์และไปโรงเรียนตามประสาเด็ก ความแตกต่างที่ชัดเจนระหว่างเธอกับเด็กทั่วไปคือเธอการได้ซึมซับจิตวิญญาณการต่อสู้จากคนรุ่นก่อนมาอย่างเต็มที่

“เรื่องมันเกิดตอนหนูอายุได้ 3 เดือน ชาวบ้านโดนสลายการชุมนุม แต่ตอนนั้นหนูยังไม่รู้เรื่อง” เด็กสาววัย 19 เล่าถึงเหตุการณ์สำคัญในวันที่ 20 ธันวาคม 2545 ปีที่เธอเกิด นั่นคือการที่กลุ่มชาวบ้านรวมตัวกันคัดค้าน ‘โครงการท่อส่งก๊าซและโรงแยกก๊าซธรรมชาติไทย-มาเลเซีย’ และรัฐได้เข้าสลายการชุมนุมจนมีชาวบ้านและนักศึกษาได้รับบาดเจ็บเป็นจำนวนมาก เหตุการณ์นี้นับเป็นตัวอย่างที่น่าจดจำของการต่อสู้กับภาครัฐในนามประชาชน

“หนูโตมากลางวงที่พ่อไปประชุม เขาคุยเรื่องปัญหา พอโตมาหน่อยก็ได้ช่วยเขาตอนประชุม หนูจะไปวุ่นวายฟังผู้ใหญ่คุยกันตลอด เริ่มทำกิจกรรมตอน 8 ขวบ หนูสนใจเรื่องผังเมือง พอเราจุ้นจ้านมากๆ เขาก็ยอมให้เข้ามาทำ ตอนที่เริ่มทำไม่เด็กมาก อยู่ ป.6 อายุ 12 หนูรู้สึกว่าคนรุ่นก่อนอุตส่าห์สู้เพื่อให้เราได้อยู่ในแผ่นดินจะนะนี้ เราก็ต้องสู้เพื่อให้ลูกหลานเราอยู่ในแผ่นดินนี้เหมือนกัน”

การพัฒนาที่ยั่งยืน

“จะนะไม่ได้ปฏิเสธการพัฒนา แต่เราต้องการการพัฒนาที่สอดคล้องกับบริบทพื้นที่”

‘ยะห์’ เล่าถึงกิจกรรมที่ชาวบ้านร่วมทำด้วยกันอย่างสม่ำเสมอ เช่น ‘ศูนย์การเรียนรู้โลกบ้านฉัน @ควนหมาก’ ซึ่งอยู่ในอำเภอเทพา และเป็นเครือข่ายเดียวกับกลุ่มจะนะรักษ์ถิ่น ในพื้นที่จะนะยังมีโครงการที่เธอริเริ่มทำขึ้นกับเพื่อนและพี่น้องในชุมชน เช่น การตั้งกลุ่ม ‘เด็กรักหาดสวนกง’ เพื่ออบรมเยาวชนให้มีความรู้ความเข้าใจภูมิปัญญาท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็นสอนเรื่องสัตว์น้ำ พืชพรรณธรรมชาติ สมุนไพร และศิลปะป้องกันตัว

สิ่งเหล่านี้เธอมองว่าเป็นการพัฒนาที่ยั่งยืน เพราะมาจากความรู้และประสบการณ์ของคนในพื้นที่อย่างแท้จริง โดยมีจุดประสงค์เพื่อส่งต่อสิ่งดีๆ ให้รุ่นต่อไปโดยไม่มีผลประโยชน์แอบแฝง

ทำไมถึงรักและหวงแหนบ้านเกิดมากขนาดนี้

“บ้านของเราดีขนาดไหน เราถึงอยากปกป้องขนาดนี้ เราไม่ได้อยากดูคนเดียว เราอยากอวดคนทั้งโลกว่า บ้านเรามี ควน ป่า นา เล มีคลอง 2 คลอง เชื่อมต่อลงน้ำทะเลมาบรรจบที่ภูเขา มีป่าโกงกาง มีความหลากหลายทางชีวภาพ” ทุกครั้งที่พูดถึงธรรมชาติในพื้นที่ ดวงตาของเด็กสาวจะเป็นประกายขึ้นเสมอ เธอเล่าพลางเปิดภาพในโทรศัพท์มือถือขึ้นอวด ทั้งยิ้ม หัวเราะ เมื่อถามว่าเหนื่อยไหม ยะห์ตอบว่าเหนื่อยแต่มีความสุขที่ได้เล่าเรื่องของชุมชนให้คนภายนอกได้ฟัง

ปีที่แล้วผู้ใหญ่สัญญาอะไรกับชาวบ้านบ้าง

“กลางปีที่แล้วตอนหนูไปยื่นหนังสือที่ทำเนียบฯ ให้คุณปู่ประยุทธ์ทบทวนโครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะฯ ตอนนั้นลุงแรมโบ้รับปากว่าจะจัดตั้งคณะกรรมการทบทวนบริบทพื้นที่เชิงยุทธศาสตร์ระดับพื้นที่ระดับจังหวัด ให้ชาวบ้านเป็นคณะกรรมการด้วย มีทั้งนักวิชาการและหน่วยงานของรัฐ สัญญานี้มีการร่วมลงนามด้วยกัน ตอนนั้นคุณธรรมนัสเป็นคนลงนาม แต่อยู่ๆ มีการผลักดันโครงการนี้ขึ้นใหม่ ขั้นตอนมันกลับหัวกลับหาง”

ยะห์หยุดพูดสักครู่ก่อนจะเอ่ยประโยคต่อมาว่า “สัญญาที่ลงกับชาวบ้าน เอาชาวบ้านไปอยู่ที่ไหน”

“เราโดนกระทำซ้ำแล้วซ้ำเล่า ตั้งแต่รุ่นปู่ รุ่นพ่อ แล้วก็รุ่นหนูอีก โดนกระทำมาแบบนี้ตลอด มันไม่มีอะไรรับประกันได้เลยว่ารัฐบาลจะจริงใจกับพี่น้องจะนะ กับชาวบ้าน ไม่ว่ายุคไหน ตั้งแต่ก่อนหน้านี้ หรือยุคนี้ ซึ่งไม่แน่ใจเหมือนกันว่าไปติดอยู่ตรงไหน”

สิ้นประโยคคำถามของยะห์ เราสัมผัสได้ถึงความคับแค้นใจ ความไม่มั่นใจในกระบวนการบริหารจัดการ ไม่แปลกเลยที่ท้ายสุดเยาวชนกับชาวบ้านต้องลุกขึ้นสู้ด้วยตัวเอง

สู้จนได้รับคัดเลือกจากแอมเนสตี้เป็นเยาวชนผู้ทรงอิทธิพล

“หนูไม่รู้เหมือนกันว่าเขาเลือกหนูได้อย่างไร แต่คิดว่าจะนะได้รับเลือกเพราะเป็นตัวอย่างการต่อสู้เพื่อจะได้รับสิทธิ์ของตัวเอง แอมเนสตี้เขาทำเรื่องสิทธิเป็นหลัก ทำเรื่องเด็กและเยาวชน หนูเป็นเยาวชนคนหนึ่งที่ลุกขึ้นมาปกป้องบ้านเกิดของตัวเอง และปกป้องสิทธิ์ที่จะมีโอกาสหายใจบนโลกใบนี้”

เข้ามหาวิทยาลัยแล้ว มีอะไรเปลี่ยนแปลงไปบ้าง

“มหาลัยเป็นแค่อีกก้าวเรื่องการศึกษา แต่หัวใจที่เราใช้ปกป้องบ้านของเรา ไม่ว่าจะยุคไหนก็เหมือนกันหมด เพราะคือหัวใจดวงนี้ที่มีให้กับบ้านเกิด”

มาทวงสัญญารอบนี้ตั้งใจทำอะไรบ้าง

“หนูเขียนในจดหมายเปิดผนึกไว้ และตั้งใจจะนั่งรออยู่ที่ทำเนียบรัฐบาลทุกวัน จนกว่าจะได้คำตอบ”

Tags: , , ,