เชียงใหม่มักถูกยกขึ้นมาอ้างถึงเสมอในฐานะที่เป็นเมืองที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งในเอเชีย สำหรับเหล่าดิจิทัลนอแมด (Digital Nomad) 

สาเหตุเนื่องจากมีความพร้อมในหลายด้านที่ก่อให้เกิดคุณภาพชีวิตที่ดี ทั้งค่าครองชีพที่ไม่สูงมากนัก (เมื่อเทียบกับประเทศของคนเหล่านี้) มี Co-Working Space และร้านกาแฟดีๆ กระจายอยู่ทั่วทุกมุมเมือง พร้อมอินเทอร์เน็ตที่รวดเร็วให้นั่งทำงานสบายๆ รวมถึงมีความหลากหลายของกิจกรรมในเมืองให้ได้เอ็นจอยทุกไลฟ์สไตล์ ตั้งแต่วัด ตลาด ไปจนถึงห้างสรรพสินค้าและย่านการค้าที่ทันสมัย 

ทั้งยังมีอาหารการกินให้เลือกชิมตั้งแต่สตรีทฟู้ดไปจนถึงจานหรูระยับ และหากมีจักรยานหรือมอเตอร์ไซค์สักคัน การเดินทางในเมืองก็ไม่ใช่เรื่องยาก

ที่สำคัญคือธรรมชาติที่สวยงามทั้งสามฤดู ทั้งภูเขาและน้ำตกที่สามารถเดินทางไปได้สะดวก จะเลือกไปค้างหรือไปเช้าเย็นกลับก็ได้

ในมุมของการเดินทางระหว่างประเทศ เชียงใหม่ก็มีสนามบินที่เป็นฐานสำหรับการเดินทางไปสำรวจสถานที่อื่นๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อาทิ กัวลาลัมเปอร์หรือสิงคโปร์ และแน่นอนว่ารวมถึงเมืองหลวงอย่างกรุงเทพมหานคร ด้วยราคาตั๋วที่ไม่สูงเกินเอื้อม 

เหล่านี้คือเหตุผลที่ทำให้เชียงใหม่กลายเป็นเมืองที่เหล่าดิจิทัลนอแมดทั่วโลกหรือชาวต่างชาติที่มีงบประมาณจำกัดและกำลังมองหาการเริ่มต้นธุรกิจ เลือกย้ายมาอาศัยและทำงานผ่านออนไลน์ และก็มีไม่น้อยที่เลือกพำนักระยะยาวผ่านระบบวีซ่าสำหรับชาวต่างชาติ 

หากใครพอมีคนรู้จักอยู่ที่นี่ อาจจะทราบดีว่าปัจจุบัน เชียงใหม่มีชุมชนของดิจิทัลนอแมดและชาวต่างชาติจำนวนไม่น้อยที่รวมตัวกันอย่างเข้มแข็ง ซึ่งอาศัยอยู่เป็นส่วนหนึ่งในเมืองใหญ่ของภาคเหนือแห่งนี้

เช่นเดียวกับ รัสมุส ฟริดเบิร์ก (Rasmus Fridberg) ชาวต่างชาติที่เคยเดินทางทำงานหลายแห่งทั่วโลก จนกระทั่งตัดสินใจลงหลักปักฐานที่เชียงใหม่ และกำลังสร้างธุรกิจที่ปรึกษาสำหรับเจ้าของธุรกิจขนาดเล็กทั้งในท้องถิ่นและชาวต่างชาติ ด้วยการทำงานผ่านระบบออนไลน์ 

The Momentum มีโอกาสพูดคุยกับชาวสวีเดนวัย 36 ปีผู้นี้ ซึ่งถือเป็นหนึ่งในเสียงสะท้อนเล็กๆ ของชาวต่างชาติที่เข้ามาอาศัยอยู่และสร้างธุรกิจในเชียงใหม่ มุมมองต่อเชียงใหม่ รวมถึงโอกาสและความหวังในเมืองแห่งนี้

นอกจากนี้ยังเป็นโอกาสให้รัฐกลับมาทบทวนว่า จะมีแผนการรองรับหรือเพิ่มความเชื่อมั่นของนักท่องเที่ยวพำนักระยะยาวเหล่านี้ได้อย่างไร เพราะพวกเขาก็ถือเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่จะช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจการท่องเที่ยวของประเทศให้ดีขึ้น

วันนี้คุณปั่นจักรยานมาสัมภาษณ์ คุณชอบปั่นจักรยานหรือ

(หัวเราะ) คุณรู้ไหม ในสวีเดนคุณขี่มอเตอร์ไซค์ได้แค่ประมาณ 2 เดือนต่อปี เพราะมีทั้งหิมะ ฝน และหนาวมาก ดังนั้นที่เชียงใหม่เหมาะอย่างยิ่งในการขี่จักรยานไปรอบเมือง มันทั้งอิสระและสะดวกสบาย บางทีผมอาจจะซื้อรถในวันข้างหน้า แต่ตอนนี้ผมยังมีความสุขกับการปั่นจักรยานอยู่ดี

เล่าชีวิตคร่าวๆ ของคุณก่อนหน้าที่จะย้ายมาเชียงใหม่ให้ฟังหน่อย คุณทำอะไรมาบ้าง

ผมมาจากประเทศสวีเดน เคยทำหลายอย่างมาก ตอนอายุช่วงยี่สิบต้นๆ ผมเดินทางเยอะ และอาศัยอยู่หลายประเทศ เช่น ออสเตรเลีย กรีซ แคนาดา และนอร์เวย์ ตอนอายุ 26 ปี ผมเปิดโรงแรมสองแห่งที่สีหนุวิลล์ กัมพูชา ซึ่งผมเป็นซีอีโอและเจ้าของร่วม แต่ตอนนี้ไม่ได้เป็นแล้ว ส่วนไม่กี่ปีก่อนหน้านี้ ผมกลับไปเปิดบริษัทเอเจนซีให้คำปรึกษาด้านไอที ที่สตอล์กโฮล์ม สวีเดน

คุณมาเชียงใหม่เมื่อไร และทำไมเลือกมาที่นี่

ผมมาเชียงใหม่ตอนมิถุนายน 2021 ผมชอบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และประเทศไทยมาก แรกสุดผมมาที่นี่เพราะอยากรู้ว่าเป็นอย่างไรและผมจะชอบมันไหม แต่ตอนนี้ผมเลือกอาศัยอยู่ที่นี่แล้ว เพราะผมรักเชียงใหม่และสภาพแวดล้อมของที่นี่ รู้ไหมว่าผมไปวิ่งเทรลบ่อยมาก ภูเขาในแถบนี้น่าทึ่งมากๆ ก่อนที่จะย้ายมา ผมได้ยินว่าชาวต่างชาติหลายคนพูดกันว่าเชียงใหม่เป็นเมืองที่ดีที่สุดในประเทศไทย และก็รู้มาว่านักวิ่งเทรลหลายคนเลือกมาที่นี่เพื่อฝึกซ้อมบนภูเขาที่สวยงาม

ผมชอบวิ่งเทรล ทำสมาธิ ออกไปท่องเที่ยวในสถานที่ธรรมชาติ รวมถึงออกเดินทางไปดูที่อื่นๆ ในภาคเหนือของไทย หนึ่งในสถานที่ที่ผมชื่นชอบมากคือม่อนแจ่ม

ตอนนี้คุณทำงานอะไรที่เชียงใหม่

ตอนนี้ผมเป็นที่ปรึกษาทางธุรกิจที่จะช่วยให้คำแนะนำแก่เจ้าของบริษัทเล็กๆ ในการจัดตั้งทีมขายของตนเอง ลูกค้าส่วนใหญ่ของผมทำงานผ่านออนไลน์ แต่ตอนนี้ก็มีในไทยเพิ่มมากขึ้น และผมกำลังก่อตั้งบริษัทใหม่ชื่อ Prospektera เป็นเว็บไซต์อีคอมเมิร์ซแบบ B2B ที่ทำการค้าระหว่างผู้ค้ากับหน่วยธุรกิจ นอกจากนี้ ผมยังทำงานที่ Chiang Mai Business Community ซึ่งเป็นเครือข่ายธุรกิจสำหรับเจ้าของธุรกิจขนาดเล็กทั้งในท้องถิ่นและต่างชาติ ซึ่งก็มีนักธุรกิจท้องถิ่นที่เป็นคนไทยเยอะ การทำงานนี้ทำให้ผมได้พบกับผู้คนและรูปแบบธุรกิจที่หลากหลาย รวมถึงได้ทำงานกับผู้คนทั่วโลกด้วย

คุณได้ทำงานกับคนไทยบ่อยไหม การทำงานของพวกเขาเป็นอย่างไร

ผมไม่ได้ทำงานกับคนไทยมากนัก หมายถึงได้พบปะบางครั้ง แต่ไม่ได้ทำงานด้วยเยอะ ผมรู้สึกว่าพวกเขาก็ทำงานหนัก แต่ก็สบายๆ บางครั้ง ตั้งใจทำงาน นิสัยดีและใจดี

ก่อนสัมภาษณ์ เราคุยกันว่าคุณอาศัยอยู่ที่นี่ด้วย SMART Visa อธิบายหน่อยว่าวีซ่านี้คืออะไร ต้องมีเงื่อนไขใดบ้างในการที่ชาวต่างชาติจะได้วีซ่านี้มา

SMART Visa เป็นวีซ่าประเภทหนึ่งที่ออกแบบมาเป็นพิเศษเพื่อดึงดูดบุคลากรที่มีทักษะสูง นักลงทุน ผู้บริหาร และผู้ประกอบการสตาร์ทอัพมายังประเทศไทย ความจริงมันก็มีหลายประเภท แต่ผมสมัคร SMART Visa-S สำหรับสตาร์ทอัพ ด้วยแผนธุรกิจและเอกสารการนำเสนอแผนงาน ซึ่งหน่วยงานก็ใช้เวลาสองเดือนในการประเมินแผนธุรกิจที่ผมส่งไปและอนุมัติให้ผมอยู่ที่นี่เป็นเวลาหกเดือน โดยมีเอกสารพิเศษจาก BOI (Board Of Investors) หรือสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ซึ่งมีใบอนุญาตทำงานรวมอยู่ด้วย หลังจากหกเดือน ผมต้องแสดงเอกสารการดำเนินงานต่อ BOI เพื่อขยายเวลาออกไปอีกสองปี หากต้องการให้บริษัทของผมเติบโตที่ประเทศไทย

 

ตอนนี้มีชาวต่างชาติเลือกอาศัยและทำงานอยู่ในเชียงใหม่เหมือนคุณเยอะไหม

ผมคิดว่าเป็นแบบนั้น ไม่ใช่ทุกคนที่เลือกอยู่ด้วย SMART Visa แต่หลายคนเลือกอยู่ด้วยชนิดวีซ่าที่ต่างออกไป และทำงานในรูปแบบออนไลน์

ในมุมของคุณ ข้อได้เปรียบของการเป็นชาวต่างชาติที่อาศัยอยู่และทำงานในเชียงใหม่คืออะไร

สำหรับผม หากคุณมีรายได้แบบที่ชาวตะวันตกได้รับ คุณก็สามารถมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้ เนื่องจากค่าใช้จ่ายที่นี่ถูกกว่าในยุโรปหรืออเมริกา แต่ผมคิดว่าหลายคนชอบอยู่ที่นี่เพราะความสมดุลของเมือง ธรรมชาติ แหล่งช็อปปิง สถานบันเทิงยามค่ำคืน วัฒนธรรม มันไม่ใหญ่เกินไป และไม่ได้เล็กเกินไป คนที่นี่ก็เป็นกันเองและให้ความช่วยเหลือดีมาก 

นอกจากนี้ ค่าใช้จ่ายไม่สูง มีโครงสร้างพื้นฐานที่ดีเยี่ยมสำหรับการทำงานที่นี่ อินเทอร์เน็ตดี มี Co-Working Space ที่ดี มีคาเฟ่เยอะ และมีอีเวนต์รวมถึงโอกาสมากมายในการได้พบปะกับคนท้องถิ่นและชาวต่างชาติ

สิ่งเดียวที่ดูเหมือนจะเป็นเรื่องยากเล็กน้อยคือเรื่องวีซ่า ชาวต่างชาติหลายคนเครียดกับเรื่องนี้มาก

คุณคิดว่าโอกาสสำหรับการเติบโตของธุรกิจที่คุณสร้างในเชียงใหม่เป็นอย่างไร เมืองนี้สนับสนุนคุณขนาดไหน

ผมว่าก็โอเคนะ อาจจะไม่ได้เป็นสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่ดีที่สุดในการพบปะคนใหม่ๆ หรือได้รับโอกาสใหม่ๆ ไม่อย่างนั้นผมก็ต้องไปกรุงเทพฯ แต่ผมรู้สึกว่าทางจังหวัดและมหาวิทยาลัยที่นี่ก็พยายามดึงดูดผู้คนและนักลงทุนมากขึ้น อย่างไรก็ดี ผมว่ามันดำเนินการช้าไปหน่อยในช่วงเวลาเช่นนี้ นี่คือเหตุผลที่ผมพยายามสร้างเว็บไซต์ www.cmbusinesscommunity.com เพื่อเชื่อมต่อธุรกิจกับคนอื่นๆ แลกเปลี่ยนไอเดีย เพิ่มอำนาจต่อรอง และสร้างความร่วมมือมากขึ้น

ผมอยู่ที่เชียงใหม่เพราะชอบไลฟ์สไตล์ที่นี่ เมื่อไรก็ตามที่ผมต้องการโอกาสมากขึ้น ผมก็คงไปกรุงเทพฯ หนึ่งในเมืองใหญ่ของโลก และมีโอกาสมากมายที่นั่น

ประเทศสวีเดนที่คุณจากมา เป็นประเทศแรกๆ ที่มักถูกยกมาพูดถึงความสำเร็จของรัฐสวัสดิการ อยากให้คุณพูดถึงเรื่องนี้สักหน่อย 

สำหรับผมมันเคยดีมากๆ แต่ตอนนี้อาจจะลดลงเล็กน้อย แต่ก็ถือว่ามีระบบสวัสดิการที่ดีอย่างที่ว่า ถ้าคุณไม่มีงาน คุณก็ยังได้รับเงินชดเชยเพื่อใช้ชีวิตต่อได้ ยกตัวอย่าง แม้คุณไม่มีงานทำ แต่ก็ต้องใช้เวลานานมากกว่าที่คุณจะต้องถึงขั้นไปเร่ร่อนบนถนน อาจจะประมาณหกเดือน ซึ่งช่วงเวลานั้นคุณยังมีโอกาสในการหางานหรือทำอะไรได้อยู่ แทนที่จะต้องกลายเป็นคนเร่ร่อน นอกจากนี้ ระบบโรงพยาบาลก็ดี แต่บางครั้งผมคิดว่าระบบโรงพยาบาลของไทยดีกว่านะ เพราะค่ารักษาไม่แพง

มีคนสวีเดนที่เลือกออกมาอาศัยและทำงานนอกประเทศเหมือนคุณเยอะไหม

ผมคิดว่ามีมากขึ้นเรื่อยๆ นะ เรามีวัฒนธรรมใหญ่ในการเดินทางท่องเที่ยวแบ็กแพ็กช่วงอายุ 18-21 ปี แล้วค่อยกลับไปเรียนหรือไปทำงาน ตอนนี้สถานการณ์ก็เริ่มดีขึ้นหลังจากโควิด และเหมือนเป็นโอกาสสำหรับดิจิทัลนอแมดที่จะได้เดินทางทั่วโลกและทำงานผ่านออนไลน์ นี่ก็เป็นสิ่งที่ทำให้ผมคิดว่า ผมต้องเริ่มสร้างธุรกิจของตัวเองตอนนี้ คือผมอาจไม่ใช่คนที่ชอบทำงานองค์กรมากนัก แต่ชอบทำงานอิสระของตัวเอง

แล้วคนหนุ่มสาวในประเทศคุณล่ะ เขารู้สึกอย่างไรกับประเทศคุณ

พูดยากเหมือนกันนะ ผมคิดว่าเขาก็มีความสุข แต่ก็รู้สึกไร้คุณค่าในเวลาเดียวกัน ผมเห็นความกดดันและอัดอั้นตันใจจากคนกลุ่มนี้เพิ่มขึ้นจากเรื่องของโควิด รวมถึงโซเชียลมีเดีย ที่ทำให้คนเปรียบเทียบตัวเองกับหลายๆ สิ่ง โดยเฉพาะผู้หญิงและเด็กสาวๆ เขาไม่ค่อยมีความสุขกันเท่าไร แต่โดยรวมผมก็คิดว่ายังโอเคอยู่

หลายคนบอกว่าคนต่างชาติมีสิทธิพิเศษเวลามาที่ประเทศไทย แม้กระทั่งที่เชียงใหม่ พวกเขามีรายได้แบบชาวยุโรป และได้ใช้ชีวิตในเมืองที่ค่าครองชีพไม่สูง คุณคิดอย่างไรกับคำนี้

ผมคิดว่ามีส่วนที่ถูกต้อง แต่ก็ไม่ใช่ทั้งหมด เพราะเมื่อคุณมาที่นี่ในฐานะคนต่างชาติ ค่าใช้จ่ายต่างๆ มากมายก็จะตามมา อย่างที่ผมบอก คุณต้องคิดเรื่องวีซ่า หลายคนมาที่นี่แบบวีซ่าท่องเที่ยว และต้องออกไปนอกประเทศหนึ่งครั้งทุกเดือนเพราะวีซ่าหมด แล้วถึงจะได้ทำวีซ่าเพื่อกลับเข้ามาใหม่ แต่ถ้าจะเลือกวีซ่าระยะยาวกว่านั้นก็มีค่าใช้จ่าย 5 ถึง 8 หมื่นบาท 

นอกจากนี้ ค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมเล็กๆ น้อยๆ บางอย่างในชีวิตก็จะตามมา เช่น คุณไม่รู้ว่าเวลาไปตลาดต้องต่อรองราคากับคนขายอย่างไร หรือบางครั้งเวลาไปสถานที่ท่องเที่ยว ราคาคนไทยก็อย่างหนึ่ง ราคาคนต่างชาติก็อย่างหนึ่ง ตลกดีใช่ไหม (หัวเราะ) ถ้าเป็นในสวีเดนนี่เป็นเรื่องผิดกฎหมายเลยนะ มันก็จะมีความไม่ค่อยยุติธรรมเล็กน้อยในเรื่องนี้

คุณมีค่าใช้จ่ายประมาณเท่าไรต่อเดือนในเชียงใหม่

ประมาณ 25,000-40,000 บาทต่อเดือน

ตอนนี้คุณวางแพลนการทำงานและใช้ชีวิตในเชียงใหม่ระยะยาวแล้วใช่ไหม

ใช่ แผนระยะยาวของผมคือใช้ชีวิตในประเทศไทยและเชียงใหม่ ผ่านการสร้างบริษัทของผม

คุณอยากให้เชียงใหม่พัฒนาเรื่องอะไรอีก เช่น ระบบขนส่งสาธารณะ หรือการจัดการเมือง

(นิ่งคิด) ผมเข้าใจว่ามันไม่ง่ายที่จะทำให้ทุกอย่างเกิดขึ้นทั้งหมด แต่ตอนนี้ผมชอบทุกอย่างที่เป็นเชียงใหม่ มีเรื่องหนึ่งคือการตรวจคนเข้าเมือง ค่อนข้างวุ่นวายไปหน่อย ต้องรอนานและมีความสับสนค่อนข้างมาก

คุณมีคำแนะนำสำหรับชาวต่างชาติที่จะมาทำงานหรือมาอาศัยในเชียงใหม่ไหม

อยากให้ลองมาเลย ถึงแม้ว่ามันอาจไม่ได้ง่ายหรือถูกเหมือนที่คิด แต่มันก็คุ้มค่า สิ่งหนึ่งที่ผมอยากแนะนำคือการเรียนรู้วัฒนธรรมไทยจะช่วยคุณได้เยอะ แต่ก็เช่นเดียวกับเวลาคุณไปอยู่ประเทศอื่นๆ นั่นแหละ

Tags: , , ,