เอาเข้าจริง ผมน่าจะได้ยินเสียงเพลงของ สาว สาว สาว ครั้งแรกในหนัง ‘แฟนฉัน’ 

ถ้าจำได้ เสียงกลองจากเพลง ‘ประตูใจ’ ดังขึ้น เมื่อ ‘เจี๊ยบ’ วัยผู้ใหญ่ ค้นตลับเทปในรถ เจอเทปของ สาว สาว สาว ระหว่างขับรถไปงานแต่งเพื่อน แล้วประตูใจก็กลายเป็นประตูของความทรงจำที่พาเจี๊ยบย้อนกลับไปหาเรื่องในหนังแฟนฉันทั้งหมด

นั่นทำให้ผมเริ่มรู้จัก สาว สาว สาว เริ่มรู้จัก ‘เสน่ห์’ ของเพลงไทยในทศวรรษ 1980 ซึ่งในความจริง เมื่อ 20 ปีก่อน ยุคที่ยูทูบยังไม่เฟื่องฟู​ แอปฯ สตรีมมิงเพลงยังไม่แพร่หลาย การจะหาฟังเพลงพวกนี้เป็นเรื่องยากยิ่ง 

และหากเมื่อ 20 ปีก่อน พวกคุณรัก ‘แฟนฉัน เหมือนกับผม ก็จะพบว่า สาว สาว สาว แทบจะกลายเป็นส่วนสำคัญของหนังเรื่องนี้ ไม่ว่าจะประตูใจ ไม่ว่าจะ ‘รักคือฝันไป’ ในฉากที่น้อยหน่าใส่ชุดสีชมพู เต้นในงานวันเด็ก ‘เป็นแฟนกันได้ยังไง?’ ในทีวี ในฉากที่เจี๊ยบกับน้อยหน่าเริ่มมีใจให้กัน หรือ ‘รักครั้งแรก’ เพลงคลอในงานแต่งงานของน้อยหน่า ในฉากใกล้จบ 

ใช่, แฟนฉันคือสิ่งที่ปลุก ‘เกิร์ลกรุ๊ป’ อย่างพวกเขาขึ้นมาอีกครั้ง 

ก่อนจะเริ่มสัมภาษณ์ ผมทำการบ้าน นั่งเปิดยูทูบดูเอ็มวีของพวกเขา หนึ่งในนั้นคือ ‘แพะยิ้ม’ เพลงสุดล้ำที่แต่งโดย ชรัส เฟื่องอารมย์ เมื่อ 43 ปีก่อน ในชุดแรก ดูการแสดงสดของพวกเขาตั้งแต่แต่งตัวสีลูกกวาด จนกลายเป็นชุดดำล้วนในชุด ‘ดอกไม้ของน้ำใจ’ ก่อนอำลาเวที ดูการสัมภาษณ์อย่างอารมณ์ดีของพวกเขา ทั้งในห้วงเวลาที่ สาว สาว สาว ยังโลดแล่นในวงการ และหลังจากที่แต่ละคนแยกกันไปมีชีวิตของตัวเอง 

แล้วผมก็เป็น ‘แฟน’ ของวงนี้ไปโดยปริยาย

ก่อนหน้านั้น พวกเราอาจรู้จัก แอม-เสาวลักษณ์ ลีละบุตร เรารู้จัก แหม่ม-พัชริดา วัฒนา และเราต่างก็รู้จัก ปุ้ม-อรวรรณ เย็นพูนสุข ทุกคนล้วนมีแสง มีความสามารถล้นเหลือ ในฐานะศิลปินเดี่ยว ทั้งงานเบื้องหน้าและเบื้องหลัง 

บทสัมภาษณ์นี้จะพาไปรู้จัก สาว สาว สาว ตั้งแต่ Day 1 ที่พบกัน ที่มาของเพลงดังของพวกเขา ความรู้สึกหลังการแยกย้าย และต้องกลับมารวมตัวอีกรอบใน ‘ประตูใจคอนเสิร์ต’ คอนเสิร์ตที่จะพาเปิดประตูมิติเวลา กลับไปหาพวกเขาครั้งยังเยาว์วัยอีกครั้ง

เพราะการชื่อ สาว สาว สาว ก็ดีอีกอย่าง ไม่ว่าวัยไหน พวกเขายังเป็น ‘สาว’ ตลอดเวลา

สาว สาว สาว แต่ละคน โตกันมาแบบไหน

แอม: โตมาแบบลุ่มๆ ดอนๆ อยู่บ้านนักดนตรี อยู่บ้านนักร้อง สมมติมีคนมาถามว่า เข้าวงการมาอย่างไร เราก็จะตอบว่า ไม่ต้องเข้า เกิดมากลางวงการเลย ไม่ต้องเข้า มีแต่จะออก (หัวเราะ)

แหม่ม: เพราะว่าเราสองคน มีคุณแม่เป็นนักร้อง (สุดา ชื่นบาน แม่ของแหม่ม และฉันทนา กิติยพันธ์ แม่ของแอม) การทำงานในยุคของแม่ก็คือ คุณแม่ไปร้องเพลงในห้องร้องเพลงของโรงแรม แล้วเราสองคนก็ถูกลากไปในที่ทำงานของแม่ 

ปุ้ม: ส่วนของเราก็คือ แม่เราเป็นญาติกับแม่แอม ถึงแม้ว่าจะไม่ได้อยู่กรุงเทพฯ แต่เกิดเป็นคนโคราช แต่ว่าเหมือนได้รับกลิ่นอายของความเป็นศิลปิน ปิดเทอมทีไร แอมก็ไปอยู่กับเขาที่โคราช แล้วแม่แอมก็จะมีรายการชื่อ ‘ฉันทนาโชว์’ ที่เอาลูกๆ หลานๆ ไปร้องเพลงในรายการ 

แหม่ม: มันเหมือนกับอยู่ดีๆ แม่ไปเที่ยวกันก็หอบลูกไปด้วย เราจะเจอพี่แอมตั้งแต่เราสามขวบ สามสี่ขวบ มาเจอพี่ปุ้มทีหลัง แต่ก็เรียกว่าโตขึ้นมาด้วยกัน

แอม: โดยสรุปก็คือ สาว สาว สาว โตมาด้วยกันกัน ฉะนั้นเวลาเป็น สาว สาว สาว มันไม่ได้เปลี่ยนเราไม่ได้เปลี่ยนความสำคัญของพวกเรา แต่มีคำว่า สาว สาว สาว เป็นหลังคาครอบเด็กสามคนนี้ไว้ แล้วเมื่อไรก็ตาม ที่เอาหลังคานี้ออกไป สิ่งที่อยู่ในนั้นมันก็ยังคงเหมือนเดิม

ตอนเด็กๆ พวกคุณฟังเพลงอะไรกันบ้าง

ปุ้ม: สมัยก่อนพวกเราฟังเพลงสากลเยอะ เราโตมากับเพลงสากลมากกว่า ไม่ได้ดัดจริตนะ

แอม: เพราะว่าที่บ้าน แม่ร้องเพลงฝรั่ง

ปุ้ม: พอแม่ๆ ร้องเพลงฝรั่ง เราก็ได้ยินไปด้วย แล้วเราก็ชอบไปด้วย

แอม: ส่วนคุณพ่อก็เล่นเพลงฝรั่ง พ่อเป็นนักดนตรี พ่อก็แบบ Simon & Garfunkel อะไรไป

แหม่ม: หรืออย่าง The Carpenters พวกเราโตมากับเพลงพวกนี้ มันเหมือนฝึกร้องไปในตัว เพราะเราชอบ แล้วเราไม่ได้ฟังเพื่ออยากจะเป็นนักร้อง เราฟังเพราะแม่เขาร้อง พอฟังแม่ร้องไปเรื่อยๆ มันก็ร้องได้เอง

สิ่งที่สงสัยก็คือ เออทำไมเพลงมันเพราะจัง เราร้องดีไหม แล้วเราก็ชอบร้อง พอมาเจอกัน เหมือนเด็กบ้าสามคนมาอยู่ด้วยกัน คือแบบคนหนึ่งก็ชอบร้องเพลง อีกคนหนึ่งก็ชอบร้องเพลง อีกคนหนึ่งก็ชอบร้องเพลง

แอม: แต่ที่ผ่านมาไม่เคยได้สตางค์เลยไงคะ (หัวเราะ) ร้องเพลงมันก็ดี แต่มันเริ่มดีมากขึ้นตอนที่เริ่มได้สตางค์นั่นแหละ (หัวเราะ)

แหม่ม: สมัยนั้น 500 บาทเป็นเงินสวรรค์ ตอนนั้นไปออกรายการแม่ รายการป้าแดง (ฉันทนา) ได้มา 500 บาทก็รู้สึกว่า ‘กูรวยแล้ว’ 

แอม: โคตรแพง (หัวเราะ) 500 สมัยก่อนสำคัญมาก ยิ่งใหญ่มากนะ จะต้องพับไว้ตั้งนาน กว่าจะแตกแบงก์ เขาเรียกแตกแบงก์ นั่นคือเส้นทางที่เรามา เรามาแบบนั้นกัน

เอาจริงๆ คุณแม่ที่เป็นนักร้องอาชีพ อย่างคุณสุดา (แม่เม้า) คุณฉันทนา (แม่แดง) สอนพวกคุณร้องเพลงอย่างไรบ้าง

แหม่ม: เอาจริงๆ นะคะ เรื่องร้องเพลง แม่ไม่เคยสอน สอนไม่ได้ คือมันเหมือนความเป็นแม่ลูกแล้ว เขาไม่ใจดีกับเรา ถ้าเขาสอนคนอื่น เขาจะมีความอดทนมากกว่า สุดท้ายก็เลยไม่สอน

แอม: มาตรฐานของเขากับลูกชาวบ้าน เขาอาจจะไม่ตึงเท่ากับลูกตัวเอง ลูกตัวเองมันแบบ อันนี้ทำไมทำไม่ได้ มันต้องแบบนี้ สุดท้ายจะกลายเป็นขัดใจกัน

แหม่ม: แต่เรารู้สึกได้ว่าเขาตั้งใจจะไม่สอนนะ เพราะว่าเราจะเป็นนักร้องประเภทที่เราก็ไม่ได้ปลื้มซึ่งกันและกัน ไม่ได้บอกว่าโอ้ย…แม่ชั้นเป็นนักร้อง หรืออุ๊ย! ลูกฉันเป็นนักร้อง มันจะเป็นต่างคนต่างแบบ สมมติถ้าเราไปออกงาน เรากลับมาบ้าน เราจะแอบเปิดเทปดูของเรา ไม่มีการมานั่งดูแล้วปลาบปลื้มแม่ ไม่มีนั่งวิจารณ์ 

แอม: สำหรับพี่ เขาเรียกเต้นกินรำกินค่ะ ไม่เหมือนปัจจุบันที่คุณพ่อคุณแม่ยินดี สนับสนุนให้ลูกเป็นศิลปิน สมัยนั้นพ่อแม่ก็ไม่ได้อยากให้เราเป็นนักร้อง

แปลว่าคุณเรียนร้องเพลง เรียนดนตรี มาจากการจำนักร้องที่คุณชอบ 

แหม่ม: สำหรับเรามันมาหลายอย่างเนาะ เช่นแบบบางทีเราไม่รู้ตัวด้วยซ้ำว่า เราชอบร้องเพลงจนถึงจุดที่เราคิดว่าเราคือนักร้อง

แอม: เพลงการ์ตูนร้องได้หมดเลย แล้วถ้าดูดิสนีย์ มันก็เหมือนเด็กเดี๋ยวนี้ ดูหนังดูการ์ตูนแล้วเราก็เลียนแบบไดอะล็อกหรือว่าเพลงในเรื่อง ภาษาอังกฤษก็เรียนมาจากเพลงการ์ตูน

แหม่ม: แล้วก็ที่สำคัญคิดว่า เป็นเพราะความที่แม่เป็นนักร้อง แล้วก็อย่างพี่ปุ้ม เขาอยู่ในครอบครัวนักร้องนักดนตรี ความรับรู้ของเราเวลาฟังแม่ร้องเพลง เราฟังคนอื่นร้องเพลง หรือฟังเพลงจากเทป มันไม่ใช่แบบคนที่เขาฟังเพลงแล้ว “อุ๊ย ชอบฟังเพลงนี้จัง” มันฟังลึกค่ะ โดยไม่รู้ตัว เช่น เขาร้องอะไรนะ ความหมายมันคืออะไรเหรอ หรืออยากรู้อยากเห็นอยากร้องตาม

แอม: จริงๆ การเล่นของเราในวัยเด็ก เป็นการเล่นที่เราไม่เคยคิดเลยว่า วันหนึ่งจะเป็นนักร้องอาชีพ แล้วยังเป็นนักพากย์การ์ตูนกันได้อีก

เรียกได้ว่า สาว สาว สาวเกิดขึ้นจากการฟอร์มกันไปออกรายการโทรทัศน์

แหม่ม: ใช่ค่ะ มีรายการฉันทนาโชว์เป็นรายการแรก แล้วก็มีรายการมิวสิคสแควร์ คือรายการที่คุณแม่เป็นพิธีกรสมัยนั้น แล้วหลังจากนั้นก็คงมีคนเห็นแหละค่ะ ก็มีการดึงลูกหลาน ลูกเพื่อน มีคุณลุงวิรัช อยู่ถาวร ซึ่งตอนนั้นเป็นนักดนตรีดังอยู่ในรายการด้วย

ปุ้ม: เมื่อก่อนไม่มีรายการประกวดร้องเพลง ไม่มีเวทีที่ให้เด็กๆ ไปขึ้นประกวด แล้วก็แมวมองไปเห็นอะไรแบบนี้ เพราะฉะนั้นวิธีการหานักร้องในสมัยก่อนคือ ไปหาตามผับบ้าง หรือว่าถามกันในวงการ ใครมีลูกมีหลาน ร้องเพลงอย่างนี้ได้บ้างอะไรอย่างนี้ พวกเราก็มาจากอย่างนั้นเหมือนกัน มาจากการถามในวงการว่า ใครมีลูกหลานร้องเพลงได้บ้าง ปรากฏว่าตอนนั้นเขาอยากได้นักร้องผู้หญิงที่เป็นวัยรุ่นซึ่งไม่มีเลย

แอม: ตอนนั้นตลาดว่าง (หัวเราะ) ก็เลยหายากนิดนึง

ปุ้ม: ตอนปิดเทอม แม่แอมเขาบอกว่า เอาลูกหลานนี่ละ ตอนแรกจะมีแค่เราสองคน แหม่มยังไม่มา เพราะแหม่มเด็กมาก แล้วก็อยู่โรงเรียนประจำ จะมีแค่สองคน แล้วก็จะไปร้องนู่นนี่นั่น ตามเรื่องตามราวอะไรอย่างนี้ สุดท้ายมีแหม่ม ก็เลยมีสามคน

ตอนที่คุณได้ไปเจอกับคุณระย้า (ประเสริฐ พงษ์ธนานิกร แห่งรถไฟดนตรี) เขามี Reference ไหมว่าจะเอาวงแบบไหน 

แอม: ตอนเริ่มต้นไม่มีเลย เพราะว่าข้ามจากเพลงลูกทุ่ง-ลูกกรุงของไทยที่เขาเรียกสมัยก่อน ข้ามไปก็เป็นเพลงฝรั่งฝั่งตะวันตกไปเลย ไม่มีทางเอเชียที่ให้เราแบบเป็นแบบอย่าง จะมีก็ไปเป็นนักร้องจีน เพลงจีน เพลงหนังจีน ไปเลยอะไรแบบนั้น แต่ว่าญี่ปุ่น-เกาหลีอะไรพวกนี้ เราแทบไม่รู้เลยว่าเกิดอะไรขึ้นบ้าง เราไม่มีอินเทอร์เน็ต ไม่มีโซเชียลฯ ยังห่างไกลมาก ซึ่งทำให้ตั้งแต่อัลบั้มแรกของพวกเรามันจับทิศทางไม่ได้ ไม่มีตัวอย่าง ของไทยไม่มีให้ดู ถ้ามีก็เดอะฮอทเปปเปอร์ซิงเกอร์ ซึ่งก็เป็นเพื่อนแม่แล้ว

แหม่ม: เหมือนอัลบั้มแรกพอออกมาอย่างนี้ เราก็ยืนร้องกัน โยกกันแค่นี้ ถ้าไปเปิดมิวสิกวิดีโอสมัยเก่าๆ ดูจะเห็นว่า… 

แอม: อย่าเปิด (เสียงแข็ง)

แหม่ม: อย่าเปิด แต่ถ้าไปเปิดดูจะเห็นว่า มันคือเด็กที่ยืนร้องเพลงโดยที่ไม่เป็นตัวของตัวเอง เพราะว่านักร้องรุ่นนั้นที่เข้ามาเขาก็ยืนนิ่งๆ แล้วก็ร้องเพลงกันทั้งนั้น

แอม: แต่พอมาอัลบั้มที่สอง เราเริ่มไปเที่ยวญี่ปุ่นกัน ตอนนั้นการท่องเที่ยวยังไม่ได้ง่ายดายเหมือนเดี๋ยวนี้ ไปเที่ยวกันแล้วเราก็เริ่มซื้อนู่นนี่กลับมา สั่งซื้อหนังสือจนเห็นภาพรวมของศิลปินญี่ปุ่น สิ่งที่เราคิดว่ามันน่าจะเข้ากับเรามากที่สุดก็คือเด็กญี่ปุ่น น่าจะประมาณนี้ เพราะเด็กฝรั่งตอนนั้นก็มาดอนนา (Madonna) คือเซ็กซี่ไปเลย มันก็ไม่ใช่เรา ส่วนทางไทยก็เรียบร้อยไปเลย ไม่มีอะไรให้เราเกาะก็เลยหาเจอตรงญี่ปุ่น เป็น J-Pop นี่ละ

แล้วรู้ตัวเมื่อไรว่าจะได้ออกเทป 

แหม่ม: Day 1 ก็คือแม่ก็เรียกให้ไปคุยกับผู้ใหญ่ โดยที่เราก็ไม่รู้ว่าผู้ใหญ่จะเอาเราไปทำอะไร

แอม: จริงๆ ไม่เคยเซ็นสัญญาอะไรเลย อายุไม่ถึง

แหม่ม: น้าระย้าเขาดูตัวแล้วเขาชอบ เขาก็ให้ร้องเพลงให้ฟัง จำไม่ได้ด้วยซ้ำว่าร้องเพลงอะไร มันเหมือนอยู่ดีๆ ไปแล้วเขาก็เอาสองคนนี้แหละ

แอม: คือตอนนั้นเป็นเหมือนตอนที่เราเริ่มหัดเล่นกีตาร์ตอนเด็กๆ ใช่ไหม ก็จะเป็นเหมือนของติดไม้ติดมือ ไปไหนก็หิ้วไป เหมือนนักเรียนเดี๋ยวนี้ที่โรงเรียนเลิกก็หิ้วกีตาร์ ก็เปิดหนังสือเล่นตลอด ตอนคุณระย้าบอก “เอ้า… เข้ามากินข้าวกัน ไม่ซีเรียส หยิบกีตาร์มาด้วยนะ” เราก็ยังไม่รู้ว่าคือจะเอาไปทำอะไร เหมือนน้าเขาอาจจะชวนไปร้องเพลงอะไรอย่างนี้ เขาอยากฟังก็หยิบกีตาร์ไป หยิบกีตาร์ถลอกไปทุกแห่งอยู่แล้วตอนนั้น

ปุ้ม: ตอนนั้นไม่มีคำว่าออดิชันด้วยเนอะ

แหม่ม: ไม่มี

แอม: ไม่รู้จัก

แหม่ม: แล้วไม่รู้เหมือนกันว่าทำไมเขาถึงเอาพวกเรา นี่สารภาพ ต้องไปถามน้าระย้าว่า น้าเห็นอะไรเหรอคะ

คุณเคยให้สัมภาษณ์ว่า เพลงชุดแรก (รักปักใจ) และมีเพลงแพะยิ้ม ที่แต่งโดยคุณชรัส เฟื่องอารมย์ ไม่ได้เข้ากับคุณเลย แล้วก็ไม่ได้ประสบความสำเร็จนัก เอาจริงๆ คุณรู้สึกอย่างไรกับชุดแรกบ้าง

แอม: น้าแต๋ม (ชรัส) ก็ไม่เคยเห็นเรา เราก็ไม่เคยเจอเขา ต่างคนต่างมโน มโนกันไปมา เพราะว่ามันไม่ได้เหมือนเดี๋ยวนี้ที่พอจะทำอัลบั้มแล้วมีการประชุมใช่ไหม เข้ามาประชุม ฝ่ายนู้นฝ่ายนี้ แต่ตอนนั้นมันทำกันแบบบ้านๆ ก็มีน้าระย้าคนเดียวที่คอยประสาน เขาก็จะบอกว่า คนนี้เอาเพลงนี้ เพลงนี้น่าฟัง หยิบเพลงนี้มา เด็กคนนี้ร้องเพลงนี้ น่าฟัง น่าหยิบมา คนนี้แต่งเพลงเป็น ใช้ได้

ปุ้ม: เพราะเมื่อก่อนไม่มีแผนกแต่งเนื้อ แต่งทำนอง ให้ใครทำก็ได้ แล้วก็ส่งตัวอย่างเดโมมาให้ฟัง แต่น้าระย้าเขาก็มีรายการรถไฟดนตรีที่ตอนนั้นดังมาก อันดับหนึ่งของประเทศ แฟนคลับเขาเยอะ คนที่ส่งเพลงเข้ามา ณ เวลานั้นก็คือตัวท็อปของวงการ เราก็ได้เจอน้าแต๋ม (ชรัส เฟื่องอารมย์) พี่ภูสมิง (ภูสมิง หน่อสวรรค์) ทุกคนที่พุ่งเข้ามา เรามีอดีตร่วมกันทั้งนั้นเลย (ยิ้ม)

แอม: ใช่ เรามีอดีตร่วมกันทั้งนั้นเลย พี่ป้อม อัสนี (อัสนี โชติกุล) เล่นกีตาร์เพลงประตูใจ โดยที่เราก็มารู้ทีหลัง ตอนเด็กๆ เราไม่ได้เจอนักดนตรี ไม่ได้เจอใครเลย สไตลิสต์ก็ไม่มี ไม่มีเสื้อผ้าหน้าผม หาเอาเอง แรกๆ มีอะไรก็แม่แต่งให้ เครื่องสำอางก็ไม่มี ลิปมันยังไม่มีเลย

แหม่ม: เสื้อผ้าที่ใช้ถ่ายปกอัลบั้มชุดแรก ก็เสื้อผ้าแม่สักครึ่งหนึ่งละ 

ชุดแรก เหตุที่มันไม่ประสบความสำเร็จก็เพราะว่า หนึ่ง การที่ผู้ใหญ่เลือกเพลงมา ไม่ใช่หมายความว่าผู้ใหญ่ผิดนะ แต่หมายถึงว่า ณ เวลานั้น เพลงเขาฟังกันแบบนั้น เขาก็เลือกเพลงที่เพราะสำหรับ ณ เวลานั้น แล้วเขาก็กล้ามากที่เอานักแต่งเพลงรุ่นใหม่อย่างคุณชรัส มาแต่งเพลงให้เด็กใหม่อย่างเรา ซึ่งก็เป็นการพอดีกัน แต่ว่าอาจจะยังไม่คลิกสำหรับมวลชน

แหม่ม: มันก็มีเพลงที่เพราะ แล้วก็มีเพลงอย่างแพะยิ้ม ถึงได้หลุดแหวกออกมา เพราะว่าไม่มีใครแต่งเพลงแบบนั้น 

ปุ้ม: เหมือนเป็นช่วงช็อกวงการเบาๆ มันคือใครวะสามคนนี้ แล้วก็ร้องเพลงที่แปลกประหลาดกว่าชาวบ้านชาวช่อง ไม่อยู่ในหมวดหมู่ไหนเลย

แต่อัลบั้มประตูใจ ชุดที่สอง กลายเป็นชุดที่ดังมากๆ 

แอม: สำหรับเรา คือชุดที่เริ่มเป็นรูปเป็นร่างว่าทิศทางของเรา หน้าตาวง สไตล์ต่างๆ จะไปทางไหน 

แหม่ม: อีกส่วนคือความคุ้นเคยด้วย เราทำงานกับรถไฟดนตรีมาปีหนึ่งแล้ว เราคุ้นเคย เราเริ่มมีความเป็นตัวของตัวเองมากขึ้น แล้วก็ไอเดียว่าเราจะแต่งตัวอย่างนี้ ซึ่งน้าระย้าเขาก็ไม่ขัด เขาก็ปล่อยให้เด็กได้เป็นอย่างที่อยากเป็น

แอม: อีกส่วนเราก็เก็บสตางค์ซื้อหนังสือญี่ปุ่น แต่งตัว ท่าทางแบบนั้น ตัวตนก็เลยชัด ทุกอย่างออกมาจากตัวเราจริงๆ ตอนนั้นไม่มีใครมาแนวนี้เลย อยู่ดีๆ ก็อีนี่มันร้องเพลงอะไร

แหม่ม: ใส่หมวก ร้องเพลงญี่ปุ่น ผูกโบ

แอม: อะไรไม่รู้ แล้วก็เต้นไม่สนใจประชาชนด้วยนะ ว่าเป็นเพลงฮิตไหม เขาจะรู้จักเพลงไหม กูจะร้อง

ปุ้ม: คือเรียกว่าเขาไม่รู้จักเลยดีกว่า เพราะว่าสมัยนั้น การเอาเพลงญี่ปุ่นมาร้องบนเวทีคอนเสิร์ต แล้วคนฟังก็นั่งอ้าปากแบบเพลงอะไรอะ

แอม: แต่ก็น่ารักมากไง พอโชว์เขาก็ปรบมือตาม เต้นตาม หรือว่าอยากมาดู แค่มาดูว่า วันนี้มันจะใส่เสื้อผ้าอะไร บ้าๆ บอๆ ร้องเพลง มันก็เป็นภาพเหมือน ไปดูภาพเด็กๆ ร้องเพลงญี่ปุ่นเหมือนอะไรแปลงกาย

แหม่ม: ส่วนหนึ่งน่าจะเป็นว่า สามคนนี้ทำแทนฉันได้ เป็นความรู้สึกร่วมของวัยรุ่นเจนฯ นั้น

ปุ้ม: เป็นตัวแทนหมู่บ้าน 

แหม่ม: สมัยนู้น เพลงก็พวกเราเลือกเอง ยกเว้นเพลงในอัลบั้มที่คุณระย้าเป็นคนเลือก แต่แสดงสด เราอยากร้องเพลงฝรั่ง ญี่ปุ่นอะไร เขามีหน้าที่ซัพพอร์ตเราอย่างเดียว เสื้อผ้าเราก็เตรียมกันไปเอง เพิ่งมามีช่วงหลังๆ ที่เริ่มเข้าสู่ระบบ แบบซื้อเสื้อผ้าแล้วมีไปเบิกสตางค์น้าอะไรอย่างนี้ ก็ดี ความอิสระทางความคิดสูงมาก ณ เวลานั้น 

การออกรายการโลกดนตรี น่าจะเป็นการพาสาว สาว สาว ออกไปให้ดังระดับประเทศ เล่าให้คนยุคนี้ฟังหน่อยว่า การออกรายการทำให้วงดนตรีวงหนึ่งดังเปรี้ยงปร้างได้อย่างไร

ปุ้ม: จริงๆ เริ่มตั้งแต่รายการวิทยุแล้ว ยุคนั้นคนฟังวิทยุเยอะ พออัลบั้มเราทำเสร็จ แล้วคุณระย้าก็ไปเปิดในรายการ ก็ดังเลย อยู่ดีๆ ก็ “อ้าว… ดังแล้วเหรอ” (หัวเราะ)

แอม: ดูไม่รู้เรื่องหรอก เพราะว่าอัดเสียงเสร็จ วันจันทร์ไปโรงเรียน นี่คือความเป็นเด็ก ก็ห่วงแต่เล่น

ปุ้ม: แล้วยิ่งพอไปออกรายการโลกดนตรี เราถึงได้ประจักษ์แจ้งกับสายตาตัวเองว่า “มันขนาดนี้เลยเหรอ” ตกใจจริงๆ

แหม่ม: เพราะว่าเทปแรกที่เราไปออกโลกดนตรีตอนนั้น เราก็ยังไม่ได้ดังมาก เพิ่งเปิดอัลบั้มประตูใจใหม่ๆ ก็ไปร้อง คนก็อยู่ในห้องส่งพอดีๆ ฟังเพลง แต่พออัลบั้มเดิมได้ไปออกครั้งที่สอง เพราะเริ่มดังแล้วคนเรียกร้องให้ไปออกอีกรอบ นี่ต่างกันลิบลับเลย ครั้งแรกไปในห้องส่งคนก็ดูกันพอประมาณ แต่ครั้งที่สองที่ไป คือคนล้นห้องส่ง 

เพลงประตูใจ ที่ ทำให้ดังมากๆ เพลงนี้เป็นมาอย่างไร 

ปุ้ม: ถูกส่งมาเหมือนกัน คือมีคนทางบ้านส่งเดโมมาให้ทางรถไฟดนตรี เขาก็มาเลือกอีกที เหมือนมาชอปว่ามีสินค้าอะไรบ้าง แล้วเขาก็ชอปมาเป็นเพลงนี้ เพราะตอนนั้นรู้แล้วว่า จากอัลบั้มแรกนั้นดูโตเกินไป อันนี้ปรับลงมาเด็กหน่อย 

แหม่ม: แล้วก็โชคดี คือคนที่แต่งเพลงก็เป็นเด็กที่เป็นรุ่นพี่เรานิดนึง ก็คือพี่วินัย คุณระย้าเขาตั้งชื่อว่าวินัย วิษณุกร แต่จริงๆ ก็คือพี่วินัย จรัสอาชา ตอนนั้นเขาก็เป็นเด็กวัยรุ่นคนหนึ่ง เขามีวงของเขาเองชื่อวงไอศกรีม เขาก็เข้ามาเสนอตัวกับคุณระย้าทั้งวง แล้วเขาก็เป็นนักแต่งเพลง เขาก็มีเพลงพวกนี้ติดมา คุณระย้าก็ชอบมาก ก็เลยเอาประตูใจ เอารักคือฝันไป มาให้สาว สาว สาว ร้อง

แอม: คุณระย้าจะดูว่า สมมติพี่แอมร้องเพลงเร็ว เพลงช้า เพลงโจ๊ะๆ ได้หมด ส่วนสองคนนี้ พี่ปุ้มก็จะเพราะๆ หวานๆ ส่วนถ้าเป็นน่ารักมุ้งมิ้ง ก็ต้องเป็น…

แหม่ม: ส่งมาเลย แพะยิ้ม แมงมุม พบกันที่เขาดิน ส่งมาเลย

ปุ้ม: เพราะฉะนั้นตอนที่เราอัดเสียง เราก็คือเอาจริงๆ เราก็แค่เข้าไปใส่เสียง เราไม่ได้ไปอยู่ในขั้นตอนเลือกเพลง ไปร้องเสร็จ กลับบ้าน

แหม่ม: แต่สิ่งหนึ่งที่ตลก คือพวกเราไม่มีใครอยากร้องนำเลย แต่ละคนจะแย่งกันร้องประสาน 

แอม: รู้สึกเมโลดี้มันน่าเบื่อ ตอนแรกๆ ก็ไม่มีนักดนตรีมาเขียนไลน์ประสานให้ด้วยนะ ตอนนั้นใส่กันเอง อยู่ในหัวอยู่แล้วใส่เพลง แล้วน้าระย้าเกิดชอบก็อัดเลย กดอัด อัดไม่นานด้วยปุบปับๆ เสร็จออกไปหยอดเหรียญเล่นเกมต่อ

ปุ้ม: ไม่มีหลักการอะไรเลย (หัวเราะ) แต่พวกเราโชคดีอย่างหนึ่ง คือเราสามารถร้องแทนกันไลน์ไหนก็ได้ ไม่ว่าจะสูงจะกลางจะต่ำร้องแทนกันได้หมด

เวลาโชว์สด สนุกขนาดไหน

แอม: สนุกของตอนเด็กๆ เมื่อก่อนนู้นนะ กับอารมณ์การขึ้นเวทีคอนเสิร์ตของปัจจุบัน มันก็จะย่อมแตกต่างกันไปตามอายุงาน ชั่วโมงบิน แล้วก็วัยของเราด้วย เมื่อก่อนนี้เป็นความแบบสนุกแบบสนุกสนานตื่นเต้น เด็กๆ ได้เจอกัน ได้แต่งตัว มาสนุกร่วมกัน ตื่นเต้นแบบอยากแสดงออก แต่ว่าพอตอนหลัง พอเราโตขึ้นก็เริ่มมีความจริงจังในการทำงานมากขึ้น

แหม่ม: เริ่มเป็นความตื่นเต้นแบบต้องรับผิดชอบ

แอม: มือเย็นมือเปียก เริ่มรับผิดชอบ สมัยก่อน ห้า สี่ สาม สอง ร้องได้เลย อะไรอย่างนี้ เดี๋ยวนี้ยืนแพนิก มีความรู้สึกว่าต้องรับผิดชอบอะไรที่จริงจังมากขึ้นกว่าสมัยก่อน

แหม่ม: เมื่อก่อนไม่มีความรู้สึกว่าต้องแข่งกับอะไร แข่งกับตัวเองก็ไม่ต้อง แต่พอตอนหลัง ยิ่งอายุงานเรานาน เราจะทำอะไรซ้ำเดิม เราก็คิดแล้วว่า อันนี้พี่แอมเขาเคยทำไปแล้ว ก็เลยทำให้ต้องคิดมากเวลาจะทำอะไร หรือวันนี้เราจะเต้นประตูใจแบบตอนที่เราเป็นเด็ก หรือแม้แต่ทุกวันนี้จะให้ร้องแพะยิ้มบนคอนเสิร์ตก็จะคิดเยอะเหมือนกัน

แอม: แต่แปลกอย่างหนึ่ง เมื่อก่อนขึ้นคอนเสิร์ตเอาสนุกอย่างเดียวเฉยๆ เราร้องเพลงไม่ผิดเลยนะ

ปุ้ม: ก็ไม่ได้คิดอะไร

แอม: แต่ยิ่งแก่ ยิ่งแบกความกังวล ยิ่งลืม ด้วยความที่จริงๆ ควรจะเก่งขึ้น ชั่วโมงบินสูง แต่กลับเป็นอีกอย่าง

แหม่ม: ยิ่ง Professional

แอม: แต่เวลาไปเดี่ยว ทุกคนเก่งนะ หมายความว่าในแบบของตัวเอง แต่พอแบบจับยายสามยาย กลับมาสาว สาว สาว ปุบเนี่ย ครั้งแรกเลยก็จะเป็นแบบนอยด์ๆ

แหม่ม: (หัวเราะ) มีแฮชแท็กของคนที่มาดูแล้วเขาบอกว่า “รักสามคนนี้จริงๆ อะไรเอ่ยเต้นไม่พร้อม” อะไรอย่างนี้ 

แอม: เป็นคอนเสิร์ตที่ต้องดูก่อนตาย อะไรแบบนี้ ประมาณนั้น แต่เราก็ไม่คิดหรอก ไม่คิดจริงๆ ว่า จะกลับมาแบบติดโบเต็มศีรษะอีก แต่สองคนนี้ (แหม่มและปุ้ม) เครียดกว่าเรา เพราะเขาเริ่มเป็นครูบาอาจารย์ เขามีลูกศิษย์ของเขา

ปุ้ม: เริ่มแบกความคาดหวัง

แอม: เรียกคุณครูอะไรอย่างนี้ เขาเลยเริ่มเครียด (ยิ้ม)

อย่างรักคือฝันไป วันแรกที่เล่นสดกับวันนี้ที่ต้องร้องอีก ความรู้สึกต่างกันเยอะไหม

แหม่ม: จริงๆ รักคือฝันไปเป็นเพลงที่แยกออกไปจากความเครียดนะ เนื่องจากว่าเพลงนี้เป็นเพลงที่ทุกคนร้องได้ เราก็ร้องแบบให้ทุกคนสนุก เพราะว่าจะเป็นเพลงที่เราไม่โฟกัสเรื่องท่าเต้น เราโฟกัสเรื่องไลฟ์ เพราะฉะนั้นให้ทุกคนสนุก ก็ร้องกัน เมื่อไรที่ต้องโฟกัสท่าเต้น 1 แอนด์ 2 แอนด์ 3 แอนด์ 4 เมื่อไรก็พังเมื่อนั้น (หัวเราะ)

แอม: ไม่มีอะไรค่ะ รักคือฝันไปกลายเป็นมันเหมือนกับเพลงหลังรถทัวร์ ที่พอตีกลองหลังรถทัวร์ ทุกคนก็ร้องตาม

ปุ้ม: เหมือนร้องเพื่อเอนเตอร์เทน

เอาจริงๆ รักคือฝันไป ดังตั้งแต่แรกไหม หรือมาดังทีหลัง 

แหม่ม: เพลงนี้แหละที่ดังมากกว่าประตูใจด้วยซ้ำ คือพอประตูใจเปิดตัวมาก็ว่าดังแล้วนะ แต่พอรักคือฝันไปปล่อยเนี่ย มันยิ่งดังกว่าอีก กลายเป็นว่าคนในอัลบั้มประตูใจจริงๆ เพลงที่ทำให้ทุกคนร้องได้คือรักคือฝันไปเยอะกว่า 

แอม: แล้วก็เป็นเหมือนภาพจำ ทุกคนที่ทันเรานะ ทุกคนก็จะ “รักคือดวงจันทร์ รักคือตะวัน รักคือฝันไป” คืออัตโนมัตินะ เราอยู่บนเวทีมองลงมา พอเพลงขึ้นมาก็ทำมือโดยอัตโนมัติ

อีกเพลงที่ผมชอบคือ เป็นแฟนกันได้ยังไง? เล่าที่มาของเพลงนี้หน่อย

แอม: ตอนนั้นก็ดัง แต่ตอนนั้นในความรู้สึกของพวกเรานะ พวกเราจะงงๆ กับเนื้อเพลงตลอดเลย อะไรวะ ไปเจอกันที่ร้านหมอฟัน ส้มตำ ทำไมส้มตำใส่ปูเค็มอะไรวะ เพลงอะไร แต่เราเป็นแฟนกัน สรุปพี่วินัยคนเดิม เขาครีเอทีฟละ แต่ตอนนั้นเราไม่ชินกับการใช้คำพวกนั้นในเพลง

ปุ้ม: เพราะว่าสมัยก่อน เวลาเขาแต่งเพลง เขาจะมาจากกลอน นู่นนี่ ต้องมีสัมผัสนอกสัมผัสใน แล้วก็เนื้อหาก็จะต้องสละสลวย

แอม: เขาจะต้องมีดวงจันทร์ สุริยัน จันทรา

แหม่ม: พี่วินัยมาเลย มาถึงปุบ

แอม: หมอฟัน แกงจืด ใส่ปูเค็ม

ปุ้ม: ไม่ต้องแปลๆ ก็เลยกลายเป็นว่า มันแปลกในยุคนั้น สำหรับเรา

แหม่ม: แต่เราชอบเมโลดีท่อนฮุกนะ ‘แต่เราเป็นแฟน เราเป็นแฟนกัน’ อันนี้เรารู้สึกว่า มันเก๋ มาก่อนกาลมาก

สาว สาว สาว คือส่วนหนึ่งที่ทำให้ แอม เสาวลักษณ์ กลายเป็นนักแต่งเพลงทีหลัง และคุณเองก็เริ่มแต่งเพลงตั้งแต่สมัย สาว สาว สาว อยากให้เล่าตอนเริ่มแต่งเพลงว่าเป็นอย่างไร

แอม: จริงๆ มีแต่ความบังเอิญทั้งนั้นเลย สามคนนี้ ด้วยความที่พ่อแม่พูดมาตั้งแต่เด็กเลย ไม่ให้เป็นนะนักร้อง ไม่ให้เข้าวงการ ไม่ให้ทำงานนี้ เราก็ไม่คิดอยู่แล้วว่ามันจะเป็นอาชีพ ทุกอย่างมันคือการบังเอิญที่เราหยิบจับ เอามาหมด เราชอบอ่านหนังสือ เราเป็นหนอนหนังสือมาก แล้วก็บังเอิญแต่งเพลงไว้ แต่งกลอนเปล่าไว้ ก็เอามาใส่ทำนอง พอเราหัดเล่นกีตาร์พอดีเราก็มาใส่ทำนอง นุ้งนิ้งๆ เพื่อนก็ถามว่าอะไรอะ เพราะดี เราก็ร้องตาม เล่นตาม ในหมู่เด็กนักเรียน

แล้วก็เรียนเปียโนด้วย กีตาร์ไม่ได้เรียน กีตาร์เล่นเอง บางทีนึกทำนองออกก่อน ก็กดเปียโนก่อน บางทีก็ดีดกีตาร์ก่อน บางทีก็นึกเป็นเนื้อก่อน หรือว่าแต่งกลอนก่อนแล้วไปใส่ทำนอง คือมันไม่มีใครมาปฏิเสธเรา มันต่างกันมากกับสมัยที่อยู่แกรมมี่ ที่ถูกบรีฟให้ต้องทำอะไร เราก็แต่งๆ ร้องๆ ตอนพักนั่นละ

วันหนึ่งเราหนีบกีตาร์ไป เขาอัดเสียง ก็บังเอิญเล่นๆ กันอยู่ข้างใน คุณระย้าได้ยินอีก ไมค์ไม่ได้ปิดอีก เลยถามว่าเพลงอะไร หนูแต่งเพลงด้วยเหรอ ความรู้สึกเราก็คือ แล้วแปลกตรงไหน

เขาก็เลย “อ้าว… ไหนเล่นมา” แล้วลองอัด ให้นักดนตรีไปเรียบเรียง ง่ายๆ เลย กลายเป็นเพลง ‘อยากลืม’ เพลงแรกในชีวิตเลย

แหม่ม: แต่เอาจริงๆ ในมุมของเรา การแต่งเพลงเป็นเรื่องยากมากสำหรับเรา แค่จะบอกว่า พี่แอมไม่เคยรู้ตัวว่า มีสิ่งนี้เป็นพรสวรรค์โคตรๆ อยู่ในตัวเขา

แอม: มันเพ้อเจ้อไง เราเป็นคนเพ้อเจ้อ มันไม่ง่าย

แหม่ม: เพราะฉะนั้นคือคุณระย้าเขาฟัง เขาแยกออกเลยว่า นี่คือเพลงเพราะ เพราะเอาง่ายๆ เพลงของสาว สาว สาวที่เป็นเพลงช้า อยากลืม ทุ่งอ้อ ก็เขาแต่งทั้งนั้น

แอม: คืออย่างสองคนนี้เขายังดี เขาสอนได้ แต่ของเรา แบบเราสอนไม่ค่อยได้ นานๆ ถึงจะมีลูกศิษย์หลงมา 

ปุ้ม: ถ้าให้สอน บอกว่า ช่วยสอนแต่งเพลงหน่อย 

แอม: เคย เคยจัด มีด้วยนะทริปที่ไปแต่งเพลงแล้วเป็นทริปที่เขาเรียกว่าอะไร เหมือนเวิร์กชอปการแต่งเพลง ก็ต้องไปด้วย ทุกคนต้องมีการบ้านส่ง แต่เอาจริงๆ นะ สิ่งที่พวกเราสอนไปในวันนั้น กับสิ่งที่เป็นเพลงฮิต ณ วันนี้ คนละเรื่องกันเลย ลืมไปหมดได้เลย

ปุ้ม: คนละเรื่อง

แอม: ล้างกระดานไปให้หมดเลย เพราะว่าทฤษฎีอะไรต่างๆ เพลงไทย ที่แน่ๆ ภาษาไทยมีวรรณยุกต์ เพลงฝรั่งไม่ต้อง อยากจะอะไรก็ได้ ร้องอะไรก็ได้ อยากจะโน้ตอะไรก็ใส่คำได้หมด แต่ภาษาไทยจะมีแบบ มา หม่า ม่า ม้า หมา กา ก่า ก้า ก๊า ก๋า อะไรพวกนี้ เมื่อก่อนเขาจะซีเรียส 

ปุ้ม: ซึ่งใช้ตำรานี้กับยุคนี้ไม่ได้แล้ว ไม่ใช่

แอม: ตอนนั้นนะ เป็นส่วนหนึ่งที่พวกเราสอน คือวรรณยุกต์เป็นส่วนสำคัญ แต่ปัจจุบันนี้ ครูคะ แล้วเพลงอันนั้นที่กำลังฮิตอยู่ตอนนี้ ร้องอะไรก็ไม่รู้ เออมันดังอ่ะลูก คือไม่ต้องเชื่อละ ไปตามยุคสมัย ไปตามฟีล

เพลงช้าที่ดังมากๆ อีกเพลงคือเพลง คืนใจเพลงนี้เป็นอย่างไร มีความทรงจำอย่างไรบ้าง

แหม่ม: อัลบั้มนั้น คุณระย้าต้องการจะเปลี่ยน คือพอทำหลายอัลบั้มแล้ว คุณระย้าก็บอกว่า อย่างนั้นเรามาเปลี่ยนเป็นอะคูสติก สมัยนั้นยังไม่มีคำว่า ‘อันปลั๊ก’ ก็เอาพี่ภูสมิง หน่อสวรรค์ มาเป็นโปรดิวเซอร์ พอเป็นอะคูสติกก็ต้องไปถ่ายในพงหญ้า

แอม: ต้องไปเขาใหญ่ ต้องไปถ่ายในพงหญ้า 

ปุ้ม: ฟีลธรรมชาติ

แอม: คันชิบหาย

แหม่ม: แล้วก็พอมาเป็นดนตรีในแบบอะคูสติก และพี่ภูสมิงเป็นคนเรียบเรียง เป็นโปรดิวเซอร์ ก็ออกมาเพราะ ทีนี้ที่ฮิตเพราะเมโลดี้มันง่าย อย่างที่พี่แอมชอบพูด “คอร์ดนี้ไปได้อีกหลายเพลง”

แอม: ถ้าเล่นคอร์ดเพลงนี้ได้ เล่นได้อีกหมื่นล้านเพลงในโลกนี้ C Em Am F G G7 ยิ่งกว่าร้อยเพลงอีกเยอะมาก แล้วแค่จะเปลี่ยนแท่านั้นเอง จะเล่นคีย์อะไร จะเล่นคีย์ C หรือจะเล่นคีย์ G หรือจะเล่นคีย์ D แต่ว่าแพตเทิร์นเหมือนกัน เหมือนกันหมดจนถึงทุกวันนี้ เพลงมันก็ยังเป็นแบบนี้ โทษนะ สมมติ “I found a love for me. Oh, darlin’, just dive right in and follow my lead” (ร้องเพลง Perfect ของ Ed Sheeran) ก็ร้องได้ นั่นละ ไปดูคอร์ด แล้วฟังคืนใจ ดู เอามาร้องต่อด้วยกันได้

ตอนที่รู้สึกพอได้แล้ว จบแล้ว สาว สาว สาว คือตอนไหน

แหม่ม: จริงๆ อัลบั้มที่สิบ แต่อัลบั้มแปด อัลบั้มเก้าก็เริ่มเหนื่อยแล้ว

แอม: เริ่มเหนื่อยเพราะว่า พอเราอยากทำดนตรีที่แน่นหนักขึ้น อยากทำเพลงให้โตขึ้น ดนตรีแบบเอาแน่นๆ เอาแบบอะไรต่ออะไร ซึ่งไม่ผ่าน ไม่ผ่านมวลชน

แหม่ม: คำว่าไม่ผ่านหมายความว่า มันก็แน่นนะ สิ่งที่ทางบริษัทเขาทำ เขาเอาเพลงมา เขาพยายามตอบโจทย์ของเราทุกอย่าง แต่ด้วยความที่การทำงาน เราต้องมาเจอโปรดิวเซอร์ เราต้องมาเจอทีม มันไม่มี เพราะฉะนั้น มันยังคงอยู่ในลูปของการเอาเพลงดิบของคนนั้นคนนี้มา แล้วก็ส่งให้เรียบเรียง พอทำดนตรีมา บางเพลงดนตรีล้ำเลย แต่เนื้อหามันอาจจะเด็กไปหน่อย คือสุดท้ายแล้วมันมีความไม่พอดีหลายๆ อย่าง กับเขาก็ไม่พอดี กับเราก็ไม่พอดี

แอม: ตอนที่เราเป็นเด็ก เหมือนมีความจืดๆ เป็นแกงจืดสามถ้วย ไม่ได้มีสีสันอะไรมาก เพราะฉะนั้นเติมอะไรก็ได้ คนนี้เป็นหมูสับ คนนี้เป็นเต้าหู้ คนนี้เป็นผักกาดขาว อะไรก็ว่ากันไป ก็เสร็จเป็นแกงหนึ่งถ้วย แต่พอโตขึ้นมันก็จะมีคาแรกเตอร์ของเสียง ที่เป็นของตัวเอง การชอบเพลงที่ๆ ตัวเองชอบ เพลงที่ตัวเองฟังแล้วอยากได้เพลงแบบนี้ อยากทำแบบนี้ ก็จะเริ่มไม่ซัพพอร์ตอีกคน มันยื้อ มันดึงกันไปดึงกันมา ไม่ได้เหมาะกับทุกคน ไม่ได้เป็นก้อนละ

แหม่ม: ไม่ได้กลมกล่อม

ปุ้ม: พูดง่ายๆ ก็คือเราเริ่มโตขึ้น แล้วงานเราที่เราต้องทำกับภาพที่คนคาดหวังเริ่มสวนทางกัน เริ่มดึงกันยื้อไปยื้อมา จนมันเริ่มบิดเบี้ยว ในขณะที่คนดูยังติดภาพกับความลูกกวาดของเราอยู่ เขายังไม่อยากเห็นเราโต พูดง่ายๆ

แอม: เพราะเราเริ่มอยากกีตาร์เสียงแตกแล้ว แต่ต้องกลับไป ติ้งดุงดุงดุงดุ้ง เราก็ไม่เอาแล้ว 

ปุ้ม: แต่ในขณะนั้นคือเราโต แบบจบมหาวิทยาลัยแล้ว เราเกินวัยที่จะไปทำอย่างนั้นแล้ว ในความรู้สึกเรานะ แต่คนดูเขายังได้อยู่นะ

แอม: แล้วยิ่งเราฟังเพลงของคนอื่นที่ตามมา เพลงที่เกิดใหม่ๆ เขาทำมาแบบ โห ทำไมมันแน่นหนาอย่างนี้ เราอยากได้แบบนี้ แต่พอเราทำแล้วแบบในนามสาว สาว สาว มันไม่ได้ 

แอม: หนึ่งคือทาร์เกตเราไม่ค่อยชอบ ส่วนตัวเราเองก็พอเหมือนพยายามดันทุรัง ไปจนสุด ก็ไม่แฮปปี้ ไม่เป็นไปอย่างที่เราคิด

ปุ้ม: ใช่, เราก็เลยเริ่มคุยกันตั้งแต่ตอนอัลบั้มสุดท้าย ประมาณสองสามอัลบั้มว่า “เราควรจะพอหรือยัง” แค่เริ่มเกริ่น ยังไม่ได้ตัดสินใจ แล้วเราอีกกี่อัลบั้มดีจะเลิกวง ก็คุยกันมาเรื่อยๆ หลังจากนั้น จนกระทั่งถึงอันสุดท้าย เราก็อยู่ๆ จบไป ไม่มีปี่มีขลุ่ยอะไรทั้งนั้น ไม่มีคอนเสิร์ตปิดอำลาใดๆ ทั้งสิ้น

แอม: ตอนนั้นใกล้เรียนจบด้วย ต้องไปซีเรียสเรื่องการเรียน ต้องทำเรื่องขอจบ ต้องอะไรก็ไม่รู้หลายอย่างที่ทำให้เราไม่สามารถจัดสรรเวลาชีวิต

แหม่ม: เราไม่โฟกัสกับงานเป็นก้อนเดียวกันแล้ว เราเริ่มมีชีวิต อย่างเราพอเรียนจบ เริ่มจะไปต่อโท ก็มีแฟน ทุกคนเริ่มแยกย้าย แต่ในความต่าง เรายังคงเป็นพี่น้องกันอยู่ ก็เลยคุยกันง่าย เพราะฉะนั้นพอวันที่บอกว่า “เอาไง ไม่อยากเป็นสาว สาว สาว แล้ว ก็พอเนอะ แยกย้ายกันเถอะ” จบ

ปุ้ม: ไม่ใช่อะไร มันไม่สามารถจะเป็นร่างอย่างที่คนที่คาดหวังว่า จะเห็นเราเป็นลูกกวาดแบบนั้นต่อไปได้แล้ว เพราะเรารู้สึกว่าเราโตเกินกว่าจะไปทำอย่างนั้น มันกลับกันมากเลยนะ เหมือนฝืนไปมาก

แอม: พอตอนนี้กลับมาทำคอนเสิร์ตวัยนี้ ยิ่งฝืนหนักกว่าอีก แต่ทำไมมันไม่รู้สึกแบบนั้น มันกลายเป็นข้ามชอตไปเลย คราวนี้กลายเป็นแบบวัยห้าสิบ

ปุ้ม: ไม่หรอก เราน่าจะอยู่ในวัยที่เรียกว่า เป็นวัยที่ตกผลึกแล้ว ตกผลึกแล้วว่ากลับมาเป็นอย่างเดิมก็ได้ไม่เป็นไร

แอม: เป็นการเล่นสนุกมากกว่า

แหม่ม: เจ้พูดอย่างสุภาพมาก เอาจริงๆ คือห้าสิบแล้ว ทำอะไรไม่น่าเกลียดแล้ว

ปุ้ม: ทำอะไรก็ไม่ผิด (หัวเราะ)

แหม่ม: เมื่อก่อนตอนเป็นสาว แต่งตัวเปิดนิดนึงก็โดนว่า หาว่าอุ้ยอะไรแต่งตัวไม่เรียบร้อย เดี๋ยวนี้ เชิญ ขอให้คุณสนุกแล้วเราสนุก จบเลย ใช่

มีศิลปินหลายคนที่รู้สึกว่า วัยเด็กหายไปกับการเป็นนักร้อง พวกคุณรู้สึกกันไหม

แหม่ม: แน่นอน 

ปุ้ม: ก็หายไปช่วงหนึ่ง

แอม: ชื่อเสียงทำให้เราถูกกันออกมาจากกิจกรรมต่างๆ ของเพื่อนเหมือนกัน บางทีลำบาก แต่เพื่อนไม่ได้เป็นไรนะ เพื่อนก็ยังปฏิบัติกับเราแบบเป็นเพื่อนกัน เหมือนเรียนหนังสือมาด้วยกัน ทุกวันนี้ก็ยังคบกันอยู่ แต่ว่าอย่างเช่นตอนเราเข้ามหา’ลัย ที่เขามี บางทีไปค่าย ไปต่างจังหวัด ไปอะไรต่อมิอะไร วันนี้ภูกระดึงยังไม่เคยขึ้นเลย แล้วเกาะเสม็ดเขาก็ไปกันมา ส่วนเราไปครั้งแรกก็ตอนอายุสี่สิบกว่าแล้ว จนเกาะเละไปหมดแล้ว

ปุ้ม: เหมือนกัน เหมือนเราข้ามผ่านตรงนั้นไปเลย ไม่เคย 

แอม: วันหยุดก็ทำงาน วันเรียนก็ไปเรียน อยู่อย่างนี้แล้วจะเอาตอนไหนไปเที่ยว มันก็หายไป 

ปุ้ม: ทำให้เราคุยกับเพื่อนรุ่นเดียวกันไม่ค่อยรู้เรื่องเหมือนกัน แล้วด้วยความที่เราลงไปกระโดดลงไปทำงานเลยอย่างนี้ เพื่อนก็ยังคุยเรื่องเล่นเรื่องนู่นเรื่องนี่กันอยู่ เราก็รู้สึกว่าไม่อัปเดต

แหม่ม: อีกเรื่องหนึ่งที่เจอคือ เพื่อนชวนเที่ยวแล้วเราไปเที่ยวด้วยไม่ได้ เราไม่เคยไปเที่ยวด้วยได้ เพื่อนเลยบอก “อย่าไปชวนเลย แหม่มไปด้วยไม่ได้หรอก”

แล้วพออายุสิบสี่ ทุกคนรู้จักเรา ตอนนั้นจำไม่ได้เลยว่า การที่เดินไปไหนแล้วไม่มีใครสนใจเรามันเป็นอย่างไร

แอม: ใช่, ตอนนั้นเราถึงได้ไปญี่ปุ่นกันบ่อยมาก ไปญี่ปุ่นแล้วซื้อไอศครีมไปกินกันข้างถนนนั่งข้างถนน นั่งบนถนนพื้นเลย แล้วก็ได้ยินเสียง “พี่ครับ ไอติมย้อย” ถึงข้อศอกเลย หน้าก็ไม่ได้แต่ง ขายขี้หน้าเขา (หัวเราะ)

แหม่ม: ไม่ได้ดัดจริตนะ แต่ไปเวียดนามก็มีความสุขแล้ว เพราะไม่มีใครรู้จัก 

รู้สึกอย่างไรที่ผ่านมาสี่สิบกว่าปีแล้ว สาว สาว สาวยังมีคนพูดถึงอยู่

แหม่ม: หยาบคายจัง ไม่เห็นต้องใส่เวลาสี่สิบกว่าปีเลย ผ่านมานานแล้วก็ได้ 

ปุ้ม: เราก็รู้สึกว่ายากเหมือนกัน ในการที่ใครที่อยู่มานานขนาดเรา แล้วตอนนั้นคนจะยังพูดถึงอยู่เรื่อยๆ

แอม: เป็นเกียรติอย่างยิ่ง แล้วก็คิดว่าอาจจะไม่ใช่ทั้งหมดหรอกในวงการเพลงไทย ที่คุณจะทำยอดได้สูงสุด คุณดังมากในระยะเวลาหนึ่ง แต่ว่าการที่อยู่ยาวๆ คือสมมติว่าดังเพลงเดียว อันนี้ทำเขาเครียดด้วยซ้ำไป เพราะว่าเพลงต่อไปจะทำอย่างไรให้ดังเท่าเพลงนี้ได้ แต่ของพวกเราอยู่ตั้งแต่เป็นซีนเด็ก ซีนสาว แล้วก็มีช่วงที่ไม่ได้อยู่ด้วยกัน

อย่างที่บางทีก็โจ๊กกันเล่นๆ ว่าทำเพลงหนึ่ง ถ้าดังสุดแล้ว แล้วหลังจากนั้นจะทำอะไรกันต่อ แต่พวกเรานี่ทำ สาว สาว สาวกันมาแล้วสิบอัลบั้ม อัลบั้มเต็มสิบอัลบั้มนะ ไม่ใช่ซิงเกิล อยู่เป็นสิบปี แล้วก็พอหลังจากนั้นมาแยกย้ายกันไปเป็นศิลปินเดี่ยวอีกก็ยังทำอยู่ ยังอยู่ในวงการ 

สำหรับเรา ถือเป็นเกียรติแก่วงศ์ตระกูล พิสูจน์ให้เห็นว่าอาชีพนี้ไม่ได้กระจอก ไม่ได้แวบมาแวบไป ไม่ได้ไร้เกียรติอย่างที่สมัยก่อนเขาคิดกัน

แหม่ม: ก็ขอบคุณที่รักกันค่ะ

ถามถึงการกลับมารวมตัวของสาว สาว สาว หลังจากพวกคุณไปมีชีวิตของตัวเองกันแล้ว แอมไปเป็น ‘ดอกไม้เหล็กไปแล้ว ยากไหมที่ต้องกลับมารักคือฝันไป มาก๊อก ก๊อก ก๊อก เปิดประตูอีกรอบ

แอม: คือเอาจริงๆ นะ ทำใจอยู่นานเหมือนกันนะ 

แหม่ม: เอาอย่างนี้ ขอเล่านะ ความที่เขาต้องไปผจญกับการที่เป็นดอกไม้เหล็ก แล้วพอเขากลับมาอยู่กับพวกเรา ซึ่งร้องเพลงหนุงหนิง ตอนแรกเรากับพี่ปุ้มก็คิดนะว่า เจ้จะร้องเพลงดังไปไหนวะ คือพาวเวอร์เขามาแล้ว เพราะเขาต้องร้องเพลงร็อก

ปุ้ม: เขาไปดีวาส์แล้วไง (หัวเราะ)

แหม่ม: นี่พยายามมากที่จะสู้ให้เสียงดังเท่า พยายามจะทำว่าจะสู้เสียงพี่เขาอย่างไร

แอม: บางทีมีอีเวนต์งานภายใน เขาอยากจ้างไปทั้งสามคน เห็นร้องไม่กี่เพลง ก๊องแก๊งๆ ก็มีไปร้อง ‘ดอกไม้ของน้ำใจ’ เสียงก็มาฮาร์โมนี แหม่มกับพี่ปุ้มก็เสียงเบลนด์กัน แต่ของเราบางทีก็แบบว่า…

แหม่ม: อยู่ดีๆก็แหกมาเลย เหมือนตอนมดแดงแปลงกายอ่ะ แปลงร่างแล้ว

แอม: ตัวเองก็ตกใจ อย่างไรวะ

ปุ้ม: เพราะมีช่วงหนึ่งที่เราไม่ได้ร้องเพลงด้วยกันเลยนานเหมือนกัน พอกลับมาร้องด้วยกันตอนแรก ก็ต้องจูนกันใหม่ จูนกันนานมาก จูนกันหลายงานมาก

แอม: แหม่มก็จะเป็นแนวร้องเสียงเบาๆ ปุ้มก็จะร้องเสียงหวานๆ ส่วนแอมก็ไปร้อง “นั่นแหละคือความกดดัน” (เพลงกดดัน ของแอม) กลับมาร้องดอกไม้ของน้ำใจ เป็น “นั่นแหละคือความกดดัน” (หัวเราะ)

แหม่ม: แล้วสองคนนี้พอเขาร้อง แหม่มกับปุ้มก็จะหันมาแบบ “เอาอย่างไรดี” (หัวเราะ) กลายเป็นว่าตรงมิกเซอร์ต้องดึงเสียงไมค์ลงอย่างเร็ว

แอม: แต่เดี๋ยวนี้จูนได้แล้ว เริ่มเข้าใจกันแล้ว แต่ตอนนั้นคือขำจริงๆ 

กลับมารวมตัวกันอีกครั้งหลังจากผ่านคอนเสิร์ตใหญ่ไปห้าปี เหลืออะไรอีกบ้างที่พวกคุณอยากโชว์ 

แหม่ม: เอาอย่างนี้ก่อน สีสันสดใส อายุประมาณนี้ ไม่มีอะไรเป็นข้อจำกัดอีกแล้ว แล้วข้างในก็มีอะไรที่พวกเราอยากทำอีกเยอะ

แอม: ประวัติศาสตร์ของเรามันค่อนข้างยาวนานมาก ก็เลยต้องมีการบ้านของการที่แบบถือพลั่วกันไปคนละอัน ไปขุดมาว่าเราเคยทำอะไร มีเพลงอะไรบ้าง ลืมไปแล้ว

บางทีมันแบบได้ยินเพลงตัวเองใครเปิดลอยๆ ในร้านอาหาร เพลงใครวะ ทำไมคุ้นๆ คือคุณอาจจะรู้จักแค่ประตูใจ รักคือฝันไป แต่เรามีเพลงดีๆ อีกเยอะ ที่เรารู้สึกว่า ดนตรีมันล้ำมากนะ ฉะนั้นในคอนเสิร์ต พวกคุณก็จะได้ฟังเพลงที่ไม่เคยได้ฟังมาก่อนด้วย

สำหรับคนที่มาดูสาว สาว สาว บางทีเขารู้เยอะกว่าเราอีก เขาเก็บงานของเรามากกว่าที่เราเก็บงานตัวเองอีก บางทีเรานึกไม่ออก เราต้องไปขอแฟนคลับ มีอัลบัมนี้ไหม หรือรูปที่โปสเตอร์ บางทีเขามี เราไม่มี เพราะฉะนั้นก็เหมือนการเติมเต็มให้กันและกัน เหมือนกับแบบมานั่งไทม์แมชชีน คราวนี้ก็จะเป็นการเปิดประตูนะคะ ประตูใจคอนเสิร์ต ก็คือเปิดประตูมิติ กลับไปดูซิ กลับไปส่องดูซิว่า เรายังมีอะไรตกหล่นที่อยากจะเอามาฝากกันอีก เรามีประตูวาร์ปที่จะเปิดกลับไปกลับมา 

แอม: พี่ว่าจะเต้นรูดเสา 

แหม่ม: มาดูพี่แอมเต้นรูดเสาอย่างเดียวก็คุ้มแล้ว

แอม: แบบหลังยอก

แอม: มันจะมีซาวนด์ใหม่ๆ แน่ๆ ในคอนเสิร์ตนี้

ปุ้ม: มันจะมีหลายเซอร์ไพร์สค่ะ

แอม: เซอร์ไพรส์หนึ่งคือเสียงพี่เข้าไมค์นะคะ กร้อบ กร้อบ กร้อบ กระดูกดังกร้อบแน่นอน

ปุ้ม: จริงๆ เราอยากจะตั้งชื่อคอนเสิร์ตนี้ว่า Best Before

แอม: Best Before จริงๆ ขึ้นเลยเหมือนที่เขาขึ้นกันตามร้านว่า ให้บริโภคก่อนวันที่นี้ๆ เพราะว่าเดี๋ยวบูด (หัวเราะ)

แหม่ม: ขอบคุณมาก ทั้งทีมงานและสปอนเซอร์ผู้สนับสนุน ขอบคุณจริงๆ ที่ยังเชื่อมั่นสาว สาว สาว ขอบคุณคุณระย้า รถไฟดนตรี ที่ยังคงสนับสนุน

พี่แอม: ฉะนั้น ต้องเจอกันให้ได้จริงๆ เป็นคอนเสิร์ต Best Before จริงๆ เดี๋ยวเก็บกันเก่ากว่านี้แล้วจะเป็นนมโยเกิร์ตที่เปรี้ยวแล้ว เพราะฉะนั้น 25-26 พฤษภาคมนี้ เจอกันให้ได้นะคะ ที่ศูนย์สิริกิติ์

Fact Box

  • แอม-เสาวลักษณ์ ลีละบุตร เป็นหนึ่งในนักร้องเพลงร็อกแถวหน้าของวงการเพลงไทย ว่ากันว่า ‘บันทึกของดอกไม้เหล็ก’ อัลบั้มเดี่ยวแรกของแอมที่ออกวางขายเมื่อปี 2536 สามารถทำยอดขายได้กว่า 9 แสนตลับ
  • หลังจากสาว สาว สาว สลายตัวเมื่อปี 2533 แหม่ม-พัชริดา วัฒนา เป็นนักร้องให้กับอาร์เอสโปรโมชัน รวมถึงเป็นคอรัส เป็นครูสอนร้องเพลง และมีส่วนสำคัญในหมวกของฝ่ายพัฒนาดูแลศิลปินให้กับอาร์เอส ศิลปินที่แหม่มเป็นผู้ดูแลเป็นต้นว่า ดีทูบี, โฟร์-มด รวมถึง เฟย์ ฟาง แก้ว ของค่ายกามิกาเซ่
  • ปุ้ม-อรวรรณ เย็นพูนสุข มีชีวิตหลังสาว สาว สาว ในฐานะศิลปินเดี่ยวให้กับค่ายอินเทอร์นอล และมีชื่อจากการเป็น ‘ครูปุ้ม’ ครูใหญ่แห่งบ้าน Academy Fantasia และพากษ์เสียงให้กับการ์ตูนอีกหลายค่าย หลายเรื่อง 
  • หลังจากแยกย้ายกันในปี 2533 สาว สาว สาวกลับมารวมตัวกันเป็นทางการครั้งแรกในคอนเสิร์ต ‘สาว สาว สาว 34 ปี ที่รอคอย #ไม่ใช่ฝันไป’ เมื่อปี 2561 และรวมตัวในคอนเสิร์ตใหญ่ ‘ประตูใจคอนเสิร์ต’ อีกครั้งในปี 2567
Tags: , , , , ,