หากคุณเป็น ‘ผู้หญิง’ และมีคนยื่นข้อเสนอให้คุณไปทำภารกิจที่ ‘อินเดีย’ เป็นระยะเวลาเกือบสองสัปดาห์… คุณจะไปไหม?

ในการแข่งขัน The Adventurists ที่ผู้เข้าแข่งขันต้องขับตุ๊กตุ๊กข้ามอินเดียเป็นระยะทาง 3,283 กิโลเมตร ใช้เวลาทั้งสิ้น 12 วัน และต้องเลือกว่าจะทำภารกิจนี้เพื่อใคร สามสาว TT Ladies บอม เปล่งพานิช, เฮเลน สเต็ทเลอร์ และอาย จินาภักดิ์ ตัดสินใจเลือกผจญภัยครั้งนี้เพื่อผู้หญิง

ซึ่งการเอาตัวเองเข้าไปเสี่ยงในดินแดนที่ลักษณะสังคมและวัฒนธรรมไม่เอื้อให้เพศหญิงได้มีพื้นที่หรือสิทธิใดๆ มากนัก กลายเป็นที่สนใจของคนอินเดียที่พบเจอพวกเธอระหว่างทางเป็นอย่างมาก

สองสาวจาก TT Ladies บอม และเฮเลน ได้เล่าถึงจุดเริ่มต้นและประสบการณ์การเดินทางในอินเดียที่เหมือนจะหฤโหดให้เราฟัง

 

จุดสตาร์ทภารกิจที่เส้นชัยไม่ใช่เพื่อตัวเอง

จุดเริ่มต้นของการไปขับตุ๊กตุ๊กเพื่อระดมทุนที่อินเดียในครั้งนี้ บอมเล่าว่ามาจากการดูวิดีโอคลิปในยูทูบที่ให้แรงบันดาลใจและจุดไฟฝัน ทำให้ทั้ง 3 สาวรวมตัวกันก่อนออกเดินทางไกล

“ตอนนั้นเราเห็นวิดีโอในยูทูบชื่อ The Adventurists ซึ่งเป็นกลุ่มคนอังกฤษที่จะจัดกิจกรรมบ้าๆ เช่น ขับรถจากยุโรปข้ามไปมองโกเลีย หรือไม่ก็ขับมอเตอร์ไซค์คันเล็กๆ ข้ามโมร็อกโก แล้วหนึ่งในนั้นคือ The Rickshaw Run หรือการขับตุ๊กตุ๊กข้ามอินเดีย ไอเดียของเขาคือให้คนมาทำกิจกรรมเพื่อระดมทุนหาเงินเพื่อช่วยเพื่อนมนุษย์หรือสัตว์ โดยเอาตัวเองเข้าไปอยู่ในที่ที่ลำบากเพื่อให้เข้าใจสถานการณ์นั้นๆ เราก็เลยเอาให้พี่เรย์ (แมคโดนัลด์) ดู พี่เรย์ก็ถามบอมว่าอยากทำไหม เราก็ตัดสินใจทำเลย”

 

จากสถิติจำนวนคดีความรุนแรงในครอบครัวในประเทศไทยพ.ศ. 2559 พบว่า มีความรุนแรงเกิดขึ้นถึง 301 คดี โดยส่วนใหญ่เป็นความรุนแรงทางด้านร่างกาย กว่า 171 คดี คิดเป็น 56.81% และนอกจากนี้ ยังมีผลสำรวจขององค์การสหประชาชาติใน พ.ศ. 2557 พบว่า 64% ของคนไทยเห็นว่า การถูกทำร้ายร่างกายโดยคนรักถือเป็นเรื่องปกติ ส่วนอีก 40% เคยถูกคู่รักของตนลงไม้ลงมือมาแล้ว โดยผู้ลงมือกระทำส่วนใหญ่คือ ผู้ชาย จากรายงานสถิติทั้งสองชิ้นแสดงให้เห็นว่าเรื่องความรุนแรงในครอบครัวเป็นปัญหาที่จำเป็นต้องได้รับการแก้ไขและกระตุ้นการรับรู้ในวงกว้างเพื่อป้องกันปัญหาที่เกิดขึ้น บอมได้บอกกับเราว่า

“การทำร้ายร่างกายผู้หญิงมันเป็นเหมือนรากฐานในสังคมเรา การเรียนการสอนที่ผ่านมาไม่มีใครเคยสอนว่า ไม่ควรจะทำร้ายผู้หญิง ซึ่งแค่คิดก็ผิดแล้ว”

แคมเปญในครั้งนี้ TT Ladies ได้จับมือกับมูลนิธิหญิงชายก้าวไกลเพื่อนำทุนสนับสนุนที่ระดมทุนได้ไปช่วยในเรื่องการศึกษา ปลูกฝังจิตสำนึกกับเด็กๆ รวมถึงช่วยให้ผู้หญิงที่เคยพบเจอเรื่องร้ายๆ เหล่านี้ได้กลับมาต่อสู้และเข้มแข็งสามารถยืนหยัดได้ด้วยตนเอง


 

เสี่ยงเพื่อเข้าใจ และปลุกพลังหญิงให้ลุกโชน

ก่อนที่การเดินทางเริ่มต้นขึ้น เราอยากพาคุณไปทำความรู้จักกับสภาพสังคมของอินเดีย ณ ปัจจุบันกันก่อน
หลายๆ คนคงเคยได้ยินข่าวเรื่องผู้หญิงอินเดียถูกข่มขืนมาโดยตลอด แต่ที่น่าตกใจคือ ชายผู้กระทำความผิดหลายๆ คนต่างคิดว่าการล่วงละเมิดทางเพศไม่ใช่เรื่องร้ายแรงอะไร กลับมองว่าเป็นเรื่องปกติด้วยซ้ำ

มีรายงานจากสำนักงานสถิติอาชญากรรมแห่งชาติในประเทศอินเดีย (National Crime Records Bureau) ระบุว่า ใน พ.ศ. 2558 มีคดีที่เกี่ยวกับการล่วงละเมิดทางเพศในเพศหญิงมากถึง 327,397 คดี และผลสำรวจจากองค์กร ActionAID (องค์กรระหว่างประเทศที่ดูแลเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนโดยเฉพาะผู้ยากไร้) ในอังกฤษ เมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2559 พบว่า ผู้หญิงอินเดียเกือบ 4 ใน 5 คน เคยถูกล่วงละเมิดทางเพศ ไม่ว่าจะเป็น การถูกจ้องมอง ดูถูก เดินตาม หรือแม้กระทั่งข่มขืน

ความเสี่ยงอันตรายของผู้หญิงในสังคมอินเดียจึงเป็นสิ่งที่สามสาว TT Ladies ต้องการจะสื่อให้เห็นว่า เพศหญิงมีความจำเป็นแค่ไหนที่จะต้องลุกขึ้นมาต่อสู้กับเรื่องความรุนแรงในเพศหญิง

“การขับตุ๊กตุ๊กในอินเดีย มันคือ women empowerment เพราะที่อินเดียผู้หญิงมีความโดนเหยียดอยู่พอสมควร ในสังคมอินเดีย ผู้หญิงมักจะทำงานหนักๆ อย่างเช่น เป็นคนงานก่อสร้าง ขณะที่ผู้ชายนั่งจิบชาดูอยู่เฉยๆ ส่วนผู้หญิงขับตุ๊กตุ๊กนี่ไม่มีเลย เพราะเขาถือว่าเป็นอาชีพของผู้ชาย พอพวกเราขับผ่านที่ไหน ถ้าผู้ชายอินเดียเห็นก็จะตื่นเต้นกันมาก บางคนท้าให้เราขับรถของเขาด้วย หรือเวลาขับผ่านหมู่บ้านหลายๆ แห่งเจอผู้หญิงที่ออกมาซักผ้า เขาก็จะวิ่งมาขอจับมือ เราเลยมีความรู้สึกว่าผู้หญิงจะทำอะไรก็ได้ จะสร้างถนน จะขับรถตุ๊กตุ๊ก จะทำอะไรก็ได้ จำได้ว่าเฮเลนซิ่งมากตอนขับในเมือง แล้วมีเด็กอ้าปากค้าง ซึ่งเรารู้สึกว่านี่เป็นการสื่อสารกลายๆ ว่า You can do it too นะ”

6 รัฐในอินเดียกับประสบการณ์ที่สุดในชีวิต

และเมื่อการเดินทางข้ามอินเดียได้เริ่มขึ้น เราก็ได้รู้จักกับ ‘น้องลำซิ่ง’ รถตุ๊กตุ๊กคู่ใจที่บอมบอกว่า มันคือ ‘เศษเหล็ก’ ดีๆ นี่เอง แต่ถึงแม้จะมีความเสี่ยงในการขับเจ้าเศษเหล็กคันนี้ แต่ว่ามันได้กลายเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้พวกเธอประสบความสำเร็จในภารกิจครั้งนี้

“มันคือรถกระป๋องที่มีขนาดเล็กกว่ารถกอล์ฟ เล็กกว่ารถตุ๊กตุ๊กบ้านเรา เอาง่ายๆ ว่าถ้าเลี้ยวผิดคือล้มได้เลย มันเบา และไม่บาลานซ์ จำได้ว่าครั้งแรกที่เห็น ตั้งชื่อว่าน้องลำซิ่ง เพราะว่ารถตุ๊กตุ๊กของพี่เรย์ชื่อลำดวน แล้วให้คนในเฟซบุ๊กเขาโหวตชื่อกัน ก็ได้เป็นชื่อลำซิ่ง ซึ่งก็เหมาะกับเขาจริงๆ เราโชคดีตรงที่รถไม่เสียเลย แต่ความดังของการแข่งขันนี้คือทุกคนต้องรถเสียตั้งแต่ออกสตาร์ทแล้ว บางคนท่อไอเสียหลุด รถไฟลุกก็มี พอทีมอื่นรู้ว่ารถเราไม่เสียเลยก็ตกใจกันมาก”

เส้นทางการแข่งขันที่ได้วางไว้คือ เริ่มจากทางใต้สุดของอินเดียอย่างโคจิ (Kochi) และไปสุดที่ จัยซัลแมร์ (Jaisalmer) ในราชสถาน จาก ‘ทะเล’ ไป ‘ทะเลทราย’ รวมทั้งสิ้น 6 รัฐด้วยกัน ซึ่งพวกเธอก็ได้เห็นความแตกต่างที่เรียกได้ว่าจากหน้ามือเป็นหลังมือในแต่ละภูมิประเทศที่เดินทางผ่าน

“ทุกรัฐที่ผ่านไปจะเห็นว่าภูมิประเทศต่างกัน คนต่างกัน ช่วงเกรละ (Kerala) ที่อยู่ทางใต้ หรือคยา (Gaya) อารมณ์มันจะเหมือนสมุย แต่คนใส่ส่าหรี พอเริ่มขึ้นเขาไปจะเริ่มเห็นความยากจนมากขึ้น พอผ่านจากจุดนั้นไปถนนเริ่มพัง เริ่มเห็นบ้านแบบไม่เป็นบ้าน ถนนเขาสุดยอดจริงๆ ตอนขึ้นเขาไปมันเป็นถนนที่ข้ามรัฐพอดี คือจากดีแล้วกลายเป็นแย่เลย เปลี่ยนรัฐปุ๊บทุกอย่างเปลี่ยน ถนนพัง ข้างทางไม่มีต้นไม้ เปลี่ยนแบบหน้ามือเป็นหลังมือ มันทรมานมาก”

คิดแล้วต้องทำเลย

เมื่อการเดินทางด้วยตุ๊กตุ๊กของทีมไทยทีมแรกในประวัติศาสตร์ Rickshaw Run ปีที่ 10 จบลงด้วยความสำเร็จ พวกเธอเข้าเส้นชัยเป็นอันดับที่ 18 จากทั้งหมด 80 กว่าทีม แน่นอนว่าต้องเกิดความรู้สึกดีใจและภาคภูมิใจ บอมได้เล่าถึงการแสดงความยินดีอย่างน่ารักๆ กับทีมไทยโดย The adventurists ว่า

“ปาร์ตี้วันสุดท้าย เจ้าของ The adventurists เขาเดินมา ‘Hey, you’re my first Thai team’ เราก็รู้สึกดีใจ แล้วตอนถึงเส้นชัยเขาก็เปิดเพลงชาติไทยให้เรา แต่มันเป็นเพลงชาติไทยอีกเวอร์ชันหนึ่ง เหมือนเป็นคาราโอเกะ แต่เราก็รู้สึกภูมิใจ ฮึกเหิม วิ่งกอดเขาไปทั่วเลยตอนนั้น”

การเดินทางที่หฤโหด ท้าทาย แต่เต็มไปด้วยความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะเป็นกระบอกเสียงให้หลายๆ คนได้ตระหนักถึงปัญหาความรุนแรงในครอบครัวด้วยการเอาตัวเองเข้าไปเสี่ยง ณ สถานที่ที่มีปัญหาจริงๆ อย่างอินเดียนั้น อาจเป็นแรงกระตุ้นให้ผู้หญิงหลายคนอยากลุกขึ้นมาทำอะไรสักอย่าง ซึ่งคำแนะนำอย่างตรงไปตรงมาจากบอมแสดงให้เห็นว่านอกจากความตั้งใจของตัวเองแล้ว ‘เพื่อนร่วมทาง’ ก็มีความสำคัญมากเหมือนกัน

“ต้องคิดแล้วทำเลย ไม่คิดหาเหตุผล เพราะถ้าคิดหาเหตุผล คุณจะไม่ไป สมมติถ้าเราอายุ 30 แล้วเราไปทำ อาจจะเป็นอีกความรู้สึกหนึ่งเลยก็ได้ แต่ถ้าให้แนะนำก็คือ เลือกคนที่เป็นทีมให้เวิร์กที่สุด ทีมเมตที่ไปด้วยกันได้ ถ้าคนหนึ่งยอมแพ้ อีกคนต้องดึงขึ้นมาให้ได้”

สิ่งที่ TT Ladies ต้องการจะสื่อออกไปยังผู้หญิงในประเทศไทยไม่ใช่การที่ต้องลุกมาเสี่ยงตัวเองด้วยการขับรถตุ๊กตุ๊กข้ามอินเดียแบบที่พวกเธอทำ แต่แค่อยากให้ทุกคนทุกเพศได้ ‘รับรู้’ และ ‘พยายาม’ เปลี่ยนแปลงบรรทัดฐานอะไรบางอย่างที่กำลังทำร้ายคนด้วยกัน ไม่เฉพาะระดับปัจเจกบุคคลเท่านั้น แต่รวมไปถึงระดับสังคมด้วย

อ้างอิง:

http://www.violence.in.th/violence/report/violence/report004-05.aspx?lid=24&accordion=1

 

FACT BOX:

– การเดินทาง 2 สัปดาห์ในอินเดียของ TT Ladies ครั้งนี้ จะถูกถ่ายทอดผ่านทาง RayMac TV ในยูทูบ ช่วงกลางเดือนกุมภาพันธ์- แคมเปญนี้จะเป็นการเปิดให้ผู้ที่สนใจสามารถร่วมระดมทุนเพื่อช่วยเหลือและสนับสนุนมูลนิธิหญิงชายก้าวไกลได้นำไปใช้ดำเนินการต่างๆ เพื่อลดความรุนแรงในครอบครัวต่อสตรี โดยสามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://asiola.co.th/campaign/ttladies

Tags: , , ,