“คุณเคยถูกบุลลี่ไหม”
เชื่อว่ามากกว่า 50% คงต้องพยักหน้าตอบว่า ‘เคย’ เป็นเสียงเดียวกัน โดยบางคนอาจรู้สึกอัดอั้นตันใจ จนยินยอมพร้อมแบ่งปันประสบการณ์อันเจ็บปวดในอดีตว่า พวกเขาต้องเผชิญกับความเลวร้ายในช่วงที่ผ่านมาอย่างไรบ้าง
ดังนั้น ปฏิเสธไม่ได้ว่า ไทยคือประเทศหนึ่งในโลกที่ขึ้นชื่อปรากฏการณ์ ‘การกลั่นแกล้งในสถานศึกษา’ สะท้อนจากสถิติในไม่กี่ปีที่ผ่านมา โดยกระทรวงสาธารณสุขรายงานในปี 2561 และ 2563 ว่า ประเทศไทยมีสถิติการรังแกสูงสุดเป็นอันดับที่ 2 ของโลกรองจากประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเหยื่อนักเรียนเหล่านี้คิดเป็นจำนวน 6 แสนคน
ตามมาด้วยในปี 2566 ข้อมูลจากกรมส่งเสริมสุขภาพจิตยังเปิดเผยผลสำรวจว่า นักเรียนไทยราว 44.2% เคยเผชิญประสบการณ์การกลั่นแกล้งในโรงเรียนและสังคมชุมชน ทั้งการล้อเลียนรูปลักษณ์ ปมด้อย จนถึงขั้นทำร้ายร่างกาย และนำมาสู่ผลกระทบทางด้านสุขภาพและจิตใจโดยตรง
นอกเหนือจากความตระหนักของสังคมต่อปัญหาดังกล่าว ประเด็นเดียวกันนี้ยังอยู่ในบทสนทนาวงเล็กภายในครอบครัวมหากิจศิริ ซึ่ง กึ้ง-เฉลิมชัย มหากิจศิริ นักธุรกิจรุ่นใหม่ไฟแรง ในฐานะประธานบริษัท โทรีเซนไทย เอเยนต์ซีส์ จำกัด (Thoresen Thai Agencies) คือหนึ่งในสมาชิกวงสนทนานั้น ที่สุดท้ายทุกคนเห็นตรงกันถึงความร้ายแรงของปรากฏการณ์นี้ โดยเฉพาะในแง่มุมที่ผู้ใหญ่ไม่อาจเข้าถึงได้
“ทำอย่างไรได้บ้าง เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว”
นี่คือความคิดของเฉลิมชัยในห้วงเวลานั้น ที่เล็งเห็นความสำคัญของเยาวชนในฐานะ ‘อนาคตของประเทศ’ นำมาสู่ความพยายามหาทางออกของปัญหาด้วยหลากหลายวิธีการ ทั้งการเข้าถึงพื้นที่สถานศึกษาเพื่อทำความเข้าใจต่อสถานการณ์ การเสวนาปลูกฝังให้เด็กรุ่นใหม่เข้าใจว่า การกลั่นแกล้งไม่ดีอย่างไร จนถึงการเสนอแนะแนวทางแก้ไขปัญหาที่หลากหลายให้
บทเรียนจากการลงพื้นที่จริงในวันนั้น เฉลิมชัยนำมาต่อยอดและพัฒนาร่วมกับผู้เชี่ยวชาญและทีมคุณหมอจากกรมสุขภาพจิต จนเกิดเป็น Buddy Thai แอปพลิเคชันที่ช่วยเหลือและป้องกันเยาวชนรับมือกับการกลั่นแกล้งในรั้วสถานศึกษา พร้อมทั้งก้าวกระโดดสำคัญที่พร้อมโอบรับคนทุกรุ่น ทุกวัย ทุกเพศสภาพ โดยมีหัวใจสำคัญคือ การเข้าใจตนเอง (Self-Awareness) หรือทักษะชีวิตในโลกยุคใหม่ปัจจุบันที่หลายคนหลงลืมไป
คอลัมน์ The Chair ครั้งนี้ จึงพาทุกคนทำความรู้จักเบื้องหลังและวิธีคิดของ Buddy Thai ผ่านบทสนทนากับ พีเจ-หริสวรรณ ศิริวงศ์ กรรมการผู้จัดการแห่ง Buddy Thai Application ผู้ดูแลและต่อยอดแอปพลิเคชันนี้
รู้จัก Buddy Thai แอปพลิเคชันที่เป็นเหมือน ‘เพื่อนสนิทที่ไว้ใจได้’ และ ‘พื้นที่ปลอดภัย’ ของเด็ก
“Buddy เปรียบเสมือนเพื่อนสนิทคนหนึ่งที่ไว้ใจได้ หมายความว่า เราช่วยเหลือเขาได้ และอยู่ข้างเขาแน่ รวมถึงจะเป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับเด็ก”
ข้างต้นคือนิยามของ Buddy Thai แอปพลิเคชัน ‘ช่วยเหลือ’ และเป็นเหมือน ‘เพื่อนสนิทที่ไว้ใจได้’ ของเหล่าเยาวชนคนรุ่นคนใหม่ ในมุมมองของหริสวรรณ กรรมการผู้จัดการสาวของ Buddy Thai Application ผู้ดูแลและต่อยอดแอปพลิเคชันนี้
เธอค่อยๆ เล่าความเป็นมาในอดีตว่า กว่าจะออกมาเป็นแอปพลิเคชันที่ชื่อ Buddy Thai ทีมผู้จัดทำต้องผ่านร้อนผ่านหนาวมากมาย ทั้งลงพื้นที่ในโรงเรียนและจัดกิจกรรมหลากหลาย โดยมีจุดประสงค์สร้างความตระหนักรู้ถึงปรากฏการณ์ในสถานศึกษา ทว่าผลตอบรับที่ได้คือ ปัญหาทุกอย่างยังอยู่เหมือนเดิม ไม่เปลี่ยนแปลงแต่อย่างใด
“เมื่อเราย้อนกลับไปในโรงเรียนที่เคยจัดกิจกรรมอีกครั้ง ซึ่งเด็กโตขึ้นก็จริง แต่ปรากฏว่า ปัญหาการบุลลี่ยังไม่ได้หายไปไหน ในมุมหนึ่งเขาอาจจะรู้สึกดีขึ้นก็จริง หรือเข้าใจปัญหาในช่วงเวลานั้น แต่พอผ่านไป 1 ปีเต็ม ทุกอย่างเหมือนเดิม พูดง่ายๆ ว่า กระบวนการนี้ไม่ยั่งยืน เพราะทั้งหมดคือการจัดกิจกรรมภายในวันเดียว
“ช่วงเวลานั้นตรงกับการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ทำให้ลงพื้นที่ไม่ได้ ทีมงานจึงมานั่งคุยกันว่า ทำอย่างไรให้เข้าถึงเด็กได้มากขึ้น ขณะที่เราสามารถให้ข้อมูลที่มีความยั่งยืนมากกว่าเดิม ภายใต้เงื่อนไขที่ว่า ต้องสามารถพัฒนาควบคู่ไปกับการเปลี่ยนแปลงมากมาย”
จากการปรึกษากับผู้เชี่ยวชาญและกรมสุขภาพจิตเรื่อง ‘ตัวกลาง’ ในการเข้าถึงเด็ก ท้ายที่สุด ทีมผู้จัดจึงได้ข้อสรุปร่วมกันว่า พวกเขาจะทำแอปพลิเคชันที่เป็นเหมือน ‘ตัวแทนความรู้’ เพื่อให้ติดตัวกับเด็กและผู้ปกครองตลอดเวลา โดยมีโทรศัพท์มือถือเป็นสื่อกลาง
“เป้าหมายของ Buddy Thai ในกระบวนการสร้างตั้งแต่วันแรก คือเราไม่ได้ต้องการให้เด็กมีความรู้สึกว่าอยากเล่นตลอดเวลา แต่อยากให้เป็นแอปพลิเคชันที่ผู้ปกครองหรือคุณครูไปบอกเด็กต่อว่า ให้โหลดติดมือถือไว้ เพราะมันดีกับตัวของเขาเอง”
หริสวรรณเน้นย้ำจุดประสงค์ของการสร้างแอปพลิเคชันนี้ ซึ่งสะท้อนออกมาผ่านความหมาย 2 มิติของ Buddy Thai ได้แก่ มิติด้านอารมณ์ความรู้สึก (Emotional) และมิติการใช้งาน (Function)
สำหรับมิติด้านอารมณ์ความรู้สึกคือ Buddy Thai ต้องทำให้เด็กรู้สึกปลอดภัยกับการใช้แอปพลิเคชัน เปรียบเสมือนอยู่กับเพื่อนสนิทที่ไว้ใจได้ ซึ่งเชื่อมโยงกับมิติการใช้งาน คือการมีกลไกที่เหมาะสมกับเด็กอายุ 7-13 ปี หรือนักเรียนชั้นประถมศึกษา-มัธยมศึกษาตอนต้น ซึ่งเป็นวัยหัวเลี้ยวหัวต่อ ที่ส่งผลต่อพฤติกรรมในอนาคต โดยมี ‘โรบอตสีขาว’ มาสคอตที่ไร้เพศและไร้อายุ สะท้อนความเป็นกลางไร้อคติใดๆ นำทางในการใช้งานฟีเจอร์ (Feature) ดังต่อไปนี้
1. Mood Tracking ฟีเจอร์ติดตามความรู้สึกในแต่ละช่วงเวลา ซึ่งมีเงื่อนไขว่าต้อง ‘ทำได้ตลอด’ และ ‘สนุก’ โดยวิธีการใช้คือกดเลือกความรู้สึกในขณะนั้น ซึ่งมีทั้งหมด 12 แบบที่ผ่านการปรึกษาจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ก่อนจะต้องพิมพ์รายละเอียดต่อว่า ตนเองรู้สึกเช่นนี้เพราะอะไร อีกทั้งยังสามารถกดดูคำแนะนำที่ออกแบบในรูปลักษณ์การ์ตูนสั้นเพิ่มเติมได้
เมื่อทำ Mood Tracking เสร็จสิ้น แอปพลิเคชันจะเก็บข้อมูลเป็นสถิติ และมอบรางวัลเป็นคะแนนโดยไม่มีเกณฑ์ตายตัว ซึ่งทั้งหมดนี้มีหัวใจสำคัญคือ การตระหนักรู้ถึงความรู้สึกของตนเอง
“อย่างน้อย น้องๆ เข้ามางานใช้งานโหมดนี้แล้วตระหนักได้ว่า ฉันกำลังรู้สึกอะไรอยู่ โดยความรู้สึกที่เขาสามารถแสดงออกได้ ไม่จำเป็นต้องเป็นด้านดีอย่างเดียว เราสามารถบอกได้ว่า ตอนนี้ฉันกำลังรู้สึกเฉยๆ หรือแม้แต่เสียใจผิดหวังอยู่ ซึ่งตรงนี้ก็จะสร้างวิธีคิดบางอย่างต่อว่า ตอนนี้เรากำลังมีอาการแทรกซ้อนอื่นหรือไม่ เช่น รู้สึกมวนท้อง อยากอาเจียน” กรรมการผู้จัดการ Buddy Thai Application อธิบายประกอบ
2. ปุ่มขอความช่วยเหลือ (SOS) ในกรณีที่ผู้ใช้งานกำลังเผชิญปัญหา เช่น ถูกทำร้ายร่างกาย มีอาการป่วยเป็นโรคซึมเศร้า หรือแม้แต่ไม่รู้ว่าตนเองควรหาทางออกอย่างไรกับสถานการณ์ปัจจุบัน สามารถกดฟีเจอร์พิเศษนี้ โดยจะมีคำถามสั้นให้กรอกว่าเกิดอะไรขึ้น หลังจากนั้นจะเชื่อมต่อไปยังเบอร์โทรศัพท์ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทันที
นอกจากนี้ ยังมีระบบติดตามหลังบ้านสำหรับผู้ที่มีความเสี่ยง โดยพิจารณาจากข้อมูลใน Mood Tracking เพื่อประสานงานให้หน่วยงานอื่นๆ รับเรื่องต่อ
3. ระบบฝากเรื่องและพูดคุยกับนักจิตวิทยา หรือระบบที่ผู้ใช้สามารถพิมพ์ข้อความฝากเรื่องไว้ โดยมีทีมงานจะดำเนินการต่อให้สอดคล้องกับปัญหาที่กำลังพบเจอ
นอกจากนี้ Buddy Thai ยังประสานงานกับสำนักงานศึกษากรุงเทพมหานครและโรงเรียนในต่างจังหวัด เพื่อติดตั้งแอปพลิเคชันในอุปกรณ์ส่วนกลาง ในกรณีที่เด็กนักเรียนไม่มีโทรศัพท์มือถือเป็นของตนเองอีกด้วย
เจาะลึก ‘เบื้องหลัง’ และ ‘เบื้องหน้า’ การทำงานของ Buddy Thai
4 คน
นี่คือจำนวนสมาชิกที่เป็นดังเบื้องหน้าและเบื้องหลังของ Buddy Thai ทั้งหมด แต่หริสวรรณก็เน้นย้ำกับเราว่า ทีมงานขนาดเล็กขององค์กร ไม่เป็นอุปสรรคในการทำงานแต่อย่างใด เพราะสมาชิกทุกคนมีความสามารถและคุณภาพในการทำงานค่อนข้างสูง โดยภารกิจหลักของทีมงานคือการทำให้ Buddy Thai เป็นเหมือน ‘แกนกลาง’ ในการรับเรื่องประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
“ต้องบอกว่า Buddy Thai ทำหน้าที่เป็นแกนกลาง เรามีพาร์ตเนอร์ที่เปรียบเสมือนแขนขาสำคัญ ขอยกตัวอย่างในช่วงเปิดให้ทดลองใช้แอปพลิเคชัน เราได้สำนักงานศึกษา กทม.เข้ามาช่วยเหลือตลอดระยะเวลา 4 ปีที่ผ่านมา ในอีกแง่จึงเรียกได้ว่า เราคือแกนกลางในการรวบรู้ข้อมูล และนำส่วนนี้ไปปรึกษากับผู้รู้ หรือขอความช่วยเหลือจากหน่วยงานที่ถูกต้องต่อ
“นอกจากนี้ สิ่งสำคัญที่เราทำ คือการเฝ้าดูสถานการณ์ควบคู่ไปกับการรับความเห็นจากทางบ้าน ต้องบอกว่า เราต่างจากหน่วยงานอื่น เพราะเราไม่ได้ทำแอปพลิเคชันออกสู่ตลาดเสร็จสรรพ หรือนั่งทึกทักเอาเองว่าเพิ่มส่วนนี้ดีกว่า แต่เราต้องรับข้อมูลตลอดเวลาว่า น้องๆ โอเคกับระบบพิมพ์ฝากเรื่องหรือไม่ ซึ่งลงลึกไปถึงวิธีการอ่านว่า เขาสะดวกเลื่อนจากทางซ้ายหรือขวามากกว่ากัน จึงค่อยมาสรุปตอนท้าย
“ต้องยอมรับตามตรงว่า ในมุมของผู้ใหญ่ เรามักจะสันนิษฐานต่อเด็กล่วงหน้าว่า เขาต้องชอบสีชมพูหรือใส่กระโปรงบาน แต่ความจริงไม่ใช่เช่นนั้นเสมอไป นี่จึงเป็นความท้าทายหนักมากที่ทาง Buddy Thai ต้องทำการบ้าน เราจึงต้องอาศัยฟีดแบ็กเป็นหัวใจสำคัญ คือทุกอย่างต้องทำการบ้าน คำนึงเรื่องการตลาด หรือรวมถึงการลงพื้นที่อย่าง School Tour ด้วย”
สำหรับทีมงาน Buddy Thai การลงพื้นที่ในโรงเรียนเปรียบเสมือนขั้นตอนสำคัญ เพราะไม่ใช่แค่เป็นการพูดคุยตอบโต้กับเด็กโดยตรง (Two-Way Communication) เท่านั้น แต่พวกเขายังสามารถนำความคิดเห็นจากผู้ใช้มาปรับปรุงและต่อยอดแอปพลิเคชันโดยตรง
“ความสำคัญของ School Tour คือการเก็บข้อมูลให้ทันต่อสถานการณ์ เราได้เจอเด็ก ทำกิจกรรม ให้ความรู้เกี่ยวกับแอปพลิเคชัน หรือบางครั้งก็มีถามตอบ ซึ่งจะมีแขกรับเชิญหลากหลายมาก ทั้งดารา รองผู้ว่ากรุงเทพมหานคร หรือบุคลากรจากสภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศ
“บางครั้งหัวข้อก็จะเปลี่ยนไปตามบริบทเช่นกัน เช่น มีหัวข้อการพูดถึงการมีเพศสัมพันธ์อย่างปลอดภัยหรือสิทธิเด็ก นั่นก็หมายความว่า ความคิดเห็นหรือคำตอบที่ได้ก็จะหลากหลายเหมือนกัน
“ต้องบอกว่าส่วนใหญ่กิจกรรมในแต่ละโรงเรียนจะคล้ายคลึงกัน คือเริ่มจากการละลายพฤติกรรม (Icebreaking) ทำให้เด็กรู้สึกผ่อนคลาย ตามมากิจกรรมหลัก เช่น กอดคอเพื่อนโดยไม่ให้ตัวเองล้ม เพื่อให้เขาตระหนักถึงการช่วยเหลือกันและกัน หรือกิจกรรม Pass-Love Forward คือ เราให้เด็กเขียนกระดาษชื่นชมคนข้างๆ และส่งต่อไป ซึ่งมีนัยสำคัญคือการแสดงความรักและส่งความรู้สึกดีออกไป เพราะบางครั้งสิ่งเหล่านี้ดูธรรมดาในสายตาใครหลายคน
“ในอีกแง่ การลงพื้นที่ทำให้เราเข้าใจว่า บางครั้งปัญหาบางอย่างเล็กน้อยกว่าที่เราคิดเสมอ เพราะบางครั้ง ปัญหาที่ดูใหญ่โตสำหรับเด็กเกิดจากความรู้สึกเหงา ไม่รู้จะคุยกับใคร ท้ายที่สุด เขามีความทุกข์ จนนำไปสู่ภาวะซึมเศร้า เพราะเขาไม่รู้ว่า จะระบายกับใคร หรือใครจะชื่นชม และเห็นด้วยกับสิ่งที่เขาทำไหม
นอกจากนี้ School Tour ทำให้ทีมงานเจอะเจอประสบการณ์ที่หลากหลาย ตั้งแต่สนุกสนานจนถึงอ่อนไหว ซึ่งทั้งหมดต้องใช้ทักษะการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าเข้าช่วย
“พวกเราเคยลงพื้นที่ในคาบเรียนที่ครูเก็บโทรศัพท์นักเรียน ซึ่ง Buddy Thai ก็ต้องโฆษณาแอปพลิเคชัน แต่จะให้เขาโหลดก็ทำไม่ได้ (หัวเราะ) จึงต้องเปลี่ยนกิจกรรมออฟไลน์แทน สุดท้ายมีประกวดเต้น คือพอกิจกรรมสนุก เด็กๆ ก็อาสาออกมาเอง มีการเต้นเพลงฟ้ารักพ่อ
“นั่นก็หมายความว่า เราสร้างกิจกรรมทำให้เด็กมั่นใจและปลอดภัยได้ โดยเฉพาะเราพูดเรื่องการเข้าใจตนเอง ซึ่งปรากฏว่าเด็กคนนั้นเป็น LGBTQIA+ ด้วย เขาก็ได้แสดงออกในสิ่งที่เขาเป็น ซึ่งเราก็เปิดให้เต็มที่ ขณะที่เพื่อนรอบตัวก็ออกมาสนับสนุนให้เขาเต้น
“แต่เราก็เคยเจอกรณีที่หนักอยู่เหมือนกัน คือมีคุณครูเดินมาบอกว่า เด็กคนนี้มีอาการสุ่มเสี่ยงปลิดชีวิตตัวเอง เพราะเขาเครียดและเข้าสังคมไม่ได้ เราต้องไปจัดกิจกรรมด้วยความระวังเป็นพิเศษว่า คำพูดของเราจะไปกระทบหรือกระตุ้นเขาไหม เขาเครียดหรือเปล่า หรือต้องทำอย่างไรเพื่อเข้าถึงเขาจริงๆ ซึ่งเป็นทั้งเรื่องหน้างานและต้องเตรียมว่า เราจะหยิบเรื่องไหนมาพูดให้เขาดีขึ้น และต้องได้ข้อคิดกลับไปด้วย”
ปัญหาการกลั่นแกล้งในสถานศึกษาเป็นเรื่องปลายน้ำ เพราะต้นเหตุคือ ‘การเข้าใจตนเอง’ หรือ Self-Awareness
ในมุมมองของผู้จัดทำแอปพลิเคชัน ทำไมปัญหาการกลั่นแกล้งในสถานศึกษาและสังคมจึงเกิดขึ้น
สำหรับคำถามนี้ หริสวรรณเลือกที่จะตอบด้วยการชวนทำความเข้าใจปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น ด้วยการจำกัดความหมายของคำศัพท์ดังกล่าว
เธอเริ่มอธิบายว่า หากพิจารณาจากแพตเทิร์นของการบุลลี่ ก็จะจำกัดความได้ว่า นี่คือพฤติกรรมที่ทำให้คนหนึ่งรู้สึกตัวเล็ก ด้อยกว่า และแตกต่าง โดยอีกฝ่ายพยายามสื่อสารว่า เขาไม่ชอบอีกฝ่าย แต่นั่นเป็นคำถามที่ต้องย้อนกลับมาทำความเข้าใจว่า ทำไมการที่คนอื่นตัวเล็กจึงทำให้ผู้กระทำมีความสุข
“ทั้งหมดนี้ก็เป็นเพราะว่า ผู้กระทำนั้นอาจมีความรู้สึก ‘ตัวเล็ก’ ไม่ต่างกัน แต่วิธีการแก้ไขปัญหาคือการบอกอีกฝ่ายว่า เธอแย่กว่าฉัน ฉันไม่ได้แย่คนเดียว และเธอก็ทำไม่ได้เหมือนกับฉัน พูดง่ายๆ ว่า มันคือกระบวนการหาเหยื่อเพื่อให้ตนเองสบายใจ
“เอาเข้าจริง ผู้กระทำอาจมีปัญหาจากที่อื่น เช่น ในครอบครัวหรือสังคมภายนอกอื่นๆ แต่เขาไม่สามารถจัดการตนเองได้ เพราะปัญหาหรือก้อนในใจใหญ่มากเกินไป เขาจึงเอาจุดนี้มาปกป้องตนเอง และทำร้ายคนอื่นที่ดูมีแนวโน้มตัวเล็กกว่า
“อย่างไรก็ตาม การบุลลี่เป็นเพียงปลายน้ำของเรื่องราวทั้งหมด เพราะหากลงลึกลงไป สุดท้ายมันคือเรื่อง ‘การเข้าใจตนเอง’ (Self-Awarenewss) ซึ่งเป็นใต้ภูเขาน้ำแข็งของทุกอย่าง นี่คือสิ่งที่เราพยายามสอนผู้ใช้งาน และเป็นหัวใจสำคัญของการแก้ไขปัญหานี้
“การเข้าใจตนเองมีความหมายสำคัญ เพราะถ้าเราเข้าใจตนเอง และเห็นว่าสิ่งที่เราเป็นคืออะไร คนอื่นเป็นเช่นนั้นด้วยเหตุผลอะไร เข้าใจว่าฉันไม่ต้องเหมือนเธอ และเธอไม่ต้องเหมือนฉัน เราก็ไม่จำเป็นต้องใช้ ‘ไม้บรรทัด’ หรือ ‘มาตรฐาน’ ของเราไปวัดคนอื่น และหันกลับควรมาใส่ใจตนเองมากขึ้น
“แต่ขอหมายเหตุไว้ว่า การที่คนหนึ่งจะรู้สึกโอเคกับประสบการณ์ทั้งหมด เขาก็ต้องจัดการปัญหาในแบบฉบับดีที่สุดในเวอร์ชันของแต่ละคน เช่น กรณีที่เล่าไป เราก็ไม่จำเป็นต้องนำไม้บรรทัดของเราไปวัดกับเพื่อนคนอื่นว่า ทำไมเขามีชีวิตที่ดีกว่าเรา แต่ทำความเข้าใจว่า นี่คือสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับเราในตอนนี้
“ท้ายที่สุด เมื่อเราเข้าใจตนเอง เราจะเข้าใจคนอื่น และเราจะเห็นอกเห็นใจกันมากขึ้น นี่คือประโยคที่พีเจมักบอกคนอื่นเสมอ”
การบุลลี่ใกล้ตัวกว่าที่คิด เพราะโซเชียลมีเดียเป็นหนึ่งเดียวกับโลกความจริง
กรรมการผู้จัดการสาวแห่ง Buddy Thai Application เริ่มเล่าว่า ปัญหาบนโลกโซเชียลมีเดีย คือสิ่งที่เธอพบเจอบ่อยที่สุดในประสบการณ์การทำงาน ซึ่งทุกอย่างเริ่มต้นจากการเปรียบเทียบตนเองกับคนอื่น และนำไปความรู้สึกในใจบางอย่าง จนไม่สามารถจัดการตนเอง
เธอเล่าว่าได้รับฟีดแบ็กจากการลงพื้นที่ล่าสุด ที่ผู้ใช้งานทุกคนก็เห็นตรงกันว่า โซเชียลฯ เป็นต้นเหตุของปัญหาหลายอย่าง เช่น การเล่นแอปพลิเคชัน TikTok ที่เห็น ‘การปรุงแต่ง’ รูปลักษณ์ เช่น เห็นภาพคนที่ดูสวยกว่า หรือแม้แต่การเห็นเนื้อความที่หลากหลายบนโซเชียลฯ จนสุดท้ายทำให้เกิดความรู้สึกสับสนว่า ตนเองกำลังรู้สึกอะไรอยู่
“การตระหนักรู้จึงหายไปในเด็กรุ่นใหม่ เราจึงต้องย้ำแล้วย้ำอีกว่า ความรู้สึกของทุกคนสำคัญ เราต้องรู้ตัวตลอดว่ากำลังรู้สึกอะไรอยู่ เพราะลำพังเอง ผู้ใหญ่ยังรู้สึกไม่ต่างจากเด็ก คุณไถเฟซบุ๊ก TikTok เห็นข่าวเครียด ข่าวเศร้า สลับคลิปวิดีโอสุนัขน่ารัก พอเลื่อนไปอีกเห็นคนนี้ตลกจัง คนนี้น่ารักดี สุดท้ายเราจับความรู้สึกตนเองไม่ทัน ทุกอย่างกระตุ้นเร้าเราเสมอ
“อาจบอกได้ว่า เด็กหลีกเลี่ยงโซเชียลฯ ไม่ได้อีกต่อไปแล้ว เราไม่สามารถบอกเขาได้เลยว่า นี่คือโลกโซเชียลฯ อย่าไปอินเกิน ชีวิตจริงทุกคนเป็นอีกอย่าง เพราะโซเชียลฯ กับความเป็นจริงเป็นเนื้อเดียวกันไปแล้ว เพื่อนในโลกออนไลน์คือเพื่อนของเขาที่โรงเรียน ทุกอย่างคือโลกเดียวกัน
“นั่นเป็นหน้าที่ของเราที่ต้องย้อนกลับมาถามเขาว่า ตอนนี้รู้สึกอย่างไรเพื่อที่จะหาทางออกและวิธีจัดการ ซึ่ง Mood Tracking ในแอปพลิเคชันก็จะมีส่วนช่วยมาก สมมติเรารู้ตัวจากการทำแบบทดสอบว่า ตนเองเครียดเพราะเสพสื่อในโซเชียลมีเดียบ่อย ก็หมายความว่า เราอาจจะลดการใช้งานลงหน่อยไหม
“ดังนั้น สิ่งที่สำคัญคือการทำให้เขารู้เท่าทันโลกโซเชียลฯ ตั้งแต่เรื่องธรรมดาอย่างการรับมือคอมเมนต์อย่างไร เราไปคอมเมนต์คนอื่นแบบนี้ได้ไหม หรือแม้แต่เรื่อง Digital Literacy หรือมาตรวัดกำกับการใช้โซเชียลฯ ต่างๆ”
All Mood, All Gender, All Generation: ก้าวต่อไปในฐานะ Buddy Community ภายใต้ Buddy for All
“เราไม่ได้มี KPI ชี้วัดว่า อะไรคือความสำเร็จ แต่มันคือการแบ่งระยะว่า เราอยากทำอะไรต่อไป มีเป้าหมายอย่างไร ซึ่งทั้งหมดหล่อเลี้ยงด้วยฟีดแบ็ก ก่อนจะถูกนำไปปรึกษากับทีมคุณหมอและผู้เชี่ยวชาญจากกรมสุขภาพจิต เพื่อพัฒนาแอปฯ ไปยังจุดหมายต่อไป
“หากถามว่าตอนนี้ Buddy Thai เดินทางมาถึงตรงไหนแล้ว ก็จะตอบว่ามันคือเส้นทางอีกยาวไกล เพียงแต่ตอนนี้เรามั่นใจว่า สิ่งที่เราทำอยู่มาถูกทางแล้ว”
กรรมการผู้จัดการสาวอธิบายเส้นทางที่ Buddy Thai อยู่ในทุกวันนี้ โดยเธอเปรียบเทียบว่า เป็นการ Check-List เสียมากกว่ามาตรวัดทั่วไป ทั้งหมดนี้เป็นเพราะฟีดแบ็กจากการลงพื้นที่ตามโรงเรียนทำให้เธอเห็น ‘มิติที่คาดไม่ถึง’ โดยเฉพาะผลตอบรับจากผู้ใหญ่อย่าง คุณครู วัยรุ่น และพ่อแม่ผู้ปกครองที่มีความสนใจ และต้องการใช้แอปพลิเคชันไม่ต่างจากกลุ่มเด็กเยาวชน
ดังนั้น ก้าวต่อไปของ Buddy Thai ในวิสัยทัศน์ของหริสวรรณและทีมผู้ต่อยอดแอปฯ คือการสร้าง Buddy Community หรือชุมชนในชื่อ Buddy ที่เปิดรับคนทุกกลุ่ม เพราะปัญหาสุขภาพจิตและการตระหนักรู้เป็นเรื่องของทุกคน ซึ่งตอนนี้กำลังวางแผนขยายเป้าหมายจากเยาวชน สู่ ‘กลุ่มบุคคลทั่วไป’ ที่มีอายุ 15-25 ปี
“เราตั้งใจจะยกระดับ Buddy Thai ไปสู่การเป็น Buddy Community หรือกลุ่มชุมชน เพื่อสนับสนุนให้ทุกคนมีการตระหนักรู้ตนเอง และการส่งเสริมสุขภาพจิตที่ดี โดยมีคำสำคัญคือ Buddy for All ที่เปิดรับคนทุกกลุ่ม ภายใต้สโลแกน All Mood (ทุกอารมณ์ความรู้สึก), All Gender (ทุกเพศสภาพ) และ All Generation (ทุกวัย)
“All Mood หมายถึงการโอบรับทุกอารมณ์ความรู้สึก คุณไม่จำเป็นต้องรู้สึกดีแล้วมาหาเรา คือพูดง่ายๆ มันโอเคที่คุณจะรู้สึกเศร้าในวันนี้ ขณะที่ All Gender คือการปลูกฝังเรื่องความหลากหลาย ด้วยการขยายในประเด็นที่มากกว่าการพูดถึงเรื่อง LGBTQ+ หรือความเท่าเทียมทางเพศ คือไม่ว่าจะมีตัวตนแบบไหน ทุกอย่างจะเป็นไปด้วยดีหมด
“สุดท้าย All Generation คือการขยายฐานอายุผู้ใช้งานให้รวมถึงบุคคลทั่วไป โดยเฉพาะกลุ่มวัยทำงานจนถึงมิลเลนเนียลส์ แต่เราก็ยังให้ความสำคัญกับกลุ่มเป้าหมายเดิมคือเยาวชนเหมือนเดิม รวมถึงวางแผนที่จะพัฒนาให้ครอบคลุมผู้สูงอายุในอนาคต
“นั่นหมายความว่าต่อจากนี้ เราจะใช้คำว่า Buddy แทน ภายใต้แนวคิดเพื่อนสนิทที่ไว้ใจได้สำหรับทุกคน ซึ่งสรุปง่ายๆ ว่า ทุกคนจะเข้ามาใน Buddy Community โดยมีแอปพลิเคชันเป็นศูนย์กลาง และมีรายละเอียดของกิจกรรมหรือเนื้อหา ที่แตกแขนงย่อยสำหรับแต่ละกลุ่มเป้าหมายออกไป”
นอกจากนี้ ทีมผู้ดูแลแอปพลิเคชันยังตั้งใจจะเพิ่มการเข้าถึงภายในชุมชนมากขึ้น ทั้งช่องทางรูปแบบออนไลน์และออฟไลน์ รวมถึงการพัฒนาเว็บไซต์ที่ทำให้ทุกคนสามารถทำความรู้จักและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นร่วมกันได้
“จริงๆ แล้ว มันคือการเปลี่ยนวิธีการสื่อสาร หรือตัวกลางให้เหมาะกับแต่ละช่วงอายุมากกว่า ยกตัวอย่างสำหรับกลุ่มผู้ใหญ่ ด้วยไลฟ์สไตล์ของเขา เราจะเน้นทำกิจกรรมออฟไลน์ เช่น มีการทำบูธเพื่อสร้างความตระหนักในเรื่อง Self-Love ขณะที่มีกิจกรรมเล็กๆ ในวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ เพื่อเสวนาพูดคุยร่วมกัน หรือแม้แต่การสอดแทรกกิจกรรมผ่านเรื่องง่ายๆ ในชีวิตประจำวัน เช่นการซื้อกาแฟแล้วมีกิมมิกเขียนถามไถ่ความรู้สึกของแต่ละคน แทนการเขียนชื่อ”
สำหรับกิจกรรมในอนาคตเร็วๆ นี้ จะมีการจัดงานเปิดตัวในชื่อ Buddy for All ในวันที่ 8-9 มิถุนายน 2567 ภายใต้คอนเซปต์ ‘ทุกอารมณ์ความรู้สึก ทุกเพศสภาพ และทุกวัย’ ซึ่งเปรียบเสมือนก้าวแรกของ Buddy ที่โอบรับกลุ่มเป้าหมาย และมีช่องทางในการเข้าถึงที่หลากหลายยิ่งขึ้่น โดยเปิดโอกาสให้ทุกคนมาทำความรู้จักกันภายใน Buddy Community
อย่างไรก็ตาม ไม่ว่า Buddy จะอยู่ในชื่อไหน แต่แก่นแท้ที่หริสวรรณและทีมผู้พัฒนาจากกรมสุขภาพจิตอยากเน้นย้ำเหมือนเดิมคือ การเข้าใจตนเอง ซึ่งจำเป็นสำหรับคนทุกเพศทุกวัย ไม่ใช่แค่เด็กที่เปรียบเหมือน ‘ไม้อ่อน’
“เราเชื่อว่าทีมงานไม่สามารถเปลี่ยนโลกได้แค่การทำเวิร์กช็อป แอปพลิเคชัน หรือพูดบางเรื่องซ้ำซาก แต่สุดท้ายแล้ว ทั้งหมดคือการสร้างแบบจำลองหรือให้เครื่องมือกับทุกคนว่า เขามีทางเลือกอื่นในการรับมือปัญหาบางอย่าง พูดง่ายๆ ว่า คุณยังมีตัวเลือกอื่นๆ ในการเลือกสิ่งที่ดีที่สุดให้กับตนเอง
“สุดท้ายทุกอย่างกลับมาสู่คำว่า ‘การตระหนักรู้เท่าทันตนเอง’ เหมือนเดิม ทุกคนไม่จำเป็นต้องเก่งเหมือนกัน ไม่ต้องใช้ไม้บรรทัดหรือมาตรฐานเดียวกัน และเราต้องเลือกไม้บรรทัดให้ถูกต้อง หมายความว่า ต้องรู้ว่าเราเหมาะสมกับตรงไหน โดยสิ่งที่ไม่ได้สร้างความเดือดร้อนให้ใคร
“ดังนั้นเราจึงคาดหวังมากกว่าว่า Buddy จะทำหน้าที่ ‘จุดประกาย’ ให้คนเห็นถึงทางเลือกที่หลากหลาย โดยสถานศึกษาไม่จำเป็นต้องมีคุณภาพสูงมาก ทุกคนต้องกอดคอรักกัน หรือการบุลลี่เป็นศูนย์ เราแค่อยากหยิบยื่นทางเลือกทำให้เด็กและโรงเรียนรู้สึกว่า เขามีทางเลือกในการตอบโต้ ใช้ชีวิต และเติบโตเป็นคนดีของสังคม”
อ้างอิง
https://hss.moph.go.th/show_topic.php?id=5747
Tags: ปัญหาสังคม, Buddy Thai, บัดดีไทย, Buddy, เทคโนโลยี, การบุลลี่, แอปพลิเคชัน, เฉลิมชัย มหากิจศิริ, สุขภาพจิต, โทรีเซนไทย, Branded Content, หริสวรรณ ศิริวงศ์, bullying, Buddy Thai Application, สังคมไทย, การเข้าใจตนเอง, Self Awareness