วันเงียบ’ เป็นชื่อหนังสือรวมเรื่องสั้นของรัชตะ อารยะ ตีพิมพ์เมื่อปลายปี 2560 โดยสำนักพิมพ์ Underground Books ประกอบด้วยเรื่องสั้นสิบเรื่องที่รวมกันอยู่ในหนังสือความหนา 96 หน้า มีอยู่สองถึงสามเรื่องที่มีเนื้อหาสั้นมาก สั้นจนแทบเป็น flash fiction ขณะที่เรื่องส่วนใหญ่ก็ถือเป็นเรื่องสั้นที่รักษาขนบความสั้นได้อย่างดี คืออ่านแต่ละเรื่องจบได้ในชั่วอึดใจ และสามารถอ่านทั้งเล่มรวดเดียวให้จบเล่มได้ในระยะเวลานั่งรถไฟฟ้าสุดสาย

ความท้าทายซึ่งอาจเรียกได้ว่าเป็นความยากของการเขียนเรื่องสั้นขนาดสั้นหรือเรื่องแต่งเล่มบาง เช่นรวมเรื่องสั้น ‘วันเงียบ’ คือการรักษารายละเอียด อรรถรส รวมถึงอารมณ์ของเรื่องให้เข้มข้นและมีชีวิตขึ้นมาบนพื้นที่อันจำกัด จากประสบการณ์การอ่านส่วนตัว ผมพบว่ามีเรื่องสั้นเล่มบางหลายเล่มที่เคยอ่าน สักพักก็หลงลืมเรื่องราวเหล่านั้นไป อาจเพราะต้องการความรวบรัด ความแบนราบ หรือปัจจัยอะไรก็ตามแต่

กระนั้นก็น่าสนใจว่า ‘วันเงียบ’ กลับเป็นหนังสือเล่มบางที่ต่างออกไป ตัวละครที่ปรากฏอยู่แค่ช่วงเวลาสั้นๆ ในเรื่องของรัชตะไม่ยอมตาย พวกเขาและพวกมันยังคงมีชีวิตวนเวียนอยู่ในหัวของคนอ่านพร้อมกลิ่นสาปสัตว์ กลิ่นคาวคลุ้งของเลือด ความรุนแรง และความอึดอัดต่อโลก ต่อสังคมการเมือง ต่อความเชื่อทั้งหลายทั้งปวง เป็นรวมเรื่องสั้นเล่มบางที่ยากต่อการลืม โดยเฉพาะเมื่อกลิ่นสาปอันเป็นเอกลักษณ์ได้ฝังแน่นอยู่ในผัสสะเบื้องลึกของเราเข้าให้แล้ว

เรื่องสั้นแทบทุกเรื่องของรัชตะล้วนถูกเล่าด้วยน้ำเสียงเคร่งขรึมผ่านเทคนิคการเล่าแบบกึ่งจริงกึ่งฝันและเหนือจริง ที่เน้นการสื่อความผ่านสัญลักษณ์ กระนั้น ความเซอร์เรียลของ ‘วันเงียบ’ ก็หาใช่ความเซอร์เรียลอันหวือหวาในแบบที่เราคุ้นเคยจากภาพจิตรกรรมของซัลวาดอร์ ดาลี หรือมักซ์ แอนสท์ หากผมไพล่คิดไปถึงงานที่ขึงขังและมีกลิ่นอายโกธิคกว่านั้นอย่าง ภาพพิมพ์ The Sleep of Reason Produces Monsters ของ ฟรานซิสโก โกย่า ซึ่งองค์ประกอบของภาพ ทั้งลายเส้นที่ดูเหมือนจะดิบหากเปี่ยมไปด้วยรายละเอียด ฝูงนกกลางคืนที่พรั่งพรูอยู่เบื้องหลังของคนในภาพ หรือกระทั่งความหมายของชื่อภาพ (ความหลับใหลของเหตุผลก่อเกิดสัตว์ประหลาด) ก็ล้วนสร้างความเชื่อมโยงเข้ากับเรื่องเล่าที่มีฉากอยู่ทั้งในเมืองใหญ่และในชนบทของประเทศไทยอย่างเหมาะเจาะ

ตัวละครที่ปรากฏอยู่แค่ช่วงเวลาสั้นๆ ในเรื่องของรัชตะไม่ยอมตาย พวกเขาและพวกมันยังคงมีชีวิตวนเวียนอยู่ในหัวของคนอ่านพร้อมกลิ่นสาปสัตว์ กลิ่นคาวคลุ้งของเลือด ความรุนแรง และความอึดอัดต่อโลก ต่อสังคมการเมือง ต่อความเชื่อทั้งหลายทั้งปวง เป็นรวมเรื่องสั้นเล่มบางที่ยากต่อการลืม

ตื่นจากฝัน’ คือเรื่องสั้นเรื่องแรกที่อธิบายภาพรวมของหนังสือเล่มนี้ได้ดี ตัวละคร ‘ผม’ ที่เดินอยู่กลางท้องทุ่งไปเจอชายชราในงานวัดที่ชวนให้เขาเข้าไปในเขาวงกต ที่ภายในพบแต่ห้องที่มีกระจกล้อมรอบ เขาทำลายกระจกเพื่อจะหลุดออกมาพบงานมหรสพกลางเมืองที่มีหนุ่มสาวกำลังมีเพศสัมพันธ์หมู่อยู่บนถนน ก่อนจะมีฝูงผีซอมบี้กรูกันออกมาจากบ้านผีสิงและไล่ฆ่าผู้คนที่อยู่ในมหรสพนั้น!

เรื่องสั้นที่แบ่งออกเป็น 3 องก์เรื่องนี้ สะท้อนทั้งความอึดอัดคับข้องและอาการคลื่นเหียนที่ไม่อาจจับต้นชนปลายของตัวละคร ผู้เขียนดูคล้ายจะมีคำถามต่อที่ทางที่ตัวเองสังกัด ระบบระบอบที่ควบคุมสังคม และการเปลี่ยนผ่านของยุคสมัยที่ตัวเองหยัดอยู่ จึงพยายามระบายมวลความอึดอัดเหล่านั้นผ่านฉากที่เต็มไปด้วยการฆ่าและความรุนแรง กระนั้นเขาก็พบว่ามันไม่ช่วยบรรเทา เพราะแท้จริงแล้วเหตุแห่งความเสื่อมทั้งหลายหาได้อยู่แค่โลกที่ล้อมรอบเราอยู่ หากมันอยู่ ‘ภายใน’ ตัวละครผู้ได้รับผลกระทบนั้นเอง หรือภายในตัวผู้เขียนเอง

“มันเป็นกระจกบานใหญ่สูงท่วมหัวล้อมรอบตัวผม ในกระจก ตัวผมยืนอยู่ที่กว้างใหญ่ไร้พรมแดน ไม่ว่าทางซ้ายหรือขวา ด้านหน้าหรือด้านหลัง ผมยืนนิ่งท่ามกลางความเวิ้งว้างว่างเปล่า ลองยื่นมือสัมผัสภาพในกระจก ส่ายเปะปะและเดินวนรอบๆ ผมพยายามเอามือลูบทุกด้านเพื่อคลำหาทางออก ดิ้นรนเหมือนนกติดตาข่ายนายพราน ด้านหนึ่งมีช่องว่างเหมือนเดินออกไปได้ ผมรีบเดินเข้าไปใกล้ แต่พบตนเองในกระจกเดินเข้ามา หันกลับไปอีกทาง เหมือนมีช่องว่างเหลืออยู่ เมื่อเดินเข้าไป ตัวเองในกรอบใส ก็เดินเข้ามาบังช่องทางนั้นไว้เหมือนเดิม ยิ่งเดิน ยิ่งเหนื่อย ยิ่งวนเวียน จนบางครั้งสับสนว่า ตนเองอยู่ข้างในหรือข้างนอกกันแน่”  – จากเรื่อง ‘ตื่นจากฝัน

เช่นเดียวกับเรื่อง ‘ความฝันของนักไต่ลวด’ เรื่องสั้นเรื่องสุดท้ายของเล่ม ที่ผู้เขียนเปิดเรื่องให้เราพานนึกถึงชั้นเรียนในมิวสิควิดีโอ Another Brick in the Wall ของ พิงก์ ฟลอยด์ หากใช้อีกามาเป็นสัญลักษณ์แทนคุณครูหรือนักปกครองผู้บ้าคลั่ง ระหว่างที่อีกาจิกตีเพื่อนนักเรียนในห้องจนเลือดอาบ ตัวเอกก็คว้าชอล์คเขียนรูปหน้าต่างบนกระดานดำพาตัวเองหนีออกมา ก่อนจะผจญภัยอยู่ในภาพฝันนอนสต็อป ที่ว่าด้วยการเดินไต่ลวดกลางหุบเหว บทสนทนากับหญิงสาวริมแม่น้ำ การผุดร่างขึ้นมาในท่อระบายน้ำ การซื้อขายแกะ และ (อีกครั้ง) กับมหรสพเสื่อมๆ (ที่มีหญิงสาวใช้อวัยวะเพศสูบบุหรี่) กลางใจเมือง

“บนทางเดินซึ่งเป็นพื้นซีเมนต์ยกสูง ฉันสังเกตเห็นใบหน้ามนุษย์หลากสิบหลายร้อนซ่อนอยู่ใต้ผิวน้ำเน่าสีดำสนิท สายฝนทำให้ใบหน้าเหล่านั้นบิดเบี้ยว บางใบหน้าคล้ายเจ็บปวด บางใบหน้าคล้ายกำลังร้องไห้ บางใบหน้าคล้ายกำลังอ้าปากกู่ตะโกน ทว่าบัดนี้ฉันรู้แล้ว ใบหน้าเหล่านี้เจ็บปวดเพราะอะไร ร่ำร้องเพื่ออะไร และกู่ตะโกนเพื่ออะไร แม้ฝนจะดังสนั่นโลก เพราะฉันเห็นแล้วว่า ทุกใบหน้าใต้แผ่นน้ำเน่านั้น คือใบหน้าของฉันเอง…” – จากเรื่อง ‘ความฝันของนักไต่ลวด

เรื่องสั้นเรื่องที่สอง ‘วันเงียบ’ ถือเป็นเรื่องสั้นที่ผมพบว่าสนุก มีอารมณ์ขัน และมีความ ‘ป๊อบ’ มากที่สุดของเล่ม เป็นเรื่องเสียดสีระบอบเผด็จการผ่านความกลัวของผู้คนใต้ปกครอง ในชุมชนแห่งหนึ่งที่มีครูใหญ่ของโรงเรียนทำหน้าที่คล้ายประธานชุมชน ตัวเอกที่เป็นเด็กนักเรียนวางแผนกับเพื่อนเพื่อลอบสังหารครูใหญ่ เขาเกือบทำสำเร็จ ทว่าถูกเพื่อนร่วมอุดมการณ์หักหลังผ่านท่าทีอันเมินเฉยไม่รู้ไม่ชี้ พล็อตเรื่องในแบบที่เราอาจพบได้ในสังคมจริงรอบตัวที่ผู้คนส่วนใหญ่เลือกที่จะปิดหูปิดตาต่อสภาวะบิดเบี้ยวเหลือทนของการเมืองการปกครอง และท้ายที่สุด คนซวยก็คือผู้คนที่ออกมาบอกกล่าวหรือบ่งชี้ต่อความเสื่อมทรามนั้นเสียเอง

การเน้นย้ำสภาวะเสื่อมทรามของโลกรอบตัวและภายในตัวเรายังปรากฏชัดในเรื่อง ‘โซ่’ เรื่องสั้นเรื่องที่ถูกเขียนออกมาในแบบ spontaneous คล้ายการด้นสดไปเรื่อยๆ ของดนตรีแจ๊สที่รัชตะทำได้อย่างดำดิ่ง ขึงขัง และวิกลจริต (เสียดายที่ผู้เขียนน่าจะทำให้มันอยู่ในย่อหน้าเดียวไปเลย เพราะน่าจะมีพลังมากกว่านี้หลายเท่า)

“ผมเตือนคุณแล้ว สัมภาระคุณมันมากเกินไป กลิ่นเหม็นชวนคลื่นไส้ คุณไม่ได้กลิ่นศพมดตัวนั้นใช่ไหม ผมรู้สึกคันกบาลจริงจัง มดย้ายรังขึ้นไปอยู่บนหัวผม มดคันไฟทั้งนั้น ผมจะขยี้มันอีกกี่ตัวก็ได้ ความเลวระยำมันอยู่ตรงนี้แหละ ถ้าคุณออกไปอย่าลืมซื้อยาแก้ปวดให้ผมซักโหลหนึ่ง ขาผมถูกล่าม ขยะล้นท่วมออกมาจากถังขยะ มีแต่ความรู้สึกชวนคลื่นเหียน ทุกอย่างกำลังจะเน่า…” – จากเรื่อง ‘โซ่

นอกจากกลวิธีเล่าเรื่องผ่านภาพฝันและการอิมโพรไวซ์ของเรื่องเล่าไปสู่ความวายป่วง สิ่งหนึ่งที่พบได้จากรวมเรื่องสั้นชุดนี้ คือการแทนสัญลักษณ์ด้วยสัตว์ต่างๆ ที่ค่อนข้างตรงไปตรงมา หากก็ฉายทัศนียภาพภายในที่แจ่มชัด ตั้งแต่ช้างที่ถูกโซ่คล้องใน ‘คำนำ’ การเรียกคนว่าสัตว์เดรัจฉานของครูใหญ่ในเรื่อง ‘วันเงียบ’ สัตว์ที่เราเข้าใจว่าน่าจะเป็นตัวเหี้ยใน ‘ตึกกาลาปากอส’ งูและกบในเรื่องสั้นแสนสั้นราวกับนิทานเซ็นอย่าง ‘งู กบ สมณะ’ ปู่สังกะสาที่เป็นคนสองเพศที่ถูกคนอื่นๆ มองไม่ต่างจากสัตว์ในเรื่อง ‘เงา’ และเรื่องสุดท้าย ‘ความฝันของนักไต่ลวด’ มีทั้งอีกา แกะ หมาป่า และซากสรรพสัตว์

สิ่งหนึ่งที่พบได้จากรวมเรื่องสั้นชุดนี้ คือการแทนสัญลักษณ์ด้วยสัตว์ต่างๆ ที่ค่อนข้างตรงไปตรงมา

ทั้งหมดทั้งมวล สัตว์เดรัจฉานในภาพฝันของรัชตะไม่เพียงช่วยเน้นย้ำภาวะดิบเถื่อนและไร้ขื่อแปของสังคมในโลกเรียลลิตี้ รวมทั้งยังเป็นหนทางระบายความอัดอั้นของผู้เขียนแบบเดียวกับที่เรามักอุทานออกมาอย่างเกรี้ยวกราดกับใครบางคนหรือกับตัวเองว่า ‘ไอ้เหี้ย’ หรือ ‘ไอ้สัตว์’ ในทางเดียวกัน เดรัจฉานสัญลักษณ์เหล่านี้ก็ย้อนกลับมาวิพากษ์สิ่งที่ไม่ใช่เดรัจฉานอย่างมนุษย์เราๆ ท่านๆ ได้อย่างเผ็ดร้อน

เพราะตราบใดที่เรายังคงเพิกเฉยต่อความไร้ขื่อแปในสังคมที่เราสังกัดแห่งนี้ หรือทำราวกับว่าไม่มีอะไรเกิดขึ้น ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใด ที่สุดแล้วตัวเราเองก็ไม่ต่างอะไรจากเดรัจฉาน

Fact Box

‘วันเงียบ’ หนังสือรวมเรื่องสั้น ผลงานของรัชตะ อารยะ ตีพิมพ์เมื่อปลายปี 2560 โดยสำนักพิมพ์ Underground Books