The Seven-Year Itch สำนวนภาษาอังกฤษว่าด้วยอาการ ‘คัน’ หรือความ ‘อาถรรพ์’ ที่ต้องระแวดระวังการเลิกรา เมื่อความสัมพันธ์ดำเนินมาเกิน 7 ปี ซึ่งอาจไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรเมื่อคนทั้งสองรู้เช่นเห็นชาติกันมากขึ้น ความหวานเริ่มกลายเป็นขมขื่น การอยู่ร่วมกันไม่ได้ราบรื่นเช่นเคย

แต่หากเปรียบประเทศไทยเป็นชีวิตคู่ ความสัมพันธ์ตลอด 7 ปี ระหว่าง ‘ประชาชน’ กับ ‘รัฐบาล’ ที่มาจากการสืบทอดอำนาจเดิมของคณะรัฐประหาร ก็คงเป็น Toxic Relationship ที่ควรกำจัดออกมากกว่ารักษาไว้

ในวาระครบรอบการยึดอำนาจ โดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) บทเพลง “เราจะทำตามสัญญา ขอเวลาอีกไม่นาน” ได้บรรเลงมาเป็นปีที่ 7 ผู้นำรัฐประหารในวันนั้น ก็ยังคงดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในวันนี้

The Momentum ชวนทบทวนความหลัง และมองไปข้างหน้าผ่านซีรีส์พิเศษ ‘The Seven-Year Itch: รัฐ (ประหาร) 7 ปี มีดีกี่หน?’ กับบทสัมภาษณ์ 7 บุคคล ว่าด้วยความทรงจำในวันนั้น และผลลัพธ์ของรัฐประหารต่อสังคมไทยวันนี้ ก่อนรัฐประหาร 2557 จะเวียนมาครบ 7 ปี ในวันที่ 22 พฤษภาคมนี้

เริ่มด้วยการพาย้อนกลับไปทบทวนเรื่องราวครั้งนั้นผ่านมุมมอง สมบัติ บุญงามอนงค์ หรือ ‘บก.ลายจุด’ หนึ่งในตัวละครสำคัญในสายตาของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)

สมบัติทำกิจกรรมเคลื่อนไหวทางการเมืองเพื่อคัดค้านรัฐประหารมาตั้งแต่ปี 2534 ปี 2549 และปี 2557 เองก็เช่นกัน โดยบทบาทของเขาก่อนเกิดรัฐประหารครั้งล่าสุด คือการเป็น ‘แกนนอน’ กลุ่มวันอาทิตย์สีแดง และวิพากษ์วิจารณ์ กปปส.อย่างเผ็ดร้อนบนโซเชียลมีเดีย คงไม่ผิดนักหากผู้ยึดอำนาจจะมองว่าสมบัติเป็นปฏิปักษ์

ทันทีที่คณะรัฐประหารเข้ายึดอำนาจ สมบัติถูกอายัดบัญชีธนาคาร ด้วยเหตุไม่ไปรายงานตัวตามคำสั่ง คสช. กระทั่งภายหลัง เขาถูกควบคุมตัวขึ้นศาลทหาร พร้อมถูกแจ้งข้อหาเพิ่มในคดีอาญา มาตรา 116 และมาตรา 14 ของ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ฐานทำความผิด ยุยงปลุกปั่น สร้างความกระด้างกระเดื่อง จากการโพสต์ข้อความชวนเชิญให้ประชาชนชู 3 นิ้วต้านรัฐประหาร

การต่อสู้คดีครั้งนั้นเพิ่งจะสิ้นสุดอย่างเป็นทางการเมื่อปีที่ผ่านมา แต่สมบัติกลับมองว่าเขาจะยังคงเป็นคนที่ถูก ‘หมายหัว’ ไม่จบไม่สิ้น หากคนกุมอำนาจบ้านเมืองยังไม่ได้มาจากประชาชนอย่างแท้จริง

วันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ช่วงที่เกิดรัฐประหาร ตอนนั้นคุณกำลังทำอะไรอยู่

ผมกำลังขับรถจะไปร่วมชุมนุมกับคนเสื้อแดงที่ถนนอักษะ ระหว่างทางก็เปิดวิทยุฟังไปด้วย ผู้สื่อข่าวรายงานว่าเกิดเหตุการณ์บางอย่างที่สโมสรกองทัพบก ที่เขาประชุมผู้นำทางการเมืองกัน ไม่แน่ใจว่าคืออะไร แต่มีสิ่งผิดปกติชัดเจน เพราะมีการนำรถมาปิดกั้นพื้นที่ และกันนักข่าวออกไป แต่ยังไม่ได้พูดชัดเจนว่ามีการยึดอำนาจ ตอนนั้นรู้สึกประหลาดใจมาก สักพักหนึ่ง ยังไม่ทันจะถึง 10 นาที ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ค่อนข้างจะแน่ใจว่ามีการทำรัฐประหารหรือยึดอำนาจเกิดขึ้น หลังจากนั้นก็เริ่มมีการรายงานเข้ามาว่ามีการทยอยจับกุม

ตอนนั้นคิดว่าอยู่บ้านไม่ได้แล้ว สิ่งที่ผมทำคือปิดโทรศัพท์มือถือและถอดซิมการ์ดออกมาเลย ติดต่อกับเพื่อนผ่านไลน์อย่างเดียว ถ้าโทร.เขาจะสืบหาได้ว่าเราโทร.หาใคร จริงๆ หลังรถมีกระเป๋าเดินทางอยู่ใบหนึ่ง ข้างในบรรจุเอกสารสำคัญ เสื้อผ้า แปรงสีฟัน ผ้าเช็ดตัว กางเกงเกงใน มีทุกอย่างครบ (หัวเราะ) ผมเตรียมพร้อมรอไว้เป็นอาทิตย์ เผื่อต้องใช้แผนสอง แล้วแผนสองที่วางไว้ก็ได้ใช้จริงๆ

คืนนั้นผมไปนอนบ้านเพื่อนที่อยู่แถวๆ กรุงเทพฯ ก่อน หลังจากนั้นก็หาที่พักเป็นหลักเป็นแหล่งที่จะอยู่ยาวๆ ซึ่งเพื่อนคนหนึ่งเสนอตัวมาว่าไปอยู่กับเขาได้ เขาเพิ่งสร้างบ้านใหม่ มีห้องว่างอยู่ห้องหนึ่ง ผมก็เลยไปอยู่กับเขา

ผลกระทบอะไรบ้างที่คุณต้องเผชิญตลอด 7 ปีที่ผ่านมา

ก่อนจะมีการทำรัฐประหาร ผมจัดรายการวิเคราะห์ข่าวตอนเช้าอยู่ที่ช่อง NBT และผมก็แสดงความคิดเห็นวิพากษ์วิจารณ์ กปปส.มาตลอด ผมเคยถูก กปปส.นำโดย ‘ลูกหมี’ – ชุมพล จุลใส เอามวลชนมาล้อมตึกจัดรายการ จนต้องวิ่งหนีจากตึกหนึ่งไปอีกตึกหนึ่ง พอมุดเข้าไปอยู่อีกตึกหนึ่งได้ ก็ยังถูกมวลชนตามมาตะโกนเรียกให้ผมออกไป ตะโกนด่าผมผ่านรถขยายเสียง ครั้งนั้นทำให้ผมรู้สึกว่า ความปลอดภัยของตัวเองต่ำแล้ว และผมดันไปออกทีวีในรายการเจาะข่าวเด่นของคุณสรยุทธ สุทัศนะจินดา ร่วมกับอาจารย์จักษ์ พันธ์ชูเพชร ซึ่งเป็นเทปดีเบตระหว่างสองขั้วความคิดที่ดุเดือดครั้งหนึ่งในปีนั้นเลย ผมเลยกลายเป็นบุคคลที่ กปปส.ด่าเช็ดเม็ด (หัวเราะ)

หลังรัฐประหาร คสช.ได้แจ้งให้ผมไปรายงานตัว แต่ผมไม่ได้ไป เขาก็มาตามหาผมที่คอนโดฯ ทำลายลูกบิดเข้าไปเลย เข้าไปตรวจค้นก็ไม่เจออะไร ไม่จ่ายค่าลูกบิดด้วยนะ สุดท้ายผมต้องหาลูกบิดมาใส่เองภายหลัง รังควานไปถึงลูกสาวผม ตอนนั้นลูกสาวผมอยู่เชียงราย เขาตามไปถึงโรงเรียน เอารถทหารจะไปรับ โชคดีว่าพอเพื่อนผมรู้เรื่อง เขาเลยแอบพาลูกผมออกจากโรงเรียนได้ก่อน พอผมโวยลงอินเทอร์เน็ตปุ๊บ ทหารที่เชียงรายยอมรับว่า ที่เอารถจะไปรับลูกสาวผมเพราะจะพาไปรับทุนการศึกษาในค่ายทหาร เพราะว่าพ่อเขาถูกระงับบัญชี ไม่มีตังค์ดูแลลูก นี่ก็เป็นปฏิบัติการทางจิตวิทยาเพื่อกดดันผม

พอผมถูกจับ เขาแจ้งดำเนินคดีผมเพิ่มเติมว่า นอกจากไม่มารายงานตัวแล้ว ยังยุยง ปลุกปั่น เพราะว่าเขียนข้อความในเฟซบุ๊กวิพากษ์วิจารณ์การยึดอำนาจ ผมเลยโดน ม.116 พ่วงกับ พ.ร.บ.คอมฯ พอถูกจับโยนเข้าไปในเรือนจำ ขึ้นศาลทหาร ไม่ได้รับการประกันตัว ไปอยู่ในเรือนจำเขาก็มาฟ้องคดี ม.112 อีกคดีหนึ่ง แต่ตอนนี้คดีทั้งหมดสิ้นสุดแล้ว

ผลกระทบจากรัฐประหาร 2557 สำหรับผม ในทางกฎหมายหมดสิ้นแล้ว ส่วนในทางอื่น ผมกลายเป็นตัวเจ็บคนหนึ่ง ถ้ามีใครยึดอำนาจอีก เขาก็คงจะเรียกผมอีก นี่เป็นปัญหามาก ถ้าเกิดขึ้นจริง ผมจะทำยังไงได้บ้าง เพราะผมคงไม่สามารถหลบเลี่ยงไปมุดอยู่ในรูแบบคราวที่แล้วได้

กว่าจะกลับมาใช้ชีวิตโดยไม่ต้องหวาดระแวงว่าจะโดนจับ ก็หลังเลือกตั้งปี 2562 เพราะการที่คุณเป็นบุคคลทางการเมือง และมีผู้นำมาจากการยึดอำนาจ ใช้อำนาจตามประกาศบ้าบออะไรก็ทำได้ คุณจะใช้ชีวิตยังไงล่ะ อยู่ดีๆ เขาก็บอกว่าจะอายัดบัญชีคุณ เพราะว่าคุณไม่รายงานตัว พอคดีของคุณจบไปเรียบร้อย ปรับไป 3,000 บาท เขาก็ยังไม่คืนบัญชีคุณ นานกว่า 5 ปี กว่าผมจะได้บัญชีคืน แล้วได้โดยการไปประท้วงด้วย ไม่ได้อยู่ดีๆ เขายกเลิกนะ ผมประท้วงทวงเงินคืนฉิบหายวายป่วงเลย

7 ปีที่ผ่านมา แม้จะมีการเลือกตั้ง แต่นี่เป็นการสืบทอดอำนาจจากคณะรัฐประหาร อันดับแรกคือ ผมคิดว่าการยึดอำนาจแก้ปัญหาไม่ได้ เอาจริงๆ ผู้ทำการยึดอำนาจกับแกนนำการชุมนุม กปปส.น่าจะมีความสัมพันธ์หรือความตั้งใจ เพราะเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมีความสอดคล้องกัน หมายความว่าการชุมนุมต่อเนื่องในช่วงหลังๆ เป็นไปเพื่อให้เกิดเหตุการณ์นี้ขึ้น เพียงแต่ว่าแกนนำอาจจะคาดไม่ถึงว่า ผู้ยึดอำนาจจะทำการยึดอำนาจและเสพติดในอำนาจยาวนานเท่านี้

ตอนนี้เป็นที่ประจักษ์แล้วนะครับว่า คุณประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นผู้นำประเทศที่ไม่มีความสามารถอย่างเห็นได้ชัด เมื่อประเทศเข้าสู่สถานการณ์วิกฤต นอกจากคุณประยุทธ์ไม่สามารถแก้วิกฤตได้แล้ว การดำรงอยู่ของคุณประยุทธ์ในฐานะผู้นำประเทศ ยังทำให้ประเทศขาดโอกาสหรือเสียโอกาสที่จะผ่านวิกฤตนี้ไปได้ดีกว่าที่ควรจะเป็น ถ้าเกิดว่าวันนี้คุณประยุทธ์ไม่ได้เป็นผู้นำประเทศ ประเทศอาจจะไม่ตกต่ำเท่านี้ และแก้ไขปัญหาได้ดีกว่านี้

หากเกิดรัฐประหารขึ้นอีกครั้ง คุณคิดว่าปฏิกิริยาของคนไทยคราวนี้จะเป็นอย่างไร และอะไรที่เราสามารถทำได้เพื่อไม่ให้ซ้ำรอยเดิม

ผมคิดว่าคนไทยคงไม่ยอมรับเหมือนกับกรณีพม่า อาจจะไม่เยอะเป็นเอกภาพเท่าคนพม่า แต่ผมคิดว่าคนจำนวนมากจะไม่พอใจการยึดอำนาจ

ถ้าหากมีการยึดอำนาจขึ้นมาจริงๆ ทุกคนต้องออกมาประท้วง ต้องแสดงออกทุกหนทางที่จะไม่ยอมรับ เรียกไปรายงานก็อย่าไป ให้มันมาจับ ไม่ต้องกลัวนะ ถ้าเขามาจับปุ๊บ เขาจะถามว่าอยากกินอะไร เราก็สั่งอาหารได้เลย ผมขอพวกข้าวหน้าเป็ดก็ได้นะ เพื่อนผมอีกคนขอปลากระพงราดน้ำปลา คือสั่งอาหารภัตตาคารมากินได้ ไม่น่าเชื่อ

แต่อย่าไปสนับสนุนการยึดอำนาจ และคุณต้องแสดงออกถึงการปฏิเสธ วิธีง่ายที่สุดก็คือส่งเสียงออกมา พูดออกมา หรือถ้าคุณมีกิจกรรมทางการเมือง หรือรูปแบบกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์อะไรที่คุณจะแสดงออกได้ว่า นี่คือปฏิบัติการที่ทำให้เห็นว่าเราไม่เห็นด้วยกับการยึดอำนาจ ก็ต้องทำ ผมคิดว่าเรามองไปที่พม่าเราจะเห็นเลยว่าพม่าทำยังไง เรียนรู้จากประชาชนชาวพม่าครับ

สุดท้าย ขีดเส้นใต้ไว้สองเรื่อง 1. ไม่ต้องกลัวถ้าเขามาจับไป เราสามารถขอก๋วยเตี๋ยวเป็ดหรือข้าวหน้าเป็ด หรือของที่คุณอยากกินได้ ผมหวังว่าคณะรัฐประหารจะรักษามาตรฐานนี้ 2. อย่าเรียกผมไป ถ้าคุณยึดอำนาจอย่าเสือกใส่ชื่อ ‘สมบัติ บุญงามอนงค์’ ให้มารายงานตัว เพราะว่าไอ้นี่มันจะไม่ไปรายงานตัวแน่นอน ให้มาจับเลย ไม่ต้องเรียก

 

—บทสัมภาษณ์ตอนอื่นๆ ในซีรีส์ The Seven-Year Itch: รัฐ (ประหาร) 7 ปี มีดีกี่หน?—

• รัฐ (ประหาร) 7 ปี มีดีกี่หน? 02: ‘ไพบูลย์ นิติตะวัน’ ไม่ว่าเป็นการปกครองแบบใด สิ่งสำคัญคือประชาชนต้องอยู่ดี กินดี และมีความสุข

• รัฐ (ประหาร) 7 ปี มีดีกี่หน? 03: ‘ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล’ เราเคยเป็นเด็กคนหนึ่ง ที่ดวงตายังคงมืดบอด

• รัฐ (ประหาร) 7 ปี มีดีกี่หน? 04: ‘จาตุรนต์ ฉายแสง’ รัฐประหาร 7 ปีที่ผ่านมา ไม่เสียของ แต่เสียหายยับเยิน

• รัฐ (ประหาร) 7 ปี มีดีกี่หน? 05: ‘เสรี วงษ์มณฑา’ ปัญหาเรื่อง ‘สื่อ’ ที่ได้รับการปฏิรูป แต่ไม่ได้รับการแก้ไข

• รัฐ (ประหาร) 7 ปี มีดีกี่หน? 06: ‘สฤณี อาชวานันทกุล’ 7 ปี แห่งการฉ้อฉลเชิงอำนาจ เมื่อทหารไม่ใช่ผู้แก้ปัญหาที่แท้จริง

• รัฐ (ประหาร) 7 ปี มีดีกี่หน? 07: ‘จรัล ดิษฐาอภิชัย’ การลี้ภัยเป็นสิทธิมนุษยชน

Tags: , , , , ,